สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔ "เหรียญสองด้านของจีเอ็มโอ"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ฟิสิกส์ของนิวตริโน

สุทัศน์ ยกส้าน
 
       ในปี ๒๔๗๓ Wolfgang Pauli [นักฟิสิกส์ผู้พิชิตรางวัลโนเบลประจำปี ๒๔๘๘ จากการพบความสัมพันธ์ระหว่างสปิน (spin) ของอนุภาคกับสถิติ] ได้วิเคราะห์การสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีที่ให้อนุภาคอิเล็กตรอน เขาถึงกับตกตะลึงเมื่อเห็นว่าในปฏิกิริยานิวเคลียร์ดังกล่าว กฎความถาวรของพลังงานและโมเมนตัมที่ศักดิ์สิทธิ์ของฟิสิกส์ไม่เป็นจริง ทั้งนี้เพราะทั้งพลังงานและโมเมนตัม ของนิวเคลียสและอิเล็กตรอนหลังปฏิกิริยาเมื่อรวมกัน จะไม่เท่ากับพลังงานและโมเมนตัมของนิวเคลียสก่อนปฏิกิริยา ในเมื่อกฎการทรงพลังงาน และโมเมนตัมเป็นจริง และใช้ได้ในเหตุการณ์ทุกรูปแบบที่เกิดในธรรมชาติ ดังนั้น Pauli จึงจำต้องสมมุติว่า ขณะนิวเคลียสสลายตัวให้อนุภาคอิเล็กตรอน ได้มีอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากตัวหนึ่งเกิดตามออกมาด้วย ซึ่งอนุภาคนี้ไม่มีมวลและไม่มีประจุใด ๆ แต่มีโมเมนตัมและพลังงาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้พลังงานและโมเมนตัมของนิวเคลียสเดิมไม่หายไป ทำให้กฎการทรงพลังงานและโมเมนตัมยังคงเป็นสรณะได้ต่อไป Pauli เรียกอนุภาคสมมุติตัวนี้ว่า นิวตรอน (neutron) แต่เขาไม่กล้าตีพิมพ์ผลงาน เพราะเกรงจะได้รับการดูแคลนจากบรรดานักฟิสิกส์ทั่วไป ว่าเขาคิดเหลวไหล จนอีกสามปีต่อมา ชื่อนิวตรอนก็ได้ถูกนำไปเรียกอนุภาคตัวใหม่ที่ James Chadwick พบ ซึ่งอนุภาคนี้เป็นอนุภาคที่ไม่มีประจุ แต่มีมวลมากกว่าโปรตอนเล็กน้อย และในปี ๒๔๗๗ นั่นเอง Enrico Fermi ก็ได้ใช้แนวคิดของ Pauli สร้างทฤษฎีการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี ที่ให้รังสีบีตา (beta) โดย Fermi ได้เรียกอนุภาคของ Pauli ใหม่ว่า นิวตริโน (neutrino) ซึ่งแปลว่า อนุภาคขนาดจิ๋วที่ไม่มีประจุไฟฟ้าใด ๆ ทฤษฎีนี้อธิบายปรากฏการณ์กัมมันตรังสีได้ดีมาก จนทำให้ Fermi ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๒๔๙๗ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีใครเห็นอนุภาคนิวตริโนเลย แต่นักฟิสิกส์ทุกคนก็รู้ว่าอนุภาคในจินตนาการของ Pauli และ Fermi มีจริง
W. Pauli ผู้ตั้งสมมุติฐานว่ามีนิวตริโน (คลิกดูภาพใหญ่)
W. Pauli ผู้ตั้งสมมุติฐานว่า มีนิวตริโน
