สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ "ล่าพลอยสีชมพู สุดขอบฟ้ามาดากัสการ์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕  

ล่าพลอยสีชมพูสุดขอบฟ้า มาดากัสการ์

เรื่องและภาพ : วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์

หมายเหตุ : สารคดีเรื่องนี้ ได้รับการสนับสนุน การเก็บข้อมูลจาก "สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับ" และ "ชมรมพ่อค้าพลอยไทย - มาดากัสคาสกา"

(คลิกดูภาพใหญ่)       พอเราสอดแบงก์ ๒๕,๐๐๐ ฟรังก์มาลากาซีปึกใหญ่ไว้ตรงช่องด้านหน้ารถ ก็พร้อมจะออกเดินทาง
มันทำให้ผมนึกถึงตอน "พวกพี่ ๆ" ตอบตกลงใจกับเด็กเดินพลอย ใบหน้าเครียดของหมอนั่นจะเริ่มคลายและยิ้มน้อย ๆ ขณะหยิบกองธนบัตร ๒๕,๐๐๐ ฟรังก์มาลากาซี ( FMg) สีชมพูมานับ... แล้วเขาก็ดีดตัวออกไปจากตลาดพลอยอบาลาซทันที ปล่อยให้ทีมงานหรือขามั่วแถวนั้นเรียกหา "กาโด้ ๆ" -เงินรางวัล (หรือคอมมิชชัน) กันวุ่น
      ธุรกิจที่นี่มีแต่เงินสดกับเงินสด 
      เมื่อครู่ตรงด่านรานูฮิรา ตำรวจเรียกรถเราตรวจเป็นหนแรก 
      พอก่อนเข้าอิฮูซย์ก็มีอีกด่าน แล้วก็ล่าสุด-ที่พวกเขาสวมเครื่องแบบตำรวจฝรั่งเศสอย่างกับในหนัง Crimson Rivers ยังไม่ทันพ้นภาคใต้ โดน "ตรวจ" ไปแล้วสามด่าน เหลืออีก ๗๐๐ กิโลเมตรกว่าจะถึงตานา จะอีกเท่าไหร่กันละ นอกจากความแตกต่างให้ต้องลุ้นว่าจะเป็นตำรวจท้องที่ ตำรวจทางหลวง หรือเป็นพวกสวมหมวก ke'pi เหมือนตำรวจฝรั่งเศส มาคอยเรียกตรวจแล้ว วิธีปฏิบัติพวกเขาก็ไม่มีอะไรต่างกัน
      "เรามีใบอนุญาตขนพลอยไม่ใช่หรือ ?" ผมถามน้องที่ชื่อ "นุ"
      "ก็มีถูกต้องทุกอย่าง แต่ถ้าเขาจะหาเรื่องเอาผิดกับเราก็ทำได้เสมอ... แล้วผมก็ไม่อยากให้ยืดเยื้อเลยจะดีที่สุด" นุเล่าว่าคราวที่แล้วเขากับพ่อค้าพลอยในกลุ่มถูกตำรวจกักตัวไว้เป็นวันโดยไม่มีความผิด
(คลิกดูภาพใหญ่)

๑...

      รถแลนด์ครุยส์เซอร์คันนี้ เรานั่งมาจากเมืองอิละกากะด้วยกันห้าคน คนไทยสามคน คือ นุ ยู้ และผม ไม่มีใครพูดภาษามาลากาซีหรือฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาราชการของมาดากัสการ์ได้ จะต่อรองกับตำรวจคงลำบาก และก็น่าเห็นใจพวกเขา ยู้เพิ่งถูกส่งมาทดลองงานครั้งแรก นุเองแม้จะผ่านการซื้อพลอยแล้วหลายเที่ยว แต่นี่เป็นครั้งแรกสำหรับคนวัยย่างเบญจเพสอย่างเขาที่ต้องดูแลพลอยเต็มท้ายรถ เขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำมันไปห่อผนึกที่เมืองหลวง-อันตานานาริโว หรือตานา ก่อนหิ้วกลับประเทศไทยในอีกสามสี่วันข้างหน้า หนทางของเขากับพลอยซึ่งพี่ ๆ เพื่อนร่วมงานซื้อหามาตลอดหนึ่งเดือนยังอีกยาวไกลนัก
      พลอยก้อนเยอะขนาดนี้ผมเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อน เมื่อวาน...ตอนพวกเขาห่อใส่ถุงพลาสติก เขียนชื่อ แล้วรวมกันใส่กระเป๋าเดินทาง ดูมันไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากไปกว่าเวลาไปเห็นคนเหมาลูกปัดแถวสำเพ็ง พลอยก้อนหมายถึงพลอยธรรมชาติ ยังไม่ได้ผ่านการกระบวนการเผาเจียระไน จึงไม่เด่นสะดุดตาเอาเสียเลย แต่ให้ตายเถอะ... คนหนึ่งบอกผมว่า เขาจำพลอยทุกเม็ดของเขาได้
      ที่ตานาคืนนั้นเราเข้าพักโรงเตี๊ยมระดับหลายดาวชื่อ De France กลางย่านหรูของเมือง นุบอกว่ายอมจ่าย ๑๐๐ ดอลลาร์ (ยูเอส) ต่อห้อง...เพื่อความอุ่นใจ พรุ่งนี้ "ซีลพลอย" เสร็จแล้วค่อยว่ากันใหม่ ก่อนออกไปเขาไม่ลืมจะกำชับว่า ถ้ามีใครมาเคาะประตูก็ไม่ต้องเปิด คนมาลากาซีทั้งประเทศรู้ว่า คนไทยมาถึงนี่ด้วยจุดประสงค์อะไร
      แสงไฟสีอำพันสาดส่องถนนอลานาเคลีที่กำลังจะหลับสนิท นอกจากชายสองคนตรงลานจอดรถหน้าโรงแรม และผู้หญิงจรจัดที่แหงนหน้าขึ้นมาทำท่าเหมือนจะขออะไรจากผม... ก็ไม่มีอื่นใดเคลื่อนไหว อากาศตานายามนี้ดูจะหนาวสะท้านเสียยิ่งกว่าวันมาถึง เมืองตานาตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ในบริเวณที่ต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตรลงไปมาก อากาศทั่วไปจึงค่อนข้างเย็น ลมแรง และจะหนาวที่สุดเดือนกรกฎาคม พอเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของปีถัดไปฝนจะตกหนัก สลับขั้วกับบ้านเรา ซึ่งช่วงนั้นคนจะขุดพลอยกันน้อยลง เพราะดินถล่มง่าย
      "อย่าไว้ใจคนที่นี่ กับลูกน้อง...ถ้าคุณรักมันก็ให้เงินใช้มากหน่อย แต่ไม่ต้องให้เข้าในบ้าน เราต้องการตัวเรียกแล้วค่อยมา"
      ผมนึกถึงคำของชายผู้หนึ่งซึ่งต่อสู้ชีวิตมาอย่างเข้มข้นบนเกาะแห่งนี้


