สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๘ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๔ "สุริโยไท บทสนทนาอันไม่รู้จบระหว่างปัจจุบันกับอดีต"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๘ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ประวัติศาสตร์ สุริโยไท
บทสนทนาอันไม่รู้จบระหว่างปัจจุบันกับอดีต

วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ : คัดลอก/เรียบเรียง 
บริษัทพร้อมมิตร โปรดักชั่น จำกัด : ภาพ
      ภาพทางประวัติศาสตร์อันชวนขบคิดเคลื่อนไหวผ่านจอสีเงิน ซึ่งผู้กำกับฯ ประกาศเจตนาว่า "ต้องการสร้าง สุริโยไท ให้สมจริงที่สุด เพื่อจุดประกายความคิดด้านประวัติศาสตร์ในหมู่คนไทย"
 (คลิกดูภาพใหญ่)    สมัยเป็นเด็ก เวลาเราอ่านหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เรามักพบ (หรืออาจคาดหวังจะพบ) เรื่องราวสำเร็จรูป มีที่มาที่ไป อธิบายแต่ต้นจนจบไม่ต่างจากดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง หากโดยข้อเท็จจริง ประวัติศาสตร์ล้วนแต่มีช่องโหว่ เล็กบ้างใหญ่บ้างไม่ปะติดปะต่อเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งนี้ยังไม่รวมประเด็นความน่าเชื่อถือ ของหลักฐานแต่ละชิ้นที่จะต้องพูดกันอีกยืดยาว ผู้เขียนสารคดีเรื่องนี้จึงอยากจะทดลอง เสนอภาพของประวัติศาสตร์ "สุริโยทัย" ในรูปแบบหลักฐานพงศาวดารหรือบันทึก ที่เวลาเราเปิดอ่าน ก็จะพบความไม่ต่อเนื่องเป็นธรรมชาติของมัน 
   ตรงนี้มิได้เจตนาจะบอกว่า พวกเราโตแล้ว...ต้องใช้แบบเรียนยากขึ้น เพียงแต่หวังว่ารูโหว่เหล่านั้น จะเป็นที่สำหรับจินตนาการ การคาดเดา โต้แย้ง ซึ่งคนอ่านจะเติมมันลงไปเอง ใครจะรู้ พอท่านเติมช่องว่างจนเต็มแล้วประกอบสร้างขึ้นใหม่ ประวัติศาสตร์ของท่านอาจมีหน้าตาที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ความแรงของกระแส สุริโยไท ทำให้ผู้เขียนทึกทักเอาว่า คนไทยคงได้ดูหนังเรื่องนี้อย่างบันเทิงกันถ้วนหน้า และเมื่อนั้น...หากข้อเขียนนี้จะถูกใช้เป็นคู่มืออ่านประกอบ ประเภท "เบื้องหลังของเบื้องหลัง" ภาพยนตร์ สุริโยไท ก็คงจะเป็นการดี
   พงศาวดารเกี่ยวกับพระสุริโยทัยทั้งหมดเท่าที่จะหาได้จากห้องสมุด ถูกผู้เขียนนำมากองรวมกัน และเท่าที่ทราบ โดยหลัก ๆ ก็เป็นหลักฐานเอกสารชุดเดียวกับที่ฝ่ายข้อมูล และ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ใช้อ้างอิงเพื่อผลิต สุริโยไท ออกมาเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนไหวได้นั่นเอง
   ที่ว่าเป็น "ภาพประวัติศาสตร์" ก็เพราะท่านมุ้ยดำริว่า ต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้มีความสมจริงที่สุด ทั้งในแง่ของลำดับเวลา สถานที่ เหตุการณ์ ตัวละครหรือบุคคลในประวัติศาสตร์ เครื่องแต่งกาย พระราชพิธี อาวุธสงคราม ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คน จนทำให้หนัง สุริโยไท กลายเป็นประวัติการณ์เกือบทุกด้านของหนังไทย และอาจเป็นประวัติการณ์ของภูมิภาคทางแถบนี้ด้วย ทั้งบทหนังที่ใช้เวลารวบรวมข้อมูลและเขียน ๕ ปี, เวลาในการถ่ายทำพร้อมกับแก้บทไปด้วยอีก ๒ ปีเต็ม โดยมีนักประวัติศาสตร์ชั้นนำให้คำปรึกษา, จำนวนผู้แสดงนำ แสดงประกอบรวม ๒,๐๐๐ คน ก่อนจะได้ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ๒๓ ปี -- ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๖๙-๒๐๙๑ ณ.กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ช่วงหลังจากสถาปนาเป็นราชธานีของสยามได้ราว ๑ ศตวรรษครึ่ง เป็นช่วงของการไต่เพดานสู่ความรุ่งโรจน์ หากยึดวงจรชีวิตตามที่มีผู้กล่าวไว้ว่า "กรุงศรีอยุธยามีกำเนิดอย่างราบเรียบ เติบโตอย่างรุ่งโรจน์ แต่ในที่สุดก็ต้องร่วงโรย แล้วล่มสลายอย่างเร่าร้อน" เป็นบรรทัดฐาน
     จากภายนอก ช่วงดังกล่าว ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างราชสำนักอยุธยา กับต่างชาติเจริญรุดหน้าไปไกล ไม่ว่าจีน เปอร์เซีย หรือโปรตุเกส รายได้ของพระนครแห่งนี้ "เฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต" บันทึกเอาไว้ว่ามีรายได้ทองคำถึง ๑๒ ล้านบาท แต่สภาพภายในราชอาณาจักร จัดอยู่ในช่วงแห่งบูรณาการรวบรวมบ้านเมือง ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เวลานับจากปี พ.ศ. ๒๐๗๒ จนถึงปี พ.ศ. ๒๐๙๑ ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ ช่วงเวลา ๒๓ ปี กรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินถึงหกรัชกาล เกิดศึกใหญ่กับพม่าสองครั้ง รบกับฝ่ายเมืองเหนืออีกนับไม่ถ้วน ย่อมแสดงถึงความไม่ปรกติสุขของราชอาณาจักรได้เป็นอย่างดี
   ในที่นี้จึงขอลำดับรายพระนามกษัตริย์ ที่ขึ้นเสวยราชสมบัติหกรัชกาลดังกล่าว เพื่อความสอดคล้องของเนื้อหาที่จะกล่าวต่อไป
   พ.ศ. ๒๐๗๒-๒๐๗๖ พระอาทิตยวงศ์ โอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ พระองค์เป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน และขึ้นครองราชย์เอาเมื่อพระชนมายุมากแล้ว พระนามว่า พระบรมราชาหน่อพุทธางกูร
   พ.ศ. ๒๐๗๖ สมเด็จพระรัฏฐาธิราชกุมาร โอรสของพระหน่อพุทธางกูร ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุเพียง ๕ พรรษา หลังจากนั้นประมาณ ๑ ปีก็ถูกสำเร็จโทษ
   พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙ สมเด็จพระไชยราชาธิราช ผู้เข้ายึดอำนาจพระรัฏฐาธิราชกุมารแล้วเสวยราชสมบัติแทน
   พ.ศ. ๒๐๘๙ พระยอดฟ้า โอรสของพระไชยราชาธิราชขึ้นครองราชย์ขณะพระชนมายุ ๑๑ พรรษา โดยมีแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระชายาของพระไชยราชาธิราช เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ทรงอยู่ในราชสมบัติ ๑ ปี ๒ เดือน
   พ.ศ. ๒๐๙๑ ขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชสมบัติ โดยคบคิดกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์จับพระยอดฟ้าประหาร หลังจากอยู่ในอำนาจเพียง ๔๒ วัน ขุนวรวงศาธิราช แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และพวกก็ถูกจับประหาร พระเฑียรราชาซึ่งขณะนั้นอยู่ในสมณเพศ ถูกอัญเชิญให้สึกออกมาครองราชสมบัติ ทรงพระนาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
 (คลิกดูภาพใหญ่)    รากฐานของความขัดแย้งแต่ดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยา มาจากการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ระหว่างราชวงศ์ที่สถาปนากรุงศรีอยธยา คือราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ซึ่งบางสำนักประวัติศาสตร์เรียกว่า "ราชวงศ์อู่ทอง" กับราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่เดิมเป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน ทว่าการสืบทอดราชสมบัติไม่ลงตัว บรรยากาศทางการเมืองของเครือญาติ จึงเปลี่ยนเป็นความรุนแรง ยามราชวงศ์ละโว้-อโยธยาเรืองอำนาจ ฝ่ายราชวงศ์สุพรรณภูมิก็คืนสู่เมืองสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) พอราชวงศ์สุพรรณภูมิเข้มแข็ง ก็ยกกองทัพมาขับละโว้-อโยธยากลับคืนยังเมืองละโว้ (ลพบุรี) ศูนย์อำนาจเดิมของตนเช่นกัน ต่อมาภายหลังราว พ.ศ. ๑๙๕๐ เป็นต้นมา กษัตริย์แคว้นสุพรรณภูมิได้กำลังสนับสนุนจากแคว้นสุโขทัย ยกพลไปยึดครองกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ สถาปนาราชวงศ์สุพรรณภูมิ ครอบครองพระนครอย่างมั่นคง และยิ่งยืนนานมากกว่าราชวงศ์อื่นใด
   ด้านการปกครองในขณะนั้น ทางพระนครใช้ระบบแต่งตั้งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ไปปกครองบรรดาเมืองลูกหลวง หลานหลวง อำนาจจึงกระจายอยู่ที่บรรดาเจ้าเมืองสำคัญ ๆ พระนครมิได้เป็นศูนย์รวมอำนาจอย่างแท้จริง เครือข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจ จำกัดอยู่เพียงเครือญาติที่ไม่มีหลักประกันว่าจะจีรังไปนานเท่าใด เมื่อสิ้นรัชกาลก็มักเกิดการแย่งชิงอำนาจกันในกลุ่มพระญาติพระวงศ์ ที่เป็นเจ้าเมืองใหญ่ ๆ เหล่านั้น ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปลักษณะการปกครอง และบริหารราชการ ดึงอำนาจการปกครองแผ่นดินมาไว้ที่ส่วนกลาง ยกเลิกการแต่งตั้งเจ้านายในราชวงศ์ไปปกครองเมืองสำคัญ และลดอำนาจเจ้าเมืองที่ครองเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์เดิมลง 
