สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔ "เหรียญสองด้านของจีเอ็มโอ"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ตามหาพืชจีเอ็มโอแบบไทย ๆ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
 
       "เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ทำให้สังคมเราเผชิญปัญหาต่าง ๆ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ และในประวัติศาสตร์โลก เทคโนโลยีนี้ทำให้มนุษย์สามารถออกแบบสิ่งมีชีวิต ที่มีวิวัฒนาการ ๓,๐๐๐ ล้านปี ให้มีรูปแบบใหม่ได้ 
     "หัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็คือ การย้ายยีนไปมา ผลจากการย้ายยีนระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิด ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ซึ่งสามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้เรื่อย ๆ อย่างถาวร และเมื่อมีการสร้างสิ่งนี้ขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารถเรียกกลับคืนดังเดิมได้
     "จนถึงปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการมาอย่างเชื่องช้ามาก และกว่าที่สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ จะตั้งมั่นอยู่ได้ก็ต้องใช้เวลายาวนานมาก แต่ปัจจุบัน โปรตีนทั้งกลุ่ม จะถูกสลับที่กันได้ภายในเวลาเพียงชั่วคืน โดยมีการต่อตัวกันในรูปแบบใหม่ทั้งหมด ทำให้เกิดผลต่อเนื่อง ซึ่งไม่มีใครสามารถทำนายได้"

ดร. จอร์จ วอล์ด ศาสตราจารย์วิชาชีววิทยา 
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์


คลิกดูภาพใหญ่      ในกระแสโลกทุกวันนี้ที่ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกันอย่างรวดเร็ว เรื่องราวว่าด้วยเทคโนโลยีใหม่ของมนุษย์ ที่เรารู้จักกันในชื่อ จีเอ็มโอ (GMOs) เริ่มทยอยเข้าสู่การรับรู้ของคนไทยเป็นระยะ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ -- พืชผักจีเอ็มโอที่ต้านทานต่อแมลงศัตรูพืช อาจเป็นพระเอกที่ช่วยกู้สถานการณ์ การขาดแคลนอาหารของโลก ทว่าในทางกลับกัน ก็อาจเป็นตัวการก่อหายนะให้แก่สิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ยาจากการตัดต่อพันธุกรรม อาจช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากให้พ้นจากโรคร้าย แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ยาเหล่านี้จะไม่ส่งผลข้างเคียงอื่นใดในอนาคต เชื้อแบคทีเรียชนิดใหม่ ๆ จากการตัดต่อยีนที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน จะกลายเป็นเชื้อที่แข็งแกร่ง และเข้ารุกรานทำลายสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ รวมทั้งมนุษย์ในวันใดวันหนึ่งหรือไม่ ฯลฯ 
     อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่รู้ ความไม่แน่ใจในเทคโนโลยีใหม่ที่ว่านี้ เรากลับปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลผลิตจากการตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอได้แพร่กระจายไปแล้ว ในแทบทุกหย่อมย่านของโลก รวมทั้งในประเทศไทย บนชั้นวางสินค้า และอาหารในซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งมีทั้งเต้าหู้ น้ำมันถั่วเหลือง ปลาทูน่ากระป๋อง ซอสมะเขือเทศ ฯลฯ ให้ผู้คนเลือกซื้อไปบริโภค ยาหลายชนิดที่ผู้ป่วยบางรายใช้เป็นประจำ อย่างยารักษาโรคเบาหวาน เรื่อยไปถึงเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรใช้หว่านเพาะในไร่นา ...นานาผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมา มีไม่น้อยเลย ที่เป็นผลผลิตจากการตัดต่อพันธุกรรม
     ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ภายในสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา การทดลองเพื่อผลิตมะละกอสายพันธุ์จีเอ็มโอ ครั้งแรกในประเทศไทย ที่ใช้เวลาทดลองมาร่วม ๕ ปีแล้ว ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป
     แม้ทุกวันนี้สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศมุสลิม และอีกหลายประเทศ จะบังคับให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากจีเอ็มโอ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค และในประเทศไทยเอง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็กำลังดำเนินการประกาศแนวทางการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ ภายในปลายปีนี้ แต่เราคงต้องยอมรับว่า "จีเอ็มโอ" ได้เดินทางเข้ามาถึงตัวเราแล้วก่อนหน้านี้ และกำลังกระจายตัวรายรอบเรามากขึ้นทุกขณะ... 
     คงไม่สายเกินไปที่เราจะติดตามดูพัฒนาการ และความเป็นไปของ "จีเอ็มโอ" -- ประดิษฐกรรมสำคัญ อีกชิ้นหนึ่งของมนุษย์
คลิกดูภาพใหญ่

จีเอ็มโอแบบชาวบ้าน

     "เทคโนโลยีใด ๆ ก็ตามที่ยิ่งเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่เกษตรกร หรือสามารถลดการใช้แรงงานลงได้ จะยิ่งทำให้เกษตรกรบุกรุกถางป่า เพื่อให้ได้ผืนดินเพื่อการเพาะปลูกมากขึ้น"
     สตีฟ วอสติ สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 
     ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความยากจนของเกษตรกร กับการบุกรุกทำลายป่าแอมะซอน 
     จากตัวอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เรามุ่งหน้าเดินทางไปตามเส้นทางสู่อุทยานแห่งชาติพุเตย ในอดีตบริเวณพื้นที่รอบอุทยานแห่งนี้ เคยมีข่าวชาวบ้านบุกรุกป่า เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูก และไม่นานมานี้ก็เริ่มมีข่าวว่า ชาวบ้านหลายรายกำลังปลูกฝ้ายตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งทางการยังไม่อนุญาตให้ทำการเพาะปลูกได้
     ราว ๒๐ กว่าปีก่อน จังหวัดสุพรรณบุรี เคยเป็นแหล่งปลูกฝ้ายที่สำคัญของประเทศ ในเวลานั้นประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกฝ้ายประมาณ ๑ ล้านไร่ แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง ๒-๓ แสนไร่ จากปัญหาโรคหนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องพ่นยากำจัดศัตรูฝ้าย ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ครั้งต่อหนึ่งรอบการปลูก เมื่อต้นทุนในการปลูกฝ้ายสูงขึ้น ชาวบ้านจึงเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น ที่ได้กำไรมากกว่า อาทิ ข้าวโพด 
     จนกระทั่งสองสามปีที่ผ่านมา ฝ้ายเริ่มกลับมาได้รับความนิยมจากบรรดาชาวไร่อีกครั้ง สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ข้าวโพด และพืชพันธุ์อื่น ๆ ที่ชาวไร่ปลูกกันอยู่ก่อนหน้านั้น ราคาตกต่ำลง แต่สาเหตุหลัก ๆ นั้นเชื่อว่ามาจาก "ฝ้ายเทวดา" ที่เล่าลือกันว่า "หนอนไม่กิน" ชาวบ้านไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ฝ้ายที่ว่านี้มีชื่อพันธุ์ว่าอะไร ใครผลิต มีเพียงคำอวดสรรพคุณของพ่อค้าที่ว่า หากปลูกฝ้ายพันธุ์นี้แล้ว จะไม่มีหนอนมาเจาะสมอฝ้ายอีก ถุงที่ใส่เมล็ดฝ้ายก็เป็นถุงเปล่าไม่มีชื่อยี่ห้อใด ๆ ชาวบ้านจึงเรียกกันง่าย ๆ ว่า ฝ้ายพันธุ์หนอนไม่กิน
     ฝ้ายพันธุ์หนอนไม่กินคือฝ้ายบีที ซึ่งเป็นฝ้ายตัดต่อพันธุกรรม บริษัทผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์คือบริษัทมอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่อนุญาต ให้ทางบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ฝ้ายชนิดนี้ได้ เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่อนุญาตให้ทดลองปลูกในแปลงทดสอบ ตามสถานีทดลองพืชไร่ได้ 
     มอนซานโต้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา จัดเป็นบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก แต่เป็นบริษัทผลิตยากำจัดวัชพืชอันดับ ๑ ของโลก โดยมียากำจัดวัชพืชยี่ห้อ "ราวด์อัพ" เป็นสินค้าขายดีที่สุด เมื่อปีที่ผ่านมา ราวด์อัพมียอดขายสูงถึง ๒.๖ พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ ๑๑๗,๐๐๐ ล้านบาท เกือบจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมดของมอนซานโต้ และในปัจจุบันมอนซานโต้ กำลังส่งเสริมให้ผู้คนทั่วโลก หันมาสนใจเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอ 