(คลิกดูภาพใหญ่)      วันแรกที่ผมมาถึงอันตานานาริโว พี่เหม่นแห่งบริษัทเวิลด์ลี่ดิสคัฟเวอรี่ พาไปยังโรงแรมเมอลิซ ถัดจากเดอฟร็องไม่กี่ช่วงตึก ทว่าอยู่ถนนสายในและเป็นเพียงโรงแรมระดับกลาง ด้านหน้าไม่มีคอฟฟี่ช็อปให้นั่งจิบกาแฟชมถนน แต่มีคนยืนจับกลุ่มอัดบุหรี่ เหมือนเกาะกลางถนนหน้าสนามมวยราชดำเนิน เมื่อปะติดปะต่อเรื่องราว เข้ากับภาพที่มองจากถนนหน้าโรงแรมขึ้นไป เห็นระเบียงห้องพักทุก ๆ ชั้นมีโต๊ะรับซื้อพลอยวางอยู่ และคนพื้นเมืองผิวดำเดินเข้าเดินออก ก็รู้ได้ว่าพวกข้างล่างก็ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน ตอนผมเดินตามพี่เหม่นขึ้นไปบนโรงแรมยังมีคนหนึ่งยื่นมือมาให้จับ เสมือนเป็นการต้อนรับสมาชิกหน้าใหม่เข้าวงการ--หน้าขาว ๆ อย่างเอ็งก็คงมาซื้อพลอยแดงเหมือนกัน
      ขณะนี้ กฏหมายประเทศมาดากัสการ์ยังไม่อนุญาตให้ค้าพลอยแดง นอกจากนั้น การซื้อขายพลอยที่ถูกต้องจะสามารถทำกันเพียงแห่งเดียว ที่ตลาด "อบาลาซ" เมืองอิละกากะ การค้าพลอยในโรงแรมเมอลิซและอีกสองสามโรงแรมจึงปริ่มต่อกฎหมายถึงสองข้อ คือ-ค้าพลอยแดง และค้าในตลาดมืด ที่ว่า "ปริ่ม" กฏหมาย เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่รัฐจะเอาผิดก็ย่อมได้ ขณะเดียวกันทางการไม่ได้หวงแหนพลอยแดงขนาดจะไม่ยอมให้นำออกนอกประเทศ ปัญหาเกิดจากยังไม่ได้วางระเบียบด้านภาษีศุลกากร และตกลงกันเรื่องอำนาจในการจัดการทรัพยากร ของแต่ละเขตปกครองให้เรียบร้อยเท่านั้น พวกที่ค้าพลอยแดงอยู่ก็ถือว่าค้าขายกันเป็นการภายใน
       พลอยสีแดง "ทับทิม" ถือว่าเป็นแก้วงาม ตลาดต้องการมากที่สุด โดยเมื่อก่อนถือกันว่าทับทิมพม่านั้นงามเป็นหนึ่ง เคียงคู่มาด้วยไพลินหรือพลอยน้ำเงินจากบ่อเมืองไพลิน ประเทศกัมพูชา แต่ความที่พม่าไม่เปิดกว้างให้เข้าไปล่า บ่อไพลินก็เริ่มร่อยหลอ เหมือน ๆ บ่อพลอยรัตนปุระ ประเทศศรีลังกา บ่อพลอยในจังหวัดจันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ของไทย ล้วนแต่ผ่านยุครุ่งเรืองกันหมดแล้ว คนทำพลอยบ้านเราจึงเริ่มออกสำรวจหาแหล่งวัตุดิบใหม่ ๆ ที่ไกลออกไป
     และในบรรดาแหล่งที่หน่วยกล้าตายถูกส่งเข้าไป เกาะมาดากัสการ์ ทางชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ถือว่าประสบความสำเร็จงดงามเกินคาด ถ้าเรากวาดสายตาลงบนแผนที่เกาะรูปร่างคล้ายม้าน้ำแห่งนี้ ไล่ดูชื่อเมืองของแหล่งพลอยก็จะเห็นว่ามีแหล่งสำคัญ ๆ กระจายอยู่ทั่วตลอดหัวจรดหางม้าน้ำ ทั้งพลอยแดง น้ำเงิน เหลือง เขียว อเล็กซานไดรต์ พัดพระราชา กระทั่งพลอยสาแหรก (ตาแมว) ที่หาได้ยาก ปริมาณของมันก็มาก มากชนิดที่ไม่เคยพบจากแหล่งใดในโลก แม้จะเอาพลอยในประเทศแซร์ แทนซาเนีย คองโก เคนยา รวันดา ซิมบับเวมารวมกัน ก็ยังน้อยกว่า
      คุณภาพและผลึกก้อนของพลอยแดง ซึ่งกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างตอนกลางของเกาะ อาจไม่เทียบเท่าของพม่า แต่ถือว่าใกล้เคียงมาก ส่วนพลอยน้ำเงินจากบ่อทางใต้ สีสวยกว่าไพลินของเขมร หากใครสนใจพลอยน้ำเงินเข้มแบบของออสเตรเลีย ก็ไปเมืองดิเอโกฯ ทางตอนเหนือสุด ระยะห้าปีที่ผ่านมาจะมีข่าวพบบ่อพลอยใหม่ ๆ ในมาดากัสการ์อย่างต่อเนื่อง เวลาข่าวแพร่สะพัดออกไปที คนก็จะเฮโลไปกันที ทั้งพวกนักขุดและพวกนักซื้อที่ไปรอซื้อถึงปากบ่อ เพื่อนำพลอยก้อนมาขายต่อให้กับพ่อค้าไทย พ่อค้าศรีลังกา นำกลับไปเผาและเจียระไนต่อไป
     นอกเหนือจากที่กล่าว มาดากัสการ์ยังพบ "พลอยสีชมพู" คุณภาพดีอีกจำนวนมาก มาช่วยเติมความร้อนแรงให้ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับอีกครั้ง (ในยุคหนึ่ง-ก่อนเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด) พลอยชมพูและพลอยน้ำเงินส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านทางภาคใต้ชื่อ "อิละกากะ"
(คลิกดูภาพใหญ่)

๒... 