     การค้นหาอนุภาคนิวตริโน จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความสำคัญมากปัญหาหนึ่ง ในวงการฟิสิกส์เมื่อประมาณ ๕๐ ปีก่อนนี้ จนกระทั่งถึงปี ๒๔๙๙ Federick Reines และ Clyde Cowan ก็ได้แสดงให้โลกประจักษ์ว่าอนุภาคนิวตริโนมีจริง หลังจากที่ได้ติดตามไล่ล่ามันนาน ๒๖ ปี (Reines ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการพบนิวตริโนในปี ๒๕๓๘ ส่วน Cowan เสียชีวิตไปก่อน จึงไม่มีโอกาสได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้)
     ความยากลำบากในการเห็นนิวตริโน เกิดจากการที่อนุภาคนี้ไม่มีประจุไฟฟ้า และแทบจะไม่ทำปฏิกิริยากับสสารใด ๆ ดังนั้นมันจึงสามารถพุ่งทะลุผ่านจักรวาล ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ภูเขา ทะเล ร่างกายคน อะตอม และนิวเคลียสได้อย่างสะดวกสบาย เสมือนสรรพสิ่งทุกรูปแบบในจักรวาล ไม่สามารถขัดขวางการเดินทางของมันได้เลย นักฟิสิกส์ได้คำนวณพบว่า หากเรานำตะกั่วที่หนา ๑ ปีแสงหรือไฮโดรเจนที่หนา ๑,๐๐๐ ปีแสงมาขวางกั้น นิวตริโนก็ยังสามารถพุ่งผ่านม่านกั้นเหล่านั้นได้ เสมือนไม่มีอะไรขวางกั้นมันเลย ทั้งนี้เพราะทั้งแรงไฟฟ้า แรงโน้มถ่วงและแรงนิวเคลียร์ชนิดรุนแรงต่างก็ทำอะไรมันไม่ได้ จะมีก็แต่แรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อนเท่านั้น ที่มีอิทธิพลต่อมัน ความยากลำบากนี้ได้ทำให้ Pauli บิดาของนิวตริโนถึงกับอุทานว่า เขาไม่น่าสมมุติว่ามีอนุภาคชนิดนี้ในจักรวาลเลย เพราะนักฟิสิกส์จะไม่มีวันจับมันได้ ดังนั้นเมื่อ Reines กับ Cowan พบนิวตริโน ข่าวการพบจึงได้รับการประกาศในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ The New York Times ทันที 
E. Fermi (คลิกดูภาพใหญ่)
E. Fermi ผู้สร้างทฤษฎีกัมมันตรังสี ที่สลายตัวให้อนุภาคนิวตริโน
     การศึกษาคุณสมบัติของนิวตริโนในเวลาต่อมา ได้ทำให้เรารู้ว่า มันเป็นอนุภาคที่มีมากที่สุดในจักรวาล คือมากกว่าโปรตอน อิเล็กตรอน และแสงเสียอีก ในทุกวินาทีโลกจะถูกนิวตริโน ๑๐๒๖ ตัวทะลุผ่าน และในทุกวินาทีบนพื้นที่ ๑ ตารางเซนติเมตรของตัวเรา ก็จะมีนิวตริโน ๑๐๙๐ ตัวพุ่งชน และเมื่อมันผ่านตัวเราไปแล้ว มันก็จะพุ่งต่อไปยังขอบจักรวาลอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ นักฟิสิกส์ก็ยังพบอีกว่า ปริมาตร ๑ ลูกบาศก์เมตรของจักรวาล มีนิวตริโนประมาณ ๓x๑๐๘ ตัว (๓๐๐ ล้านตัว) ดังนั้นถ้านิวตริโนแต่ละตัวมีมวล และหากมวลรวมของมันทั้งจักรวาลมีค่ามาก แรงดึงดูดแบบโน้มถ่วงระหว่างนิวตริโน จะสามารถดึงดูดกาแล็กซีต่าง ๆ ให้ชะลอความเร็วจนไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้ แต่ถ้ามวลรวมของนิวตริโนทั้งจักรวาลมีน้อย แรงดึงดูดแบบโน้มถ่วงก็จะไม่สามารถชะลอการขยายตัวของจักรวาลได้ นั่นคือจักรวาลจะขยายตัวต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า การรู้มวลที่แท้จริงของนิวตริโนจึงเป็นปัญหาใหญ่ ที่สามารถกำหนดชีวิต หรือความตายของจักรวาลได้