คลิกดูภาพใหญ่      ไม่นานนักเราก็มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่อยู่ติดอุทยานแห่งชาติพุเตย หลังจากถามหาชาวไร่ชื่อ สังวาลย์ อู๋หนู ซึ่งเราได้ข่าวมาว่าเป็นเกษตรกรรายหนึ่งที่ใช้ฝ้ายบีที ก็ได้คำตอบว่า
     "เขาไปทำงานที่ไร่ คุณเดินข้ามเขาลูกนั้นไปสิ" ลูกบ้านคนหนึ่งชี้ไปทางเนินเขาที่อยู่ข้างหน้า
     เราเดินขึ้นไปบนเนินเขาตามคำบอก ดูจากสภาพแล้วบริเวณนี้ น่าจะเป็นพื้นที่ป่ามาก่อน ที่จะถูกหักร้างถางพงให้เป็นที่ปลูกพืชไร่ พอพ้นเขาลูกนั้น เราก็ได้ยินเสียงรถแทร็กเตอร์ดังมาแต่ไกล ขณะที่ฝนหน้ามรสุมเริ่มโปรยลงมา 
     เราย่ำดินเปื้อนโคลนหมาด ๆ ไปหาเจ้าของแทร็กเตอร์ ซึ่งก็คือ สังวาลย์ เกษตรกรที่เราอยากพบตัว สังวาลย์ หนุ่มชาวไร่ผิวคล้ำวัย ๓๐ กว่า กำลังขับแทร็กเตอร์ไถและหว่านเมล็ดข้าวโพดแข่งกับเวลาและสายฝน ระหว่างรอให้สังวาลย์เสร็จจากงาน เราก็เดินดูอะไรไปพลาง ๆ บนพื้นดินมีเมล็ดข้าวโพดหล่นร่วงอยู่ เมื่อหยิบขึ้นมาดูใกล้ ๆ ก็เห็นว่าเมล็ดข้าวโพดมีสีม่วงของยาฆ่าแมลงเคลือบฉาบไว้
     "นั่นไม่ใช่ข้าวโพดจีเอ็มโอหรอกครับ เป็นข้าวโพดพันธุ์ธรรมดา" สังวาลย์ตะโกนบอกเราแข่งกับเสียงแทร็กเตอร์ "เดี๋ยวผมจะพาไปดูไร่ฝ้ายหนอนไม่กิน พวกคุณขึ้นมาบนรถก่อนเถอะ"
     เมล็ดพันธุ์ฝ้ายหนอนไม่กิน หรือฝ้ายจีเอ็มโอ ที่มีผู้ลักลอบนำออกมาจำหน่ายนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีที่มาจากสถานีวิจัยพืชไร่หลายแห่ง ที่มีการทดลองปลูกฝ้ายจีเอ็มโอ กล่าวคือเมื่อฝ้ายเหล่านี้โตขึ้น มีการเก็บสมอฝ้าย หรือผลฝ้ายมาเข้าโรงหีบฝ้าย เพื่อหีบเอาปุยฝ้ายออกจนเหลือแต่เมล็ด ก็จะมีผู้ลักลอบนำเมล็ดฝ้ายเหล่านี้ ออกมาจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ในประเทศไทยมีการลักลอบนำเมล็ดฝ้ายจีเอ็มโอ ที่ปลูกในสถานีทดลองพืชไร่ ออกมาขายให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะในแถบจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี สุพรรณบุรี ขึ้นไปถึงเชียงรายและบางจังหวัดในภาคอีสาน สันนิษฐานว่า ทั่วประเทศน่าจะมีเกษตรกรลักลอบปลูกฝ้ายจีเอ็มโอ คิดเป็นพื้นที่หลายหมื่นไร่ 
     สายฝนโปรยลงมาหนักขึ้นขณะที่เราขึ้นไปยืนบนรถแทร็กเตอร์ ที่กำลังไต่ขึ้นเนินเขา อาการโยกตัวขึ้นลงตลอดเวลาของแทร็กเตอร์ ทำให้เราต้องใช้สองมือยึดตัวถังรถไว้แน่น รถแล่นไปได้สักพักหนึ่ง ไร่ฝ้ายกว้างใหญ่ก็ปรากฏตัวขึ้นบนเชิงเขาเบื้องหน้า 
     "ปีนี้ผมกะว่าจะทำไร่ฝ้ายสัก ๖๐ ไร่ ฝ้ายพันธุ์นี้มันดีตรงที่หนอนไม่เจาะสมอฝ้ายเท่านั้นแหละ พอหนอนไม่กินก็ทุ่นค่าฉีดยาไปเยอะ"
     "แล้วถ้าใช้ฝ้ายพันธุ์พื้นเมือง จะแตกต่างกันแค่ไหน" เราตั้งคำถามสำคัญ
     "พันธุ์พื้นเมืองอย่างฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ ถ้าบำรุงดี ๆ ฉีดยาถึง ๆ จะให้ผลผลิตมากกว่าฝ้ายพันธ์หนอนไม่กิน และปุยฝ้ายสวยกว่าด้วย" 
     คำตอบของสังวาลย์ดูจะสอดคล้องกับข้อมูลจากหลายแหล่งที่ว่า การใช้พืชจีเอ็มโอช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช ลงได้ เช่นในสหรัฐอเมริกา แต่ละปีจะมีการใช้ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช รวมกันแล้วประมาณ ๔๔๐ ล้านกิโลกรัม แต่เมื่อมีการนำพืชจีเอ็มโอมาใช้ ทำให้ในปี ๒๕๔๒ ปริมาณการใช้สารเคมีเหล่านี้ลดลงถึงร้อยละ ๒๑ และที่อาร์เจนตินาซึ่งมีการทดลองปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม และฝ้ายธรรมดาเปรียบเทียบกัน โดยปลูกในบริเวณเดียวกัน แยกคนละแปลง ก็พบว่าในพื้นที่ที่ปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม เกษตรกรสามารถลดการใช้ยาปราบศัตรูพืชลงได้ถึงร้อยละ ๖๔
     สังวาลย์เล่าให้ฟังต่อไปว่า มีพ่อค้าจากนครสวรรค์ ลักลอบนำเมล็ดฝ้ายมาขายที่นี่เป็นปีที่ ๓ แล้ว โดยในปีแรกขายกันกิโลกรัมละ ๔๐ บาท มาถึงปีนี้ราคาขึ้นไปที่กิโลกรัมละ ๙๐ บาท ราคาที่ว่านี้เป็นราคาเมล็ดฝ้ายบีที ที่ลักลอบจำหน่าย ในอนาคตหากมีการอนุญาตให้ขายเมล็ดพันธุ์นี้ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นักวิชาการด้านเกษตรคาดว่า ราคาเมล็ดพันธุ์ฝ้ายบีทีอาจสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ ๖๐๐ บาท ขณะที่ฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง มีราคาขายตกกิโลกรัมละ ๓๕ บาทเท่านั้น
คลิกดูภาพใหญ่      ฝ้ายที่เราเห็นอยู่ในไร่นั้น ปลูกมาได้สองสามเดือนแล้ว บางต้นกำลังออกดอกสีขาวบานสะพรั่ง บางต้นเริ่มติดสมอ ฝ้ายเป็นพืชที่ต้องการฝนมากในช่วงแรก แต่เมื่อเริ่มติดสมอแล้วไม่ต้องการฝนมาก ที่ผ่านมาแถวนี้แล้งฝนมานาน ฝนเพิ่งตกได้ไม่กี่วัน ฝ้ายจึงออกดอกช้า
     "แถวนี้เวลาที่หนอนมาเจาะสมอฝ้าย เราเรียกว่า เสือฝ้ายปล้น" สังวาลย์เอ่ยขึ้นมาลอย ๆ และอธิบายเพิ่มเมื่อเห็นเราทำหน้างง ๆ "คุณจำไม่ได้เหรอ... ก็เสือฝ้าย จอมโจรชื่อดังเมื่อหลายสิบปีก่อนไงล่ะ ที่เราเรียกว่าเสือฝ้ายปล้น ก็เพราะเวลาหนอนมันบุกมาเจาะสมอฝ้ายทีหนึ่ง พวกเราแทบล้มละลาย"
     แม้จะฟังดูราวกับว่าฝ้ายบีทีเป็นฝ้ายเทวดา ที่มาช่วยกู้สถานการณ์หนอนเจาะสมอฝ้ายของเกษตรกร แต่เมื่อเราถามถึงข้อดีข้อด้อย ของฝ้ายพันธุ์นี้เข้าจริง ๆ ก็ได้คำตอบว่า 
     "ถึงหนอนเจาะสมอฝ้ายจะไม่รบกวน แต่มันก็ป้องกันพวกเพลี้ยอ่อน กับพวกเพลี้ยจักจั่นที่กินใบไม่ได้ ผมยังต้องฉีดยาฆ่าแมลงป้องกัน โดยเฉพาะช่วงปลูกใหม่ ๆ ที่เพลี้ยจะลงกินหนัก พูดง่าย ๆ ว่าฝ้ายชนิดนี้ดีตรงที่หนอนไม่เจาะสมออย่างเดียว แต่ปัญหาแมลงอย่างอื่นก็ป้องกันไม่ได้"
     เมื่อเราถามว่ากลัวไหมว่าฝ้ายจีเอ็มโอ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อพืชหรือแมลงชนิดอื่น ๆ คำตอบที่ได้ก็คือไม่กลัว เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
     ในปี ๒๕๔๑ จากการทดลองในสถานีวิจัยของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าแมลงที่มีประโยชน์ชนิดหนึ่งคือ Green Lacewing หรือแมลงช้าง ตายลงหลังจากไปกินหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ที่กินข้าวโพดบีทีเป็นอาหาร ส่วนตัวหนอนที่กินข้าวโพดบีทีแต่รอดตายมาได้ ก็โตช้ากว่าปรกติ
     ความตระหนกตกใจได้เพิ่มมากขึ้นในปี ๒๕๔๒ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชื่อ เจ.อี. ลูซี่ แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองโดยโรยละอองเกสรของข้าวโพดบีทีลงบนใบมิลก์วีด เพื่อให้ตัวอ่อน หรือหนอนของผีเสื้อโมนาร์ชกินเป็นอาหาร  ปรากฏว่าภายในสี่วัน หนอนที่กินละอองเกสรข้าวโพดบีที ตายลงถึงร้อยละ ๔๔ 
     อย่างไรก็ตามมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนวิจารณ์การทดลองนี้ว่า เป็นการทดลองในห้องทดลอง ไม่ใช่ในธรรมชาติ และหนอนผีเสื้อตาย เพราะกินละอองเกสรจากข้าวโพดมากเกินไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง การทดลองครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สัตว์ชนิดอื่น อาจได้รับผลกระทบจากการกินพืชตัดต่อพันธุกรรม และที่สำคัญ นอกจากผีเสื้อแล้วอาจจะมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น นก แมลง และแม้แต่สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด ที่มีห่วงโซ่อาหาร และความสัมพันธ์กับผีเสื้อเหล่านี้ ได้รับผลกระทบด้วย ผลการทดลองครั้งนี้ นับเป็นการลบล้างความเชื่อที่ว่า มีเฉพาะแมลงศัตรูพืชเท่านั้น ที่ถูกทำลายจากพืชตัดต่อยีนบีที 
       ล่าสุดกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ข้อมูลใหม่จากการทดลองภาคสนามว่า โอกาสที่หนอนผีเสื้อโมนาร์ช จะได้รับอันตรายจากข้าวโพดบีที มีเพียง ๑ ใน ๑๐๐,๐๐๐ เท่านั้น ในขณะที่สำนักข่าวเอพีก็รายงานว่า บริษัทซินเจนต้าผู้ผลิตข้าวโพดบีทีพันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีระดับบีทีสูงกว่าข้าวโพดพันธุ์อื่น ได้ยุติการผลิตข้าวโพดพันธุ์นี้แล้ว เนื่องจากมีการทดลองพบว่า ข้าวโพดพันธุ์นี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
     ส่วนที่ประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรได้รายงานผลการทดลองเปรียบเทียบการต้านทานโรคและแมลง ระหว่างฝ้ายบีทีของบริษัทผู้นำเข้า กับฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ พันธุ์พื้นเมือง จากการทดลองในโรงเรือนเพาะปลูก ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ นี้ พบว่า ฝ้ายบีทีมีความต้านทานต่อการทำลายของหนอนเจาะสมอฝ้าย ดีกว่าฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ แต่ในสภาพที่มีการระบาดของหนอนน้อย ฝ้ายบีทีและฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ จะให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังพบว่าฝ้ายบีที ไม่ต้านทานโรคใบหงิก ในขณะที่ฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ มีความทนทานต่อโรคชนิดนี้ ดังนั้นแม้จะพบจำนวนหนอนในฝ้ายบีที น้อยกว่าฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ แต่ผลผลิตของฝ้ายบีที กลับต่ำกว่าฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ ผลการทดลองนี้ สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวบ้านอำเภอด่านช้างที่ว่า ฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองให้ผลผลิตดีกว่า ที่สำคัญก็คือ เมล็ดพันธุ์ฝ้ายบีทีราคาสูงกว่าเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง อย่างฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ หลายเท่าตัว
     อย่างไรก็ดี การทดสอบของกรมวิชาการเกษตรครั้งนี้ ไม่ได้รายงานถึงผลกระทบของฝ้ายบีที ที่มีต่อสภาพแวดล้อมในเมืองไทย และเมื่อเราถามความเห็นของสังวาลย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาก็ตอบตรงไปตรงมาว่า
     "ถึงตอนนั้นถ้าเกิดปัญหาก็ต้องเลิก แต่ตอนนี้ปลูกฝ้ายได้ราคาดี กำไรมากกว่าปลูกข้าวโพด ก็ต้องปลูกกันต่อไป อย่างตอนนี้ปลูกฝ้ายขายได้กิโลกรัมละ ๒๐ บาท หนึ่งไร่ปลูกฝ้ายได้ ๓๐๐ กิโลกรัม ไร่หนึ่งก็ได้เงินประมาณ ๖,๐๐๐ บาท ปลูกสัก ๒๐ ไร่ก็ได้แล้ว ๑๒๐,๐๐๐ บาท แต่ในอนาคตไม่มีอะไรแน่นอนหรอกครับ อาจจะเลิกปลูกฝ้ายก็ได้ เพราะตอนนี้ชาวบ้านแห่กันปลูกมากขึ้นเรื่อย ๆ ฝ้ายอาจจะราคาตก ก็ไปปลูกอย่างอื่นแทน ไม่ต้องรอให้เห็นว่าฝ้ายจะก่อปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม" 
คลิกดูภาพใหญ่      ที่ผ่านมาการทดลองเพื่อศึกษาผลกระทบของพืชจีเอ็มโอที่มีต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ส่วนมากจะทำในแปลงทดลองในระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่ผลกระทบในธรรมชาติจริง ๆ กว่าจะปรากฏชัดต้องใช้เวลาหลายปี 
     สิ่งที่นักนิเวศวิทยาเป็นห่วงก็คือ เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม อาจกลายเป็นต้นเหตุของมลพิษทางพันธุกรรมได้ จากการถ่ายโอนยีนแปลกปลอม ไปสู่พืชพันธุ์ในธรรมชาติ อาทิ เกสรของพืชจีเอ็มโอ ที่มีความต้านทานยาฆ่าวัชพืช และศัตรูโดยธรรมชาติ อาจจะไปผสมพันธุ์กับวัชพืชที่อยู่ใกล้เคียง และทำให้วัชพืชนั้นกลายเป็นวัชพืชพันธุ์พิเศษ (superweed) ที่อาจจะแพร่ระบาด ไปรุกรานพืชชนิดอื่นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังอาจจะเร็วกว่าวัชพืช ที่เคยก่อปัญหาอย่างผักตบชวา หรือไมยราบยักษ์ด้วยซ้ำ
     อย่างไรก็ตาม ในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมายังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่ามีวัชพืชชนิดใด ที่มีพฤติกรรมคล้ายกับ superweed มีเพียงรายงานจากประเทศแคนาดาว่า ต้นคาโนลาในไร่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นคาโนลาจีเอ็มโอ และมีคุณสมบัติต้านทานยาฆ่าหญ้า ได้แพร่กระจายจากไร่ และรุกรานเข้าไปยังนาข้าวสาลีข้างเคียง ในลักษณะคล้ายการแพร่ระบาดของวัชพืช 
     ปัญหาต่อมาคือ อาจมียีนของพืชจีเอ็มโอที่ปลูกในไร่ เล็ดลอดไปผสมพันธุ์กับพืชพันธุ์พื้นเมืองชนิดเดียวกัน ที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้พืชพันธุ์พื้นเมืองชนิดนั้นค่อย ๆ กลายพันธุ์ ยกตัวอย่างในประเทศไทย หากมีการปลูกฝ้ายบีทีได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว เกสรฝ้ายบีที อาจจะข้ามไปผสมพันธุ์กับฝ้ายศรีสำโรง ๖๐ และในอนาคต การผสมข้ามพันธุ์นี้ อาจส่งผลให้ฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ไปในที่สุด
     ในประเทศยุโรป มีการปลูกพืชสกัดน้ำมันออยล์ซีด-เรป ซึ่งผ่านการตัดต่อยีน ให้สามารถทนทานต่อยากำจัดวัชพืชได้ แต่ต่อมาก็มีการศึกษาพบว่า เกสรของออยล์ซีด-เรป ได้ปลิวไปผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมือง ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
     และในเมืองไทยเอง จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า หากมีการนำพืชจีเอ็มโอมาปลูกกันอย่างจริงจังแล้ว จะส่งผลอะไรขึ้นต่อระบบนิเวศในบ้านเรา ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากสหรัฐอเมริกา จีน และอาร์เจนตินา ที่มีการปลูกพืชจีเอ็มโออย่างแพร่หลาย 
       ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์เคยมีบทเรียนหลายอย่าง ที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และความไม่รู้นี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง หนึ่งในตัวอย่างนี้คือ ดีดีที 
     ในปี ๒๔๘๒ นายพอล มูลเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิส ได้ค้นพบสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ดีดีที สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ทุกชนิด การค้นพบครั้งนี้ ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบล
     ในเวลานั้น ดีดีทีได้รับการยกย่องว่าเป็นสารเคมีมหัศจรรย์ มีผู้นิยมใช้แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ดีดีทีเป็นอาวุธอันวิเศษของบรรดาชาวนาชาวไร่ ที่ช่วยให้พวกเขาทำสงครามชนะแมลงศัตรูพืช ได้เพียงชั่วข้ามคืน และยังสามารถใช้งานได้สารพัดประโยชน์ แม้กระทั่งเหล่าทหารสมัยนั้น ยังนิยมใช้ผงดีดีทีโรยทั่วตัว เพราะสามารถขจัดเห็บ เหา อย่างได้ผลชะงัด
     ยี่สิบกว่าปีต่อมาจึงได้ค้นพบความจริงที่ว่า ดีดีทีเป็นศัตรูตัวสำคัญที่ทำลายห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ หลังจากที่มีผู้สังเกตว่าจำนวนนกในพื้นที่การเกษตร ที่ใช้ดีดีทีลดลงอย่างรวดเร็ว และเมื่อค้นหาสาเหตุก็พบว่า เมื่อนกกินแมลงที่ตายด้วยดีดีที สารเคมีชนิดนี้จะสะสมอยู่ในตัวนก นานวันเข้าสารเคมีนี้ จะไปทำให้เปลือกไข่ของนกบางลง ไข่จึงแตกก่อนที่จะฟักเป็นตัว เป็นผลให้ประชากรนกลดลงอย่างรวดเร็ว 
     ทุกวันนี้เราได้เรียนรู้แล้วว่า ดีดีทีที่สะสมในสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์ เป็นสารพิษที่ทำลายระบบสืบพันธุ์ ทำลายระบบภูมิต้านทาน ทำลายตับ ฯลฯ แต่กว่าที่มนุษย์จะเรียนรู้ถึงข้อเท็จจริงนี้ สัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกจำนวนมากไม่ว่าผีเสื้อ ตั๊กแตน ต่างทยอยสูญหายไปจากพื้นที่การเกษตร เนื่องจากการสะสมของดีดีที สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป แม้จะได้ประกาศห้ามใช้ดีดีทีอย่างเด็ดขาด มาเป็นเวลาร่วม ๓๐ ปีแล้ว แต่ถึงปัจจุบัน ดีดีทีที่สะสมอยู่ในดิน ก็ยังไม่สูญสลายไปตามธรรมชาติ
     อย่างไรก็ตาม ดีดีทีก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ในระยะหลังได้มีการค้นพบว่า ดีดีทีสามารถนำมาใช้ในงานด้านสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี โดยนำมาใช้ในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ที่เป็นพาหะนำไข้มาลาเรีย และไข้เลือดออก อันเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนตายจำนวนมาก
     ณ วันนี้นักวิทยาศาสตร์อาจมีข้อมูลระดับหนึ่ง ซึ่งบอกว่าพืชจีเอ็มโอ มีประโยชน์ในทางการเกษตร แต่ก็ไม่มีใครที่สามารถจะรับประกันได้ว่า พืชจีเอ็มโอเหล่านี้ จะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม
คลิกดูภาพใหญ่

