สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕ "๑๐ ปี พฤษภาคม ๒๕๓๕ สังคมไทยได้อะไร ?"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕  

น้ำมันทดแทนจากพืช ความยั่งยืนแห่งพลังงาน

เรื่อง : เกษร สิทธิหนิ้ว
ภาพ : ชัยชนะ จารุวรรณากร

(คลิกดูภาพใหญ่)

      นับจากที่บ่อน้ำมันแห่งแรกของโลกถูกขุดเจาะที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ น้ำมันก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 
      ปี ๒๔๗๓ น้ำมันถูกขุดเจาะขึ้นมาใช้ ๑๗,๐๐๐ ล้านบาร์เรล และเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐๗,๐๐๐ ล้านบาร์เรลในปี ๒๕๔๐
      ด้วยอัตราการบริโภคน้ำมันของโลกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒ ทุกปี นักธรณีวิทยาคาดการณ์ไว้ว่า หากไม่มีการสำรวจเพิ่มเติม พลังงานสำรองของโลกที่มีอยู่อย่างจำกัดจะหมดไปในไม่ช้า 
      น้ำมันจะเหลือใช้อีกเพียง ๔๒ ปี
      ก๊าซธรรมชาติใช้ได้อีก ๖๔ ปี
      ถ่านหินยังเหลือใช้นานกว่าพลังงานประเภทอื่น คือ ๒๒๐ ปี
      BP Amoco บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่เริ่มหันมาทำกิจการพลังงานแสงอาทิตย์ พยากรณ์ไว้ว่าปริมาณน้ำมันสำรองที่มีการค้นพบ และสามารถขุดมาใช้ในราคาที่ไม่แพงเกินไปอยู่ที่ ๑,๐๐๐ พันล้านบาร์เรลโดยประมาณ ซึ่งเพียงพอสำหรับการบริโภคในอีก ๔๐ ปีข้างหน้าเท่านั้น
      ในขณะที่นิตยสาร นิวรีพับลิก (The New Republic) อ้างถึงรายงานการสำรวจทางธรณีวิทยา (U.S. Geological Survey หรือ USGS) ว่า การใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการสำรวจน้ำมันจะทำให้พบน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก ๒,๑๐๐ พันล้านบาร์เรล ซึ่งจะเพียงพอต่อการบริโภคในอีก ๘๕ ปี และชี้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่น้ำมันจะหมดไปจากโลก แต่ปัญหาอยู่ที่ยุคน้ำมันราคาถูกถึงจุดจบแล้วต่างหาก
      สำหรับประเทศไทย หลังการสำรวจแล้วพบว่ามีพลังงานสำรองไม่มากนัก หากไม่มีการสำรวจค้นพบเพิ่มเติมและเรายังคงใช้พลังงานในปริมาณเท่ากับที่ใช้ในแต่ละวันนี้
      เราจะมีน้ำมันดิบใช้อีกเพียง ๑๗ พันล้าน ลทนด.(ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ซึ่งไม่พอใช้อย่างแน่นอน
      ก๊าซธรรมชาติมีใช้อีก ๓๕๗ พันล้าน ลทนด. นับจากวันนี้อีก ๒๐ ปีก็หมด
      ถ่านหินลิกไนต์ เหลือมากที่สุดคือ ๑,๖๗๖ พันล้าน ลทนด. แต่ใช้ได้อีก ๖๐ ปีก็หมดเช่นกัน

(คลิกดูภาพใหญ่)       นอกจากเหตุผลว่าเรากำลังเริ่มนับถอยหลังวันสิ้นพลังงานโลกแล้ว เหตุผลหลักที่ทำให้มนุษย์สนใจเรื่องพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง ก็คือความจริงที่ว่า ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด และปัจจัยค่าเงินตราต่างประเทศ ที่ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการค้าขายน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อีกมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ที่มักขึ้นราคา จำกัด และลดปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อกดดันทางการเมืองต่อประเทศมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งผลกระทบตกแก่ทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมัน จากประเทศตะวันออกกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
      ปี ๒๕๔๒ แม้ประเทศไทยจะประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และราคาน้ำมันก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
      ในขณะที่กรรมาธิการพลังงานแห่งชาติรายงานว่า ในแต่ละปีเราสูญเสียเงินตราเพื่อซื้อพลังงานในรูปต่าง ๆ ถึง ๘ แสนล้านบาท เฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป เราใช้ถึง ๗ แสนบาร์เรลต่อวัน (ในปี ๒๕๔๒ ไทยซื้อน้ำมันสำเร็จรูปเป็นเงิน ๑๓๐,๖๕๖ ล้านบาท สูงกว่ารายได้จากการส่งออกข้าว มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม และไก่แช่แข็งรวมกันเสียอีก) 
      ในศตวรรษที่ผ่านมา เราพึ่งพาน้ำมันต่างชาติถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ (ไทยมีแหล่งน้ำมันอยู่เพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ทั้งหมด) จนถึงวันนี้การณ์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
      ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การตื่นตัว และหันมาพัฒนาน้ำมันทดแทนภายในประเทศอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อทดแทนการนำเข้า 
      ประเทศไทยกำลังเดินหน้า โครงการผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเบนซิน และสาร MTBE โดยชูมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก มีอ้อย กากน้ำตาล คอยหนุนเสริม 
      ส่วนน้ำมันดีเซลนั้น เรามีน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำมัน เพื่อนำไปใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม โดยมีน้ำมันพืชจากผลิตผลการเกษตรชนิดอื่น ๆ น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว และน้ำมันจากไขมันสัตว์ ร่วมขบวนด้วย
 
 

แป้งและน้ำตาลสู่พลังงานเอทานอล

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ในพื้นที่ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วท.) บนถนนพหลโยธิน โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลัง ไม่มีเจ้าหน้าที่เดินขวักไขว่ และเสียงกระหึ่มของเครื่องจักรกล เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป มีเพียงเจ้าหน้าที่สองสามคนควบคุมระบบ และคอยตรวจสอบคุณภาพเอทานอลในห้องเครื่องบนชั้น ๓ ของโรงงานเท่านั้น 
      แอลกอฮอล์ไร้น้ำที่ว่านี้ก็คือ แอลกอฮอล์ที่กลั่นมาจากเอทานอลหรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งก็คือแอลกอฮอล์กินได้ ที่เป็นองค์ประกอบของสุราทุกประเภทนั่นเอง
      คุณพิสุทธิ์ อาคม วิศวกรประจำเครื่อง กำลังตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำในเอทานอลที่ได้ จากหอกลั่นพร้อมกับอธิบายให้ฟังว่า ที่นี่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล ส่วนอ้อย กากน้ำตาล สับปะรด เคยใช้บ้างแต่ไม่มากเท่ามันสำปะหลัง 