      "ช็อป" - ขอต้อนรับนักเสี่ยงโชคทุกคนที่พกใบอนุญาตจากทางการ, เปิดบริษัทในประเทศมาดากัสการ์, จ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือนให้ท้องที่อย่างถูกต้อง (และค่าอื่น ๆ ที่อาจมี)
      ขนาดและรูปลักษณ์ของมันใกล้เคียงป้อมยาม ทำขึ้นจากไม้ฉำฉา วางเรียงเป็นพืดหลายซอกหลายซอยบนเนื้อที่ ๕-๖ ไร่ พอเลยเจ็ดโมงเช้าเล็กน้อย ก็จะเริ่มมีคนทยอยเอาพลอยมาเสนอขายตรงช่องด้านหน้า
      "ห้าล้านหรือ" พ่อค้าหยิบพลอยในถาดวางด้านบนของฝ่ามือ แล้วเอียงให้กระทบแสงจากไฟฉายส่องพลอย พลิกดูมุมนั้นมุมนี้ว่าสะดุดตาสักเท่าใด
      "หนึ่งล้านแล้วกัน...ฟาลัน ๆ" เขาต่อราคาลงเหลือ ๑ ใน ๕-ขาดตัว
      เห็นราคาแล้วไม่ต้องตกใจ เพราะว่าเป็นเงินฟรังก์มาลากาซี เทียบง่าย ๆ ๑,๐๐๐ FMg เท่ากับ ๗ บาท พลอยเม็ดนี้เปิดที่ราคาประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท ถือว่าราคาปานกลาง ต่อเหลือ ๗,๐๐๐ บาท เพราะส่วนใหญ่เด็กเดินพลอยชอบเปิดให้ "ราคาเหวี่ยง (สูง)" ไว้ก่อน การต่อรองเป็นตัวเลขภาษามาลากาซีง่าย ๆ เช่นนี้ คนไทยส่วนใหญ่สามารถสื่อสารได้ ถ้าสงสัยก็ถามลูกน้องชาวพื้นเมืองที่จ้างกันไว้ช็อปละสองสามคน เป็นทั้งล่าม คนขับรถ และบอดี้การ์ด หากผู้ซื้อสนใจพลอยเม็ดนั้น แต่ราคายังสูงเกินไป เขาก็ต้องซ่อนความรู้สึก หรือทำทีสบถว่า "ชิมาไห้" หมายถึง ใช้ไม่ได้ เพื่อกดราคาต่ำลง หากการเจรจาไม่สำเร็จลุล่วง ผู้ขายก็กำพลอยเดินไปเสนอร้านอื่น
      จากบ้านพักของพี่เหม่นชานเมืองตานา ผมเดินทางลงมาเขตแห้งแล้งกึ่งทะเลทรายภาคใต้เป็นระยะทาง ๗๐๐ กิโลเมตรเศษ ด้วยรถซึ่งทางบริษัทเวิล์ดลี่ดิสคัฟเวอรี่เหมาขนอะไหล่ อุปกรณ์เหมืองแร่ และนักศึกษาฝึกงานไปยังเหมืองพลอยใกล้เมืองซาการาฮ์ แม้เป็นรถเหมา แต่เราต้องใช้เวลาเกือบ ๑๘ ชั่วโมงกว่าจะถึงจุดหมาย นั่นก็...รวมถึงเวลาที่คนขับรถจอดทำธุระบ้านญาติ ขนของขึ้นหลังคารถสองครั้งด้วย
      เหมืองดังกล่าวเป็น ๑ ใน ๖ แห่งที่นักธุรกิจไทยมาลงทุนในช่วงสองสามปีนี้ ทราบในเบื้องต้นว่าผลตอบแทนจากเหมืองยังไม่น่าพอใจนัก ผลผลิตประมาณ ๕-๗ กิโลกรัมต่อเดือน โดยพลอยที่ขุดได้เป็นพลอยชมพูร้อยละ ๗๐ พลอยน้ำเงินร้อยละ ๑๐-๑๕ ที่เหลือเป็นพลอยเนื้ออ่อน เนื่องจากต้องลงทุนสูงและเป็นระยะเริ่มต้น จึงมีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องจักรและมวลชนอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม บริษัทเวิลด์ลี่ดิสคัฟเวอรี่และบริษัทอื่น ๆ ก็ไม่ได้ลงทุนทำเหมืองเพียงอย่างเดียว ยังมีฝ่ายรับซื้อพลอยก้อน ไปเจียระไนขายลูกค้าหรือเข้าตัวเรือนเพื่อส่งออกต่างประเทศเป็นรายได้หลักอีกทางหนึ่ง
      ผมตัดสินใจไม่เข้าเหมืองตามคำชวนของผู้ดูแลเหมืองคนไทย และก็ได้อาศัยรถของฝ่ายรับซื้อพลอยเดินทางย้อนกลับไปยังอิละกากะ เข้าสู่ตลาดพลอยอบาลาซหรือ "ช็อป" ตอนเช้ารุ่งขึ้นนั่นเอง


