สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕ " World Cup 2002 "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕  

ท่วงทำนองแห่งมหากาพย์ลูกหนัง
บันทีก ๑ เดือนจากขอบสนามบอลโลกปี ๒๐๐๒ 

เกียรติพงษ์ ตีระพิมลจันทร์

(คลิกดูภาพใหญ่)

      เมื่อการรอคอยสิ้นสุด
      เช่นเดียวกับผู้ที่คลั่งไคล้กีฬาลูกหนังทั้งหลาย ผมใฝ่ฝันมานานแล้วว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องหาโอกาศไปสัมผัสฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึงขอบสนามให้ได้ แล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่อหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดส่งผมไปทำข่าวฟุตบอลโลก ๒๐๐๒--ฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นบนทวีปเอเชีย มีประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน
      ๓๑ พ.ค. ฟุตบอลโลกนัดแรกเปิดฉากที่เกาหลีใต้อย่างพลิกล็อคถล่มทลาย ฝรั่งเศสแชมป์เก่าแพ้ทีมนอกสายตาอย่างเซเนกัล ๑ ประตูต่อศูนย์ แต่ผมถูกส่งมาประจำที่ญี่ปุ่น ฟุตบอลโลกคู่แรกของผม จึงเป็นนัดเปิดสนามบอลโลกที่ญี่ปุ่นในวันต่อมา ระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์ยุคไร้ รอย คีน กับแคเมอรูน สิงห์ร้ายจากแอฟริกา 
      วันนั้นผมต้องเดินทางจากบ้านพักในโยโกฮาม่า ผ่านเข้าสู่เมืองหลวงโตเกียว ไปยังเป้าหมายที่นีงะตะ สเตเดี้ยม หรือ บิ๊กสวอน--เจ้าหงส์สีขาวยักษ์ เป็นระยะทางร่วม ๔๐๐ กิโลเมตร ให้ทันกำหนดการแข่งขันในเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ผมอดกังวลใจไม่ได้ เพราะนี่เป็นการเดินทางไกลเพียงลำพังในต่างแดนเป็นครั้งแรก แต่นึกได้ว่ารุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ทำข่าวทัวนาเมนต์ลูกหนังระดับโลกมาก่อน บอกว่าอย่าวิตกจริตเกินเหตุ ถ้าเห็นแฟนบอลกลุ่มใหญ่ใส่เสื้อทีมที่จะลงเตะก็ให้ตามมันไป เดี๋ยวก็ถึงที่หมายเองแหล่ะ
      เพื่อไม่ประมาทผมออกเดินทางแต่เช้า เมื่อถึงโตเกียว ความหวั่นใจตลอดคืนก่อนก็หายวับไปกับตา เพราะที่นั่นมีกลุ่มแฟนบอลไอริชหลายพันคน ผมจึงไม่ต้องทำอะไรนอกจากเดินตามไปจนถึงชานชาลาติดป้ายนีงะตะหรา
      ประสบการณ์เวิลด์คัพฟีเวอร์ที่ได้สัมผัสครั้งแรก เป็นเรื่องราวกองเชียร์ของทัพไอริช ซึ่งสร้างสีสันเป็นท้องคลื่นทะเลสีเขียวเต็มพรืดสุดลูกหูลูกตา
      จากการสืบค้นปูมหลัง แฟนบอลในโลกนี้มีอยู่สองจำพวก
      จำพวกแรกคือแบบที่เหมือนอังกฤษ และจำพวกที่ ๒ เป็นแบบที่ไม่เหมือนอังกฤษ
      กลุ่มที่คล้ายอังกฤษ ตอนนี้ยังสังเกตเห็นได้ยากมาก เยอรมันบางกลุ่มอาจจะคล้าย แต่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น แฟนอาร์เจนตินาก็เถื่อน แต่จะเถื่อนก็ต่อเมื่อเป็นโปรแกรมลงเตะฟุตบอลภายในประเทศ ส่วนจำพวกไม่เหมือนอังกฤษก็คือแฟนบอลที่เหลือทั้งโลก โชคดีเป็นของผมที่ได้เจอแฟนบอลจำพวกสอง 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       บรรยากาศโดยรวมของบิ๊กสวอนสเตเดี้ยม อบอวลดัวยกลิ่นอายของเวิลด์คัพ ภายนอกมีการจัดงานเวิลด์คัพเฟสติวัล กิจกรรมการเล่นต่าง ๆ มากมาย แต่เป้าหมายแรกที่ผมเดินทางไปถึงสนามก็คือ การขอบัตรผ่านเข้าสู่ตัวสนาม ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไปถึงยื่นบัตรเพรสคล้องคอ และบอกต้นสังกัดที่ส่งเรามา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะมอบบัตรในบล็อกของนักข่าวโดยแนบมาพร้อมกับแผนที่ 
      บัตรที่นักข่าวได้รับนั้นแตกต่างจากของแฟนบอลก็ตรงที่ตัวเลขในช่องราคาจะเป็น ๐ ทั้งหมด กันเอาไว้เพื่อไม่ให้มีการซื้อขาย แต่ถึงมีราคากำกับก็ไม่น่าที่พวกขามั่วทั้งหลายจะฉกตั๋วของนักข่าวเข้าสนามได้ เนื่องจากระบบรักษาความปลอดภัยของที่นี่เข้มงวดมาก ต้องเช็กไอดีการ์ดถึงสามสี่ครั้งก่อนเข้าสู่ตัวอัฒจันทร์
      การมีประสบการณ์ทำงานภาคสนามนั้น สอนให้รู้ว่า มันยากและเหนื่อยกว่านั่งแปลข่าว วิจารณ์บอล อย่างที่เคยทำเป็นกิจวัตรที่โรงพิมพ์หลายเท่า เวลากับความผิดชอบ และบางทีอาจต้องรับผิดชอบหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน
      การแข่งขันวันนั้นจบลงด้วยผลเสมอ ๑ ประตู ต่อ ๑ 
      แม้จะยังไม่มีโอกาศได้ยลฝีเท้าของทีมเต็งแชมป์อย่างฝรั่งเศส บราซิล อิตาลี และอาร์เจนติน่าก็ตาม แต่สีสันและบรรยากาศของเวิลด์คัพครั้งแรกที่ได้สัมผัส เล่นเอาผมถึงกับโค้งคารวะ และนิ่งอึ้งไปนาน
 

