สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔ "หุ่นจีนไหหลำในเมืองไทย"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๗ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ก้าวแรกของนักสำรวจถ้ำ
ในโครงข่ายซับซ้อนใต้ดิน

เรื่องและภาพ : อนุกูล สอนเอก

      ณ โลกหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากการคาดคิด และคาดเดาของมนุษย์ โลกที่ลึกลงไปใต้ชั้นหิน และพื้นดินนับร้อยนับพันฟุต โลกที่ธรรมชาติมิได้สร้างให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิต มีเพียงสิ่งมีชีวิตบางชนิดและจุลชีพเท่านั้นที่สามารถดำรงอยู่ วนเวียนอยู่ในนั้นตามวัฏจักร
    เสมือนทำหน้าที่บันทึกความเป็นมา และการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเงียบ ๆ ให้โอกาสสิ่งมีชีวิตหลายชนิด วิวัฒนาการในแนวทางที่เหลือเชื่อ--ไม่มีตา ไม่มีสี อาศัยประสาทสัมผัสอันละเอียด ทำให้ดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมอันจำกัด
    ก้าวย่างของมนุษย์คนแรกที่ประทับไว้ใต้พิภพ อาจจะเทียบความสำคัญไม่ได้ กับย่างก้าวแรกบนดวงจันทร์ แต่คุณค่าของมันอยู่ที่การก้าวล่วงเข้าไปยังดินแดนที่มนุษย์ยังไม่รู้จัก และเป็นย่างก้าวแรกของการศึกษา ทำความเข้าใจในอาณาจักรใต้พิภพ
(คลิกดูภาพใหญ่)

ปฐมบท

    ปลายฤดูฝน ปี ๒๕๓๕
    เราอยู่กับฟ้าฉ่ำฝนตลอดหลายวันที่ผ่านมาจนถึงช่วงเช้าของวันใหม่ หลังจากเตรียมอุปกรณ์บางอย่างที่จำเป็น ก็เริ่มออกเดินไปตามทางเดินเล็ก ๆ ลัดเลาะตามริมน้ำ วันนี้เป็นวันแรกของการทำงานสำรวจที่ผมหนักใจที่สุดในชีวิต
    ด้านหน้าของพวกเราคือปากถ้ำขนาดมหึมา เส้นแบ่งระหว่างโลกของแสงสว่างกับความมืด พอเดินพ้นปากถ้ำเข้ามาสักระยะ แล้วหันมองกลับไป ปากถ้ำมีขนาดเล็กนิดเดียว ยิ่งเดินลึกเข้าไปแสงสว่างยิ่งลดน้อย ราวกับถึงระยะสิ้นสุดของมัน 
    พบแต่ความเวิ้งว้างและความเงียบ ที่ไร้สรรพเสียงใด ๆ อากาศรอบตัวอึดอัด เจือด้วยกลิ่นเหม็นเอียน ๆ ฉุนขึ้นจมูก ทุกอย่างที่สัมผัสมิใช่โลกที่ผมคุ้นเคยมาก่อน ผมรู้สึกว่าที่นี่คงเป็นที่เดียวบนโลก ที่ไม่มีกลางวันและกลางคืน มีแต่เพียงความมืดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
    ความมืด ความกลัวในจิตใจสร้างภาพหลอนไปต่าง ๆ นานา รอบตัวคล้ายมีบางสิ่งคอยจ้องมองอยู่ สัตว์ร้ายที่ซ่อนตัวอยู่ในความมืด พากันหัวเราะยินดีราวกับเห็นอาหารอันโอชะ และรอเวลาเข้ามากัดกินอย่างหิวกระหาย
..................................
    นั่นคือประสบการณ์ ความรู้สึกแรก ๆ ที่ผมได้สัมผัสการสำรวจถ้ำ ซึ่งส่งผลถึงชีวิตการทำงานของผมในเวลาต่อมา
    หลังจากออกสำรวจครั้งนั้น ผมก็สะดุดตากับนิตยสาร สารคดี หน้าปกเป็นรูปหินย้อยสีขาว (สารคดี ฉบับที่ ๑๑๐ ปีที่ ๑๐ เดือนเมษายน ๒๕๓๗) ลักษณะคล้ายผลึกรูปเข็มนับร้อย ๆ อันพุ่งออกมาจากแท่งหิน สารคดีเรื่องนั้นเขียนและถ่ายภาพโดย จอห์น สปีส์ นักสำรวจอิสระชาวออสเตรเลียที่ตั้งหลักแหล่งอยู่แม่ฮ่องสอน งานเขียนชิ้นนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้ผม ทำให้ผมตั้งความหวังไว้ว่า จะต้องหาโอกาสไปพบผู้เขียนให้ได้

(คลิกดูภาพใหญ่)     โอกาสอันดีมาถึงตอนต้นฤดูหนาวปี ๒๕๓๗ ผมต้องไปสำรวจถ้ำในกิ่งอำเภอปางมะผ้า เพื่อเก็บข้อมูลให้แก่จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันหนึ่งขณะทำการสำรวจถ้ำลอด มีฝรั่งตัวโตโผล่หน้าเข้ามาในความมืด และนั่งมองดูพวกเราทำงาน ดูเขาจะสนใจกล้องรังวัดที่ทำขึ้นง่าย ๆ จากไม้อัด และหลอดเล็ง ที่ทำจากด้ามปากกาลูกลื่น ที่พวกเราเรียกมันว่า "กล้องหัตถกรรมไทย" เราเจอฝรั่งคนนี้อีกครั้งที่ปากถ้ำลอด แสงสว่างของปากถ้ำ ทำให้ทราบว่าผมกำลังคุยอยู่กับ จอห์น สปีส์ 
    หกเดือนของผมที่ปางมะผ้า คือช่วงเวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับถ้ำอันมากมาย ไม่รู้หมดสิ้นจากจอห์น งานสำรวจส่วนหนึ่ง ต้องยอมรับว่าทำตามคำบอกเล่าคำแนะนำของเขา เริ่มจากถ้ำง่าย ๆ ไปจนถึงยาก ๆ อย่างถ้ำแม่ละนา ถ้ำยาวที่สุดในประเทศไทยเท่าที่พบในขณะนี้ บางครั้งผมไปอยู่ที่หมู่บ้านปางคาม แถบชายแดนพม่าเป็นสัปดาห์เพื่อสำรวจ กระทั่งพบถ้ำใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานการค้นพบจำนวนหนึ่ง และนำข้อมูลที่ได้มาคุยกับจอห์น
    ยิ่งคุยก็ยิ่งอยากรู้เพิ่ม ยิ่งรู้เพิ่มก็ยิ่งอยากสำรวจ ในที่สุด ผมก็พบว่าชีวิตประจำวันของตัวเอง ดำเนินไปในโลกสองใบที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ระหว่างโลกที่เราสัมผัสมันได้รอบ ๆ ตัว กับโลกซึ่งอยู่นอกเหนือการรับรู้ของคนทั่วไป โลกซึ่งส่วนใหญ่ปราศจากแสง เวลาคล้ายดังจะหยุดนิ่ง วันนี้ก็เหมือนกับเมื่อวาน เหมือนพรุ่งนี้ หรืออีกพันปีข้างหน้า ต้นไม้ที่พบเป็นเพียงเศษซาก ที่ถูกน้ำพัดมาทับถมและเน่าเปื่อย ทำให้กลิ่นของถ้ำเป็นกลิ่นเย็น ๆ เจือใบไม้เน่าและขี้ค้างคาว มีความเงียบและสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เท่านั้นเป็นเพื่อน
(คลิกดูภาพใหญ่)