ยีน ดีเอ็นเอ และจีเอ็มโอ

     GMOs เป็นตัวย่อของคำว่า genetically modified organisms แปลว่า สิ่งมีชีวิตที่ได้จากการดัดแปลง หรือตกแต่งสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม โดยการเปลี่ยนรูปแบบของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในธรรมชาติ ให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่
     ก่อนจะรู้จักจีเอ็มโอ คงต้องมาทำความเข้าใจกับเรื่องราวของพันธุกรรมกันเสียก่อน พระเอกในเรื่องนี้มีอยู่สองตัวคือ ยีนและดีเอ็นเอ 
     ยีนคือคำสั่งให้สิ่งมีชีวิตมีลักษณะตามพันธุ์ของมัน หรืออาจจะเรียกว่า ยีนคือหน่วยพันธุกรรม ที่ถ่ายทอดลักษณะจากพ่อแม่สู่ลูกหลาน และอยู่ในรูปของสารเคมี ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อของ ดีเอ็นเอ ยีนจะเป็นตัวการสั่งสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดว่า จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะสร้างและผลิตอะไรออกมา สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีมวลสารดีเอ็นเอ และจำนวนยีนแตกต่างกัน เช่น แบคทีเรียมียีนประมาณ ๔,๐๐๐ ยีน แมลงหวี่ ๒ หมื่นยีน พืชชั้นสูง ๓-๕ หมื่นยีน และมนุษย์ประมาณ ๑ แสนยีน มวลสารดีเอ็นเอและจำนวนยีน จึงเป็นเอกลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละพันธุ์ 
     ความสัมพันธ์ระหว่างยีนกับดีเอ็นเอ เป็นเรื่องค่อนข้างเข้าใจยาก จึงมีการเปรียบเปรยให้ใกล้เคียงว่า หากเรากำลังฟังเพลงซิมโฟนีหมายเลข ๕ ของบีโธเฟน พึงระลึกเสมอว่า ดีเอ็นเอก็เปรียบเสมือนตัวโน้ตจำนวนมาก บนแผ่นกระดาษที่นักดนตรีใช้บรรเลง และยีนก็เปรียบเสมือนบทเพลงที่เราได้ยิน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราได้ยินเสียงเพลงหรือยีนผ่านตัวโน้ตต่าง ๆ ที่มีโครงสร้างทางดนตรีชัดเจน
     โครงสร้างของดีเอ็นเอมีลักษณะเป็นสายเกลียวคู่ คล้ายบันไดเวียนที่แต่ละขั้นเป็นตัวอักษรแต่ละตัว เมื่อยีนทำงาน กลไกของเซลล์จะอ่านรหัสในดีเอ็นเอ แล้วแปลออกมาเป็นการผลิตโปรตีนต่าง ๆ โปรตีนบางตัวเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างของสิ่งมีชีวิต บางตัวเป็นตัวทำหน้าที่ต่าง ๆ ภายในเซลล์ เช่นย่อยอาหาร สร้างส่วนประกอบอื่น ๆ ของเซลล์ ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม
     การที่ยีนแต่ละตัวมีหน้าที่เฉพาะ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตัดต่อยีนแต่ละตัวออกมาจากสิ่งมีชีวิต และนำเข้าไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีกลไกในการทำให้ยีนจากที่อื่น สามารถทำงานได้เช่นเดียวกัน วิธีการดังกล่าวนี้เรียกว่า "พันธุวิศวกรรม" อันเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีชีวภาพ

       ในปี ๒๕๑๖ ขณะที่ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ครั้งยิ่งใหญ่ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา อีกซีกโลกหนึ่ง คือในสหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ก็ได้เริ่มศึกษาพันธุวิศวกรรม โดยนำชิ้นส่วนของดีเอ็นเอจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ไปถ่ายฝากในดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาจีเอ็มโอ ซึ่งมีหลักการในการนำยีนที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์หนึ่ง ถ่ายฝากเข้าไปในอีกชนิดพันธุ์หนึ่ง ทำให้กระบวนการปรับปรุงพันธุ์ทำได้รวดเร็วขึ้น 
     "จีเอ็มโอชนิดแรกที่มนุษย์ทำออกมาแล้วไม่มีใครต่อต้านเลยคือ มะเขือเทศที่ชะลอการสุก" ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เล่าให้ฟัง
     "ในอดีตที่ผ่านมา เวลาที่เกษตรกรชาวอเมริกันผลิตมะเขือเทศ ส่งไปขายยังที่ไกล ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมะเขือเทศสุกเร็วเกินไปแล้วเน่า เสียหาย เขาก็มาคิดว่า จะทำอย่างไรไม่ให้มะเขือเทศสุกเร็วเกินไป  โดยศึกษากระบวนการสุกแดงของมะเขือเทศ ก็พบว่ามันมีเอนไซม์อยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งถ้าสามารถหยุดเอนไซม์ตัวนี้ได้ ก็สามารถชะลอการสุกแก่ของมันได้ เขาศึกษาจนพบว่ามียีนของมะเขือเทศตัวหนึ่ง เกี่ยวข้องกับการสร้างเอนไซม์ตัวนี้ เขาเลยตัดเอายีนนั้นออกมา แล้วกลับขั้วยีนเสีย ก็เหมือนเราสลับขั้วบวกลบ แล้วก็ใส่กลับคืนไป ก็สามารถชะลออัตราการสุกแก่ได้ของมะเขือเทศได้"
     การทำจีเอ็มโอครั้งแรกของโลก โดยการทำให้ผลไม้สุกงอมช้า สามารถเก็บไว้ได้นาน ประสบความสำเร็จในปี ๒๕๓๗ ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกของโลก ที่สามารถส่งพืชจีเอ็มโอ คือ มะเขือเทศ ออกขายตามท้องตลาดไปจำหน่ายยังที่ไกล ๆ ได้โดยที่ไม่เน่าเสีย ในเวลานั้นจีเอ็มโอยังไม่ได้รับการต่อต้านจากฝ่ายใด ๆ เลย ไม่ว่าในแง่ที่อาจก่อปัญหาต่อสุขภาพ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
     จากความสำเร็จในการทำจีเอ็มโอครั้งแรก การค้นคว้าพัฒนาเกี่ยวกับจีเอ็มโอ ได้ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็ประสบความสำเร็จ ในการตัดต่อยีน ที่ทำให้พืชมีความต้านทานต่อโรคและแมลง
คลิกดูภาพใหญ่

บีที และสิทธิบัตรการตัดต่อยีน

     "ความแตกต่างสำคัญระหว่างการปรับปรุงพันธุ์พืช ด้วยวิธีดั้งเดิมกับการดัดแปลงพันธุกรรมก็คือ ในการดัดแปลงพันธุกรรม มีการนำพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจากพืช สัตว์ แบคทีเรีย หรือไวรัส มาใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง กระบวนการเช่นนี้ ไม่มีวันเกิดขึ้นในธรรมชาติ การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ก่อให้เกิดคำถามทางจริยธรรม และการปฏิบัติในใจข้าพเจ้า
     "เราแทบจะไม่ทราบผลกระทบระยะยาว ของการปลูกพืชจีเอ็มโอ ที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์ หรือต่อสิ่งแวดล้อม แม้พวกเราจะได้รับการยืนยันว่า ได้มีระเบียบและขั้นตอนในการทดสอบพืชเหล่านี้อย่างเข้มงวดแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ขั้นตอนในการประเมินผลกระทบของจีเอ็มโอ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าพืชเหล่านี้ปลอดภัย เว้นแต่จะมีการแสดงให้เห็นว่า พืชชนิดนี้ไม่ปลอดภัย
     "เรามีความจำเป็นต้องใช้จีเอ็มโอหรือไม่ เทคโนโลยีได้สร้างประโยชน์มากมายให้มนุษย์ แต่มันก็มีอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องละเอียดอ่อน เช่น อาหาร สุขภาพ และอนาคตของสิ่งแวดล้อม ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราควรจะหยุดก่อน เพื่อตอบคำถาม... หลักการเหล่านี้ไม่สามารถตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และกฎระเบียบแต่เพียงอย่างเดียว ข้าพเจ้าโดยส่วนตัวไม่ต้องการที่จะกิน สิ่งที่เป็นจีเอ็มโอ และไม่อยากเสนออาหารนี้ให้ครอบครัว แต่เราไม่สามารถทำอะไรได้ในทางปฏิบัติ ถ้าปราศจากกลไกที่จะจำแนกแยกแยะ ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอด้วยฉลากที่ระบุชัดเจน ในทุกขั้นตอนของการผลิตอาหาร"
     เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักร
     เดอะอีโคโลจิสต์ ก.ย.-ต.ค. ๒๕๔๑

     ที่ผ่านมา การคัดเลือกพันธุ์พืชที่ดี ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงนั้น เกษตรกรจะใช้วิธีปรับปรุงพันธุ์ โดยการนำพันธุ์พืชที่มีความต้านทานโรคและแมลง แต่อาจจะให้ผลผลิตไม่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ขึ้นอยู่ตามป่า มาผสมกับพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง แต่อ่อนแอไม่ค่อยต้านทานโรคและแมลง การปรับปรุงพันธุ์ในลักษณะนี้ ลูกผสมที่ได้ จะมีลักษณะหลากหลาย ต้องเสียเวลาคัดเลือกพันธุ์ต่ออีกอย่างน้อย ๘-๑๐ ปี กว่าจะได้พันธุ์ต้านทาน และมีลักษณะอื่นที่ดีด้วย 

