สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๕ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๔ "พี่น้องมุสลิม กับ นกเงือก แห่งเทือกเขาบูโด"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๕ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

พี่น้องมุสลิมกับนกเงือกแห่งเทือกเขาบูโด

เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ภาพ : ปณต ไกรโรจนานันท์, บันสิทธิ์ บุญยะรัตเวช
   "สมัยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน น้ำตกปาโจที่คุณเห็นว่าสวยมาก คนนราธิวาสเองยังไม่ค่อยกล้าเข้ามาเที่ยวเลย แถวนี้เป็นทางวัวผ่าน ไม่เจริญและอันตรายมาก ป้าจำได้ว่าพวกนาวิกโยธินมาตั้งฐานที่นี่ตอนปี ๒๕๒๒ พอปี ๒๕๒๓ พวกตำรวจพลร่มหัวหินมาอยู่อีก รวม ๆ แล้วมีทั้งทหาร ตำรวจ เป็นพันคน ตอนนั้นพวกทหารลากเอาปืนใหญ่ ยิงถล่มพวกโจรบนเขาบูโด ที่อยู่กันเป็นร้อยแทบทุกวัน ตายกันเยอะมากทั้งสองฝ่าย"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ป้าเกตุมณี แก้วสมบูรณ์ หรือป้าต้อย วัย ๖๒ แม่ค้าขายอาหารหน้าน้ำตกปาโจ
      เริ่มต้นบทสนทนากับเรา
      คนแถวอำเภอบาเจาะ ไม่มีใครไม่รู้จักป้าต้อย--ชาวสมุทรปราการ ที่มาตั้งรกรากในถิ่นมุสลิมริม เทือกเขาบูโด ตั้งแต่สมัยสาว ๆ โดยไม่หวั่นเกรงภัยจากโจร ที่เรียกเก็บค่าคุ้มครอง
      "พวกชาวบ้านที่ไปกรีดยางในป่า ต้องเอาผงซักฟอก สบู่ หรืออาหาร ไปให้พวกโจรเป็นค่าคุ้มครอง ไม่อย่างนั้นก็กรีดยางไม่ได้"
      เวลานั้นเทือกเขาบูโด ซึ่งเป็นเขตรอยต่อของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นแดนต้องห้ามสำหรับคนแปลกหน้า แต่เป็นแดนสวรรค์ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่าง ๆ อาทิ ขบวนการพูโล บีอาร์เอ็น ที่ต้องการปลดปล่อยชาวมุสลิม ในสี่จังหวัดภาคใต้ให้เป็นอิสระ ไปจนถึงโจร ขโมย ที่หลบหนีขึ้นไปกบดานบนภูเขา
      "วันไหนได้ยินเสียงปืนปะทะกันบนภูเขา พวกญาติพี่น้องของพวกโจรที่มีบ้านอยู่ในอำเภอ ก็จะมาที่ตลาด มาคอยฟังข่าวการสู้รบ บางวันป้าเห็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หิ้วมือที่ตัดจากศพโจรลงจากเขามาที่อำเภอ เพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือคนตายไว้เป็นหลักฐาน คนที่ตายบนเขา เจ้าหน้าที่ไม่เสียเวลาแบกศพลงมาหรอก ตัดเฉพาะแขนขาลงมาเท่านั้น
      "พวกทหาร ตำรวจ ก็ถูกยิงตายมากนะ บางวันนับศพได้ถึง ๓๕ ศพ บางทีพวกโจรก็กำเริบมาก ลงจากเขามาที่ถนน กราดยิงรถทัวร์ที่แล่นผ่านไปมา... ป้าจำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่ง พวกตำรวจยิงโจรได้ก็ตัดหัวหิ้วลงมาจากป่า เอามาประจานกลางตลาด เพื่อระบายความแค้น ที่พรรคพวกถูกโจรยิงตายไปมากมาย"
      ปี ๒๕๒๖ เหตุการณ์เริ่มสงบ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทยอยมอบตัวกับทางการ ดำเนินอาชีพในทางสุจริตต่อไป หลายคนเป็นอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้าน ซึ่งเวลานั้นบริเวณเทือกเขาบูโดในอำเภอบาเจาะ ได้รับการประกาศ ให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี
      หลายปีต่อมา คณะนักวิจัยนกเงือกค้นพบว่า เขาบูโดที่เคยเป็นเขตของผู้ก่อการร้ายนั้น เป็นที่อยู่อาศัยสำคัญ ของนกเงือกหายากหลายชนิด อาทิ นกเงือกหัวแรด นกเงือกหัวหงอก นกเงือกชนหิน โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการโดย รศ.ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ จึงลงพื้นที่ไปผลักดัน ให้เกิดโครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด
      ในเดือนที่อากาศร้อนที่สุด เราเดินทางไปยังอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส พื้นที่เดียวกับที่ข่าวกรองของทางราชการยืนยันว่า เป็นที่พำนักของผู้ก่อการร้าย ที่วางระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
      เสียงระเบิดในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่จบสิ้น ขณะที่การอนุรักษ์นกเงือกบนเทือกเขาบูโด ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะความพยายามให้ชาวบ้าน ที่เคยขโมยลูกนกเงือกไปขาย มาร่วมกันเป็นผู้ดูแลนกเงือก และก่อตั้งหมู่บ้านนกเงือกขึ้นในเวลาต่อมา
(คลิกดูภาพใหญ่)

      เครื่องบินของบริษัทการบินไทย บินออกจากภูเก็ต ข้ามทะเลสีคราม ผ่านเกาะพีพี มุ่งหน้าตรงไปยังนราธิวาส ขณะที่เครื่องบินลดเพดานบินเตรียมลงจอด มองไปเบื้องล่างเห็นเทือกเขา ปกคลุมไปด้วยเรือนยอดของไม้สีเขียวแน่นไปหมด ภาพที่เห็นคงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเทือกเขาบูโด ที่กินอาณาบริเวณเกือบแสนไร่ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี
      ปรีดา เทียนส่งรัศมี หนุ่มฉกรรจ์วัย ๓๐ ปี แห่งโครงการศึกษานิเวศวิทยา ของนกเงือก มายืนรอรับเราที่หน้าสนามบินนราธิวาส ไม่นานนักรถโฟร์วีล ที่ผ่านการใช้งานในป่าอย่างทรหด มาร่วม ๒ แสนกิโลเมตร ตั้งแต่เขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง จนถึงเขาบูโด ก็พาเรามาที่อำเภอบาเจาะ ลัดเลาะเข้าไปตามเส้นทางในป่า ผ่านบ้านมุสลิมหลายแห่ง แล้วมาหยุดอยู่ที่หน้าเขาปูลา--เขาเล็ก ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบูโด
      การเดินทางในป่าใหญ่เพิ่งจะเริ่มต้น
      เราข้ามห้วยเล็ก ๆ ผ่านสวนยางพาราของชาวบ้าน เดินเข้าป่าไต่ขึ้นเขาที่ค่อนข้างชัน ไม่นานนักเราก็ขึ้นมาถึงซุ้มดูนก บริเวณสันเขาแห่งหนึ่ง ที่มีดงต้นดาหลาออกดอกสีชมพูขึ้นหนาแน่น มองลงไปเป็นป่าทึบ เห็นสวนทุเรียน สวนลองกองของชาวบ้าน ที่มาบุกรุกทำสวนกลางป่าเป็นหย่อม ๆ เบื้องหน้าเราคือต้นกาลอสูงใหญ่ต้นหนึ่ง  มีรังนกเงือกหัวแรด อยู่ตรงกลางต้น
      "นี่เป็นรังนกเงือกรังเบอร์ ๒๙ ตอนนี้นกเงือกตัวเมียเข้ารังแล้ว รอสักพักนะครับ ประเดี๋ยวนกเงือกตัวผู้ จะบินมาป้อนอาหาร" ปรีดากล่าวอย่างมั่นใจ
      ปรีดาเป็นผู้ช่วยวิจัยของโครงการฯ ที่มี รศ.ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าทีม เขาจบจากเพาะช่าง และสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ชีวิตที่ผ่านมา ทุ่มเทให้แก่การศึกษาธรรมชาติอย่างจริงจัง ช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา เขาอยู่ในป่าตลอด ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยนกเงือกที่เขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง และล่าสุดที่เขาบูโด
      "สมัยก่อนแถวเขาบูโด คงไม่มีใครกล้าเข้ามา จนกระทั่งปี ๒๕๓๗ มีชาวบ้านมาบอกอาจารย์พิไลว่า พบนกเงือกหัวแรด ตอนนั้นนกชนิดนี้เป็นนกหายาก ซึ่งคิดว่าสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว พออาจารย์พิไลเข้ามาสำรวจ ก็พบว่ายังมีนกเงือกหัวแรด และพบนกเงือกชนิดอื่น ๆ อีก ๕ ชนิด คือ นกชนหิน นกเงือกหัวหงอก นกกก นกเงือกกรามช้าง และนกเงือกปากดำ รวมเป็น ๖ ชนิดจากจำนวนนกเงือกในเมืองไทยที่มี ๑๓ ชนิด แต่จากการสำรวจเราพบว่า สถานการณ์ของนกเงือกไม่สู้ดีนัก เพราะเขาบูโดมีหมู่บ้านตั้งอยู่ล้อมรอบ ชาวบ้านเริ่มรุกป่ามากขึ้น และมีการขโมยลูกนกเงือกในรัง ไปขายเป็นประจำทุกปี"

