สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ "ล่าพลอยสีชมพู สุดขอบฟ้ามาดากัสการ์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕  

การกลับมาของกระทิงแห่งเขาแผงม้า


(คลิกดูภาพใหญ่)
เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ภาพ : ชัยชนะ จารุวรรณากร

      "เห็นง่ายกว่ากวางบนเขาใหญ่เสียอีก"
ผมรำพึงกับตัวเองเบา ๆ ขณะที่สายตาจ้องมองกระทิงแปดเก้าตัว กำลังเดินหากินบนเขาแผงม้าที่ความสูง ๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ในเย็นวันหนึ่งที่ลมกรรโชกแรงและลมหนาวมาเยือนเร็วกว่าปรกติ
      ตอนนั้นเป็นเวลาห้าโมงเย็นเศษ ดวงอาทิตย์หลบเข้าเมฆก้อนใหญ่ก่อนจะลับฟ้า ฝูงกระทิงอยู่ห่างจากผมไปไม่ถึง ๒๐๐ เมตร กำลังกินใบกล้วยและยอดหญ้า พลางเงยหน้าขึ้นสูดกลิ่นในอากาศเป็นระยะด้วยความระแวดระวัง โชคดีที่เราอยู่ใต้ลม มันจึงไม่ได้กลิ่นเรา
      บรรดานักท่องไพรคงทราบดีว่า การซุ่มดูกระทิงตามโป่งหรือหนองน้ำนั้น โอกาสจะเจอตัวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างยิ่ง บางคนแม้จะใช้เวลาไปซุ่มโป่งอยู่หลายวันติดกัน แต่ก็ต้องผิดหวังไม่เห็นแม้วี่แวว 
      สิบกว่าปีมานี้ ผมมีโอกาสไปซุ่มโป่ง และเดินป่าตามรอยกระทิงในป่าห้วยขาแข้ง และป่าเขาใหญ่อยู่หลายหน หน้าแล้งฝ่าดงเห็บ หน้าฝนฝ่าดงทาก โอกาสพบกระทิงมีน้อยมาก บางครั้งเห็นไกล ๆ พอค่อย ๆ ย่องเข้าไป ลมเกิดเปลี่ยนทิศกะทันหัน กระทิงได้กลิ่นแปลกปลอมก็เผ่นเตลิดจนฝุ่นตลบ
        แต่สำหรับการดูกระทิงในครั้งนี้ ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงสามชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ขับรถขึ้นเขาแผงม้า ลงจากรถและเดินเข้าพงไปไม่ถึง ๑๐๐ เมตร เฝ้ารอสักพักหนึ่ง หากไม่โชคร้ายเกินไป กระทิงสีดำทะมึนตัวสูงท่วมหัว ขนาดเท่ารถปิกอัปน้ำหนักร่วม ๑ ตัน ก็โผล่มาต่อหน้า
      อาจจะเป็นที่เดียวในประเทศไทย ที่เรามีโอกาสเห็นกระทิงตามธรรมชาติได้ง่ายดายเช่นนี้
      เขาแผงม้าไม่ใช่สวนสัตว์แบบเขาดิน หรือเป็นอุทยานแห่งชาติภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ ในอดีตเขาแผงม้าเป็นป่าดิบผืนใหญ่ ก่อนจะถูกผู้คนบุกรุกจนเสื่อมโทรมกลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น กระทั่งเมื่อหลายปีก่อน องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งได้ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่นับหมื่นไร่ ให้กลับมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จนกระทิงฝูงใหญ่กลับมาหากินในป่าเขาแผงม้า เป็นข่าวใหญ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางมาดูกระทิงที่เขาแผงม้าไม่ขาดสาย
      แต่กว่าที่ป่าจะฟื้น กระทิงจะกลับมา เบื้องหลังคือความขัดแย้ง ความเหนื่อยยาก และความกล้าหาญ ไม่หวั่นเสียงปืนของผู้มีอิทธิพลที่คำรามกลางป่าอยู่หลายปีกว่าควันปืนจะจางหาย
(คลิกดูภาพใหญ่)

ไฟป่าและเขาแผงม้า

     เขาแผงม้าเป็นชื่อที่ชาวบ้านแถวอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เรียกเทือกเขาแห่งหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายแผงคอม้า มีอาณาเขตเชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เทือกเขาแห่งนี้มีพื้นที่ ๓ หมื่นกว่าไร่ ในอดีตมีสภาพเป็นป่าดิบชื้น มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น กรมป่าไม้ประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติเขาภูหลวง ภายหลังถูกประชาชนบุกรุกเข้าจับจองเปลี่ยนป่าเป็นไร่พืชเกษตร ในฤดูแล้งยังเกิดไฟป่าเป็นประจำทุกปี
      "สมัยก่อนชาวบ้านเรียกเขาแผงม้าว่า ภูเขาไฟ เพราะหน้าแล้งจะเกิดไฟป่าทุกปี สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากชาวบ้านเผาป่าเพื่อทำให้เกิดหญ้าระบัด ง่ายต่อการล่าสัตว์ ไฟไหม้แต่ละครั้งนานเป็นเดือน ควันไฟเห็นแต่ไกลหลายสิบกิโล ยิ่งตอนกลางคืนเห็นไฟสีแดงฉานเต็มเขา" พี่อรทัย โจษกลาง หรือพี่เบิ้ม หนุ่มใหญ่อดีตเกษตรกรชาวอำเภอปักธงชัย ผู้มาร่วมบุกเบิกปลูกป่าบนเขาแผงม้าเมื่อเจ็ดปีก่อน ชี้ให้เราดูพื้นที่ปลูกป่า ในความดูแลของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในวันแรกที่เราเดินทางมาถึง 
      หญ้าระบัดคือหญ้าที่เพิ่งแตกใบอ่อนขึ้นมาภายหลังการเกิดไฟป่า เป็นอาหารโปรดของสัตว์กินพืชพวก เก้ง กวาง ซึ่งมักจะออกมากินหญ้าอ่อน โดยหารู้ไม่ว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของนายพราน ที่วางกับดักหรือมาซุ่มยิง
      "พวกนายพรานคงไม่ตั้งใจทำให้เกิดไฟป่าหรอก แต่ทุกครั้งพอจุดไฟแล้ว ไฟมันก็ลามทุ่งไปเรื่อย ๆ ไม่มีใครไปดับหรอก เหมือนกับชาวบ้านที่จุดไฟเผาซากไร่ของตัวเองก่อนจะปลูกพืชไร่ในฤดูกาลใหม่ แล้วไฟมันลามขึ้นบนเขา เลยเกิดไฟป่าบนเขาแผงม้าทุกปี ฝีมือคนทั้งนั้น ไม่ใช่ผีสางเทวดาที่ไหนหรอก" พี่เบิ้มย้ำ
      ลำพังไฟป่า ไม่ใช่ตัวการสำคัญที่ทำให้ป่าใหญ่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ เช่นเขาแผงม้า กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่การบุกรุกป่าทำไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด และการลักลอบตัดไม้ขนาดใหญ่พวกไม้มะค่า ไม้ยาง ไม้ตะแบก น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้ป่าดิบชื้นกลายสภาพมาเป็นภูเขาหัวโลน 
      วันหนึ่งในปี ๒๕๓๗ นิคม พุทธา อดีตลูกจ้างกรมป่าไม้ซึ่งลาออกมาทำงานกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการพัฒนาชนบท เพื่อการอนุรักษ์ชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้นำพรรคพวกเดินเท้าขึ้นมาสำรวจบริเวณเขาแผงม้า เพื่อหาพื้นที่ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี

(คลิกดูภาพใหญ่)       "เทือกเขาแผงม้าเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การฟื้นฟู ให้มีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม เพราะเป็นป่าต้นน้ำ น้ำจากลำห้วย ๗ แห่งที่ไหลผ่านหมู่บ้านรอบภูเขา ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากเขาแผงม้า และยังเป็นต้นน้ำลำพระเพลิง ที่ไหลลงสู่แม่น้ำมูล ไปหล่อเลี้ยงชาวอีสานอีกด้วย พวกผมสี่ห้าคนเดิน สำรวจเขาแผงม้าครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๗ ต้องตัดทางเดินเท้ากันขึ้นมา พบว่าเป็นภูเขาหัวโล้น อากาศร้อนมาก มองไปสุดลูกหูลูกตา มีแต่ความแห้งแล้ง ไฟป่าเพิ่งผ่านไปไม่นาน หญ้ากำลังระบัด ต้นไม้ใหญ่อย่างไม้ยาง ไม้ตะแบกมีบ้างเล็กน้อย กระจายอยู่ตามสันเขาและร่องห้วย แต่แหล่งน้ำหายากมาก" นิคม พุทธา หัวหน้าโครงการปลูกป่าฯ เขาแผงม้าคนแรก ปัจจุบันไปทำงานพัฒนาแถวภาคเหนือ เดินตามมาสมทบ เล่าความเหนื่อยยาก ของการปลูกป่าในช่วงแรกให้ฟัง
      "ผมจำได้ว่าวันนั้นเดินหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอน้ำ จวนจะมืดค่ำอยู่แล้ว พอดีชาวบ้านที่ขึ้นมาด้วยเดินไปพบร่องรอยกระท่อมเก่าของชาวบ้านที่มาทำไร่ โดยปรกติชาวบ้านจะปลูกกระท่อมใกล้แหล่งน้ำ เราจึงคิดว่าแถวนี้น่าจะมีแหล่งน้ำซับบ้าง พอเดินหาสักพักก็พบตาน้ำเล็ก ๆ มีน้ำขังอยู่นิดหน่อยพอหุงข้าวกินได้ คืนนั้นจึงนอนค้างแรมบนเขา " พี่เบิ้มเล่าเสริม
      รุ่งเช้า คณะก็ออกสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด พบว่าบริเวณนี้มีที่ราบ มีหุบเขา ร่องห้วย และมีแหล่งน้ำพอใช้ปลูกป่าได้ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอันดับแรกคือ จะนำกล้าไม้จำนวนมหาศาล จากข้างล่างขึ้นมาปลูกบนเขาได้อย่างไร
      โชคดี ปรโลกานนท์ หรือพี่โชค หัวหน้าโครงการปลูกป่าฯ เขาแผงม้า อดีตนักศึกษาเกษตร ที่มาใช้ชีวิตในชนบทร่วม ๒๐ ปี เล่าให้ฟังว่า
        "เราคะเนว่ามีพื้นที่ปลูกป่าประมาณหมื่นกว่าไร่ คำนวณดูแล้ว ถ้าใช้กล้าไม้ไร่ละ ๑๗๐ ต้น ต้องใช้กล้าไม้ถึง ๒-๓ ล้านต้น จำเป็นต้องตัดถนนใช้รถขนกล้าไม้ขึ้นมา เพราะถ้าแบกกล้าไม้ขึ้นมาเอง ใช้เวลาสามปียังแบกขึ้นมาไม่หมดเลย เช้าวันนั้นเราออกสำรวจพื้นที่ที่จะตัดเส้นทาง ผมกับพี่เบิ้มเดินดูว่าตรงไหนที่พอจะตัดถนนได้ ก็เอาไม้ปักเป็นแนว เราต้องไปประสานกับชาวบ้านเจ้าของที่ดิน ตรงทางขึ้นตีนเขา ขออนุญาตเขาตัดทางขึ้นมา"
      ลำพังการตัดเส้นทางเพื่อใช้ขนกล้าไม้ ยังไม่ใช่อุปสรรคหนักหนา เพราะปัญหาที่รออยู่ข้างหน้าคือ ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการปลูกป่าต่างหาก และปัญหาใหญ่ที่คิดไม่ตกคือ จะเข้าไปปลูกป่าบนเขาแผงม้าได้อย่างไร ในเมื่อพื้นที่รอบเขาแผงม้า ถูกชาวบ้านบุกรุกจับจองถือครองที่ดินโดยผิดกฎหมาย และลุกลามจากเชิงเขาขึ้นไปถึงยอดเขา ต่อมาชาวบ้านหลายราย นำที่ดินไปขายถูก ๆ ให้นายทุนผู้มีอิทธิพลจากอำเภอวังน้ำเขียว และนายทุนจากจังหวัดสระบุรีที่มากว้านซื้อที่ดิน
      "ที่ดินบางแห่งถูกมาก ไร่ละแค่เป็นพันบาท บางที่เอาไก่ไปแลกก็ยกที่ให้แล้ว" พี่เบิ้มบอก 
      "เมื่อกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้เขาแผงม้า เป็นพื้นที่ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ เราจึงสำรวจอย่างจริงจัง พบว่าบริเวณรอบ ๆ เขาแผงม้าส่วนใหญ่กลายเป็นไร่ข้าวโพด และไร่มันสำปะหลังของเกษตรกร ทั้งรายย่อยรายใหญ่ จนไม่สามารถพลิกฟื้นเป็นผืนป่าได้ เหลือเพียงพื้นที่ราว ๕,๐๐๐ ไร่บนยอดเขาหัวโล้นที่พอจะปลูกป่าได้ แต่ก็มีนายทุนครอบครอง ซึ่งเราต้องหาทางเจรจาต่อไป" พี่โชคเริ่มต้นเล่าปัญหาให้ฟังเมื่อเราเดินทางต่อมาที่มอฟ้าผ่า เนินเขาแห่งหนึ่งในเทือกเขาแผงม้า ตรงนี้มีต้นตะค้ำที่ชาวบ้านเล่าว่าโดนฟ้าผ่าเป็นประจำจนเป็นที่มาของชื่อมอฟ้าผ่า เมื่อทอดสายตาลงมาจากมอฟ้าผ่า ก็เห็นว่าเทือกเขาดูเขียวขจีด้วยมีต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่ทั่ว หญ้าคาที่เคยเป็นพืชปกคลุมทุกหย่อมย่านค่อย ๆ หายไป กล้วยป่า ประดู่ มะค่า ไทร และไม้ยืนต้นชนิดต่าง ๆ กำลังมาแทนที่ แม้อายุยังไม่ถึงสิบปี
(คลิกดูภาพใหญ่)       "พอลงมาจากเขา เรากลับไปเขียนโครงการปลูกป่าอย่างละเอียด ทำแผนเสนอมูลนิธิคุ้มครองฯ ว่า ต้องใช้งบประมาณราว ๑๐ ล้านบาทในการปลูกป่าสามปี ตกปีละ ๒-๓ ล้านบาท ปรากฏว่ามูลนิธิฯ ไม่มีงบประมาณ ไม่รู้จะหาเงินได้อย่างไร จึงให้ระงับโครงการไว้ก่อน แต่นิคมเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นมาก ในขณะที่ผมเริ่มลงพื้นที่ปลูกป่าลุยไปก่อน นิคมก็ไปวิ่งเต้นหมุนเงินมาได้ ๓ แสนบาทให้ผมทำงานไปพลาง ๆ ผมเอารถไถมาทำเป็นทางชั่วคราวขึ้นยอดเขา พี่เบิ้มก็เอาไม้ไผ่พาดกับต้นขนุน ทำเป็นเพิงอยู่ชั่วคราวบนเขานี้ หลังจากนั้นก็เริ่มจ้างรถแบ็กโฮตัดถนน นิคมเริ่มไปติดต่อตามบริษัทต่าง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ปรากฏว่าแค่เดือนเดียวเราได้แหล่งทุนที่จะมาสนับสนุนเป็นเงิน ๒ แสนบาท"
      ช่วงเวลานั้นประเทศยังไม่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทต่าง ๆ ที่มีฐานะมั่นคงจึงแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โดยให้เงินทุนสนับสนุนการปลูกป่าไร่ละ ๓,๐๐๐ บาท
      นิคม พุทธา ย้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งต้องสวมสูทผูกเน็กไท เปลี่ยนสภาพจากนักเดินป่ามาเป็นนักขายโปรเจ็กต์ 
      "ผมเริ่มไปหาข้อมูลที่กรมป่าไม้ว่าบริษัทใดจองพื้นที่ปลูกป่าบ้าง ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำให้ไปเสนอโครงการปลูกป่ากับบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม จากนั้นคนที่บริษัทกองทุนรวม ก็แนะนำให้ผมไปเสนอโครงการ กับทางบริษัทหลักทรัพย์สินเอเซีย ผมใช้วิธีเข้าพบผู้บริหาร พูดคุยและฉายสไลด์อธิบายโครงการ ชวนเขาไปดูพื้นที่ที่เขาแผงม้า อธิบายให้เขาฟังถึงความตั้งใจในการฟื้นป่าต้นน้ำแห่งนี้ วิธีการปลูกป่าที่เราให้ชาวบ้านรอบป่ามีส่วนร่วมในการดูแล ประกอบกับชื่อเสียงของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ เขาจึงมั่นใจในโครงการปลูกป่าของเรา และให้เงินสนับสนุนเราในที่สุด"
      เมื่อเหตุการณ์บังคับ นักอนุรักษ์ที่จบการศึกษาเพียงแค่ระดับมัธยม ก็สามารถหาเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทต่าง ๆ ได้ถึง ๑๕ ล้านบาท เพื่อพลิกฟื้นป่าเขาแผงม้า และขยายเวลาดูแลโครงการปลูกป่าจากสามปีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
(คลิกดูภาพใหญ่)