       ต่อมานักพันธุวิศวกรรม ได้ค้นพบวิธีปรับปรุงพันธุ์ โดยการตัดต่อยีนจากชนิดพันธุ์หนึ่ง ไปฝากไว้กับอีกชนิดพันธุ์หนึ่ง ที่เรียกว่า จีเอ็มโอ ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์ได้มาก 
     ดังเช่นที่นักพันธุวิศวกรรม ได้ทำการตัดยีนจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีความสามารถในการฆ่าแมลง มาใส่ไว้ในยีนของพืชชนิดหนึ่ง และทำให้พืชชนิดนั้นสามารถผลิตสารที่ฆ่าแมลงได้
     ในปี ๒๔๔๕ นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นชื่อ อิชิวาตะ ได้ค้นพบแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในดินชื่อ บาซิลลัส ทูรินจิเอ็นซิส (Bacillus thuringiensis) มีชื่อย่อว่า บีที แบคทีเรียชนิดนี้ เป็นตัวการที่ทำให้หนอนไหมเป็นโรคตาย โดยเมื่อหนอนกินบีทีเข้าไป บีทีจะปล่อยสารเดลต้าท็อกซิน ซึ่งจะไปทำลายระบบเนื้อเยื่อทางเดินอาหาร ทำให้หนอนหยุดกินอาหาร และตายภายในสองสามวัน เนื่องจากขาดอาหาร ต่อมาจึงได้มีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำแบคทีเรียชนิดนี้ มาใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช 
     พอถึงปี ๒๕๒๕ ขณะที่ประเทศไทยกำลังฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐๐ ปีกรุงเทพฯ ที่สหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จ ในการนำยีนของบีทีมาถ่ายฝากในต้นฝ้าย ทำให้ฝ้ายชนิดนั้น มีความต้านทานต่อแมลงศัตรูพืชเฉพาะชนิด โดยต้นฝ้ายจะผลิตโปรตีน ซึ่งเป็นพิษต่อหนอนเจาะสมอฝ้าย ทำให้หนอนตายลง ทั้งนี้เชื่อกันว่าโปรตีนนั้น ไม่เป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อแมลงที่เป็นประโยชน์ ฝ้ายชนิดนี้รู้จักกันในชื่อ ฝ้ายบีที
     ปี ๒๕๓๗ สหรัฐฯ เป็นประเทศแรก ที่อนุญาตให้ผลิตพืชจีเอ็มโอเป็นการค้าได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมา บริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ของโลก ผู้เป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ ก็ได้รณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชจีเอ็มโอ แทนที่พืชสายพันธุ์เดิม  โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง ในปี ๒๕๓๙ พบว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองในสหรัฐฯ ปลูกถั่วเหลืองจีเอ็มโอ และหนึ่งในสามของข้าวโพดในสหรัฐฯ ก็เป็นข้าวโพดจีเอ็มโอ 
     ทุกวันนี้ทั่วโลกมีพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็มโอ ปลูกขายเพื่อการค้าจำนวนมาก ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด มะเขือเทศ ฝ้าย ออยล์ซีด-เรป ฟักทอง แตง มันฝรั่ง ยาสูบ 
     สหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน เป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรม สู่ตลาดทั่วโลกมากที่สุด และมีการประเมินว่า ภายในปี ๒๕๔๘ มูลค่าของผลผลิตการเกษตรจากพืชจีเอ็มโอทั่วโลก จะสูงถึง ๙ แสนล้านบาท
     แต่ดูเหมือนว่าผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด จะไม่ใช่เกษตรกรแต่อย่างใด หากเป็นบรรดาบริษัทที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ ทั้งนี้เพราะเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ มีราคาสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ธรรมดาหลายเท่า และบริษัทเหล่านี้ ก็ได้ทำการจดสิทธิบัตร วิธีการตัดต่อยีนของเมล็ดพันธุ์ไว้เรียบร้อยแล้ว สิทธิบัตรคือสิทธิผูกขาดทางกฎหมาย ที่รัฐมอบให้แก่ผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมา การผูกขาดนี้ทำให้ในแต่ละปี บรรดาเกษตรกรทั่วโลก จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ และที่สำคัญ การผูกขาดดังกล่าวยังรวมไปถึง การห้ามไม่ให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ เพื่อเพาะปลูกในปีถัดไปอีกด้วย 
       เดือนมีนาคม ๒๕๔๔ ศาลในประเทศแคนาดาได้พิพากษาปรับเงินเกษตรกรชื่อ เพอร์ซี่ ชไมเซอร์ เป็นเงินประมาณ ๖๗๕,๐๐๐ บาทให้แก่บริษัทมอนซานโต้ เมื่อทางบริษัทฯ ฟ้องว่าชาวนาคนนี้ได้ขโมยเมล็ดพันธุ์คาโนลาดัดแปลงพันธุกรรม ที่ทางบริษัทจดสิทธิบัตรยีนเอาไว้มาปลูก แม้นายชไมเซอร์จะให้การว่าเมล็ดพันธุ์นี้ กระจายมาจากฟาร์มใกล้เคียง และเกิดการผสมข้ามพันธุ์ในไร่ของเขา อย่างไม่ตั้งใจก็ตาม 
     องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ เคยประเมินว่า กว่าร้อยละ ๘๐ ของเมล็ดพันธุ์ ที่ใช้ในการเพาะปลูกในประเทศกำลังพัฒนา ได้มาจากการที่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกในรุ่นถัดไป ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้ว กว่าครึ่งหนึ่งของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูก เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจากบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ 
     ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้วิตกว่า หากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ สามารถควบคุมเมล็ดพันธุ์พืชอาหารหลัก ๆ ของโลกไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี โดยการจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม ในอนาคตบริษัทเหล่านี้ อาจเข้าควบคุมกระบวนการผลิตอาหารของโลกได้ทั้งหมด โดยอ้างสิทธิ์ว่าพวกเขาคือเจ้าของยีนดัดแปลงพันธุกรรม ที่ได้จดสิทธิบัตรแล้ว และในอนาคต กระบวนการผลิตพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นอาหารของคนทั้งโลก ก็อาจมีสภาพไม่ต่างไปจากการใช้คอมพิวเตอร์ ที่ผู้ใช้ทั่วโลกจำเป็นต้องซื้อซอฟต์แวร์ของบริษัทไมโครซอฟท์ ที่ผูกขาดอยู่ในขณะนี้ 
     ต่างกันก็แต่ว่า คนทั่วโลกไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่เราทุกคนจำเป็นต้องกินอาหาร (ที่กำลังจะถูกผูกขาด) วันละ สาม มื้อไปตลอดชีวิต
คลิกดูภาพใหญ่

จีเอ็มโอเมดอินไทยแลนด์

     "คุณเห็นใบมะละกอใบนี้ไหม ใบจะด่างและหดเรียว เขาเรียกว่าโรคใบด่างจุดวงแหวน คราวนี้ลองมาสังเกตดูลูกมะละกอ จะเห็นเป็นรอยวง ๆ ด่าง ๆ ช้ำ ๆ ถ้าเป็นโรคมากมันจะกินลึกเข้าไปในเนื้อเป็นไต ๆ จนต้องปอกทิ้ง แต่คนกินไม่เป็นอันตราย มันทำลายเฉพาะพืชเท่านั้น โรคนี้ระบาดไปทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง บางแห่งปลูกไม่ได้เลย ทุกวันนี้ไม่มียากำจัด ต้องฟันต้นทิ้งอย่างเดียว"
     ดร. สุณี เกิดบัณฑิต หนึ่งในคณะผู้วิจัยแห่งสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้ดูต้นมะละกอที่เป็นโรคใบด่างจุดวงแหวน บริเวณแปลงทดลอง
     ชาวสวนมะละกอรู้จักโรคใบด่างจุดวงแหวนกันเป็นอย่างดี โรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัสใบด่างจุดวงแหวน (Papaya Ring Spot Virus) หรือเชื้อไวรัสพีอาร์เอสวี แพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ มันทำให้มะละกอแคระแกร็น ใบด่าง ผลผลิตตกต่ำ เนื้อมะละกอเป็นจุด และปัจจุบันยังไม่มีพันธุ์มะละกอธรรมชาติพันธุ์ใด ที่ต้านทานการระบาดของไวรัสชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นมะละกอพันธุ์แขกดำ หรือพันธุ์แขกนวล ซึ่งเป็นพันธุ์ยอดนิยมของชาวไร่
     "ทุกวันนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะละกอประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ กว่าไร่ มีผลผลิตรวมปีละกว่า ๓ แสนตัน และมะละกอส่วนใหญ่ ก็ถูกรบกวนจากโรคใบด่างจุดวงแหวน ต่างประเทศเขาประสบความสำเร็จ ในการนำยีนจากเปลือกไวรัส มาใช้ในการสร้างมะละกอข้ามสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคนี้ได้ เราก็คิดว่าคนไทยเองน่าจะใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม สร้างมะละกอต้านทานโรคไวรัสชนิดนี้ได้เหมือนกัน ดังนั้นโครงการวิจัยจึงได้เริ่มขึ้นจากการศึกษายีนเปลือกไวรัส ของไวรัสใบด่างจุดวงแหวน ที่พบระบาดในจังหวัดราชบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงใหม่ และชลบุรี แล้วนำยีนเปลือกไวรัสชนิดนั้น มาสร้างมะละกอข้ามสายพันธุ์ ซึ่งสามารถต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวนได้" 
     ดร. สุณีให้คำอธิบายขณะพาเราเดินเข้าไปในแปลงทดลองต้นมะละกอจีเอ็มโอ ที่มีรั้วรอบขอบชิด ต้นมะละกอในแปลงอายุได้ประมาณ ๗ เดือน และไม่พบลักษณะใบด่างเหมือนต้นมะละกอที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ
     "เราใช้เวลาทดลองสร้างพันธุ์ต้านทานโรคชนิดนี้มานาน ๗ ปี โดยการนำยีนของไวรัส ที่เป็นเชื้อใส่เข้าไปในมะละกอ จากนั้นปลูกเลี้ยงหลาย ๆ ต้น แล้วนำลูกหลานของต้นที่มีความต้านทานนั้น มาปลูกเลี้ยงต่อ ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ"

       จากแปลงทดลอง ดร. สุณีได้พาเราเข้าไปยังห้องปฏิบัติการ ภายในตึกสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุ์ศาสตร์ ให้เราดูต้นอ่อนมะละกอหลายต้น ที่ถูกเพาะขึ้นในขวดทดลอง ต้นอ่อนเหล่านี้เพาะจากเซลล์มะละกอ ที่มียีนเปลือกไวรัสของไวรัสใบด่างจุดวงแหวนผสมอยู่ โดยเมื่อต้นอ่อนเติบโตได้ระยะหนึ่ง ก็จะคัดต้นที่มีความต้านทานโรค นำไปปลูกในแปลงทดลองเพื่อศึกษาต่อไป 
     "แม้จะทำมาหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีการเผยแพร่ เพราะเราต้องทดลองศึกษาเรื่องความต้านทานโรคให้ชัดเจนขึ้น ในระดับแปลงของเกษตรกร รวมทั้งด้านความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน"
     ดร. สุณีกล่าวว่า แต่ละวันจะมีเกษตรกรจากทั่วประเทศ พากันเหมารถมาที่ศาลายา เมื่อได้ข่าวจากทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีการค้นพบมะละกอปลอดโรค ในวันที่เรามานี้ก็ยังได้เห็นบรรดาเกษตรกร จากจังหวัดปราจีณบุรี เหมารถมาถามหาเมล็ดพันธุ์ แต่ต้องผิดหวังกลับไป เพราะจะยังไม่มีการเผยแพร่ หรือแจกเมล็ดพันธุ์อย่างเด็ดขาด 
     หากไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในระยะเวลาไม่เกิน ๕ ปี ต้นมะละกอตัดต่อยีน หรือมะละกอจีเอ็มโอ ที่ต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวน และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งคน พืช และสัตว์ ผลิตโดยฝีมือนักวิจัยไทย ก็จะได้รับการเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ 
     "สหรัฐอเมริกาทำการวิจัยมะละกอต้านโรคใบด่างจุดวงแหวนนี้มาร่วมสิบปีแล้ว ผ่านทางมหาวิทยาลัยคอร์แนล โดยเก็บเอาเมล็ดพันธุ์มะละกอ และเชื้อไวรัสจากเมืองไทยไปศึกษา ถ้าหากเราไม่ทำการวิจัยเอง เชื่อแน่ว่าในอนาคต เราจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอจากเขาอย่างเดียว เพราะถ้าอเมริกาผลิตมะละกอจีเอ็มโอสำเร็จ เขาก็ต้องมาขายในประเทศเขตร้อนอยู่แล้ว เพราะที่ยุโรปไม่ปลูกมะละกอ" 
     นอกจากต้นมะละกอจีเอ็มโอแล้ว ทุกวันนี้นักวิจัยไทยกำลังทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอ ในแปลงทดลองอีกหลายชนิด เช่น พริก มะเขือเทศ ที่สามารถต้านทานโรคไวรัส ฝ้ายที่ต้านทานต่อหนอนเจาะสมอฝ้าย ข้าวที่ต้านทานโรคจู๋ ฯลฯ
คลิกดูภาพใหญ่

ความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอและการติดฉลาก

     ภายในห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ อันเป็นศูนย์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตัวอย่างพืชผล หรืออาหารแปรรูปว่ามาจากกระบวนการตัดต่อยีน โดยใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอหรือไม่ เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทางบริษัทผู้ผลิตส่งเข้ามา อย่างขะมักเขม้น
     ทุกวันนี้ทางสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ยังไม่ยอมรับอาหารจีเอ็มโอ ได้ประกาศออกมาว่า อาหารที่จะนำเข้า ต้องระบุให้ชัดเจนว่าปลอดจีเอ็มโอ มิเช่นนั้นจะไม่อนุญาตให้นำเข้าไปจำหน่าย ส่งผลให้บริษัทผู้ส่งออกอาหารในประเทศไทย ต้องมาใช้บริการของห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอแห่งนี้เพิ่มขึ้น
     ในปี ๒๕๔๒ ปลาทูน่ากระป๋องของไทย ถูกกักที่ประเทศเนเธอร์แลนด์และกรีก เนื่องจากเป็นปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งอาจเป็นจีเอ็มโอ ต่อมาบริษัทดอยคำผู้ผลิตแป้งถั่วเหลืองดอยคำ ก็ถูกประเทศเยอรมนีปฏิเสธการนำเข้า โดยกล่าวหาว่าถั่วเหลืองที่นำมาทำแป้ง เป็นพืชจีเอ็มโอ ปี ๒๕๔๓ ทางการซาอุดีอาระเบีย สั่งห้ามนำเข้าปลาทูน่ากระป๋อง และในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มโอจากทั่วโลก ที่ไม่ติดฉลากจีเอ็มโอ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในประเทศ ทั้งนี้แต่ละปี ไทยส่งอาหารไปขายยังซาอุดีอาระเบีย เป็นมูลค่ากว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท ด้วยเหตุนี้สินค้าไทยที่ผลิตเพื่อส่งออก ส่วนใหญ่จึงต้องการใบรับรองว่า สินค้าของบริษัทตนปลอดจากจีเอ็มโอ 
     "ช่วงนี้มีบริษัทส่งอาหารเข้ามาให้ตรวจเยอะมาก ตั้งแต่ไวน์ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ แป้ง เต้าหู้ กากถั่วเหลือง ข้าวโพด อาหารสัตว์ กะทิกระป๋อง ปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมันถั่วเหลือง เรียกได้ว่าตอนนี้ตรวจกันแทบทุกอย่าง เพราะผู้ซื้อจากเมืองนอก คาดว่าในกระบวนการผลิต อาจจะมีการปนเปื้อน จึงต้องมีใบรับรองว่า อาหารเหล่านี้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า ปลอดจากจีเอ็มโอ" ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการดีเอ็นเอ กล่าวกับเราภายหลังพาไปชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ในห้องแล็บ
     "ตัวอย่างที่ส่งมาถ้าเป็นวัตถุดิบก็ตรวจง่าย แต่ถ้าเป็นพวกแป้ง กากถั่วเหลืองจะตรวจยากขึ้น ยิ่งเป็นน้ำมัน อย่างปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมันถั่วเหลืองยิ่งตรวจยากใหญ่ สมัยก่อนตรวจไม่ได้ ประเทศในยุโรปก็ไม่ซื้อเลย แต่เดี๋ยวนี้เราตรวจได้แล้ว ถ้ามีใบรับรองว่าปลอดจีเอ็มโอก็ไม่มีปัญหา"
     ทุกวันนี้มีหลายประเทศ ที่ยังไม่มั่นใจว่าอาหารที่ปนเปื้อนด้วยพืชจีเอ็มโอนั้น จะเป็นอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคจริงหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของสารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้

       เดือนมีนาคม ๒๕๓๙ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสกา ในสหรัฐอเมริกา ได้แถลงผลการวิจัยว่า ถั่วเหลืองจีเอ็มโอของบริษัทไพโอเนียร์ ไฮบรีด อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เกิดจากการย้ายยีนจากถั่วบราซิลนัท มาใส่ในถั่วเหลืองเพื่อเพิ่มโปรตีนนั้น ได้ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งเกิดอาการแพ้ หลังจากที่มีการแถลงข่าวดังกล่าว บริษัทไพโอเนียร์ฯ ก็ได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการดัดแปลงพันธุกรรมถั่วเหลือง ด้วยยีนจากถั่วบราซิลนัท
     ในสหภาพยุโรปมีรายงานว่า มีผู้ป่วยแพ้อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐ ในช่วงปี ๒๕๔๑ ที่ผ่านมา คือเพิ่มจากร้อยละ ๑ ไปเป็นร้อยละ ๑.๕ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ ๑๗ ปี ที่โรคภูมิแพ้ในถั่วเหลือง ได้ไต่อันดับขึ้นมาเป็น ๑ ใน ๑๐ อันดับของโรคภูมิแพ้ในอาหาร ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยภูมิแพ้ถั่วเหลือง เกิดขึ้นหลังจากที่มีการอนุญาตให้ใช้วัตถุดิบ จากถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม มาผลิตเป็นอาหารมนุษย์
     หลายวันต่อมา เราแวะไปที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง ในจังหวัดอยุธยาซึ่งอยู่ติดแม่น้ำ เห็นคนงานกำลังลำเลียงถั่วเหลืองจำนวนหลายสิบตัน ออกจากเรือบรรทุกสินค้า มาเก็บไว้ที่โกดัง โกดังขนาดใหญ่เหล่านี้เต็มไปด้วยถั่วเหลือง วัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ กองสุมเป็นภูเขาขนาดย่อม บริเวณพื้นโกดังมีพัดลมดูดอากาศติดตั้งอยู่หลายตัว เพื่อระบายความร้อนจากถั่วเหลืองนับล้าน ๆ เม็ดเพื่อป้องกันเพลิงไหม้ ในเวลาเดียวกัน นกพิราบหลายสิบตัว ก็ถือโอกาสบินโฉบลงมากินถั่วเหลือง อาหารจีเอ็มโอที่ไม่มีใครรู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสัตว์อย่างไรในอนาคต
     เราถามเจ้าหน้าที่คนหนึ่งว่า ถั่วเหลืองเหล่านี้นำเข้าจากประเทศอะไร
     "มาจากอาร์เจนตินาครับ ผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศมีไม่เพียงพอ ปีหนึ่งเรานำเข้าถั่วเหลืองประมาณ ๑.๗ ล้านตัน ส่วนใหญ่ก็นำเข้าจากประเทศแถบอเมริกาใต้ อาหารสัตว์ที่ผลิตในประเทศเกือบทั้งหมด ก็ทำจากถั่วเหลืองเหล่านี้" 
     ปัจจุบันถั่วเหลืองและข้าวโพด เป็นพืชจีเอ็มโอสองชนิด ที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ (แต่ห้ามปลูก) เนื่องจากผลผลิตในประเทศ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยถั่วเหลืองทั้งหมดที่นำเข้ามาในประเทศนั้น  มีประมาณหนึ่งในสามที่เป็นถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ถั่วเหลืองที่นำเข้าส่วนใหญ่ มาจากสหรัฐอเมริกา และอาร์เจนตินา นำมาสกัดเป็นน้ำมันพืช ส่วนกากถั่วเหลือง ก็นำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ต่าง ๆ เช่น ไก่ กุ้ง หมู ปลา ตามกฎหมาย ถั่วเหลืองนำเข้าเหล่านี้ อนุญาตให้ใช้เฉพาะในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ แต่ก็มีพ่อค้าไทยบางราย นำถั่วเหลืองที่ว่านี้มาร่อนแยกเกรด แล้วขายเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหาร เช่น เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ซีอิ๊ว ฯลฯ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่า หากถั่วเหลืองที่นำมาใช้เป็นถั่วเหลืองจีเอ็มโอ เมื่อนำมาผลิตเป็นอาหาร จะปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่
     นอกจากปัญหาเรื่องภูมิแพ้แล้ว อาหารจีเอ็มโอยังมีข้อที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ การต้านทานสารปฏิชีวนะ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์จะใส่ยีนต่อต้านยาปฏิชีวนะ หรือ "มาร์กเกอร์ยีน" ลงในพืชจีเอ็มโอ เพื่อเข้าไปตรวจสอบว่ากระบวนการดัดแปลงพันธุกรรมประสบความสำเร็จหรือไม่ จึงมีผู้กังวลว่าเมื่อยีนตัวนี้เข้าไปในร่างกายมนุษย์ อาจทำให้คนที่กินยาปฏิชีวนะอยู่เกิดอาการดื้อยา ที่สำคัญยีนดังกล่าว สามารถถ่ายทอดไปสู่แบคทีเรียในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมาก แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ในอนาคตเราจะไม่ต้องเผชิญกับแบคทีเรียชนิดใหม่ ที่มีความทนทานต่อยาปฏิชีวนะ ต่อปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอนั้น ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 
คลิกดูภาพใหญ่      "ที่ผ่านมามีการใช้จีเอ็มโอ ในการผลิตยามานานแล้ว แต่อาหารไม่เหมือนยา เรากินยาเฉพาะเวลาป่วย แต่อาหารเรากินทุกวันตลอดชีวิต ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ความปลอดภัยในเรื่องอาหารจีเอ็มโอนั้น หลักการที่ใช้กันอยู่ และค่อนข้างเป็นที่ยอมรับทั่วไปในปัจจุบันคือ ดูว่ามันมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับอาหารต้นแบบหรือเปล่า อย่างถั่วเหลือง เราเอาพันธุ์ไหนมาตัดต่อพันธุกรรม เราก็ต้องดูว่าเมื่อได้ผลผลิตมาแล้ว องค์ประกอบต่าง ๆ เทียบเท่ากับถั่วเหลืองพันธุ์ต้นแบบ ที่เรานำมาใช้ในการตัดต่อพันธุกรรมหรือเปล่า องค์ประกอบซึ่งอาจจะเป็นทั้งสารพิษ สารอาหาร และในแง่ของโปรตีนที่เป็นยีนตัดต่อเข้าไป ก็ต้องประเมินให้ชัดเจนว่า มีผลกระทบต่อร่างกายหรือไม่ ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่า ผลผลิตที่ได้จากการตัดต่อนั้น ไม่มีอะไรแตกต่างจากพันธุ์ดั้งเดิม คือพันธุ์ที่มีในธรรมชาติ มีองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่แตกต่างไปจากของเดิมที่เราบริโภคกันอยู่ และพิสูจน์ได้ว่ายีนที่ใส่เข้าไปใหม่นั้นปลอดภัย ไม่ส่งผลต่อเซลล์ในร่างกาย ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ เราก็ค่อนข้างจะมั่นใจได้มากพอสมควรว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ"
     ทางด้านกลุ่มกรีนพีซตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เป็นแกนนำสำคัญที่ออกมาเปิดเผยว่า ทางกรีนพีซได้ทำการทดสอบตัวอย่างอาหารในซูเปอร์มาร์เกตต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ พบว่ามีอาหารดัดแปลงพันธุกรรม หรืออาหารจีเอ็มโอจำนวน ๑๐ ชนิด โดยที่ผู้บริโภคไม่ทราบ และเรียกร้องให้ทางการเริ่มกระบวนการติดฉลากอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกซื้ออาหาร
     "หลักการของกรีนพีซก็คือ ถ้ายังไม่แน่ใจ ให้ปลอดภัยไว้ก่อน คืออย่าเพิ่งใช้ รอจนกระทั่งรู้แน่นอนว่าปลอดภัยจริง ๆ ถ้าถามว่าเรามีทางเลือกหรือไม่ ก็ตอบได้ว่ามี ขณะนี้อาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก มันเกินความต้องการ ที่บางคนบอกว่า โลกกำลังจะเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาของการกระจายอาหาร ที่มีในโลกอย่างไม่ทั่วถึงมากกว่า ประเทศเราผลิตอาหารส่งออกตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เราก็ยังส่งออกอาหารได้โดยไม่ต้องใช้จีเอ็มโอเลย จึงไม่เห็นว่ามีความจำเป็นที่ประเทศไทย จะต้องใช้ในขณะนี้" ดร. จิรากรณ์ คชเสนี ผู้อำนวยการกลุ่มกรีนพีซในเมืองไทย ให้ความเห็น
     ปัจจุบันมาตรการหนึ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจก็คือ การติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การติดฉลากดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เพราะถือว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหาร แม้จะมีบางฝ่ายคัดค้านด้วยเห็นว่า เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ และต้นทุนที่เพิ่มนี้ ผู้ผลิตอาจผลักภาระมาให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังเกรงผลกระทบเชิงจิตวิทยา ที่อาจทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อสินค้าจีเอ็มโอด้วย
     ปัจจุบัน สหรัฐฯ แคนาดา ไม่บังคับการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอแต่อย่างใด โดยในสหรัฐอเมริกา ร้อยละ ๖๐ ของอาหารในซูเปอร์มาร์เกต นับตั้งแต่อาหารเช้าสำเร็จรูป เช่นธัญพืชอบกรอบประเภทต่าง ๆ ไปจนถึงเครื่องดื่ม เป็นอาหารจีเอ็มโอ ส่วนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เพิ่งออกกฎการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ เมื่อไม่นานมานี้ 
คลิกดูภาพใหญ่      ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้สรุปแนวทางการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ ซึ่งเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับของประเทศญี่ปุ่นไว้ดังนี้ 
     ๑. เป็นการติดฉลากเพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลว่า อาหารที่บริโภคเป็นอาหารประเภทใด มีการปนเปื้อนสิ่งใดบ้าง
     ๒. เริ่มติดฉลากในวัตถุดิบประเภทถั่วเหลือง และข้าวโพดก่อน
     ๓. อาหารที่มีถั่วเหลืองและข้าวโพดปนอยู่ร้อยละ ๓-๕ ขึ้นไป ต้องติดฉลาก (ประเด็นนี้ได้รับการทักท้วงจากองค์กรภาคเอกชนหลายกลุ่ม ที่ต้องการให้อาหารที่มีจีเอ็มโอปนอยู่ร้อยละ ๑ ขึ้นไปต้องติดฉลาก ตามมาตรฐานในประเทศยุโรป)
     ๔. ฉลากจะต้องระบุข้อความว่า "ผลิตโดยหรือผลิตจากถั่วเหลือง/ข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรม" โดยใส่ไว้ในตำแหน่งที่แสดงส่วนประกอบของอาหาร
     ปัจจุบันนอกจากอาหารดัดแปลงพันธุกรรมหรืออาหารจีเอ็มโอแล้ว ยังมีตัวยาอีกกว่า ๘๐ ชนิดที่เป็นจีเอ็มโอ และมีผู้ป่วยกว่า ๒๐๐ ล้านคนทั่วโลกที่ใช้ยาเหล่านี้ เช่น อินซูลินที่ใช้รักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือยาประเภทแอนติไบโอติก ทั้งยังมีผู้ป่วยอีกหลายสิบล้านคน ที่รอผลการวิจัยตัวยาชนิดใหม่ ที่มีแนวโน้มว่าจะมาจากการตัดต่อพันธุกรรมอีกกว่า ๓๕๐ ชนิด นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ ๗๕ ของเอนไซม์ที่ใช้ผลิตเนยแข็งทั่วโลก ยีสต์ที่ใช้ประโยชน์เกือบทุกชนิดในโลก หรือแม้กระทั่งเอนไซม์ที่อยู่ในผงซักฟอก ก็มาจากการตัดต่อพันธุกรรม
     และในอนาคต อาหารดัดแปลงพันธุกรรมใหม่ ๆ ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดก็คือ ข้าวผสมยีนมนุษย์ มันฝรั่งผสมยีนไก่ และปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ปลาคราฟผสมยีนมนุษย์ ฯลฯ 
     ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนคนทั่วไปตามไม่ทัน และคงยากที่เราจะมีโอกาสได้รับรู้อย่างแท้จริงว่า อาหารหรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายของเราหรือไม่ เพียงใด 
     ในอดีตมีบทเรียนบทหนึ่งที่อาจให้แง่คิดที่ดีสำหรับผู้บริโภคอย่างเรา เกี่ยวกับเรื่องของจีเอ็มโอ 
     ช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ในทวีปยุโรป มีการผลิตยาชนิดหนึ่งชื่อว่ายา Thalidomide ยาชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่หญิงที่ตั้งครรภ์ เพราะกินแล้วหายจากอาการแพ้ท้องทันที ทว่าหลังจากที่ยาชนิดนี้แพร่หลายได้ไม่นาน บรรดาสูติแพทย์ก็สังเกตได้ว่า จำนวนเด็กที่คลอดออกมาแขนขาลีบ เพิ่มสูงกว่าปรกติถึง ๔-๕ เท่า ในที่สุดจึงได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติแม่ของเด็กเหล่านี้ และพบว่าทุกรายได้กินยา Thalidomide ในช่วงที่ตั้งท้องได้ราวสองถึงสามเดือน และเมื่อนักวิทยาศาสตร์ นำตัวยาชนิดนี้ไปทดลองกับหนูที่ตั้งท้อง ก็ได้พบว่าลูกหนูที่ออกมามีอาการแขนขาลีบเช่นกัน 
     จากการศึกษาต่อมาพบว่าตัวยา Thalidomide ไปสกัดกั้นการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้แขนขาของเด็กเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ผลการพิสูจน์ครั้งนี้ ทำให้บริษัทผู้ผลิตยาดังกล่าว ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจนแทบล้มละลาย
     อย่างไรก็ดี ต่อมานักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบว่า แม้ตัวยาชนิดนี้จะมีโทษต่อผู้หญิงมีครรภ์ แต่มันก็มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาวัณโรค 
     เป็นความจริงที่ว่า ความรู้และวิทยาการใหม่ล้วนเป็นดาบสองคม หากใช้ผิดก็ได้โทษมหันต์ หากใช้ถูกก็ให้คุณอนันต์
     วันนี้เรารับรู้ถึงคุณประโยชน์ของพืชและอาหารดัดแปลงพันธุกรรม แต่ผลต่อเนื่องซึ่งจะติดตามมาอย่างแน่นอนในอนาคตข้างหน้า คงยากที่จะบอกได้ว่าเป็นอย่างไร 
 