(คลิกดูภาพใหญ่)       ในปีแรก ๆ ที่เริ่มโครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด อาจารย์พิไลเล่าให้ฟังว่า เวลานั้นขบวนการโจรก่อการร้ายหรือ ขจก. ในป่ายังมีอิทธิพลอยู่ บางครั้งเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ ก็เจอกับพวก ขจก. กลางป่า บางเดือนเป็นเดือนบวชของพวก ขจก. ที่จะลงมาเยี่ยมครอบครัวในหมู่บ้าน ขจก. ก็สั่งไม่ให้ใครขึ้นไปเก็บข้อมูลนกเงือกในป่า
      "ผับ ๆ ๆ" เสียงนกใหญ่กระพือปีกบินได้ยินใกล้เข้ามา เจ้าของเสียงคือนกเงือกหัวแรดตัวผู้ ขนาดประมาณ ๑ เมตรวัดจากหัวถึงปลายหาง บินมาเกาะที่กิ่งไม้ต้นข้าง ๆ โพรงรังของตัวเมีย นกเงือกหัวแรดนี่เอง ที่เป็นที่มาของคำเรียกนกเงือกในภาษาอังกฤษว่า hornbill แปลว่า ผู้มีเขาที่ปาก จากลักษณะของหัวนก ที่มีรูปร่างเหมือนเขา เจ้าหัวแรดจัดว่าเป็นนกเงือกงามสง่าชนิดหนึ่ง ที่เราเคยเห็น "เขา" สีแดงส้มโค้งงอนเหมือนนอแรด สักพักมันก็บินมาเกาะหน้ารัง เอากรงเล็บยึดเปลือกไม้ และป้อนลูกไทรสีแดงสุกในปาก ให้แก่นกเงือกตัวเมียในรัง
      ใครเห็นการป้อนอาหารของนกเงือก คงจะรู้สึกอิจฉาในความโรแมนติก ที่นกเงือกคู่ผัวตัวเมียมีให้กัน เพราะเป็นการป้อนอาหารปากต่อปากอย่างดูดดื่ม
      นกเงือกตัวผู้ขย้อนลูกไทรจากกระเพาะพักตรงแถวหลอดอาหาร ออกมาป้อนให้ตัวเมีย ประมาณสิบกว่าลูกจึงหมด แล้วโผบินจากไปสู่หุบเขาเบื้องล่างอีกครั้ง เพื่อหาอาหารมาให้ตัวเมีย ที่เพิ่งเข้ารังวางไข่มาได้ไม่กี่อาทิตย์
      นกเงือกจัดว่าเป็นนกที่มีนิสัยการทำรัง ผิดไปจากนกชนิดอื่น ๆ คือเมื่อถึงฤดูทำรัง นกเงือกตัวเมียจะปิดปากโพรง ขังตัวเองอยู่ในโพรงไม้ขนาดใหญ่ ตลอดสามสี่เดือน เพื่อกกไข่และเลี้ยงลูก
      โดยมีตัวผู้คอยส่งอาหารให้
      ในป่าบูโด ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นช่วงเวลาที่นกเงือกเริ่มจับคู่ และบินมาสำรวจโพรงรังบนต้นไม้ ซึ่งมักจะเป็นโพรงรังเก่าที่เคยใช้เมื่อปีก่อน ตัวผู้พยายามล่อหลอกให้ตัวเมียเข้าไปโพรงรัง หากตัวเมียยินยอม ก็จะเข้าไปสำรวจว่าโพรงรังเหมาะสมหรือไม่ หากพื้นไม่ทรุด ก็จะเริ่มทำความสะอาดโพรงรัง กระเทาะดินที่ปิดปากโพรงออก ถ้าพื้นข้างในมีเศษขน เศษเมล็ดผลไม้ และเศษซากแมลงที่ค้างอยู่ ก็จะคาบออกมาทิ้ง แล้วเริ่มลงมือปิดปากโพรงบางส่วนไว้ พอออกมาตัวผู้ก็จะเกี้ยวพาราสีต่อไป
      "ผมเคยเห็นตัวผู้บินไปเก็บลูกไทรจะมาป้อนให้ตัวเมีย พอเข้ามาใกล้ ตัวเมียก็เขินอายหันหนีไป ตัวผู้ก็ตามไป เหมือนคนจีบกัน" ปรีดาเล่า
      อาจารย์พิไลเล่าให้ฟังว่า เคยเห็นนกกกบางคู่ แสดงความรักด้วยการใช้ปากถูกัน และแก้เขินด้วยการแคะเปลือกไม้ หรือหักกิ่งไม้ พอตัวผู้เบียดกระแซะตัวเมีย เจ้าหล่อนจะทำเป็นไม่สนใจ มัวแต่ไซ้ขนตัวเอง
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ระหว่างตัวเมียกำลังปิดปากโพรง พอได้โอกาสตัวผู้ก็จะขึ้นทับตัวเมีย ผสมพันธุ์กันวันละหลายครั้ง หรือสองสามวันครั้งแล้วแต่ชนิด หลังจากนั้นตัวเมียจะขะมักเขม้นอยู่กับการปิดปากโพรง วัสดุที่ใช้คือดิน หรือเศษไม้ผุ ๆ ที่ผสมกับอาหารเหนียว ๆ ที่สำรอกออกมา นกเงือกตัวเมีย จะคายวัสดุนี้มาแปะปากโพรงให้แคบลงเรื่อย ๆ จนเหลือรูกว้างประมาณ ๑ นิ้ว กว่าจะปิดปากโพรงเสร็จ ก็ใช้เวลาสามถึงเจ็ดวัน"
      นับแต่นั้น นกเงือกตัวเมียก็จะขังตัวเองอยู่ในโพรงรัง เพื่อวางไข่ให้กำเนิดลูกน้อย เลี้ยงดูลูกนกเงือกจนโตพอที่จะบินได้ สองแม่ลูก จึงเจาะออกมาจากโพรงรัง บินไปเข้าฝูงต่อไป รวมเวลาประมาณ สี่ถึงห้าเดือน
      ช่วงที่อยู่ในโพรงนี้เอง ที่แม่นกเงือกต้องฝากชีวิตไว้กับคู่ของมัน ซึ่งจะหาอาหารเอากลับมาป้อนทุกวัน ไม่นอกใจไปเที่ยวซุกซนกับนกเงือกสาว ๆ ตัวอื่น
      หากนกเงือกตัวผู้ถูกฆ่าตาย ตัวเมียในโพรงก็จะอดตายไปด้วย
      คนมุสลิมจึงเรียกคนที่มีนิสัยเหมือนนกเงือก คือรักลูกรักเมีย อยู่กันจนแก่เฒ่าว่า บุหรงออรัง บุหรงแปลว่า นก ออรัง แปลว่า คน บุหรงออรังหมายถึงนกกก ซึ่งเป็นนกเงือกที่เห็นง่ายที่สุด
      "นกเงือกตัวเมียบางตัว ก็เลือกอาหารเหมือนกันนะครับ บางตัวเบื่ออาหารซ้ำ ๆ อย่างพวกลูกไทร ก็จะคายทิ้งไม่ยอมกิน บางตัวโยนอาหารใส่หน้าตัวผู้เลย เจ้าตัวผู้ก็ต้องบินไปหาอาหารอื่น ๆ มาให้กิน โดยเฉพาะช่วงที่ลูกนกออกจากไข่ฟักเป็นตัว ตัวผู้ต้องหาอาหารโปรตีนมาให้ ทั้งแม่กับลูกกิน ที่เห็นก็มีตะขาบ จักจั่น กิ้งกือ ค้างคาวตัวเล็ก ๆ ตุ๊กแกป่า งูเขียว ไปจนถึงนกตัวเล็ก ๆ" ปรีดาเล่าทิ้งทาย
      เมฆฝนสีดำทะมึนเริ่มตั้งเค้า อากาศในป่าดิบเอาแน่นอนไม่ได้ แดดกำลังแผดเผาอยู่แท้ ๆ สักพักอาจเปลี่ยนเป็นพายุฝนได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ ฝนมักจะตกตอนบ่ายแก่ ๆ เรารีบไต่ลงจากเขา ขณะฝนเริ่มสาดกระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา
      คืนนั้นเรานอนฟังเสียงน้ำเซาะหินอยู่ในกระต๊อบของปรีดา ซึ่งปลูกติดกับลำธารที่ไหลมาจากน้ำตกปาโจ ลำธารเดียวกับที่ชาวบ้านแถวนี้ยังจำได้ว่า เมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อน บางวันพวกเขาเห็นลำธารเป็นสีเลือด มีศพลอยมาตามลำน้ำ ...ผลของสงครามความขัดแย้งในป่าที่ยังไม่จบสิ้น
(คลิกดูภาพใหญ่)