     ทฤษฎี standard model ของ Steven Weinberg, Abdus Salam และ Sheldon Glashow ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๒๕๒๒ แถลงว่าสสารทุกชนิดในจักรวาลประกอบด้วยอนุภาคมูลฐาน (อนุภาคที่ไม่สามารถแบ่งแยกให้เล็กลงไปได้อีก) ๑๒ ชนิด ได้แก่ อิเล็กตรอน (electron), มิวออน (muon) และเทา (tau) (อนุภาคมิวออนและเทาเป็นญาติกับอิเล็กตรอน แต่มีมวลมากกว่า) และมีนิวตริโน ๓ ชนิด คือ นิวตริโนชนิดอิเล็กตรอน (electron neutrino) นิวตริโนชนิดมิวออน (muon neutrino) และนิวตริโนชนิดเทา (tau neutrino) ซึ่งนิวตริโนเหล่านี้มักเกิดพร้อมอิเล็กตรอน มิวออน และเทา ตามลำดับ และนอกจากอนุภาคทั้ง ๖ ชนิดนี้แล้ว ธรรมชาติก็ยังมี quark อีก ๖ ชนิด ได้แก่ ชนิด up, down, top, bottom, charm และ strange ด้วย ดังนั้นการศึกษานิวตริโนทั้ง ๓ ชนิด จากอนุภาคที่มี ๑๒ ชนิด จึงเป็นการศึกษาที่ครอบคลุม ๒๕ % ของสสารที่จักรวาลมี
F. Reines ผู้พบนิวตริโน (คลิกดูภาพใหญ่)
F. Reines ผู้พบนิวตริโน
     เงื่อนไขหนึ่งของทฤษฎี standard model ที่กำลังสร้างปัญหาคือ นิวตริโนทั้ง ๓ ชนิดไม่มีมวล ซึ่งนั่นก็หมายความว่า นิวตริโนไม่สามารถเปลี่ยนชนิดของมันได้ มันเป็นชนิดใดตั้งแต่เกิด มันก็จะเป็นนิวตริโนชนิดนั้นตลอดไปจนมันตาย เพราะถ้ามันมีมวล คุณสมบัติทางควอนตัม (quantum) จะบังคับให้มันแปลงรูปไปเป็นนิวตริโนชนิดอื่นทันที การแปลงตัวแบบกลับไปกลับมานี้ นักฟิสิกส์ชื่อ Bruno Pantocorvo ได้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า neutrino oscillation ดังนั้นถ้าเมื่อใดที่นักฟิสิกส์ตรวจวัดได้ว่า
     นิวตริโนมีมวล ทฤษฎี standard model ก็จะถูกปรับเปลี่ยน และใช้ทฤษฎี Grand Unified Theory (GUT) แทน ในทำนองเดียวกับที่ทฤษฎีของ Newton ถูกปรับเปลี่ยนเมื่ออนุภาคมีความเร็วสูงไปใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพของ Einstein แทน
     ความลึกลับของนิวตริโนได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อ Ray Davies ได้รายงานในปี ๒๕๒๑ ว่า ในการตรวจจับอนุภาคนิวตริโนจากดวงอาทิตย์ที่พุ่งสู่โลก เขาได้พบว่าตลอดระยะเวลา ๒๐ ปีที่เขาสังเกตดูนั้น ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยอนุภาคนิวตริโนออกมา น้อยกว่าที่ทฤษฎีทำนายไว้ถึง ๖๐ % ข้อมูลเช่นนี้ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางปัญญาในวงการฟิสิกส์มาก เพราะเมื่อการทดลองของ Davies ไม่มีอะไรบกพร่อง นั่นแสดงว่าทฤษฎีโครงสร้างดวงอาทิตย์ที่ทุกคนคิดว่าดีและถูกต้องนั้น ที่จริงแล้วผิด หรือไม่ก็ทฤษฎีดวงอาทิตย์สมบูรณ์ดี แต่มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับนิวตริโน ขณะที่มันเดินทางจากดวงอาทิตย์สู่โลก จนทำให้นักทดลองตรวจจับมันไม่ได้ หรือมันเปลี่ยนรูป ซึ่งนั่นก็แสดงว่า มันต้องมีมวล