เรื่องเล่าบนขุนเขา

      วันรุ่งขึ้นเราเดินทางลงไปหุบวังทองหลาง หุบแห่งหนึ่งในเขาแผงม้า ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนมีสภาพไม่ต่างจากเขาหัวโล้น แต่ปัจจุบันกำลังจะเป็นป่าสมบูรณ์ มีต้นประดู่ ปอหูช้าง ขี้เหล็ก ตีนเป็ด นนทรี อายุหกเจ็ดปีให้เห็นเป็นระยะ ไม้ท้องถิ่นพวกนี้ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการปลูกป่าฯ ช่วยกันปลูกแซมกับต้นไม้ชนิดอื่น 
      เขาแผงม้าเป็นภูเขาดิน มีชั้นหน้าดินหนาเหมาะที่จะปลูกป่า ยังพอมีพรรณไม้ท้องถิ่นหลงเหลืออยู่ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่มขนาดกลาง ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป การปลูกป่าจึงได้วางแผนที่จะรักษาไม้ท้องถิ่นไว้เป็นสำคัญ
      "ปีแรก ๆ เรายังไม่มีความชำนาญในการปลูกป่า ยังใช้วิธีการปลูกป่าแบบเดิม ๆ คือเราจะถางป่า ไถพรวนหน้าดิน เลือกปลูกไม้ประดู่ หรือปลูกไม้สักชนิดใดชนิดหนึ่งแบบเรียงแถวเหมือนสวนป่า หากมีต้นไม้อื่นแซมขึ้นมาก็ถางทิ้ง ต่อมาเราได้เรียนรู้จากชาวบ้าน จึงค่อย ๆ เปลี่ยนวิธีการปลูกป่ามาเน้นการฟื้นตัวของป่าตามธรรมชาติ และในป่าจริง ๆ ต้นไม้ก็ไม่ได้ขึ้นเป็นระเบียบ หรือมีต้นไม้เพียงชนิดเดียว เราจึงไม่ไถพรวนหน้าดิน ไม่เก็บริบสุมเผา ไม่ตัดฟันไม้ท้องถิ่น และไม่นำพืชพันธุ์ไม้ต่างถิ่นเข้าไปปลูก ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าหญ้า และเริ่มปลูกจากยอดเขาลงมาบริเวณไหล่เขาและพื้นที่ราบ เวลาปลูกหากมีหญ้าคาปกคลุมก็เหยียบหญ้าคาให้ราบ แล้วขุดดินเป็นหลุมเอากล้าไม้ปลูกลงไป" พี่โชคอธิบาย "ชาวบ้านยังรู้ด้วยว่า หญ้าคาถ้าไฟไม่ไหม้ และไม่ถางมันสักสองสามปี มันจะทับชั้นกัน" 
      "หมายความว่าอย่างไรครับ ทับชั้นกัน" เราเริ่มสงสัย
      "คือโดยธรรมชาติของหญ้าคา เมื่อเราไปถางมันก็จะแตกขึ้นมาใหม่ หรือถ้าหญ้าคาโดนไฟมันก็จะแตกดอกเลย แต่ถ้าปล่อยให้มันทับชั้นกันสักสองสามปี ต้นสาบเสือจะงอกขึ้นมาเอง พอสาบเสือโตขึ้นมา หญ้าคาก็จะหายไปกลายเป็นปุ๋ย ความชุ่มชื้นก็จะกลับมา พอสาบเสือเกิดมันก็เริ่มจะมีสังคมของสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง แมลงมากินน้ำหวาน พอมีสัตว์เล็กเข้ามา สัตว์ใหญ่ก็ติดตามมา เช่น หมูป่า ชะมด อีเห็น เม่น กระรอก กระแต กระต่ายป่า ค้างคาวก็เข้ามาเกี่ยวข้อง สัตว์พวกนี้แหละที่มาช่วยกระจายพันธุ์"

(คลิกดูภาพใหญ่)       ดังนั้นพันธุ์ไม้ส่วนหนึ่งที่ปลูกเสริมในป่า จึงมีคุณสมบัติเป็นอาหารให้แก่สัตว์ป่า รวมไปถึงนกชนิดต่าง ๆ อันได้แก่ หว้า ลิ้นจี่ป่า มะขามป้อม มะเดื่อ ไทรชนิดต่าง ๆ 
      พี่เบิ้มชี้ให้ดูเฟินประหลาดชนิดหนึ่งเรียกว่า เฟินกีบแรด รากของเฟินชนิดนี้เหมือนกีบแรด ชาวบ้านนิยมเก็บไปตากแดด เอามาต้มหรือดองเหล้ากินแก้ตะขาบ แมงป่องกัดต่อย ตอนนี้คนในเมืองกรุงนิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ
      ตามเส้นทางมีดงกล้วยป่าให้เห็นตลอด จนน่าจะเป็นพันธุ์ไม้เด่นชนิดหนึ่งของเขาแผงม้า กล้วยป่าถือเป็นต้นไม้เบิกนำในการฟื้นฟูป่าเพราะเติบโตเร็ว สามารถเก็บกักน้ำตามที่ลาดเชิงเขาได้ดี แถมยังเป็นอาหารสำคัญของสัตว์ป่าอีกด้วย
      "แล้วการปลูกป่าใช้น้ำจากไหนครับ" เราตั้งคำถามต่อ 
      "ปริมาณน้ำฝนบริเวณนี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งจัดว่าเพียงพอสำหรับกล้าไม้ที่ปลูกใหม่ ช่วงที่ปลูกต้นไม้ได้ดีที่สุดคือช่วงต้นฝน ชาวบ้านที่วังน้ำเขียว รู้ว่าฝนจะเริ่มตกต้นเดือนพฤษภาคม ดังนั้นหลังสงกรานต์เราจะขุดหลุมรอไว้ เตรียมกล้าไม้ให้พร้อม พอฝนตกมาสักสองครั้ง ความชื้นของดินในหลุมขุดได้ที่ เราก็จะไล่ปลูกไปเลย หนึ่งเดือนผ่านไปถ้าต้นไหนตายเราก็จะปลูกซ่อม พอสามเดือนรากใหม่เริ่มแตก งอกลงดิน ทำให้ต้นไม้แข็งแรง แต่ถ้าเราไปปลูกป่าปลายฤดูฝน จะไม่ได้ผล เพราะปลูกได้แป๊บเดียวก็ฤดูหนาวแล้ว ปริมาณน้ำฝนไม่พอ ทำให้ต้นไม้ไม่มีรากงอกยาวพอจะแทงทะลุลงดินได้"
(คลิกดูภาพใหญ่)       เมื่อฤดูหนาวมาเยือน ต้นไม้ชนิดต่าง ๆ อาทิ ประดู่ มะค่า จะหยุดการเจริญเติบโต เพื่อลดภาระการใช้น้ำ ใบไม้ป่าจะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีแดง สีเหลือง และสลัดใบทิ้ง รอไปจนหมดฤดูแล้ง พอฝนแรกมาเยือนต้นไม้จึงจะแตกใบอ่อนอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นการปลูกป่าในต้นฤดูฝนจึงเป็นจังหวะที่ดีที่สุด
      ในช่วงปีแรก ผู้ฟื้นป่าสามทหารเสือได้ระดมจ้างชาวบ้านรอบเขาแผงม้านับร้อยคนมาช่วยทำงาน ตั้งแต่เตรียมเพาะกล้าไม้ ขุดหลุม ปลูกป่าในช่วงหน้าฝน พอถึงหน้าแล้งก็เตรียมป้องกันไฟป่าโดยทำแนวกันไฟป่า ชิงเผา รวมไปถึงพูดคุยกับชุมชนรอบป่า ตั้งแต่กลุ่มผู้นำชุมชน พระสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มแม่บ้าน เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของการฟื้นป่าบนเขาแผงม้า นอกจากนี้ยังจัดค่ายเด็กและเยาวชนเพื่อถ่ายทอดความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชนเหล่านี้ไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดทางภาคอีสานและภาคกลาง บุกรุกเข้ามาตั้งบ้านเรือนในเขตป่าสงวน 
      พี่โชคย้ำว่า หัวใจสำคัญของการปลูกป่าคือการทำให้ชาวบ้านรอบ ๆ พื้นที่ป่ามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า ช่วงสี่ปีแรก ทางโครงการฯ จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากเพื่อปลูกต้นไม้และป้องกันไฟป่า จึงได้ว่าจ้างแรงงานท้องถิ่นโดยเฉลี่ยวันละ ๑๐๐-๑๕๐ คน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังหมู่คนยากคนจน คนที่มีอาชีพหาของป่า คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ต้องเร่งระดมกันปลูกต้นไม้
      เมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านรอบ ๆ ป่าเริ่มเข้าใจว่า ป่าช่วยรักษาพื้นที่ต้นน้ำของพวกเขา แต่สำหรับนายทุนผู้ครอบครองที่ดินผืนใหญ่ ดูเหมือนความไม่เข้าใจจะเริ่มต้นตั้งแต่วินาทีแรกที่คนเหล่านี้ย่างกรายมาถึง
(คลิกดูภาพใหญ่)