สงครามลูกหนัง อังกฤษ:อาร์เจนติน่า

 
(คลิกดูภาพใหญ่)
      เป็นความสัตย์จริงว่า อังกฤษพบอาร์เจนตินา คือฟุตบอลคู่ในฝันที่ผมอยากดูสด ๆ ในสนาม ยิ่งกว่านัดชิงชนะเลิศฟุตบอลเสียอีก
      หากคุณเป็นคอบอลขนานแท้ ย่อมไม่พลาดเกมบิ๊กแมตช์เหล่านี้ รีล มาดริด-บาร์เซโลน่า, แมนฯ ยูไนเต็ด-ลิเวอร์พูล, เอซีมิลาน-อินเตอร์มิลาน, ฮอลแลนด์-เยอรมัน, อิตาลี-บราซิล 
      แต่ถ้าลองให้คิดถึงเกมในสนามซึ่งมิใช่เพียงแค่กีฬา แต่มีเรื่องเกียรติภูมิชาติของชาติ ความพยาบาทผูกใจเจ็บเข้ามาเดี่ยวข้องด้วยแล้ว อังกฤษพบอาร์เจนตินา ติดท็อปทรีอย่างแน่นอน การห้ำหั่นของสองชาติเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความชิงชัง
      ในฟุตบอลโลกปี ๑๙๖๖ ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ ผู้จัดการทีม เซอร์ อัล์ฟ แรมซีย์ วิ่งลงไปในสนาม ห้ามไม่ให้ลูกทีมแลกเสื้อกับนักเตะอาร์เจนตินา เพื่อเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของนักเตะฟ้า-ขาว ซึ่งเจตนาเล่นตุกติกงัดกลโกงสารพัดรูปแบบออกมาเล่นงานนักเตะอังกฤษ
      แต่ปูมหลังที่ทำให้ต่างฝ่ายทุ่มเทความเกลียดชังให้กันแบบไม่มีขีดจำกัด น่าจะพอเข้าใจได้ว่ามีมาตั้งแต่ครั้งทื่กองทัพอังกฤษ บุกเข้ายึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์จากอาร์เจนตินาเมื่อปี ๑๙๘๒ 
      หลายคนเชื่อว่า ในเชิงสังคม"กีฬา" ก็คือการจำลองสงครามมาไว้ในสนาม โดยมีกติกากำกับ 
      "สงครามลูกหนัง"ครั้งต่อๆ มาระหว่างอังกฤษอาร์เจนติน่าในฟุตบอลโลก น่าจะยิ่งโหมเพลิงแค้นของทั้งสองชาติไม่ให้มอดดับได้ง่ายๆ 
      ชัยชนะที่อื้อฉาวของอาร์เจนตินาเกิดขึ้นเมื่อฟุตบอลโลกปี ๑๙๘๖ ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ
      ดีเอโก้ มาราโดน่า ใช้"หัตถ์พระเจ้า" ทำประตูแรก ก่อนเลี้ยงหลบ ๔ นักเตะอังกฤษจากครึ่งสนาม แล้วกระชากบอลผ่านปีเตอร์ ชิลตัน เข้าไปยิงประตูที่สอง
      แฟนบอลอังกฤษอาจไม่ยอมรับกับความพ่ายแพ้เกมนั้น ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกันทุกอย่างแล้ว อังกฤษไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่หยุดยั้งไม่ให้อาร์เจนตินาคว้าแชมป์โลกได้ ขนาดที่ว่าแน่แล้วอย่างเยอรมันตะวันตก ก็ยังต้านทานอิทธิฤทธิ์ฝีแข้งของมาราโดน่าเอาไว้ไม่อยู่ 
      และในฟุตบอลโลกเมื่อ ๔ ปีที่แล้วที่ประเทศฝรั่งเศส อาร์เจนตินาได้สร้างซูเปอร์สตาร์และซาตานให้บังเกิดขึ้นในทีมชาติอังกฤษ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ไมเคิล โอเวน ได้รับฉายา "เบบี้ โกล์" พร้อมแจ้งเกิดบนถนนสายลูกหนังได้ที่แซ็งต์ เอเตียน จากประตูที่เกือบก๊อบปี้แบบมาจากมาราโดน่า ส่วนกัปตันทีมคนปัจจุบัน เดวิด เบ็กแฮม คือผู้ร้ายในสายตาของคนทั้งประเทศ
      เบ็กส์กลายเป็นเหยื่อของกฎใหม่ฟีฟ่า ซึ่งนำมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด เขาถูกใบแดงไล่ออกในจังหวะที่เอาขาไปสะกิดดีเอโก้ ซิเมโอเน่ ไม่รุนแรงในแง่ของการเข้าปะทะ แต่กฎต้องว่ากันตามกฎ เป็นการเจตนาทำฟาวล์เข้าใส่คู่ต่อสู้
      ตอนที่อังกฤษตกรอบ นักเตะทุกคนเดินทางกลับบ้านกันหมด ขณะที่เบ็กแฮมหนีไปหลบเลียแผลใจไกลถึงสหรัฐอเมริกา สื่อมวลชนประฌามเขา ๑๐ ฮีโร่กับไอ้ ๑ เด็กเลว แฟนเวสต์แฮมทำป้ายแขวนคอประชด และอีกสารพัด
      ฟุตบอลโลก ๒๐๐๒ คงทำให้แฟนอังกฤษต้องระทึกใจตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่ออังกฤษและอาร์เจนติน่าจับสลากมาอยู่ร่วมสายเดียวกันตั้งแต่รอบแรก คือกลุ่ม F หรือ"กลุ่มแห่งความตาย" ทั้งสองทีมมีกำหนดฟาดแข้งกันในวันที่ ๗ มิถุนายน ที่สนามเมืองซับโปโร

      ตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงสิบห้านาทีบนเครื่องบิน ผมนึกภาพเกมฟุตบอลคู่หยุดโลก ตั้งแต่เริ่มล็อกเข็มขัดนิรภัยจนกระทั่งปลดมันออกอีกครั้ง เมื่อเครื่องลงแตะรันเวย์ที่สนามบินชิโตเสะเมืองซัปโปโร
      การเดินทางมายังซัปโปโรโดม ผมไม่ได้กังวลใจเรื่องระยะทางร่วมพันกิโลเมตรจากที่พัก 
      แต่กังวลกับเส้นทางในเวิลด์คัพ ๒๐๐๒ ของทีมชาติอังกฤษ อาจพบทางตันหากว่าแพ้อาร์เจนตินา เพราะว่าผลการแข่งขันของคู่ก่อนหน้านั้น สวีเดนเอาชนะไนจีเรีย ไป ๒-๑ เท่ากับว่าสถานการณ์บังคับให้อังกฤษหมดสิทธิ์เพลี่ยงพล้ำในเกมนี้ทุกกรณี
      ดูจากการเตรียมพร้อมทางญี่ปุ่นเอง ก็น่าจะรู้ถึงกิตติศัพท์ของฮูลิแกนอิงลิชดี ถึงได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่คอยมายืนดูแลความสงบอยู่ภายนอกสนาม และพวกคอมมานโดปราบจลาจลไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ นาย รวมกับรถดับเพลิงจอดเรียงเป็นตับ เผื่อใช้ฉีดน้ำสลายฝูงชนกรณีมีเรื่องวิวาท 
      หลังเสร็จเรื่องรับตั๋ว ผมฉีกตัวเองออกมาสังเกตการณ์บรรยากาศภายหน้าสนามเล็กน้อย ประเด็นที่ให้ความสนใจก็คือเรื่องฮูลิแกนอย่างที่หลายคนกังวลใจไม่ปรากฎให้เห็น หลังเกมยังไม่แน่ใจ ? ขึ้นอยู่กับโฉมหน้าของการแข่งขันด้วย ถ้าอังกฤษไม่แพ้ ความรุนแรงก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ได้เวลาเข้าไปชมเกมฟุตบอลคู่หยุดโลกเสียที เสียงเชียร์ "อิงแลนด์ อิงแลนด์ อิงแลนด์" หนักแน่นเหลือเกิน ประมาณว่าไม่ต่ำกว่า ๓ หมื่นคนที่ให้การหนุนหลังพวกเขา เทียบกับทางอาร์เจนไทน์เต็มที่ ๕,๐๐๐ คนไม่มากกว่านี้
      และนี่เป็นเกมแรกนับตั้งแต่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายระเบิดขึ้นในญี่ปุ่น ที่สนามทุกตารางนิ้วอัดแน่นด้วยแฟนบอลเต็มความจุ ไม่เหลือที่ว่างให้มดวิ่ง มีแฟนบอลอีกหลายพันคนเข้าสนามไม่ได้ ส่วนนักข่าวกับช่างภาพที่เข้าคิว waiting list (การลงชื่อขอบัตรเข้าชมเกมของสื่อมวลชน ที่ไม่ได้รับโควตาตั้งแต่แรก) ก็ต้องผิดหวังไปตาม ๆ กัน
      ถึงขนาดที่ว่า นักข่าวชาวไอริชยืนดักทางเข้าสนามของผู้สื่อข่าวด้วยกัน เดินเข้ามากระซิบกระซาบถามผม สนใจต้องการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันหรือไม่ ?