(คลิกดูภาพใหญ่)
อุปกรณ์ตรวจจับนิวตริโนที่ Sudbury Neutrino Observatory ถังกลมที่เห็นบรรจุน้ำหนัก (heavy water) 

     ดังนั้นการวัดมวลของนิวตริโนจึงเป็นปัญหาวิจัยที่สำคัญยิ่ง เพราะถ้าเรารู้ว่านิวตริโนมีมวล ความรู้ดังกล่าวจะปฏิรูปฟิสิกส์ ทำนองเดียวกับที่ดาวเทียม Sputnik ได้เปิดประตูให้มนุษย์ออกสำรวจอวกาศยังไงยังงั้น ตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการทดลองมากมายที่อ้างว่า ได้ตรวจพบมวลของนิวตริโนแล้ว แต่การทดลองเหล่านั้น ก็ได้รับการพิสูจน์ว่าผิดพลาดทุกครั้งไป จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายนปีกลายนี้ เมื่อคณะนักวิจัยของญี่ปุ่น ได้ประกาศข่าวการพบอนุภาคนิวตริโนมีมวล โดยการใช้อุปกรณ์ชื่อ Super Kamiokande ราคา ๔,๗๐๐ ล้านบาท ซึ่งอยู่ที่เหมืองตะกั่วในภูเขา Ikenoyama แห่งเมือง Kamioka อุปกรณ์ที่ประกอบด้วยถังทรงกระบอก ซึ่งมีน้ำบริสุทธิ์หนัก ๕ หมื่นตันนี้ เป็นอุปกรณ์ตรวจจับนิวตริโนที่ใหญ่ที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก เพราะน้ำที่ใช้ใสบริสุทธิ์จนแสงสามารถทะลวงลึกลงไปได้ถึง ๑๐๐ เมตร ในขณะที่น้ำธรรมดาเพียงที่ระดับลึก ๕ เมตรก็แทบมองไม่เห็นแสงแล้ว นอกจากนี้ที่ผนังของถังก็มีหลอดรับแสง (photomultiplier) ถึง ๑๑,๑๔๖ หลอด ซึ่งหลอดรับแสงเหล่านี้มีความไวแสงมาก จนสามารถรับแสงจากเทียนไขที่จุดสว่างบนดวงจันทร์ได้ และการที่ถังถูกฝังลึกลงใต้หินภูเขาถึง ๑ กิโลเมตรนั้น ก็ทำให้อนุภาคอื่น ๆ (ยกเว้นนิวตริโน) ไม่สามารถทะลวงเข้าไปรบกวนน้ำในถังได้เลย ในการทดลองคณะนักวิจัยนี้ ได้ใช้กระแสอนุภาคนิวตริโนจากศูนย์วิจัย High Energy Accelerator Research Organization ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Tsukuba และอยู่ห่างจาก Super Kamiokande ๒๕๐ กิโลเมตร กระแสนิวตริโนจากเครื่องเร่งอนุภาค ได้ทะลวงผ่านชั้นหินใต้ดินจาก Tsukuba จนถึงถังน้ำของ Super Kamiokande เมื่อนิวตริโนชนิดอิเล็กตรอนพุ่งชนอนุภาคโปรตอนในถังน้ำ จะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ให้อิเล็กตรอน มิวออนและนิวตริโนชนิดมิวออน แต่อิเล็กตรอนกับมิวออนนั้น เป็นอนุภาคที่มีประจุ การที่มันมีความเร็วสูงกว่าแสงในน้ำ ทำให้มันแผ่รังสีที่เรียกว่า Cherenkov ออกมา ซึ่งเมื่อรังสีนี้ตกกระทบหลอดรับแสง 

(คลิกดูภาพใหญ่)
แผงหลอดไวแสง (photomultiplier) ที่ติดตั้งตามผนังของถังน้ำ เพื่อรับรังสี Cherenkov