สัมผัสคุณค่าที่แท้จริง

    ทุกครั้งที่กลับไปเยือนถ้ำ ผมรู้สึกคล้ายได้กลับบ้าน ความมืดและเงียบทำให้รู้สึกถึงความสงบและอบอุ่น (อย่างประหลาด) กลิ่นต่าง ๆ ภายในถ้ำกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคย เราไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมของกันและกันอีกต่อไป ขณะเดียวกันผมก็เริ่มตอบคำถามที่คนสงสัย ได้อย่างมั่นใจขึ้นด้วย คำถามที่ว่า ทำไมต้องสำรวจถ้ำ นักสำรวจถ้ำคือใคร นักสำรวจถ้ำทำอะไร
    นักสำรวจถ้ำ หรือ speleologist ก็คือผู้ทำงานเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ของถ้ำ ดูว่าถ้ำอยู่ตรงไหน ลักษณะอย่างไร ลึก/ยาวเพียงใด เส้นทางในถ้ำเป็นอย่างไร และทำแผนที่ พวกเขาไม่ใช่แค่บุกเบิกเส้นทางเท่านั้น แต่ลงลึกในรายละเอียดด้วย ว่าในถ้ำมีอะไรน่าสนใจ ศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยา ความเปลี่ยนแปลงของถ้ำ อุทกวิทยา โบราณคดี และนิเวศวิทยาภายในนั้น ไปจนถึงใช้ถ้ำเป็นห้องทดลองใต้พื้นพิภพ ทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งถ้ำแต่ละแห่ง จะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป เมื่อรู้ถึงลักษณะทั่วไปของถ้ำแล้ว ก็วางแผนได้ว่าควรจะลงลึกด้านไหน นักสำรวจถ้ำอาจมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ บางคนเป็นแพทย์ บางคนเป็นนักธุรกิจ ทว่าชอบในสิ่งเดียวกัน คือการสำรวจถ้ำ
    งานของพวกเขาเปรียบเป็นการเปิดพรมแดนการเรียนรู้ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่เคยอยู่นอกเหนือความเข้าใจของเราในอดีต ให้รู้ถึงพื้นที่ที่มีกฎเกณฑ์เฉพาะตัว จนอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันโลกส่วนนี้ มิได้อยู่ห่างไกลความรู้ และความเข้าใจของเราอีกต่อไป
    ถ้ำนอกจากจะมีคุณค่าทางการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีคุณค่าในฐานะของแหล่งค้นคว้าที่สำคัญ ของศาสตร์ด้านโบราณคดี ธรณีวิทยา หรือโบราณชีววิทยา 
    ถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย และที่หลบภัยอันมั่นคงของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ในสังคมเก็บของป่า-ล่าสัตว์ จึงพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือหินขัด ภาชนะดิน เครื่องมือโลหะ เครื่องประดับ กระดูกมนุษย์ เมล็ดพืช ฯลฯ ซึ่งสามารถจะเผยให้เห็นภาพความเป็นมา และพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของผู้คน ในดินแดนแถบนั้น ๆ ได้
    หินงอกหินย้อยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลก ย้อนหลังไปนับเป็นหมื่น ๆ ปี อาจด้วยเกสรพืชที่ตกค้างอยู่ภายใน หรือด้วย "วงปี" การสะสมตัว (ชั้นหินปูน) ของแท่งหินงอกหินย้อยเอง แม้แต่ตะกอนภายในถ้ำ ก็ยังนำมาประเมินอายุถ้ำ และปรากฏการณ์ด้านสภาพแวดล้อมในอดีตได้ ชั้นตะกอนจากถ้ำผาไท จังหวัดลำปาง ที่เราเก็บมาศึกษา ก็เป็นตะกอนเถ้าถ่านของภูเขาไฟเมื่อ ๙.๓ ล้านปีที่แล้ว แสดงให้เรารู้ว่า ถ้ำผาไทมีอายุมากกว่านั้น และมีภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

(คลิกดูภาพใหญ่)     การศึกษาความสัมพันธ์ของระบบนิเวศภายในถ้ำ (เพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตชนิดพิเศษที่หายาก) ก็มีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากระบบนิเวศภายในถ้ำ แตกต่างจากภายนอกถ้ำ ห่วงโซ่อาหารเริ่มจากการสังเคราะห์แสงสร้างอาหารของพืช แต่ภายใน...ห่วงโซ่อาหารเริ่มจากขี้ค้างคาว และซากพืชซากสัตว์ ที่ถูกน้ำพัดพาเข้ามา ถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรีย และเชื้อราบางชนิด สิ่งเหล่านี้จะเป็นอาหารให้แก่แมลงตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในดิน แมลงเหล่านี้ จะเป็นอาหารให้แก่แมลงใหญ่ชนิดอื่น ๆ และจะมีการกินต่อกันเป็นทอด ๆ จำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ จะถูกจำกัดโดยอาหารและสภาพแวดล้อม ประกอบกับสภาพแวดล้อมในถ้ำ เป็นสภาพที่ค่อนข้างอยู่นิ่งและคงที่ ยิ่งลึกเข้าไปสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ แสง ความชื้นสัมพัทธ์ ฯลฯ ก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงน้อย ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จำกัดให้ระบบนิเวศภายในถ้ำ เป็นระบบเฉพาะตัว สิ่งมีชีวิตที่หลงเข้าไปจะค่อย ๆ วิวัฒนาการและปรับตัว ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมได้ ส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวหรือแข่งขันกับชนิดอื่น ๆ ได้ก็จะล้มหายตายจากไป สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ บางครั้งอาจเล็ดลอดออกมาภายนอก หากโชคดีสามารถปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศภายนอกได้ จะเท่ากับเป็นการทดแทน หรือเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์ตามธรรมชาติ และความหลากหลายของระบบนิเวศโดยปริยาย
    จากการพบเห็นถ้ำจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเสื่อมโทรม และได้มีโอกาส กลับไปดูถ้ำสำคัญอย่างสม่ำเสมอในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ผมตระหนักว่า สิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้กำลังเสื่อมโทรมลงอย่างน่าใจหาย -- จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ทราบถึงคุณค่าที่แท้จริงของมัน
    การศึกษา สำรวจ จดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับถ้ำ จะสามารถใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของถ้ำได้ เพราะนอกจากทำแผนที่ การสำรวจทุกครั้ง จะต้องมีการถ่ายภาพ บันทึกข้อมูลอากาศ และอื่น ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการเปรียบเทียบติดตามผลการเปิดใช้ถ้ำได้อย่างดีที่สุด ถ้ำแต่ละแห่งมีลักษณะโดดเด่น และความสำคัญไม่เหมือนกัน ซึ่งจะส่งผลให้การตัดสินใจใช้ถ้ำ ต่างกันออกไปด้วย ถ้ำที่มีสิ่งมีชีวิตชนิดพิเศษ มีจำนวนประชากรและจำนวนแหล่งที่พบได้น้อย หากถูกบุกรุกโดยการท่องเที่ยวย่อมเป็นอันตรายอย่างมาก
    การสำรวจจะช่วยในการตัดสินใจว่า ถ้ำแห่งใดเหมาะจะเปิดใช้เพื่อการท่องเที่ยว หรือถ้ำใดเหมาะจะรักษาไว้เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น
(คลิกดูภาพใหญ่)

การสำรวจ บทเริ่มต้นของการวิจัย

    ฤดูร้อน ปี ๒๕๔๒
    สัปดาห์ที่ ๓ ของการสำรวจถ้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พวกเราตัดสินใจตั้งแคมป์กลางป่า เพื่อเดินทางเข้าสำรวจบริเวณผาฟ้า ภูเขาหินปูนที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางป่า คณะสำรวจประกอบด้วย ดีน สมาร์ต ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ และหัวหน้าโครงการสำรวจถ้ำทุ่งใหญ่นเรศวร กรมป่าไม้ ผมซึ่งเป็นนักสำรวจของโครงการ เจ้าหน้าที่ป่าไม้สี่คนเป็นหน่วยสนับสนุน พร้อมกับนักศึกษาฝึกงานอีกสองคน ตามแผนการคร่าว ๆ พวกเราจะตั้งแคมป์สำรวจบริเวณผาฟ้าแปดวัน จุดที่เราตั้งแคมป์ จะเลือกบริเวณที่ห่างจากจุดที่จะสำรวจ ในรัศมี ๕-๖ กิโลเมตร ไม่เกินจากนี้ จะเดินทางไปกลับได้ภายในหนึ่งวัน และจะต้องเลือกจุดที่ไม่ไกลจากทางสายหลักด้วย การส่งเสบียงหรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน จะได้ไม่ขลุกขลัก
    จากแผนที่ภูมิประเทศ ๑ : ๕๐,๐๐๐ เราเห็นเส้นชั้นความสูง  เป็นก้นหอยซ้อนกันละลานตาทั่วป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ขณะที่แผนที่ธรณีวิทยา บอกว่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หินปูน นั่นหมายความว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ท่ามกลางภูมิประเทศ ที่เรียกกันว่า คาร์สต์ (karst) ที่นี่เป็นคาร์สต์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตาก และกาญจนบุรี ซึ่งปรากฏแอ่งยุบหรือหลุมยุบ (doline) กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก แม้พื้นที่ยังไม่เคยผ่านการสำรวจมาก่อน แต่เรามั่นใจว่า มีโอกาสพบถ้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลุมยุบที่มีขนาดใหญ่ ๆ และลึกนั้น เรามักจะเลือกสำรวจเป็นอันดับแรกเสมอ เพราะหากมีหลุมยุบขนาดใหญ่ ก็เป็นไปได้ที่น้ำทั้งหมดในลุ่มน้ำนั้น จะไหลลงไปรวมกันแล้วมุดหายลงไปชั้นใต้ดิน เกิดเป็นถ้ำขนาดใหญ่ ถ้าสำรวจดี ๆ อาจพบถ้ำขนาดใหญ่ และยาวไปทะลุอีกฟากเขาก็ได้ วิธีหาหลุมยุบง่ายๆ จากแผนที่ ให้ดูกลุ่มเส้นชั้นความสูง ที่มีเส้นตรงอีกเส้นลากผ่านเป็นมุมฉาก เรียกว่าเส้น depression contour บอกพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่ง ลองสังเกตดี ๆ ถ้าบริเวณไหนมี depression contour ในแผนที่ จะไม่มีเส้นสัญลักษณ์ของน้ำผิวดินเลย
    บริเวณที่เราจะเลือกสำรวจอันดับต่อมาคือ ตามเส้นแนวหน้าผา หรือบริเวณซึ่งมีเส้นชั้นความสูงซ้อนกันถี่ ๆ เมื่อดูจากแผนที่ ยิ่งเป็นผาหินปูนด้วยแล้ว โอกาสพบถ้ำจะค่อนข้างสูง ถ้ำลักษณะนี้เรียก ถ้ำแขวน ถ้าเป็นถ้ำอยู่ใกล้แหล่งน้ำ จะมีโอกาสพบร่องรอยอารยธรรมได้มากที่สุด แม้หลักการเบื้องต้น เราจะพยายามหาพื้นที่ที่สำรวจง่ายสุดไว้ก่อน แต่สำหรับหน้าผาหินปูน ถ้าขึ้นได้ และโอกาสเหมาะเราก็ไม่เกี่ยงอยู่แล้ว
    เริ่มแรกเราจะต้องหาปากถ้ำให้เจอเสียก่อน หลังจากกำหนดจุดที่คาดว่าจะมีถ้ำ ลงในแผนที่ภูมิประเทศเสร็จสรรพ ก็เป็นชั่วโมงของการเดินสำรวจพื้นที่ การเดินต้องใช้แผนที่ภูมิประเทศ กับเครื่องหาตำแหน่งด้วยดาวเทียม (GPS) ควบคู่กันเป็นหลัก ตรวจสอบตำแหน่งและทิศทาง ไม่ให้ออกนอกเส้นทางที่วางไว้