      พอผมโผล่เข้าสู่สนาม แฟนบอลสิงโตคำรามกำลังส่งเสียงโห่เฟี้ยวฟ้าว เปล่า...ไม่ได้โห่ต้อนรับผม แต่โห่เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศให้ลุกขึ้นยืน แสดงความเคารพเพลงชาติอาร์เจนตินา และที่มีพิเศษก็คือ เมื่อกล้องแพนมาที่นักเตะเรียงตัวมาถึง ดีอโก้ ซิเมโอเน่ กับ ฮวน เซบาสเตียน เวรอน เสียงโห่ดังก้องเล่นเอาหูชาไปเลย
      แฟนฟ้า-ขาว โห่กลับคืนเมื่อถึงคราว "ก๊อดเซฟเดอะควีนส์" แต่ถูกพลังเสียงของอังกฤษกลบจนแทบไม่ได้ยิน
      มีเรื่องตลกที่เกิดขึ้นเหมือนกัน โดยปรกติแล้วเพลงชาติของทุกทีมที่ผ่านเข้ามาแข่งรอบสุดท้าย จะเปิดเพียงรอบเดียว ยกเว้นอังกฤษ ที่พระเจ้าต้องกลับมาปกป้ององค์พระราชินีถึงสองครั้ง
      เป็นเพราะความยาวของพวกเขามันสั้น !
      ร้องไม่ทันไรก็จบแล้ว กล้องทีวียังแพนหน้านักเตะเรียงตัวไม่ครบ เลยต้องเปิดซ้ำอีกรอบ เล่นเอาพวกแฟนอังกฤษหน้าแตกงงไปตาม ๆ กัน เพราะอีตอนตะบึงเสียงร้องจบรอบแรก ก็ตบมือเป่าปากเฟี้ยวฟ้าว แต่ที่ไหนได้ต้องเก้อตามระเบียบ
      ภาพรวมของเกมสนุกสนานใช้ได้ อาร์เจนตินาครองบอลมากกว่า เมื่อมาถึงตอนนี้กองเชียร์ฟ้า-ขาวมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่เพลี่ยงพล้ำให้อังกฤษ เนื่องจากเป็นต่อเรื่องรูปเกม
 (คลิกดูภาพใหญ่)       พอโอเวนยิงชนเสาเท่านั้น กองเชียร์อังกฤษที่เงียบเสียงไปนานกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
      และเมื่อโอเวนโดนเตะกลิ้งในเขตโทษนาทีที่ ๔๓ ปิแอร์ลุยจิ คอลลิน่า"กรรมการหัวหลอดไฟ" ไม่ลังเลที่จะเป่านกหวีดให้จุดโทษกับทีมสิงโตคำราม 
      เบ็กแฮมเยือกเย็นเกินกว่าความผิดพลาด ยิงไปตรง ๆ อาศัยความแรงอย่างเดียว ประตูนี้เปรียบเสมือนการลบฝันร้ายของเขาที่ฝรั่งเศส
      ตอนจบครึ่งแรก กองเชียร์อังกฤษทั้งสนามพร้อมใจกันชี้มือที่ฝั่งกองเชียร์อาร์เจนตินา และตะโกนว่า "โกโฮม โกโฮม โกโฮม ๆๆๆๆ" อยู่นานหลายนาที 
      มีเรื่องโจ๊กกว่านั้นก็คือ ช่วงพักครึ่ง ทางสนามเปิดภาพย้อนเหตุการณ์สำคัญของฟุตบอลโลก ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงฟรองซ์ "๙๘
      แฟนบอลเมืองผู้ดีเฮดังลั่นเมื่อภาพรีเพลย์มาถึงปี ๑๙๖๖ ตอนที่ เจฟฟ์ เฮิร์สท์ ยิงประตูเยอรมันตะวันตก และ บ๊อบบี้ มัวร์ ถูกเพื่อนร่วมทีมวิ่งแบกไปรอบสนามพร้อมกับชูถ้วยจูริเมต์
      แตเมื่อภาพดำเนินมาถึงปี ๑๙๘๖ ตอนที่ ดีเอโก้ มาราโดน่า กระชากบอลจากครึ่งสนามเข้าไปยิงประตูอังกฤษ พวกอาร์เจนตินาเฮดังกว่า มีทั้งตีกลองตะโกนเรียกชื่อ "มาราโดน่า มาราโดน่า มาราโดน่า" ให้พวกอังกฤษเจ็บใจเล่นอีกต่างหาก
      ในครึ่งหลังทั้งสองฝ่ายยังคงผลัดกันบุก ในช่วงท้ายแม้อาร์เจนติน่าโหมบุกอย่างหนัก ก็ทำได้เพียงยิงเฉียดไปเฉียดมา กระทั่งจบเกม อังกฤษเป็นฝ่ายชนะไป ๑ ประตูต่อ ๐ 
      เบื้องหลังชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ มีบางสิ่งซุกซ่อนอยู่ แฟนเบ็กแฮมพันธุ์แท้อาจบอกว่ารอวันนี้มา ๔ ปี แต่แฟนอังกฤษตัวจริงยืนยันหนักแน่นกว่า ถอนแค้นอาร์เจนตินาครั้งนี้เป็นบัญชีร้าวลึกจากเมื่อ ๑๖ ปีก่อน
      บรรยากาศฉลองชัยไปสุดสิ้นตรงไหน เวลาใด เมื่อไหร่ ผมไม่กล้ายืนยัน เท่าที่รู้ก็คือ ผับทุกผับแน่นเอี๊ยด ร้านรวงทุกแห่งพร้อมใจกันขยายเวลาปิดเพื่อรองรับแฟนอังกฤษ 
      ช่วงตีสามครึ่งที่เดินวนหาทางกลับที่พัก มองไปทางไหนตลอดความยาวของโอโดริพาร์ก ก็เจอแต่แฟนบอลสิงโตคำรามร้องรำทำเพลงเป็นที่สำราญใจ
 
 

ชัยชนะของยากูซ่า ญี่ปุ่น ๑ : รัสเซีย ๐

 (คลิกดูภาพใหญ่)
      ชัยชนะของญี่ปุ่น เหนือ รัสเซีย ๑-๐ ที่สนามโยโกฮาม่า วันที่ ๙ มิ.ย. ไม่ได้มาอย่างฟลุ๊ก ๆ แต่เกิดจากความมานะทุ่มเทนานนับ ๑๐ ปี ลงทุนตั้งมากมายก่อตั้งเจ-ลีก ว่าจ้างซูเปอร์สตาร์ระดับโลกมาช่วยยกระดับมาตรฐานการเล่นให้แก่นักเตะเจ้าถิ่น และที่สำคัญ ลูกทีมของฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์--ผู้จัดการทีมชาวฝรั่งเศส มีนักเตะอยู่ในสนามถึง ๑๒ คน เมื่อรวม มาร์คุส แมร์ก เชิ้ตดำยี่ห้อไส้กรอกเยอรมันเข้าไปอีกคน
      นักเตะญี่ปุ่นทั้ง ๑๑ คนในสนามแสดงความมุ่งมั่นทุ่มเท ต้องการเป็นผู้ชนะมากกว่าฝั่งรัสเซีย โดยรูปเกมนั้น ญี่ปุ่นเหนือกว่าเล็กน้อย ขณะที่ลูกทีเด็ดโต้กลับเร็วของนักเตะหมีขาวใช้การไม่ได้ผล เป็นเพราะว่าทรุสซิเยร์เองก็รู้ดีว่า โอเล็ก โรมันท์เชฟ ต้องวางแผนมาเล่นเคาน์เตอร์แอ็กแท็กอย่างถนัด ถึงได้กำชับไม่ให้แผงหลังทั้ง ๔ คนขยับสูงช่วยเติมเกมรุก หน้าที่หลักคือตรึงกำลังอยู่ในแดนตัวเอง
      จังหวะเข้าปะทะก้ำกึ่ง ทีมญี่ปุ่นจะได้ฟาวล์ตลอด ส่วนประตูที่ จุนอิจิ อินาโมโตะ ทำได้นั้นเสียงส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกันว่าออฟไซด์ อย่างว่าละครับ เรื่องแบบนี้มันธรรมดามาก หากลงเตะกับเจ้าภาพต้องทำใจเผื่อเอาไว้ล่วงหน้า 
      ชัยชนะนัดแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ช่วยแต่งแต้มรอยยิ้มบนใบหน้าของคนญี่ปุ่น แม้วัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอลของพวกเขาอาจจะไม่ฝังรากลึกเท่ายุโรบหรือละตินอเมริกา 
      ตลอดช่วงดึกของคืนวันอาทิตย์ที่โยโกฮามาและที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ พวกญี่ปุ่นฉลองชัยกันเต็มคราบ ขนาดเกมเพิ่งจบไปเพียงแค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ทางฟูจิซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของทัวร์นาเมนต์ จัดแจงพิมพ์แผ่นป้ายโปสเตอร์ขนาดเล็กมีภาพยิงประตูของ จุนอิจิ อินนาโมโตะ พิมพ์แจกแฟนบอล ในโปสเตอร์มีรายละเอียดของเกม สถิติ รายชื่อผู้เล่นทั้งสองทีม สรุปอันดับคะแนนพร้อมสรรพ สถานีโทรทัศน์ก็แพร่ภาพข่าวบรรยากาศกองเชียร์ญี่ปุ่นฉลองชัยตามเมืองต่างๆ ตัดสลับกับภาพฝูงชนออกมาทุบทำลายข้าวของร้านค้าที่กรุงมอสโก เพราะไม่พอใจที่ทีมชาติของตนปราชัย
      ส่วนการวิวาทะทางความคิดของผู้สื่อข่าวในมีเดียเซ็นเตอร์ที่โยโกฮามาเอง ชี้ประเด็นตรงกันว่า ผู้ตัดสิน มาร์คุส แมร์ก นั้นมีใจให้เจ้าถิ่นอย่างออกนอกหน้า จนกระทั่งมีคำว่า "ยากูซ่า" หลุดมาเข้าหูผม
 