      "พืชที่ให้แป้งและน้ำตาล เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง อ้อย กากน้ำตาล หัวผักกาดหวาน หรือพวกเศษวัสดุที่เป็นเซลลูโลส เช่น ฟางข้าว ขี้เลื่อย ผักตบชวา หญ้าแฝก หรือเยื่อใยจากพืชต่าง ๆ สามารถนำมาผลิตเป็นเอทานอลได้ทั้งนั้น แต่ปริมาณเอทานอลที่ได้จากพืชแต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน เช่น ถ้าเราต้องการเอทานอล ๑ ลิตร ต้องใช้ข้าวหรือข้าวโพด ๒.๕ กิโลกรัม ถ้าเป็นอ้อยต้องใช้ ๑๑ กิโลกรัม หัวมันสำปะหลังสดใช้ ๕-๖ กิโลกรัม เป็นต้น
      "วัตถุดิบประเภทกากแป้งและเซลลูโลสจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลก่อนด้วยกรดหรือเอนไซม์ ส่วนวัตถุดิบที่เป็นน้ำตาลสามารถนำมาหมักเป็นแอลกอฮอล์ได้เลย ใช้เวลาหมักประมาณ ๓ วัน จะได้แอลกอฮอล์ความเข้มข้นระหว่าง ๘-๑๒ เปอร์เซ็นต์ จากนั้นแอลกอฮอล์จะถูกลำเลียงไปยังหอกลั่น เพื่อกลั่นเป็นแอลกอฮอล์ไร้น้ำ ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์ กระบวนการพวกนี้เราไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงป้อนวัตถุดิบและตรวจเช็กคุณภาพเท่านั้น ถ้าพบว่าเอทานอลที่ได้มีปริมาณน้ำผสมอยู่มากกว่ากำหนด ก็นำกลับไปกลั่นใหม่ นอกจากนั้นก็คอยตรวจเช็กสภาพอุปกรณ์ และเครื่องจักรต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น" 
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       นอกจากจะผลิตเอทานอลจากพืชผลทางการเกษตรโดยตรงแล้ว สุราหรือเบียร์ที่ "ผิดสเป็ก" คือไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานของโรงงานผลิตสุราเอกชน เช่น รสชาติไม่ได้มาตรฐาน สีเพี้ยนไป ก็จะถูกส่งมาที่โรงงานแห่งนี้ เพื่อนำมากลั่นเป็นเอทานอล ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์ต่อไป วิธีนี้ทำให้โรงงานสามารถกลั่นเอทานอลได้สูงสุดถึงวันละ ๒,๔๐๐ ลิตรเลยทีเดียว 
      กากของเสียจากหอกลั่น จะผ่านการบำบัดด้วยอุปกรณ์ทำแห้ง ประกอบด้วยเครื่องแยก เครื่องระเหย และเครื่องทำแห้ง กากวัตถุดิบที่มีความชื้นประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ และโปรตีน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ จะถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ต่อไป ส่วนน้ำกากส่าจากหอกลั่น จะถูกบำบัดก่อนปล่อยทิ้ง หรือไม่ก็จะใช้วิธีกำจัด โดยการหมักในสภาพไร้อากาศ แล้วจึงนำไปย่อยสลาย วิธีนี้ทำให้ได้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้อีกด้วย
      ในการผลิตเอทานอล ๑ ลิตรโดยใช้ข้าว ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง (ปริมาณ ๒.๕ กิโลกรัม) เป็นวัตถุดิบ จะได้กากนำไปทำอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูงถึงร้อยละ ๒๐-๓๐ ประมาณ ๒ กิโลกรัม นอกจากนี้ยังได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีก ๑.๕-๒ กิโลกรัมไว้ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำอัดลม น้ำแข็งแห้ง หรืออุตสาหกรรมเชื่อมต่อโลหะ เฉพาะผลพลอยได้เหล่านี้ ก็นับว่าได้ประโยชน์มากมาย โดยที่ยังไม่ได้นับรวมเอทานอลเลยด้วยซ้ำ
      ในแต่ละวันโรงงานแห่งนี้ผลิตเอทานอลไร้น้ำ ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์ได้เฉลี่ยวันละ ๑,๕๐๐ ลิตร เพื่อใช้ในโครงการนำร่องผลิตเอทานอลเพื่อเป็นน้ำมันทดแทนต่อไป
      เอทานอล ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์ที่ได้จะนำไปใช้ในสามรูปแบบ คือ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ๑. ถ้าเป็นเอทานอล ๙๕ เปอร์เซ็นต์ (Hydrate Ethanol 95%) สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่เป็นเครื่องยนต์ที่มีอัตราการอัดสูงได้โดยตรง แต่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์ก่อนเล็กน้อย ตอนนี้ในเมืองไทยยังไม่ได้นำมาใช้โดยตรง มีเพียงการศึกษาทดลองใช้โดยผู้สนใจบางรายเท่านั้น 
      ๒. ใช้เอทานอลบริสุทธิ์ ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นสาร ETBE (Ethyl Tertiary Ether) ผสมกับน้ำมันเบนซิน (Gasoline) ในอัตราส่วน ๕ : ๒๒ เพื่อทดแทนสาร MTBE (Methyl Tertiary Ether) ในลักษณะเป็นสารเติมแต่ง เพื่อปรับปรุงค่าออกซิเจนเน็ต (Oxygenates) และออกเทน (Octane) ของน้ำมันเบนซิน เรียกน้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอลนี้ว่า แก๊สโซฮอล์ สามารถนำมาใช้งานกับเครื่องยนต์ทั่วไปได้ โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์แต่อย่างใด
      ๓. สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล สามารถใช้เอทานอล ๙๕ เปอร์เซ็นต์ผสมกับน้ำมันดีเซลในอัตราส่วน ๑๕ : ๘๕ เรียกน้ำมันชนิดนี้ว่า ดีโซฮอล์ มีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันดีเซล สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด
      ปัจจุบันการใช้เอทานอลในสามรูปแบบข้างต้น มีใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ 
      บราซิล ประเทศผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ ในนามโครงการ Proalcool เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเอทานอลแห่งชาติ ปี ๒๕๑๘ การใช้เชื้อเพลิงเอทานอลก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยใช้เอทานอลที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ผสมกับเบนซินในอัตราส่วน ๒๒ : ๗๘ 
      ปัจจุบันบราซิลใช้เอทานอลกว่า ๒๒๐,๐๐๐ บาร์เรล หรือ ๓๕ ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ ๔๒ ของเชื้อเพลิงภาคขนส่งภายในประเทศ มียานพาหนะที่ออกแบบเครื่องยนต์ให้ใช้เอทานอล ๑๐๐เปอร์เซ็นต์ประมาณ ๔ ล้านคัน คาดการณ์กันว่าในอนาคตบราซิลจะใช้เอทานอลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการผลิตก็ย่อมเพิ่มเป็นเงาตามตัว