นักทดลองก็จะรู้ทันทีว่า อนุภาคนิวตริโนที่เกิดใหม่มีความเร็วเท่าใด เคลื่อนที่ทิศใด และมีมวลเท่าไร ซึ่งผลการทดลองตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๔๒ ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ ได้แสดงให้เห็นภาพรวมว่า เวลารังสีคอสมิก ซึ่งเป็นอนุภาคโปรตอนพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ และอวกาศพุ่งชนโมเลกุลของอากาศ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิด จะทำให้เราได้นิวตริโนชนิดมิวออน เป็นจำนวนสองเท่าของนิวตริโนชนิดอิเล็กตรอน และถ้านิวตริโนชนิดมิวออนไม่เปลี่ยนรูป เราก็ควรจะพบนิวตริโนชนิดมิวออนทั้งหมด ๔๒ ตัว แต่นักทดลองกลับพบนิวตริโนชนิดมิวออน ๒๗ ตัว ซึ่งแสดงว่านิวตริโนชนิดมิวออน ได้กลายรูปไปเป็นนิวตริโนชนิดเทาแล้ว ๑๕ ตัว นอกจากนี้คณะนักทดลองกลุ่มนี้ก็ยังพบอีกว่า นิวตริโนชนิดมิวออน ที่มาจากบริเวณเหนือเครื่องทดลอง มีจำนวนมากกว่านิวตริโนชนิดมิวออน ที่มาจากใต้เครื่องทดลองจากอีกซีกโลกหนึ่ง ที่อยู่ไกลออกไป ๑๓,๐๐๐ กิโลเมตร ด้วยเหตุที่ระยะเดินทางไกล มันจึงเปลี่ยนรูปร่างไป ทำให้นักทดลองตรวจจับมันไม่ได้ และเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ คณะนักฟิสิกส์แห่ง Sudbury Neutrino Observatory (SNO) ที่เมือง Sudbury ในแคนาดา ก็ได้กล่าวยืนยันว่า การค้นพบของนักฟิสิกส์แห่ง Super Kamiokande ที่พบว่านิวตริโนมีความสามารถในการแปลงรูปได้เป็นเรื่องจริง เพราะในการทดลองที่กระทำในเหมืองทองแดง ที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน ๒ กิโลเมตร คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยนักฟิสิกส์ ๑๑๓ คน จาก ๑๑ มหาวิทยาลัยในแคนาดา อังกฤษและอเมริกา ได้ใช้ถังกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๑๒ เมตร บรรจุน้ำหนัก (heavy water) ซึ่งประกอบด้วย deuterium และออกซิเจน (D2O) [แทนที่จะใช้น้ำธรรมดาซึ่งประกอบด้วย hydrogen และออกซิเจน (H2O)] หนัก ๑,๐๐๐ ตัน แล้วนำถังกลมนี้บรรจุในถังน้ำธรรมดา ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ เมตร และคณะนักทดลองก็ได้พบว่า เมื่อเขาติดตั้งหลอดรับแสง ๑ หมื่นหลอดรอบถังกลม เขาได้สังเกตเห็นอนุภาคนิวตริโนจากดวงอาทิตย์ประมาณ ๕ ตัวต่อวัน และนิวตริโนนี้เป็นนิวตริโนชนิดอิเล็กตรอนเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมาถึงโลก นิวตริโนชนิดอิเล็กตรอนได้กลายสภาพเป็นนิวตริโนชนิดมิวออน และชนิดเทา ซึ่งเป็นการยืนยันอีกว่านิวตริโนมีมวล และอุณหภูมิที่จุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์นั้น เท่ากับ ๑๕.๗ ล้านองศาเซลเซียส นอกจากนี้คณะนักวิจัยชุดนี้ก็ยังได้ตรวจพบอีกว่า นิวตริโนมีมวลที่น้อยกว่ามวลของอิเล็กตรอนซึ่งเป็นอนุภาคมูลฐานที่เล็กที่สุดประมาณ ๑๐ ล้านเท่า การมีมวลน้อยนิดเช่นนี้จึงแสดงให้เห็นว่า นิวตริโนทั้งจักรวาล (๑๐๘๗ ตัว) มีมวลไม่มากพอที่จะหยุดยั้งการขยายตัวของจักรวาลได้