   การปฏิรูปการปกครอง ทำให้มีกลุ่มผู้เสียประโยชน์ โดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายสุโขทัย ที่เคยมีอำนาจปกครองเมืองสำคัญ ๆ มาก่อน ฝ่ายสุโขทัยจึงหันไปเข้ากับแคว้นล้านนา ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต้องเสด็จไปประทับยังเมืองพิษณุโลก ทรงใช้พิษณุโลกเป็นศูนย์บัญชาการต่อต้านการ "รุกราน" ของล้านนายาวนานถึง ๗ ปี โดยทางพระนคร โปรดให้พระราชโอรสปกครอง และรับผิดชอบราชการ นั่นคือสาเหตุให้ราชอาณาจักรศรีอยุธยา ต้องแบ่งราชธานีออกเป็นเมืองเหนือกับเมืองใต้โดยปริยาย และเป็นที่รู้กันต่อมาว่า ราชธานีฝ่ายเมืองเหนือหรือพิษณุโลก เป็นราชธานีของพระมหาอุปราช
     ต่อมาราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สำเร็จ โดยยกเลิกให้เชื้อพระวงศ์ไปครองเมืองพิษณุโลก ตามฐานันดรพระมหาอุปราช เรียกเจ้านายราชวงศ์สุโขทัย และฝ่ายเมืองเหนืออีกส่วนหนึ่ง ลงไปรับราชการเป็นขุนนางใกล้ชิด อยู่ในพระนครเป็นการบั่นทอนอำนาจลงทั้งหมด ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจอย่างแท้จริง 
   นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า นอกเหนือจากความเข้มแข็งเด็ดขาดของพระองค์แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถแผ่อิทธิพล กระทั่งครอบคลุมถึงล้านนา ล้านช้างนั้น เกิดจากการติดต่อกับโปรตุเกส ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้รับวิทยาการใหม่ ๆ ด้านอาวุธสงคราม
อย่างไรก็ดี สันนิษฐานว่า ขณะนั้นเชื้อสายราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ที่ถูกริดรอนอำนาจลง ได้อาศัยเงื่อนไขการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ พยายามฟื้นฟูราชวงศ์ของตนขึ้นใหม่ เป็นเหตุให้กลุ่มเจ้านายราชวงศ์สุโขทัยกลุ่มเมืองเหนือ ร่วมกับกลุ่มอื่นที่ถูกลดอำนาจ (เช่นนครศรีธรรมราช) ถือโอกาสกำจัดราชวงศ์ละโว้-อโยธยา แล้วคืนอำนาจให้เชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ คือพระเฑียรราชา ปกครองกรุงศรีอยุธยาสืบไปดังเดิม เป็นเช่นนี้เจ้านายราชวงศ์สุโขทัยจึงมีความดีความชอบ ได้รับคืนฐานันดรเดิม แล้วกลับไปครองแคว้นสุโขทัยดังเดิมที่เมืองพิษณุโลก 
   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในพระชนม์ชีพ ของสตรีสูงศักดิ์ในประวัติศาสตร์สองพระองค์ คือ "ท้าวศรีสุดาจันทร์" และ "พระสุริโยทัย" ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป พร้อม ๆ กับสมเด็จพระไชยราชาธิราช ขุนวรวงศาธิราช และขุนพิเรนทรเทพ ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ถูกยกมาทั้งหมด เว้นแต่ขุนพิเรนทรเทพเพียงคนเดียว สิ้นพระชนม์ชีพลงในเวลาใกล้เคียงกัน และมีบทบาทสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ชนิดที่กล่าวเป็นนัยได้ว่า ถ้าปราศจากท้าวศรีสุดาจันทร์ ก็คงไม่มีวีรกรรมของพระศรีสุริโยทัย 
(คลิกดูภาพใหญ่)    ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท ตามที่ท่านมุ้ยกล่าวในสปอตโฆษณาว่า "ทั้งหมดมีอยู่ในพงศาวดารอยู่แล้ว" อาศัยเค้าโครงหลักจากพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และบันทึกของเฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "เอกสารปินโต โปรตุเกส" ผสมผสานรายละเอียดด้านวิถีความเป็นไปของตัวละคร จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา คำให้การชาวกรุงเก่า กฎหมายตราสามดวง รวมทั้งเอกสารของฝ่ายพม่า ผู้เขียนจึงใคร่บอกกล่าวถึงที่มา หรือประวัติของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้สั้น ๆ โดยการเรียงลำดับจะยึดหลักเรื่องเวลา/ ความใกล้ชิดเหตุการณ์ของผู้บันทึก/ ผู้เรียบเรียงเอกสาร จากใกล้เหตุการณ์ที่สุดไปหาไกลที่สุดดังนี้ (ยกเว้นเอกสารพม่า)
   ๑. "บันทึกการท่องเที่ยว การเดินทาง และการผจญภัยของ เฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต" หรือเรียกกันทั่วไปว่า "เอกสารปินโตโปรตุเกส" ปินโต นักแสวงโชคชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระไชยราชาฯ ภายหลังจึงแต่งเรื่องการท่องเที่ยว ผจญภัยเกี่ยวกับราชอาจักรสยาม นันทา วรเนติวงศ์ แปลจากฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง The Travels, Voyages and Adventures of Ferdinand Mendez Pinto ใน รวมเรื่องแปล หนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๓ กรมศิลปากร, ๒๕๓๘
   ๒. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต เขียนขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๑๘๒ ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง อยู่ห่างจากเหตุการณ์ ๙๑ ปี Jeremias Van Vlit เป็นผู้จัดการสถานีการค้าฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยา แต่งเรื่อง The Short History of the King of Siam เป็นภาษาฮอลันดา ดร.เลียวนาร์ด แอนดายา แปลจากต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ วนาศรี สามนเสน แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร), พ.ศ. ๒๕๒๓
     ๓. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ตามประวัติกล่าวว่าหลวงประเสริฐฯ ไปได้มาจากบ้านราษฎรแห่งหนึ่ง เอามาให้แก่หอสมุดวชิรญาณ เมื่อ ๑๙ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖ มีหลักฐานระบุชัดเจนว่าเอกสารฉบับนี้ รวบรวมและเขียนขึ้น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังเหตุการณ์ศึกพม่า ๑๑๔ ปี ใน คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ คลังวิทยา, ๒๕๐๗
   ๔. คำให้การชาวกรุงเก่า ขุนนางพม่าชี้แจงว่าหนังสือเรื่องนี้ พระเจ้าอังวะ ให้เรียบเรียงจากคำให้การของเชลยศึกไทยที่กวาดต้อนไป เมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๓๑๐) หอวชิรญาณได้ต้นฉบับจากพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ในคำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ คลังวิทยา, ๒๕๐๗
   ๕. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พงศาวดารฉบับนี้มีบานแผนกระบุว่าชำระเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ แม้ฉบับที่ใช้จะเป็น "ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก" ชำระขึ้นใหม่พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่ผู้เขียนถือเกณฑ์เวลาการชำระเก่าที่สุดที่ตรวจสอบได้
   ๖.พระราชพงศาวดารฉบับกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตเลขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รับสั่งให้ชำระขึ้น ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ โอเดียนสโตร์, ๒๕๐๕
   จากหลักฐานทั้งหมดพบว่า พระนาม "สุริโยทัย" ปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งไม่เก่าไปถึงสมัยอยุธยา จากนั้นพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ที่ชำระในยุครัตนโกสินทร์ในยุคต่อ ๆ มาก็นำเสนอเนื้อความ (เฉพาะตอนทำยุทธหัตถี) เหมือนกันแทบจะทุกตัวอักษร โดยเนื้อความเหล่านั้นมีนัยเชื่อมโยงถึงความในพระราชพงศาวดารที่เก่ากว่า ซึ่งจดจารไว้สั้น ๆ แต่เพียงว่า
 (คลิกดูภาพใหญ่)
เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าเสด็จออกไปรบศึกหงสานั้น 
สมเด็จพระอัครมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี
เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รับศึกหงสานั้น 
ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวง เป็นโกลาหลใหญ่ 
และสมเด็จพระอัครมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น 
ได้รบด้วยข้าศึกถึงสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั้น