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป แม้ว่าจะได้กำหนดให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูตรผสมเอทานอล ๕ เปอร์เซ็นต์หรือ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ในน้ำมันแก๊สโซลีน แต่ปรากฏว่ายังมีการนำเอทานอลมาใช้ในรูปของเชื้อเพลิงไม่ถึงร้อยละ ๕ ของปริมาณเอทานอลที่ผลิตได้ มีฝรั่งเศสเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ที่ออกกฎหมาย และมาตรการที่จำเป็นทางด้านอุตสาหกรรม และการตลาดเพื่อสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ ส่วนสวีเดน สเปน และเนเธอร์แลนด์ ใช้มาตรการกระตุ้นทางภาษีเท่านั้น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปตั้งเป้าให้ประเทศสมาชิก นำเอทานอลมาใช้ในรูปเชื้อเพลิงร้อยละ ๑๒ ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดภายในปี ๒๕๕๓ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกันปัญหามลพิษในอากาศ ส่วนในกลุ่มยุโรปตะวันออก รัสเซียเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ที่สุด โดยรัฐบาลเข้าควบคุมการดำเนินการ สามารถผลิตเอทานอลได้ปีละ ๒.๕ พันล้านลิตร 
      ในสหรัฐอเมริกามีการพัฒนาเชื้อเพลิงทดแทนมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ ใช้เชื้อเพลิงสูตรผสมเอทานอล (ส่วนใหญ่ผลิตมาจากข้าวโพด) ๑๐ เปอร์เซ็นต์ผสมกับน้ำมันแก๊สโซลีน เรียกว่า แก๊สโซฮอล์ มีการใช้แก๊สโซฮอล์ถึงร้อยละ ๑๒ ของอัตราการใช้น้ำมันเบนซินในประเทศ และใช้อย่างจริงจังเมื่อมีการลงนามในสัญญา Clean Air Act Amendent ในปี ๒๕๓๓ มีการนำเอทานอลมาใช้เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก และมีการรณรงค์ให้ใช้เอทานอลอย่างจริงจัง โดยมีมาตรการช่วยเหลือทางภาษี และจัดให้มีโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการผลิตเอทานอล ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาใช้แก๊สโซฮอล์ร้อยละ ๑๒ ของอัตราการใช้น้ำมันเบนซินในประเทศ
      ในทวีปเอเชีย จีนเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ที่สุด ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากแปลงพืชขนาดเล็ก และยังไม่มีการพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันสมัย ยังคงเป็นการผลิตแบบดั้งเดิมเพื่อใช้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตเอทานอลอันดับสองของเอเชีย ผลิตได้ปีละ ๒.๗ พันล้านลิตร 
      ส่วนประเทศไทยนั้น มีสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ได้ศึกษาแนวทางการใช้เอทานอลเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เช่น โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีการทดลองใช้เอทานอล ๙๕ เปอร์เซ็นต์ผสมกับน้ำมันเบนซิน ในอัตราส่วน ๒๐ : ๘๐ ทดลองกับรถยนต์ของโครงการจำนวน ๑๐ คัน ปัจจุบันโรงงานในสวนจิตรลดา ผลิตเอทานอลให้แก่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เพื่อใช้ในโครงการนำร่องผลิต และจำหน่ายแก๊สโซฮอล์
(คลิกดูภาพใหญ่)       การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สำนักงานใหญ่ถนนวิภาวดี โดยจำหน่ายในราคาต่ำกว่าเบนซิน ๙๕ ลิตรละ ๑ บาท
      บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เริ่มโครงการนำร่องแก๊สโซฮอล์ในสถานีบริการน้ำมันบางจากสี่สาขา โดยจำหน่ายในราคาต่ำกว่าเบนซิน ๙๕ ลิตรละ ๑ บาท
      "โรงงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วท.) ผลิตเอทานอลให้บางจากเฉลี่ยวันละ ๑,๐๐๐ ลิตร เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ๙,๐๐๐ ลิตร จะได้เป็นแก๊สโซฮอล์ ๑ หมื่นลิตร กระจายไปตามหัวจ่ายที่ปั๊มบางจากทั้งสี่สาขา 
"น้ำมันที่ได้มีคุณสมบัติเหมือนเบนซิน ๙๕ แต่บางจากขายถูกกว่าเบนซิน ๙๕ ลิตรละ ๑ บาท เพราะต้องการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าลองใช้น้ำมันตัวนี้  ปัจจัยที่จะทำให้เอทานอลใช้เป็นน้ำมันทดแทนได้จริงนั้น ต้องให้ผู้บริโภคยอมรับ และหันมาใช้กันจริง ๆ ถ้าเขาไม่ได้ลองใช้ก็ไม่รู้ว่ามันใช้ได้จริง เราต้องยอมขาดทุนในช่วงแรก เอาราคามาเป็นเครื่องจูงใจผู้บริโภคก่อน เมื่อเขาได้สัมผัสก็จะยอมรับ และหันมาใช้ทดแทนในที่สุด" คุณณรงค์ บุญยสงวน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อธิบาย
      "ตั้งแต่ดำเนินงานมาเจ็ดเดือน ปรากฏว่าขายหมดทุกวัน บางวันขายหมดตั้งแต่บ่ายสองโมง 
      แก๊สโซฮอล์ที่เรามีอยู่ไม่พอขาย แต่ต้องทำเท่านี้ก่อน เพราะโรงงานที่ วท. มีกำลังการผลิตเอทานอลได้เท่านี้ และยังไม่พบว่าเกิดปัญหาอะไรกับเครื่องยนต์ ลูกค้าบางคนชอบมาก เขาบอกว่ากลิ่นมันหอมดี" 
      ปัจจุบันบางจากและ ปตท. ผลิตแก๊สโซฮอล์ออกจำหน่ายในปริมาณจำกัด ในอนาคตหากมีการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น ก็จะผลิตแก๊สโซฮอล์จำหน่ายให้แก่ประชาชนได้มากขึ้น
(คลิกดูภาพใหญ่)       ที่จริงการวิจัยและการผลิตอาเทนอลในเมืองไทยริเริ่มมานานแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ โดยโครงการส่วนพระองค์ สามารถผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำจากพืชผลทางเกษตรได้สำเร็จในปี ๒๕๒๘ ในครั้งนั้นได้ทดลองใช้เอทานอลผสมกับน้ำมันเบนซินธรรมดาในอัตราส่วน ๑๕ : ๘๕ เรียกเชื้อเพลิงผสมนี้ว่า แก๊สโซฮอล์ ลองเติมรถยนต์ของ วท. แล้วทดลองวิ่งในกรุงเทพฯ ก่อน จากนั้นก็วิ่งระยะไกลไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซินซูเปอร์ธรรมดา 
      เมื่อผ่านการทดสอบจนมั่นใจในคุณภาพแล้ว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับบริษัทสองพลอยและ ปตท. ทดลองจำหน่ายแก๊ซโซฮอล์ จนถึงปี ๒๕๓๐ ได้ทั้งหมด ๖,๐๐๐ ลิตร ซึ่งก็ปรากฏว่าได้ผลดี และมีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป แต่ในเวลาต่อมาราคาน้ำมันกลับถูกลง โครงการพัฒนาเอทานอลจึงเป็นอันถูกเก็บเข้าแฟ้ม โรงงานต้นแบบที่ วท. ไม่มีการเดินเครื่องอีกต่อไป 
      กระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและกระแสน้ำมันฟอสซิลจะหมดโลกนั่นแหละ โครงการพัฒนาเอทานอล จึงถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ...คราวนี้ดูขึงขังและเป็นจริงเป็นจังกว่าที่ผ่านมา
      คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๔ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๓ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และผลักดันให้โครงการผลิตเอทานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะนี้คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติมีมาตรการสนับสนุน โดยกำหนดให้ผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินในอัตรา ๑๐ เปอร์เซ็นต์ในช่วงแรกคือภายในสองสามปีนี้ก่อน 
      คุณอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิพลังงานทดแทนเอทานอล-ไบโอดีเซลแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ กล่าวว่า จากปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ภายในประเทศซึ่งเฉลี่ยสูงถึง ๖๕๐,๐๐๐ บาร์เรลต่อวัน หากมีการนำเอทานอลมาใช้ทดแทนในอัตราส่วนร้อยละ ๑๐ ก็เท่ากับว่าต้องใช้เอทานอลรวมทั้งสิ้น ๖๕,๐๐๐ บาร์เรลต่อวัน ถ้ารัฐบาลเปิดเงื่อนไขให้สามารถตั้งโรงงานเพื่อผลิตเอทานอลได้ จะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้อย่างน้อยปีละกว่า ๒ หมื่นล้านบาท 
(คลิกดูภาพใหญ่)       "เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลนั้น เดิมกฎหมายไทยอนุญาตให้ผลิตในรูปสุราเพื่อดื่ม แต่ยังไม่สามารถผลิตเพื่อขายเป็นเชื้อเพลิงได้ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงสองแห่งเท่านั้นคือ โรงงานต้นแบบของ วท. และของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
      "ที่ยังไม่มีการผลิตเอทานอลเพื่อนำมาทดแทนน้ำมันอย่างจริงจัง เป็นเพราะต้นทุนการผลิตยังไม่คุ้มค่า ซื้อจากต่างประเทศถูกกว่าทำเอง ในที่ประชุมคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ รัฐมนตรีได้ลงนามในประกาศของกระทรวง เรื่องการลดหย่อนภาษีทุกประการของเอทานอลแล้ว หมายความว่าต่อไปนี้เราจะขนย้ายเอทานอลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่การขนย้ายจากโรงกลั่นต้องใส่น้ำมัน หรือใส่สารที่ทำให้เอทานอลมีรสขม ดื่มไม่ได้ เข้าไป ๑ เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ขนย้ายได้ในฐานะน้ำมัน อีกหน่อยราคาเชื้อเพลิงเอทานอลจะถูกกว่าน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ซึ่งจะทำให้การใช้เอทานอลเป็นจริงและมั่นคง" 
      ดร. สมัย ใจอินทร์ คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติอีกท่านหนึ่งที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาแต่ต้นกล่าวว่า จากผลการวิจัยและการใช้งานในหลายประเทศทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา บราซิล พบว่าการใช้เชื้อเพลิงเอทานอล ช่วยลดมลภาวะในอากาศได้ เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม เช่น ETBE ก่อให้เกิด Greenhouse Gases น้อยกว่า MTBE ๑๙ เปอร์เซ็นต์ และน้อยกว่าแก๊สโซลีน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ 
      หากเปรียบเทียบน้ำมันเบนซินที่ผสม ETBE ๑๕ เปอร์เซ็นต์ กับน้ำมันเบนซิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ พบว่าสามารถลดปริมาณไฮโดรคาร์บอนได้ ๑๑ เปอร์เซ็นต์ ลดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ ๑๗ เปอร์เซ็นต์ และลดปริมาณ Aromatise หรือกลิ่นได้ ๑๗-๒๐ เปอร์เซ็นต์ 
      และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างน้ำมันดีเซลเอทานอล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กับน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม พบว่า จะช่วยลดปริมาณไฮโดรคาร์บอนได้ ๒๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ และลดปริมาณฝุ่นและควันดำได้ ๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
      "นอกจากประโยชน์ทางด้านคุณภาพของน้ำมันที่มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว การใช้เอทานอลจะทำให้เราลดการพึ่งพาน้ำมันต่างชาติ เราจะพึ่งตัวเองได้มากขึ้น เราจะมีเชื้อเพลิงใช้อย่างยั่งยืน เพราะเอทานอลเป็นพลังงานหมุนเวียน มีวัตถุดิบอยู่ในประเทศของเราเอง สามารถผลิตได้เรื่อย ๆ โรงงานผลิตเอทานอลจะทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เกษตรกรก็จะมีช่องทางจำหน่ายผลผลิต ที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับกลไกตลาดโลก จนกำหนดอนาคตตัวเองไม่ได้อีกต่อไป" 
 
 

ไบโอดีเซล 

(คลิกดูภาพใหญ่)
      เชื่อหรือไม่ว่า จริงแล้ว ๆ เครื่องยนต์ดีเซลนั้นออกแบบมาเพื่อให้ใช้น้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง
      น้ำมันที่ทำจากพืชล้วน ๆ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นี่แหละ
      ดร. รูดอล์ฟ ดีเซล (Rudolf Diesel) คิดค้นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันถั่วเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนจนสำเร็จ 
      ชาวโลกรู้จักเครื่องยนต์ดีเซลครั้งแรกในงาน "World Exhibition" ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ดร. รูดอล์ฟ ดีเซล ได้ประกาศว่า
      "เครื่องยนต์นี้จะเป็นเครื่องยนต์ความหวังของโลก เพราะสามารถขับเคลื่อนได้โดยน้ำมันพืชหลากหลายชนิด จะช่วยให้ประเทศเกษตรกรรมต่าง ๆ พึ่งตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียม" 
      แล้วเครื่องยนต์ชนิดนี้ก็ได้รับการตั้งชื่อว่า เครื่องยนต์ดีเซล เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร. รูดอล์ฟ ดีเซล นับแต่บัดนั้น 
      มนุษยชาติตื่นเต้นกับเครื่องยนต์ดีเซล ที่ใช้น้ำมันพืชเป็นตัวขับเคลื่อนกันไม่น้อย แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีคนค้นพบวิธีกลั่นน้ำมันดิบ ที่สามารถแยกประเภทน้ำมันได้ละเอียดกว่าเดิม น้ำมันประเภทหนึ่งที่กลั่นได้คือ "น้ำมันดีเซล" ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายน้ำมันพืช ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ ประจวบกับขณะนั้นการปลูกพืช เพื่อใช้ในการอุตสาหกรรมยังไม่ก้าวหน้านัก น้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม จึงมาแทนที่น้ำมันพืช ซึ่งเป็นต้นตอของการคิดผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของ ดร. รูดอล์ฟ ดีเซล อย่างเต็มตัว 
      กระแสเรื่องการใช้น้ำมันพืชกับเครื่องยนต์ดีเซลใน พ.ศ. นี้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด 