ทำไมต้องเหมือนใคร (ยกเว้นฝรั่งเศส)

 (คลิกดูภาพใหญ่)
      ก่อนมาญี่ปุ่น ปะหน้าใครก็ต่อใคร เจอคำถามสุดเชยว่าทีมใดจะคว้าแชมป์โลก ผมตอบแบบไม่ลังเล ต้องเป็นแชมป์เก่าฝรั่งเศสสิ ในฐานะที่พวกเขาเป็นทีมดีที่สุดของโลก และองค์ประกอบค่อนข้างเพอร์เฟ็กต์ เมื่อเทียบกับเหล่าบรรดาทีมเต็งด้วยกันเอง 
      แน่นอนว่าอีกทีมเต็งตามสายตาผมคืออาร์เจนติน่า

      ๑๒ มิ.ย. ผมนั่งรถไฟร่วม ๕๐๐ ก.ม. ไปดูอาร์เจนติน่าฟาดแข้งนัดที่สามของรอบแรกกับทีมสวีเดน ที่มิยะหงิสเตเดี้ยม 
      สังเวียนแข้งแห่งนี้สวยงามทีเดียว มีภูเขาและป่าล้อมรอบ ตัวสนามกว่าครึ่งถูกฝังอยู่ใต้ดิน บริเวณข้าง ๆ สร้างเป็นยิมเนเซียม สามารถเดินเชื่อมต่อถึงกันได้หมด
      เดินทางไกลอย่างเดียวไม่พอ ผมต้องเสี่ยงเข้าคิว waitting list ลงชื่อขอตั๋วเข้าสนาม แต่ที่นี่ไม่มีเหมือนกับที่อื่น ในตัวสนามกันที่นั่งให้แก่สื่อมวลชนมากกว่าทุกแห่ง ตามระเบียบแล้ว พวกลงชื่อขอตั๋วเสริมจะต้องไปยืนรอฟังผลว่าจะได้หรือไม่ ก่อนแข่ง ๑ ชั่วโมง แต่ที่มิยะหงินี่เขาใจดี พอผมลงชื่อปุ๊บ เจ้าหน้าที่สาวฉีกยิ้มก่อนพูดสำทับว่า "บ่ายสองโมงตรงมารอรับตั๋วได้ มีพอแจกสำหรับนักข่าวทุกคนค่ะ" 
      ผมคิดในใจ อาจเป็นได้ที่มิยะหงิอยู่ไกลปืนเที่ยง จึงน่าจะมีพวกสละสิทธิ์จำนวนมาก ไม่อย่างงั้นคงต้องลุ้นตัวโก่งเหมือนที่อิบาระกิ นัดอิตาลีพ่ายโครเอเชีย เขาเตะกันโครม ๆ ไปแล้วตั้ง ๑๐ นาที เจ้าหน้าที่ฟีฟ่าเพิ่งแจกตั๋วเข้าชมเสร็จ
      รับตั๋วเสร็จสรรพเดินบึ่งตรงเข้าสนามทันที สังเกตเห็นฝั่งอาร์เจนไทน์ดูท่ามั่นใจเป็นพิเศษ ถึงได้ยกโขยงกองเชียร์กับกองทัพนักข่าวมากกว่าสวีเดนลิบลับ แถมได้แรงหนุนกองเชียร์ญี่ปุ่นที่ใส่เสื้อฟ้า-ขาวเต็มพรืด โดยเฉพาะตรงบ็อกซ์เพรสแถวข้างหลังผมนั้นเป็นพวกอาร์เจนไทน์ทั้งหมด ท่าทางมาดมั่นกระหยิ่มอยู่ในที หัวเราะคิกคักราวกับมั่นใจว่า นักเตะของพวกเขาต้องเอาชนะสวีเดนได้แน่
 (คลิกดูภาพใหญ่)       แล้วยิ่งเวลาเชียร์ ทำเอาผมขนลุก พวกละตินเชียร์ฟุตบอลได้อารมณ์ มีทั้งแหกปากกระทืบเท้าทุบโต๊ะ สบถหยาบ ๆ คาย ๆ แม้แปลไม่ออก แต่สังเกตเอาจากน้ำเสียงและอารมณ์ประกอบ ต้องไม่ใช่คำสื่อความหมายไปในทางที่ดีแน่
      แต่สุดท้ายกองเชียร์ฟ้า-ขาว ต้องน้ำตาตก ซึมกันไปทั้งสนาม อาร์เจนติน่าเสมอสวีเดน หนึ่งประตูต่อหนึ่ง หนึ่งคะแนนที่ได้ในนัดนี้ไม่เพียงพอสำหรับเข้าสู่รอบต่อไป ทีมร่วม"กลุ่มแห่งความตาย"ที่ได้เข้ารอบ ๑๖ ทีม ก็คืออังกฤษและสวีเดน
      แม้จะไม่เคยแอบชื่นชมอาร์เจนตินาเป็นการส่วนตัว แต่ยอมรับครับว่าเสียใจกับ "บาติโกล์" กาเบรียล บาติสตูต้า ฉากสุดท้ายในฟุตบอลโลกของดาวยิงอาภัพโชค จบลงไม่สวยอย่างที่เจ้าตัวหวังใจเอาไว้
      ตอนที่เห็นบาติโกล์เดินออกจากสนามพร้อมกับน้ำตานั้น สะเทือนใจไม่ใช่เล่น แม้ว่าจะไม่ใช่แฟนทีมฟ้า-ขาวก็เถอะ ดาวยิงที่พระเจ้าส่งมาเกิดอย่างเขา ทำไมหนอถึงพานพบกับความโชคร้าย เล่นกับฟิออเรนติน่ามาตั้ง ๑๐ ปี เต็มที่ก็แค่แชมป์โคปปา อิตาเลีย มาดีหน่อยที่โรมได้สคูเด๊ตโต้ ผ่านบอลโลก ๓ สมัยแต่ไม่เคยไปไกลเกินกว่ารอบ ๘ ทีมสุดท้าย
      คำแก้ตัวที่พอจะทำให้นักเตะฟ้า-ขาว ไม่รู้สึกว่าตัวเองตกต่ำไปก็คือ ขนาดฮอลแลนด์ ทีมที่เขี่ยพวกเขาตกรอบก่อนรองชนะเลิศเมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ยังไม่ได้ผ่านเข้ามาเล่นรอบคัดเลือก หนำซ้ำทีมแชมป์เก่าฝรั่งเศสชิงตกรอบไปก่อนตั้งแต่เมื่อวาน จากผลการแข่งขันรอบแรก ๓ นัด ที่ไม่ชนะและยิงประตูทีมใดไม่ได้เลย
      ไม่ต้องอายใครหรอก ก็แค่ตกรอบแรก
 

ยิ้มกลางสายฝน

 (คลิกดูภาพใหญ่)
      ผมเดินทางมาดูฟุตบอลโลกที่นีงะตะเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ก่อนหน้าเป็นเกมไอร์แลนด์เสมอแคเมอรูน และโครเอเชียพ่ายเม็กซิโก ส่วนวันนี้(๑๕ มิ.ย.) ผมมาดูการดวลแข้งระหว่างทีมอังกฤษและเดนมาร์คในรอบที่สอง หรือรอบ ๑๖ ทีม หากใครแพ้ก็เก็บกระเป๋ากลับบ้านได้เลย
      รู้ทั้งรู้จากโยโกฮามามานีงะตะ ๔๐๐ กิโลเมตรนั้นไม่ใกล้เลย ขนาดนั่งรถไฟจรวดชินกังเซ็น ปาเข้าไปตั้ง ๒ ชั่วโมงกว่า สู้อุตส่าห์แอบเดินทางมาคนเดียวตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องยืนเมื่อย ทว่าพวกแฟนบอลอังกฤษมันรู้แกว นัดแนะมาขึ้นขบวนตอนเช้าเหมือนกัน เหลือบไปเห็นแถวยาวเหยียดโค้งเป็นรูปตัวยู ก็ได้แต่ปลงซะเดี๋ยวนั้น คงเหมือนกับเมื่อวานแหละ ตีตั๋วยืนไปดูบอลโลก