      วันนี้เรามีนัดกับพี่น้องชาวมุสลิมหลายคนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ เขาบูโด หลายปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของโครงการศึกษานิเวศวิทยา ของนกเงือก ได้ใช้ความพยายามอย่างมาก ในการพูดคุยให้พี่น้องมุสลิมเหล่านี้ เห็นความสำคัญ และคุณค่าของนกเงือก
      "ตอนแรก ๆ พวกผมพยายามอธิบายให้ฟังว่า หากชาวบ้านขโมยนกเงือกแล้ว นกเงือกจะค่อย ๆ สูญพันธุ์อย่างไร ผมเอาวิดีโอเทปเกี่ยวกับนกเงือกไปฉาย ให้เห็นถึงความสำคัญของนกเงือก แต่สิ่งที่ได้คือ ผมถูกกล่าวหาว่า เป็นสายของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มาจับพวกลักลอบตัดไม้" ปรีดาเล่าขณะเลี้ยวรถเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านตะโละตา
      เจ้าของบ้านที่ออกมาต้อนรับ ชื่อ นิมุ รายาคารี หรือ แบมุ
      "อัสลาโมไลกุม"
      แบมุทักทายด้วยภาษายาวี แปลว่า สบายดีหรือ และยิ้มอย่างยินดี เมื่อเห็นปรีดามาเยี่ยม แบมุเชื้อเชิญพวกเราให้ไปนั่งคุยกัน ใต้ต้นปูโปหรือต้นมะไฟ
      "ลูกปูโปในหมู่บ้านเปรี้ยว ไม่อร่อย วันหลังแบมุจะเก็บลูกปูโปสีแดงสดจากในป่ามาฝาก หวานอร่อยกว่านี้มาก" แบมุสนทนาด้วยภาษาไทยผสมภาษายาวี
      แบมุเป็นชายไทยมุสลิมวัย ๕๕ ปี รูปร่างสันทัด ชอบนุ่งโสร่งไม่สวมเสื้อ เป็นคนใจคอกว้างขวาง คนในหมู่บ้านให้ความเกรงใจมาก
      "คนมุสลิมไม่กินนกใหญ่ ไม่กินนกที่โฉบกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร" แบมุยืนยันว่าชาวมุสลิมไม่ล่านกเงือกกินเป็นอาหาร แต่ยอมรับว่าขโมยลูกนกเงือกมานับสิบปีแล้ว
      "แบมุขโมยลูกนกเงือกอย่างไรครับ" เรายิงคำถามตรง
      "ไม่ยากหรอก แบมุรู้ว่าเดือนไหนลูกนกใกล้จะออกจากรัง ก็จะไปที่ต้นไม้ที่นกเงือกทำรัง ปีนขึ้นไปแล้วเอามือล้วงเข้าไปในรัง แม่นกจะบินหนี แบมุก็เอื้อมมือไปคว้าคอลูกนกลงมา"
      แบมุเล่าให้ฟังว่า เขาเคยพยายามจะจับพ่อแม่นกเงือกไปขายด้วย
      "แบมุเอายางเหนียว ๆ ที่ทำด้วยยางตะเคียนผสมยางพารากับน้ำมันมะพร้าว มาทาที่กิ่งไม้ที่คิดว่านกเงือกจะเกาะ ถ้านกเงือกมาเกาะจะติดแหมะเลย แต่ลองหลายทีแล้ว นกเงือกฉลาด ไม่ยอมมาเกาะ"
      แบมุเล่าว่า ลูกนกเงือกหัวแรดขายได้ตัวละ ๑,๕๐๐ บาท ลูกนกกกตัวละ ๕๐๐ บาท นำไปขายที่ปัตตานี มีคนมารับซื้อประจำ
      แต่หากลักลอบขนลูกนกเงือกเหล่านั้นมาขายที่ตลาด อตก. ในกรุงเทพฯ ได้ จะได้ราคาดีมาก คือ นกเงือกหัวหงอกตัวละ ๓ หมื่นบาท นกชนหินตัวละ ๒ หมื่นบาท
      "ตอนนั้นแบมุไม่รู้หรอกว่า การอนุรักษ์นกคืออะไร รู้แต่ว่าจับลูกนกได้เงินดี ก็มาแบ่งกันกับพรรคพวกที่ช่วยกันจับ"

(คลิกดูภาพใหญ่)       อาจารย์พิไลต้องใช้ความพยายามอย่างมาก พูดคุยกับแบมุ ให้เขาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก
      "ถ้าหากแบมุยังเอานกเงือกไปขาย ในที่สุดนกเงือกก็จะไม่เหลือ ต่อไปลูก ๆ ของเธอก็จะไม่เห็น แบมุลองคิดดูสิ ถ้าหากมีใครจับลูกของเธอไปขายทุกครั้งที่เธอมีลูก แล้วเธอจะมีลูกไว้สืบสกุลไหม นกเงือกก็เหมือนกัน ถ้าหากจับลูกมันไปขาย ในที่สุดก็จะหมดป่า แต่ถ้าแบมุร่วมมือกับเรา ก็จะมีรายได้จากการช่วยกันดูแลนกเงือกด้วย ไม่ต้องขโมยลูกนกเงือกไปขายหาเงินอีก" นั่นคือถ้อยคำที่อาจารย์พิไลเกลี้ยกล่อมแบมุ นอกเหนือจากการนำวิดีโอเรื่องนกเงือก ที่เคยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ มาฉายให้ดู
      ในที่สุดโครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโดก็เริ่มขึ้น โดยพยายามให้ชาวบ้านรอบ ๆ เทือกเขาเห็นคุณค่าของนกเงือก และชักชวนให้คนที่เคยจับลูกนกเงือก หรือเจ้าของสวนที่มีต้นไม้ที่นกเงือกทำรังมาร่วมกัน เป็นผู้ช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรมของนกเงือก
      หากชาวบ้านพบนกเงือกเข้ารังตามต้นไม้ใหญ่ แล้วมารายงาน ทางโครงการฯ จะให้เงินเป็นรางวัล ตามความยากง่ายของชนิดนกเงือก กล่าวคือ พบนกเงือกหัวหงอกเข้ารังได้ ๒,๕๐๐ บาท นกชนหิน ๑,๕๐๐ บาท นกเงือกหัวแรด นกเงือกกรามช้าง และนกเงือกปากดำ ๑,๐๐๐ บาท นกกก ๕๐๐ บาท
      "โดยปรกตินกเงือกจะทำรังในโพรงเดิมทุกปี หากไม่มีอะไรไปรบกวน ดังนั้นพอถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ชาวบ้านจะไปสังเกตที่โคนต้นที่มีโพรงรังเดิม ว่ามีขี้นก หรือเศษลูกไม้หล่นลงมาหรือเปล่า หากมีก็แสดงว่านกเข้ารังแล้ว หรือคอยดูนกเงือก ที่เกาะตามต้นไม้ ว่าทำความสะอาดปากเช็ดปากหรือไม่ ถ้าเห็นนกแสดงพฤติกรรมอย่างนั้น ก็แสดงว่านกเงือกตัวนั้นเพิ่งบินไปป้อนอาหารตัวเมีย ก็ค่อย ๆ สังเกตต้นไม้ใหญ่แถวนั้น ว่าอาจจะมีนกเงือกเข้าโพรงรัง" ปรีดาอธิบายวิธีการหารังนกเงือกให้เราฟัง
      ปัจจุบันชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ มี ๒๕ คน มาจาก ๙ หมู่บ้าน ๕ อำเภอ ๓ จังหวัด ได้แก่ หมู่บ้านตาเปาะ หมู่บ้านตะโหนด อำเภอรือเสาะ หมู่บ้านกูยิ อำเภอยี่งอ หมู่บ้านตะโล๊ะตา หมู่บ้านปาโจ อำเภอปาโจ จังหวัดนราธิวาส หมู่บ้านกาหยี หมู่บ้านบาโง และหมู่บ้านกะพ้อ จังหวัดปัตตานี หมู่บ้านจะก๊วะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา หมู่บ้านเหล่านี้ตั้งอยู่รอบ ๆ เทือกเขาบูโด ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ มา พบรังนกกก ๕๐ กว่ารัง รองลงมาคือนกเงือกหัวแรด ๓๐ กว่ารัง นกเงือกกรามช้าง และนกชนหินประมาณ ๑๕ รัง นกเงือกปากดำประมาณ ๑๐ รัง และนกเงือกหัวหงอกน้อยที่สุด คือพบเพียง ๓ รัง
      "ในแต่ละปีนกเงือกจะไม่เข้าครบทุกรัง นกเงือกเข้ารังประมาณ ๓๐-๕๐ กว่ารัง พอชาวบ้านพบนกเงือกเข้ารังแล้ว เราจะจ่ายเงินรางวัล จากนั้นชาวบ้านก็จะไปเก็บข้อมูล เฝ้าพฤติกรรมการทำรังของนกเงือก ซึ่งจะอยู่ในโพรงประมาณสี่ห้าเดือน ช่วงนี้ทางโครงการฯ จะจ่ายเงินค่าแรงให้ชาวบ้านคนละ ๑๒๐ บาทต่อวัน จนกระทั่งแม่นกกับลูกออกจากรัง" ปรีดาอธิบายให้ฟัง
      ทุกวันนี้ทางโครงการฯ ใช้เงินบริจาค จากโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก เป็นค่าใช้จ่าย สำหรับชาวบ้านที่มาร่วมเก็บข้อมูล ซึ่งแต่ละปีใช้เงินไม่ต่ำกว่า ๔ แสนบาท
      ชาวบ้านที่พบรังนกเงือกส่วนหนึ่ง จะมีรายได้หากนกเงือกมาทำรังในโพรงเดิม เป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่ชาวบ้านในพื้นที่ จะรู้ว่ารังนกเงือกนั้นใครเป็นเจ้าของ ดังนั้นหากเจ้าของรังไม่ขโมยลูกนกเงือกเสียเอง โอกาสที่คนอื่นจะมาลักขโมยก็ยาก
      "ไม่มีใครกล้ามายุ่งกับรังนกเงือกของแบมุบนเขา รังส่วนใหญ่มีเจ้าของทั้งนั้น" แบมุผู้เป็นเจ้าของรังนกเงือกหัวแรด และนกกกรวม ๓ รัง กล่าวอย่างหนักแน่น
(คลิกดูภาพใหญ่)