      เมื่อพูดถึงไบโอดีเซล คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า หมายถึง การนำน้ำมันจากพืชมาใช้เป็นน้ำมันทดแทนดีเซลโดยตรง หรือนำไปผสมกับน้ำมันอื่น ๆ เช่น น้ำมันมะพร้าวสูตรทับสะแก น้ำมันไบโอดีเซลปาล์ม น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว เป็นต้น 
      ที่จริงแล้ว "ไบโอดีเซล" เป็นศัพท์ที่วงวิชาการบัญญัติขึ้น เพื่อใช้เรียกเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตได้จากกระบวนการ Transesterification หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า กระบวนการเอสเตอร์ ของน้ำมันพืช ไขมันสัตว์ และ/หรือ น้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็ก โดยใช้เอทิลแอลกอฮอล์ (เอทานอล) เข้าทำปฏิกิริยากับน้ำมันพืช ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกับน้ำมันดีเซลมากที่สุด นำมาใช้แทนดีเซลหรือเติมเป็นส่วนผสมในดีเซล ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้โดยไม่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด และให้พลังงานเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลปรกติ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ปรกติน้ำมันพืชสามารถนำมาใช้เป็นน้ำมันทดแทนได้สามรูปแบบ คือ
      ๑. การใช้น้ำมันพืช ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แทนดีเซลโดยตรง ไม่ต้องเติมสารใด ๆ ลงไปอีก แต่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์อุ่นเชื้อเพลิง ที่อาศัยน้ำร้อนจากหม้อน้ำถ่ายเทความร้อนผ่านท่อเชื้อเพลิง เพื่อลดความหนืดของน้ำมันพืชก่อนฉีดเข้ากระบอกสูบ หรือไม่ก็ติดตั้งถังเชื้อเพลิงเพิ่มอีกใบ แล้วใช้เชื้อเพลิงทั้งสองชนิดควบคู่กันไป เวลาใช้ ในตอนแรกติดเครื่องยนต์ด้วยน้ำมันดีเซลธรรมดาก่อน เมื่อเครื่องยนต์ร้อนดีแล้วก็เปลี่ยนมาใช้น้ำมันพืช พอใกล้จะถึงที่หมายก็เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลปรกติอีก เพื่อล้างไขน้ำมันพืชออกจากเครื่องยนต์ วิธีหลังนี้ค่อนข้างยุ่งยาก แต่ใช้ได้ดีกับเครื่องยนต์จักรกลการเกษตร 
      ๒. ใช้น้ำมันพืชผสมกับน้ำมันก๊าด เพื่อช่วยลดความหนืดของน้ำมันพืชแทนการติดตั้งอุปกรณ์อุ่นเชื้อเพลิง ไบโอดีเซลประเภทนี้ ได้รับความนิยมในหมู่รถบรรทุก รถสิบล้อ เรือเฟอร์รี่ ซึ่งต่างก็ยืนยันว่าใช้ได้ดี เครื่องติดง่าย ให้กำลังไม่ต่างจากดีเซลปรกติ แต่ก็พบปัญหาบ้าง เช่น ไส้กรองอุดตันจากตะกอนของเนื้อมะพร้าวที่กรองไม่หมด
      ๓. ใช้กระบวนการทางเคมีเข้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างน้ำมันพืช เพื่อให้ได้คุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นไบโอดีเซลของแท้ที่นักวิชาการเรียกตั้งแต่แรก วิธีนี้สามารถนำไปใช้แทนน้ำมันดีเซลได้ทันที โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์แต่อย่างใด แต่ยังติดที่ตัวทำปฏิกิริยา คือ เมทานอล ซึ่งได้จากกลั่นปิโตรเลียม และมีราคาแพง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ถ้าหากเราสามารถผลิตเอทานอลได้เอง และนำมาเป็นตัวทำปฏิกิริยาแทนเมทานอลได้ ในอนาคตเราก็อาจจะผลิตไบโอดีเซลประเภทนี้ใช้กันได้
      คุณอภิดลน์ เจริญอักษร วิศวกรโครงการ สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม อธิบายเหตุผลที่ต้องมีการปรับคุณสมบัติน้ำมันพืชว่า
      "ปัญหาของน้ำมันพืช ประการแรก คือ มีความหนืดมากกว่าน้ำมันปิโตรเลียมหรือดีเซล ๕-๑๐ เท่า ถือว่าหนืดมาก เมื่อใส่ลงไปในถังน้ำมันแล้ว จะไม่ค่อยไหล หรือไหลช้า หัวฉีดซึ่งทำหน้าที่ฉีดน้ำมันให้เป็นฝอย ยิ่งเป็นฝอยมากกระบอกสูบก็จะร้อนมาก ทำให้จุดระเบิดมีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าน้ำมันหนืด เมื่อฉีดก็จะเป็นเส้น ไม่แตกตัวเป็นฝอย เมื่ออัดเข้าไปในจุดระเบิดมันจะไม่เผาไหม้อย่างสมบูรณ์ บางส่วนจะเป็นละออง แต่บางส่วนจะเป็นก้อน เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ประการที่ ๒ คือ น้ำมันพืชโดยคุณสมบัติของมันคล้ายปิโตรเลียมอยู่มาก ในแง่ที่มันเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเหมือนกัน แต่ส่วนที่ต่างไปก็คือ น้ำมันพืชจะมีส่วนที่เบาใส และข้นหนักปนอยู่ในเนื้อเดียวกัน ส่วนที่ข้นหนักคือส่วนไข ซึ่งเป็นสาเหตุของความหนืด วันไหนอากาศเย็น ฝนตก อุณหภูมิต่ำกว่า ๒๐ องศา อาจทำให้น้ำมันเป็นไข เครื่องจะสตาร์ตไม่ติด ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหา ด้วยการดัดแปลงน้ำมันพืช หรือดัดแปลงเครื่องยนต์"
      ไบโอดีเซลมีคุณสมบัติเหมือนดีเซลปรกติ แต่มีข้อดีกว่าหลายอย่าง คือ มีการเผาไหม้ที่สะอาดกว่า ไอเสียมีคุณภาพที่ดีกว่า เพราะออกซิเจนในไบโอดีเซลให้การสันดาปที่สมบูรณ์กว่าดีเซลปรกติ จึงมีคาร์บอนมอนอกไซด์น้อยกว่า และเนื่องจากไม่มีกำมะถันในไบโอดีเซล จึงไม่มีปัญหาสารซัลเฟต นอกจากนี้ยังมีเขม่าคาร์บอนน้อย ไม่ทำให้เกิดการอุดตันของระบบไอเสียง่าย ช่วยยืดอายุการใช้งานได้เป็นอย่างดี
      ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มสนใจจริงจังที่จะพัฒนาไบโอดีเซลเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซล ดังเช่นหลายประเทศในยุโรปมีการออกมาตรการยกเว้นภาษีให้แก่เชื้อเพลิงไบโอดีเซล ทุกวันนี้น้ำมันดีเซลทั้งหมดที่จำหน่ายในฝรั่งเศสเป็นสูตรที่ผสมด้วยไบโอดีเซล ๕ เปอร์เซ็นต์ บางรัฐในอเมริกาก็เริ่มใช้น้ำมันสูตรผสมไบโอดีเซลกับรถเมล์และรถรับส่งนักเรียน ในแคนาดามีกฎหมายว่าด้วยการสั่งซื้อยานพาหนะเพื่อใช้ในราชการว่า ยานพาหนะที่ซื้อ ครึ่งหนึ่งต้องใช้เชื้อเพลิงทางเลือกได้ ทุกวันนี้มีโรงงานผลิตไบโอดีเซลอยู่ ๘๕ แห่งใน ๒๑ ประเทศทั่วโลก
      สำหรับประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า เราได้ยินและรู้สึกตื่นตัวกับมันจริง ๆ เมื่อคุณยุทธชัย วิวัฏฏ์กุลธร เกษตรกรสวนมะพร้าวชาวอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกาศว่าสามารถคิดค้นสูตรน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าว มาใช้แทนน้ำมันดีเซลได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อกลางปี ๒๕๔๔ 