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า 
ฉบับหลวงประเสริฐฯ

 (คลิกดูภาพใหญ่)

พระไชยราชาธิราช

กษัตริย์องค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา 
ครองราชสมบัติ พ.ศ.๒๐๗๗-๒๐๙๐? 
เอกราชบางฉบับว่า เป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
..........................................

ข้อเท็จจริงจากหลักฐาน

"ศักราช ๘๗๖ ปีจอศก (พ.ศ.๒๐๕๗? ) พระไชยราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นราชวงศ์สมเด็จพระรามาธิบดี คิดประทุษร้ายจับพระรัฏฐาธิราชกุมาร สำเร็จโทษเสีย สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าได้เสวยราชสมบัติ"
ฉบับพระราชหัตเลขา : ๑๑๒
ศึกเชียงไกรเชียงกราน ?
"ศักราช ๙๐๐ จอศก (พ.ศ.๒๐๘๑) แรกให้พูนดิน ณ วัดชีเชียงในเดือนหกนั้น แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าและพระเจดีย์ เถิงเดือน ๑๑ เสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน เถิงเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาค่ำประมาณยามหนึ่งเกิดลมพายุพัดหนักหนา และคอเรืออ้อมแก้วแสนเมืองมานั้นหัก และเรือไกรแก้วนั้นทลาย..."
ฉบับหลวงประเสริฐฯ :๔๕๔
กรณีสวรรคต (๑)
"ณ วันจันทร์แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองเชียงใหม่ มายังพระนครศรีอยุธยา 
ศักราช ๙๐๘ มะเมียศก (พ.ศ.๒๐๘๙) เดือน ๖ นั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าพระราชกุมาร ท่านเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ในปีนั้นแผ่นดินไหว"
ฉบับหลวงประเสริฐฯ :๔๕๖
กรณีสวรรคต (๒)
"ในปลายรัชสมัย พระองค์ทรงยกแสนยานุภาพไปยังชายแดนเขมร และยึดเมืองลำพูนได้ แต่ขณะเดินทางกลับ พระองค์สิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากสาเหตุตามธรรมชาติ"
ฉบับวันวลิต : ๖๓
กรณีสวรรคต (๓)
"ศักราช ๘๘๙ ปีกุนนพศก (พ.ศ.๒๐๗๐?) เสด็จสวรรคต ณ มัชฌิมวิถีประเทศ มุขมนตรีเชิญพระบรมศพเข้าพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้าเสด็จอยู่ในสิริราชมไหสวรรย์ ๑๔ พระวษา มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระราชโอรสผู้พี่ทรงพระนามชื่อพระยอดฟ้า พระชนม์ได้ ๑๑ พระวษา พระโอรสผู้น้องทรงนามชื่อพระศรีสิน พระชนม์ได้ ๕ พระวษา ครั้นถวายพระเพลิงพระชัยราชาเสร็จแล้ว ฝ่ายพระเทียรราชาซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระชัยราชานั้น จึงดำริว่า กูจะอยู่ในฆราวาส บัดนี้เห็นภัยจะบังเกิดมีเป็นมั่นคง ไม่เห็นสิ่งใดที่จะเป็นที่พึ่งได้ เห็นแต่พระพุทธศาสนาและกาสาวพัตร์ อันเป็นธงชัยพระอรหัต จะเป็นที่พึ่งพำนักพ้นภัยอุปัทวันตราย ครั้นดำริแล้วก็ออกไปอุปสมบท เป็นภิกษุภาวะอยู่ในวัดราชประดิษฐาน" 
ฉบับกาญขนาภิเษก (พันจันทนุมาศ/เจิม) : ๒๒๕
กรณีสวรรคต (๔)
"กองทัพของพระองค์ลงเรือจำนวน ๓,๐๐๐ ลำ ซึ่งเป็นพาหนะนำพระองค์ขึ้นไปถึงที่นั่น และก็นำพระองค์กลับมาสู่ประเทศสยาม หลังจากนั้น ๙ วัน พระองค์ก็เสด็จมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมืองสำคัญของอาณาจักรทั้งมวลของพระองค์... ระหว่างเวลา ๖ เดือนที่พระองค์ไม่อยู่ พระราชินีผู้เป็นพระชายาของพระองค์ ได้ประพฤติผิดประเวณีกับคนส่งอาหารในพระราชวัง (purveyon) ของพระนาง ชื่อออกขุนชินราช และครั้นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จกลับมา พระนางทรงรู้สึกพระองค์ว่าได้ทรงมีครรภ์กับออกขุนชินราชได้ ๔ เดือนแล้ว พระนางทรงกลัวว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงทราบ การกระทำของพระนาง ดังนั้นเพื่อรักษาตนให้รอดพ้นจากอันตราย ที่พระนางจะทรงได้รับ จึงทรงแก้ปัญหาโดยจะวางยาพิษพระเจ้าแผ่นดิน ผู้เป็นพระสวามีของพระนางเสีย ดังนั้นพระนางจึงได้กระทำการตามเจตนาร้ายนั้นโดยไม่รอช้า พระนางถวายน้ำนมให้พระเจ้าแผ่นดินเสวย ซึ่งแสดงฤทธิ์ยาได้ผล เพราะพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จสวรรคตภายในเวลา ๕ วัน หลังจากเสวยน้ำนมไปแล้ว..."
บันทึกของเฟอร์ดินันท์ เมนเดซ ปินโต : ๑๓
 (คลิกดูภาพใหญ่)

แนวคิดทางประวัติศาสตร์

พระไชยราชาธิราชจะมีพระมเหสีหรือไม่-ไม่ปรากฏ แต่ถ้ามีก็ไม่มีพระราชโอรสกับพระมหเสี และบางทีพระเหสีจะทิวงคตเสียก่อน 
   แต่ว่ามีลูกเธอเกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอกอันมีบรรดาศักดิ์เป็น "แม่หยัวเมือง" ตามกฏมณเฑียรบาล คือพระยอดฟ้ากับพระศรีศิลป์ (ดำรงราชานุภาพ อ้างจากเทพมนตรี : ๗๔)
เจตนารมณ์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) ที่จะรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น นับว่าประสบผลสำเร็จ ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยยกเลิกให้พระมหาอุปราช หรือเจ้านายไปครองเมืองพิษณุโลก (หรือเมืองฝ่ายเหนือ) ทำให้กรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางอำนาจอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก เจ้านาย ขุนนาง จากเมืองสำคัญ ๆ ถูกเรียกตัวให้เข้ามาอยู่ในพระนคร อาทิ ขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หลวงศรียศ บุคคลเหล่านี้ยอมอยู่ในอำนาจของพระองค์ เพราะทรงใช้อำนาจปกครองอย่างเด็ดขาด แต่ก็มีสำนึกว่าถ้ามีโอกาสก้จะกอบกู้เกียรติยศ กลับคืนสู่บ้านเมืองเดิมของตน และมีความเป็นไปได้ว่า จะย้อนกลับมาท้าทายอำนาจกรุงศรีอยุธยา (สุจิตต์ :๙๒)
ในสมัยพระองค์เกิดเหตุการณ์สำคัญ คือสงครามครั้งแรก ระหว่างอาณาจักรสยาม กับพม่าที่เมืองเชียงไกรเชียงกราน แต่บางสำนักประวัติศาสตร์ ไม่เชื่อว่าเคยมีศึกครั้งนี้กับพม่า

ช่องว่างทางประวัติศาสตร์

๑. พระราชพงศาวกรุงศรีอยุธยาและบันทึกของชาวตะวันตก กล่าวถึงพระชายาของพระไชยราชาธิราชเพียงพระนามเดียว คือแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
๒. เอกสารกล่าวว่าเสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน แต่ทั้งหมดไม่ได้ระบุว่ายกทัพไปทำศึกครั้งใหญ่กับพม่า
๓. ตรวจสอบเอกสารไทยทั้งหมด รวมทั้งวันวลิต ฮอลันดา ไม่กล่าวถึงการสวรรคตที่ผิดปรกติ หรือถูกท้าวศรีสุดาจันทร์วางยาพิษ
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ศิลปะการสร้างภาพยนตร์ (บทสนทนา ระหว่างปัจจุบันกับอดีต)

พระไชยราชาเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เกิดแต่พระสนม ชิงราชสมบัติจากพระรัฏฐาธิราชกุมาร พระราชโอรสพระหน่อพุทธางกูร โดยจับสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

   ทรงเป็นกษัตริย์นักรบ เด็ดขาดและหนักแน่นในการปกครอง มีมเหสี ๔ องค์ ที่สำคัญคือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระมารดาของพระยอดฟ้า และท้าวศรีสุดาจันทร์พระมารดาของพระศรีศิลป์ ปีพ.ศ ๒๐๘๑ ยกทัพไปชิงเมืองเชียงไกรเชียงกรานคืน จากพม่าด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากเป็นเมืองท่าสำคัญชายฝั่งทะเลอันดามัน แสนยานุภาพของกองทัพถูกเสริมด้วยอาวุธ "ปืน" อันทันสมัย และทหารรับจ้างต่างชาติ ซึ่งเกิดแต่ความสัมพันธ์อันดีกับโปรตุเกส สวรรคตภายในพระนครด้วยมีผู้ลอบวางยาพิษ ทำให้เกิดศึกช่วงชิงอำนาจต่อมา
ภ/นอก. วัดโคกพญา
ดอลลี่ชอต

พะรัฏฐาธิราชกุมาร : ใกล้เฉพาะที่พระพักตร์, แสดงความหวาดหวั่นต่อสิ่งที่พระองค์กำลังประสบ--- ทรงหันซ้ายแลขวา เหมือนกับจะทอดพระเนตรหา ผู้ที่จะช่วยพระองค์ได้--- เมื่อไม่เห็นผู้ใดก็ทรงกันแสง
ดอลลี่ออกเผยให้เห็น
พระรัฏฐาธิราชกุมารประทับอยู่กลางผ้าลาดลายทอง อันเป็นผ้าลาดเฉพาะของพ่ออยู่หัวเท่านั้น---
   พระรัฏฐาธิราชกุมารจะแต่งองค์ ด้วยถนิมพิพมพาภรณ์ ครบเครื่องทรงของพ่ออยู่หัวเจ้า ทรงกรองพระศอ, สร้อยสังวาล, ทับทรวง, สายสะอิ้ง, สวมพระธำมรงค์ครบทั้งยี่สิบนิ้ว แต่เครื่องแต่งองค์เหล่านี้ ไม่สามารถที่จะทำให้พ่ออยู่หัว คลายความหวาดหวั่นได้...
   พระรัฏฐาธิราชกุมาร
   แม่อยู่ไหน---แม่อยู่ไหน---องค์ชายกลัว-แม่ช่วยองค์ชายด้วย
กล้องแพนไปรับ
พระเฑียรราชากับหมื่นราชเสน่หา เสด็จเข้ามาในบริเวณที่ประหาร--- พระเฑียรราชาชะงัก--- ทอดพระเนตรมองน้องต่างพระราชชนนี ของพระองค์ด้วยความสงสาร
ปานกลาง ท้าววรจัน
พระองค์เป็นพ่ออยู่หัว--- พระองค์ต้องมีพระทัยกล้าหาญ--- พระองค์จักต้องไม่แสดงความขลาดกลัว ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้เห็น
   นายแวงเข้าประจำที่เบื้องหน้าพระพักตร์พ่ออยู่หัว--- มือทั้งสองของนายแวงจับพระอังสา ของพระรัฏฐาธิราชกุมารเอาไว้แน่น--- สีหน้าของนายแวงเศร้าหมอง ไม่ผิดกับพระเฑียราชา หรือผู้อื่นที่อยู่ในที่นั้น--- หมื่นทลวงฟันหยิบกระบองไม้จันทน์มาถือ แล้วเริ่มร่ายรำตามพิธี...
(บทภาพยนตร์ "พระสุริโยไท" โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล)
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ท้าวศรีสุดาจันทร์

พระชายาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ตำแหน่ง "แม่หยัวเมือง" ใน พ.ศ. ๒๐๙๐ แผ่นดินสมเด็จพระยอดฟ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน 

ข้อเท็จจริงจากหลักฐาน

แผ่นดินพระยอดฟ้า
ศักราช ๙๐๘ มะเมียศก (พ.ศ.๒๐๘๙) เดือน ๖ นั้น สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าพระราชกุมารท่านเสวยราชสมบัติ พระนครศรีอยุธยา ในปีนั้นแผ่นดินไหว
ฉบับหลวงประเสริฐฯ : ๑๒๖
"ศักราช ๘๙๐ ปีชวดสัมฤทธิศก (พ.ศ.๒๐๗๑?) ณ วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ สมเด็จพระยอดฟ้าเสด็จออกสนาม พร้อมด้วยหมู่มุขอำมาตย์มนตรี เฝ้าพระบาทยุคลเป็นอันมาก ดำรัสสั่งให้เอาช้างบำรูงากัน บังเกิดทุจริตนิมิต งาช้างพญาไฟนั้นหักเป็น ๓ ท่อน ครั้นเพลาค่ำช้างต้นพระยาฉัททันต์ ไห้ลร้องเป็นเสียงคนร้องไห้ ประการหนึ่งประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์"
ฉบับกาญจนาภิเษก (พันจันทนุมาศ/เจิม) : ๒๒๕
"ด้วยเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระชนม์เพียง ๙ พรรษา พระคลังจำนวน ๒๔ คนของรัฐบาลจึงบัญญัติว่า พระราชินีซึ่งเป็นมารดาของพระองค์ จะเป็นผู้คุ้มครองหรือสำเร็จราชการแทนพระองค์ หลายสิ่ง...ที่ได้พ้นไปในช่วงเวลา ๔ เดือนครึ่ง ระหว่างนั้นไม่มีเรื่องยุ่งยาก... อย่างไรก็ตามตอนปลายเวลานั้น พระราชินีก็ประสูติโอรสองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมีกับคนส่งอาหารคนนั้นของพระนาง ทรงไม่พอพระทัยกับรายงานที่ไม่ดีเรื่องการกระทำของพระนาง พระนางทรงแก้ปัญหา...โดยการทำตามความพอพระทัยของพระนาง ซึ่งคืออภิเษกสมรสกับบิดาของโอรสองค์ใหม่ของพระนาง เพราะว่า พระนางทรงผูกสมัครรักใคร่กับเขาอย่างเหลือเกิน และยิ่งกว่านั้น พระนางยังกล้าทำให้พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ซึ่งเป็นโอรสที่ถูกต้องตามกฏหมายของพระนาง พ้นไปเสียอย่างโหดร้าย ในที่สุด โดยวิธีนี้ มงกุฎอาจตกลงมาถึงโอรส ที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมายของพระนางได้
บันทึกของเฟอร์ดินันท์ เมนเดซ ปินโต : ๒๐
"เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศฉะนี้ เราจะคิดประการใด" 
(พระยามหาเสนาพูดกับพระยาราชภักดี--- ต่อมาพระยามหาเสนาถูกแทงสิ้นใจ หลังถูกเรียกเข้าเฝ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ที่ประตูดิน) 
ฉบับพระราชหัตถเลขา : ๑๑๖ 
"พระนางทรงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตส่วนใหญ่ ของบรรดาคนสำคัญของอาณาจักรเสีย และริบที่ดิน สินค้า และทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพวกเขา ซึ่งพระนางทรงนำมาแจกจ่ายให้ในบรรดาคนของพระนาง... ขณะนี้ด้วยพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์ ผู้เป็นโอรสของพระนางเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ขวางความตั้งพระทัยของพระนางอยู่ เจ้าชายผู้เยาว์นี้จึงทรงไม่สามารถหลีกหนีความบ้าเลือด อันน่าชังของพระนางได้ เพราะพระนางได้วางยาพิษพระองค์ เสียด้วยตัวของพระนาง เช่นเดียวกับที่ทรงวางยาพิษพระเจ้าแผ่นดิน องค์ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์นี้ เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงอภิเษกสมรสกับออกขุนชินราช ซึ่งเป็นคนส่งอาหาร... และตั้งเขาให้ได้รับมงกุฎพระเจ้าแผ่นดิน ในกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๕๔๖ (พ.ศ.๒๐๘๘?) แต่อย่างไรก็ตามสวรรค์ไม่เคยปล่อย ให้การกระทำอันโหดร้ายนี้ รอดพ้นจากการถูกลงโทษไปได้  ปีหนึ่งต่อมาคือ พ.ศ.๒๐๘๙ (?) และเมื่อวันที่ ๑๕ เดือนมกราคม ออกญาพิษณุโลกและพระเจ้าคัมบายา (King of Cambaya) ได้สังหารพระนางและออกขุนชินราชเสียที่การเลี้ยงใหญ่ ซึ่งบรรดาเจ้านายเหล่านั้นได้จัดขึ้น ในวัดแห่งหนึ่งชื่อวัด Quiay Figrau จากการสิ้นพระชนม์ และการตายของพระนาง และออกขุนชินราช บรรดาสมัครพรรคพวกของบุคคลทั้งสอง ก็ถูกบรรดาเจ้านายสังหารเสียด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างกลับเป็นสันติสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดเป็นผลเสียหายแก่ประชาชน ของอาณาจักรอีกต่อไป"
บันทึกของเฟอร์ดินันท์ เมนเดซ ปินโต : ๒๒-๒๓
โค่นล้มอำนาจ
"กรมการเมืองลพบุรีบอกลงมาว่าช้างพลายสูง ๖ ศอก มีนิ้วหูหางสรรพต้องลักษณะติดโขลง สมุหนายกกราบทูล ตรัสว่าเราจะขึ้นไปจับ อยู่อีก ๒ วันจะเสด็จ แล้วมีตราขึ้นไปว่าให้กรมการจับเสียเถิด ครั้นอยู่มาประมาณ ๗ วัน โขลงชักปกเถื่อนเข้ามาทางวัดแม่นางปลื้ม เข้าเพนียดวัดซอง... ตรัสว่าพรุ่งนี้เราจะไปจับ ครั้นเวลาค่ำขุนพิเรนทรเทพ จึงสั่งหมื่นราชเสน่หานอกราชการ ให้ออกไปคอยทำร้ายมหาอุปราชอยู่ที่ท่าเสือ สั่งแล้วพอพญาพิชัย พญาสวรรคโลกลงมาถึง ขุนพิเรนทรเทพ จึงให้ไปบอกโดยความลับ พญาพิชัย พญาสวรรคโลกก็ดีใจ จึงไปซุ่มซ่อนอยู่ที่คลองบางปลาหมอ กับด้วยขุนพิเรนทรเทพ หลวงศรียศ หมื่นราชเสน่หา ขี่เรือคนละลำ พลพายมีเครื่องสาตราครบมือ ฝ่ายหมื่นราชเสน่หานอกราชการ ถือปืนไปแอบคอยอยู่ ทำอาการดุจหนึ่งว่าทนายเลือก ครั้นเห็นมหาอุปราชาขี่ช้างจะไปเพนียด หมื่นราชเสน่หาก็ยิงถูกมหาอุปราชตกช้างลงตาย ครั้นเช้าตรู่ขุนวรวงศาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร ์และราชบุตรซึ่งเกิดด้วยกันนั้น ทั้งพระศรีสินก็ลงเรือพระที่นั่งลำเดียวกัน มาตรงคลองสระบัวขุนอิทรเทพก็ตามประจำมา ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพ พญาพิชัย พระสวรรคโลก หลวงศรียศ หมื่นราชเสน่หา ครั้นเห็นเรือพระที่นั่งขึ้นมา ก็พร้อมกันออกสกัด ขุนวรวงศาธิราชร้องไปว่า เรือใครตรงเข้ามา ขุนพิเรนทรเทพก็ร้องตอบไปว่า กูจะมาเอาชีวิตเองทั้งสอง ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพ ก็เร่งให้พายรีบกระหนาบเรือพระที่นั่งขึ้นมา แล้วช่วยกันเข้ากลุ้มรุมจับ ขุนวรวงศาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และบุตรซึ่งเกิดมาด้วยกันนั้นฆ่าเสีย ให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ วัดแร้ง แต่พระศรีสินนั้นเอาไว้ ขุนวรวงศาธิราชอยู่ในราชสมบัติห้าเดือน
ฉบับกาญจนาภิเษก (พันจันทนุมาศ/เจิม) : ๒๒๘
 (คลิกดูภาพใหญ่)