      บ่ายวันนั้นปรีดาพาเราไปพบ อนันต์ ดาหะแม ผู้ใหญ่บ้านวัย ๓๗ ปี แห่งหมู่บ้านตาเปาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ตีนเทือกเขาบูโด มีรังนกเงือกมากที่สุดถึง ๓๖ รัง
      ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี แทบไม่มีคนแปลกหน้าเข้ามาที่บ้านตาเปาะเลย เพราะหนทางลำบาก และชุกชุมไปด้วยโจรพูโล ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นญาติพี่น้องของคนในหมู่บ้าน มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันเหตุการณ์เงียบสงบ เพราะโจรพูโลมอบตัวกับทางการแล้ว
      ทางเข้าหมู่บ้านตาเปาะ มีแผ่นป้ายขนาดใหญ่แกะสลักไว้ว่า "หมู่บ้านนกเงือก"
      "ชาวบ้านที่นี่เอาจริงเอาจัง กับการอนุรักษ์นกเงือกมาก และแถวนี้มีปัญหาการตัดไม้เถื่อนมากทีเดียว โดยเฉพาะไม้ตะเคียน ซึ่งเป็นต้นไม้ที่นกเงือกชอบทำรัง" ปรีดาเกริ่นให้เราฟัง
      ตามธรรมชาตินกเงือกมักจะทำโพรงรัง ในวงศ์ไม้ยาง คือต้นตะเคียนทอง ต้นกาลอ ต้นตะเคียนทราย และต้นยาง (คนละชนิดกับต้นยางพารา) เพราะไม้จำพวกนี้มีขนาดใหญ่ ลำต้นเกิดเชื้อรากินเนื้อไม้ได้ง่าย ทำให้เกิดโพรงขนาดใหญ่ พอดีกับตัวนกเงือกที่มีขนาดใหญ่เช่นกัน
      ผู้ใหญ่อนันต์เชื้อเชิญให้เราเข้าไปนั่งในบ้าน เล่าว่าตอนนี้หมู่บ้านของเขา ไม่มีใครจับลูกนกเงือกไปขายแล้ว เพราะเขาขอร้องชาวบ้านไว้ ในช่วงเวลาสี่ห้าปีที่ทางโครงการนกเงือกฯ พยายามเข้ามาพูดคุย ฉายวิดีโอให้ชาวบ้านาดูอย่างสม่ำเสมอ จนพวกเขาเริ่มตระหนักถึงความสำคัญ ของการอนุรักษ์นกเงือก
      ชาวบ้านที่เคยเป็นนักล่าลูกนกเงือก ปัจจุบันก็ผันตัวเอง มาเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยหารังนกให้แก่โครงการฯ
      "ตอนแรกพวกผมจะมาคุยกับโต๊ะอิหม่าม และผู้ใหญ่บ้านก่อน ว่าที่นี่มีนกเงือกเยอะ ขนาดคนต่างประเทศ ชาวญี่ปุ่น ชาวสิงคโปร์ ยังพากันมาดูนกเงือกถึงที่นี่ แสดงว่าหมู่บ้านนี้ต้องมีอะไรดี เราน่าจะหันมาช่วยกันอนุรักษ์นกเงือก  มากกว่าขโมยนกเงือกไปขาย ไม่อย่างนั้น วันหนึ่งนกเงือกต้องหมดป่าแน่นอน พอผู้นำหมู่บ้านเข้าใจและเห็นด้วย พวกเขาก็จะไปคุยเป็นภาษายาวีให้ลูกบ้านฟัง เราก็เอาวิดีโอเรื่องนกเงือกที่มาถ่ายแถวนี้ และออกฉายทางโทรทัศน์ไปแล้ว มาฉายให้ดู ทำให้พวกเขาภูมิใจที่บ้านตาเปาะ เป็นแหล่งนกเงือกที่สำคัญของเทือกเขาบูโด" ปรีดาอธิบายเสริม