(คลิกดูภาพใหญ่)     สองชั่วโมงแรก เราฝ่าความรกทึบของป่าไปได้แค่ ๒-๓ กิโลเมตรเท่านั้น ป่าบริเวณนี้บางส่วนเป็นหมู่บ้าน และไร่เก่าของม้งที่โยกย้ายออกไป เมื่อห้าปีที่แล้ว ขณะนี้สภาพป่ากำลังเริ่มฟื้นตัว ในทุ่งหญ้ามีต้นไม้เล็ก ๆ เริ่มขึ้น ป่าบางช่วงเป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ และหลายครั้งเราจะต้องเปิดเส้นทางใหม่ หรืออาศัยด่านช้าง ด่านกระทิงเพื่อให้เดินสะดวกขึ้น
    จุดพักแรกอยู่บนสันเขาซึ่งเป็นจุดสูงที่สุดของหลุมยุบ หลังจากนั้นเราก็ตัดลงหุบเขา ตามทางน้ำหลัก และหาจุดน้ำมุดในหุบเขา ทางเดินขาลงเขาค่อนข้างชัน ต้องระวังตัวเต็มที่ ไม่อย่างนั้นอาจลื่นไถล ลงไปกองรวมกันอยู่ด้านล่างก็ได้ 
    ตัดเส้นทางลงมาไม่นานก็พบด่านช้าง...ให้เราเริ่มมีความหวัง คนเดินป่ารู้กันว่า ทางเดินของช้าง จะพาเราลงไปพบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น ก็พบน้ำซับผุดออกมาจากใต้ดิน เราเดินไปตามทางน้ำที่ปริมาณของมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านห้วยแยกหลายจุด แต่ก็ยังคงรักษาเส้นทางตามทางน้ำสายหลัก อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็พบจุดสุดท้ายที่ลำห้วยทั้งสายไหลมุดลงใต้ดิน ตรงบริเวณหน้าผาใหญ่ ทว่าช่องทางที่น้ำมุดมีขนาดแคบมาก เราไม่สามารถคืบคลานเข้าไปได้
    "เมื่อก่อนตอนที่ระดับน้ำใต้ดินอยู่สูงกว่านี้ อาจจะมีช่องน้ำมุดอื่นที่อยู่ด้านบน พวกเราต้องแยกกันค้นหา" ดีนเสนอความคิด 
    ไม่นานก็พบช่องน้ำมุดเก่า ที่เชื่อมต่อกับถ้ำด้านล่าง ห่างจากจุดที่น้ำมุด ๒๐ เมตรไปทางด้านซ้าย ทางลงเป็นเหวลึก ๓-๔ เมตร แต่ก็พอจะปีนลงไปได้ เราเตรียมอุปกรณ์ สวมหมวกนิรภัย สนับเข่าและสนับศอก แล้วแบ่งทีมกัน ชุดหนึ่งลงไปสำรวจโถงถ้ำ อีกชุดเดินสำรวจตามหน้าผา เพื่อหาถ้ำแห้งหรือจุดน้ำมุดอื่น ๆ จากการประเมินคร่าว ๆ บริเวณที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ใกล้เคียงมีความลาดชันไม่มาก พอจะทำการเกษตรได้ เราอาจพบหลักฐานทางโบราณคดีในถ้ำบริเวณนั้นได้ ถ้าโชคดี

    ดีน ผู้ผ่านประสบการณ์สำรวจถ้ำมามากกว่าใครปีนนำลงไป พอถึงด้านล่างทุกคนก็เปิดสวิตช์ไฟฉาย และตะเกียงแคลเซียมคาร์ไบด์ที่หัว ดีนจุดไฟแช็กเช็กอากาศบ่อย ๆ ด้วยสงสัยว่าในถ้ำอาจจะขาดแคลนอากาศ หรือมีจุดอับอากาศอยู่ ไฟแช็กจะยังติดอยู่ได้ถ้าปริมาณออกซิเจนเหลืออยู่เกิน ๑๓ เปอร์เซ็นต์
    นี่เป็นเหตุผลที่ต้องอาศัยคนมีประสบการณ์ เป็นคนนำเวลาเจอถ้ำที่ยาก และอันตราย เพราะมันอาจหมายถึงหายนะของทีมก็ได้ แต่บางกรณี เราก็อาจเปลี่ยนคนนำ ถ้าทีมต้องการความสามารถพิเศษ ของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในการนำสำรวจ
    "ไม่มีปัญหา ออกซิเจนยังมีพอให้หายใจ" ดีนบอก ทว่าพวกเรารู้สึกได้ถึงความอึดอัด เพราะหายใจในสภาพที่สัดส่วนของออกซิเจนต่ำกว่าปรกติ ยิ่งเดินลึกเข้าไปก็ยิ่งอึดอัดมากขึ้น พร้อม ๆ กับเส้นทางยิ่งแคบ และลึกลงไปเรื่อย ๆ ปริมาณออกซิเจนต่ำมักเกิดขึ้นพร้อมกับคาร์บอนไดออกไซด์สูง เรานำเครื่องวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาวัด ปรากฏว่ามีก๊าซนี้ผสมอยู่ในอากาศ ๑.๙ เปอร์เซ็นต์ นับว่ายังห่างไกลจากตัวเลข ๕.๕ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตคน และไฟแช็กในมือบอกว่ายังเข้าไปต่อได้
(คลิกดูภาพใหญ่)     โถงถ้ำแคบลง ๆ จนเหลือไม่ถึง ๑ เมตร กระทั่งถึงแอ่งน้ำขนาดกว้างประมาณ ๑-๑.๕ เมตร น้ำทั้งหมดมุดหายเข้าไปในโพรงใต้ดิน นั่นหมายความว่าเราไม่สามารถสำรวจต่อไปได้อีก
    อุปกรณ์สำรวจถูกนำออกมาทำแผนที่ ย้อนกลับออกไปปากถ้ำ เราสี่คนแบ่งหน้าที่กัน คนหนึ่งอ่านเข็มทิศและเครื่องวัดมุมดิ่ง สองคนทำหมุดสำรวจ และวัดระยะทาง เมื่อได้ตัวเลขยิบ ๆ นั้นมา ผมก็จดบันทึกมันลงในสมุดคู่มือ ซึ่งทำด้วยวัสดุกันน้ำ เราเริ่มวาดแผนที่ถ้ำคร่าว ๆ โดยอาศัยเข็มทิศ เทปวัดระยะ และเครื่องวัดมุมดิ่ง จากนี้เราจะเอาข้อมูลไปเข้าคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณ ปรับแก้ความคลาดเคลื่อน และวาดแผนผังของโถงถ้ำที่สมบูรณ์อีกครั้งในระบบสามมิติ
    จะเรียกว่านักสำรวจถ้ำมีทักษะ ประสบการณ์ หรือมีสัญชาตญาณพิเศษในการจดจำเส้นทางก็ตามที พวกเขามักไม่กลัวการหลงทางในถ้ำ ตั้งแต่ตอนเดินเข้าไป เขาจะจินตนาการเส้นทางเดินเป็นแผนที่คร่าว ๆ อยู่ในสมอง ยิ่งได้ใช้เทคนิคการทำแผนที่ถ้ำด้วยเข็มทิศ เทปวัดระยะ ประกอบกับการสังเกต และบันทึกคร่าว ๆ ของเส้นทางภายในถ้ำ จะสามารถรู้เส้นทางทั้งหมดของถ้ำในทันที แต่ก็มีบางครั้งที่เจอเส้นทางที่ยากและถ้ำยาวมาก ๆ ก็ต้องทำเครื่องหมายไว้บนเส้นทางด้วย 
    สาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกิดการหลงทางในถ้ำก็คือ อุปกรณ์มีปัญหา แต่เราก็อาจควบคุมให้มันเกิดขึ้นน้อยที่สุดได้ เช่น ไฟฉายจะมีสำรองไว้อย่างน้อยสามชุด ก่อนเข้าสำรวจ และหลังจากสำรวจเสร็จแล้ว ต้องนำอุปกรณ์ทุกชิ้นมาตรวจเช็คสภาพ ทำความสะอาดและซ่อมบำรุง ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
    ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทีมสำรวจอีกทีมที่ท่อม ๆ อยู่ข้างนอกก็ประสบความสำเร็จ พบโถงถ้ำตรงหน้าผา ภายในถ้ำพบภาชนะดินเผาขึ้นรูปด้วยมือในสภาพสมบูรณ์หนึ่งใบ และเศษหม้อดินที่แตกอยู่บนพื้นถ้ำ จึงจดบันทึก วัดขนาด และถ่ายภาพ เพื่อทำหลักฐานไว้ก่อนกลับแคมป์ใหญ่
    หลังจากหุงหาอาหารและกินมื้อเย็นเรียบร้อย เราสรุปตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ นำเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อวาดแผนที่คร่าว ๆ เป็นการป้องกันความผิดพลาด หากมีสิ่งใดตกหล่นจะได้กลับไปเก็บเพิ่มในวันพรุ่งนี้
(คลิกดูภาพใหญ่)

