สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔ "เหรียญสองด้านของจีเอ็มโอ"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

คอเบียร์ฟังทางนี้

คอเบียร์ฟังทางนี้
       ในโลกใบเล็กนี้ เครื่องดื่มเก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันมีเพียงสองชนิด ซึ่งต่างก็มีคุณสมบัติเหมือนกัน
     คือดื่มมาก ๆ แล้วเมา
     เครื่องดื่มที่ว่านี้คือไวน์และเบียร์ มีอายุเก่าแก่ร่วม ๕,๐๐๐ ปี สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งฟาโรห์สร้างพีระมิดโน่น แสดงให้เห็นว่า น้ำเมาอยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน
     คนอียิปต์โบราณเชื่อว่า พระเจ้าประทานเบียร์มาให้มนุษย์ดื่มกิน เพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง ในยุคนั้นฟาโรห์--กษัตริย์ของอียิปต์ จึงแจกเบียร์ให้แก่ทาสคนละสองเหยือกต่อวัน เอาไว้ซดระหว่างทำงาน จะได้มีแรงสร้างพีระมิด
     มิหนำซ้ำพ่อแม่ยังบังคับให้ลูก ๆ นำเบียร์ไปกินเป็นอาหารกลางวันอีกต่างหาก เพราะช่วยทำให้กระปรี้กระเปร่าเวลาเรียนหนังสือ
     จะว่าไปแล้ว เบียร์สมัยนั้นก็เหมือนกับกระทิงแดงสมัยนี้
     ศัลยแพทย์ยุคกลางชื่อ พาราเซลซุส กล่าวว่า "เบียร์เป็นโอสถขนานวิเศษชนิดหนึ่ง"
     ต่อมาในยุโรปมีการปรับปรุงรสชาติเบียร์ให้เข้มข้น และมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงขึ้น คนสมัยนั้นจึงกินเบียร์แทนอาหารและน้ำ เนื่องด้วยน้ำประปาสมัยนั้นไม่ค่อยสะอาด โบสถ์แต่ละแห่งในหมู่บ้าน จึงมีโรงต้มเบียร์เป็นของตัวเอง เพื่อความสะดวกในการดื่มกิน
     เข้ากับคำขวัญย้อนยุคของสมัยนี้ที่ว่า "save water drink beer"
     แต่ทุกวันนี้ถึงไม่ต้องประหยัดน้ำ คนรุ่นนี้ก็กินเบียร์กันพุงกางมากขึ้น แม้ว่าคุณหมอจะออกมาเตือนบ่อย ๆ ว่า ดื่มมาก ๆ นอกจากจะทำให้อ้วนเอา ๆ แล้ว ตับจะถูกทำลายลงเรื่อย ๆ
     ฝ่ายผู้ผลิตเบียร์ก็พยายามหาข้อมูลมาโต้ว่า เบียร์ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน มิฉะนั้นคงไม่อยู่ยงคงกระพันมาหลายพันปีหรอก
     อีริช ดีเดอริชส์ โฆษกประจำสมาคมผู้กลั่นเบียร์แห่งเยอรมนี กล่าวว่า เบียร์ทำให้อ้วนน้อยกว่าเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ไวน์หนึ่งแก้วขนาด ๒๑๐ มิลลิลิตร ให้พลังงาน ๑๕๕ กิโลแคลอรี ส่วนเบียร์ให้พลังงานเพียง ๙๐ กิโลแคลอรีเท่านั้น ดังนั้นดื่มเบียร์จึงน่าจะลงพุงน้อยกว่าดื่มไวน์
     รายงานข่าวไม่ได้ระบุว่า ทางสมาคมผู้ผลิตไวน์ออกมาแก้ตัวอย่างไร 
     ส่วนปัญหาด้านสุขภาพจากการดื่มเบียร์นั้น ปรากฏว่าศูนย์สุขภาพ และสังคมระหว่างประเทศแห่ง University College London ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัย ซึ่งทำการทดสอบชายอายุระหว่าง ๒๕ - ๖๔ ปี และแสดงผลที่ทำให้มั่นใจได้ว่า ผู้ที่ดื่มเบียร์ในปริมาณพอเหมาะ จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจน้อยที่สุด 
     กล่าวคือ ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวน้อยที่สุด จะอยู่ในกลุ่มผู้ที่ดื่มเบียร์ในปริมาณ ๔ - ๙ ลิตรต่อสัปดาห์ แต่หากดื่มมากเกินไป ก็อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ จากการที่หัวใจต้องสูบฉีดโลหิตมากขึ้น
     ผลการวิจัยดังกล่าวสัมพันธ์กับการค้นพบของศาสตราจารย์แอนทอนแห่ง Technical University of Munich's Weihenstephan Scientific Centre ที่แสดงให้เห็นว่า สารโพลีฟีนอลในเบียร์ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่พบในไวน์แดง และเป็นสารที่กล่าวกันว่า สามารถป้องกันอาการหัวใจวาย จะก่อให้เกิดผลในทางบวก
     กล่าวโดยสรุป เบียร์ช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนโลหิต และระบบการย่อยอาหาร ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม ช่วยลดระดับโคเลสเทอรอล มีผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด
     นอกจากนี้ จากการที่เบียร์มีแร่ธาตุสำคัญอย่างแมกนีเซียม โพแทสเซียม รวมทั้งสังกะสีและเซเลเนียม จึงมีผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายมนุษย์อีกด้วย
     อย่างไรก็ตาม สมาคมโภชนาการแห่งเยอรมนีฝากมาเตือนว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก ๆ เป็นประจำทุกวัน จะให้โทษมากกว่าให้คุณ 
     บรรดาคอเบียร์ทั้งหลายอ่านแล้วก็กระดกแก้วเบียร์กันต่อไป