สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕ "๑๐ ปี พฤษภาคม ๒๕๓๕ สังคมไทยได้อะไร ?"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕  

จากบรรณาธิการ


 

     คนส่วนใหญ่อาจไม่ชอบเข้าป่าในหน้าแล้ง เพราะอากาศร้อน ลำธารแห้งขอด ป่าที่เป็นป่าผลัดใบก็มีแต่ใบไม้ร่วงเต็มป่า มองไปทางใดก็ไม่สดชื่น ไม่งามตาเหมือนมาเที่ยวป่ายามหน้าฝนหรือหน้าหนาว
     ผมเองชอบเข้าป่าทุกฤดูกาล ป่าหน้าหนาวให้ความรู้สึกถึงความเย็นยะเยือก ป่าหน้าฝนให้ความรู้สึกสดชื่น ส่วนป่าหน้าแล้งให้ความรู้สึกร่มรื่น 
     ระยะทางก่อนเข้าสู่ป่าอาจจะร้อนแรงด้วยเปลวแดดที่แผดเผา แต่เมื่อเข้าสู่ป่าแล้ว จะสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นในทันที
     ป่าดิบทางตะวันตกของไทยในยามหน้าแล้ง มีลำธารสายหนึ่งมีน้ำตลอดปี ไหลมาเป็นน้ำตกที่ชื่อ น้ำตกคลิตี้ล่าง อยู่ใกล้ ๆ กับอุทยานแห่งชาติลำคลองงู อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี น้ำตกสายนี้สวยไม่แพ้น้ำตกทีลอซูที่นักท่องเที่ยวหลงใหล แม้จะเป็นน้ำตกที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก แต่สำหรับนักขับขี่รถออฟโรดแล้ว ทางในป่าที่จะเข้าสู่น้ำตกคลิตี้ล่าง เป็นเส้นทางที่พวกเขารู้จักกันดี ค่าที่เป็นเส้นทางที่แสนทรหดสายหนึ่ง ระยะทางไม่ถึง ๑๐ กิโลเมตร แต่ใช้เวลาขับรถไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมง สะใจบรรดานักขับขี่รถขับเคลื่อนสี่ล้อทั้งหลาย
     การเดินทางไปตามเส้นทางป่าสู่น้ำตกแห่งนี้ หากไม่ใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือคนขับรถไม่มีความชำนาญพอ ก็แทบไปไม่ถึงปลายทาง ผมไปถึงน้ำตกคลิตี้ล่างได้สำเร็จ ไม่ใช่เพราะบุญคุณของรถโฟร์วีลราคาคันละหลายล้านบาท แต่เป็นบุญคุณของรถอีแต๊กราคา ๖ หมื่นบาทของชาวกะเหรี่ยงแห่งหมู่บ้านคลิตี้ล่าง 
คลิกดูภาพใหญ่
ฉบับหน้า
เชื่อหรือไม่ สร้างบ้านด้วยดิน
       รถโฟร์วีลราคาแพง ก็ไม่แน่นักว่าจะพาเราไปสู่จุดหมายได้เสมอไป หากคนขับไม่ชำนาญเส้นทางจริง 
     แต่รถอีแต๊กหรือรถอีแต๋น พาเราไปได้ทุกที่ ไม่ว่าสภาพถนนจะขรุขระเพียงใด
     รถอีแต๊กก็คือรถที่ชาวบ้านดัดแปลงเอาเครื่องยนต์ขนาด ๙.๕ แรงม้าที่ใช้ทำไร่ไถนา มาติดเข้ากับล้อรถ มีที่นั่งบรรทุกของอยู่ข้างหลัง
     คราวนี้ลองมาเปรียบเทียบสมรรถนะกับรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ แรงม้า