ประสบการณ์ : 
หัวใจของการเอาตัวรอด ความรู้ที่ไม่มีบันทึกในตำรา

    ยิ่งดึกอากาศก็ยิ่งเย็นทั้งที่เป็นเดือนเมษายน 
    อากาศหนาวไล่คณะพวกเราลงจากเปลมาผิงไฟ กองไฟถูกสุมฟืนให้มีความอบอุ่นเพียงพอ ไม่นานนักบรรยากาศก็พาเรื่องราวต่าง ๆ เข้ามาสู่วงสนทนารอบกองไฟ
    "ถ้ำที่เราไปเจอวันนี้มีแอ่งน้ำอยู่ข้างใน มันไปสุดแค่นั้นหรือครับ หรือสามารถไปต่อได้" นักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งถามขึ้น
    "ผมเองคิดว่าโถงถ้ำจะต้องไปต่อได้ แต่พวกเราอาจผ่านช่วงนั้นไปไม่ได้ ต้องมีเวลาในการสำรวจและอุปกรณ์มากกว่านี้" ผมบอก และดีนช่วยเพิ่มเติมให้ว่า
    ถ้ำหลาย ๆ ที่ที่เราพบจะเป็นอย่างนี้ เมื่อเข้าไปสำรวจก็จะไปสุดที่แอ่งน้ำ (sump) เพราะว่าถ้ำส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ต่ำกว่าระดับน้ำใต้ดิน (water table) ภายในชั้นของหินปูนมีรอยแตก (joint) เป็นจำนวนมาก น้ำที่รวมตัวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะกลายเป็นกรดอ่อน ๆ สามารถละลายหินปูนได้ดี ช่วงที่มีน้ำเต็มโพรงถ้ำ น้ำจะละลายจนกลายเป็นโพรงกลม ขยายออกทุกทิศทาง เราเรียกถ้ำที่เกิดขึ้นใต้ระดับน้ำใต้ดินว่า "phreactic cave" ต่อมาภายหลังน้ำใต้ดินลดระดับลง ทำให้ในโพรงมีอากาศและน้ำอยู่ภายใน เราเรียกว่า "vados cave" ระดับน้ำในถ้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดปี หากเกิดการไหลกัดเซาะบริเวณพื้นและผนังถ้ำ ระดับพื้นถ้ำก็จะลดต่ำลงมาเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำใต้ดิน รูปร่างของถ้ำจึงมีการพัฒนารูปแบบตามอัตราการกัดเซาะและการละลายร่วมกัน เกิดเป็นโพรงถ้ำที่มีรูปร่างเหมือนรูกุญแจ (key hole) 
    "เหมือนกับที่เราเคยไปสำรวจด้วยกันที่ทุ่งแสลงหลวงเมื่อประมาณเดือนเมษายน ๒๕๔๑ นั่นไง"
    เป็นการสำรวจต่อจากคณะสำรวจนานาชาติโดยการนำของกรมป่าไม้เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๐ ซึ่งมีพี่นพรัตน์ นาคสถิตย์ เป็นหัวหน้าทีม ตอนแรกไม่มีใครนึกว่าถ้ำที่มีความยาวเป็นอันดับสองของประเทศไทยจะอยู่ที่นี่
    ในการสำรวจครั้งแรกเราใช้ข้อมูลจากแผนที่ธรณีวิทยา ซึ่งบอกให้รู้ว่าพื้นที่ทางตะวันออกของทุ่งแสลงหลวงมีภูเขาหินปูนในยุคเพอร์เมียนกระจายอยู่ในพื้นที่ไม่มากนัก การสำรวจครั้งนั้นพบถ้ำขนาดเล็กความยาวไม่ถึง ๑ กิโลเมตรกระจายอยู่ทั่วไป จนกระทั่งสองวันสุดท้าย คณะสำรวจย้ายไปบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าที่อยู่ด้านเหนือของพื้นที่ จึงพบถ้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
    "ครั้งแรกที่เห็น ผมคิดว่าถ้ำนี้มีความยาวไม่เกิน ๕๐๐ เมตร หรือ ๑,๐๐๐ เมตรเท่านั้น เพราะโถงถ้ำใหญ่ซ่อนตัวอยู่ด้านล่างโถงหินถล่มที่พวกเรายืนอยู่ เมื่อทำการสำรวจพบว่าด้านล่างโถงถ้ำกว้างมาก และยิ่งลึกเข้าไปเรื่อย ๆ ตามทางน้ำสายหลัก ในปีแรกคณะสำรวจทำการสำรวจได้ระยะทางรวม ๖,๓๑๕.๔๓ เมตร และลึกลงไปใต้ชั้นหิน ๕๘.๕๔ เมตร คณะสำรวจได้หยุดการสำรวจไว้เพียงแค่นั้นเพราะไม่มีเวลาพอ" ดีนเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อสองปีที่แล้ว
    ในปีถัดมา ดีนกับผมสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้ง ใช้เวลาประมาณห้าวัน ทำให้เรารู้ว่าถ้ำมีความยาวทั้งสิ้น ๑๒.๑๐ กิโลเมตร แต่พวกเราคิดว่ายังสำรวจไม่หมด เพราะยังคงมีทางแยกอื่น ๆ อีก รวมทั้งหลืบบนเพดานด้วยที่ถือว่าอยู่ใน cave system เดียวกัน ดีนพูดเสมอว่า ถ้ำส่วนใหญ่ในโลกยังสำรวจไม่เสร็จ นักสำรวจยังพบเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางอื่น ๆ ตลอด ต้องใช้เวลาสำรวจและศึกษาหลายปี ถ้ำนี้ก็เหมือนกัน