      เป้าหมายของผมในวันนี้อยู่ที่คู่หัวหอก ไมเคิล โอเวน กับ เอมิล เฮสกี้ เป็นดูโอที่ผมอยากเห็นพวกเขาทำประตูได้ในนามทีมชาติอังกฤษ 
      ไม่ใช่โม้นะครับ แต่บางสังหรณ์มันบอกว่า โอเวนที่คลำเป้ามาไม่เจอตลอดสามนัดของรอบแรก น่าจะส่องสกอร์เกมนี้ได้
      และก็เป็นจริงดังคาด หลังจาก โทมัส โซเรนเซ่น รับลูกโขก ริโอ เฟอร์ดินานด์ กระฉอกไปเข้าประตูตัวเองแล้ว แถม โทมัส เฮลเว็กของเดนมาร์ค โดนเปลี่ยนตัวออกไป เปิดทางสะดวกให้แก่โอเวน สร้างความปั่นป่วนให้แก่แนวรับทีมโคนมได้เป็นระยะ ๆ ก่อนจัดการประตูแรกของตัวเองในทัวร์นาเมนต์ได้สำเร็จในนาทีที่ ๒๔ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       อย่างว่าละ การที่เป็นเป้าหมายถูกแผงหลังคู่ต่อสู้รุมสกรัมในฐานะเป็นนักเตะระดับโลก โอเวนไม่เคยเล่นได้ง่ายเลย อีกทั้งคู่ต่อสู้ที่อังกฤษต้องเผชิญหน้าด้วยในรอบแรกมีแต่พวกกระดูกขัดมันแทบทั้งสิ้น โอกาสที่เขาจะคว้าดาวซัลโวมาครองได้เหมือนรุ่นพี ่แกรี่ ลินิเกอร์ เป็นไปแทบไม่ไดเลย 
      ลูกยิงของ ไมเคิล โอเวน เป็นประตูที่ ๓ แล้วที่ทำได้ในบอลโลกรอบสุดท้าย (สองประตูแรกเกิดขึ้นเมื่อ ๔ ปีก่อนนัดแพ้โรมาเนีย ๑-๒ และเสมออาร์เจนตินา ๒-๒) แม้จะไม่มีผลเรื่องเกียรติยศส่วนตัวดาวซัลวงซัลโวอะไรนั่น ทว่าการที่ให้เครื่องจักรถล่มประตูอย่างโอเวน ติดเครื่องได้แล้วล่ะก็ อังกฤษย่อมน่ากลัวขึ้นกว่าเดิมอีก
      เฮสกีย์เป็นผู้ยิงประตูปิดท้ายให้อังกฤษมีชัยเหนือเดนมาร์ค ๓ ประตูต่อ ๐ ในวันที่ฝนโปรยปราย
ผมว่าชัยชนะของอังกฤษ ไม่ใช่ สเวน โกรัน อีริคส์สัน คนเดียวเท่านั้นที่โล่งใจ ทางเจ้าหน้าทีตำรวจของเมืองนีงะตะน่าจะเป็นคนที่โล่งใจมากกว่า ที่อังกฤษไม่ตกรอบ 
      มิเช่นนั้นแล้ว ฉากสุดท้ายบอลโลกที่นีงะตะอาจนองไปด้วยเลือด ! แทนที่จะเป็นเสียงหวเราะเอิ๊กอ๊ากของพวกอิงลิชครับ
      ตอนขากลับ เจ้าหน้าเจอาร์เรลเวย์ยืนกันยาวเหยียด ผู้ชายสวมชุดพนักงาน ขณะที่ผู้หญิงสวมกิโมโน ตั้งแถวรอส่งผู้มาเยือนให้กลับไปบ้านโดยสวัสดิภาพ แถมด้วยของชำร่วยใส่ถุง มีสูจิบัตรโฆษณาการรถไฟของเขา พร้อมกับของขบเคี้ยวเป็นขนมปังรสช็อกโกแลตกับชาเขียวหนึ่งกล่อง
      เป็นอันว่าวันนี้กองเชียร์อังกฤษได้ยิ้มกลางสายฝน ทีมชาติของพวกเขาทะลุเข้าสู่รอบ ๘ ทีมสุดท้ายสำเร็จ แต่หนทางข้างหน้าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะคู่แข่งที่ล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว คือทีมมหากาฬอย่างบราซิล!
 

ฟุตบอลคู่หยุดโลก บราซิล : อังกฤษ

 (คลิกดูภาพใหญ่)
      เท่าที่จำความได้ ทีมชาติบราซิลถูกวาดภาพให้เป็นเทพเจ้าลูกหนัง มาตั้งแต่ครั้งที่มนุยษ์เริ่มจัดแข่งเวิลด์คัพ
      ทีมแซมบ้าชุดปี ๑๙๗๐ ที่ประกอบด้วย แซร์จินโญ่ , เปเล่ , ทอสเทา ได้กลายเป็นตำนานอมตะไปแล้ว
      บอลโลกปี ๑๙๘๒ ทีมของ เทเล่ ซานตาน่า อุดมด้วยแข้งระดับพระกาฬ อาทิ โซคราเตรส, ซิโก้, เอเดอร์, จูเนียร์, ฟัลเกา ผู้เล่นชุดนี้ได้รับการเปรียบเทียบว่าดีเกือบเทียบเท่ากับชุดคว้าแชมป์สมัยสามที่เม็กซิโก
      ทว่าบราซิลทีมนี้ก็ไปไม่ถึงดวงดาว ถูกเปาโล รอสซี่และพลพรรคทีมอิตาลี เตะกระเด็นตกรอบ ในแมตช์ซึ่งถูกกล่าวขวัญว่าคลาสสิกติดอันดับตลอดกาล 
      สี่ปีต่อมา กาเรก้า, อเลเมา, มุลเลอร์ ผสมกับทีมชุดเก่า แม้โ ซคราเตส กับ ซิโก้ จะโรยลงไปแล้ว พวกเขายังน่าเกรงขามอยู่ และเป็นอีกหนึ่งครั้งที่บราซิลลงเล่นแมตช์คลาสสิก แต่ลงเอยด้วยการแพ้จุดโทษต่อฝรั่งเศส
      เมื่อปี ๑๙๙๔ ที่คว้าแชมป์โลกนั้น ผมว่าบราซิลเล่นฟุตบอลไม่สวย ทว่าเน้นพละกำลังและผสมรูปแบบการเล่นของยุโรปอยู่เกินครึ่ง หากไม่มี เลโอนาร์โด้, บรังโก้ และ โรมาริโอ ร่วมทีมแล้วละก็ บางทีอาจคิดว่านักเตะในชุดสีเหลือง-ฟ้านั้นเป็นสวีเดนไปซะฉิบ
      ส่วนทีมบราซิลชุดปัจจุบันก็คับคั่งด้วยดาราดังไม่แพ้กัน ไม่ว่า"เหยินใหญ่"โรนัลโด้ "เหยินเล็ก"โรนัลดินโญ่ และริวัลโด้ สามตัวอันตรายที่มักถูกเรียกรวมกันว่า"สามอาร์" ยังไม่นับโรแบร์โต้ คาลอส--แบ็คจอมลุย และอีกหลายคน
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ฟุตบอลนัดหยุดโลกระหว่างบราซิล : อังกฤษ ซัดกันในวันศุกร์ ๒๑ มิ.ย. สีสันการแต่งกายและการร้องรำทำเพลงสไตล์แซมบ้าของกองเชียร์บราซิล ทำให้บรรยากาศในสนามแข่งเต็มไปด้วยความคึกคักครื้นเครง
      ทว่าไมเคิล โอเว่น เป็นผู้ทำให้กองเชียร์อังกฤษระเบิดเสียงเฮสนั่น เมื่อแปบอลผ่านมือนายทวารบราซิลเข้าไปตุงตาข่าย ให้อังกฤษนำบราซิลหนึ่งประตูต่อศูนย์ ในนาทีที่ ๒๓
      หลังเสียประตู ทีมแซมบ้าเร่งเกมบุกทั้งจากด้านข้าง และทำชิ่งเจาะเข้ากลางสนาม กระทั่งนาที ๒ ช่วงทดเวลาครึ่งแรก โรนัลดินโญ่ลากบอลจากกลางสนาม พริ้วหลบกองหลังอังกฤษ ๔ คนไปถึงหน้าประตู ก่อนผ่านบอลไปให้ริวัลโด้ยิงผ่านมือเดวิด ซีแมน เข้าประตูไปอย่างงดงาม
      เริ่มครึ่งหลังได้แค่ ๕ นาที เหยินเล็กก็แผลงฤทธิ์ยิงลูกมหัศจรรย์ จังหวะนั้นบราซิลได้ลูกตั้งเตะฟรีคิกระยะไกลเกือบ ๓๐ หลาหน้าประตูอังกฤษ บอลจากเท้าโรนัลดินโญ่พุ่งข้ามหัวกำแพงนักเตะอังกฤษแล้วโซด์โค้งลงต่ำ ผ่านมือซีแมนที่ถลำออกไปยืนนอกเส้นประตูมากเกินไปจึงถอยกลับมาปัดไม่ทัน มุดคานบนเข้าประตู ทำให้กองเชียร์อังกฤษช็อคทั้งสนาม บราซิลขึ้นนำ ๒-๑
      ใจหนึ่งผมก็ตื้นตันที่บราซิลชนะในวันนั้น เพราะเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลสวยงามและมีปรัชญาเปิดเกมรุก ซึ่งสไตล์การเล่นอย่างพวกเขาควรได้พบกับความสำเร็จ แต่อีกใจก็อดสงสารพวกอังกฤษ ประหนึ่งญาติสนิทมิตรใกล้ตัวคนเคยผูกพันกันมาทุกสัปดาห์
      นัดต่อมาบราซิลชนะทีมตุรกีในรอบรองชนะเลิศ ๑ ประตูต่อ ๐ จากลูกยิงของโรนัลโด้ ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเพื่อพบกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งและมีศักศรีดิ์ใกล้เคียงกัน
      ทีมอินทรีเหล็ก--เยอรมันนี
 