แนวคิดทางประวัติศาสตร์

หนังสือพระราชพงศาวดารจะกล่าวเฉพาะ ผู้ที่มีอำนาจปกครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อเจ้านายในราชวงศ์ละโว้-อโยธยา (หรืออู่ทอง) ไม่ได้ครองราชสมบัติจึงไม่มีการกล่าวถึง แต่ในข้อเท็จจริงนั้นตัวตนก็ต้องมีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดา แต่น่าจะเป็นเจ้านายราชวงศ์นี้(พิเศษ : ๔๐) "ท้าวศรีสุดาจันทร์" นี้เป็นชื่อตำแหน่งไม่ใช่ชื่อตัว ดังปรากฏในหนังสือกฎหมายตามสามดวงว่ าเป็นตำแหน่งสนมเอก ซึ่งมี ๔ พระองค์ คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวอินทรเทวี ท้าวอินทรสุเรนทร์ และท้าวศรีสุดาจันทร์ ถ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครมเหสี พระราชโอรสของพระองค์จะได้เป็นกษัตริย์ ขณะเดียวกันกฏมณเฑียรบาลยุคต้น กรุงศรีอยุธยากำหนดตำแหน่ง "แม่หยัวเมือง" หรือ แม่อยู่หัวเมือง ไว้เป็นอันดับสองรองจากตำแหน่งพระอัครมเหสี และให้พระราชกุมารที่เกิดจากแม่หยัวเมือง จะได้เป็น พระมหาอุปราช (สุจิตต์ : ๖๙) 
มีแนวคิดทางประวัติศาสตร์ว่า พระชายาทั้งสี่นี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับการรวมดินแดนสำคัญ ๔ ส่วนของอาณาจักรสยามให้เป็นปึกแผ่น- ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ควรมาจากราชวงศ์สุโขทัย, ท้าวอินทรเทวี หรือท้าวอินทรสุเรนทร์ ควรเป็นพระชายาองค์ใดองค์หนึ่ง ที่มาจากดินแดนฟากตะวันตก ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ราชวงศ์สุพรรณภูมิ และอีกองค์ที่เหลือมาจากดินแดนทางใต้ ที่เคยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ส่วนท้าวศรีสุดาจันทร์ ควรเป็นเชื้อพระวงศ์ละโว้-อโยธยา (พิเศษ : ๗๕) ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ที่ถูกประณามว่า คบชู้ ฆ่าทั้งผัวและลูก ซึ่งเป็นสายเลือดในอกของตัวเอง เมื่อพิจารณาจากเอกสารต่าง ๆ แล้ว จะเห็นว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ มีเป้าหมายทางการเมืองอย่างน้อยสองอย่างคือ สืบทอดเจตนารมณ์ของพระไชยราชาธิราช เรื่องการปกครองแบบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง ที่พระนครศรีอยุธยา กับกอบกู้รางวงศ์ละโว้-อโยธยา (ราชวงศ์ที่สถาปนากรุงศรีอโยธยา) ที่ถูกราชวงศ์สุพรรณภูมิทำลายให้มีอำนาจดังเดิม เป้าหมายทางการเมืองทั้งสองอย่างนี้ นำท้าวศรีสุดาจันทร์ ไปสู่ความขัดแย้ง และการต่อสู้ทางการเมืองจนตัวตาย (สุจิตต์ : ๘๓)

ช่องว่างทางประวัติศาสตร์ 

๑. เอกสารไทยอย่างน้อย ๒ ฉบับ เอกสารต่างชาติอย่างน้อย ๑ ฉบับ กล่าวว่า พระไชยราชธิราชสวรรคต "ภายนอก" กรุงศรีอยุธยา
๒. ไม่มีเอกสารไทยฉบับใด กล่าวถึงการสวรรคตที่ผิดปรกติ หรือถูกท้าวศรีสุดาจันทร์วางยาพิษ
๓. เอกสาร "ปินโต โปรตุเกส" เพียงฉบับเดียวเท่านั้น บันทึกว่าพระนางวางยาพิษพระไชยราชาธิราช หลังจากเสด็จกลับมาถึงพระนคร
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ศิลปะการสร้างภาพยนตร์ (บทสนทนา ระหว่างปัจจุบันกับอดีต)

เหตุการณ์ช่วงปลายก่อนพระนางจะถูกปลิดพระชนม์ชีพ พระราชพงศาวดารตอนนี้ ให้ภาพพระนางพร้อมพระศรีศิลป์, พระราชบุตรีที่เกิดจากขุนวรวงศาธิราช และขุนวรวงศาธิราช นั่งเรือเสด็จออกไปนอกเมือง เพื่อทอดพระเนตรการจับช้าง เป็นภาพครอบครัวพ่อแม่ลูกที่อบอุ่น ซึ่งผู้เขียนบทภาพยนตร์ยอมรับไม่ได้ว่า เป็นภาพของแม่ที่เคยฆ่าสายเลือดในอก (พระยอดฟ้า) ได้ลงคอ จึงมีความเชื่อมั่นตามความรู้สึกว่า พระยอดฟ้าที่ถูกประหารชีวิตไปนั้น เป็นโอรสของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่สิ้นพระชนม์ไปหลังจากมีพระประสูติกาล ใกล้ ขุนชินราช
ขุนชินราช : มองศรีสุดาจันทร์ --- เริ่มเข้าใจว่าศรีสุดาจันทร์ต้องการอะไร

ขุนชินราช 
แม่หยัวทรงหมายถึงอะไร
ศรีสุดาจันทร์ 
ก็หมายถึงราชวงศ์อู่ทอง จะต้องกลับมาครองอโยธาอีกครั้งหนึ่ง ตามสิทธิอันชอบธรรมของราชวงศ์นี้ 
ดอลลี่ชอต  
จากใกล้ที่ศรีสุดาจันทร์ กล้องดอลลี่ออกจนเป็นห่าง
   ศรีสุดาจันทร์ 
   พระองค์อย่าได้หมายให้ราชวงศ์อู่ทอง กลับมาครองอโยธยาอีกครั้ง--- อโยธยาจักต้องอยู่ใต้มหาเศวตฉัตร์วงศ์อู่ทองไปชั่วลูกสืบหลาน--- บัดนี้สิ้นราชวงศ์สุพรรณภูมิแล้ว ทรงได้ยินแล้วกระมังเพคะ---อโยธยาศรีรามเทพนคร จักต้องตกเป็นสมบัติเชื้อสายฝ่ายอู่ทองไปชั่วกาลนาน
   - -ตัดไป--
(บทภาพยนตร์ "พระสุริโยไท" โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล)
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ขุนวรวงศาธิราช

ตำแหน่งเดิมคือ พันบุตรศรีเทพ และขุนชินราช ครองราชสมบัติ พ.ศ.๒๐๙๑ ตั้งนายจัน น้องชายอยู่บ้านมหาโลกเป็นพระมหาอุปราช อยู่ในอำนาจเพียง ๔๒ วัน

ข้อเท็จจริงจากหลักฐาน

"พระสนมองค์นี้ (ท้าวศรีสุดาจันทร์) มีความสนิทชิดชอบกับหมอผี ซึ่งเข้าเฝ้าแปลนิทานเก่าแก่ และประวัติศาสตร์ต่างประเทศ เป็นภาษาราชสำนัก เพื่อที่จะช่วยให้หมอผี ได้รับตำแหน่งก้าวหน้าขึ้นไปอีก พระสนมได้สมรู้ร่วมคิดกับหมอผี ใช้เวทมนต์สะกดพระเจ้าแผ่นดิน และลอบปลงพระชนม์ ทุกวันพระสนมจะนำหมอผี ไปยังห้องบรรทม และขออยู่ลำพังกับพระเจ้าแผ่นดิน โดยอ้างว่าจะขออ่านนิทานสนุก ๆ และข้อความที่ควรจดจำ ให้พระเจ้าแผ่นดินสดับ และเมื่อหมอผีได้ใช้เวทมนต์คาถา สะกดพระเจ้าแผ่นดินได้แล้ว พระสนมก็นำยาพิษมาถวาย โดยกล่าวว่า เป็นพระโอสถรักษาพระองค์ ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดิน ก็สิ้นพระชนม์ลง ท่ามกลางความโศกเศร้าของพสกนิกรทั้งปวง"
ฉบับวันวลิต : ๖๕
"นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เสด็จไปประพาสเล่น ณ พระที่นั่งพิมานรัถยาหอพระข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพผู้เฝ้าหอพระ ก็มีความเสน่หารักใคร่... จึงสั่งสาวใช้ให้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้า ไปพระราชทาน... พันบุตรศรีเทพรับแล้ว ก็รู้อัชฌาสัยว่านางพญามีความยินดีรักใคร่ ...จึงเอาดอกจำปาส่งให้สาวใช้เอาไปถวายแก่นางพญา นางพญาจึงมีความกำหนัดในพันบุตรศรีเทพเป็นอันมาก จึงมีพระเสาวนีย์สั่งพระยาราชภักดี ว่าพันบุตรศรีเทพเป็นข้าหลวงเดิม ให้เอามาเป็นที่ขุนชินราช รักษาหอพระข้างใน"
ฉบับกาญจนาภิเษก (พันจันทนุมาศ/เจิม) : ๒๒๕
"พระยอดฟ้าโอรสเรายังเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น จะว่าราชการแผ่นดินนั้น เห็นเหลือสติปัญญานัก อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือเล่าก็ยังมิปกติ จะไว้ใจแก่ราชการมิได้ เราคิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน กว่าราชบุตรเราจะใหญ่ขึ้นมา จะเห็นเป็นประการใด" 
ฉบับกาญจนาภิเษก (พันจันทนุมาศ/เจิม) : ๒๒๖
 (คลิกดูภาพใหญ่)
"เมื่อขุนชินราชได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ให้เอาพงศาวดารเก่า ๆ สำหรับบ้านเมืองเผาไฟเสียบ้าง ด้วยเหตุนี้พงศาวดารเก่า ๆ จึงขาดเป็นตอน ๆ แต่นั้นมา"
คำให้การชาวกรุงเก่า : ๗๓ 
นางพญาจึงพระเสาวนีย์ตรัสสั่ง ปลัดวังให้เอาราชยาน และเครื่องสูงแตรสังข์ กับขัตติยวงศ์ออกไปรับขุนวรวงศาธิราช เข้ามาในราชนิเวศมนเทียรสถาน แล้วตั้งพระราชาภิเษก ยกขุนวรวงศาธิราช เป็นเจ้าพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา จึงเอานายจันผู้น้อง บ้านอยู่มหาโลกเป็นมหาอุปราช แล้วขุนวรวงศาธิราชผู้เจ้าแผ่นดิน ตรัสปรึกษากับนางพญาว่า บัดนี้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยรักเราบ้างชังเราบ้าง หัวเมืองเหนือทั้งปวง ก็ยังกระด้างกระเดื่องอยู่ เราจำจะให้หาลงมาผลัดเปลี่ยนเสียใหม่"
ฉบับกาญจนาภิเษก (พันจันทนุมาศ/เจิม) : ๒๒๖
"พวกขุนนางก็เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลว่า มีผู้เห็นช้างเชือกหนึ่ง สวยงามมากปรากฏแถวโรงช้าง และคะยั้นคะยอให้พระเจ้าแผ่นดินไปคล้องช้าง พระเจ้าแผ่นดินทรงหลงเชื่อเสด็จไปยังโรงช้างทันที พร้อมด้วยข้าราชบริพาร และ ณ ประตูทางเข้าประตูแรก แม่กองท้ายน้ำและหัวหมู่ Rachiut ก็ได้ซุ่มอยู่พร้อมปืนบรรจุกระสุน เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาใกล้ ทหารทั้งสองก็ยิงพระองค์ล้มลงสิ้นพระชนม์ พระองค์เสวยราชย์อยู่ ๔๐ วัน งานลอบปลงพระชนม์ก็ประสบความสำเร็จ ร่างของพระองค์ก็ถูกโยนไปให้สุนัขกินส่วนพระสนม (ซึ่งช่วยให้พระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน) ก็ถูกฆ่าด้วยดาบและโยนศพลงแม่น้ำ"
ฉบับวันวลิต : ๖๖
"เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศดังนี้เราจะละไว้ดูไม่ควร จำจะกุมเอาตัวขุนวรวงศาธิราชประหารชีวิตเสีย" (ขุนพิเรนทรเทพกับขุนอินทรเทพ หมื่ราชเสน่หา หลวงศรียศบ้านลานตากฟ้าปรึกษากันในที่ลับ) 
ฉบับพระราชหัตถเลขา : ๑๑๗
ครั้นศักราช ๘๙๑ ปีฉลูเอกศก (พ.ศ.๒๐๗๒?) ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ขุนวรวงศาธิราช เจ้าแผ่นดิน คิดกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ให้เอาพระยอดฟ้าไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดโคกพญา แต่พระศรีสินน้องชาย พระชนม์ได้ ๗ พรรษานั้นเลี้ยงไว้ สมเด็จพระยอดฟ้าอยู่ในราชสมบัติปีหนึ่งกับ ๒ เดือน
ฉบับกาญจนาภิเษก (พันจันทนุมาศ/เจิม) : ๒๒๖
   "เหตุใดพวกเหล่านี้จึงบังอาจถือศัตราวุธ เข้ามาใกล้เรือเราดังนี้" ขุนชินราชตกใจร้องถาม
   "ท่านไม่รู้หรือ ซึ่งพวกเรามาคอยอยู่ดังนี้ ประสงค์จะจับตัวท่านฆ่าเสียให้สิ้นชีวิต" 
คำให้การชาวกรุงเก่า : ๗๕
ว่าแล้วก็กรูกันขึ้นบนเรือขุนชินราช เอาดาบฟันขุนชินราชตายอยู่ในเรือนั้น ขุนชินราชได้ราชสมบัติเมื่ออายุ ๒๐ ปี อยู่ในราชสมบัติ ๒ ปี เมื่อตายอายุได้ ๒๒ ปี ขุนชินราชเกิดวันจันทร์ ตระกูลอำมาตย์
คำให้การชาวกรุงเก่า : ๗๕ 
(คลิกดูภาพใหญ่)