เสียงปืนนัดแรก

      "มึงรู้หรือเปล่ากูเป็นใคร มึงมาจากไหน ใครเป็นหัวหน้ามึง"
      นิคมยังจำคำพูดนี้ได้ดี เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเถ้าแก่ชลอ และลูกน้องเป็นครั้งแรก ขณะที่เขาง่วนอยู่กับงานตัดทางขึ้นเขาแผงม้า 
      "เถ้าแก่บอกว่า เขาเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดบนเขาแผงม้า เขาคิดว่าผมเป็นข้าราชการกรมป่าไม้ที่มาปลูกป่า จึงเรียกถามหาหัวหน้า ขู่ว่าจะไปแจ้งความว่าผมบุกรุกและทำลายทรัพย์สิน แม้ว่าผมจะพยายามอธิบายอย่างใจเย็นว่าผมไม่ใช่ข้าราชการ และไม่ได้มีเจตนามาหาประโยชน์ส่วนตัว ต้องการมาฟื้นฟูป่า แต่เขาไม่ยอมท่าเดียว" นิคมเล่าให้ฟังขณะนั่งพักอยู่ริมลำธารในหุบวังทองหลาง
      พื้นที่ปลูกป่าบนเขาแผงม้านั้น แม้ในทางนิตินัยจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่โดยพฤตินัยแล้ว คนแถวนั้นรู้กันว่า พื้นที่นับพันไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของเถ้าแก่ชลอ ซึ่งรับซื้อในราคาถูกมาจากชาวบ้านที่บุกรุก ดังนั้นเมื่อที่ดินของเถ้าแก่จะกลายเป็นป่า จึงเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้
      "ปรกติผมนอนในกระท่อมเล็ก ๆ เช้าวันหนึ่งผมตื่นมา บนโต๊ะนอกกระท่อมมีจดหมายวางอยู่ ข้อความในจดหมายมีว่า "ถ้ามึงไม่อยากตาย ให้รีบลงจากเขาไป" 
      พี่เบิ้มเล่าเสริมว่า "ภรรยาของพี่โชคก็โดนขู่ว่า ผัวมึงไม่ตายดีแน่ แม้กระทั่งชาวบ้านที่มาช่วยงาน ก็ถูกขู่ว่าทำงานบนเขาไม่ปลอดภัย ชาวบ้านจึงทยอยเก็บข้าวของลงไป ไม่ยอมขึ้นเขาอีก บอกว่าผู้ใหญ่บ้านเตือนว่าอยู่บนนี้ตายแน่ เอาหน้าอกมารับลูกปืนอย่างเดียว ผมต้องอยู่คนเดียว จึงไปตามคนแถวบ้านมาช่วยทำงานไปพลาง ๆ ก่อน"
      โครงการปลูกป่าจึงเดินหน้าต่อไปพร้อม ๆ กับเสียงด่าทอของลูกน้องเถ้าแก่ ที่มาชี้หน้าด่าพวกเขาว่า "อ้ายเหี้ยนี่พูดไม่รู้เรื่อง ระวังเถอะมึง"

        อยู่มาวันหนึ่ง ลูกน้องของเถ้าแก่ได้เชิญนิคมให้ไปเจรจากันที่โรงพัก มาทราบภายหลังว่า ลูกน้องของเถ้าแก่เป็นตำรวจที่นี่
      "ระหว่างนั่งเจรจากันอยู่ ลูกน้องก็นั่งขนาบข้าง เขาเรียกร้องให้เราลงจากเขาท่าเดียว แต่ผมก็ปฏิเสธอย่างใจเย็น สักพักหนึ่งลูกน้องของเขาอีกกลุ่มหนึ่งก็เปิดประตูเข้ามา ท่าทางไม่เป็นมิตร เหมือนจะมาดูหน้าผม ตอนนั้นผมทำใจแล้วว่าคงโดนซ้อมแน่ แต่ก็รอดมาได้" 
      หลังจากนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้นเป็นระยะ ทว่าการปลูกป่าก็เดินหน้าต่อ จนในที่สุดโครงการปลูกป่าฯ ก็เป็นที่รู้จักจากคนภายนอกมากขึ้น เมื่อนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้ลงไปเยี่ยมพื้นที่ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจึงมีท่าทีอ่อนลง และเริ่มเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของการปลูกป่า ประกอบกับเห็นว่า ไม่สามารถฝืนกระแสความต้องการของสังคมได้ เถ้าแก่ชลอจึงยอมบริจาคพื้นที่จำนวน ๑,๔๐๐ ไร่ให้มูลนิธิคุ้มครองฯ ปลูกป่าต่อไป 
      "เถ้าแก่เขาเป็นคนฉลาดและใจนักเลง เขาส่งคนมาดูเราปลูกป่าเป็นระยะ พอเห็นว่าเราต้องการพื้นที่ปลูกป่าถวายในหลวงจริง ๆ โดยไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือผลประโยชน์อันใดมาเกี่ยวข้อง จึงยินดีมอบที่ดินให้เราดูแล ตอนหลังเรายังเชิญเขามาดูที่ดินของเขา ที่ตอนนี้กลายเป็นป่าแล้ว ถึงวันตรุษจีน บ้านเถ้าแก่ไหว้เจ้า ก็เชิญเราไปกินเป็ดกินไก่ที่บ้านเขา ความสัมพันธ์จนถึงวันนี้ราบรื่นดี" 
      เป็นอันว่าเสียงข่มขู่ต่าง ๆ ก็จางหายไป ชาวบ้านที่เคยกลัวอิทธิพลมืด ก็กลับขึ้นเขามาปลูกป่า ในปี ๒๕๓๗ พวกเขาปลูกป่าได้ ๑,๒๐๐ ไร่ พอปีรุ่งขึ้น ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขมากขึ้น จึงสามารถปลูกป่าได้อีก ๓,๘๐๐ ไร่ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เราออกเดินทางกันต่อ ลัดเลาะไปตามลำห้วย ผ่านเครือสะบ้าใหญ่ เถาวัลย์ชนิดหนึ่งมีขนาดยาวนับร้อยเมตร ทอดจากพื้นดินไปตามเรือนยอดเพื่อหาแสงแดด เราก้มผ่านไม้เลื้อยชนิดหนึ่งเถาเป็นปุ่มใหญ่มีหนามโดยรอบ ชาวบ้านเรียกว่าเครืองูเห่า ใบอ่อนใช้กินแก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ
      สักพักหนึ่งเราก็เดินไปถึงดงต้นทองหลางอายุนับร้อยปี มีลำต้นขนาดสามคนโอบ กำลังออกดอกสีแดงบานสะพรั่ง ทองหลางเหล่านี้รอดพ้นจากการตัดทำลายมาได้ บริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยที่ไหลลงสู่ลำพระเพลิง ตาน้ำเล็ก ๆ หลายแห่งมีน้ำผุดอยู่ตลอดเวลาไหลไปรวมเป็นลำห้วย
      "ช่วงหน้าหนาวนกจะบินมาหากินแถวดงทองหลางเยอะมาก ทั้งนกพญาไฟ นกแขกเต้า นกสาลิกาดง นกโพระดก นกกะรางหัวหงอก นกเขียวก้านตอง ไปจนถึงเหยี่ยวขาวและนกอินทรี ครั้งหนึ่งผมเคยเห็นนกแซงแซวไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ตัว" พี่เบิ้มบอกกับเรา
      ไม่ไกลนักบนยอดต้นปอแดง กระรอกสีน้ำตาลตัวใหญ่ส่งเสียงร้องขู่มนุษย์แปลกหน้าผู้มาเยือน มีเรื่องในป่าเล่าว่า เสือมีวิธีจับกระรอกกินโดยการกระทืบตีนลงบนใบไม้ให้กระรอกได้ยิน เสียงดังกรอบแกรบของใบไม้ทำให้กระรอกส่งเสียงขู่ และลงจากต้นไม้มาดูด้วยความสงสัย จึงถูกเสือที่คอยท่าอยู่จับกินในที่สุด
      พี่โชคทดสอบให้เราดูโดยกระทืบเท้าบนดินสองสามครั้ง พักเดียวเสียงร้องขู่ "ตั๊ก ตั๊ก ตั๊ก" ของกระรอกสีน้ำตาลหลายตัวก็ดังระงมขึ้น แต่ไม่มีกระรอกตัวใดสงสัยจนวิ่งลงมาข้างล่างเหมือนเรื่องเล่า
        เมื่อเดินผ่านดงต้นกล้วยป่า พี่เบิ้มชี้ให้ดูค้างคาวหลายตัวที่นอนห้อยหัวตีนเหนี่ยวใบกล้วย หากไม่สังเกตก็แทบไม่เห็นตัวค้างคาวกินผลไม้ชนิดนี้เลย อาหารโปรดของมันคือลูกมะเดื่อและลูกมะละกอป่า ที่มีใบเหมือนกับมะละกอบ้านทั่วไป แต่ลำต้นมีหนามและผลไม่ได้มีขนาดใหญ่เรียวยาว แต่เป็นลูกกลมเล็กสีเขียวนวลคล้ายมะเขือเปราะ ชาวบ้านนิยมเก็บยอดอ่อนมาผัดกิน รสชาติกรอบอร่อย
      พอข้ามลำห้วยไปอีกฟากฝั่งเพื่อจะขึ้นจากหุบ นักสำรวจพากันประหลาดใจที่เห็นเฟินต้นหรือมหาสดำขึ้นอยู่ริมธารน้ำ เฟินต้นชนิดนี้พบเฉพาะในป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา มีชุกชุมทางภาคใต้ ภาคเหนือ ส่วนบริเวณใกล้เคียงแถวนี้ที่พบคือเขาใหญ่ ดังนั้นการพบมหาสดำจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ความชุ่มชื้นในป่ามีมากพอที่จะทำให้เฟินต้นเจริญงอกงามได้ 
      เราสังเกตว่าลำต้นของมหาสดำเอียง ๆ อย่างไรชอบกล พี่เบิ้มจึงบอกว่า หลายวันก่อนมีหมูป่ามาดุนหาปูกินที่ลำธารแถวนี้ จึงไปดันเฟินต้นนี้ล้มลง เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันยกลำต้นมหาสดำตั้งขึ้นมาใหม่
      หลังจากป่าฟื้นตัว อาหารอุดมสมบูรณ์ หมูป่าแถวนี้เจริญพันธุ์ออกลูกหลานจนมีประชากรมากเกินไป และเริ่มสร้างปัญหาให้แก่ชาวบ้านรอบ ๆ โครงการปลูกป่าฯ เนื่องจากหมูป่าบุกเข้าไปกินพืชไร่ชาวบ้าน ไม่ละเว้นแม้กระทั่งกินสัตว์ป่าด้วยกันเอง
      หลายคนคงเคยดูสารคดีชีวิตสัตว์ เห็นงูเหลือมเขมือบกินหมูป่าผู้เคราะห์ร้ายจนชินตา แต่หมูป่าบนเขาแผงม้ากลับไล่กินงูเหลือมจนเป็นเรื่องธรรมดา
(คลิกดูภาพใหญ่)