      คล้อยหลังไม่นาน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นจดสิทธิบัตรน้ำมันปาล์ม ในการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซล ยิ่งทำให้ "ไบโอดีเซล" ได้รับการกล่าวขานกันมากขึ้น
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       คุณยุทธชัย วิวัฏฏ์กุลธร ต้นตำรับสูตรน้ำมันมะพร้าวดัดแปลงกล่าวว่า ได้พยายามคิดค้นและทดลองที่จะนำน้ำมันมะพร้าวมาใช้กับเครื่องยนต์ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่ได้เห็นตะเกียงน้ำมันมะพร้าวในศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันในประเทศ จึงลองผสมน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันทุกชนิด เพื่อให้ใช้กับเครื่องยนต์ได้ 
      "ในระยะแรกลองเอาน้ำมันมะพร้าวผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดก่อน พบว่าน้ำมันมะพร้าวที่ผสมกับน้ำมันก๊าดในอัตราส่วน ๒๐ ต่อ ๑ น้ำมันละลายเข้ากันได้ดี ลองเอามาจุดดูเปลวไฟ ก็คล้ายกับเปลวไฟจากการเผาไหม้ของน้ำมันดีเซล สูตรนี้จึงดีที่สุด"
      เขานำน้ำมันมะพร้าวดัดแปลงนี้เติมกับเครื่องยนต์บรรทุกเล็ก วิ่งเป็นระยะทางกว่า ๖,๐๐๐ กิโลเมตร ก็ไม่พบว่ามีปัญหา การทดสอบเสร็จสิ้นในปี ๒๕๒๖ เขาใช้น้ำมันมะพร้าวสูตรนี้กับรถยนต์ของตัวเองมาโดยตลอด ต่อมาปี ๒๕๔๒ เกิดวิกฤตน้ำมันอีกครั้ง ผสมโรงด้วยปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ คุณยุทธชัยจึงเผยแพร่สูตรน้ำมันมะพร้าวผสมน้ำมันก๊าด ๒๐ ต่อ ๑ ให้แก่เกษตรกรนำไปผสมใช้เอง และเปิดเผยสูตรพิเศษ สำหรับการผลิตน้ำมันมะพร้าวปริมาณมาก ให้แก่กลุ่มเกษตรกรทำสวนแสงอรุณ และกลุ่มเกษตรกรทับสะแก
      กรรมวิธีในการผลิตน้ำมันมะพร้าวทำได้สองวิธี วิธีแรกนำมะพร้าวสดมาคั้นเอากะทิ แล้วเคี่ยวกะทิในกระทะจนน้ำมันแยกตัวออก ส่วนที่เป็นกากจะจับตัวกันเป็นก้อน ที่เหลือจะเป็นน้ำมัน น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการเคี่ยวจะมีไขมันน้อยและสะอาด นำไปใช้ได้เลย วิธีนี้ถ้าใช้กะทิ ๑ ลิตรจะเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวได้ประมาณ ๐.๒๕ ลิตร
      วิธีที่ ๒ คือ ตากเนื้อมะพร้าวให้แห้ง ก่อนนำเนื้อมะพร้าวแห้งเข้าเครื่องอัดหรือรีด ควรนำไปอบเพื่อให้มะพร้าวคายน้ำมันได้ดีขึ้น วิธีนี้จะมีเศษเนื้อมะพร้าวเป็นตะกอนปนกับน้ำมันมะพร้าว ซึ่งอาจจะทำให้ไส้กรองอุดตันได้ ดังนั้นก่อนนำไปใช้ต้องกรองให้สะอาด หรือนำมาเคี่ยวอีกรอบก็จะเป็นการดี วิธีนี้จะทำให้ได้น้ำมัน ๑.๘ ลิตรต่อเนื้อมะพร้าว ๑ กิโลกรัม
      เมื่อจะนำน้ำมันไปใช้งาน ต้องกรองให้สะอาดที่สุด ผสมน้ำมันก๊าดให้เข้ากันในสัดส่วน ๒๐ ต่อ ๑ ใช้กับเครื่องยนต์สันดาปภายในโดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์แต่อย่างใด
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       นอกจากมะพร้าวแล้ว พืชน้ำมันอีกชนิดที่เป็นแนวหน้าสำคัญ ต่อการพัฒนาน้ำมันไบโอดีเซล ก็คือ ปาล์มน้ำมัน
      อาจารย์สถาพร บุญสมบัติ หนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยการใช้น้ำมันปาล์ม เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยผลการวิจัยว่า การใช้น้ำมันปาล์มผสมดีเซลในอัตราส่วน ๒๐ ต่อ ๘๐ เครื่องยนต์ดีเซลจะใช้งานได้ดีเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลปรกติ 
      อีกสูตรหนึ่งที่ใช้ได้เช่นเดียวกันคือ ผสมน้ำมันปาล์มกับน้ำมันดีเซลและน้ำมันก๊าด ในอัตราส่วน ๖๐ : ๔๐ : ๗ ตามลำดับ น้ำมันปาล์มที่ได้จะมีคุณสมบัติทางกายภาพคล้ายคลึงกับน้ำมันดีเซล สามารถนำมาทดแทนหรือเติมลงในเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบอัดระเบิดได้ แต่สูตรนี้ยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายเพราะค่อนข้างซับซ้อน ยุ่งยาก
      ปัจจุบัน ปตท. จำหน่ายไบโอดีเซลเฉพาะสาขา ถ. สุขาภิบาล ๑ ในกรุงเทพฯ เท่านั้น เป็นไบโอดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มและน้ำมันดีเซลในอัตราส่วน ๑๐ ต่อ ๙๐ 
      นอกจากน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มแล้ว น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ปรกติน้ำมันไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช หรือน้ำมันจากไขมันสัตว์ที่ใช้ทอดอาหารแล้วหลายครั้ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทำให้เกิดการก่อตัวของสารต่าง ๆ ที่เข้าใจว่าทำให้เป็นมะเร็ง ไม่ควรนำมาใช้อีก ดังนั้นแทนที่จะทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็นำมากรองให้สะอาด เอาไปผสมน้ำมันก๊าดสูตรเดียวกับน้ำมันมะพร้าว ก็ใช้เป็นไบโอดีเซลได้เช่นเดียวกัน
      ปัจจุบันมีเกษตรกรหลายกลุ่ม และกิจการเรือเฟอรี่หลายแห่ง ดัดแปลงน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ หรือที่พวกเขาเรียกกันติดปากว่าไบโอดีเซล มาใช้ในกิจการของตัวเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเขายืนยันเป็นเสียงเดียวกันคือ น้ำมันชนิดนี้เหมาะสมอย่างยิ่งที่เกษตรกรจะทำไว้ใช้เอง
      ยังมีพืชน้ำมันอีกชนิดหนึ่งที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง 
      มาเงียบ ๆ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่คนในวงการน้ำมันทดแทนหลายคนเห็นพ้องกันว่า อาจจะมาแรงแซงทางโค้ง เพราะมีศักยภาพที่จะพัฒนามาใช้ได้อย่างไม่ยุ่งยากนัก
 
 

สบู่ดำคืนชีพ

 
(คลิกดูภาพใหญ่)
      อีกไม่นานวงการน้ำมันทดแทนบ้านเราคงมีโอกาสอ้าแขนรับไบโอดีเซลน้องใหม่นาม "น้ำมันสบู่ดำ" ซึ่งว่าตามจริงแล้ว น้ำมันสบู่ดำหาได้เป็นน้องใหม่ "ซิงซิง" แต่อย่างใดไม่ เข้าข่ายเดียวกันกับน้ำมันทดแทนชนิดอื่น ๆ ที่เคยผ่านการทดสอบจนสำเร็จมาแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจ 
      "สบู่ดำ" เป็นพืชให้น้ำมันที่คนไทยรู้จักมานาน ที่ได้ชื่อว่าสบู่ดำ ไม่ใช่เพราะมีลักษณะเป็นก้อนเหมือนสบู่และมีสีดำ แต่เรียกตามคุณสมบัติเด่นของมัน คือ ผลมีสีดำ ให้ฟองใช้แทนสบู่ได้ คนไทยภาคกลางเรียก สบู่ดำ แต่ถ้าไปถามชาวบ้านในภาคอื่น ๆ ว่ารู้จักสบู่ดำไหม อาจจะไม่ได้คำตอบ เพราะคนทางเหนือเรียกสบู่ดำว่า มะหุ่งฮั้ว คนอีสานเรียก มะเยา หรือสีหลอด ส่วนคนใต้เรียก หงเทศ ในภาษายาวีเรียก ยาเคาะ