(คลิกดูภาพใหญ่)       จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้ใหญ่อนันต์และผู้ใหญ่ดาโอ๊ะ แห่งหมู่บ้านตะโหนด มีความคิดว่า อยากจะตั้งหมู่บ้านอนุรักษ์นกเงือกอย่างจริงจัง โดยประกาศตั้งเป็นหมู่บ้านนกเงือกเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีชาวบ้านมาร่วมเป็นสักขีพยาน มีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์นกเงือกไม่ให้สูญพันธุ์ เพื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน จะได้เห็นนกเงือกต่อไป ผลที่ได้คือ ไม่มีการขโมยลูกนกเงือกอีกต่อไป การตัดไม้เถื่อนเริ่มลดน้อยลง ชาวบ้านที่ยังไม่วางมือจากการลักลอบตัดไม้เถื่อน ก็ยอมละเว้นที่จะไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ ที่นกเงือกใช้เป็นโพรงรัง
      "ผมเรียกลูกบ้านที่เคยขโมยลูกนกมาพูดกันตรง ๆ พวกเขาก็สารภาพว่าจะไม่ทำอีก ผมบอกว่า ผมขอร้องให้เลิก ถ้านกเงือกหายไปจากป่าแถวนี้อีก ผมจะเสียหน้า"
      เมื่อผู้นำมุสลิมในหมู่บ้านที่ไกลปืนเที่ยง เอ่ยปากว่าจะอนุรักษ์นกเงือก ลูกบ้านย่อมจะเกรงใจเป็นธรรมดา
      "ผมบอกลูกบ้านว่า หมู่บ้านของเรามีนกเงือกมาก หมู่บ้านอื่นไม่มีเหมือนของเรา หากเรารักษานกเงือกได้ ก็รักษาป่าได้ คิดว่าหากที่นี่เป็นหมู่บ้านนกเงือก อีกหน่อยถ้าคนจะมาดูนกเงือกที่เขาบูโด พวกเขาก็จะมาที่นี่ เพราะมีนกเงือกมากกว่าที่อื่น การเดินทางขึ้นเขาไม่ลำบากมาก และเราจะให้พรานที่เป็นเจ้าของรัง เป็นมัคคุเทศก์พาไปดูนกเงือก ชาวบ้านก็จะมีรายได้ทางอ้อมด้วย" ผู้ใหญ่อนันต์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีนักดูนกชาวต่างประเทศหลายคน เข้ามาดูนกเงือกที่นี่บ้างแล้ว สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น ก็เคยมาถ่ายทำสารคดีนกเงือกที่หมู่บ้านแห่งนี้ เผยแพร่ไปทั่วโลก
      สุรชัย ดารี ลูกบ้านตาเปาะวัย ๒๖ ปี แวะมาเยี่ยม ในอดีตเขาเป็นทหารแห่งค่ายสิรินธร ที่เคยยิงสู้กับโจรพูโล ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยของโครงการฯ สุรชัยเล่าว่า เขาเคยขโมยลูกนกชนหินในโพรงรัง อายุสี่เดือนตัวขนาดแม่ไก่ไปขาย ได้เงินถึง ๕,๕๐๐ บาท
      "ผมจับลูกนก อาจจะได้ครั้งเดียว แล้วต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะผิดกฎหมาย แต่มาช่วยเฝ้ารังนก แม้ว่าจะได้เงินไม่มาก แต่ก็ได้ทุกปี ไม่ต้องทำผิดกฎหมายด้วย" สุรชัยยอมรับว่าเเงินเป็นปัจจัยสำคัญ หากโครงการฯ ไม่มีเงินจ้าง เขายืนยันว่าคงไม่ไปขโมยลูกนกอีก เพราะผูกพันกันมาก แต่ตัดไม้เถื่อนเขาไม่รับปาก
      ชาวบ้านรอบ ๆ เขาบูโดมีฐานะยากจนมาก ส่วนใหญ่รับจ้างกรีดยาง ทำสวน หาของป่า มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ ๑,๕๐๐-๓,๐๐๐ บาท บางคนมีรายได้เสริมจากการรับจ้างขุดหลุมฝังศพ หลุมละ ๑๐๐-๑๕๐ บาท หรือรับจ้างยิงกระรอกในหน้าทุเรียน ได้ค่าจ้าางตัวละ ๒๐ บาท
(คลิกดูภาพใหญ่)       "แล้วชาวบ้านแถวนี้ล่าสัตว์บนเขาบูโดไหม" เราถามผู้ใหญ่อนันต์ด้วยความสงสัย
      "พวกเต่า ตะพาบ คนมุสลิมไม่กิน ก็มีพวกเก้ง กระจง เม่น ที่ยังเอาบ้าง แต่เหตุการณ์เมื่อปีที่แล้ว ทำให้คนแถวนี้ไม่ค่อยกล้าขึ้นไปล่าสัตว์"
      "เรื่องอะไรครับ" เราถามด้วยความอยากรู้
      "เป็นเรื่องจริงนะ แต่ฟังเหมือนนิยาย" ปรีดาบอกให้ผู้ใหญ่อนันต์เป็นคนเล่า
      "เหตุการณ์เกิดขึ้นที่หมู่บ้านตายาที่อยู่ถัดไป มีชาวบ้านสองคนแบกปืนเดินขึ้นเขา ไปล่ากือแยหรือเก้ง เพื่อหาอาหารมาฉลองงานปีใหม่ พอไปดักซุ่มที่ต้นไทร เห็นเก้งตัวหนึ่งมากินลูกไทร ก็กดเปรี้ยงเข้าให้ เก้งขาดใจตายทันที คนที่ยิงได้ก็บอกให้เพื่อนแบกเก้งเดินไปก่อน ส่วนตัวเองจะไปล่าสัตว์ตัวอื่นต่อ
      ทั้งคู่ก็เดินไปคนละทาง เวลานั้นมันพลบค่ำแล้ว ต่างคนก็ฉายไฟฉายที่เอาติดตัวไป แต่พอเดินไปได้สักพัก ไฟฉายของคนที่แบกเก้งเกิดดับ ขณะที่คนแบกปืนก็เดินไปเรื่อย ๆ สักพักเขาเห็นเงาตะคุ่ม ๆ อยู่ข้างหน้า พอฉายไฟเจอตาเก้งสะท้อนสีแดง นึกว่าเป็นเก้งอีกตัวหนึ่ง เลยซัดเปรี้ยงไปอีกนัด ปรากฏว่ากลายเป็นเพื่อนที่แบกเก้งเป็นศพแทน"
      "อ้ายคนที่ยิง กว่าจะเดินลงเขามาบอกพรรคพวกในหมู่บ้าน ให้ขึ้นไปแบกศพเพื่อนลงมา ก็รุ่งเช้าพอดี แต่ไม่ติดคุกหรอก วิ่งเต้นเรื่องว่าเป็นอุบัติเหตุ แล้วจ่ายค่าเสียหาย ให้แก่ญาติคนตายมากโข ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีใครกล้าไปล่าสัตว์ โดยเฉพาะถ้าต้องไปกับคนที่ยิงเพื่อน" ปรีดาเล่าเพิ่มเติม
      อาหารเที่ยงมื้อนั้นผู้ใหญ่อนันต์ เลี้ยงเราด้วยข้าวสวยร้อน ๆ กินกับปลาย่าง ที่จับในลำธารข้าง ๆ และน้ำบูดูซึ่งทำจากปลาทะเลหมักเกลือ คล้ายน้ำปลาจิ้มกินกับยอดหวายอ่อน ขณะกินข้าว ก็ได้ยินเสียงสวดจากมัสยิด เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ชายในหมู่บ้าน ไปทำละหมาดร่วมกันที่มัสยิดกลางหมู่บ้านในทุกวันศุกร์
      "ตอนนี้ผมมีปัญหาหนึ่งที่ยังแก้ไม่ได้ คือขี้วัวที่เกลื่อนกลาดตามถนน ทำให้ดูสกปรกเลอะเทอะมาก เกรงว่าแขก หรือนักท่องเที่ยวที่มาดูนกที่หมู่บ้านเรา จะไม่ได้รับความสะดวก" ผู้ใหญ่อนันต์มีความตั้งใจ ที่จะทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์นกเงือก และคาดหวังว่าในอนาคต หากทางโครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือกฯ หมดงบประมาณ ที่จะจ้างชาวบ้านไปเฝ้ารังนกเงือก รายได้ของชาวบ้าน น่าจะมาจากการที่มีนักท่องเที่ยว มาดูนกเงือกภายใต้กฎกติกาที่พวกเขาตั้งขึ้น ชาวบ้านคงไม่ต้องหันกลับไปจับลูกนกเงือก หรือตัดไม้ในป่า เพื่อหาเลี้ยงชีพแบบเดิมอีก
        หลังจากลาผู้ใหญ่อนันต์แล้ว เราก็เดินทางไปที่บ้านผู้ใหญ่บ้านดาโอ๊ะ ซามะ แห่งหมู่บ้านตะโหนด เพื่อแจ้งความประสงค์ว่า พรุ่งนี้จะตามชาวบ้านขึ้นเขาไปเฝ้ารังนกชนหิน
      "เดี๋ยวผมต้องไปบอกลูกบ้านว่า พรุ่งนี้ขอร้องไม่ให้ตัดไม้ เพราะเสียงดังในป่า จะทำให้นกไม่ยอมเข้ารัง" ผู้ใหญ่ดาโอ๊ะบอกเรา
      ดาโอ๊ะยอมรับว่า มีลูกบ้านอีกสิบกว่าคน ที่ยังแอบตัดไม้เถื่อนอยู่
      "เขาบอกว่าไม่มีงานทำ อยู่บ้านเฉย ๆ ไม่รู้จะทำอะไร แต่ถ้าไปตัดไม้เถื่อนได้เงินวันละ ๔๐๐-๕๐๐ บาท พวกนี้จะเข้าป่าตั้งแต่ห้าโมงเย็น ตัดกันทั้งคืน ส่วนใหญ่เอาต้นตะเคียน แปรรูปกันในป่า แล้วก็แบกลากกันลงมา ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอม เด็กนักเรียนหลายคนจะไปรับจ้างแบกไม้ลงมา รายได้ดีนะ ใครขยันหน่อยก็ได้วันละ ๓๐๐ บาท...ต้องยอมรับว่าชาวบ้านยังยากจนอยู่ ก็เอาทุกอย่าง ตัดไม้ บุกรุกป่า แต่ขโมยลูกนกเงือกคงไม่กล้า"
      พรุ่งนี้คงรู้ว่า คำขอร้องของผู้ใหญ่ดาโอ๊ะจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่
(คลิกดูภาพใหญ่)

      รุ่งเช้าเราขับรถมาที่บ้านตะโหนด มารับเจ้าของรังนกชนหินสองพ่อลูก คือ มัสบูด หะแว วัย ๑๙ ปี กับพ่อของเขา มาฮามะ หะแว เตรียมตัวเดินข้ามเขาไปอีกสองสามลูก
      เทือกเขาบูโดส่วนใหญ่ค่อนข้างชัน คนที่เตรียมตัวมาไม่ดีคงจะเหนื่อยใจแทบขาดทีเดียว การเดินขึ้นเขานั้นมีหลักอยู่ว่า ไม่ต้องรีบเดิน ให้เดินช้า ๆ อย่างสม่ำเสมอ จะรู้สึกว่าเหนื่อยน้อยกว่าการเดินอย่างรีบ ๆ ซึ่งจะทำให้เหนื่อยหอบตลอดทาง
      การเดินทางครั้งนี้ เราไม่ได้เร่งรีบ แต่เดินไปเรื่อย ๆ จึงสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติระหว่างทางได้
      พอผ่านสวนยางพาราที่ปลูกอยู่ตีนเขา ก็เห็นชาวบ้านมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง กำลังกรีดยางในสวน คนเหล่านี้รับจ้างทำงาน ตั้งแต่ตีห้าจนเกือบเที่ยง ได้น้ำยางสีขาวข้นมารีดเป็นแผ่น วันละห้าแผ่น ขายได้เงินราว ๑๐๐ บาท แบ่งให้เจ้าของสวนยางครึ่งหนึ่ง วันหนึ่งจึงมีรายได้ ๕๐-๖๐ บาท
      แต่ถ้าไปรับจ้างตัดไม้เถื่อนจะได้วันละ ๔๐๐ บาท
      ตามทางเราเห็นรอยลากไม้เถื่อนชัดเจน เศษเปลือกไม้ตามพื้นยังมีกลิ่นสด ๆ ให้รู้ว่า ไม้เถื่อนเพิ่งถูกลากผ่านไปไม่นาน ทางที่เราเดินขึ้นเขานั้น ผ่านป่าใหญ่อันรกครื้ม เราเห็นต้นไม้ใหญ่บางต้น ถูกฟันที่โคนเป็นรอยลึก ซึ่งเป็นวิธีการทำให้ต้นไม้ยืนต้นตายก่อนจะโค่นลงมา รอบบริเวณนั้นหากสังเกตดี ๆ จะเห็นต้นยางพารา อายุไม่ถึงปีปลูกแซมอยู่
      "เป็นวิธีบุกรุกป่าของชาวบ้าน คือพอต้นยางโตขึ้นมา ต้นไม้ใหญ่ก็จะถูกตัดออก อีกหน่อยบริเวณนี้ก็จะกลายเป็นสวนยางพารากลางป่า" ปรีดาอธิบาย
      เดินต่อไปอีกก็พบต้นกระท้อน ต้นสะตอ ปลูกแซมในป่าเป็นระยะ พอจะสันนิษฐานได้ว่า ในอนาคตป่าแถวนี้ คงเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้กลางอุทยานแห่งชาติ
      แต่ต้องยอมรับว่า สวนยางพารา หรือสวนผลไม้กลางป่าหลายแห่ง เป็นของชาวบ้านมาเก่าแก่ ก่อนที่กรมป่าไม้ จะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ทับพื้นที่ทำกินของพวกเขา
      สิทธิ์ในที่ทำกินของเขา ซึ่งมาก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม
      ช่วงที่ข้ามเขาลูกแรกผ่านดงหวายไป มาฮามะ หะแว บอกว่า เมื่อสักครู่พวกตัดไม้เถื่อน เห็นพวกเราเดินขึ้นไป ก็พากันวิ่งหนีเข้าป่า คงนึกว่าพวกเราเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้