ขอขอบคุณ

     สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
     สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
     ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) 
     กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     BOI THAI


 

ทัศนะต่อจีเอ็มโอ

คลิกดูภาพใหญ่ ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง
ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี 
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

     "มีหลายคนที่กินอาหารเจโทรศัพท์มาถามผมว่า ถ้าไม่กินถั่วเหลืองแล้วจะให้กินอะไร บางรายก็ส่งตัวอย่างอาหารมาให้ตรวจ ผมก็บอกไปว่าอย่ากังวลอะไรเลย  โดยเฉพาะถั่วเหลือง กินเข้าไปเถอะ จริง ๆ แล้วการตัดต่อยีนในถั่วเหลืองไม่ได้น่ากลัวเลย เพราะโดยปรกติในระบบการสร้างเอนไซม์ของพืช ก็มียีนชนิดนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าให้มันมีเพิ่มขึ้น เพื่อต้านทานต่อยาฆ่าหญ้า ฉะนั้นผมเลยไม่คิดว่าต้องกังวล 
     "ถามว่าอาหารจีเอ็มโอปลอดภัยหรือไม่ ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ทดลองแล้ว เรื่องความปลอดภัย เราก็บอกได้ว่า อาหารจีเอ็มโอนั้นเมื่อคนกินเข้าไปมันจะถูกย่อยสลายหมด ดีเอ็นเอเข้าไปก็ถูกย่อย พอถูกย่อยมันก็ไม่เป็นอันตรายอะไร ผมจึงมีความมั่นใจว่าอาหารจีเอ็มโอปลอดภัย ยกเว้นอาหารจีเอ็มโอที่ไม่ได้รับการรับรอง 
     "อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยที่จะให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ เพราะนั่นคือสิทธิของผู้บริโภค ในเมื่อข้อมูลต่าง ๆ มันยังคลุมเครือก็น่าจะให้ผู้บริโภคตัดสินใจ ส่วนจะติดฉลากอย่างไร ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อต้นทุน ก็เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตต้องวางแผนให้รอบคอบ
     "เรื่องที่ผมที่ไม่เห็นด้วยกับจีเอ็มโอ น่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรมากกว่า ทุกวันนี้อเมริกาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีอะไรหลายอย่าง แล้วจดสิทธิบัตรไว้หมด ตั้งแต่ขั้นแรกจนขั้นสุดท้าย ใครจะไปใช้ก็ต้องซื้อจากอเมริกา แต่สำหรับอาหารจะทำอย่างนั้นไม่ได้ อาหารไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ คุณไม่มีคอมพิวเตอร์คุณก็ไม่ตาย แต่อาหารมันไม่ใช่ เรื่องที่เกี่ยวกับอาหารไม่ควรมีการจดสิทธิบัตร เพราะมันเป็นเรื่องปัจจัยสี่ เป็นพื้นฐานที่มนุษย์จำเป็นจะต้องมี 
     "จริง ๆ แล้วผมคิดว่าบริษัทที่ผลิตสินค้าจีเอ็มโอมีมุมมองที่ผิด คือเน้นเรื่องการค้ามากไปหน่อย ถ้าเขาฉลาด ผลิตพืชจีเอ็มโอที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ อย่างเช่น ข้าวจีเอ็มโอที่มีวิตามินเอ หรือวัคซีนพืชจีเอ็มโอออกมาก่อน อาจจะไม่ถูกโจมตีมากเท่านี้" 
คลิกดูภาพใหญ่ ศ. ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้
ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้ และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ ในประเทศไทย (โครงการ BRT) 

     "เราไม่รู้ผลของการตัดต่อยีน บางทีอาจไม่มีอะไรก็ได้ แต่อย่าลืมว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากสเปิร์มกับไข่ ปฏิสนธิกัน กว่าจะพัฒนามาเป็นตัวอ่อน โตขึ้นมา กว่าจะรอดขึ้นมาเป็นสัตว์ ต้นไม้ หรือคน ต้องมีความสมดุลในตัวเอง นี่คือผลพวงจากการคัดสรรของธรรมชาติ ที่รู้ว่ายีนตัวไหนทำให้เกิดพฤติกรรมไม่ดี ก็ตัดยีนนั้นออกแล้วเอายีนอื่นใส่เข้าไปแทน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อผ่านการตัดต่อโดยธรรมชาติแล้วจะดีเสมอไป มันอาจจะดีหรือเลวกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ เพราะมันเปลี่ยนสมดุลภายในไปแล้ว จุดที่สำคัญในเรื่องของการตัดต่อยีนก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ อาจจะดีขึ้น อาจจะไม่ดี หรืออาจจะเลวไปกว่าเดิมอย่างมากก็ได้ 
     "ในแง่ของวิวัฒนาการ ตอนนี้เราอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบเท่าไหร่ แต่ในอนาคตไม่มีใครรู้ ยกตัวอย่างเชื้อเอชไอวี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเมื่อ ๕๐ ปีก่อน เชื้อไวรัสนี้ผ่านจากลิงเข้าสู่คน และเชื้อไวรัสจากคนกว่าจะแพร่ขยายไปสู่คนอื่น ๆ ที่ตรวจสอบได้ก็ประมาณทศวรรษที่ ๑๙๘๐ ดังนั้นช่วงระหว่างปี ๑๙๖๐-๑๙๗๐ อาจจะมีคนตายด้วยเชื้อนี้ แต่เราไม่รู้ว่าเป็นเอชไอวี และตั้งแต่เมื่อ ๕๐ ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เชื้อไวรัสก็วิวัฒนาการมาหลายชั่วอายุ (generation) หรือหลายรุ่นแล้ว เพราะช่วงวงชีวิตของไวรัสแต่ละรุ่น อาจใช้เวลาไม่ถึง ๑ ชั่วโมง และภายใน ๑ วัน ไวรัส ๑ ตัวอาจจะขยายพันธุ์เป็นล้านตัวได้ และในล้านตัวอาจมีตัวที่ผิดปรกติสัก ๕ ตัว ซึ่งถ้า ๕ ตัวนี้ไปติดเชื้อเข้าในเซลล์ใหม่ ภายในหนึ่งวันเซลล์ใหม่นี้ จะเกิดไวรัสใหม่ได้เป็นล้านตัว วงจรชีวิตของพวกไวรัสและแบคทีเรียมันสั้น แต่ของพวกแมลงและ พืชทั้วไปต้องใช้เวลามากกว่า โดยเฉพาะมนุษย์ต้องใช้เวลาประมาณ ๒๐ ปีสำหรับหนึ่งรุ่น เมื่อเกิดการถ่ายทอดยีนจึงยังไม่รู้ผล ฉะนั้นช่วงเวลาสำหรับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เราจึงพูดเป็นชั่วอายุหรือเป็นรุ่นเสมอ การทดลองในเรื่องนี้จึงไม่ใช่ว่าทดลองสามเดือน หกเดือน หรือหนึ่งปีแล้วจะรู้ผลได้ชัดเจนทันที
     "การทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในอเมริกา แล้วบอกว่าไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อนำมาใช้กับประเทศในเอเชียแล้ว จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้ คนก็เหมือนกัน ร่างกายของแต่ละคนตอบสนองต่อพืชจีเอ็มโอไม่เหมือนกัน ถ้าทดลองกับคนอเมริกันแล้วไม่เป็นไร แต่เมื่อนำมาใช้กับคนเอเชีย เราอาจเป็นอะไร หรือไม่เป็นอะไรก็ได้ แม้กระทั่งยาที่เราใช้ บางคนแพ้ บางคนก็ไม่แพ้ เพราะพันธุกรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าพันธุกรรมบีทีหลุดเข้าไปในจีโนของแมลง หรือเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ก็อาจจะทำให้แมลงหรือเชื้อก่อโรคเหล่านั้นดื้อยาหรือทนต่ออะไรหลายอย่างได้ โดยเฉพาะพันธุกรรมของไวรัสกับแบคทีเรีย ซึ่งสามารถจะถ่ายโอนจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ไปยังสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งได้ เช่น จากนกมาหาคน จากคนไปสู่ม้า เพราะเท่าที่มีข้อมูลอยู ่บ่งชี้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นไปได้ ยกตัวอย่างที่ฮ่องกงเมื่อสามสี่ปีที่แล้ว มีโรคระบาดที่ทำให้คนตาย คือโรคไข้หวัดนก สาเหตุมาจากไวรัสจากนก คนก็มีไวรัสไข้หวัดเหมือนกัน แต่เป็นคนละพันธุ์ แล้ววันหนึ่งเกิดการตัดต่อพันธุกรรมในธรรมชาติ พันธุกรรมของไวรัสในนก ถูกตัดต่อถ่ายโอนมาอยู่ในจีโนมของไวรัส ที่ทำให้เกิดไข้หวัดในคน เพียงแต่เราไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มารู้ก็เมื่อมันแสดงผลอย่างรุนแรงในคนแล้ว ขณะที่ไวรัสชนิดเดียวกันถ้าถ่ายโอนไปเกิดในม้า มันอาจไม่ทำให้เกิดไข้หวัดในม้าก็ได้ เช่นเดียวกับการตัดต่อพันธุกรรม โดยเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ โดยเอาเชื้อจากแบคทีเรีย (บีที) ไปใส่ในฝ้ายก็ดูเหมือนดี ต่อต้านแมลงได้ เอาพันธุกรรมเดียวกันนี้ไปใส่ในข้าวโพด ก็ดูเหมือนดี แต่อย่าลืมว่าการทดลองเท่าที่ผ่านมา เป็นเพียงการทดลองในช่วงสั้น ๆ แล้วเราเป็นผู้ประคบประหงมดูแลมันอย่างดี เราคัดเลือกมันในห้องทดลอง ซึ่งมันก็เหมือนห้องผ่าตัดที่ทุกอย่างสมบูรณ์หมด ไม่ได้ผ่านกระบวนการตามธรรมชาติ แต่ถ้ามันหลุดออกจากห้องทดลองไปในธรรมชาติ แล้วมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กว่าจะรู้ผลมันก็อาจจะสายไปแล้ว หยุดไม่ได้แล้ว บนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติ มันอาจจะมีปัญหาตามมาอีกเป็นระลอก ๆ ในทำนองเดียวกันนี้กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาบอกแล้วว่า อีกห้าปีหรือสิบปีข้างหน้า โรคฉี่หนู โรคไข้รากสาด จะระบาดรุนแรงขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลงไป นี่ก็เป็นผลจากการที่บ้านเราไม่มีระบบตรวจสอบที่ดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของเรา และไม่เคยมีใครสนใจในเรื่องสำคัญดังกล่าว 
     "สรุปว่าเรื่องอาหารจากพืชจีเอ็มโอผมไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ ผมห่วงเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศมากกว่า เพราะมันไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่มันเป็นโดมิโนกระทบสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย ผมว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวมากที่สุด มองแค่ว่าเราไม่เป็นไร อย่างอื่นเป็นยังไงก็ช่างมัน แต่ในที่สุดแล้วผลร้ายนั้นมันก็จะย้อนกลับมาที่ตัวเรา  ซึ่งถ้าถึงตอนนั้น มันก็อาจจะยากที่จะควบคุมแก้ไข" 
คลิกดูภาพใหญ่ รศ. ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