(คลิกดูภาพใหญ่)     เราตื่นเต้นกันมาก เพราะหลังจากการสำรวจครั้งแรก เรารู้ว่าถ้ำติดอันดับหนึ่งในห้าของถ้ำยาวที่สุดในประเทศไทย เมื่อการสำรวจสิ้นสุดในแต่ละวัน ข้อมูลถูกป้อนเข้าคอมพิวเตอร์ ช่วงเข้ากิโลเมตรที่ ๘ พวกเราลุ้นกันว่าถ้ำนี้จะขึ้นอันดับสองของประเทศได้หรือเปล่า อันดับสองในตอนนั้น คือถ้ำน้ำลางซึ่งมีความยาว ๘ กิโลเมตรกว่า ในที่สุดถ้ำแห่งนี้ก็กลายเป็นถ้ำที่ยาวเป็นอันดับสอง เป็นรองถ้ำแม่ละนา จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพียง ๕๐๐ เมตรเท่านั้น แต่ถ้านับรวมความยาวเฉพาะตามโถงทางน้ำหลัก ถ้ำนี้ยาวที่สุดในประเทศไทย
    สิ่งหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้พวกเราคือ โถงถ้ำดังกล่าวมีรูปลักษณะเป็นทางน้ำโค้งตระหวัด (meander) ที่เราจะสามารถพบเห็นได้ตามที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำสายใหญ่ ๆ เท่านั้น เป็นสิ่งยืนยันว่า ถ้ำมีพัฒนาการมายาวนาน จากการที่มีทางน้ำขนาดใหญ่ไหลผ่านมาก่อน ความเร็ว ความแรง และการกัดเซาะของน้ำทำให้เกิดโถงถ้ำดังที่เราพบในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังพบสิ่งมีชีวิตในถ้ำที่เป็นชนิดพันธุ์ใหม่หลายชนิด
    นอกเหนือจากความน่าสนใจด้านธรณีสัณฐาน ถ้ำขนาดใหญ่และยาวมาก ๆ น่าสนใจสำหรับพวกเราตรงที่พื้นที่เหล่านี้มีสภาพแวดล้อมที่สามารถเอื้อให้เกิดสิ่งมีชีวิต (โดยเฉพาะสัตว์) ชนิดพิเศษ หรือสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ ๆ เพราะยิ่งลึกเข้าไปในถ้ำมาก ๆ สภาพแวดล้อมจะยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงน้อย ไม่มีแสงสว่าง หากมีสัตว์หลงทางเข้ามา โอกาสที่มันจะติดวนเวียนอยู่ในความมืดจนปรับตัว เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิวัฒนาการ จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดพิเศษก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
    เจ้าหน้าที่คนหนึ่งถามขึ้นด้วยความสงสัยว่า ถ้ำยาวมากขนาดนั้นจะเข้าไปสำรวจอย่างไร เพราะต้องเดินไปกลับไม่ต่ำกว่า ๑๕ กิโลเมตร
    "การสำรวจในแต่ละวันจะเสียเวลาเดินอย่างน้อยวันละสองสามชั่วโมงก่อนจะเริ่มต้นสำรวจต่อ แต่ละวันเราจึงทำงานได้เพียงวันละ ๑ กิโลเมตรเท่านั้น เริ่มจากแปดโมงเช้า และกลับออกมาประมาณสองทุ่ม พวกเราจึงตัดสินใจเข้าไปตั้งแคมป์ในถ้ำช่วงกิโลเมตรที่ ๘-๙ เพื่อตัดปัญหาจากการเดินทาง อุปกรณ์การสำรวจ เครื่องนอน สัมภาระและเสบียงทุกอย่างถูกจัดเข้าถุงกันน้ำแล้วว่ายฝ่ากระแสน้ำเข้าไป" 
    ครั้งนั้นเป็นการนอนในถ้ำครั้งแรกของผมเลยทีเดียว ทุก ๆ อย่างรอบตัวเงียบจนได้ยินเสียงลมหายใจ เมื่อดับไฟฉายแล้วเอามือมาไว้ตรงหน้าจะมองไม่เห็นอะไร มันเป็นความมืดที่ไม่สามารถอธิบายได้ 
    เราเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของถ้ำ สิทธิ์ของคนคนหนึ่งเทียบเท่ากับปลาถ้ำ หรือแมลงที่อยู่บนผนังถ้ำตัวหนึ่งเท่านั้นเอง 
    เมื่อเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเอ่ยว่าเขายังไม่เคยมีประสบการณ์การนอนในถ้ำหรือเดินในถ้ำลึก ๆ เลย ดีนจึงพูดว่า "ไม่ต้องห่วง จากประสบการณ์ของผมคิดว่าในทุ่งใหญ่ฯ เราจะต้องพบถ้ำที่ยาวมาก ๆ แต่ตอนนี้เรายังหาทางเข้าไม่พบเท่านั้นเอง" 
    ...............................
    ดีนเริ่มสำรวจถ้ำตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี เมื่อเขาเข้าเป็นสมาชิกชมรมในเมืองที่อาศัย และก็ทำการสำรวจมาตลอด จนถึงขณะนี้เป็นเวลา ๒๐ ปีแล้ว ก่อนมายังทุ่งใหญ่นเรศวร เขาได้ไปทำความรู้จักกับถ้ำหินปูนที่แม่ฮ่องสอน (ถิ่นของ จอห์น สปีส์) และในอีกหลายจังหวัดของภาคใต้มาแล้ว
    ประสบการณ์บอกเขาว่า ถ้ำใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีคนเหยียบย่างเข้าไปนั้นอันตรายมาก สำหรับนักสำรวจ อย่างเช่นถ้ำแม่ละนา เส้นทางบางช่วงซับซ้อนและต้องว่ายน้ำผ่าน ก่อนงานจะเริ่มหนึ่งเดือน ดีนจึงเปิดหลักสูตรเร่งรัดฝึกผมทำแผนที่ การขึ้นลงทางดิ่ง การใช้เชือกในแบบต่าง ๆ เช่น ผูกเงื่อน ต่อเชือก ถ่ายน้ำหนัก รวมไปถึงการกู้ภัยในถ้ำ หลังจากนั้น ดีนและผมก็มาถ่ายทอดวิชาให้เจ้าหน้าที่ของทุ่งใหญ่นเรศวร เพราะทีมงานทุกคนต้องมีมาตรฐานในเรื่องความปลอดภัย ความรวดเร็วในการทำงาน และยังต้องพยายามให้เกิดผลกระทบต่อสภาพนิเวศของถ้ำให้น้อยที่สุดด้วย
    จากความรู้ที่ดีนถ่ายทอด บวกกับที่ได้ประสบระหว่างสำรวจ ผมพอจะประมวลอันตรายจากถ้ำได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
(คลิกดูภาพใหญ่)

อากาศ

    อากาศที่มีอัตราคาร์บอนไดออกไซด์สูงถือว่าอันตรายที่สุด คาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากเศษซากใบไม้กิ่งไม้ ซากสัตว์กับโคลนที่ถูกกระแสน้ำพัดพาเข้าไป และจากกระบวนการตกตะกอนอีกครั้ง ของแคลเซียมคาร์บอเนต รวมทั้งมูลค้างคาวที่ทับถมกันส่งกลิ่นฉุน (แต่กลับส่งผลดีต่อถ้ำ เนื่องจากมันคือจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารภายในถ้ำ) และเกิดการย่อยสลาย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสะสมตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาพที่อากาศในถ้ำถ่ายเทและเปลี่ยนแปลงน้อย 
    ในอากาศที่เราสูดอยู่ทุกวันจะพบคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ระดับ ๐.๐๐๓ เปอร์เซ็นต์ แต่ในถ้ำเราอาจพบมันมากขึ้น และจะเป็นอันตรายต่อคนเมื่อเพิ่มถึงขีด ๕.๕ เปอร์เซ็นต์ การหายใจจะเริ่มติดขัด สมองมึนงงและหมดสติ หลังจากนั้นจะเสียชีวิตภายในไม่กี่นาที วิธีตรวจสอบที่ดีที่สุดคือใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์วัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ทว่าอุปกรณ์พวกนี้ราคาแพง บางทีซื้อไม่ไหว เราจึงต้องอาศัยการตรวจสอบแบบดั้งเดิม ใช้ความผิดปรกติของร่างกายเป็นตัววัด เพียงแต่คนคนนั้นจะต้องมีประสบการณ์เคยอยู่ในสภาพอะไรอย่างที่ว่ามาก่อนจึงสามารถบอกได้ เพราะบางครั้งการหายใจติดขัดก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากคาร์บอนไดออกไซด์สูงอย่างเดียว แต่ยังมาจากออกซิเจนน้อยด้วย คนทั่วไปจะเริ่มรู้สึกกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ ๓-๔ เปอร์เซ็นต์ แต่ประสบการณ์ทำให้ ดีน สมาร์ต รู้สึกกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ ๑ เปอร์เซ็นต์
    ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในถ้ำ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากความแตกต่างของอุณหภูมิภายในกับภายนอกถ้ำ เมื่อใดที่ถ้ำมีทางเข้าออกทางเดียว อุณหภูมิภายในเย็นกว่าภายนอก อากาศในถ้ำจะไหลออกมาบริเวณปากถ้ำและจะนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์มาด้วย ในทางกลับกัน หากอากาศภายนอกเย็นกว่า อากาศจะไหลย้อนกลับเข้าไปข้างใน หอบเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปด้วยจนอยู่ในระดับสมดุล นอกจากนี้ มวลโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์หนักกว่าออกซิเจน ดังนั้นภายในถ้ำ ชั้นของคาร์บอนไดออกไซด์จะทิ้งตัวอยู่ด้านล่างของออกซิเจน ยิ่งลึกเข้าไประดับชั้นของคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในถ้ำใหม่ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน และไม่มีการไหลเวียนของอากาศแต่มีชั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่บนพื้นถ้ำ เราจะพบว่าขาเดินเข้าไป จะไม่มีปัญหาเรื่องขาดอากาศ แต่เมื่อเดินกลับออกมา จะพบปัญหาอากาศไม่พอหายใจ เนื่องจากสมดุลของชั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถูกเข้าไปรบกวนจนฟุ้งกระจายขึ้นมา
    นักสำรวจถ้ำทุกคนเรียนรู้ถึงวิธีการสังเกตการไหลเวียนของอากาศ รู้วิธีการตรวจสอบอากาศ และพร้อมที่จะกลับออกมาเมื่อเกิดปัญหาหรือถึงขีดจำกัดของทีม 