(คลิกดูภาพใหญ่)
 (บน) ปฏิกิริยานิวเคลียร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อนิวตริโน พุ่งชนอิเล็กตรอน แล้วเปลี่ยนชนิด
(ล่าง) นิวเคลียสของดิวทีเรียม เมื่อถูกอนุภาคนิวตริโนพุ่งชน จะสลายตัวให้อนุภาคโปรตอน และนิวตรอน 
     จึงเป็นว่า ณ วันนี้ นักฟิสิกส์รู้ชัดว่าอนุภาคนิวตริโนมีมวล และนั่นก็หมายความว่า นักฟิสิกส์ทฤษฎีจะต้องค้นหาสาเหตุต่อไปว่า เหตุใดนิวตริโนต่างชนิดกัน จึงมีมวลไม่เท่ากัน และอะไรทำให้มันแปลงรูป รวมทั้งต้องหาคำตอบด้วยว่า มันเปลี่ยนรูปร่างบ่อยเพียงใด และเหตุใดมันจึงมีพลังงานต่าง ๆ กัน ส่วนนักดาราศาสตร์นั้น ก็รู้สึกเป็นสุขที่นิวตริโนมีมวล เพราะได้รู้ว่าทฤษฎีโครงสร้างดวงอาทิตย์ ที่เรารู้ทุกวันนี้ยังถูกต้อง และรู้ว่าสารมืด (dark matter) มีนิวตริโนเป็นองค์ประกอบแต่เพียงน้อยนิดเท่านั้น ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า ถึงแม้วันเวลาจะผ่านไปถึง ๗๑ ปี นับตั้งแต่วันที่ Pauli มีจินตนาการให้กำเนิดนิวตริโน แต่นักฟิสิกส์ก็ยังคงศึกษานิวตริโนต่อไป และในอนาคตอีก ๔ ปี คณะนักฟิสิกส์ที่ CERN ซึ่งเป็นชื่อย่อของ Center for European Nuclear Research ใกล้กรุงเจนีวาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้วางแผนจะใช้เครื่องเร่งอนุภาคชนิด Super Proton Synchrotron ยิงกระแสอนุภาคนิวตริโนจากกรุงเจนีวา ผ่านใต้ภูเขา Alps ผ่านใต้แม่น้ำ Po ในอิตาลี ลอดใต้เมืองฟลอเรนซ์ สู่ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ใต้ดินชื่อ Laboratori Nazionali de Gran Sasso (Gran Sasso แปลว่า หินใหญ่) สถานที่นี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงโรม กระแสนิวตริโนจะเดินทางไกล ๗๐๐ กิโลเมตรผ่านหินภูเขาชั้นต่าง ๆ อย่างสะดวกสบาย ถึงจุดหมายปลายทางในเวลา ๐.๐๐๒๕ วินาที และเมื่อถึงที่นั่น นักฟิสิกส์ก็จะศึกษาธรรมชาติที่ลึกลับ ของอนุภาคที่เล็กแต่สำคัญมากนี้ เพื่อไขปริศนาโครงสร้างของจักรวาล ให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งยิ่งขึ้นไปอีก
     จึงนับได้ว่ายุคนี้เป็นยุคของการศึกษาฟิสิกส์ ของอนุภาคนิวตริโนที่กำลังรุ่งโรจน์มาก และการศึกษานี้ คงโชติช่วงชัชวาลยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อ Takaaki Kajita หัวหน้าโครงการของ Kamiokande และ Arthur B. McDonald ผู้อำนวยการของ Sudbury Neutrino Observatory ได้รับเชิญให้ไปรับรางวัลโนเบลที่สตอกโฮล์มครับ