แซมบ้าปะทะอินทรีเหล็ก

 (คลิกดูภาพใหญ่)
      ก่อนเริ่มศึกมุนเดียล ๒๐๐๒ ใครเลยจะเชื่อว่าเยอรมันเข้าชิงชนะเลิศ
      การเดินทางมาเตะฟุตบอลบนแผ่นดินเอเชียของนักเตะทีมชาติเยอรมัน ถูกมองว่าใช้เป็นเพียงแค่ทางผ่านของรูดี้ โฟลเลอร์ สู่แผนการสร้างทีมให้พร้อมสำหรับฟุตบอลโลกครั้งต่อไปที่พวกเขาจะเป็นเจ้าภาพ
      เยอรมันทีมนี้เคยโดนทีมชาติอังกฤษถล่มเละคามหานครมิวนิคยับเยิน ๕-๑ ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก แต่ตอนนี้อังกฤษหลุดวงโคจรไปแล้ว ขณะที่เยอรมันผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศ เทียบตรรกะอย่างนี้แล้วแปลกดีไหมล่ะ ?
      เยอรมันไม่ได้อยู่ในโฟกัสที่จะคว้าแชมป์ของบรรดาเกจิลูกหนังทั้งหลาย ขนาดโปรตุเกสซึ่งร่วงรอบแรกไปแล้ว ยังมีราศีดีกว่าดีกว่าเลย เพราะฉะนั้นการผ่านเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกครั้งแรกของยุคปี ๒๐๐๐ ได้สำเร็จ จึงถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่เข้าขั้นพิสดารมหัศจรรย์ล้ำลึกกว่าครั้งที่ผ่านมา
      ที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นข่าวคราวทางทีวีหรือหน้าหนังสือพิมพ์ แทบไม่มีเรื่องราวของทัพนักเตะอินทรีเหล็กปรากฎอยู่เลย ผิดกับอิตาลี อังกฤษ หรือบราซิล ที่จะมีการเกาะติดเหตุการณ์ประจำวัน สั้นบ้างยาวบ้างตามแต่โอกาส
      เยอรมันกลายเป็นทีมโนคลาสไปแล้วหรือนี่ ! พวกเขาเคยคว้าแชมป์โลกมาครองได้สามสมัยเท่ากับอิตาลี และมากกว่ากว่าอังกฤษตั้งสองครั้ง แต่ทำไมกระแสตอบรับของชาวเมืองปลาดิบที่หมางเมินลูกทีมของ "เชฟเป็ด" รูดี้ โฟลเลอร์ ได้ลงคอ
 (คลิกดูภาพใหญ่)       แต่เมื่อประมวลความล้มเหลวสองครั้งหลงสุดจากศึกยูเอส "๙๔ ถึง ฟรองซ์ "๙๘ เยอรมันเสียสถานะความเป็นผู้นำในโลกลูกหนังแห่งค่ายยุโรป และโลกให้แก่ฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งถีบตัวเองลงไปกลายเป็นเกรดบีได้อย่างรวดเร็ว
      ความยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายของชนชาวเยอรมัน เกิดขึ้นในครั้งที่เยอรมันตะวันตก คว้าแชมป์โลกที่อิตาลี
      เหตุการณ์ประวัตศาสตร์ที่โรม มีชาวดอยช์อยู่สามรายที่ถูกสดุดียกใหญ่ 
      ฟรานซ์ เบ๊กเค่นเบาเออร์ ในฐานะกุนซือสมองเพชร โลธาร์ มัทเธอุส ซูเปอร์ลูกหนัง และ อันเดรียส์ เบรห์เม่ ผู้พิฆาตลูกจุดโทษในนัดชิงชนะเลิศ
      การเดินจากไปของเบ๊กเค่นเบาเออร์ กลายเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งประวัติศาสตร์วงการลูกหนังเมืองเบียร์เลยก็ว่าได้
      น่าเสียดายเหลือเกินมรดกลูกหนังที่ไกเซอร์ฟรานซ์ทิ้งเอาไว้ให้ เมื่อตอนที่ตัดสินใจหันหลังไปรับงานที่โอลิมปิก มาร์กเซย บุรุษผู้สืบทอด แบร์ตี้โฟกท์ส แทบไม่ได้สร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาให้แก่วงการลูกหนังเมืองเบียร์
      ในช่วงต้นปีแรก ๆ ในการคุมทีมของ แบร์ตี้ โฟกท์ส เยอรมันยึดความเป็นเต้ยของโลกลูกหนังเอาไว้ได้เช่นเคย พวกเขาผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศยูโร ๑๙๙๒ ก่อนที่จะแพ้ให้เดนมาร์กในแบบที่เหลือเชื่อ โฟกท์สได้รับการให้อภัยเรื่อยมา แม้บอลโลกที่สหรัฐอเมริกา พวกเขาหยุดเส้นทางตัวเองเอาไว้เพียงแค่รอบ ๘ ทีมสุดท้าย เมื่อถูกลูกโหม่งของ ยอร์ดาน เล็ทช์คอฟ เขี่ยแชมป์เก่าตกรอบ
      ยักษ์หลับเยอรมันฟื้นตัวอีกครั้งในยูโร "๙๖ ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ สองประตูทองของโอลิเวอร์ เบียร์โฮฟ ในนัดชิงชนะเลิศที่เวมบลีย์ ช่วยต่อลมหายใจของโฟกท์สในตำแหน่งบุนเดสเทรนเนอร์ให้ยืนยาวออกไป แต่หารู้ไม่ว่าการที่โฟกท์สยังรั้งอยู่ในตำแหน่งยิ่งสร้างปัญหาให้แก่เยอรมันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 
      ที่น่าตกใจก็คือชุดที่พ่ายแพ้ต่อโครเอเชีย ๐-๓ เมื่อ ๔ ปีก่อนนั้น ขุนพลชุดแชมป์โลกปี ๑๙๙๐ อย่าง โลธาร์ มัทเธอุส, เจอร์เก้น โคลเลอร์, เจอร์เกน คลิ้นส์มันน์ ฯลฯ ยังเป็นแกนหลักของทีมอยู่เหมือนเดิม
 (คลิกดูภาพใหญ่)       เวิลด์คัฟ ๒๐๐๒ รอบแรก ผมมีโอกาสได้ชมเยอรมันลงเตะหนึ่งนัด ที่เสมอกับไอร์แลนด์หวุดหวิด ๑-๑ บอกตามตรงเลยว่ามองไม่เห็นแววจะมีดีพอสำหรับการผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้ตรงไหนเลย มีอย่างที่ไหน ร้อยวันพันชาตินักเตะไอริชซึ่งตะพึดตะพือเล่นบอลโยนยาวเพียงอย่างเดียว กลับมีเปอร์เซ็นต์การครองบอลได้มากกว่าลูกทีมของเชฟเป็ด หากเกมนั้นไอร์แลนด์มีทีเด็ดมากกว่า พวกเขาน่าจะน็อกเยอรมันได้ด้วย แต่ทำไม่สำเร็จเอง
      เกมดีที่สุดของเยอรมันในรอบแรกเกิดขึ้นนัดที่ต้อนเอาชนะแคเมอรูน ๒-๐ ทั้ง ๆ ที่เหลือตัวผู้เล่นเพียงแค่ ๑๐ คนเท่านั้น คนอื่นอาจมองว่าเกมที่ถล่มซาอุดีอาระเบีย ๘-๐ คือเพอร์เฟ็คท์เยอรมัน แต่ผมมองว่ามาตรฐานทีมเศรษฐีน้ำมันในบอลโลกคราวนี้ เป็นทีมที่แย่สุดจากทั้งหมด ๓๒ ทีม 
      เยอรมันมาได้ไกลกว่าที่พวกเขาตั้งเป้าเอาไว้จากโผตอนแรก หากไม่ใช่เพราะความผิดพลาดของโปรตุเกสกับอิตาลีแล้วละก็ งานของเยอรมันจะยากกว่าเดิมขึ้นอีกหลายเท่า 
      ลองคิดดูกันเล่น ๆ ถ้าโปรตุเกสเล่นได้ตามมาตรฐาน คู่แข่งในรอบ ๘ ทีมสุดท้ายของเยอรมันจะต้องเป็น หลุยส์ ฟิโก้ กับพรรคพวก ขณะเดียวกันในรอบรองชนะเลิศ ด่านทมิฬหนักไม่แพ้ หากไม่ใช่อิตาลีก็สเปน 
      ใครจะคิดว่าเกาหลีใต้สามารถพลิกเอาชนะ จนทำให้ทีมชั้นนำของยุโรป ทั้ง โปรตุเกส อิตาลี สเปน ต้องตกรอบ ถือว่าโชคเข้าข้างเยอรมันก็ว่าได้ ลองดูเส้นทางของพวกเขาสิ เจอกับ ปารากวัย สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีใต้ ถ้าหากรวมทั้งในเกมรอบแรกแล้ว เยอรมันยังไม่ได้พบกับทีมเต็ง ๑๐ อันดับแรกก่อนการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น

      นัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก ๒๐๐๒ ระเบิดขึ้นในวันที่ ๓๐ มิ.ย. ณ. สนามกีฬาแห่งชาติกรุงโตเกียว 
      เยอรมันนีเล่นเกมอย่างรัดกุม ครองบอลได้ดี ขณะบราซิลเล่นกันค่อนข้างเกร็งและเครียด
      แต่ในครึ่งหลังเยอรมันหันมาทำเกมรุกมากขึ้น เลยทำให้บราซิลเล่นง่ายขึ้น จุดเปลี่ยนของเกมอยู่ที่ประตูแรก โอลิเวอร์ คาห์น ประตูทีมเยอรมันที่เล่นดีมาตลอดทัวนาเมนต์ รับบอลจากการยิงของริวัลโด้ไม่อยู่ ลูกบอลกระฉอกจากอกเขา โรนัลโด้เป็นผู้วิ่งเข้ามาทิ่มบอลเข้าประตูไป
      เมื่อเสียประตูเยอรมันยิ่งเปิดเกมแลกมากขึ้น ขณะบราซิลยิ่งมั่นใจกว่าเดิม เป็นโรนัลโด้อีกที่ยิงประตูที่สองดับฝันกองเชียร์เยอรมัน ส่งผลให้บราซิลเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ๒๐๐๒ ท่ามกลางเสียงกระหึ่มกึกก้องของกองเชียร์แซมบ้า
      บราซิลครองแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นสมัยที่ห้า มากกว่าทุกทีมในโลก ส่วนโรนัลโด้รั้งตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดของทัวนาเมนต์ ด้วยจำนวน ๘ ประตู
 