 (คลิกดูภาพใหญ่)       "พวกนี้เวลาเห็นเจ้าหน้าที่ เขาจะไม่สู้หรอก หนีลูกเดียว แต่ก็ไม่แน่ เมื่อสองปีก่อนผมเดินขึ้นเขาตาเปาะ ไปรังนกชนหินเบอร์ ๙ ระหว่างทางพบเหยี่ยวรุ้ง ก็ตั้งท่าจะถ่ายรูป เผอิญไปเจอคนตัดไม้สิบกว่าคน กำลังลากไม้ คนตัดไม้คนหนึ่งซึ่งท่าทางเป็นลูกพี่ ควักปืนขนาด ๙ มม. กดเปรี้ยงไปที่เหยี่ยว ผมตกใจมาก นึกในใจว่าเป็นการข่มขู่ พวกเขาคิดว่าเราเป็นสายให้พวกป่าไม้ เจ้าของปืนไม่พูดอะไร เดินเข้าป่าไปตัดไม้ต่อ ผมต้องลงมาบอกผู้ใหญ่บ้าน ให้ไปช่วยเคลียร์กับลูกบ้านให้เข้าใจว่า เราเป็นพวกอนุรักษ์ ไม่ใช่พวกป่าไม้" ปรีดาเล่าถึงอุปสรรคในการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านให้ฟัง ระหว่างการพักเหนื่อย
      สายของวันนั้นเราปีนขึ้นมาถึงซุ้มดูนกชนหิน ที่สร้างเป็นเพิงไม้เล็ก ๆ แต่เบี้องหน้าคือต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่ยืนต้นตาย มัสบูดชี้ให้ดูรังนกชนหินเบอร์ ๑๑ ที่อยู่สูงจากพื้นดินเกือบ ๕๐ เมตร บอกว่านกเพิ่งเข้ารังไม่กี่อาทิตย์
      ชาวมุสลิมเรียกนกชนหินว่า บุหรงตอเราะ เป็นนกเงือกขนาดใหญ่ ประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร มีหน้าตาคล้ายนกดึกดำบรรพ์ เป็นนกที่พบเห็นได้ยาก ในประเทศพบได้เฉพาะทางภาคใต้ และเป็นนกเงือกชนิดเดียว ที่มีโหนกตันคล้ายงาช้างสีแดงคล้ำ ขนตามตัวสีน้ำตาลเข้ม ท้องขาวนวล หางขาวมีแถบดำพาดขวางคล้ายหางนกกก จะเริ่มเข้าโพรงรัง ประมาณเดือนมีนาคม ตัวเมียจะใช้เวลาห้าเดือนเลี้ยงลูกจนเติบใหญ่ และออกจากโพรงพร้อมกัน
      เราส่องกล้องดูโพรงรังของนกชนหิน สังเกตว่ามีปุ่มอยู่หน้าโพรงรัง ต่างจากโพรงรังของนกเงือกหัวแรด ที่ไม่มีปุ่มอะไรเลย ปรีดาไขปริศนาให้ฟังว่า
      "โพรงรังนกชนหิน จะแปลกกว่านกชนิดอื่นตรงที่มีปุ่มอยู่หน้ารัง เพราะมันไม่สามารถใช้เล็บเกาะกับเปลือกไม้ เหมือนนกเงือกชนิดอื่น นกชนหินจะบินมาเหยียบปุ่ม แล้วค่อยป้อนอาหารให้ตัวเมียในโพรง"
      เหตุที่นกเงือกชนิดนี้ได้ชื่อว่า ชนหิน เป็นเพราะเวลามันทะเลาะแย่งอาณาบริเวณกัน มันจะบินเอาหัวโขกชนกัน มีเสียงดังคล้ายหินกระทบกัน ปรีดาเล่าว่าเขาเคยเห็นมากับตา
      "ผมเคยเห็นนกชนหิน ชนกันกลางอากาศ เป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้นมาก บริเวณเขาตะโหนดแถวนี้แหละ มีอยู่วันหนึ่งขณะที่กำลังเดินขึ้นเขา ผมได้ยินเสียงแปร๊น ๆ คล้ายแตรลมของรถประจำทาง พอเงยหน้าขึ้นไป เห็นนกชนหินคอย่นสีแดงแก่สองตัว กำลังส่งเสียงท้าทายกัน ตัวหนึ่งเป็นเจ้าของถิ่น อีกตัวหนึ่งเป็นผู้บุกรุก ทั้งสองตัวบินขึ้นไปเกาะกิ่งไม้สูงห่างกันราว ๑๐๐ เมตร ตอนแรกพวกมันเอาโหนกหัวฟาดกับกิ่งไม้ เสียงดังเหมือนเอาสันขวานเคาะไม้ แล้วทั้งคู่ก็บินเอาโหนกหัวชนกันเสียงดังสนั่น แล้วโผมาเกาะพักที่กิ่งไม้ และก็บินขึ้นกลางอากาศ เอาโหนกหัวชนกันถึงสามครั้ง ก่อนจะเลิกลากันไป"
(คลิกดูภาพใหญ่)       "คนมุสลิมเองไม่กล้าเลี้ยงนกชนหิน เพราะมันร้องเสียงดังมากเหมือนคนบ้า ขืนเลี้ยงไว้ก็เหมือนมีคนบ้าอยู่ในบ้าน" คำบอกเล่าของมาฮามะ คือเหตุผลที่อธิบายว่า เหตุใดคนมุสลิมในเขาบูโด ซึ่งนิยมเลี้ยงนกแทบจะทุกชนิด ไม่ว่านกเขาชวา นกเขียวก้านตอง นกปรอด นกกางเขนบ้าน ฯลฯ จึงไม่เลี้ยงนกชนหิน
      ทันใดนั้นเสียงเลื่อยยนต์ก็ดังสนั่นขึ้นกลางป่า ไม่ไกลจากที่นี่ ปรีดาสันนิษฐานว่า เมื่อคืนพวกตัดไม้เถื่อนคงจะโค่นต้นตะเคียน ตอนนี้คงกำลังใช้เลื่อยยนต์แปรรูปให้เป็นไม้แผ่น อาจเป็นได้ว่าเมื่อวานผู้ใหญ่ดาโอ๊ะตามหาพวกตัดไม้ไม่เจอ จึงไม่ได้บอกว่าพวกเราจะเข้าพื้นที่
      "ผมว่าไม่ใช่ต้นตะเคียน น่าจะเป็นต้นยางพาราแก่ ที่ชาวบ้านโค่นลงมามากกว่า" มัสบูดพยายามแก้ตัวให้เพื่อนบ้าน
      เมื่อเราถามว่าหากโครงการฯ ไม่มีเงินจ้างให้เก็บข้อมูล มัสบูดจะไปตัดไม้เถื่อนกับเพื่อนบ้านหรือไม่ ... ไม่มีคำตอบจากมัสบูด เขารับปากเพียงว่า จะไม่ไปขโมยลูกนกเงือกเท่านั้น
      ความยากจน ปัญหาปากท้อง มักเดินสวนกับการอนุรักษ์เสมอ
      เสียงรบกวนของเลื่อยยนต์ ทำให้ความหวังในการเห็นนกชนหินตัวผู้มาป้อนอาหารให้ตัวเมียเริ่มลดลง การเฝ้ารอด้วยความหวัง เป็นสิ่งเดียวที่จะทำได้ในเวลานี้
      มัสบูดหยิบสมุดบันทึกออกมา แล้วจดอะไรบางอย่างลงไป เมื่อชะโงกหน้าไปดูใกล้ ๆ จึงพบว่าเป็นสมุดรายงานความเคลื่อนไหวของนกชนหิน ในแต่ละวันที่ผ่านมา
      วันที่ ๒๔ มีนาคม รังเบอร์ ๑๐ นกชนหินตัวผู้มาป้อนอาหาร ๑ ครั้ง เวลา ๑๑.๓๒ น. เป็นลูกไทรเล็กนับได้ ๒๐ ลูก
      วันที่ ๒๖ มีนาคม รังเบอร์ ๑๐ นกชนหินมาป้อนอาหาร ๑ ครั้ง เวลา ๑๐.๑๕ น. เป็นลูกไทรเล็ก นับได้ ๑๘ ลูก มีเมฆมาก
      ในช่วงเวลาที่นกเงือกตัวเมียเข้าโพรงรัง ชาวบ้านเจ้าของรัง ที่ทางโครงการฯ จ้างเป็นผู้ช่วยเก็บข้อมูล จะมาเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนกเงือก ว่าตัวผู้มาป้อนอาหารวันละกี่ครั้ง อาหารที่นำมาป้อนคืออะไร รวมไปถึงสภาพดินฟ้าอากาศหรือสิ่งที่น่าสนใจ
      "แต่หากเป็นรังนกที่ชาวบ้านเพิ่งค้นพบใหม่ ผมก็ต้องไปช่วยสำรวจรายละเอียด ชนิด ความสูงของต้นไม้ ความสูงของโพรงรังนับจากพื้น ปากโพรงหันไปทิศใด อยู่ที่ความชัน และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเท่าไร ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้นักวิจัยได้วิเคราะห์พฤติกรรม ของนกเงือกในเขาบูโดต่อไป" ปรีดากล่าวพลางลูบหน้า ที่เริ่มบวมปูดจากพิษของแตน ที่เขาพลาดท่าถูกต่อย ขณะเดินไปฉี่เมื่อครู่ใหญ่ ๆ
      ภายหลังนกเงือกออกจากโพรงรัง ไปรวมฝูงนอกฤดูผสมพันธุ์ ทางโครงการฯ อาจจะจ้างชาวบ้านบางคน ปีนขึ้นไปซ่อมโพรงรังนกเงือกที่ทรุดโทรม เพราะในแต่ละปีมีโพรงรังจำนวนหนึ่ง ที่นกเงือกไม่ยอมมาใช้อีก อันเนื่องมาจากโพรงรังชำรุด ไม่เหมาะสำหรับวางไข่
(คลิกดูภาพใหญ่)       เมื่อสองปีก่อน ปรีดากับชาวบ้านเคยสำรวจโพรงรัง ๑๕ โพรง พบว่ามี ๖ โพรงอยู่ในสภาพชำรุด ที่เหลืออยู่ในสภาพดี จึงได้ช่วยกันปรับปรุงโพรงรังของนกเงือก ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ทั้ง ๖ โพรง บางครั้งต้องขนดินขึ้นไปถมในรัง ที่พื้นโพรงยุบตัวลงมา ปรากฏว่าเมื่อปีที่แล้ว นกเงือกกลับมาใช้โพรงรังที่ปรับปรุงใหม่จำนวน ๑ โพรง หลังจากที่ไม่ได้ใช้โพรงรังนี้มาหลายปี ตั้งแต่เกิดการชำรุด ซึ่งคาดหมายว่าในปีต่อ ๆ ไปนกเงือกอาจกลับมาทำโพรงรัง ที่มนุษย์ช่วยกันปรับปรุงให้ดีขึ้น
      "ตอนนี้เรากำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วยกันออกแบบโพรงเทียม นำไปติดตั้งในต้นไม้ใหญ่ เพื่อช่วยให้นกเงือกในป่าบูโด ขยายพันธุ์ได้มากขึ้น ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทดลองว่าจะใช้ได้ไหม" ปรีดาเล่าในวงข้าวเที่ยง
      บ่ายคล้อยแล้ว จักจั่นนานาชนิดส่งเสียงดังไปทั่วป่า สลับกับเสียงของเลื่อยยนต์ที่ดังแข่งขึ้นมา เราแหงนหน้ามองไปที่ต้นตะเคียนใหญ่... ไม่มีวี่แววของนกชนหิน มีเพียงสายลมพัดผ่าน ใบไม้ร่วงพรูในราวป่า
      "อย่าคิดว่าเราแอบดูนกเงือกฝ่ายเดียว บางทีมันอาจจะเกาะกิ่งไม้แอบดูเราอยู่แถว ๆ นี้ พอเห็นมนุษย์กำลังเลื่อยไม้ เลยไม่ยอมบินไปเกาะหน้ารังป้อนอาหารให้ตัวเมีย" เราตั้งข้อสังเกตบ้าง
      "ผมเคยเห็นนกกกไม่ยอมเข้ารัง เพราะเห็นคนในซุ้มดูนก
      เราต้องผิวปากเดินออกไปจากซุ้ม แกล้งให้นกกกเห็นว่าเราไปแล้วนะ พอมั่นใจว่าไม่มีมนุษย์หน้าไหนหลงเหลืออยู่แถวนี้ มันจึงบินมาเกาะที่โพรงรัง เราก็ค่อย ๆ คลานเข้าไปในซุ้มใหม่ไม่ให้มันเห็น" ปรีดาเล่าถึงความฉลาดของนกกก
      เมื่อถึงเวลาสี่โมงเย็นพวกเราก็กลับที่พัก ไม่ได้เห็นแม้เงานกชนหิน ที่ชาวบ้านบูโดเชื่อว่า เวลานกใกล้ตายจะเสาะหาเซิง หรือเถาวัลย์ที่ปกคลุมบนต้นไม้อย่างหนาแน่นเป็นสุสาน เพื่อไม่ให้ร่างร่วงสู่พื้น
      เราไม่อาจรู้ได้ว่า วันนี้นกเงือกเป็นฝ่ายแอบดูเราอยู่เงียบ ๆ หรือไม่
(คลิกดูภาพใหญ่)