     "ที่ผ่านมามีการใช้จีเอ็มโอในการผลิตยามานานแล้ว แต่อาหารไม่เหมือนยา เรากินยาเฉพาะเวลาป่วย แต่อาหารเรากินทุกวันตลอดชีวิต ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นในเรื่องนี้ข้อดีทางโภชนาการก็มีเยอะ แต่ข้อที่ต้องระวังก็มี 
     "ถ้าหากดูจากผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอที่ทางการสหรัฐฯ อนุญาตให้วางจำหน่าย มันก็ไม่มีปัญหาอะไรต่อร่างกาย มันจะมีปัญหาก็ตรงที่มีผลิตภัณฑ์บางอย่าง ที่ไม่ผ่านการประเมินให้ใช้เป็นอาหารสำหรับคน แต่มันกลับเล็ดลอดมาปะปนอยู่ในอาหารสำหรับคน ยกตัวอย่างเช่นในอเมริกา ข้าวโพดสตาร์ลิงค์ ซึ่งประเมินผลแล้วพบว่า โปรตีนที่ใส่เข้าไปมันย่อยไม่หมด อาจตกค้างในระบบทางเดินอาหารได้ ทางการจึงไม่อนุมัติให้นำมาผลิต เป็นข้าวโพดใช้สำหรับคนกิน แต่อนุญาตให้นำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้ เพราะสัตว์มีระบบการย่อยที่แตกต่างจากคน แต่ปัญหาคือ เมื่ออนุญาตให้ผลิตเป็นอาหารสัตว์แล้ว มันควบคุมไม่ได้ มีบางส่วนถูกนำมาทำเป็นอาหารคน จนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ในอเมริกา ผลิตภัณฑ์อาหารที่บังเอิญมีข้าวโพดสตาร์ลิงค์สายพันธุ์นี้ปนอยู่ ต้องเก็บออกจากท้องตลาดหมดเลย ประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหาการประเมินความปลอดภัย แต่เป็นปัญหาเรื่องการควบคุมการนำไปใช้ ผมเข้าใจว่าตอนนี้อเมริกาคงได้บทเรียนแล้วว่า จะมาอนุมัติครึ่ง ๆ กลาง ๆ อย่างนี้ไม่ได้อีกต่อไป 
     "แม้เราจะยังไม่เคยมีหลักฐานว่า อาหารจีเอ็มโอซึ่งผ่านการประเมินตามขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว จะก่อปัญหาทางสุขภาพ ยกเว้นข้าวโพดสตาร์ลิงค์ แต่ในการอนุมัติให้วางจำหน่ายสินค้าประเภทนี้ ทางคณะกรรมการอาหารและยาซึ่งดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ อยู่ ก็ควรจะมั่นใจว่าอาหารนั้น ๆ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคจริง ๆ จึงจะอนุมัติให้วางจำหน่ายได้ ถ้าไม่มั่นใจก็ไม่ควรอนุญาตให้ขาย นอกจากนี้สิทธิในการเลือกก็เป็นของผู้บริโภค ผมจึงเห็นด้วยว่าผู้บริโภคควรรู้ว่ามันเป็นจีเอ็มโอหรือไม่ แต่ก็อาจจะเกิดปัญหาซ้อนขึ้นมาตรงที่ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งหลายฝ่ายก็เป็นห่วงว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะบริษัทคงไม่แบกรับภาระไว้ทั้งหมด และมันก็คงทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 
     "ส่วนเรื่องที่ว่ากินอาหารจีเอ็มโอแล้วทำให้เกิดอาการแพ้ ในประเทศไทยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการแพ้อาหารเท่าไหร่ แต่ในอเมริกามีกรณีอย่างนี้มาก โดยเฉพาะถั่วลิสง คนจำนวนมากกินถั่วลิสงไม่ได้ ไม่ว่าเป็นถั่วลิสงอะไรก็ตาม กินไม่ได้เลย กินแล้วแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก บางคนแพ้มากถึงตายได้ ผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ว่าจะเป็นขนม ของกินเล่น ที่บังเอิญมีถั่วลิสงปนอยู่นิดหนึ่งแล้วไม่ได้ติดฉลากว่ามี คนที่แพ้ไม่รู้ ไปกินเข้า เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง มีการฟ้องร้องกันหรือต้องเก็บออกจากท้องตลาดอยู่บ่อยมาก ฉะนั้นอะไรก็ตามที่มีข้อมูลว่าคนหรือประชากรในประเทศมีแนวโน้มการแพ้ค่อนข้างมาก ผู้ผลิตต้องบอก ไม่ว่าจะเป็นจีเอ็มโอหรือไม่ก็ตาม อย่างในอเมริกา ผลิตภัณฑ์อะไรที่มีถั่วลิสง ต้องบอกไว้ตัวโต ๆ เลย 
     "ในปัจจุบันเราไม่อนุญาตให้นำพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูกในประเทศเว้นแต่ในแปลงทดลอง เรื่องนี้ผมเห็นด้วย เพราะว่าเราจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ของเขา แต่ว่าเราอย่าหยุดวิจัยการทำจีเอ็มโอของเรา เราต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ของเราเองขึ้นมา หยุดไม่ได้ ถ้าหยุดเราก็ล้าหลังทันที"
คลิกดูภาพใหญ่ รศ. ดร. จักรกฤษณ์ ควรพจน์ 
สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

     "สิทธิบัตรคือสิทธิผูกขาดทางกฎหมายที่รัฐให้แก่ผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นถ้ามีคนตัดต่อยีนสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ขึ้น ก็สามารถที่จะไปขอรับสิทธิบัตร เมื่อได้รับสิทธิบัตร เขาก็มีสิทธิในการที่จะขายเมล็ดพันธุ์นั้น ผมคิดว่าโดยหลักการของสิทธิบัตรนั้นดี คือเป็นการส่งเสริมให้คนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้สังคมได้รับความรู้ใหม่ ๆ ทำให้เจ้าของได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม แต่ว่าในทางปฏิบัติ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการค้า คือพูดง่าย ๆ ว่ามันไม่มีมิติทางสังคม เราจะเห็นได้จากเรื่องยาสำหรับผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งอยู่ภายใต้สิทธิบัตร ผู้ที่ต้องการยาก็เข้าไม่ถึง ไปติดสิทธิบัตร แล้วยาก็ขายในราคาแพง เพราะเป็นเรื่องการค้า การค้าคือการทำกำไรสูงสุด เมื่อสิทธิบัตรทำให้คนที่ต้องการจะเข้าถึงเทคโนโลยีเข้าไม่ถึง มันก็มีผลกระทบในเชิงสังคมตามมา ยกตัวอย่างเช่นเรื่องสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ บริษัทไมโครซอฟท์ เป็นรายเดียวที่ขายวินโดว์เวอร์ชั่นต่าง ๆ ทุกคนก็ต้องซื้อของไมโครซอฟท์ ถ้าลักลอบใช้โดยผิดกฎหมายก็อาจถูกดำเนินคดีได้ มันก็ส่งผลกระทบต่อการศึกษา เช่นเดียวกัน ถ้านำเรื่องสิทธิบัตรมาใช้กับเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ ก็เท่ากับมีผู้ประกอบการอยู่รายเดียวในตลาด ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตการกินอยู่ ของคนนับล้านทั่วโลก เท่าที่ทราบ ในต่างประเทศเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ มีราคาแพงกว่าเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่ามันอันตรายยิ่งกว่าซอฟต์แวร์ หรือแม้แต่ยาเสียอีก การบังคับใช้สิทธิบัตรหรือคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แบบไม่ลืมหูลืมตา มันปิดกั้นโอกาสของคนในสังคม ที่จะได้เข้าถึงข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์
     "นอกจากนี้ระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร ของบริษัทที่เป็นเจ้าของ ซึ่งอาจกินเวลายาวนานถึง ๒๐ ปีนั้น ถือเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือเปล่า ที่สำคัญ บริษัทจำนวนมาก ที่นำเทคโนโลยีที่ค้นพบใหม่ไปจดสิทธิบัตรนั้น ก็ไม่ได้จดสิทธิบัตรจากสิ่งที่ตัวเองค้นคิดขึ้น แต่เป็นการไปซื้อเทคโนโลยี ที่องค์กรวิจัยของรัฐพัฒนาขึ้นมา คือเมื่อองค์กรเหล่านี้จดสิทธิบัตรได้ ก็ขายต่อให้บริษัทเอกชน บริษัทเหล่านั้นก็นำมาทำประโยชน์ในเชิงการค้า ซึ่งก็เท่ากับว่าสังคมต้องมาร่วมจ่ายกับเทคโนโลยีตรงนี้ แต่ผลตอบแทน กลับไปตกอยู่กับบริษัทเอกชนที่ค้ากำไร เรื่องนี้เป็นความลับดำมืดมาโดยตลอด อธิบายไม่ได้ และไม่เคยมีคำอธิบายสักที
     "โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าถ้าคนไทยสามารถผลิตสินค้า หรือผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอได้ ไม่ต้องพึ่งพาเจ้าของเทคโนโลยีต่างชาติ และสามารถเคลียร์ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ผมว่าจีเอ็มโอก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว"
คลิกดูภาพใหญ่ ดร. สุณี เกิดบัณฑิต 
สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