ฉากสุดท้ายที่โยโกฮามา

 (คลิกดูภาพใหญ่)
      เหลือไว้เพียงความทรงจำ เก็บไว้แค่ภาพถ่าย
      สิ่งที่ทำให้ตลอดช่วงเวลา ๔๐ วันที่ผมมาทำข่าวฟุตบอลโลกครั้งนี้ไม่น่าเบื่อก็คือ การได้มาอยู่ต่างประเทศแรมเดือน สิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอ
      ช่วงเวลาแห่งการเดินทางผมชื่นชอบมากที่สุด ได้ชมวิวทิวทัศน์ มองเห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่น ดูบ้านเรือนคละตึกสูงระฟ้า ทุ่งนาป่าเขา บรรยากาศรอบข้างจะเปลี่ยนไปตลอดตามแต่ละเมืองที่เดินทางไปเยือน
      ได้รู้ระบบการทำงานของงานระดับโลก และจำเป็นต้องปรับตัวให้ได้เช่นกัน ยังได้เห็นไฮเทคโนโลยีในการทำข่าว เคยอุทานกับตัวเอง...โอ้โห ! มันจะ "เดิร์น" อะไรปานนั้น เมื่อครั้งเห็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กขนาดจิ๋วกะทัดรัดที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา แต่สามารถครอบคลุมการทำงานได้ทั้งหมด 
      เคยเดินเล่นโฉบ ๆ ผ่านซุ้มของบิ๊กทรีสำนักข่าวใหญ่ของโลกทั้ง รอยเตอร์ เอพี และเอเอฟพี รู้ซึ้งเลยละว่าพวกนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลา และมีความเป็นมืออาชีพอย่างสูง บรรยากาศในบู๊ตทำงานของพวกเขาดูเร่งรีบ มีแต่เรื่องงาน งาน และงาน ตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากข่าวเกิดขึ้นตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง และพวกเขาต้องมีหน้าที่ซัปพอร์ตข้อมูลข่าวสารให้แก่คนทั้งโลก โดยไม่มีเรื่องของเวลาเข้ามาเป็นเงื่อนไขซะด้วยสิ จะดึกดื่นแค่ไหนก็ต้องถ่างตากันล่ะครับ 
      แต่หากมองในแง่การแข่งขัน ศึกมุนเดียล ๒๐๐๒ ย่อมไม่ใช่เกมลูกหนังที่จะได้รับการจดบันทึกไปตราบนานเท่านานอย่างแน่นอนที่สุด เพราะอะไรนะหรือ ?
(คลิกดูภาพใหญ่)       ก็เพราะผมมองว่า ศึกชิงแชมป์โลกบนแผ่นดินเอเชียครั้งนี้ ไร้มนต์เสน่ห์เท่าที่ควร โชคร้ายมาเยือนบางทีมตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มการแข่งขัน เมื่อซูเปอร์สตาร์หลายรายถูกอาการบาดเจ็บรุมกินโต๊ะจนต้องพลาดเข้าร่วมสังฆกรรม หนำซ้ำบรรยากาศในสนามของบางเกมกร่อย ๆ อย่างไรบอกไม่ถูก แฟนบอลมีให้เห็นหร็อมแหร็ม ทั้ง ๆ ที่ตั๋วถูกจำหน่ายหมดเกลี้ยง ตรงนี้ทางฟีฟ่าได้บทสรุปแล้วว่า สาเหตุที่แฟนบอลไม่ยอมเดินทางไปดูเกมแม้ว่าจะเป็นเจ้าของตั๋วแล้วก็ตาม เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในญี่ปุ่นแพงบ้าเลือด และการที่ต้องย้ายเมืองแข่งขันบ่อย ๆ ไม่ใช่ความคิดที่ถูก
      แต่ตรงนี้ผมอยากตั้งข้อสังเกตที่ขัดแย้งให้ลองคิดเล่นดูเหมือนกัน เมื่อ ๔ ปีก่อนที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ระบบการหมุนเวียนเมืองที่ใช้จัดการแข่งขันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เหมือนครั้งนี้ แต่ทำไมแฟน ๆ จึงอุ่นหนาฝาคั่ง ค่าครองชีพของฝรั่งเศสเองก็แพงหูฉี่ไม่เป็นรองญี่ปุ่นสักเท่าไหร่เลย ที่ฝรั่งเศสได้เปรียบกว่าก็น่าจะเป็นเรื่องทำเลซึ่งอยู่ศูนย์กลางของยุโรป แฟน ๆ ในยุโรปที่ตามมาเชียร์ทีมตัวเอง ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าโสหุ้นจิปาถะเหมือนอย่างการเดินทางมาเอเชีย
      จุดด่างพร้อยที่สุดของการแข่งขันครั้งนี้ก็คือ ไม่มีแมตช์คลาสสิกเหมือนอย่างบอลโลกครั้งที่ผ่านมา
      อังกฤษ-อาร์เจนตินา หรือ ยังไม่แน่ ระดับความมันแทบไม่มันเลย เป็นการเล่นกันอย่างระมัดระวังตัว ยกเว้นแต่แฟนของ เดวิด เบ็กแฮม กับทีมชาติอังกฤษเท่านั้นแหละที่ได้ความสะใจ 
      อังกฤษ-บราซิล ยิ่งไม่เข้าท่า แทบไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองเลยว่า พวกอังกฤษไม่มีลูกฮึดบ้าบิ่นมุทะลุดุดันเหมือนรุ่นก่อน ๆ มีอย่างที่ไหน ช่วง ๑๕ นาทีสุดท้ายที่ถูกบราซิลนำอยู่ แทนที่จะบอมบ์ใส่แซมบ้าซึ่งเหลือผู้เล่นน้อยกว่า แต่ดันทะลึ่งเล่นแบบรัดกุมเหมือนกลัวว่าจะเสียประตูเพิ่ม
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ที่เข้าข่ายสนุกสนานผมยกให้ ๓ แมตช์ ไอร์แลนด์พบสเปน, อิตาลีพบเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นพบเบลเยียม แต่ก็แค่สนุกเท่านั้น ความอลังการยังเทียบไม่ได้กับคำว่า แมตช์คลาสสิก
      ส่วนที่เหลืออีก ๕๐ กว่าแมตช์ เรตความมันอยู่แค่ ๒ ดาวครึ่งถึง ๓ ดาวเท่านั้น
      รู้สึกอย่างตรงไปตรงมาว่า ช่วงเวลาของมหกรรมฟุตบอลโลกมันเยิ่นเย้อยืดยาวเสียจนน่ารำคาญ 
      จริง ๆ แล้วเวิลด์คัพตอนที่มี ๒๔ จนถึง ๓๒ ทีมนั้น ระยะเวลาที่ใช้จัดการแข่งขันก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ประมาณหนึ่งเดือนเศษ 
      แต่ทำไงได้ในแง่ปริมาณของเกมมากขึ้นก็เพื่อสนองเงื่อนไขทางธุรกิจ ในแง่ของแฟนบอลอาจเพลิดเพลินกับเกมลูกหนังได้อย่างเต็มที่ ในเครื่องหมายวงเล็บ เกมบางเกมอาจไม่สนุก เป็นฟุตบอลคนละคลาส บั่นทอนความขลังของฟุตบอลโลกได้เหมือนกัน ในแง่ของสื่อมวลชน แน่ละ ย่อมมีวัตถุดิบในการทำข่าวที่มากขึ้น
      ทว่าฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายกับ ๓๒ ทีม มันไม่มากเกินความต้องการจนเกินไปหรือ ?
      เกมบางเกม ผมยอมรับซึ่งหน้าว่าได้หันหลังให้แก่จอทีวี หากิจกรรมอย่างอื่นทำ ดีกว่าเสียเวลาดู สโลวีเนีย-แอฟริกาใต้, แคเมอรูน-ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ จนหลาย ๆ ครั้งอดไม่ได้ที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า นี่มันแมตช์กระชับมิตรของทีมระดับท้องถิ่นหรือเวิลด์คัพกันแน่
      ในภาพรวมเวิลด์คัพ ๒๐๐๒ คือบทสรุปยิ่งใหญ่ของทีมชาติบราซิลและโรนัลโด้ และผู้พ่ายแพ้ที่สมควรถูกตำหนิอย่างฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ
      การก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์โลกสมัยที่ ๕ ของขุนพลบราซิล ช่วยตอกย้ำให้โลกรับรู้อีกครั้งว่า
      ทีมที่เล่นฟุตบอลเกมรุก ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าฟุตบอลเกมรับ
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งที่ ๑๗ ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าการแข่งขันครั้งนี้อาจจะไม่ดีที่สุดในสายตาสื่อมวลชนชาวยุโรป ทว่าความหมายของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น นี่คือเวิลด์คัพของชาวเอเชียทุกคน
      กระแสโลกาภิวัฒน์ลูกหนังในทวีปเอเชีย ได้ก่อตัวขึ้นภายใต้ระบบระเบียบโครงสร้างที่ชัดเจนมาได้สักสิบปีแล้วกระมัง และผมยกให้ญี่ปุ่นเป็นแม่แบบของการพัฒนาวงการลูกหนังทั้งมวล
      ฟุตบอลระดับเยาวชนรุ่น ๑๕, ๑๗ และ ๑๙ ปี ของญี่ปุ่นก้าวขึ้นไปสู่ทีมระดับแนวหน้าของโลกแล้ว ขณะทีมชาติชุดใหญ่เป็นยักษ์ใหญ่ของเอเชียคู่กับเกาหลีใต้ ซูเปอร์สตาร์หมายเลข ๑ คนปัจจุบัน--ฮิเดโตชิ นากาตะ แม้ฝีเท้าจะเป็นระดับอินเตอร์ ไม่ถึงขั้นเวิลด์คลาส แต่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
      ส่วนเกาหลีใต้ เป็นชาติที่ปลูกฝังเรื่องฟุตบอลลงลึกกว่าทุกประเทศที่เหลือของทวีปเอเชีย มีลีกอาชีพมาก่อนชาติอื่น มีระบบการฝึกซ้อมและปั้นนักเตะเยาวชนขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ผลงานของนักเตะโสมขาวในศึกเวิลด์ คัพ ๒๐๐๒ น่าจะกลายเป็นตำนานไปอีกนานแสนนาน จนกว่าจะมีทีมใดจากเอเชียทำอันดับ ๑-๓ ได้สำเร็จนั่นแหล่ะ
      อีกสิบปีข้างหน้า เอเชียอาจวิ่งไล่กวดทันแอฟริกา อีกสิบปีต่อไปอาจสู้อเมริกาใต้ได้สูสี และสิบปีต่อไปอีก...ญี่ปุ่นอาจเป็นคู่ต่อสู้ที่น่าเกรงขามของฝรั่งเศสก็เป็นได้
      คิด หวัง และตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นครับ
 

เกี่ยวกับผู้เขียน

 (คลิกดูภาพใหญ่)
      เกียรติพงษ์ ตีระพิมลจันทร์
      นามปากกา : ธี อุทิศ
      ประจำหนังสือพิมพ์ สตาร์ ซอคเก้อร์ รายวัน
      เป็นชาวกรุงเทพฯ แต่กำเนิด แม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่ก็ภูมิใจที่เป็นคนไทย ต่อให้ทีมชาติไทยไม่เคยไปเล่นฟุตบอลโลกก็เถอะ เคยร่ำเรียนศิลปะมาอยู่มาพักหนึ่ง แต่เมื่อเอาดีไม่ได้จึงเบนเข็มเข้าสู่วิชาชีพแขนงสื่อมวลชน เริ่มต้นการทำงานครั้งแรกที่สยามกีฬา ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ และน่าจะเป็นต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าโลกนี้จะไม่มีฟุตบอลเตะกันนั่นแหละ