หมูป่า ลวดไฟฟ้า และแนวกันไฟ

      พอเราเดินขึ้นจากหุบวังทองหลาง ก็ได้สัมผัสลมหนาวซึ่งพัดกรรโชกแรง ลมหนาวมาเยือนคราใด ก็เป็นสัญญาณให้เจ้าหน้าที่โครงการปลูกป่าฯ รู้ว่า ถึงเวลาต้องทำแนวกันไฟแล้ว ก่อนที่ไฟป่าจะเผาผลาญแปลงปลูกป่า ที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ และแรงงานของผู้คนจำนวนมาก
      เดินต่อมาได้สักพักก็ถึงแนวป้องกันไฟป่า ซึ่งก็คือเส้นทางที่ตัดรอบป่ากันไม่ให้ไฟป่าจากฟากหนึ่งลุกลามไปอีกฟากหนึ่งได้ ชาวบ้านสิบกว่าคนกำลังช่วยกันถางหญ้า ตัดต้นไม้ จุดไฟเผาไม่ให้หลงเหลือเป็นเชื้อเพลิงได้ 
      "แนวกันไฟบางแห่งต้องใช้คนถางเป็นเดือน ๆ รอบป่าพื้นที่ ๕,๐๐๐ ไร่ เราสร้างฐานเฝ้าระวังไฟป่าสี่แห่งบนยอดเขา มีเวรยามลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืน หากพบเห็นไฟป่าก็จะส่งคนออกไปดับไฟป่าทันที ...สองปีแรกถือว่าเหนื่อยและลำบากมาก เพราะเรายังต้องวัดใจกันอยู่" พี่เบิ้มบอก
      "วัดใจกับใครครับ" เราถาม
      "เรากลัวชาวบ้านรอบ ๆ จะบุกมาเผาป่า เพราะเรายังไม่รู้ใจเขา คือรอบ ๆ พื้นที่ปลูกป่าเป็นไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง เจ้าของที่ล้วนบุกรุกป่าสงวน เขากลัวว่าเมื่อมีโครงการปลูกป่าฯ จะทำให้กรมป่าไม้มาผนวกพื้นที่ของเขาเข้าไว้กับป่าอนุรักษ์ เราต้องไปอธิบายทำความเข้าใจว่าเราไม่เกี่ยวข้องอย่างใด อีกประการหนึ่ง ชาวบ้านที่เราจ้างมาปลูกป่า ในอดีตก็เคยเผาป่าล่าสัตว์มาก่อน เราจึงไม่แน่ใจว่าเขาช่วยเราจริง ไม่แน่ใจว่าจะมีคนมาจุดไฟล่าสัตว์อีกไหม แต่พอเรามาปลูกป่า ไฟก็ไหม้บนเขาแผงม้าน้อยมาก ผมคิดว่าเกิดจากการที่พวกเราพยายามพูดคุยกับชาวบ้านรอบป่าตลอดเวลาว่า ตรงนี้เป็นต้นน้ำลำพระเพลิงที่พวกเขาได้ประโยชน์ อธิบายว่าต้นไม้บนนี้ไม่ใช่ของมูลนิธิ ไม่ใช่ของใคร ถ้าพี่น้องมาปลูกก็เป็นของพี่น้อง เป็นของชาวบ้านด้วย ป่าพวกนี้จะเกิดได้เพราะพี่น้อง ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง"