 (คลิกดูภาพใหญ่)       ในตลาดพลอย ผมพบกับเฮียแปะตี๋, เฮียปื้ด, เฮียตี๋, นุ และคนอื่น ๆ จากบริษัทเวิลด์แซฟไฟร์ จังหวัดจันทบุรี กระจายกำลังกันรับซื้อพลอยตามช็อปต่าง ๆ โดยลูกค้าหมุนเวียนเอาพลอยมาเทให้เลือกไม่ขาดระยะ พวกเขาจะดูหน้าพลอย ส่องดูน้ำ ความสะอาด พลิกดูเหลี่ยมมุมต่าง ๆ ด้วยความชำนาญ แล้วตัดสินใจต่อรองอย่างอิสระตามความชอบของแต่ละคน
      เฮียปื้ดบอกว่า คนซื้อบางรายก็ชอบพลอยเม็ดใหญ่ บางรายก็ชอบเม็ดเล็ก แล้วแต่ความถนัดและออเดอร์จากเมืองไทย การซื้อขายหลายครั้งไม่จบลงง่าย ๆ เนื่องจากคนที่นำพลอยมาเสนอขายมักเป็นนายหน้าหรือเด็กเดินพลอย ไม่อาจตัดสินใจได้เวลาถูกต่อราคา ต้องเดินกลับไปถามเจ้าของพลอยหรือหุ้นส่วนเสียก่อน
      ผู้ซื้อบางรายก็มีเทคนิคเฉพาะตัวในการกล่อมลูกค้า เช่นถ้าเขารู้สึกสนใจพลอยเม็ดนั้น แต่การเจรจายื้ดเยื้อไม่จบง่าย ๆ หรือไม่ต้องการเปิดเผยราคาให้คนที่มายืนออรอบ ๆ รู้ ก็จะพาลูกค้าเข้ามาพูดคุยกันในห้องด้านหลัง วิธีนี้ดูแล้วอาจให้ผลคล้ายการ "ใช้ผ้าคลุมมือ" ต่อรองของชาวจันทบุรียุคก่อน ๆ ซึ่งเล่ากันว่า เมื่อคนกลางยื่นมือไปจรดมือผู้ขายภายใต้ผ้าคลุม ผู้ขายจะบอกราคาโดยวิธีจับนิ้วมือ แล้วคนกลางจะยื่นมือไปจับนิ้วผู้ซื้อเพื่อบอกราคาด้วยวิธีการเดียวกัน ผู้ซื้อก็จะจับนิ้วคนกลางเป็นการต่อรอง ทำเช่นนี้จนกว่าจะตกลงกันได้
      พ่อค้าพลอยไทยยุคนี้ดูเป็นมืออาชีพ พูดง่าย ไม่กระดูก และไม่มีตุกติก จึงมีขาประจำนำพลอยดี ๆ มาเสนอขายอยู่เสมอ เด็กเดินพลอยหลายคนสนิทสนมเป็นกันเอง หรืออย่างน้อยแสดงท่าทางเป็นกันเองกับคนไทย จึงนับว่าน่าจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการค้าขาย เพราะภายในสนามนี้ไม่ได้มีแต่คนไทยค้าแข่งกันเองเท่านั้น ยังมีแขกศรีลังกา ยิว และชาวแอฟริกันบางประเทศเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว
      โดยเฉพาะกับรายแรก คนไทยที่นี่ถือว่าเป็นการทำสงครามกัน พ่อค้าคนหนึ่งคุยให้ฟังว่า "เราสู้แขกไม่ได้ตรงความอดทน ขยัน ลุยไปทั่ว หลายครั้งคนไทยต้องซื้อพลอยต่อจากแขกซีลอนที่ไปดักซื้อจากปากบ่อ ทุกวันนี้เราจึงไม่ได้ซื้อถูกเหมือนเหมือนสามสี่ปีก่อน บางเม็ดมีหนึ่งแสน, สองแสน, สามแสน, หรือถึงล้านบาท จึงกำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง ที่มาแล้วล้มเหลวก็มาก"
      ยังไม่รวมกรณีพ่อค้าไทยถูกหลอกเอา "พลอยปิ้ง" มาขาย ซึ่งชาวศรีลังกาต้องตกเป็นจำเลยว่าเป็นตัวตั้งตัวตีมากที่สุด พลอยปิ้งก็คือพลอยคุณภาพต่ำที่นำไปผ่านความร้อนให้ใส ก่อนนำมาขายในราคาพลอยธรรมชาติแพงลิบลิ่ว ซึ่งถ้าใครซื้อไปเผาก็จะเสียหาย
(คลิกดูภาพใหญ่)       ที่ช็อปเบอร์ ๑๑๑ ผมพบกับ "เล็ก" หญิงสาวจากกรุงเทพฯ ที่เข้ามาคลุกคลีตลาดพลอยมาดากัสการ์ได้สองปีแล้ว เธอเล่าว่า พี่สาวเป็นคนชวนมาลองดู โดยแต่ละครั้งจะอยู่ซื้อพลอยนานสองสามเดือนจึงกลับเมืองไทย การค้าขายแต่ละวันไม่แน่นอน บางวันซื้อไม่ได้ บางวันก็ซื้อได้ ๓-๔ ล้านฟรังก์
      "ตอนมาใหม่ ๆ รู้สึกกลัวคนพื้นเมือง คือเขาบอกว่าตกลงขาย แต่พูดเสียงดัง แล้วทำเหมือนขว้างพลอยลงในถาด นี่ยังดีว่าดิฉันเข้ามาในช่วงที่คนรู้จักทำมาค้าขายแล้ว เมื่อก่อนต้องเสี่ยง 
      ขนาดคนเอาปืนมายิงกราดในตลาดก็เคย
      "คนไทยถูกโกงกันเป็นประจำ เรียกกันว่า 'พลอยหล่น' โดยเขาจะเอาเข้ามาให้ดูแล้วให้พวกหยิบไป เขาเรียกเงินเรา ๕ ล้านฟรังก์ ก็ต้องจ่าย หรืออย่างดีก็ขอลดราคาลง แจ้งตำรวจก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ ระยะหลังเริ่มเป็นระเบียบขึ้น ตำรวจจับพวกอันธพาลเกเรไปมาก เวลาซื้อขายก็ให้เอาพลอยวางบนถาด ของใครก็ดูกันเอาเอง ซื้อขายกันเฉพาะตรงนั้น จะมาเรียกร้องมั่วไม่ได้"
      เรื่องตุกติกว่าผู้ซื้อทำพลอยหายนั้นเป็นเรื่องปรกติ เพราะขนาดวิ่งราวกระเป๋าสตางค์ ฉกข้าวของไปต่อหน้าต่อตาก็ทำกันบ่อย......
      พอประมาณเก้าโมง ก็เกิดเหตุการณ์แปลก ๆ คนเดินพลอยเกือบทั้งหมด พากันกรูไปแย่งต่อคิวหน้าช็อปแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ถือปืนจังก้าบนรั้ว ช็อปดังกล่าวเป็นของชาวสวิส รู้จักกันในชื่อ "วอร์นเนอร์" ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพลอยทุกประเภทในโลก เขาจะรับซื้อพลอยให้บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยจะซื้อทุกล็อก ทุกขนาด ไม่อั้น ทว่าจะใช้วิธีปิดประตูช็อปแล้วให้เข้าไปขายข้างในตามคิว นัยว่าจะได้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
      ใครคนหนึ่งที่ยืนข้าง ๆ ผมพูดว่า "นายวอร์นเนอร์เก่งหรือไม่เก่ง คิดดูก็แล้วกัน ขนาดทำให้คนพื้นเมืองที่ไม่มีระเบียบรู้จักต่อคิวได้"
      บรรยากาศในตลาดพลอยแม้ไม่น่ากลัวอย่างที่วาดภาพเอาไว้ ผมก็ระวังตัวทุกฝีก้าว คนไทยทุกคนที่เจอจะเตือนเสมอว่า ให้ระวังของมีค่า อย่าวางทิ้งไว้ และสิ่งที่ทุกคนพึงระลึกไว้เสมอคือ
      "อย่ากะพริบตา"
(คลิกดูภาพใหญ่)

๓...

      เมื่อได้นั่งรถตระเวนดูรอบ ๆ ตลาดพลอย ผมสังเกตว่า ระยะทาง ๔ กิโลเมตรจากอิละกากะ มาถึงตลาดอบาลาซ แวดล้อมไปด้วยเนินทรายสลับซับซ้อน เหมืองพื้นเมือง และเพิงพักของนักขุดพลอยปรากฏเป็นหย่อม ๆ และไกลออกไปเป็นภูเขาหินทรายลูกโดดกระจายกันอยู่ห่าง ๆ
      ด้านหลังตลาดเป็นที่ลุ่มต่ำ มีลำธารไหลผ่าน กลางธารน้ำจะมีคนเอาตระแกรงมาร่อนพลอย หรือตักเอาก้อนกรวดไปกองริมลำธารเพื่อคัดหาพลอยอีกครั้ง ว่ากันว่าพลอยตามลำธารถูกกระแสน้ำพัดพามา ทำให้ก้อนของมันค่อนข้างเป็นก้อนกลม สะอาด และขายได้ราคากว่าพลอยที่ขุดจากดิน
      เกาะมาดากัสการ์ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ธรณีสัณฐานประกอบด้วยสายแร่คริสตัล เป็นฐานโดยส่วนใหญ่ ยกเว้นทางชายฝั่งตะวันตกของเกาะ จะประกอบด้วยตะกอนหินทรายสีแดง ตามที่สูงหรือชายขอบของที่ราบสูงจะมีแหล่งแร่ และหินที่ค่อนข้างมีราคา อาทิ แจสเปอร์ มูนสโตน ทูร์มาลีน อเมทิสต์ โมรา (อาเกต) และเพทาย (เซอร์คอน) พวกนี้ส่วนใหญ่ก็คือสกุลต่าง ๆ ของควอตซ์ จะปรากฏเป็นสีใดขึ้นอยู่กับว่าจะมีสายแร่อะไรผ่านเข้ามา และพบพลอยจำนวนมากทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ดังที่กล่าวแล้ว
      พลอยเนื้อแข็งหรือรัตนชาติสกุลแซปไฟร์ (รวมทั้งทับทิม-ruby ที่เอกสารบางฉบับแยกเป็นอีกกลุ่มต่างหาก) เป็นผลึกรูปแบบต่าง ๆ ของอะลูมิเนียมออกไซด์ ที่เรียกว่า แร่กะรุน (corundum) กระบวนการเกิดแร่กะรุนนั้น ซับซ้อนผ่านการบ่มจากผืนดินนับร้อยล้านปี มันจึงมีความแข็งเป็นพิเศษ เป็นรองก็แต่เพชรเท่านั้น หากโดยธรรมชาติแล้วแร่กะรุนจะปราศจากสี ต่อเมื่อมีแร่ธาตุอื่นเข้ามาเจือปนอยู่ในเนื้อ แม้เพียงน้อยนิดก็จะแปรให้มันมีสีสันต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็กและไทเทเนียมเจือปนจะให้สีน้ำเงิน, ธาตุโครเมียมเจือปนจะให้สีชมพูไปจนถึงแดง, ธาตุเหล็กจะให้สีเหลืองและเขียว ส่วนพลอยสตาร์ที่ทอรัศมีเป็นรูปดาวหกแฉกยามถูกแสง ก็เนื่องมากจากโมเลกุลของแร่กะรุน เรียงตัวอย่างสม่ำเสมอแนบแน่น คล้ายไม้ระแนงวางก่ายกัน เมื่อมีแสงมากระทบจึงสะท้อนกลับเป็นรูปดาว ที่ชาวบ้านเรียก พลอยสาแหรก