(คลิกดูภาพใหญ่)

น้ำ

    อันตรายที่น่ากลัวรองลงมา และสามารถเล่นงานเราได้หลายรูปแบบ 
    ผมขอจัดให้อันดับแรกเป็น "อุณหภูมิของน้ำ" น้ำในถ้ำจะมีความเย็นเฉียด ๆ น้ำในตู้เย็นเลยทีเดียว พวกเราเคยเข้าสำรวจถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งมีน้ำตลอดปี อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู จังหวัดกาญจนบุรี พวกเราต้องว่ายทวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากและแช่น้ำอยู่ร่วมห้าชั่วโมงกว่าจะสำรวจเสร็จสิ้น ช่วงพักก็ใช้วิธีเกาะผนังถ้ำหรือลอยคอในน้ำเอาเท่านั้น 
    แม้เป็นช่วงเดือนเมษายน อากาศร้อนที่สุดของปี แต่อุณหภูมิน้ำในลำห้วยอยู่ในราว ๑๖-๑๘ องศาเซลเซียสเท่านั้น บางครั้งลมแรงอีกต่างหาก การแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ เสี่ยงต่ออาการไฮโปเทอร์เมีย (hypothermia) หรืออาการของคนที่อุณหภูมิร่างกายต่ำเกินไป คือ ตัวสั่น เดินช้า ปล่อยของหลุดจากมือ กล้ามเนื้อไม่ค่อยเคลื่อนไหว พูดไม่สะดวก มองเห็นไม่ชัดเจน จิตใจเริ่มไม่อยู่กับร่องกับรอย ถ้าอุณหภูมิในร่างกายลดลง ๕-๖ องศาจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ ดังนั้นเสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่เตรียมไปจึงต้องเป็นชุดที่สามารถรักษาอุณหภูมิได้ระดับหนึ่ง
    การสำรวจครั้งนั้นมีเหตุการณ์ที่ลืมไม่ลงภายในถ้ำเสาหิน คือหลังจากเราว่ายน้ำและเดินเลาะลำห้วยเข้าไปเกือบถึงเสาหินใหญ่ ทันใดก็ได้ยินเสียงโครมครามดังจากด้านบน สักอึดใจน้ำในลำห้วยแตกกระจาย ละอองน้ำกระเซ็นใส่พวกเราพร้อม ๆ กัน ก้อนหินขนาดครึ่งเมตรหล่นลงมาจากเพดานถ้ำ ห่างพวกเราไม่ถึง ๒ เมตร พวกเราได้แต่นิ่งและหันมามองหน้ากันเพราะช็อก 
    ผมยังจำได้ ดีนบอกว่า "ใครพบเหตุการณ์นี้นับว่าโชคดีมาก เพราะมันจะเกิดขึ้นไม่บ่อย อาจเป็นหนึ่งในพันหรือในหมื่นเลยก็ว่าได้ แต่ขออย่างเดียวอย่าหล่นใส่กลางวงเป็นใช้ได้"
    ถ้ำหลาย ๆ แห่งในบ้านเรามีลำห้วยไหลลอดอยู่ข้างใน บางถ้ำก็มีน้ำตลอดปี บางถ้ำมีน้ำเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น เราเรียกถ้ำพวกนี้ว่า "ถ้ำน้ำ" (stream cave) ซึ่งแทบจะปิดตัวเองโดยอัตโนมัติในฤดูฝน และเหล่านักสำรวจถ้ำก็มักหลีกเลี่ยง แต่หากจำเป็นต้องเข้าไปจริง ๆ จะต้องสังเกตตามผนังถ้ำว่ามีโคลนหรือเศษไม้อยู่หรือไม่ ถ้ำบางแห่งมีขนาดใหญ่ เวลาน้ำป่าไหลบ่าจะมีพลังมหาศาลสามารถพัดท่อนซุงใหญ่ ๆ ให้ไปติดอยู่บนเพดานถ้ำได้เลยทีเดียว เหมือนถ้ำนกนางแอ่น อุทยานแห่งชาติลำคลองงู พวกเราเคยทำเครื่องหมายบนผนังเพื่อดูระดับน้ำคร่าว ๆ ในช่วงปีถัดไปเราพบว่าน้ำในถ้ำมีระดับสูงมาก พวกเราคิดว่าในคาร์สต์วินโดว์ที่ ๔ (karst window) จะต้องกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่โดยทันที