     "การปลูกพืชจีเอ็มโอแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน อย่าลืมว่าโลกนี้เป็นโลกใบใหญ่ สภาพแวดล้อมแต่ละแห่งไม่ได้เหมือนกัน ครั้งหนึ่งคนที่ทำวิจัยฝ้ายบีทีในอเมริกาเคยมาพูดที่มหิดล เขาก็บอกเองว่า แมลงที่ระบาดในอเมริกากับแมลงที่ระบาดในเมืองไทยไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ฝ้ายบีทีอาจจะฆ่าแมลงที่เป็นศัตรูพืชที่นั่นได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่อาจจะฆ่าแมลงในบ้านเราได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะชนิดของแมลงบางส่วนแตกต่างกัน 
     "อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการตัดต่อยีน ก็มีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะในทางการแพทย์ การใช้แบคทีเรียในการผลิตยา หรือการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ เพราะว่าหลายอย่างเราไม่สามารถใช้เทคโนโลยีอื่นได้ แต่เราก็ต้องดูด้วยว่า ในการตัดต่อนั้นเขาใช้ยีนลักษณะไหน เช่นถ้าเป็นเทอร์มิเนเตอร์ยีน หรือยีนที่บริษัทผู้ผลิตออกแบบเมล็ดพันธุ์ให้เป็นหมัน ไม่สามารถนำเมล็ดไปปลูกในรุ่นต่อไปได้ เพื่อบังคับให้เราซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทตลอด ก็ถือว่าเป็นการเห็นแก่ตัวอย่างร้ายแรง ไปปิดกั้นสิทธิของชาวบ้าน ที่จะนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกใหม่ เราก็ต้องต่อต้านเทคโนโลยีแบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ต่อต้านหมด เพราะทุกอย่างมีสองด้าน สมัยก่อนนี้เวลาทำนา เราก็กลัวว่ารถแทร็กเตอร์จะทำให้ดินแน่น ถึงปัจจุบันเราก็พบว่ามันไม่จริง ควายก็มีประโยชน์ แทร็กเตอร์ก็มีประโยชน์ คือเราต้องเรียนรู้เทคโนโลยี แล้วเลือกใช้เทคโนโลยี วิธีนี้จะทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุด แต่ถ้าเราปฏิเสธเทคโนโลยี อนาคตเราอาจจะเป็นทาสของเทคโนโลยี คือเราจะไม่รู้จักมันแต่ถูกหว่านล้อม หรือบังคับให้ใช้ เราอาจต้องซื้อเทคโนโลยีนั้นไปเรื่อย ๆ อย่างในกรณีของมะละกอ มันไม่มีพืชในธรรมชาติที่จะต้านไวรัสที่ทำลายมะละกอได้ และไวรัสชนิดนี้ก็ทำลายเศรษฐกิจของชาวไร่ชาวสวนไปมาก เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาส่งคนมาเก็บเมล็ดพันธุ์มะละกอจากเมืองไทยไปทำวิจัยมะละกอต้านไวรัส และเก็บไวรัสชนิดอื่น ๆ ของเราไปด้วย ถ้าเราไม่ทำวิจัยจีเอ็มโอ ปล่อยให้ฝรั่งทำ ในอนาคตเราอาจต้องซื้อเขาอย่างเดียว แทนที่เราจะพัฒนาเทคโนโลยี การทำมะละกอต้านไวรัสขึ้นมาให้เกษตรกรของเราปลูกเอง"
คลิกดูภาพใหญ่ คุณสัญญา ภูมิจิตร
ผู้จัดการภาคเกษตร 
บริษัทมอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด

     "ปี ๒๕๒๕ นักวิทยาศาสตร์ของมอนซานโต้ ได้ค้นพบวิธีการย้าย และตัดแต่งยีนของพืชสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จนปี ๒๕๓๘ รัฐบาลอเมริกันก็อนุญาตให้ปลูกพืชตัดแต่งยีนเป็นการค้าได้ ฉะนั้นวิวัฒนาการเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพมันมีมานานแล้ว ที่สำคัญ พืชทุกชนิดที่มอนซานโต้ผลิตออกมา ต้องผ่านกระบวนการอนุญาตจากกระทรวงเกษตร องค์การอาหารและยา และหน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นเราจึงมั่นใจว่าพืชที่ได้รับการอนุญาตให้ปลูกเป็นการค้าได้ต้องปลอดภัย ผมเชื่อว่าคนอเมริกันก็รักคนของเขา และบริษัทในอเมริกันนั้น ถ้าคุณทำอะไรพลาด ก็โดนซิวเอาง่าย ๆ 
     "ประเด็นที่ว่าเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอมักจะแพงกว่าเมล็ดพันธุ์ธรรมดานั้น ผมอยากให้คิดว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ก็คือค่าใช้จ่ายทดแทนการฉีดยาฆ่าแมลง ซึ่งเกษตรกรต้องจ่ายอยู่แต่เดิม และข้อดีคือมันไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ถ้าคุณใช้ยาฆ่าแมลง แมลงที่เป็นประโยชน์ก็ต้องถูกทำลายไปด้วย 
     "คุณรู้ไหมทำไมเกษตรกรที่ปลูกฝ้ายถึงเลิกปลูก สมัยนี้บอกว่าเลี้ยงกุ้งกินโฉนด เพราะขาดทุน สมัยก่อนเกษตรกรปลูกฝ้ายก็กินโฉนดเหมือนกัน คือพอเกษตรกรปลูกฝ้าย แล้วเอาดีดีทีไปฉีดป้องกันหนอนเจาะสมอ แต่พวกหนอนมันรู้ เลยหนีลงมาอยู่ใต้ใบฝ้าย ฉีดยังไงก็ไม่ตาย เกษตรกรปลูกฝ้ายก็ถูกหนอนเจาะสมอฝ้ายจนขาดทุน โฉนดที่มีอยู่โดนยึดหมด โดยทั่วไปชาวไร่ฝ้ายต้องฉีดยาที่ใช้สารเคมี ๑๔ ครั้งจากการปลูกฝ้าย ๘ เดือน แทบจะเดือนละ สองหน ไหนจะค่ายา ค่าแรง แต่ถ้าคุณใช้ฝ้ายบีที ฉีดยาสองสามหนตอนต้นฝ้ายเล็ก ๆ เพราะมีเพลี้ยอ่อนมากวน พอเลยจุดหนึ่งไปเพลี้ยอ่อนก็ไม่มากวน แล้วก็ไม่มีหนอนเจาะสมออีก ไม่ต้องฉีดยาแล้ว เกษตรกรที่ปลูกฝ้ายส่วนใหญ่จึงอยากได้ฝ้ายบีที เขาเรียกว่าฝ้ายเทวดา
     "ส่วนค่าสิทธิบัตรที่บวกเข้าไปในเมล็ดพันธุ์ ทำให้เมล็ดพันธุ์ราคาค่อนข้างสูงนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของเมืองไทย จริง ๆ สิทธิบัตรก็คือการผูกขาดนั่นแหละ แต่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน สำหรับฝ้ายบีทีคือ ๑๕ ปี พอครบกำหนดแล้ว มันก็เป็นของประเทศเรา ถ้าใครอยากทำก็ไปหยิบมาทำได้เลย ผมมองว่าสิทธิบัตรทำขึ้นเพียงเพื่อให้นักวิจัยมีกำลังใจที่จะทำงานวิจัย 
     "เทคโนโลยีชีวภาพนี้เป็นของใหม่ เราต้องทำให้คนไทยเข้าใจว่ามันให้อะไรเราได้บ้าง หนึ่ง เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุน ไม่ว่าเรื่องการลดการใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้มีความต้านทาน สอง ช่วยเพิ่มผลผลิต เพราะมันไม่ถูกแมลงรบกวน สาม เทคโนโลยีนี้เหมือนสปริงบอร์ด ทำให้คุณสามารถไปทำพืชชนิดอื่นได้อีกมาก เมืองไทยเป็นประเทศที่มีนักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพอยู่มาก เมื่อสี่ห้าปีก่อน แล็บของเมืองไทยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นแล็บอันดับ ๑ ของทวีปเอเชีย แต่เวลานี้เราเป็นรองแล้วครับ เป็นรองมาเลเซีย ทันทีที่มหาธีร์ออกมาประกาศว่าเขาสร้าง Silicon Valley ได้แล้ว เขาต้องทำเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ เวลานี้แล็บของเขาดีกว่าเมืองไทย มหาธีร์พูดชัดเจนว่าจะต้องพัฒนาปาล์มน้ำมันให้เป็นที่หนึ่งของโลก กำลังจะนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพไปปรับปรุงคุณภาพปาล์มน้ำมัน ปาล์มน้ำมันมีน้ำมันอยู่สองชนิด ส่วนที่ราคาแพงก็คือส่วนที่นำมาใช้กับเครื่องสำอาง ถ้าเขาสามารถเพิ่มสัดส่วนของน้ำมันที่ใช้ทำเครื่องสำอางได้ มาเลเซียรวย นั่นคือทัศนวิสัยของนายกรัฐมนตรีของเขา สิงคโปร์จับมือกับองค์การนาซาไปทดลองไบโอเทคโนโลยีบนอวกาศ เวียดนามกำลังตามมา จีนไม่ต้องห่วง ออสเตรเลียไปไกลแล้ว ฉะนั้นเมืองไทยอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบเราเป็นไบโอเทคโนโลยีหมดแล้ว สักวันหนึ่งมันจะต้องไหลเข้ามาบ้านเราเอง ถ้าเรายังปิดอยู่อย่างนี้สักวันหนึ่งพืชข้างนอกจะวิ่งเข้ามาหาเราเอง"
คลิกดูภาพใหญ่ ดร. จิรากรณ์ คชเสนี 
ผู้อำนวยการกรีนพีซตะวันออกเฉียงใต้

     "หลักการของกรีนพีซในเรื่องจีเอ็มโอก็คือ ปลอดภัยไว้ก่อน คืออย่าเพิ่งใช้ รอจนกระทั่งเรารู้แน่นอน ขณะนี้อาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกมันเกินความต้องการอยู่แล้ว ที่บางคนบอกว่าโลกกำลังจะเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารนั้น ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการกระจายอาหารในโลกนี้อย่างไม่ทั่วถึงมากกว่า ประเทศเราผลิตอาหารส่งออกมาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งปัจจุบันเราก็ยังส่งออกอาหารได้โดยไม่ต้องใช้จีเอ็มโอ ผมจึงไม่เห็นว่ามีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องใช้ในขณะนี้ 
     "เราถามว่าจีเอ็มโอมีอันตรายหรือไม่ ก็ไม่มีใครตอบได้ เราจะลองบริโภคกันไปก่อนหรือ ทั้ง ๆ ที่คิดว่ามันอาจมีอันตรายในระยะยาว มีรายงานชิ้นหนึ่ง ที่วิจารณ์งานวิจัยเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารไว้ว่า ทำแบบหละหลวมแค่ไหน คือมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง แนะนำไปทางคณะกรรมการอาหารและยาว่า การศึกษาระยะยาวอย่างน้อยที่สุด ต้องให้ได้ระยะเวลานาน ๙๐ วัน ปรากฏว่าไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่ทำได้ ๙๐ วันเลย นานที่สุดมีชิ้นเดียวคือ ๗๐ วัน นอกนั้นก็ประมาณ ๔-๕ สัปดาห์ บางครั้งก็มีการศึกษาทดลองให้หนูกินอาหารจีเอ็มโอ ๔ สัปดาห์ แล้วเปลี่ยนให้วัวกิน ๔ สัปดาห์ ซึ่งการศึกษาแบบนี้ใช้ไม่ได้ มันน่าจะต้องให้หนูกินไป ๙๐ วันแล้วเอาหนูมาวิจัยต่อ หลังจากนั้นก็หาอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์มาลองบริโภคดู แล้วคอยติดตามผลต่อไป แต่ในความเป็นจริงมันไม่มีการทำอย่างนั้น 
     "ที่เราต้องยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อนในเรื่องจีเอ็มโอ เพราะมันต่างจากสิ่งประดิษฐ์ทั่วไป ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น คือถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นเป็นวัตถุ เราก็ยังควบคุมได้ แต่นี่มันเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งแพร่ขยายพันธุ์ได้เอง ถ้าเราไม่ระมัดระวัง นำมาใช้แล้วปล่อยให้มันแพร่พันธุ์ เป็นระยะเวลานานไป ท้ายที่สุดหากเกิดอันตรายขึ้นมา มันก็อาจจะสายเกินไป เรียกกลับคืนมาไม่ได้แล้ว 
     "การตัดต่อยีนด้วยฝีมือของมนุษย์ มันเป็นการคัดเลือกเทียม (artificial selection) เราคัดจากผลประโยชน์ที่เราต้องการ ถ้ามองในแง่ศาสนาทางตะวันตก ก็คล้ายกับว่ามนุษย์ไปทำหน้าที่แทนพระเจ้า เวลาที่เราแยกยีนจากแบคทีเรีย หรือพืชชนิดอื่นใส่เข้าไปในยีนที่เราต้องการ นักวิทยาศาสตร์เองยังไม่รู้เลยว่า พอเข้าไปแล้วมันไปอยู่ตรงตามที่เราต้องการหรือไม่ คนที่เรียนพันธุศาสตร์จะรู้ว่า ถ้ากลับตำแหน่งยีน การแสดงออกของยีนมันต่างกัน ถ้าใส่ลงไปแล้วเรายังไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน แล้วเราจะไปควบคุม ให้มันแสดงออกตามลักษณะ ที่เราต้องการได้อย่างไร ในขณะนี้วิธีการที่ใช้อยู่ก็คล้ายการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) เพียงแต่มนุษย์เป็นคนเลือก ถามว่าธรรมชาติต้องการหรือไม่ ไม่รู้ แต่เราต้องการ ฉะนั้นสิ่งมีชีวิตที่เป็นจีเอ็มโอ ถ้าปล่อยสู่ธรรมชาติ มันก็เป็นไปได้ที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เรากลัวกัน ดังนั้นจุดยืนของกรีนพีซคือ หยุดการแพร่กระจายจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อม"