(คลิกดูภาพใหญ่)       ก่อนจะมาถึงยุค "อิละกากะ" เล่ากันว่าบ่อพลอยบ่อแรกของมาดากัสการ์ อยู่ที่อันดรันน์ดัมบ์ (Andranondambo) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยพ่อค้าพลอยที่กรุงเทพฯ ส่งญาติชาวจีนเข้ามาสำรวจพบเมื่อ ประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๖ ว่าไปแล้วก่อนหน้านั้นคนไทยก็เคยมาค้าพลอยแดงก่อนแล้วที่เมืองอันต์ชิราเบ แต่ก็เงียบหายไปนานเนื่องจากของมีน้อย ช่วงที่พบพลอยอันดรันน์ดรัมบ์ก็มีพลอย "ดิเอโกฯ" จากบ่ออันบุนดุมมิเบ ทางตอนเหนือสุดของประเทศออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ถึงตอนนั้นบริษัทค้าพลอยหลายแห่งในจังหวัดจันทบุรีต้องแบ่งกำลังออกซื้อพลอยทั้งทางใต้สุดและทางเหนือสุด
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันหฤโหด อากาศกลางวันร้อนจัด กลางคืนหนาวจนสะท้าน ทั้งยังต้องผจญกับโจรผู้ร้าย ไข้มาลาเรีย และแมลงบางชนิดที่เมื่อกัดแล้วจะฝังไข่ลงไปในเนื้อของเหยื่อ กว่าจะรู้ก็กลายเป็นหนอนออกมาจากบาดแผลแล้ว
      แรงดึงดูดสำคัญทำให้พวกเขาต้องเร่งรุดก็คือ โอกาสที่จะซื้อพลอยราคาถูก เพราะคู่แข่งน้อย คนพื้นเมืองยังไม่รู้ราคาเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าพ่อค้าจะทำกำไรได้เหมือน ๆ กันทุกราย บางกลุ่มก็ได้กำไร บางกลุ่มก็เสมอตัวหรือขาดทุน และมันไม่ได้แตกต่างจากสภาวะการค้าพลอยในตลาดอบาลาซในปัจจุบัน
      จนกระทั่งวันหนึ่ง ในบริเวณทุ่งเลี้ยงวัวอิละกากะ ห่างจากบ่อพลอยอันดรันน์ดัมบ์ ๑๕ ชั่วโมงทางรถยนต์ คนเลี้ยงวัวชาวพื้นเมืองเห็นสีสันของก้อนหินที่เขาเก็บมาได้นั้นมีสีแปลก ๆ จึงเก็บเอามาแลกข้าวสารกับคนไทย หลังจากพบว่าหินสีเหล่านั้น ๑ กิโลกรัม สามารถแลกข้าวสารได้ ๑-๒ กระสอบ จึงพากันเก็บก้อนขนาด ๑-๒ กรัมมาขาย (พลอยเจียระไนแล้ว ๑ กะรัตมีน้ำหนักประมาณ ๐.๒ กรัม) ส่วนก้อนเล็ก ๆ ประมาณครึ่งกรัมนั้นมาเก็บทีหลัง เนื่องจากก้อนหินสีน้ำเงิน สีเหลือง สีชมพู กระจายอยู่กลาดเกลื่อนตั้งแต่บริเวณทุ่งหญ้าจนถึงลำธาร
(คลิกดูภาพใหญ่)       เรื่องที่คล้ายปรัมปรานิยายนี้ คือความเป็นมาของแหล่งพลอยแหล่งใหม่ ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับผู้ค้าอัญมณีทั่วโลก เมื่อข่าวจากคนขุดพลอยได้แพร่สะพัดออกไปว่าอิละกากะมีพลอยมาก ขายได้ราคาดี ทำให้เพื่อน ๆ ญาติ ๆ ของพวกเขาซึ่งปรกติได้ค่าจ้างแรงงานถูกมาก พากันมาขุดพลอยขายให้คนไทย คนขุดพลอยที่เหนื่อยล้าจากบ่ออันดรันน์ดัมบ์ เพราะเจอแต่หินก้อนใหญ่ ๆ จึงอพยพมาบ่อใหม่ จากทุ่งเลี้ยงวัวของชาวเผ่า ช่วง พ.ศ. ๒๕๔๒ อิละกากะกลายเป็นแหล่งขุดพลอยขนาดใหญ่ ที่คนระดับรัฐมนตรีของมาดากัสการ์ยังมาจับจองที่ดินไว้ทำเหมืองพลอยในอนาคต สถาบันที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ตรวจสอบอัญมณี นิตยสารเกี่ยวกับเพชรพลอยทั่วโลก ส่งคนไปทำข่าวเรื่องอิละกากะ- ความหวังใหม่ของคนขุดพลอย และพ่อค้าอัญมณี
      ในแง่วิธีการขุดพลอย ชาวมาลากาซีใช้เทคนิคไม่ต่างจากคนเมืองจันท์สมัยก่อน (คงคล้ายของเขมร พม่า หรือที่อื่น ๆ ด้วย) คือจะขุดเป็นโพรงลงไปในดินจนถึงชั้นแร่ ถ้าพบสายแร่ หรือสังเกตสีของดินว่ามีโอกาสเจอพลอย ก็เอาชะแลงคว้านเป็นหลุม เรียกว่า "ตอง" ยิ่งเจอก็ยิ่งขุด หลังจากนั้นจึงตักดินขึ้นมาล้างเพื่อคัดแร่อีกครั้งหนึ่ง ผิดแต่คนที่นี่ไม่รู้จักใช้ไม้ค้ำยันภายในโพรง จึงเสี่ยงต่อการถูกดินถล่มทับตายมากกว่า
      ปัจจุบัน บริเวณปากบ่อพลอยเป็นเขตต้องห้ามของพ่อค้าไทย เพราะการไปซื้อถึงแหล่งขุดทำให้พ่อค้าคนกลางขาดรายได้ และเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วคือ ในที่ดินสัมปทานเหมืองแร่ของคนไทยถูกชาวบ้านบุกเข้าไปขุดพลอย นอกจากไม่อาจห้ามปรามพวกชาวบ้านได้แล้ว เจ้าของสัมปทานเองก็ไม่สามารถซื้อพลอยตรงปากบ่อได้ด้วย
(คลิกดูภาพใหญ่)

๔...