      สบู่ดำเป็นไม้ยืนต้นคล้ายต้นละหุ่ง แต่ผลไม่มีขน ลำต้นอวบเกลี้ยงเกลากว่า มีใบคล้ายกับใบฝ้าย เมื่อหักก้านใบอวบ ๆ ดูจะเห็นยางใส ๆ ไหลเยิ้มออกมา เด็ก ๆ ชอบเอาไปเป่าลูกโป่งเล่น ดอกเล็กสีเหลือง ผลสีเขียวอ่อนขนาดเท่าลูกชิ้น เมื่อแก่แล้วจะมีสีเหลืองคล้ายลูกจันทน์ 
      ผลสบู่ดำมีเนื้อในสองถึงสามกลีบ แต่ละกลีบหุ้มด้วยเยื่อสีดำบาง ๆ เมื่อแกะเยื่อนี้ออกก็จะเห็นเนื้อในสีขาว ถ้าลองเอาไปเผาดู ไฟจะลุกโชนขึ้นมาทันที 
      ปี ๒๕๒๒ น้ำมันปิโตรเลียมมีราคาสูงขึ้น คุณระพีพันธุ์ ภาสบุตร วิศวกรการเกษตร ๗ กองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร คิดหาน้ำมันทดแทนจากพืชมาใช้แทนน้ำมันดีเซล เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำมันใช้อย่างเพียงพอในครัวเรือน ไม่ต้องเดือดร้อนกับการซื้อหาน้ำมันซึ่งราคาผันแปรตลอดเวลา คุณระพีพันธุ์ทดลองนำน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในบ้านเรา เช่น น้ำมันถั่วเหลือง ละหุ่ง เมล็ดดอกทานตะวัน ฯลฯ รวม ๑๘ ชนิด มาทดลองเดินเครื่องยนต์ดีเซลควบคู่กับก๊าซชีวภาพ ปรากฏว่าสามารถเดินเครื่องยนต์ได้สำเร็จ แต่ยังไม่ดีเท่าไรนัก เมื่อเดินเครื่องยนต์ไปนาน ๆ พบว่ามียางเหนียวติดตามวงแหวนและลูกสูบ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เครื่องยนต์ติดยาก
      "ผมพยายามนึกว่า เรายังมีพืชชนิดใดบ้างที่ให้น้ำมัน อาจเป็นพืชที่ไม่ได้นำมากินเป็นอาหาร แล้วภาพชาวบ้านใช้สบู่ดำจุดไฟในยุคสงครามก็ผุดขึ้นมา เท่านั้นแหละ ผมก็ลุยต่อทันที" 
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก ชาวบ้านในชนบทแก้ปัญหาด้วยการนำเม็ดสบู่ดำตำใส่กระบอกไม้ไผ่ ใส่ด้ายดิบเป็นไส้ไว้ตรงกลาง จุดแทนเทียนไข กากเม็ดสบู่ดำที่บีบน้ำมันออกไปหนหนึ่งแล้ว เอามาตำให้ละเอียด ใส่กระบอกไม้ไผ่จุดไฟก็ยังได้แสงสว่างดี หรือจะนำเอาเนื้อในสีขาวทั้งเม็ดมาเสียบด้วยไม้ไผ่ที่เหลาให้เรียวแหลมยาวสักคืบหนึ่ง ใช้จุดแทนเทียนไขก็ยังได้ 
      "หลังจากนั้นผมและคุณสุขสันต์ สุทธิไพบูลย์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้ร่วมกันทดลองใช้น้ำมันสบู่ดำเดินเครื่องยนต์ดีเซลอย่างจริงจัง ในปี ๒๕๒๕ ก็ประสบผลสำเร็จ น้ำมันสบู่ดำ สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซล กับเครื่องยนต์ดีเซลได้โดยไม่ต้องเติมสารอะไร หรือปรับแต่งเครื่องยนต์ใด ๆ" คุณระพีพันธุ์ซึ่งบัดนี้เกษียณอายุราชการแล้ว ย้อนอดีตเมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อนให้ฟัง 
      เมื่อเดินเครื่องยนต์ดีเซลครบ ๑,๐๐๐ ชั่วโมง เจ้าหน้าที่บริษัทสยามคูโบต้า จำกัด ได้ถอดชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ออกมาตรวจสภาพเสื้อสูบ ลูกสูบ แหวน ลิ้น หัวฉีด และอื่น ๆ ปรากฏว่าไม่มียางเหนียวจับ ทุกชิ้นยังคงสภาพดีเหมือนเดิม
      ในครั้งนั้นกองมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำการทดสอบใช้น้ำมันสบู่ดำที่สกัดได้กับเครื่องยนต์คูโบต้าดีเซล ๑ สูบ แบบลูกสูบนอนระบบ ๔ จังหวะ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ปริมาตรกระบอกสูบ ๔๐๐ ซีซี ๗ แรงม้า/๒,๒๐๐ รอบต่อนาที เปรียบเทียบการทำงานของเครื่องยนต์ (รอบต่อนาที) และความสิ้นเปลืองพลังงานของเครื่องยนต์ ปรากฏว่าน้ำมันสบู่ดำสิ้นเปลืองน้ำมันน้อยกว่าการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว แต่สังเกตพบว่าเรือนปั๊มน้ำมันทำงานหนักกว่าปรกติเล็กน้อย การเดินเครื่องเป็นปรกติสม่ำเสมอ ไม่มีการน็อก ไม่ว่าจะเดินเครื่องปรกติหรือเร่งเครื่องก็ตาม 
      การทดสอบไอเสียจากเครื่องยนต์ พบว่าควันดำที่ใช้น้ำมันสบู่ดำมีค่าเฉลี่ย ๑๓.๔๒ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีค่าเฉลี่ย ๑๓.๖๗ เปอร์เซ็นต์ คาร์บอนมอนอกไซด์จากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันสบู่ดำสูงกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเล็กน้อย ส่วนซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากปลายท่อไอเสียรถยนต์ พบว่าเมื่อเดินเครื่องด้วยสบู่ดำไม่พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์เลย 
      จากการทดลองเดินเครื่องและตรวจสอบเครื่องยนต์ ได้ข้อสรุปว่า น้ำมันจากเม็ดสบู่ดำ สามารถนำมาเดินเครื่องยนต์ดีเซลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทียบเท่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ทันที โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ต้องเติมอะไรลงไปในน้ำมันสบู่ดำเลย 
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       น้ำมันสบู่ดำนี้ใช้ได้ดีอย่างยิ่งกับเครื่องจักรกลการเกษตรที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ เช่น เครื่องปั่นไฟ รถไถนา รถอีแต๋น รถแทร็กเตอร์ เครื่องสูบน้ำ โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์เช่นกัน
      น้ำมันสบู่ดำยังมีคุณสมบัติโดดเด่นคือ ยังคงใสที่อุณหภูมิต่ำ คือจะแข็งตัวที่อุณหภูมิ -๗ องศาเซลเซียส ในฤดูหนาวก็ใช้ได้ดี และด้วยคุณสมบัติเดียวกันนี้ อาจดัดแปลงน้ำมันสบู่ดำให้เป็นน้ำมันทาสีได้ในอนาคต และถ้าหากว่ามีการเพิ่มค่าไอโอดีนให้สูงขึ้น ก็จะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำมันลินสีด (Linseed) ซึ่งเป็นน้ำมันซักแห้ง 
      คล้อยหลังการค้นพบนี้ได้ไม่นาน น้ำมันเชื้อเพลิงก็มีราคาลดลงมาก ประกอบกับผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เห็นความสำคัญ จึงไม่มีใครสนใจน้ำมันสบู่ดำอีกต่อไป 
      กระทั่งปี ๒๕๔๓ ราคาน้ำมันถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีทีท่าว่าจะลดราคา ทั้งคุณระพีพันธุ์และคุณสุขสันต์ซึ่งบัดนี้เกษียณอายุราชการแล้วทั้งคู่ จึงเสนอแนวคิดเรื่องน้ำมันสบู่ดำอีกครั้ง คราวนี้มีเสียงตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
      ส่วนจักรกลการเกษตร สถาบันพัฒนาและส่งเสริมปัจจัยการผลิต นำผลการวิจัยและทดลองของอาจารย์ทั้งสองท่านมาปัดฝุ่น เดินหน้าโครงการนำร่องการใช้น้ำมันสบู่ดำกับเครื่องยนต์ดีเซลอีกครั้ง 
..........................