(คลิกดูภาพใหญ่)       พี่โชคย้ำว่า แนวกันไฟไม่ใช่สิ่งวิเศษที่สร้างขึ้นมาแล้วจะกันไฟป่าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาเคยมีโครงการปลูกป่าของอำเภอวังน้ำเขียว ปลูกกันตอนหน้าฝน ทำแนวกันไฟด้วย แต่พอเข้าหน้าแล้งไฟป่าก็เผาผลาญจนหมด เพราะไม่มีใครใส่ใจป้องกันอย่างจริงจัง จนชาวบ้านเห็นเป็นเรื่องชินตา ดังนั้นแนวกันไฟที่ดีที่สุด ก็คือต้องไปทำความเข้าใจกับชุมชนว่า ป่าจะส่งผลอย่างไรต่อชุมชน 
      "เมื่อก่อนในฤดูแล้งคลองแถวนี้ไม่มีน้ำ ชาวบ้านเดือดร้อนมาตลอด แต่พอเริ่มปลูกป่า หลายปีผ่านไป หน้าแล้งเริ่มมีน้ำ ทุกวันนี้เราขอความร่วมมือจากชาวบ้านในการป้องกันไฟป่า ชาวบ้านบางคนยังมีความเชื่อว่าต้องจุดไฟเผาหญ้า เพื่อจะได้ไถพรวนดินได้ง่าย ๆ เราก็บอกว่าเราไม่ห้ามหรอก แต่ถ้าจะจุดไฟวันใดต้องแจ้งเราก่อน จะได้มาช่วยกันดับไฟไม่ให้ลุกลามเข้าไปในป่า หรือขอความร่วมมือกับชาวบ้านว่า พบเห็นไฟป่าที่ไหนให้รีบมาแจ้งเรา
      "ปลูกป่าปีแรกผ่านไป ก็เกิดเหตุการณ์ผิดปรกติในอำเภอวังน้ำเขียว ไฟป่าที่เคยเกิดเป็นประจำทุกปีบนเขาแผงม้า กลับไม่มี คนท้องถิ่นเริ่มเชื่อว่ามูลนิธิฯ ตั้งใจรักษาป่าต้นน้ำจริงจัง ความร่วมมือก็เริ่มหลั่งไหลมา จากนั้นเราเริ่มประสานไปที่กลุ่มโรงเรียน อบต. พาคนเหล่านี้ไปดูป่าต้นน้ำ จนพวกเขาเข้าใจว่าทำไมต้องช่วยกันดูแล และทางอำเภอ หน่วยราชการเองก็สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการป้องกันไฟป่าด้วย "
      เราเดินสำรวจป่าอีกด้านหนึ่ง ซึ่งติดกับไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน สังเกตว่าด้านหนึ่งของเส้นทางมีเสาปักทำเป็นรั้วขึงลวดโดยรอบ เราเอื้อมมือไปจับด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่แล้วก็ต้องรีบชักมือกลับ เมื่อได้ยินเสียงร้องเตือนว่า "ระวัง ลวดไฟฟ้า"
      ชื่อฟังดูน่ากลัว แต่ลวดไฟฟ้านี้มีแรงไฟฟ้าเพียง ๑๒ โวลต์เท่านั้น ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โครงการปลูกป่าฯ สร้างรั้วลวดไฟฟ้า ป้องกันไม่ให้หมูป่าที่มีอยู่ชุกชุม ออกจากป่าลงไปกินข้าวโพด มันสำปะหลังของชาวบ้าน พี่เบิ้มเป็นเจ้าของไอเดียลวดไฟฟ้านี้
(คลิกดูภาพใหญ่)       "หมูป่าขยายพันธุ์เร็วมาก คาดว่ามีหมูป่าเป็นพันตัว อาหารในป่าเริ่มลดน้อยลง มันจึงกินทุกอย่างที่ขวางหน้า พอชาวบ้านปลูกข้าวโพดนอกป่า หมูป่าก็ออกไปกินข้าวโพด สร้างความเสียหายให้แก่ชาวบ้านหลายครั้ง เราเรียกประชุมชาวบ้านว่าจะทำอย่างไรดี บางคนก็บอกว่ามูลนิธิฯ เอาเฉพาะสัตว์ป่ากับป่าไม้ ไม่เอาคน เราบอกว่าเราให้ความสำคัญกับทั้งคนและสัตว์ป่า ก็มาวางแผนว่า จะป้องกันอย่างไรไม่ให้หมูป่าลงไปกินพืชไร่ คิดกันหลายวิธี ทั้งแบบโบราณคือเอาปี๊บไปแขวนกับต้นไม้ พอลมพัดก็จะเกิดเสียงดัง จุดประทัดไล่ หรือเอาสบู่กลิ่นฉุนไปวางดักตามทาง เอายางรถยนต์ไปเผา ถ้ามันได้กลิ่นก็หนีไป แต่ก็ไม่ค่อยสำเร็จ พอดีนึกได้ว่าพี่ชายผมเลี้ยงวัวที่ปากช่อง เขาล้อมรั้วพื้นที่เลี้ยงวัวด้วยลวดไฟฟ้า ป้องกันไม่ให้วัวออกนอกเขต มันก็ได้ผล ก็เลยลองมาทำรั้วลวดไฟฟ้าดู ใช้แบตเตอรี่ขนาด ๑๒ โวลต์ปล่อยกระแสไฟฟ้า ปรากฏว่าได้ผลมากทีเดียว หมูป่าโดนไฟช็อตทีเดียวก็เข็ด ไม่ค่อยออกไปเพ่นพ่านกินข้าวโพดอีก 
      "แต่นาน ๆ เข้ามันฉลาดขึ้น รั้วบางแห่งถูกหมูป่าบุกพังรั้ว มีครั้งหนึ่งชาวบ้านเห็นหมูป่าฝูงใหญ่ที่ริมรั้ว แม่หมูจะคอยดันลูกหมูไปที่หน้ารั้ว ดันกันไปมาจนลวดไฟฟ้าขาดเป็นทาง หมูป่าแห่กันลงมากินข้าวโพดได้อีก...เอากับมันสิ" 
      คงมีคนไม่น้อยที่รู้ว่า หมูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ติดอันดับต้น ๆ ไม่แพ้สุนัข 
      พี่โชคบอกต่อว่า หมูป่าเป็นสัตว์กินไม่เลือก ตั้งแต่พืชไร่ ไส้เดือน ปู กบ เขียด เต่า นก ไปจนถึงงูและซากสัตว์ต่าง ๆ แม้กระทั่งงูเหลือมที่คนในเมืองจับได้ และนิยมนำมาปล่อยเข้าป่าที่เขาแผงม้า ก็ตกเป็นอาหารของเหล่าหมูป่า
      แต่ในเวลาเดียวกัน หมูป่าก็ถูกฝูงหมาในไล่ต้อนกัดกินเช่นกัน
      "ครั้งหนึ่งผมไปตามกระทิง ได้ยินเสียงร้องของหมูป่าแล้วหายไป สักพักหนึ่งระหว่างทางผมเห็นหมาป่ากำลังลากไส้หมูป่าออกมากัดกิน หมูป่าตัวนั้นมันยังหายใจระรวยอยู่เลย 
      "หมูป่าเวลาโดนหมาในไล่มักไม่รอด เพราะมันไม่ค่อยจะหนีลงน้ำ ผิดกับกวาง ผมเคยเห็นแถวต้นน้ำคลองทุเรียน หมาในสองตัววิ่งไล่กวางตัวหนึ่ง กวางวิ่งหนีลงน้ำโดยสัญชาตญาณ เจ้าหมาในก็ว่ายตามลงไปด้วย กวางว่ายไปที่น้ำลึก ตัวมันสูงใหญ่จึงได้เปรียบกว่าหมาใน พอหมาในตัวเล็กกว่าว่ายมาใกล้ ๆ กวางก็เอาเขาชน จนหมาในทำอะไรกวางไม่ถนัด ก็ขึ้นจากน้ำ ส่วนเจ้ากวางอยู่ในน้ำสักพักให้แน่ใจว่าหมาในไปแล้ว จึงค่อยว่ายขึ้นจากน้ำ"
      ครั้งนั้นพี่เบิ้มนั่งดูหมาในล่ากวาง โดยไม่ไปรบกวนกฎแห่งธรรมชาติเลย แต่มีครั้งหนึ่งที่ต้องฝืนกฎธรรมชาติ เมื่อเขาเจอหมาในสี่ตัว กำลังล้อมกวางแม่ลูกอ่อนสองตัวกลางลำน้ำ กวางตัวแม่พยายามใช้เขาขวิด สู้กับหมาในจนอ่อนล้าเจียนหมดแรง พี่เบิ้มเห็นท่าไม่ดี จึงขอแรงพรรคพวกช่วยกันวิ่งตะโกน ส่งเสียงไล่จนหมาในตกใจล่าถอยไปในที่สุด ชะตากวางสองแม่ลูกจึงยังไม่ขาด
      ภายหลังจากที่ป่าบนเขาแผงม้าค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา สัตว์ป่าที่เคยหายไปก็กลับมาปรากฏตัว จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่โครงการฯ พบว่านอกจากหมูป่าที่มีจำนวนนับพันตัวแล้ว ยังมีหมีควายสี่ห้าตัว เก้ง กวางเจ็ดแปดตัว เม่น ชะมด อีเห็น อ้น หมาใน เสือไฟ และสัตว์ป่าที่โดดเด่นจนเป็นสัญลักษณ์ของเขาแผงม้า คือ กระทิงฝูงใหญ่
(คลิกดูภาพใหญ่)

การกลับมาของกระทิง

      เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นเราขับรถขึ้นเขา ลงจากรถเดินเท้าลุยเข้าไปในพงหญ้าไม่ถึง ๕ นาที มองลงไปด้านล่างคือหุบไร่ป้าแข ช่วยกันตั้งกล้องในบังไพรรอดูกระทิงที่กำลังจะปรากฏตัว
      นิคม พุทธา ผู้เห็นกระทิงครั้งแรกบนเขาแผงม้าในปี ๒๕๓๘ เล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นเขากำลังอาบน้ำอยู่ที่กระท่อมริมหน้าผา พอมองไปไกล ๆ ตรงหุบเขาด้านล่างเห็นฝูงสัตว์รูปร่างคล้ายวัวกำลังหากิน สงสัยว่าใครปล่อยวัวบ้านเข้ามากินหญ้าในป่า พอเอากล้องส่องดูจึงรู้ว่าเป็นกระทิงฝูงขนาด ๘-๑๐ ตัว 
      เมื่อเจ็ดปีก่อน กระทิงตัวหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อว่า ลอม ได้นำฝูงกระทิงจากเขาใหญ่เดินเข้ามาหากินในป่าเขาแผงม้า ลอมเป็นกระทิงตัวเมียอายุมากที่สุดในฝูง ซึ่งโดยธรรมชาติจะเป็นผู้นำฝูงโยกย้ายถิ่นหากิน เดินทางมาพร้อมกับ กาง กระทิงจ่าฝูงเพศผู้ที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ตัวผู้ตัวอื่นเข้ามาใกล้ฝูง กางและลอมจึงเป็นกระทิงรุ่นแรกที่เข้ามาหากินบนเขาแผงม้า และต่อมาได้ออกลูกออกหลานอาศัยอยู่บนเขาแผงม้า 
      "ทุกวันนี้กระทิงบนเขาแผงม้าส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคุณยายลอม ลูกของคุณยายตัวหนึ่งชื่อ อ้ายดื้อ เป็นกระทิงหนุ่มใหญ่แต่ดื้อเหลือเกิน มันชอบเอาเขาขวิดเล่นกับกระทิงตัวอื่น ทั้งหมดหากินเป็นฝูงเล็ก ๆ ๗-๑๐ ตัว กระจายไปตามหุบเขาในเขาแผงม้า ตอนแรกที่กระทิงเข้ามาหากิน เราตื่นเต้นมาก ไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ส่งคนมาคุ้มครอง กลัวว่าจะมีคนมาล่า พวกเราเปลี่ยนเวรไปนั่งเฝ้า แต่ตอนหลังเราเปลี่ยนวิธีการใหม่ เราไปประชาสัมพันธ์ ไปพูดคุยกับชาวบ้านว่ากระทิงเป็นสัตว์คุ้มครอง เป็นสัตว์ที่หาดูได้ยาก ในอดีตเราเอาเนื้อมันมากิน แต่ต่อไปถ้าเราดูแลไม่ให้ใครมายิง ที่นี่จะกลายเป็นแหล่งดูกระทิง ตอนนี้เริ่มมีคนรู้จักกันมากขึ้น" นิคมชี้ให้ดูหุบเขาที่เห็นกระทิงฝูงแรก โผล่ออกมาเมื่อเจ็ดปีก่อน