      รุ่งเช้าเราเดินทางไกลไปเทือกเขาฮาลา-บาลา ไปแอบซุ่มดูรังนกเงือกปากดำ หรือนกกาเขา ที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าฮาลา-บาลา คราวนี้ไม่ผิดหวัง หลังจากซุ่มอยู่ในซุ้มครู่หนึ่ง นกเงือกปากดำ หรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่า บุหรง แรแง สองตัว ก็ทยอยบินมาเกาะกิ่งไม้ข้าง ๆ รังนกตัวเมีย
      นกเงือกปากดำ มีขนาดประมาณ ๗๐ เซนติเมตร จัดเป็นนกเงือกขนาดกลาง
      ตัวผู้มีปากดำสมชื่อ สักพักหนึ่งทั้งคู่ก็ผลัดกันบินคาบลูกไม้ ไปป้อนให้ตัวเมียในโพรงรัง ที่แย่งมาจากรังของนกเงือกปากย่น
      เมื่อโพรงรังที่เหมาะสมมีจำกัด การแย่งโพรงรังระหว่างนกเงือกด้วยกัน จึงเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประชากรของนกเงือกลดลง
      ปรีดาบอกเราว่า อย่าเข้าใจผิดว่า ตัวเมียในรังมีหลายผัวมาคอยเลี้ยงดู แต่นกเงือกปากดำ มีพฤติกรรมแปลกกว่านกเงือกชนิดอื่น คือมีนกผู้ช่วย ซึ่งอาจเป็นตัวผู้ หรือตัวเมียในฝูงของมันก็ได้ เชื่อกันว่านกผู้ช่วย เป็นลูกของนกเงือกที่เกิดในปีก่อน ๆ ซึ่งยังไม่ได้จับคู่ผสมพันธุ์ จึงมาฝึกงานเลี้ยงลูกตัวอื่นไปก่อน สำหรับรังนกเงือกนี้ มีนกผู้ช่วยเลี้ยงสี่ตัว
      "นกเงือกสีน้ำตาลก็มีนกผู้ช่วยเลี้ยง แต่มีเฉพาะตัวผู้เท่านั้น" สิ่งที่ปรีดาพูดนั้น ห่างไกลกับพฤติกรรมของมนุษย์ผู้ชายบางคนเสียจริง
      เราเดินออกจากซุ้มไปสำรวจเศษอาหารรอบ ๆ โคนต้นไม้ที่นกเงือกทำรัง
      "ระวังมันขี้ใส่ลงมา" ปรีดาร้องเตือน ให้เราออกห่างจาก "จุดอันตราย"
      ปรีดาเคยปีนขึ้นไปดูโพรงนกเงือกมาแล้ว บอกว่าข้างในโพรงสะอาดมาก นกเงือกจะไม่ขับถ่ายในโพรง แต่จะยื่นก้นมาที่ปากโพรง แล้วขี้ลงมาที่พื้นข้างล่าง พวกนักสำรวจนกต้องระวังให้ดี ถ้าไม่อยากถูกนกขี้ใส่หัว
      ที่โค้นต้นไม้มีซากตุ๊กแกป่าตัวโตที่ถูกนกจิกกินไปเกือบครึ่งตัว ถูกฝูงมดแดงรุมแทะเนื้อจนเป็นรูพรุน ข้าง ๆ มีลูกไม้หลายชนิดที่นกเงือกทำหล่นลงมาขณะป้อนอาหาร อาทิ ผลไทร ตาเสือใหญ่ มะอ้า รวมถึงเมล็ดแข็งใหญ่ ๆ ที่นกเงือกขย้อนทิ้งลงมา รอวันที่จะเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ต่อไป
      อาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ กล่าวว่า นกเงือกมีบทบาทสำคัญ ต่อความสมดุลของระบบนิเวศของป่าดิบเมืองร้อน โดยมีบทบาทเด่นชัด ในการเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ และช่วยควบคุมประชากรกรสัตว์เล็ก ในฐานะผู้ล่า ในบางประเทศ นักพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาป่าที่นกเงือกหายไป พบว่าต้นไม้บางชนิดเริ่มลดลง เพราะไม่มีนกเงือกช่วยกระจายพันธุ์
      ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็มีนกเงือกปากดำผู้ช่วยเลี้ยงอีกสองตัว บินมาเกาะกิ่งไม้ข้าง ๆ แต่แล้วก็บินจากไป ไม่ยอมเข้าไปป้อนอาหารตัวเมีย
      "สงสัยนกเงือกคงเห็นเรา ตอนที่เราไปสำรวจที่โคนต้น มันจึงไม่ยอมเข้ารัง" ปรีดากระซิบบอก
      "กลับเหอะ ตอนนี้มันแอบดูเราอยู่ วันนี้เราคงแอบดูมันไม่ได้แล้ว"