แนวคิดทางประวัติศาสตร์

"พันบุตรศรีเทพ" ไม่มีชื่ออยู่ในทำเนียบขุนนางสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่บทไอยการตำแหน่งนาพลเรือน มีชื่อตำแหน่ง "หมอศรีเทพ" เป็นหมอ (โพน) ช้าง สังกัดกรมช้าง (สุจิตต์ : ๗๒) คำว่า "หอพระ" ชวนให้เข้าใจว่าเป็น หอ หรือ วิหารน้อย ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ "หอพระ" ในกรณีนี้น่าจะหมายถึง "หอพระมณเฑียรธรรม" หรือไม่ก็ "หอพระเทพบิดร" มากกว่า คำให้การขุนหลวงประดู่ในทรงธรรม พรรณาว่า หอพระเทพบิดรหรือ "หอเชษฐอุดร" ในพระราชวังพระนครศรีอยุธยามีไว้สำหรับ "ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้ากับฝ่ายใน ถือพานพระขันหมาก และดอกไม้ธูปเทียน เข้าไปถวายบังคม พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ในหอพระเชษฐอุดรก่อน แล้วจึงเข้าไปถือน้ำพระพิพัฒสัจจา ในวัดพระศรีสรรเพชญ์"
การเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน ได้ตัดขุนวงศาธิราช ออกจากรายพระนามของกษัตริย์อยุธยา ทั้ง ๆ ที่ในพระราชพงศาวดารเอง ก็กล่าวว่า ได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น เป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการแล้ว
ขุนชินราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ดำเนินการสร้างสมกำลัง และอำนาจอยู่ ๑ ปี ๒ เดือน ในช่วงรัชกาลของพระยอดฟ้า ทั้งสองจึงยึดอำนาจ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นพระมเหสี จับพระยอดฟ้าประหารชีวิต ตั้งนายจันน้องชายขึ้นเป็นมหาอุปราช  จะเห็นว่าเวลาเพียงปีเศษนั้น สั้นเกินไปสำหรับการสะสมกำลังอำนาจ เหตุหนึ่งที่ต้องรีบดำเนินแผน คงเนื่องมาจากพระยอดฟ้ากำลังเติบใหญ่ มีแนวโน้มจะเก่งกล้าขึ้นเป็นลำดับ หากปล่อยไว้ก็จะยิ่งมีกำลังอำนาจ ยากต่อการครอบงำหรือกำจัด

ช่องว่างทางประวัติศาสตร์

๑. เอกสารเก่าอย่างพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ กับพงศาวดารฉบับวันวลิต ออกชื่อ "ขุนชินราช" ตรงกันเพียงชื่อเดียวเท่านั้น แต่พระราชพงศาวดารฯ สมัยหลังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าตำแหน่งเดิมคือ พันบุตรศรีเทพ ต่อมาได้เป็น ขุนชินราช
๒. พันบุตรศรีเทพเป็นใคร...ระหว่างหมอผีผู้รอบรู้เรื่องเก่า/ ต่างประเทศของราชสำนัก คนส่งอาหาราร หรือพราหมณ์เฝ้าหอพระ?
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ศิลปะการสร้างภาพยนตร์ (บทสนทนาระหว่างปัจจุบันกับอดีต)

ความสามารถ "แปลนิทานเก่าแก่และ ประวัติศาสตร์ต่างประเทศเป็นภาษาราชสำนัก" และหน้าที่เฝ้าหอพระ แสดงความเป็นผู้รอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ ของพันบุตรศรีเทพ และผู้รอบรู้ด้านนี้ควรมีเชื้อสายชนชั้นสูง เช่นตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์ ซึ่งกุมความรู้ราชประเพณีพิธีการต่าง ๆ ในราชสำนัก ไม่ใช่คนไม่มีหัวนอนปลายเท้ามาจากตระกูลต่ำ  ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอว่า พันบุตรศรีเทพเป็นพราหมณ์ นุ่งห่มผ้าขาว มีสายธุรำซึ่งทำด้วยเส้นด้าย ขมวดเป็นปมคล้องคอ เชื้อสายราชวงศ์ละโว้-อโยธยา (หรืออู่ทอง) ราชวงศ์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ทั้งนี้เนื่องจาก ละโว้มีสายสัมพันธ์ยาวนาน กับบ้านเมืองทางภาคอีสาน ต่อเนื่องไปจนถึงขอม เมืองพระนครหลวง ที่สำคัญคือสายตระกูลดังกล่าว ถือเป็นตระกูลศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่อาจต้องโทษถูกประหารตามกฏหมาย ของกรุงศรีอยุธยา
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ขุนพิเรนทรเทพ

มีบิดาเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง มารดาเป็นราชวงศ์เดียวกับพระไชยราชา ท่านเป็นหัวหน้ากลุ่มฝ่ายเหนือ ก่อการล้มล้างขุนชินราช- แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ต่อมาระหว่าง พ.ศ.๒๑๑๒- ๒๑๓๓ (หลังเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๑) ขึ้นครองราชสมบัติ พระนามว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชา นับเป็นกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยพระองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยา

ข้อเท็จจริงจากหลักฐาน

"เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศดังนี้เราจะละไว้ดูไม่ควร จำจะกุมเอาตัวขุนวรวงศาธิราช ประหารชีวิตเสีย ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ จึงว่าถ้าเราทำได้สำเร็จแล้ว จะได้ผู้ใดเล่าที่จะปกป้องครองประชาราษฎรสืบไป ขุนพิเรนทรเทพจึงว่าเห็นแต่พระเฑียรราชา ที่บวชอยู่นั้นจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้"
ฉบับพระราชหัตเลขา : ๑๑๗ 
รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
...จึงตรัสเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราชธิดา ถวายพระนาม ชื่อพระวิสุทธิกษัตรี เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีเมืองพิษณุโลก เครื่องราชาบริโภค ให้ตั้งตำแหน่งศักดิฝ่ายทหารพลเรือน เรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงขึ้นไป
ฉบับกาญจนาภิเษก (พันจันทนุมาศ/เจิม) : ๒๓๐
(คลิกดูภาพใหญ่)

แนวคิดทางประวัติศาสตร์

ขุนพิเรนทรเทพ เป็นคนคนเดียวกับ "ออกญาพิษณุโลก" ซึ่งในสมัยพระไชยราชา ถูกลดอำนาจ และเรียกตัวเข้ามาอยู่ในพระนคร ภายหลังก่อการล้มล้างขุนชินราชแล้วจึงเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมขุนพิเรนทรเทพไม่ยึดอำนาจไว้เสียเอง กลับยกให้พระเฑียรราชาที่บวชอยู่ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเฑียรราชา) เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๒๐๙๑) พระองค์จึงพระราชทานฐานันดรเจ้าผู้ครองแคว้นสุโขทัยเดิม คือพระมหาธรรมราชา กลับไปครองเมืองพิษณุโลก ตอบแทนขุนพิเรนทรเทพผู้เป็นต้นคิดในการชิงอำนาจ ทั้งพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี พระราชธิดาให้
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลผู้ร่วมก่อการกับท่าน ที่เป็นหลักฐานระบุชัดคือ พระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก และหลวงศรียศบ้านลานตากฟ้า ทั้งหมดล้วนมาจากกลุ่มเมืองเหนือ หรือดินแดนแคว้นสุโขทัยแต่เดิม ที่ถูกกระบวนการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางกระทำ จึงไม่มีข้อสงสัยเลยว่า การก่อการครั้งนี้มีเหตุผลซ่อนเร้น.. .คือความต้องการทวงคืนอำนาจ อิสระในการปกครองตนเอง (ทั้งนี้อาจนับรวมถึงขุนอินทรเทพ จากเมืองธรรมาศรีโศกราชด้วย) (พิเศษ : ๙๒) สรุปคือผลพวงที่ขุนพิเรนทรเทพได้รับก็คือรางวัล และโอกาสที่จะกลับบ้านเมืองของตน และรอโอกาสที่จะเข้ามาท้าทายอำนาจอยุธยา ในฐานะผู้ที่เข้มแข็งกว่านั่นเอง (เทพมนตรี : ๑๑๔)
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ศิลปะการสร้างภาพยนตร์ (บทสนทนาระหว่างปัจจุบันกับอดีต)