(คลิกดูภาพใหญ่)       แต่เมื่อมีคนรู้มากขึ้น การปองร้ายกระทิงก็เกิดขึ้น
      เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะพบว่า หนึ่งในกลุ่มนักล่ามักเป็นบุคคลในเครื่องแบบ ค่ำคืนหนึ่งต้นปี ๒๕๓๙ นิคมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในป่าแห่งนี้ และแน่ใจว่าเป็นเสียงปืนของนักล่าสัตว์ จึงตัดสินใจขับรถพร้อมลูกน้อง ไปตามหาเจ้าของเสียงปืน 
      "ผมขับรถลงไปพร้อมปืนลูกซอง ระหว่างทางมีคนยิงปืนใส่รถ ผมหยุดรถคว้าปืนกับวิทยุกระโดดหลบลงข้างทาง ผมเห็นแต่ไฟแว้บ ๆ แต่ไม่รู้ว่าลูกปืนมาทางไหน ผมจึงวิทยุขอกำลังสนับสนุน พวกเรายิงปะทะได้ ๕-๖ นาที หากันไม่เจอว่าอยู่ที่ไหน จึงวิทยุบอกกันให้ถอยก่อน เพื่อเช็กกำลังว่าพวกเรามีใครขาดหายไปบ้าง 
      "แล้วเราก็ตรึงกำลัง ป้องกันไม่ให้พวกนั้นหนีออกมา แต่เราไม่มีอำนาจจับกุม ผมจึงลงไปตามผู้ใหญ่บ้านและนำกำลังชาวบ้านขึ้นมาอีก ๒๐ กว่าคน เตรียมล้อมจับ สุดท้ายเราตะครุบตัวจับได้ ๗-๘ คน เป็นตำรวจ ๒ นาย ผมจึงบันทึกปากคำถ่ายรูปเอาไว้หมด และบอกผู้ใหญ่บ้านให้แจ้งความตำรวจให้มาจับผู้ต้องหาพร้อมของกลาง ปืน ไฟฉาย พวกเขาสารภาพว่าเข้ามาล่ากระทิงโดยเฉพาะ คนที่เป็นตำรวจยศจ่า อายุ ๔๐ กว่า ๆ ออกอาการกลัวมากจนสั่นไปทั้งตัว สารภาพว่าไม่เคยล่าสัตว์มาก่อน มีคนชวนมาล่ากระทิงก็มา แต่สุดท้ายก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คือพอส่งตำรวจ ผู้ต้องหาก็หลุดหมด" 
      เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ชาวบ้านรอบเขาแผงม้าตื่นตัวและร่วมมือกับโครงการปลูกป่าฯ คอยตรวจตราไม่ให้มีคนแปลกหน้าเข้ามาล่ากระทิงในป่าแห่งนี้ จนล่าสุดเมื่อสองปีก่อน ทางโครงการปลูกป่าฯ สืบทราบว่าพรานกลุ่มหนึ่งขึ้นไปล่ากระทิง ทางตำรวจกับชาวบ้านจึงร่วมกันติดตามกลุ่มนายพราน เกิดปะทะกัน นักล่าสัตว์ตายไปหนึ่งคน
(คลิกดูภาพใหญ่)       เมื่อสื่อมวลชนตีพิมพ์ภาพกระทิงเขาแผงม้าเผยแพร่สู่สาธารณชน ทำให้มีประชาชนแห่มาดูกระทิงเดือนละหลายพันคน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้แก่คนท้องถิ่นพอสมควร ยิ่งทำให้ชุมชนรอบเขาแผงม้าหวงแหนกระทิงฝูงนี้ จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏว่ามีใครลักลอบล่ากระทิงบนเขาแผงม้าอีกเลย
      "ในขณะเดียวกันพวกเราก็ปรับวิธีการทำงานที่ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ แทนที่เราจะดูแลเฉพาะต้นไม้ ดูแลการปลูกป่าเหมือนที่ผ่านมา เราก็มาดูแลสัตว์ป่าด้วย เราให้เจ้าหน้าที่สองคนคอยติดตามจดบันทึกเพื่อศึกษาดูพฤติกรรมของกระทิง เช่น วันนี้เขาเดินออกมาจากเส้นทางไหน เดือนนี้มีตัวไหนให้กำเนิดลูก แม้แต่พืชอาหารของกระทิงก็น่าสนใจมาก ตอนแรกเราคิดว่ากระทิงกินหญ้าอย่างเดียว แต่พอมาเก็บข้อมูลกันจริง ๆ ปรากฏว่ามีพรรณพืชตั้ง ๕๐ กว่าชนิดที่กระทิงใช้กินเป็นอา... " 
      นิคมพูดไม่ทันจบประโยค กระทิงฝูงหนึ่งนับได้ประมาณ ๘ ตัว ที่ซ่อนตัวอยู่ในดงกล้วยป่าทางซ้ายมือ ก็ปรากฏตัวให้เห็น มันอยู่ห่างจากเราประมาณ ๒๐๐ เมตร เมื่อใช้กล้องส่องทางไกลส่องดู พบว่าเป็นกระทิงสีดำมะเมื่อม หน้าผากมีสีขาว เรียกว่าหน้าโพ ตั้งแต่หัวเข่าลงไปถึงตีนมีสีขาวราวกับสวมถุงเท้า เจ้ากระทิงตัวโตเต็มที่คงมีน้ำหนักร่วม ๑ ตัน ตัวสูงท่วมหัว คะเนว่าน่าจะสูงเกิน ๑๗๐ เซนติเมตร นิคมชี้ให้ดูกระทิงบางตัวที่กำลังชูคอกินเครืออีเฒ่า อาหารยอดนิยมของกระทิง
      "เมื่อก่อนเราคิดว่ากระทิงกินหญ้าคาเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว ตอนหลังจากการศึกษาเราทราบว่ากระทิงชอบกินเครืออีเฒ่า เล็บมือนาง เถาวัลย์ ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้นชนิดต่าง ๆ ที่ไม่สูงเกินไปเขาก็กินได้ กระทิงกินพืชประมาณ ๒๐ กว่าชนิด แต่ถ้าเป็นหน้าฝนพืชอาหารจะเพิ่มขึ้นสูงถึง ๕๐ กว่าชนิด เพราะฉะนั้นจึงชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้กระทิงอพยพมาอยู่ที่นี่น่าจะเป็นเพราะมีชนิดอาหารหลากหลายด้วย แต่ก่อนเมื่อกระทิงมาหากินที่เขาแผงม้า จะกินเพียงหญ้าคาที่แตกระบัดเท่านั้น แต่พอเราป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า พืชชนิดอื่น ๆ ไม่ถูกทำลาย กระทิงจึงอพยพจากเขาใหญ่มาหากินที่นี่ วันนี้อยากกินเครืออีเฒ่าก็ได้กิน อยากกินกล้วยป่าก็ได้กิน มีอาหารหมุนเวียนตลอด แหล่งน้ำก็มี และที่สำคัญก็คือความปลอดภัย เมื่อก่อนกระทิงออกมาไม่ได้ เป็นต้องถูกยิง ถูกล่า แต่หลายปีมานี้ เมื่อกระทิงออกมาแล้วปลอดภัย เขาก็เริ่มมีพฤติกรรมจับคู่ ผมเคยเห็นจ่าฝูงตามดมตัวเมียและขึ้นทับกันจนตั้งท้องมีลูก ถ้าสัตว์ป่าเริ่มมีความมั่นใจในความปลอดภัย โดยสัญชาตญาณเขาก็ต้องมีลูก จำนวนประชากรของกระทิงที่นี่จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว"
(คลิกดูภาพใหญ่)       เช้าวันนั้นแดดดีเหลือเกิน ฟ้าใสไร้เมฆหมอก กระทิงบางตัวกำลังชนต้นกล้วยป่าให้ล้มลง เพื่อกินลูกกล้วยสีเขียวที่ยังไม่สุก ปรกติกระทิงจะออกหากินช่วงเช้าตั้งแต่ตีห้าถึงแปดโมงเช้า พอตกสาย แดดเริ่มจ้า กระทิงจะหลบแดดหาที่พักผ่อนใต้ร่มไม้ พอตกเย็นกระทิงจึงออกหากินอีกครั้ง และตกค่ำจะเดินย้ายที่หากินสลับกับนอน ในเขาแผงม้ากระทิงจะหากินเป็นพื้นที่กว้างประมาณ ๑,๘๐๐ ไร่ เดินทางจากหุบเขาหนึ่งไปอีกหุบเขาหนึ่งเป็นวงกลม 