(คลิกดูภาพใหญ่)

      วันสุดท้ายในป่าใหญ่แห่งนี้ เราขึ้นไปเฝ้ารังนกเงือกหัวแรดเบอร์ ๒๙ บนเขาปูลาอีกครั้งหนึ่ง แทนความตั้งใจเดิม ที่จะไปดูนกเงือกหัวหงอก แต่มันไม่เข้ารัง ภาษายาวีเรียกนกชนิดนี้ว่า บุหรง หะยี บุหรงแปลว่า นก หะยี แปลว่า ผู้ที่เคยผ่านการไปแสวงบุญ ทำพิธีฮัจญ์ที่กรุงเมกกะมาแล้ว ซึ่งจะโพกหัวด้วยผ้าขาว ในขณะที่มุสลิมบางคนก็ให้ฉายานกเงือกหัวหงอกว่า พ่อมดผู้เลอโฉม
      วันนี้เราขึ้นเขาปูลาไปพร้อมกับเอก หรือ วิฑูรย์ นุตโร ผู้ช่วยนักวิจัย เอกเป็นหนุ่มเมืองโพธารามวัย ๒๐ ปี แต่ประสบการณ์ในการเดินป่าไม่ได้อ่อนวัยตาม
      หลายปีก่อน เอกเคยเฝ้าติดตามนกเงือกปากเรียบ และนกเงือกคอแดง ในป่าห้วยขาแข้งเป็นเวลา สามปีเต็ม ๆ
      สามปีที่เขากางเต็นท์นอนกลางป่า กับเจ้าหน้าที่สองสามคน เห็นสัตว์ป่ามากกว่าเห็นผู้คน เอกเห็นควายป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง หมาป่า และนกนานาชนิดจนเป็นเรื่องปรกติ
      "มีคืนหนึ่งนอนในเต็นท์อยู่ดี ๆ เจอช้างป่าเข้าไปรื้อเต็นท์ ต้องจุดไฟไล่ บางทีเดิน ๆ อยู่ก็เจอช้างป่าไล่ ต้องหนีแทบตาย" เอกพูดสั้น ๆ ตามนิสัยของคนที่อยู่ป่ามานาน จนแทบจะไม่ค่อยได้พูดจากับใคร
      วันนี้นกเงือกหัวแรดที่ภาษายาวีเรียกว่า บุหรง บาลง คำหลังแปลว่า นอแรด บินมาเกาะที่โพรงรัง เพื่อป้อนอาหารให้ตัวเมียถึงสามครั้ง
      ครั้งแรกมาเวลา ๘.๔๑ น. เอกนับลูกไทรที่ขยอกออกมาป้อนตัวเมียได้ถึง ๕๓ ลูก
      ครั้งที่ ๒ มาเวลา ๙.๕๐ น. มันคาบลูกรียู ผิวสีเขียวแก่ มาฝากตัวเมีย ๗ ลูก
      ครั้งที่ ๓ มาเวลา ๑๐.๕๕ น. คราวนี้มันยืนเกาะอยู่ตรงกิ่งไม้ข้าง ๆ คาบแมลงปอคาปากอยู่เกือบ ๒๐ นาที ก่อนจะบินเอาอาหารโปรตีนไปให้ตัวเมีย
      "ถ้าเป็นงูเขาจะงับให้ตายก่อน ถึงจะส่งเข้าไปในรัง บางทีพยายามยัดงูผ่านรูเล็ก ๆ ให้ตัวเมีย ก็ตกลงมาพื้นล่าง เจ้าตัวผู้ก็บินตามลงมาเก็บอีก บางทีตัวผู้งับแมลงส่งให้ตัวเมีย แมลงยังไม่ตาย ก็ต้องบินไล่งับอีก" เอกให้ความรู้เราอีกครั้ง
      อาจารย์พิไลเล่าให้เราฟังว่า เคยเห็นนกเงือกคาบหนู มาป้อนตัวเมีย แล้วยังขย้อนหนูจากกระเพาะพัก ออกมาอีกสองตัว บางทีก็ขย้อนไข่นกชนิดอื่นออกมาด้วย
      พอเจ้าหัวแรดป้อนแมลงปอเสร็จ ก็บินมาเกาะกิ่งไม้ใกล้ ๆ แล้วจัดแจงไซ้ขนดูแลความสะอาดตัวเอง นับเป็นการพักผ่อนหลังเหน็ดเหนื่อย จากการหาอาหารมาป้อนให้คู่ชีวิตที่รังเบอร์ ๒๙
      ทุกวันนี้รังนกเงือกที่ชาวบ้านร่วมกันค้นหามีประมาณ ๑๐๐ เบอร์ แต่ละปีจะมีนกเงือกเข้ารังประมาณ ๓๐-๔๐ รัง ทำให้ประชากรนกเงือกในป่าบูโดเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีใครกล้าขโมยลูกนกเงือกเช่นในอดีต คนในหมู่บ้านรอบ ๆ เทือกเขาบูโดต่างรู้กันว่า ใครเป็นเจ้าของรัง ใครดูแลรังไหน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เรื่องราวของนกเงือก ที่เป็นข่าวออกเผยแพร่ไปทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ทำให้นกเงือกกำลังกลายเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ เป็นความภูมิใจของชาวมุสลิมแห่งเทือกเขาบูโด จนไม่ค่อยมีคนกล้าไปรบกวนแล้ว

(คลิกดูภาพใหญ่)       เย็นวันนั้นเรากลับมาที่บ้านแบมุอีกครั้งหนึ่ง แบมุสัญญาจะเลี้ยงข้าวหมกไก่ ฝีมือแม่บ้านของเขา เราขึ้นไปบนบ้านที่ปูพื้นด้วยไม้กระดานแผ่นใหญ่ดูมั่นคง ภายในเรือนไม้ของแบมุค่อนข้างกว้าง สบายพอที่จะรับรองผู้มาเยือนได้หลายคน บ้านหลังนี้เอง ที่ทางโครงการนกเงือก มีความคิดที่จะจัดให้เป็นห้องพัก เพื่อรับรองคนที่เดินทางมาดูนกเงือกในเขาบูโด ซึ่งต้องใช้เวลาดูนกอย่างน้อยสองสามวัน การค้างแรมในหมู่บ้าน จึงช่วยทำให้คนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับหมู่บ้านนกเงือกที่บ้านตาเปาะ ผลพลอยได้จากการร่วมใจกันอนุรักษ์นกเงือก ก็คือรายได้จากการเป็นมัคคุเทศก์ พานักดูนกไปเยี่ยมชมรังนกเงือก เป็นหลักประกันว่า หากโครงการอนุรักษ์นกเงือกหมดงบประมาณ ในการจ้างชาวบ้านมาช่วยเก็บข้อมูล ชาวบ้านจะยังพอมีรายได้เลี้ยงตัวเอง
      เป็นประกายความหวังเล็ก ๆ ของชาวบ้านรอบเขาบูโดจำนวนหนึ่ง ที่พยายามปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยแรงกายแรงใจของตน และหาวิธีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
      แต่ความยากจนที่ยังแผ่ซ่านอยู่ในหมู่บ้าน ก็พอจะเป็นคำตอบได้ว่า เหตุใดการลักลอบตัดไม้เถื่อน และการบุกรุกป่ายังไม่หมดสิ้นง่าย ๆ
 

ขอขอบคุณ

      ดร. พิไล พูลสวัสดิ์
      คุณปรีดา เทียนส่งรัศมี
      คุณวิฑูรย์ นุตโร
      เจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก