สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๔ "เหรียญสองด้านของจีเอ็มโอ"

กลับไปหน้า สารบัญ สังคมเปลี่ยน : กฎหมายทำแท้งควรเปลี่ยนหรือไม่ ?
คั ด ค้ า น

พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประธานสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย
พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู
ประธานสภาประมุขแห่งบาทหลวง โรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย
  • เหตุใดเด็กพิการ จึงไม่มีสิทธิถือกำเนิด โลกนี้เป็นของคนสมบูรณ์ เท่านั้นหรือ

  • การทำลายชีวิต ของทารกในครรภ์ ถือเป็นการฆาตกรรม ซึ่งผิดต่อศีลธรรม และไม่ให้ความสำคัญ แก่คุณค่าของชีวิต

  • ถ้าเด็กนั้นออกมาพิการ หรือพ่อแม่รับผิดชอบไม่ไหว สังคมควรมีส่วนช่วยกัน รับผิดชอบ 

  • แน่ใจหรือว่า ถ้าเปิดโอกาส ให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย ในสถานที่ ที่ทางการกำหนดให้ แล้วผู้หญิงจะไปทำ

     "การที่แพทยสภา มีมติในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อขยายเงื่อนไขการทำแท้ง ให้กว้างครอบคลุมยิ่งขึ้นนั้น แม้จะทำด้วยความหวังดี แต่คำถามที่น่าสนใจคือ เด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาไม่มีสิทธิที่จะลืมตามาดูโลก เช่นคนทั้งหลายหรือ เหตุใดเด็กพิการจึงไม่มีสิทธิถือกำเนิด โลกนี้เป็นของคนที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถอยู่รอดได้เท่านั้นหรือ สิ่งที่ควรคิดประการแรก คือ การที่มารดาหรือใครก็ตาม จงใจทำลายชีวิตของทารกในครรภ์ ก่อนที่จะมาเกิด เราต้องถือว่าเป็นการทำลายชีวิต เป็นการฆาตกรรม ซึ่งผิดต่อศีลธรรม และไม่ให้ความสำคัญแก่คุณค่าของชีวิต 
     "การเสนอให้แก้กฎหมายนี้ สะท้อนรากปรัชญาความคิด ที่มีแนวโน้มนำไปสู่ความเสื่อมสลายของสังคม นั่นคือ เรากำลังวัดคุณค่าคน มิใช่ในฐานะที่เขาเกิดมาเป็นคน แต่วัดบนพื้นฐานความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย บนพื้นฐานว่า เขาเกิดมาเป็นภาระของบิดามารดา และสังคมมากน้อยเพียงใด ถ้าคาดว่าน่าจะเป็นปัญหา ก็สมควรตัดไฟเสียแต่ต้นลมจะดีกว่า ถ้าคนในสังคมมีรากปรัชญาความคิดเช่นนี้  ก็น่าคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น ในสังคมไทยภายหน้า
     "เมื่อใดก็ตามที่สังคมให้คุณค่าแก่สิ่งอื่น มากกว่าคุณค่าของชีวิตมนุษย์ เมื่อนั้นรากฐานของสังคม กำลังถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง อันจะนำไปสู่ความล่มสลายในที่สุด เพราะชีวิตมนุษย์ จะถูกทำลายลงด้วยเงื่อนไขอื่นใดก็ตาม ที่สังคมให้คุณค่ามากกว่า
     "สัญชาตญาณของความเป็นแม่ ย่อมมีความปรารถนา ที่จะปกป้องดูแลลูก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งเติบใหญ่ แม้ว่าจะต้องดำเนินชีวิต ด้วยความยากลำบาก แต่แม่ที่ถูกหล่อหลอมด้วยค่านิยม ที่ไม่เห็นว่าชีวิตมีค่าสูงสุด ย่อมไม่เห็นคุณค่าของลูก เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ซึ่งอาจจะเป็นอนาคต ฐานะทางเศรษฐกิจ ความยากลำบากของตน หากลูกเกิดมาพิการ และตนต้องเป็นผู้รับภาระ ความคิดเช่นนี้ทำให้เกิดข้อสรุปที่ว่า ลูกไม่มีค่าเพียงพอที่จะอยู่ต่อไป การทำแท้งจึงเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง
     "ถ้าแม้แต่แม่ซึ่งเป็นผู้ที่ให้กำเนิด ยังไม่เห็นคุณค่าของลูก แต่เห็นแก่ความสุขความสบายของตัวเองมากกว่าแล้ว คนในสังคม จะปฏิบัติต่อกันด้วยความโหดเหี้ยม และเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้น การสังหารคนที่อ่อนแอกว่า จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากสังคมไทยเป็นอย่างนี้ หมายความว่าสังคมไทย กำลังดำเนินไปสู่ความอัปยศทางคุณธรรม จริยธรรมมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ คนที่เสียเปรียบ ไม่มีปากเสียงเพราะอ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะเป็นทารกที่ยังไม่ได้ลืมตาดูโลก คนแก่คนพิการที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ก็จะกลายเป็นพวกที่ไม่น่าจะเอาไว้ เพราะเป็นภาระของสังคม และในที่สุดสังคมก็จะหาวิธีการจัดการอย่างแยบยล เพื่อให้คนเหล่านี้หลุดพ้นวิถีของตน ถ้าวิธีคิดเราเป็นอย่างนี้ เราจะดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะสังคมจะเต็มไปด้วยคนที่เห็นแก่ตัว ความรุนแรงและความโหดร้ายย่อมเกิดมากขึ้น ๆ 
     "สำหรับหญิงที่ถูกข่มขืนหรือมีเหตุกรณีใด ๆ ก็ตามที่เป็นเหตุให้ตั้งครรภ์ ข้อแรกเราต้องยึดหลักการว่า การที่หญิงคนนั้น จะทำลายชีวิตคนอื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ในเวลาเดียวกันสังคมต้องเห็นใจและเข้าไปโอบอุ้ม นับตั้งแต่ครอบครัวต้องเห็นใจ และให้อภัยในความผิดพลาดของหญิงคนนั้น สังคมจะต้องสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่ออุปการะเด็กคนนั้น เช่นเดียวกัน คนพิการ เด็กกำพร้าซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย ก็เป็นหน้าที่ของเราในฐานะมนุษย์ ที่ต้องช่วยเหลือเขา เพราะเขายังเป็นมนุษย์อย่างที่เราเป็น
     "ถ้าหากเด็กนั้นออกมาพิการ พ่อแม่รับผิดชอบไม่ไหว สังคมควรมีส่วนช่วยกันรับผิดชอบ เพื่อเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อทุกชีวิตในสังคม จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ความรัก ความเอื้ออาทรระหว่างคนในสังคม ย่อมก่อให้รากฐานของสังคม แข็งแรงมากกว่าการทำลายกัน
     "ถ้าคนในสังคมมีความเสมอภาค และมีความสามารถทัดเทียมกันหมด มนุษย์เราจะมีโอกาสสร้างความดีอยู่บ้างไหม ถ้าคนในโลกนี้มีความรู้ ฐานะ และอื่น ๆ ทัดเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ปรารถนา และโอกาสที่มนุษย์ จะได้ช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน สร้างบุญสร้างกุศล เช่นช่วยเหลือคนขอทานจะมีไหม ความด้อยโอกาส และความไม่เท่าเทียมกัน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีอยู่ในสังคม เราปฏิเสธไม่ได้ เมื่อเรายอมรับอย่างนี้แล้ว ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เราก็ต้องช่วยเหลือกันตามความสามารถ และสังคมต้องสร้างระบบขึ้นมาให้จงได้
     "แน่ใจหรือว่าการเปิดโอกาสให้มารดาไปทำแท้งได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในสถานที่ที่ทางการกำหนดให้ หญิงที่ต้องการทำแท้งจะเข้าไปทำ คำถามนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับหญิงผู้นั้น เป็นสิ่งที่สังคมเรายังไม่ยอมรับใช่ไหม เพราะฉะนั้นการที่จะไปเปิดเผยตัว มีการบันทึกไว้โดยวิธีใดก็ตามว่าเป็นผู้ป่วย ก็เป็นที่เปิดเผยว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยเข้าไปทำแท้ง และแน่ใจหรือว่า หญิงซึ่งไปทำแท้ง เขาจะมีความสบายใจ โดยธรรมชาติแล้ว แม่ถือว่าทารกในครรภ์ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข เป็นลูกของตนไม่ว่าจะเกิดขึ้นมาโดยเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตาม หากมีการทำแท้ง แม่ก็จะฝังใจว่า ครั้งหนึ่งเคยฆ่าลูกของตน 
     "ในแง่จิตวิทยา ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง เป็นเพราะความไม่สบายใจ จากการตั้งครรภ์ประการเดียวหรือไม่ สิ่งที่หญิงคนนั้นได้ทำผิดพลาดไป เป็นเรื่องที่น่าอับอาย และไม่ถูกไม่ควร สังคมอาจจะไม่รับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา เพราะไม่ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี จึงทำให้ผู้หญิงคนนั้นไม่สบายใจ ฉะนั้นการแก้กฎหมายทำแท้ง คงไม่ได้น่าจะเกี่ยวกันนัก
     "เรามักจะพูดกันว่า แม่หรือหญิงที่ตั้งครรภ์นั้นเป็นเจ้าของ มีสิทธิเหนือทารกในครรภ์ ซึ่งความจริงแล้วชีวิตของแต่ละคน ก็เป็นของคนนั้น เพียงแต่ทารกนั้น มาบังเกิดในครรภ์ของแม่เท่านั้นเอง ฉะนั้นจะคิดว่า แม่เป็นเจ้าของชีวิตทารก ร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นไม่ได้ ถ้าคิดว่าทารกที่อยู่ในครรภ์ แม้ว่าจะยังไม่เติบโต เป็นเพียงอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ที่จะกำจัดไปเมื่อไรก็ได้แล้ว ก็คิดผิดถนัด เพราะก้อนเนื้อไม่ได้เป็นแค่ส่วนหนึ่ง  แต่มันคือสิ่งที่กำลังจะเติบโตเป็นชีวิต กำลังจะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เพียงแต่ว่ายังอยู่ในตัวของคุณแม่นั้น ในแง่ของกฎหมายต้องแยกให้ชัด ชีวิตที่อยู่ในครรภ์มารดา กับชีวิตที่เป็นคนอยู่ในโลก บุคคลตามกฎหมาย และการเป็นมนุษย์นั้น มีความต่างกันอยู่ เช่นเดียวกันกับกฎหมายที่แยกว่าวัยต่าง ๆ มีสิทธิ หน้าที่ที่ต่างกัน แต่ความเป็นคน มีอยู่ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิแล้ว
     "ข้อถกเถียงเรื่องกฎหมายทำแท้ง ควรเปิดกว้างระดับไหน อย่างไร จะไม่สามารถหาข้อยุติได้ ถ้าหากรากฐานทางปรัชญา วิธีคิดของคนในสังคมยังไม่ชัด จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราจะรณรงค์ให้คนในสังคม หันมาเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าเขาจะทำประโยชน์อะไรกับเราหรือไม่ 
     "สำหรับเรายังเห็นว่ากฎหมายนี้ ไม่ยุติธรรมต่อเด็ก เงื่อนไขที่มีการเพิ่มเติมลงไป ก็เป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการทำลายชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ควรยึดถือมนุษย์มาก่อน เราต้องให้ความช่วยเหลือ ดูแลปกป้องอย่างสุดความสามารถ"
  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
กฤตยา อาชวนิจกุล
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*