      "คนซื้อพลอยที่ประสบความสำเร็จ จะต้องรู้จักสีในอนาคตของพลอย" เฮียแปะตี๋แนะเคล็ดการดูพลอยเมื่อเราอยู่กันที่บ้านพัก แกบอกว่า พลอยที่สวยจนสามารถนำไปเจียระไนได้เลย ในธรรมชาติมีอยู่เพียง ๑-๒ เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะต้องนำไปเผาเสียก่อน ด้วยความร้อนประมาณ ๑,๔๐๐-๑,๘๐๐ องศาเซลเซียส แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน เสมือนช่วยบ่มแทนธรรมชาติให้พลอยสุกเร็วขึ้น แต่พลอยทุกเม็ด ที่นำขึ้นมาจากผืนดิน ใช่ว่าจะเผาให้สวยได้เหมือนกัน เนื่องจากพลอยจะมีทั้งสีเข้ม สีอ่อน และที่ยังไม่เกิดสี นอกจากนี้แต่ละก้อนจะมีหม่า เหลือบ หรือมลทินแตกต่างกัน บางก้อนก็มีรอยแตก มีฟองอากาศข้างใน
      นอกจากรูปทรง นักดูพลอยที่มีประสบการณ์ ย่อมให้ความสำคัญกับหม่า เหลือบ ที่เรียกรวม ๆ ว่า "เชื้อพลอย" มากกว่าอย่างอื่น เพราะเชื้อในเนื้อพลอยนี้ เมื่อนำมาผ่านความร้อนตามอุณหภูมิที่กำหนดแล้ว จะกลับใส และสีของเนื้อพลอยสดสวยขึ้น เชื้อในเนื้อพลอยแบบหนึ่ง ก็ให้ให้คุณภาพของสีและความสดใสแบบหนึ่ง นักดูพลอยจะต้องดูให้เป็น นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า "รู้จักสีในอนาคตของพลอย"
      เป็นไปได้ว่าพ่อค้าที่เจนจัด อาจซื้อพลอยมาราคาต้นทุนไซส์กะรัตละไม่กี่ร้อยบาท นำไปเผาแล้วขายได้ไซส์กะรัตละ ๕ หมื่นถึง ๑ แสนบาท เท่ากับเขาฟันกำไรเหนาะ ๆ จากพลอยเม็ดนั้นเป็นล้านบาททีเดียว แต่กว่าจะรู้ "สีอนาคต" เขาอาจต้องผ่านการเรียนรู้ และมีประสบการณ์ดูพลอยมานานนับ ๑๐-๒๐ ปี ต้องจดจำอย่างแม่นยำว่าพลอยกลุ่มใดเผาออกมาได้เกรดเอ เกรดบี เกรดซี
      จริงอยู่...พลอยทั้งสามเกรดสามารถขายได้ แต่สำหรับเกรดเอกับเกรดซีที่ขนาดเท่ากัน ราคาไซส์กะรัตต่างกันนับหมื่นบาท และขายได้เร็วกว่ากันด้วย
      ส่วนเฮียปื้ดบอกว่า การค้าขายอาจขึ้นอยู่กับโชค ว่าแต่ละวันจะมีพลอยเม็ดดี ๆ มาถึงเราหรือเปล่า ส่วนใหญ่ตอนเย็นมักจะมีโอกาส เพราะเขาล้างแร่กันตอนเย็น ๆ ถ้าเจอเม็ดงาม ๆ อาจมาเสนอขายเราก่อน ก็ขึ้นอยู่ว่าจะเปิดราคาเท่าไร ถ้าเปิดเพียงไม่กี่ร้อยบาทก็ถือเป็นโชคดี แต่เดี๋ยวนี้ส่วนมากพ่อค้าคนกลางจะเปิดราคาเหวี่ยงสูง ๆ ไว้ก่อน ทำให้ซื้อขายลำบากขึ้น

 (คลิกดูภาพใหญ่)       "บางทีเม็ดนั้นเพิ่งขุดได้ เขาดูว่าไม่มีอะไรก็ขายไปราคาถูก เช่นพ่อค้ามือแรกซื้อมา ๑ หมื่นบาท พอถึงเรา เราต่อ ๒ หมื่นบาท เขาก็ขายแล้ว" เฮียปื้ดเล่า แต่ก็บอกว่าของแบบนี้ไม่แน่นอน บางทีคนไทยไปซื้อมาเป็นล้านบาทแล้วขายได้ไม่กี่หมื่นบาทก็มี
      "ในวงการค้าพลอยถือว่าเรื่องปรกติ คือได้เร็วเสียเร็ว"
      เฮียปื้ดเป็นมือซื้อพลอยรุ่นเก๋าคนหนึ่งของบริษัทเวิลด์แซฟไฟร์ เคยตระเวนซื้อพลอยถึงศรีลังกา แทนซาเนียมากว่าสิบปี สำหรับประเทศหลัง เขาเคยติดอยู่ในป่าสองวัน กินแต่กล้วย เขาจึงพูดอารมณ์ดีว่า
      "ผมรอดจากแทนซาเนียมาได้ ให้ไปที่ไหนก็ไม่กลัวแล้ว"
      อันที่จริง หัวข้อที่ผมพูดคุยกับคนในบ้าน ไม่ได้มุ่งแต่จะ "ขุดพลอย" เป็นสรณะแต่ประการใด ส่วนมากเป็นเรื่องสัพเพเหระ เรื่องงานของผม ญาติพี่น้องของเขา ที่เที่ยวและอาหารการกินมากกว่า
      แม้หลายคนจะพูดคล้ายกันว่า ถ้าเลิกทำพลอยก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกิน "พวกเราคนจันท์ ทำแต่พลอยมาทั้งชีวิต" แต่ตามความเห็นผม ถ้าไม่ได้ทำพลอย...หลายคนน่าจะเปิดร้านอาหารได้ ผมจำได้ว่าตอนเจอพวกเขาครั้งแรกในตลาดพลอย โดยยังไม่ทันคุยกันเรื่องงาน พวกเขาย้ำถึงสองครั้งว่า "วันนี้ที่บ้านทำข้าวเหนียวไก่ทอด...เสียดายเมื่อวานมาไม่ทัน มีขนมจีนแกงเขียวหวาน" หลังจากนั้นวันถัดมา เมื่อพี่ ๆ ผลัดกันเข้าครัวทำข้าวผัดปู น้ำพริกไข่ปู (ของทะเลทุกชนิดราคาถูกและมีขนาดใหญ่มาก) และก๋วยเตี๋ยวน้ำ ผมก็ยิ่งนึกโกรธโชเฟอร์ที่จอดเยี่ยมญาตินานอย่างน่าเกลียด มากขึ้นเป็นทวีคูณ
      เฮียแปะตี๋ เฮียปื้ด และน้อง ๆ ในบริษัท อาศัยรวมกันในบ้านหลังใหญ่ริมถนน ภายในมีเครื่องอำนวยความสะดวก รวมทั้งอาหารการกินพอสมควร ไม่ถึงกับขาดแคลนหรือเฉาตายช่วงเวลาสามเดือนที่อยู่ซื้อพลอย นอกจากนี้ยังมีแม่บ้านมาลากาซีช่วยงานซักล้างภายในบ้านอีกหลายคน
      ความเป็นเพื่อนร่วมงานซึ่งอยู่กันแบบพี่น้องน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ "ครอบครัว" นี้แตกต่างจากบ้านหลังอื่น ๆ สมาชิกทั้ง ๑๔ คนจะผลัดกันหิ้วพลอยกลับเมืองไทย และถือโอกาสพักไปด้วย บางคนเป็นพี่น้องกับเจ้าของบริษัท เป็นญาติห่าง ๆ และที่ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าลูกน้องที่ไว้วางใจ ทุกคนจะกินอยู่รวมกันลักษณะกงสี และทำหน้าที่แยกย้ายกันซื้อพลอยให้บริษัทในลักษณะหุ้นส่วน เอาเงินกองกลางซื้อพลอย ส่งกลับไปผ่านกระบวนการแต่งแล้วขายได้เท่าไร ที่เหลือเป็นกำไรแบ่งคนละครึ่ง ถ้าขาดทุนก็ต้องจ่าย
(คลิกดูภาพใหญ่)       แม้การตัดสินใจซื้อพลอยจะทำอย่างอิสระ แต่พวกเขาปรึกษากันตลอดเวลา ไม่ว่าในและนอกตลาด ซึ่งทั้งหมดเท่ากับสนับสนุนข้อสังเกตที่ว่า "ส่วนมากการทำพลอยนั้นเป็นธุรกิจในครอบครัว สืบทอดต่อกันเป็นรุ่น ๆ"
     จากเนินหน้าบ้านหลังนี้ มองไปทางด้านใต้ตามแนวถนนจะเห็นแอ่งเมืองอิละกากะ มีบ้านเรือนกระจุกตัวรวมกันอยู่สองฟากถนนนับพัน ๆ หลัง ไปจนถึงเนินฝั่งตรงข้าม หากเทียบกับรูปถ่ายเมื่อสามสี่ปีที่แล้วในมุมเดียวกัน สมัยนั้นอิละกากะยังมีสภาพเป็น "หมู่บ้าน" ขนาดไม่ถึง ๒๐ หลังคาเรือน แต่ทุกวันนี้มีโรงแรม ตลาดสด บาร์ ดิสโกเธคครบครัน ขาดก็แต่ตู้เอทีเอ็มเท่านั้น บนถนน รถเรโนลด์กัตร์ของคนมาลากาซี รถขับเคลื่อนสี่ล้อของพ่อค้าพลอยโฉบไปมาคึกคัก
      ในบริเวณใกล้เคียง ผมพบบ้านของคนไทยอีกหลายหลัง ส่วนมากจะมาจากกรุงเทพฯ และจันทบุรี เป็นบ้านที่เจ้าของลงทุนปลูกเองบ้าง บางหลังก็เช่าอยู่กันสองสามคน ขึ้นอยู่กับศักยภาพและกำลังเงินของกลุ่มเป็นสำคัญ ในจำนวนประชากรอิละกากะเกือบแสนคน มีคนไทยปะปนอยู่ราว ๑๕๐ คน รวมทั้งโรงแรมหนึ่งแห่งที่เป็นของนักธุรกิจไทย ช่วงเวลาเย็นพวกเขาจะพากันเดินออกกำลังกายขึ้นเนินไปทางอุทยานแห่งชาติอิซาโลเป็นกลุ่ม ๆ
      ในแง่ของการค้า แต่ละบ้านหรือแต่ละกลุ่มจะซื้อพลอยในสไตล์ของตัวเอง หรือ "ล็อก" ที่ตัวถนัด ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ สี รูปร่าง ขนาด และคุณภาพผลึกก้อน เช่น กลุ่มเวิลด์แซฟไฟร์ถนัดซื้อพลอยน้ำเงิน พลอยชมพู เม็ดเล็ก คุณภาพปานกลาง เนื่องจากการซื้อพลอยจะเกี่ยวโยงไปถึงเทคนิควิธีเผาพลอย ซึ่งแต่ละบริษัทมีทีมงานของใครของมัน และมักปกปิดเป็นความลับ ทีมเผาพลอยแต่ละทีม จะมีความเชี่ยวชาญพลอยเฉพาะประเภทของตัว ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อพลอยข้ามล็อก
      ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทจึงบอกว่าการซื้อพลอยตามล็อก ซื้อเม็ดไม่ใหญ่นัก แต่เอาปริมาณนั้น อาจกำไรน้อย แต่อัตราเสี่ยงต่อการขาดทุนจะลดไปมากทีเดียว
 (คลิกดูภาพใหญ่)

๕...

      สาย ๆ วันที่ ๓ ในอิละกากะ ผมได้ยินคนมาบอกข่าวว่า เพื่อนคนไทยในบ้านหลังหนึ่งป่วยเป็นมาลาเรีย ต้องพาส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน พร้อมกับเอ่ยปากขอยืมรถพี่ ๆ ที่บ้าน ทีแรกผมยังคิดที่จะตามไปด้วย แต่ก็ติดขัดบางอย่างทำให้ไม่ได้ไป พอตกบ่ายก็มีชายไทยรูปร่างสูงโปร่ง เดินเข้ามาด้วยท่าทางเครียดและเหนื่อยสุดชีวิต พูดกับเฮียแปะตี๋ว่าเขาถูกล้วงกระเป๋า พลอยที่ซื้อไว้ประมาณ ๒ ล้านกว่าบาทหมดเกลี้ยง คนผู้นี้ก็คือลูกพี่ของผู้ป่วยมาลาเรียนั่นเอง โดยเข้าใจว่าพลอยถูกฉกจากกระเป๋าเสื้อแจ็กเก็ต ขณะกำลังประคองคนป่วยในโรงพยาบาล เพราะมีคนเข้ามาชน และผิดสังเกตเอาทีหลังว่า นักล้วงมีเพื่อนร่วมแก๊งรออยู่อีกสองคน
      เขามาก็เพื่อขอร้องเฮียให้ช่วยสังเกต เผื่อมีการย้อนศรนำพลอยที่ถูกขโมยกลับมาขายในช็อป ถ้าเจอก็ให้ล็อกตัวหรือแจ้งตำรวจจับไว้ ทั้งนี้เพราะเฮียเป็นคนที่ได้เห็นพลอยของเขาทุกเม็ด
      หลังจากนั้น เฮียแปะตี๋คุยกับเพื่อน ๆ ว่า บางคนไม่ชอบเก็บพลอยไว้ที่บ้านเพราะกลัวไม่ปลอดภัย ซึ่งคนร้ายจะรู้ว่าใครชอบพกพลอยไว้กับตัวตลอดเวลา และก็สะกดรอยตามเพื่อหาโอกาสฉกชิง สำหรับกรณีนี้ โอกาสได้ของคืนคงยาก คนร้ายคงหนีไปไกลแล้ว และก็ไม่น่าจะชะล่าใจขนาดนำของกลับมาเวียนขายอีก
      ช่วงสั้น ๆ ที่ผมอยู่อิละกากะมี "เหตุ" เกิดไม่น้อย คนในบ้านเล่าว่าช่วงนี้ดีขึ้นบ้างเพราะพวกมาเฟียไปที่บ่อพลอยแดง บริเวณภาคกลางกันเสียส่วนใหญ่ ขนาดอย่างนั้นเมื่อเดือนก่อนพวกอันธพาลก็บุกไปล้อมบ้านของแขกศรีลังกาแล้วยิงปืนถล่ม และอีกครั้งหนึ่งก็ชาวศรีลังกาถูกยิงตาย--
      "พวกนี้เวลาหักหลังเรื่องผลประโยชน์เอากันถึงตาย"
      ในบ้านหลังนี้มีตู้เซฟเก็บพลอยและของมีค่าหลายใบ ยอมจ่ายค่าจ้างตำรวจเฝ้าบ้าน คืนละสองคนในอัตราที่แพง นอกจากนี้ยังมีมาตรการด้านความปลอดภัยอีกมากมาย โดยเฉพาะยามมีคนภายนอกเข้ามาเสนอขายพลอย ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
      "คนพื้นเมืองมีทั้งดีและเลวเหมือนกับทุกประเทศ คนที่ค้าขายกันประจำที่ดี ๆ ก็มีเยอะ" เฮียตี๋พูด เขาว่า คนที่มาจากร้อยพ่อพันแม่อย่างเมืองนี้ และทุกคนมีจุดประสงค์เพื่อ "ขุดทอง" ย่อมวุ่นวายเป็นธรรมดา

(คลิกดูภาพใหญ่)

      "คนบางจำพวกก็คอยแต่จะเอารัดเอาเปรียบอย่างเดียวเพียงเพราะเห็นเราเป็นคนต่างชาติ"
      "พ่อค้าที่นี่ก็อยากค้าขายนาน ๆ ไม่อยากมีปัญหากับใคร เวลามีเรื่องเลยไม่อยากเปิดเผยตัวออกหน้า"
      แม้หนทางจะไกล ชีวิตต้องสุ่มเสี่ยงหลายด้าน ทั้งปล้นจี้ วิ่งราว อิทธิพลเถื่อน ถูกโกงด้วยเล่ห์สารพัด แต่แรงดึงดูดจากพลอยหลากสี ทำให้ "ภาคเอกชน" ของไทยเดินหน้ามายังมาดากัสการ์ปีละนับพันคน ที่ปักหลักอยู่ประจำก็น่าจะราว ๓๐๐-๔๐๐ คน
      คนที่ผมเจอะเจอ ล้วนหงุดหงิดกับการเพิกเฉยต่อความช่วยเหลือของรัฐบาลไทย ทุกคนฝากเรียกร้องให้รัฐบาล จัดตั้งสถานทูตประจำกรุงอันตานานาริโวขึ้น แทนที่จะพ่วงมาดากัสการ์ ไว้กับสถานทูตประจำประเทศแอฟริกาใต้ อย่างที่เป็นอยู่ พวกเขากล่าวอย่างเหนื่อยอ่อน และน้อยใจว่า ธุรกิจค้าพลอยทำรายได้ให้ประเทศไทยปีละมหาศาล ช่วยคนในประเทศมีงานทำ หากรัฐบาลไทยไม่เคยช่วยเหลือส่งเสริม ผิดกับรัฐบาลของบางชาติ ที่เข้าไปสนับสนุนอย่างดี ไม่ว่าการขอสิทธิพิเศษในการขอสัมปทานทำเหมืองแร่ หรือสิทธิ์ที่จะเข้าไปซื้อพลอยถึงปากบ่อ แต่ขณะนี้ ในกรุงอันทานานาริโวไม่มีแม่แต่สถานกงสุลไทย
      พลอยที่นำเข้ามาจะผ่านกระบวนการแต่ง เผาและเจียระไน จากนั้นส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปจำหน่าย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอิสราเอล อีกส่วนนำไปทำเครื่องประดับตัวเรือน เพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ หรือขายให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้อในประเทศ จึงสามารถกล่าวได้กว่าร้อยละ ๙๐ ของวัตถุดิบทั้งหมด จะถูกผลิตและส่งออกสู่ต่างประเทศ ทับทิมและไพลินจึงถือเป็นยุทธศาสตร์ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งระบบของไทย เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในบรรดาสินค้าประเภทนี้นอกเหนือจากเพชร จากสถิติมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในรอบห้าปีที่ผ่านมา (ปี ๒๕๓๙-๒๕๔๓) พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ในปี ๒๕๔๓ ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นเป็น ๖๒,๐๐๐ ล้านบาท เทียบกับมูลค่า ๕๔,๒๗๒ ล้านบาทในปี ๒๕๓๙ (หมายเหตุ : หลังเหตุการณ์ "๙/๑๑" ถล่มอเมริกา ทำให้ราคาพลอยตกลง ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ ตลาดการค้าอัญมณีทั้งระบบซบเซาลง ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ จากปีที่ผ่านมา)


(คลิกดูภาพใหญ่)

เอกสารอ้างอิง

      "ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า" เมธี จึงสงวนสิทธิ์. ๒๕๔๔
      "มาดากัสการ์ : ธุรกิจอัญมณีไทย...ครองทำเลลงทุนอันดับ ๑" มองเศรษฐกิจ 
      ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉบับที่ ๘๕๔ (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)
      "พลอยจันทบูร ความมหัศจรรย์แห่งการคงอยู่" โดย กฤษณะ ช่างกล่อม จันทบุรี 
      เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน . ๒๕๓๘
      "Rubies and Sapphires" by Fred ward National Geographic October 1991


 

ขอขอบคุณ

      คุณพรชัย ชื่นชมลดา และสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ที่สนับสนุนการเก็บข้อมูลสารคดีเรื่องนี้ 
      คุณเมธี จึงสงวนสิทธิ์, เกรียงศักดิ์ เจียรพุฒิ และกฤษดา ภูริปัญญาวานิช. สำหรับแหล่งพักพิงและความช่วยเหลือทุก ๆ ด้าน
      เฮียแปะตี๋, คุณทวีศักดิ์ น้ำแก้ว, ธเนศ ศรีบุษราคัม , นุ แห่งบริษัทเวิลด์แซปไฟร์
      บริษัทเวิลด์ลีดิสคัฟเวอรี และครอบครัวกรรชิงโชติ