(คลิกดูภาพใหญ่)     ครั้งหนึ่ง เราอยู่ภายในถ้ำลุมพินีสวนหิน จังหวัดสระบุรี ดีนสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในลำห้วย น้ำกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับมีเศษกิ่งไม้ไหลมากับน้ำ ทำให้คาดเดาได้ว่าน่าจะมีฝนตกภายนอกถ้ำ จุดที่พวกเราอยู่ในขณะนั้นเป็นช่องทางแคบ ๆ ประมาณเมตรครึ่งและเพดานสูงเพียง ๑ เมตร ที่เห็นแล้วขนลุกคือตามผนังและเพดานถ้ำมีเศษไม้และโคลนติดอยู่ นั่นหมายถึงว่าระดับน้ำสูงสุดของจุดนี้คือมิดเพดานถ้ำ
    ดีนเตือนให้ระวังตัว เราอยู่ห่างจากปากถ้ำเกือบ ๑ กิโลเมตร และเป็นกิโลเมตรที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินเท้าได้ ต้องปีนขึ้นไปตามก้อนหิน ถ้าหนีออกจากถ้ำคงไม่ทันแน่ ทางเดียวคือเราต้องรีบไปจากจุดนี้และหาที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง ขณะวิ่งหาที่ปลอดภัย เราได้ยินเสียงคล้ายคนมารัวกลองอยู่ในถ้ำ เสียงของมันค่อย ๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น และคำรามก้องเหมือนฟ้าร้อง ทุกทีผมจะคุยกับดีนด้วยภาษาไทย เพราะตอนนั้นภาษาไทยของเขา "แข็งแรง" แล้ว ทว่าเวลานั้นเขาส่งภาษาอังกฤษดังลั่น "Come here now"
    เราไปถึงบริเวณซึ่งเป็นที่กว้างพอประมาณ มีที่นั่งพักในระดับสูงพอสำหรับทุกคน พวกเราปีนขึ้นไปและชั่วไม่ถึง ๕ นาที ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างทันทีทันใด ฝนตกที่อาจจะดูไม่รุนแรงนักที่ข้างนอก แต่จะส่งผลรุนแรงต่อลำน้ำในถ้ำ เหมือนการเอาน้ำในถ้วยไปกรอกใส่ในหลอดกาแฟ ทั้งระดับน้ำและความเร็วของน้ำจะเพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อลำน้ำถูกบีบเข้าสู่ที่แคบ ๆ 
    น้ำที่ไหลซู่ ๆ อย่างน้ำตกก่อนหน้านี้ บัดนี้หายไปกลายเป็นลำน้ำขนาดใหญ่สีน้ำตาลเข้มที่โกรธเกรี้ยวพัดหอบเอาเศษไม้ดินทรายเข้ามา พวกเราทำได้อย่างเดียวคือนั่งรอ โดยปิดไฟทุกดวงเพื่อสงวนพลังงานไว้ใช้ยามจำเป็น และภาวนาให้ฝนข้างนอกหยุดตก
    ความมืด ชื้น หนาวเย็นและความหิวมาเยือนเราพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่ห้าโมงเย็นจนสี่ทุ่ม สายน้ำที่บ้าคลั่งค่อย ๆ สงบลงเหลือทิ้งไว้แต่เศษไม้และดินโคลนสีแดงเต็มพื้นและผนังถ้ำ
    ผมรู้ชัดจากเหตุการณ์วันนั้นว่า การลื่นล้มบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุอื่นภายในถ้ำเกิดขึ้นไม่ยาก และนักสำรวจควรต้องระวังอย่างที่สุด คิดดูเถอะว่าถ้าต้องนำคนแขนขาหักออกมาจากถ้ำลึก ต้องว่ายน้ำ เอาขึ้นจากเหว ฯลฯ จะยากลำบากสักเพียงใด เราสามารถป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้ โดยการระมัดระวัง สวมอุปกรณ์ป้องกัน รวมทั้งการประเมินความสามารถของตนเองและทีมว่าจะไปได้มากน้อยขนาดไหน หากทีมไม่พร้อมจะไม่เสี่ยงโดยเด็ดขาด ทุกคนจะกลับออกมาเตรียมตัว ฝึกหัด เตรียมอุปกรณ์และแผนสำหรับการเข้าสำรวจในครั้งต่อไป
    บางครั้งนักสำรวจถ้ำนำกีฬาดำน้ำมาผนวกกับการสำรวจ ทำให้สามารถท่องเข้าไปยังอาณาจักรที่ลึกเข้าไป นั่นคือการสำรวจถ้ำใต้น้ำ ถือว่าเป็นศาสตร์ที่อันตรายที่สุด หลาย ๆ ถ้ำที่เราสำรวจจะไปสุดที่แอ่งน้ำ (sump) น้ำทั้งหมดจะมุดหายลงไปในอุโมงค์ที่มีน้ำเต็ม หรือถ้ำที่อยู่ตามเกาะในทะเล ดังนั้นการจะเข้าไปสำรวจจะต้องมีการใช้อุปกรณ์พิเศษช่วย ผู้ที่เป็นนักสำรวจถ้ำใต้น้ำที่เก่งต้องมีประสบการณ์การสำรวจถ้ำมาก ประกอบกับมีทักษะการดำน้ำที่เชี่ยวชาญจึงสามารถท่องไปในโลกใต้ดินและใต้น้ำได้ดี เพราะต้องพบกับตะกอนโคลนที่อยู่ตามพื้นถ้ำที่พร้อมจะฟุ้งกระจายได้ตลอดเวลา ช่องทางแคบ ๆ และกระแสน้ำที่รุนแรงที่อัดผ่านช่องเล็ก ๆ มิหนำซ้ำเวลาในการสำรวจจะถูกจำกัดโดยออกซิเจนในถัง โขดหิน เพดานถ้ำสามารถทำให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ได้ตลอดเวลา
 

สัตว์มีพิษ 

    ตามปรกติในถ้ำลึก ๆ มักไม่ค่อยพบสัตว์มีพิษ พวกมันอยู่ในที่ที่มืดสนิทไม่ได้ เพราะไม่มีอาหาร เราอาจพบงูบางชนิดอยู่ในถ้ำลึก ๆ เป็นงูที่หากินในถ้ำจริง ๆ กินค้างคาว เช่น งูกาบหมากหางนิล (cave dwelling snake) แต่งูประเภทนี้ไม่อันตรายสำหรับคน ส่วนงูชนิดอื่น ๆ จะอาศัยอยู่บริเวณปากถ้ำที่พอมีแสงสว่างส่องถึง สัตว์จำพวกงูมักชอบที่เย็นและอยู่ตามซอกหิน ดังนั้นก่อนที่จะเดิน มุด หรือคลานเข้าถ้ำจะต้องตรวจดูให้ถ้วนถี่ก่อน


(คลิกดูภาพใหญ่)

ก้าวย่างเพื่อหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลง

    ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ถ้ำเท่านั้นที่รอการค้นพบ สำรวจ ศึกษา และอนุรักษ์ จากนักสำรวจ นักวิชาการในแขนงต่าง ๆ พื้นที่คาร์สต์ทั้งหมดในประเทศไทยเองก็ต้องการการสำรวจและอนุรักษ์ เนื่องจากมันมีความสัมพันธ์อย่างมากต่อการคงอยู่ของถ้ำในประเทศไทย
    การสำรวจถ้ำในประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยเริ่มจากกรมป่าไม้ในช่วงเมื่อสี่ห้าปีที่ผ่านมา เพื่อสำรวจถ้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ แต่ก็เป็นการสำรวจเบื้องต้นและเป็นการวางรากฐานของการจัดการถ้ำในอนาคตเท่านั้น หลังจากนั้นเกือบสองปี งานสำรวจวิจัยเต็มรูปแบบเกี่ยวกับถ้ำในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสร้างบุคลากรที่สามารถทำงานด้านการสำรวจถ้ำในระดับมืออาชีพ ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศึกษาสองพื้นที่โครงการคือ โครงการในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และโครงการในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน คาดว่าหลังจากเสร็จสิ้นโครงการทั้งสอง นอกจากจะมีคนไทยที่สามารถดำเนินการสำรวจวิจัยถ้ำในระดับมืออาชีพ สามารถทำความเข้าใจกับปริศนาของโครงข่ายใต้ดินอันซับซ้อน รู้ถึงคุณค่าความสำคัญด้านต่าง ๆ ของถ้ำแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลในการจัดการใช้ประโยชน์ถ้ำอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย
    ข้อดีของทุ่งใหญ่นเรศวรอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ำอยู่ในสภาพธรรมชาติ ไม่เคยถูกรบกวน จึงน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษา สร้างองค์ความรู้พื้นฐานการจัดการถ้ำต่อไป ดังนั้นถ้ำบางถ้ำ หรือ cave system บางแห่ง เราไม่ได้ไปเพียงครั้งเดียว ถ้าเราพบประเด็นสำคัญจะกลับไปทำซ้ำ 
    อย่างเช่นถ้ำที่หน่วยห้วยน้ำเขียว (เขตห้วยขาแข้ง) ซึ่งเป็นถ้ำหกถ้ำ เกิดจากทางน้ำเดียวกัน ภายในมีลักษณะเป็นโครงข่ายสามชั้น มีความหลากหลายค่อนข้างมาก เราสรุปกันว่าน่าจะศึกษานำมาเป็นฐานข้อมูลจึงกลับไปอีกเป็นครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ศึกษาการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมประจำวันภายในถ้ำโดยละเอียด ทั้งโซนภายนอกถ้ำ ปากถ้ำ และภายในถ้ำอันมืดมิด เก็บข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ จากนั้นก็สำรวจเก็บข้อมูลด้านชีววิทยา เก็บตัวอย่างแมลง และสัตว์ที่อาศัยในถ้ำทั้งหมด ทำ transec line ดูปัจจัยการดำรงชีวิตของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ว่าสัตว์แต่ละชนิดปรากฏอยู่ส่วนไหน ต้องการสภาพแวดล้อมแบบไหน แล้ววิเคราะห์ผลทางสถิติ/เปรียบเทียบ

      การวิจัยนั้นต้องแข่งขันกับปริมาณความต้องการใช้ถ้ำเพื่อสนองตอบกระแสการท่องเที่ยว กับความเสื่อมโทรมเนื่องจากขยะจากการท่องเที่ยว การขีดเขียนตามผนังถ้ำ การติดตั้งไฟและอุปกรณ์ส่องสว่างถาวร โดยมิได้พิจารณาสภาพสมดุลของอุณหภูมิ ความชื้นและการหมุนเวียนของอากาศภายในถ้ำ การจับต้องหินงอกหินย้อย ทางเดินบนพื้นถ้ำที่ไม่มีการกำหนดเส้นทางที่แน่นอน และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกถาวรภายในถ้ำ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อความสมดุล และทำให้ถ้ำเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
    ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ถ้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สัตว์ถ้ำชนิดพิเศษจะสูญพันธุ์ไปหรือไม่ จะเกิดอะไรขึ้นกับสมดุลของระบบนิเวศห่วงโซ่อาหารภายในถ้ำ เมื่อถูกรุกรานจากภายนอก การฟื้นสภาพของถ้ำจะใช้เวลานานสักเท่าใด หากถ้ำที่เปิดใช้ไปแล้วเสื่อมโทรมจนไม่มีใครสนใจเข้าชม ควรบุกเบิกถ้ำใหม่เพื่อดึงดูดกิจกรรมประเภทนี้อีกกระนั้นหรือ เหล่านี้เป็นคำถามที่เราต้องตอบ
    ตราบใดที่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องถึงคุณค่า ความเปราะบางของถ้ำ ขาดการควบคุมและวางแผนการเปิดใช้ถ้ำอย่างรอบด้าน อนาคตของทรัพยากรถ้ำของเราคงเหลือเพียงแค่รายงานการสำรวจว่า มีการค้นพบปลาชนิดใหม่ของโลก แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วในชั่วไม่กี่ปีหลังการเปิดถ้ำ
(คลิกดูภาพใหญ่)