      จากสวนนกชัยนาท เราขับรถเข้าไปในซอยเล็ก ๆ ราว ๗ กิโลเมตร ก็มาถึงศูนย์ส่งเสริมจักรกลการเกษตร ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท 
      คุณประสิทธิ์ โพธิ์ยี่ หัวหน้าศูนย์ฯ พาเดินอ้อมไปด้านหลังสำนักงาน ๕ นาทีต่อมาเราก็มายืนอยู่กลางแปลงสบู่ดำภายในพื้นที่ของศูนย์ส่งเสริมฯ 
      กลางแดดร้อนระอุ ต้นสบู่ดำสูงแค่หัวไหล่ ยืนต้นเป็นแถวเป็นแนวบนผืนดินแห้งแล้ง คุณประสิทธิ์อธิบายให้ฟังว่า แปลงสบู่ดำที่เห็นเพิ่งปลูกเมื่อสี่เดือนก่อน จึงยังไม่ออกผล ปรกติสบู่ดำจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุได้หกเดือน และจะเก็บผลผลิตได้สองช่วง คือ ระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม และช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน
      "สบู่ดำปลูกได้ในทุกสภาพอากาศ สภาพดิน เป็นพืชทนแล้ง แทบไม่ต้องดูแลอะไรเลย คนสมัยก่อนนิยมปลูกทิ้งไว้ตามหัวไร่ปลายนา ตอนหลังพอรัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ชาวไร่ชาวสวนก็ตัดฟันต้นสบู่ดำทิ้งกันเกือบหมด เวลานี้ถ้าไปถามเขาอาจจะไม่รู้จักแล้วก็ได้" 
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เม็ดสบู่ดำมีสาร curcin ซึ่งมีสรรพคุณทำให้ท้องเดินเหมือนสลอด ส่วนต้นสบู่ดำไม่ว่าจะเป็นส่วนลำต้น ใบ ผล มีสารพิษชนิดหนึ่ง (ทางวิทยาศาสตร์เรียกสาร hydrocyanic) เหมือนมันสำปะหลัง มีกลิ่นเหม็นเขียว ออกฤทธิ์สยบพวกวัว ม้า ที่ชอบบุกรุกเรือกสวนไร่นาได้ชะงัดนัก ชาวบ้านจึงนิยมปลูกต้นสบู่ดำไว้ตามหัวไร่ปลายนา เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปทำลายพืชที่ปลูกไว้ นอกจากนี้สบู่ดำยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ยางจากก้านใบ ใช้ป้ายรักษาโรคปากนกกระจอก ห้ามเลือด และแก้ปวดฟัน เป็นต้น
      "พอเริ่มหันมาสนับสนุนให้ใช้สบู่ดำเป็นน้ำมันทดแทน เราก็เลยต้องไปตามหาต้นสบู่ดำที่ยังพอมีอยู่ เก็บเมล็ดมาเพาะปลูกและคัดเลือกพันธุ์ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองปลูกตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อศึกษาว่าสภาพดินที่ปลูกได้ดีที่สุดนั้นเป็นอย่างไร และบางจังหวัดที่เราเลือกปลูกเช่นที่อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์เลย เพราะเราอยากรู้ว่า ในสภาพดินอย่างนั้นสบู่ดำเติบโตได้หรือไม่ ปรากฏว่าปลูกได้"
      จากแปลงสบู่ดำ คุณประสิทธิ์พาเดินกลับเข้าสำนักงาน มาดูเครื่องหีบน้ำมันซึ่งเป็นเครื่องแบบง่าย ๆ ราคาเครื่องละ ๓,๐๐๐ บาท ภาชนะบรรจุทำด้วยกระบอกโลหะเจาะรูโดยรอบ ที่อัดด้านบนทำงานด้วยการโยกคันโยกแม่แรง
      เม็ดสบู่ดำแก่จัดที่จะนำมาสกัดน้ำมัน ต้องล้างน้ำให้สะอาด ตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้ง หรือจะนำไปนึ่งก่อนด้วยไอน้ำประมาณ ๓๐ นาทีแล้วผึ่งลมให้เย็น เมื่อนำมาสกัดน้ำมัน ก็จะได้น้ำมันมากถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักเมล็ด
      หลังจากบุบเม็ดสบู่ดำแล้วก็ใส่ลงเครื่องหีบได้เลย น้ำมันจะไหลออกตามรูกระบอกแล้วไหลไปรวมกันในท่อ เมื่อกรองน้ำมันด้วยผ้าขาวบางแล้ว ก็นำไปใช้กับเครื่องยนต์แทนน้ำมันดีเซลได้ทันที ถ้าต้องการน้ำมัน ๑ กิโลกรัม ก็ต้องใช้เม็ดสบู่ดำ ๔ กิโลกรัม กากที่เหลือ ๓ กิโลกรัมนั้น จากผลการวิจัยพบว่ามีไนโตรเจนถึงร้อยละ ๔.๔ จึงนำไปทำเป็นปุ๋ยได้อย่างดี
      เม็ดสบู่ดำที่แก่จัดและเก็บมาจากต้นแล้ว ควรนำไปสกัดน้ำมันภายใน ๑ เดือน มิฉะนั้นน้ำมันที่อยู่ในเม็ดจะระเหยออกไป
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       นอกจากที่จังหวัดชัยนาทแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังทดลองปลูกสบู่ดำ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกเพื่อใช้เป็นน้ำมันทดแทน ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม จังหวัดละ ๕ ไร่ และที่สงขลาอีก ๑๐ ไร่
      คุณนเรศ รังสิมันตศิริ วิศวกร ๕ ส่วนจักรกลเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่อยากให้มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นสบู่ดำในเชิงพาณิชย์ เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มทดลองปลูก และศึกษาหาพันธุ์ที่ดีที่สุด ยังไม่ได้วิเคราะห์ว่าถ้าปลูกในเชิงพาณิชย์แล้วจะคุ้มทุนหรือไม่ 
      "ผมไม่อยากให้มองว่าการปลูกพืชเพื่อนำมาผลิตน้ำมันทดแทน ต้องคุ้มทุนในเชิงพาณิชย์เท่านั้น ที่ผ่านมาการปลูกพืชชนิดใดก็ตาม คนมักจะคิดกันว่า ปลูกแล้วจะร่ำรวยไหม คุ้มหรือไม่คุ้ม ผมอยากให้มองเรื่องการพึ่งพาตัวเอง
      "สิ่งที่เราต้องการส่งเสริมคือ ให้เกษตรกรปลูกเพื่อเก็บผลผลิตมาหีบเอาน้ำมันใช้เองในครัวเรือน การปลูกพืชชนิดนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แค่ปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา หรือในพื้นที่ที่ปลูกอะไรไม่ขึ้นแล้ว ก็เอาสบู่ดำไปปลูกไว้ เก็บผลแก่มาหีบน้ำมันใช้ในบ้าน ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อน้ำมันมาใช้ 
      "เครื่องหีบอาจจะต้องลงทุนหน่อย แต่ในระยะยาวก็คุ้ม ในหมู่บ้านถ้ามีเครื่องหีบสักตัวสองตัว ก็ผลัดกันใช้ได้ทั้งหมู่บ้าน ผลัดกันหีบแค่พอใช้ในครัวเรือน" 
      เกษตรกรของไทยใช้น้ำมันเติมรถไถนา เรือหางยาว ปีละหลายร้อยล้านลิตร หากเกษตรกรผลิตน้ำมันใช้ได้เอง ก็จะประหยัดเงินตราจากการซื้อน้ำมันได้มาก ที่สำคัญพวก เขาจะได้ไม่ต้องวิตกกังวลกับราคาน้ำมันที่ผันแปร มีแต่จะสูงขึ้น อีกต่อไป
..........................................
      ว่ากันว่าความสำเร็จของน้ำมันทดแทนไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี 
      ไม่ได้อยู่ที่ปัญหาเชิงเศรษฐศาสตร์ 
      แต่อยู่ที่หัวใจและเจตจำนงทางการเมืองที่ปลอดผลประโยชน์และไม่ผูกขาด 
      เมื่อเรามี "บ่อน้ำมัน" อยู่ในไร่นาแล้ว ปัจจัยทางเทคโนโลยีก็ไม่ใช่ปัญหา น้ำมันทดแทนทุกชนิดผ่านการทดสอบทดลองจนสำเร็จแล้ว
      น้ำมันทดแทนจึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันอีกต่อไป