ขุนพิเรนทรเทพถือเป็นนักรบที่ห้าวหาญคนหนึ่ง ของสายราชวงศ์พระร่วง (สุโขทัย) ดังตัวอย่างเหตุการณ์ "คลองสระบัว" โจมตีเรือขุนชินราช-ท้าวศรีสุดาจันทร์ ขุนเรนทรเทพเป็นผู้นำ  เดิมอยู่เมืองพิษณุโลก รู้จักและชอบพอกันกับ "พระสุริโยไท" และนี่อาจเป็นคำตอบของข้อสงสัยที่ว่า เมื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองได้แล้ว เหตุใดขุนพิเรนทรเทพ จึงไม่ยึดอำนาจไว้เสียเอง
ดอลลี่ชอต
เข้าหาพระพักตร์ของพระมหาธรรมราชา ในขณะที่พระมหาธรรมราชา ทรงประกาศก้อง
   พระมหาธรรมราชา
   จงเร่งกลับไปทูลพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำว่า ที่จะประทานทองถึงพันชั่ง ให้ผู้เปิดประตูค่าย บัดนี้ข้า พระมหาธรรมราชา ได้เปิดประตูนั้นถวายแล้ว ให้พระองค์เร่งนำทองมา พระราชทานให้ข้า ตามที่ลั่นสัตย์ปฏิญญาไว้ ข้ากับไพร่พลจะออกมารอรับอยู่หน้าค่าย หากพระองค์ทรงเป็นเอกราชามหาจักรพรรดิราช สมดังคำร่ำลือแล้วไซร้ ก็จงยกพยุหโยธามาสัปยุทธกับข้าได้ในบัดนี้
ปานกลาง
สีหตูผู้อยู่บนหลังคชาธารเอี้ยวหลัง มองพระมหาธรรมราชา ด้วยความแค้นเคือง ก่อนที่จะไสหนีกลับไปทางค่ายของตน
ใกล้
พระมหาธรรมราชาทอดพระเนตรตามหลัง พร้อมยิ้มด้วยควาวมสะใจ ที่เห็นทัพพม่าแตกพ่ายไปอย่างไม่เป็นท่าเช่นนั้น

--ตัดไป--
(บทภาพยนตร์ "พระสุริโยไท" โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล)
 (คลิกดูภาพใหญ่)

พระสุริโยทัย

เป็นไปได้ว่าพระนาง คือพระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเฑียรราชา)

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ขณะเมื่อแผ่นดินพระนครศรีอยุธยา เป็นทุรยศปรากฏไปถึงกรุงหงสาวดี... ทรงดำริว่า ถ้าพระนครศรีอยุธยาเป็นดังนี้จริง เห็นว่าหัวเมืองขอบขัณฑเสมา และเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวง จะกระด้างกระเดื่องมิปกติ ถ้ายกกองทัพรุดไปโจมตีเอา เห็นจะได้พระนครศรีอยุธยาโดยง่าย 
ฉบับพระราชหัตเลขา : ๑๒๓ 
   ครั้นรุ่งขึ้นวันอาทิตย์เดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า จะเสด็จยกพยุหโยธาทวยหาญ ออกไปดูกำลังข้าศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง จึงทรงเครื่องราชอลังการยุทธ์ เสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์สูง ๖ ศอกคืบ ๕ นิ้วเป็นพระคชาธาร ประดับคชาลังกาภรณ์เครื่องมั่น มีกลางช้างและควาญ พระสุริโยทัยผู้เป็นเอกอัครราชมเหสี ประดับองค์เป็นพระยามหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชรณรงค์ เสด็จทรงช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์ สูง ๖ ศอกเป็นพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นเสร็จ มีกลางช้างและควาญ...
   ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ดำรัสให้แยกพลเป็นปีกกา พลโยธาหารทั้งสองฝ่าย บ้างเห่โห่โกลาหลเข้าปะทะ ประจันตีฟันแทงแย้งยุทธ์ ยิงปืนระดมศาสตราวุธมาการตลบไปทั้งอากาศ พลทั้งสองฝ่าย บ้างตายบ้างลำบาก กลิ้งกลาดเกลื่อนท้องทุ่งเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกดังนั้น ก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยทัยเห็นพระราชสามีเสียที ไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับ พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาพระสุริโยทัย ขาดกระทั่งราวพระถันประเทศ พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราช ก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก้พระราชมารดาไม่ทันที พอพระชนนีสิ้นพระชมน์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึก รี้พลตายเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า จึงให้เชิญพระศพพระสุริโยทัย ผู้เป็นพระอัครมเหสีมาไว้ตำบลสวนหลวง
ฉบับกาญจนาภิเษก (พันจันทนุมาศ/เจิม)
ศักราช ๙๑๐ วอกศก (พ.ศ.๒๐๙๑) วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จออกสนามให้ชนช้าง และช้างพระยาไฟนั้นงาหักเป็น ๓ ท่อน อนึ่งอยู่ ๒ วัน ช้างต้นพระฉัททันต์ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์ อนึ่งประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ เถิงวันอาทิตย์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ ๔๒ วัน และขุนชินราชและแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และครั้นเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน พระยาหงสาปังเสวกียกพลมายังพระนครศรีอยุธยาในเดือน ๔ นั้น 
ฉบับหลวงประเสริฐฯ : ๑๒๖
เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรบศึกหงสานั้น สมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รับศึกหงสานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกเถิงสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั้น...
ฉบับหลวงประเสริฐฯ : ๑๒๖
 (คลิกดูภาพใหญ่)
...ฝ่ายพระมหาเทวี ผู้เป็นพระอัครมเหสีพระมหาจักรวรรดิ์ จึงให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งปวงทรงปรึกษาว่า บัดนี้ถึงวันสัญญาที่จะทำยุทธหัตถีแล้ว พระราชสามีของเราก็ทรงพระประชวรมาก พระราชโอรสก็ยังทรงพระเยาว์นัก จะหาใครออกทำยุทธหัตถี ต่อสู้กับข้าศึกแทนพระราชสามีแห่งเราได้ ถ้าไม่ออกไปทำยุทธหัตถีตามสัญญาในวันนี้ ก็จะต้องยอมเสียราชสมบัติ ให้แก่ข้าศึกตามสัญญา... ขณะนั้นพระบรมดิลก ซึ่งเป็นพระราชธิดามีพระชันษาได้ ๑๖ ปี จึงกราบทูลว่า พระราชบิดาได้ทรงทำสัญญาไว้ กับพระเจ้าหงสาวดีแน่นหนามาก ถ้าไม่ออกไปทำยุทธหัตถีในวันนี้ ก็จำจะต้องยกราชสมบัติให้แก่เขาตามสัญญา คราวนี้ไม่มีใครที่จะออกต่อสู้ด้วยข้าศึกแล้ว กระหม่อมฉันจะขอรับอาสาออกไป ชนช้างกับพระเจ้าหงสาวดี ฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชบิดา... พระบรมดิลกราชธิดารับพระพร ของสมเด็จพระราชบิดามารดาแล้ว ก็ถวายบังคมลาออกมาทรงช้างต้นบรมฉัททันต์... พระบรมดิลกก็ยกพลออกไปที่ทุ่งมโนรมย์ ครั้นกองทัพมาถึงพร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ก็ยกธงขึ้นเป็นสัญญา แล้วต่างก็เข้าทำยุทธหัตถีชนช้างกัน พระบรมดิลกเป็นสตรี ไม่ชำนาญการขับขี่พระคชาธาร ก็เสียทีแก่พระเจ้าหงสาวดี ช้างต้นบรมฉัททันต์ เบนท้ายให้ท่าแก่พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระแสงง้าว ฟันถูกพระบรมดิลก ตกจากช้างทรง พระบรมดิลกร้องได้คำเดียวก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าหงสาวดีได้ทรงฟังเสียง จึงทราบชัดว่าเป็นสตรี ปลอมออกมาทำยุทธหัตถีกับพระองค์ ก็เสียพระทัย ทั้งละอายแก่ไพร่พลทั้งปวง จึงตรัสในที่ประชุมว่า ครั้งนี้เราเสียทีแล้ว ด้วยเราไม่พิจารณาให้แน่นอน หลงทำยุทธนาการกับสตรี ให้เสื่อมเสียเกียรติยศกิตติศัพท์ จะลือชาปรากฏไปชั่วกัลปาวสาน ว่าเราเป็นคนขลาด จึงมาทำยุทธนาการสู้รบกับสตรี เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตรัสดังนี้แล้ว ก็ให้รวบรวมผู้คนช้างม้า ยกทัพกลับคืนพระนคร
คำให้การชาวกรุงเก่า : ๗๙ 
(คลิกดูภาพใหญ่)