ถ้ำคือผลจากกลไกของธรรมชาติ

    เมื่อน้ำฝนที่ตกลงมารวมตัวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจึงมีสภาพเป็นกรดอ่อน ๆ หรือที่เราเรียกกันว่า กรดคาร์บอนิก มีคุณสมบัติสามารถละลายหินปูนหรือหินที่อยู่ในกลุ่มแคลคาร์เรียสได้ดี เมื่อน้ำฝนซึมผ่านลงใต้ดิน จะได้รับการเติมคาร์บอนไดออกไซด์ จากกิจกรรมย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ของจุลินทรีย์เล็ก ๆ ในดิน น้ำเหล่านั้นไหลลงไปรวมกันเกิดเป็นน้ำใต้ดิน รอการไหลซึมลงตามรอยแยกของหินปูนและทำการละลายหินปูนจนเกิดเป็นโพรงถ้ำขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกทิศทาง เมื่อระดับน้ำใต้ดินลดลงทำให้เกิดช่องว่างภายในถ้ำ ระดับน้ำใต้ดินจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดปี จึงเป็นการเริ่มกระบวนการพัฒนาของโถงถ้ำ ตามกระบวนการกษัยการ (erosion) ควบคู่กับกระบวนการละลาย (solution) พัดพาตะกอนขนาดเล็กขัดสีพื้นถ้ำและผนังถ้ำทำให้ระดับพื้นถ้ำต่ำลงเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน น้ำที่ซึมมาตามรอยแตกของหินจากเพดานถ้ำและผนังถ้ำก็มีการสะสมตัวของตะกอนหินปูน อันเนื่องจากน้ำใต้ดินซึ่งมีส่วนผสมของสารละลายแคลเซียมคาร์บอเนต ตกตะกอนจับตัวกันอีกครั้งเกิดเป็นรูปทรงที่แปลกตา ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ หินงอกหินย้อย (speleothems) รูปลักษณะของมันจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานที่ กระบวนการเกิด ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมบริเวณต่าง ๆ ภายในถ้ำ
    เมื่อถ้ำมีการพัฒนาขนาดของโถงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพดานด้านบนจะเริ่มรับน้ำหนักไม่ไหวก็จะมีการถล่มของโถงถ้ำ อาจเกิดเป็นช่องเปิดหรือช่องทางเชื่อมต่อกับภายนอก กลายเป็นปากถ้ำ การถล่มบางครั้งจะไม่สามารถสร้างช่องทางเชื่อมต่อได้ แต่สามารถทำให้เกิดภูมิสภาพเฉพาะตัวบนพื้นโลกในลักษณะภูมิประเทศคาร์สต์ ก็คือ แอ่งยุบ (doline)
    ตามเส้นทางน้ำขนาดใหญ่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถสร้างเส้นทางเชื่อมต่อกับถ้ำต่าง ๆ เกิดเป็นโถงถ้ำที่ซับซ้อน เกิดปากถ้ำหรือเส้นทางเชื่อมต่อกับโลกภายนอก
    หลังจากนั้นสิ่งมีชีวิตเริ่มเข้ามาอาศัยปากถ้ำเป็นที่หลบภัย หากิน หรือใช้เป็นที่อยู่อาศัย สัตว์บางชนิดหลงเข้าไปลึก ๆ ถ้าสามารถปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมที่จำกัด ธรรมชาติก็ให้โอกาสในการอยู่รอด วิวัฒนาการจนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ อวัยวะบางอย่างที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพก็อาจจะหายไป 


(คลิกดูภาพใหญ่)

กฎของนักสำรวจถ้ำ

    การสำรวจถ้ำทุกครั้งของนักสำรวจถ้ำทั่วทุกมุมโลกจะยึดถือในกฎเกณฑ์การสำรวจเดียวกัน คือ
    ๑. การสำรวจถ้ำทุกครั้งจะต้องสวมหมวกนิรภัยตลอดเวลา
    ๒. อุปกรณ์ให้แสงสว่างจะต้องมีอย่างน้อยสามชุด ได้แก่ ไฟหลัก ไฟสำรอง และไฟฉุกเฉิน ต้องเตรียมแบตเตอรี่ หลอดไฟสำรองให้เพียงพอและเผื่ออย่างน้อยหนึ่งเท่าเสมอ 
    ๓. การสำรวจถ้ำจะต้องเข้าอย่างน้อยสี่คน ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่พร้อมจะต้องกลับออกมาทั้งหมด มิฉะนั้นจะเป็นภาระกับเพื่อนร่วมทีมทันที 
    ๔. การเข้าถ้ำทุกครั้งจะต้องบอกกับเพื่อน หรือคนรู้จักที่แน่ใจว่า เมื่อคณะสำรวจยังไม่กลับมาตามกำหนด เขาจะต้องหาคนตามไปช่วยเหลือได้ ต้องแจ้งถึงถ้ำที่เข้าสำรวจ ใช้เวลาสำรวจนานเท่าใด ที่สำคัญที่สุดคือ จะกลับออกมาเมื่อใด 
    ๕. นักสำรวจต้องเรียนรู้ประสิทธิภาพ ข้อจำกัดของการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทำงานทั้งหมด สามารถซ่อมแซมและดัดแปลงเมื่อเกิดปัญหา สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือในกรณีที่จำเป็นได้ และต้องดูแลรักษาให้อุปกรณ์เครื่องมือพร้อมใช้งานตลอดเวลา 
    ๖. ก่อนใช้งานอุปกรณ์พิเศษ เช่น อุปกรณ์ขึ้นลงทางดิ่ง อุปกรณ์ดำน้ำ จะต้องมีการฝึกหัดและฝึกฝนถึงขั้นตอนการทำงานให้ขึ้นใจก่อนเข้าสำรวจจริงทุกครั้ง เพราะเมื่อเกิดปัญหาจะไม่มีใครสามารถช่วยได้นอกจากตัวเองเท่านั้น 
    ๗. จะต้องรู้จักและฝึกฝนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมได้ยามจำเป็น เพราะกว่าชุดกู้ภัยจะมาช่วยเหลือได้ต้องใช้เวลานาน 
    ๘. การเข้าถ้ำทุกครั้งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อถ้ำ พึงตระหนักไว้เสมอว่า ถ้ำทุกแห่งเป็นที่ที่มีระบบนิเวศเฉพาะและเปราะบาง สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปย่อมเกิดผลกระทบที่ยาวนาน อาทิ ถ่านไฟฉายก่อมลพิษจากโลหะหนัก เศษอาหารทำให้เชื้อราและแบคทีเรียบางชนิดเจริญเติบโตได้ดี หรือแม้กระทั่งเชื้อราและแบคทีเรียที่ติดเสื้อผ้าของผู้สำรวจเอง ทุกสิ่งที่นำเข้าไปจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับถ้ำเสมอ ต้องนำกลับออกมาด้วยเท่าที่จะสามารถทำได้ และจงรบกวนสิ่งมีชีวิตในถ้ำให้น้อยที่สุด
    นักสำรวจถ้ำจะต้องตระหนักไว้เสมอ และถามตัวเองก่อนเข้าสำรวจทุกครั้งว่า คุณรู้จักถ้ำดีเพียงใด การสำรวจถ้ำเถื่อน ผู้สำรวจจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับถ้ำ เช่น ธรณีวิทยา อุทกวิทยา ตะกอน กลไกของอากาศ นิเวศวิทยาภายในถ้ำ โบราณคดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับถ้ำ เกิดความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง ข้อสำคัญ ควรค่อย ๆ เรียนรู้ สั่งสมจากผู้มีประสบการณ์เท่านั้น ตระหนักไว้เสมอว่า โลกได้สูญเสียนักสำรวจถ้ำมืออาชีพที่มีประสบการณ์เป็นสิบ ๆ ปีไปหลายคนจากอุบัติเหตุในการสำรวจ ความไม่พร้อม และความประมาท