     พวกเรา ๑๐ คนนั่งรถอีแต๊กออกจากหมู่บ้านคลิตี้ล่างบ่ายหน้าไปตามทางเดินในป่า หนทางสมบุกสมบัน เดี๋ยวก็ผ่าเข้าไปในไร่ของชาวบ้าน เดี๋ยวก็ผ่าเข้าไปกลางป่า ถนนขรุขระเสียจนหัวสั่นหัวคลอนไปตลอดทาง โชคดีที่ทุกคนได้รับคำเตือนให้นำถุงนอนติดตัวมาเป็นเบาะชั่วคราว จึงลดแรงกระแทกไปได้บ้าง
     ข้อดีที่สุดของรถอีแต๊ก คือ ไม่ว่าหนทางจะลำบากเพียงใด รถอีแต๊กที่มีน้ำหนักไม่ถึง ๕๐๐ กิโลกรัม ก็ไปได้ทุกที่ เหมือนคนหุ่นเพรียวลมที่ทำอะไรก็คล่องแคล่ว บางครั้งขึ้นเขาที่ชันมาก ๆ หรือตกหล่ม คนขับและผู้โดยสารจะกระโดดลงมาช่วยกันดันรถ เดี๋ยวก็ไปต่อได้
     ต่างจากรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ลำพังน้ำหนักของรถเองก็พันกว่ากิโลกรัมแล้ว รถหนักก็เหมือนคนตัวอ้วน ทำอะไรไม่ค่อยถนัด ช่วยตัวเองก็ไม่ค่อยได้ เวลาขึ้นที่ชันหรือเวลารถติดหล่ม แม้คนบนรถจะลงมาช่วยกันผลักช่วยกันดัน แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะรถหนักเกินไป
     ในเรื่องเชื้อเพลิง ขณะที่รถขับเคลื่อนสี่ล้อใช้น้ำมันประมาณ ๗-๘ กิโลเมตรต่อลิตร รถอีแต๊กใช้น้ำมันประมาณ ๑๕ กิโลเมตรต่อลิตร
     ถนนที่มุ่งสู่น้ำตกคลิตี้ล่าง หลายตอนเป็นร่องลึกจากการบดขยี้ของล้อรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่ขับตะลุยอย่างไม่เกรงใจเจ้าป่าเจ้าเขา
     "พวกนี้ชอบขับตามกันมาหลายคัน มาคันเดียวไม่เคยเห็น หน้าแล้งไม่ชอบมากันหรอก ต้องมาหน้าฝน บอกว่าทางเฉอะแฉะ โหดดี จะได้มาลองเครื่องรถ"
     กะเหรี่ยงผู้ทำหน้าที่สารถีเล่าให้เราฟัง ขณะที่มือกำลังบังคับเกียร์รถที่มีอยู่สามเกียร์ คือเกียร์หนึ่ง เกียร์สอง และเกียร์ถอยหลัง เขาเล่าต่อด้วยความภูมิใจว่า เวลารถออฟโรดติดหล่ม นักขับทั้งหลายก็จะมาตามรถอีแต๊ก ราคาไม่กี่หมื่นให้ไปลากรถราคาคันเป็นล้านขึ้นจากหล่ม 
     ประสบการณ์เข้าป่าด้วยรถอีแต๊ก ทำให้เราได้ไอเดียว่า การเที่ยวป่าเที่ยวดอยที่มีหนทางลำบากมาก ทำไมจึงไม่ส่งเสริมคนที่อยากมาเที่ยวสถานที่แบบนี้ ให้ขับรถมาจอดที่ที่ทำการอุทยานฯ หรือหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุด แล้วเดินทางต่อด้วยรถอีแต๊ก หรือนั่งหลังช้าง ไปยังจุดหมายที่ต้องการ
     ถนนก็ไม่ถูกทำลาย คนในพื้นที่ก็มีรายได้ ธรรมชาติก็ไม่บอบช้ำ
     แน่นอนว่าสิ่งที่เสียไปคือความสะดวกสบายในรถออฟโรด 
     แต่เป็นการแลกที่คุ้มนะครับ สำหรับสิ่งที่เรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com