      สักพักหนึ่งกระทิงอีกฝูงไม่ต่ำกว่าสิบตัว ก็ปรากฏตัวให้เห็นทางตอนบนของหุบเขา เดินลงมาสมทบกับกระทิงฝูงเดิมที่อยู่ด้านล่าง กระทิงจะเดินเป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง เจ้าตัวเล็กสองตัวที่เดินตามแม่ลำตัวยังเป็นสีแดง แสดงว่าอายุไม่ถึง ๖ เดือน เรานับกระทิงได้ทั้งหมด ๑๖ ตัว แต่ไม่เห็นคุณยายลอม วัย ๒๘ ปี นัยน์ตาฝ้าฟาง มีเขาสองข้างบิดงอไม่เท่ากัน และคุณตากางที่มีเขากางใหญ่เป็นพิเศษ
      "คุณเห็นเนินจอมปลวกทางฝั่งขวาไหม ที่เป็นที่ราบ มีหญ้าเขียวแหวกเป็นวง ๆ" นิคมชี้ไปทางขวาของกระทิงฝูงนั้น
      "มันเป็นสนามประลองกำลังกัน กระทิงรุ่น ๆ ชอบมาหยอกล้อใช้เขาขวิดเล่นกันแถวนี้ โดยเฉพาะอ้ายดื้อ แต่วันนี้ไม่เห็น"
      เราส่องกล้องดูกระทิงด้วยความสงบ ทันใดนั้นเสียงเชิญชวนให้ซื้อสินค้าจากเครื่องกระจายเสียงของรถขายของก็แว่วมา เราเพิ่งนึกได้ว่าบริเวณนี้ห่างจากถนนลาดยางและตัวอำเภอไม่กี่กิโลเมตร แต่ดูเหมือนกระทิงฝูงนี้จะไม่ใส่ใจเสียงจากรถมากนัก แรก ๆ มีอาการตื่นตกใจ เงยหน้าเงี่ยหูฟัง บ่อยเข้าก็คงชิน จึงก้มหน้าก้มตากินเครืออีเฒ่าต่อไป
      "แต่เห็นตัวใหญ่ ๆ อย่างนี้ พอเห็นคนมักจะวิ่งหนีไปเสียก่อน หากไม่จวนตัวจริง ๆ หรือเป็นกระทิงแม่ลูกอ่อนก็ไม่ทำร้ายคนหรอก" นิคมกล่าว เราถามต่อไปว่า กระทิงลงไปกินพืชไร่ของชาวบ้านหรือไม่
      "ไม่ค่อยมีนะ อาหารบนเขายังอุดมสมบูรณ์อยู่ ตอนแรกเราใช้หน่วยลาดตระเวนคอยดู หากพบเห็นกระทิงลงมากินพืชไร่จะไล่เข้าป่าทันที กลัวว่าถ้าเขาติดใจรสชาติข้าวโพด จะลงมากินเป็นประจำ ต่างจากหมูป่าที่ชอบลงมากินข้าวโพดมาก ปีก่อนชาวบ้านตายไปคนหนึ่ง เพราะไปเตะปืนผูกที่มีคนวางดักหมูป่าไว้ เลยโดนยิงตาย แต่พอมีรั้วไฟฟ้าแล้วก็ได้ผลมาก กระทิงไม่ลงมาเลย ส่วนหมูป่าก็ลงมาน้อยมาก"
      ปืนผูกหรือชาวบ้านเรียกว่า จั่นห้าว เป็นกับดักล่าสัตว์ที่นายพรานนิยมใช้ ตัวปืนทำด้วยท่อเหล็กขนาดยาวประมาณ ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร ข้างในบรรจุดินปืน ลูกตะกั่ว มีแก๊ปอยู่ด้านนอกตรงไกปืน พรานจะวางเชือกลากจากไกปืนขึงไปตามด่านสัตว์ เมื่อมีสัตว์เดินมาสะดุดเชือก ไกปืนจะปลดออกกระแทกกับแก๊ปปืนลั่นทันที 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ทุกวันนี้บนเขาแผงม้ายังมีปืนผูกวางดักกระต่ายป่าและหมูป่าซึ่งมีอยู่ชุกชุม ชาวบ้านเดินไปสะดุดปืนผูกในป่า ล้มตายและบาดเจ็บถึงกับตัดขามาแล้วหลายคน
      "ชาวบ้านตกลงกันว่า ถ้ากระทิงออกมากินพืชไร่ พวกเขาจะไม่ทำร้าย แต่จะไล่มันเข้าป่า ถ้าเป็นหมูป่าก็แล้วแต่ชาวบ้านจะจัดการ หมูป่าเยอะจริง ๆ มีเป็นพันตัว บางทีกินข้าวโพด ๓๐ ไร่เรียบภายในคืนเดียว"
      เราดูกระทิงอยู่อีกพักหนึ่ง ทันใดนั้นกระทิงทั้งฝูงก็พากันวิ่งเตลิดหายไปในดงกล้วยที่อยู่ลึกลงไปในหุบเขา ไม่รู้ว่ามันได้กลิ่นผิดสังเกตอะไรจึงวิ่งกันฝุ่นตลบ กระทิงอาจได้กลิ่นพวกเราเมื่อลมเปลี่ยนทิศ หรืออาจได้กลิ่นหมาในบริเวณนั้น
      ปัจจุบันเจ้าหน้าที่โครงการฯ สำรวจพบว่าป่าเขาแผงม้ามีกระทิงจำนวน ๕๘ ตัว หากินหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ ๕,๐๐๐ ไร่ เปรียบเทียบกับกระทิงในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่มีประมาณ ๑๐๐ ตัว หากินอยู่ในพื้นที่ล้านกว่าไร่ ชี้ให้เห็นว่าโครงการปลูกป่าฯ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ป่าบนเขาแผงม้าฟื้นตัวเต็มที่ ชนิดพืชมีความหลากหลายมากขึ้น จนทำให้สัตว์ขนาดใหญ่ที่เคยหากินอยู่ที่นี่ในอดีต กลับเข้ามาหากินอย่างปลอดภัย และทำให้ชุมชนรอบป่าเกิดความหวงแหนป่าต้นน้ำของพวกเขา ร่วมแรงร่วมใจรักษาป่า อย่างเข้มแข็ง
      เรากลับลงมาจากเขาแผงม้าในเย็นวันนั้นด้วยข่าวว่า ในปีนี้มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มีกำหนดต้องส่งมอบพื้นที่ปลูกป่าบนเขาแผงม้าทั้งหมด คืนให้แก่กรมป่าไม้ ผู้เป็นเจ้าของตามกฎหมาย และกรมป่าไม้จะผนวกเทือกเขาแผงม้า เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่เป็นป่าติดกัน
      เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กรมป่าไม้ เห็นความสำคัญของเขาแผงม้า ทั้ง ๆ ที่เมื่อครั้งประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งนี้ เมื่อ ๔๐ ปีก่อน กรมป่าไม้ไม่ได้ผนวกเขาแผงม้า เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯ
      แต่ไม่มีใครทราบว่า เมื่อกรมป่าไม้เข้ามาดูแลรับผิดชอบเขาแผงม้าแต่ผู้เดียว โดยที่องค์กรพัฒนาเอกชน และชาวบ้านรอบ ๆ ป่าไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของป่าผืนนี้อีกต่อไป กระทิงบนเขาแผงม้า จะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย เหมือนเดิมอีกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ก็ยังปรากฏข่าวการล่าสัตว์ป่า ล่ากระทิงในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อยู่เป็นประจำ
      ที่สำคัญคือไม่มีใครรู้ว่า กรมป่าไม้เพียงผู้เดียว จะสามารถดูแลไม่ให้ภูเขาไฟบนเขาแผงม้า กลับมาแผลงฤทธิ์เหมือนในอดีตได้หรือไม่
(คลิกดูภาพใหญ่)

ขอขอบคุณ

มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
คุณนิคม พุทธา 
คุณโชคดี ปรโลกานนท์ 
คุณอรทัย โจษกลาง 
เจ้าหน้าที่โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เขาแผงม้า