แนวความคิดทางประวัติศาสตร์ 

วีรกรรมของ "พระอัครมเหสี" อันเป็นที่รับรู้กันดีในสังคมไทย ในฐานะ "พระสุริโยทัย" นั้น ปรากฏอยู่ในหลักฐานพงศาวเพียงแห่งเดียว (ฉบับหลวงประเสริฐฯ) นอกจากพระราชพงศาวดารที่ชำระแต่งเติม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ไม่ปรากฏหลักฐานรวมทั้งจดหมายเหตุของชาวต่างชาติ สมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับใด เอ่ยถึงพระนาม พระสุริโยทัย
สถานการณ์ทางการเมือง ก่อนที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเฑียรราชา) จะขึ้นครองราชย์เป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียด ยากแก่การเคลื่อนไหวทางการเมืองการทหาร เรื่องเตรียมการรบ หรือฝึกอาวุธทุกประเภท โดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายสตรี หลังจากนั้นอีกเพียง ๗ เดือนพม่ายกทัพมาประชิดพระนคร (เทพมนตรี : ๑๒๗)
คำให้การชาวกรุงเก่า, พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ วันวลิต ข้อความตรงกันในประเด็นว่า พระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่จนถึงคราวเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๑๑๒ หรือ ๒๑ ปี หลังเหตุการณ์ (พิเศษ : ๑๐๒) หลักฐานที่กล่าวถึง กรณีพระสุริโยทัยแต่งองค์เป็นชาย (มหาอุปราช) ออกรบ มีอายุไม่ถึงสมัยอยุธยา หากเป็นพระราชพงศาวดารที่ชำระ แต่งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งชุด เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน เป็นอาทิ
ฉากการทำยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับพระเจ้าแปร จากพระราชพงศาวดาร ขาดความสมจริง ด้วยประการทั้งปวง อาทิ การสู้รบคราวนั้น เป็นการต่อสู้อย่างประจันบาน ดังที่พงศาวดารให้ภาพพระมหินทราธิราช และพระราเมศวรกำลังสู้รบข้าศึกอยู่ แล้วเหตุใดพระสุริโยทัย จึงยืนช้างสังเกตการณ์อยู่ได้ตลอดเวลา จนถึงจังหวะที่พระคชาธารสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ "เสียทีให้หลังข้าศึก" จนพระสุริโยทัยต้องทรง "ขับพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับ" (เทพยนตรี : ๑๔๒) ข้อเท็จจริงของ "พระสุริโยทัย" ในนามพระสุวัฒน์ (ในพงสาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต) มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ...พระสุวัฒน์เป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ในราชสำนักอยุธยา ดำเนินกุศลโลบายทางการเมืองอย่างแยบยล ช่วยเหลือลูกเขย คือสมเด็จพระมหาธรรมราชา จนประสบผลสำเร็จในการขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์ของอยุธยา หลักฐานระบุว่าพระสุวัฒน์ ยังคงมีพระชนม์ชีพจนถึงการเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๑ ไม่ได้ออกรบจนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๐๙๑ แต่อย่างใด บันทึกนี้เขียนขึ้นในปีพ.ศ. ๒๑๘๒ ภายหลังการเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๑ ประมาณ ๙๐ ปี จึงน่าเชื่อว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องยังคงมีชีวิตอยู่ จนนายเยเรเมียส ฟาน ฟลีต สามารถบันทึกเรื่องนี้ได้
(เทพมนตรี : ๑๖๖)
อย่างไรก็ดี "พระอัครมเหสี" องค์นี้แม้จะไม่มีที่มา หากพระองค์มีที่ไป กล่าวคือทรงมีโอรส ธิดา และนัดดาหลายพระองค์ ที่สำคัญคือ สมเด็จพระมหินทราธิราช ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา พระวิสุทธิกษัตรี ซึ่งเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ (พิเศษ : ๑๐๙)
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ช่องว่างทางประวัติศาสตร์ 

๑. "พระสุริโยทัย" ไม่มีหลักฐานที่มาทางประวัติศาสตร์แม้แต่น้อย
๒. บุคคลที่เสียชีวิตในการศึกครั้งนี้นอกจากพระอัครมเหสี คือ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี" ถูกกล่าวถึงในหลักฐานเพียแห่งเดียว (ฉบับหลวงประเสริฐฯ) และก็มิได้ปรากฎพระนาม
๓. คำให้การชาวกรุงเก่า, พงศาวดารฉบับวันวลิต บอกตรงกันว่า ผลสุดท้ายแห่งสงครามกับพม่าในครั้งนั้น กษัตริย์พม่าสังหารเจ้านายไทย หรือทำให้เจ้านายไทยสิ้นพระชนม์ เป็นเหตุให้กษัตริย์พม่าเสียพระทัยยกทัพกลับไป ใครคือเจ้านายที่สิ้นพระชนม์/และกี่พระองค์
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ศิลปะการสร้างภาพยนตร์ (บทสนทนาระหว่างปัจจุบันกับอดีต)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ สมมุติให้พระองค์ถือกำเนิดในราชวงศ์พระร่วง (สุโขทัย) เมืองพิษณุโลก พิจารณาจากพระนามสุริโยทัย ซึ่งมาจากคำว่า สุริยะกับอโนทัย แปลว่า พระอาทิตย์ขึ้น เช่นเดียวกับคำว่า สุโขทัย เคยมีใจประดิพัทธ์กับชุนพิเรนทรเทพ แต่งงานกับพระเฑียรราชาแต่อายุยังน้อยที่เมืองพิษณุโลก สังเกตได้จากคราวทำยุทธหัตถี พระราชโอรส พระราชธิดาโตแล้ว (พิเศษ : ๑๑๐)  "พระสุริโยไท" มีบุคลิกภาพของนักสู้ จิตใจห้าวหาญ ข้อเด่นนี้สืบทอดกันมาตามสายตระกูลฝ่ายหญิง ดังกรณีวีรกรรมของพระบรมดิลก ดังนั้นคราวที่พระไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง ทูลขอพระราชธิดา คือพระเทพกษัตรี จากพระมหาจักรพรรดิ์ ไปเป็นมเหสี ทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ส่งพระแก้วฟ้าไปแทน พระเจ้ากรุงล้านช้างก็ให้ส่งวพระแก้วฟ้ากลับคืน
พระสุริโยไทมิได้เจตนาปลอมพระองค์เป็นชายออกศึก ทว่าแต่งเป็นพระมหาอุปราช โดยทรงมีพระบรมดิลกพระราชบุตรีเป็นกลางช้าง คอยส่งศัตราวุธให้ในขณะต่อสู้ข้าศึกแทนที่จะเป็นทหารคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่กล่าวว่า ศึกครั้งนั้นเสียพระมเหสีกับพระราชธิดา และเพื่อให้เหมาะสมเมื่อพิจารณาว่า ในการทำยุทธหัตถี พระมหากษัตริย์ประทับบนคอช้าง ผู้ที่จะขึ้นเป็นกลางช้าง จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการไว้วางใจอย่างมาก พอพระสุริโยไทต้องพระแสงของ้าวของพระเจ้าแปร พระบรมดิลกซึ่งอยู่กลางช้างจึงเลื่อนลงมาสู้ต่อตรงคอช้างจนสิ้นพระชนม์ไปด้วย
ปานกลาง 
พระสุริโยไทกับเกยูรและพุดกรอง

   พระสุริโยไท 
...แต่หากเกิดพิบัติภัยกับพ่ออยู่หัวแล้วไซร้ คิดฤาว่าเราจะมิพลอยพินาศย่อยยับไปด้วย พม่ารามัญคงมิปล่อยเราไว้เป็นเสี้ยนแผ่นดิน แต่การนี้หาสำคัญไม่ เราแลพระสวามีมิเคยอาลัยแก่ชีวิต ห่วงก็แต่อาณาประชาราษฎร์แลผืนปฐพีอโยธยา หากพ่ออยู่หัวมามีอันเป็น--- ไพร่ฟ้าสมณชีพราหมณ์ศรีรามเทพนคร ก็จะพลอยย่อยยับไปด้วย เราโดยเสด็จครานี้ก็ด้วยหมายถวายอารักขาเจ้าชีวิต ผู้เป็นเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของแผ่นดิน ความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ หากพ่ออยู่หัวทรงเสด็จสวรรคต ชาวเราก็ต้องตาย ด้วยน้ำมือพม่ารามัญอยู่ดีนั่นแหละ, พุดกรอง
ปานกลาง 
พระเฑียรราชา : ยิ้มให้พระสุริโยไท

   พระเฑียรราชา
ข้าขอบใจเจ้านัก--- หากแต่การศึกรักษาพระนครนั้น เป็นภาระเหล่าบุรุษ--- เจ้าละไว้ให้เป็นภาระข้า กับเหล่าขุนศึกทหารหาญเถิด

ใกล้
พระสุริโยไท : ส่ายพระพักตร์...
(บทภาพยนตร์ "พระสุริโยไท" โดย มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล)
 

หมายเหตุ

   -ผู้เขียนใช้คำว่า "สุริโยไท" ในส่วนของภาพยนตร์ และ "สุริโยทัย" ในความหมายของบุคคลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์
   -เครื่องหมาย (?) ท้ายปีพุทธศักราช คือปีของต้นฉบับที่อาจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับในเอกสารหลักส่วนใหญ่


 (คลิกดูภาพใหญ่)

ขอขอบคุณ

   ผู้ให้คำแนะนำ ช่วยค้นคว้าเอกสารประกอบการทำสารคดีเรื่องนี้---
   ศิริรักษ์ รังสิกลัส, 
   คุณากร เศรษฐี, 
   ศรัณย์ ทองปาน, 
   กฤช เหลือลมัย, 
   จิรวรรณ ตั้งจิตเมธี, 
   อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม, 
   จันทกานต์ กนกศรีขริน, 
   ภารดี ภูปรัสนนทน์, 
   มนูญ นาคเกิด, 
   พัชรา ศรีทอง, 
   บริษัทพร้อมมิตรโปรดักชั่น จำกัด 
   และศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ


 (คลิกดูภาพใหญ่)

เอกสารอ้างอิง

   เทพมนตรี ลิมปพยอม. การเมืองเรื่องพระสุริโยทัย ประวัติศาสตร์, ๒๕๔๔
   พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. สุริโยไท ประวัติศาสตร์จากภาพยนตร์ รีดเดอร์ พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๓
   สุจิตต์ วงษ์เทศ. ท้าวศรีสุดาจันทร์ "แม่หยัวเมือง" ใครว่าหล่อนชั่ว? สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๐
   สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย มติชน, ๒๕๓๗