สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๕ " เปิดแฟ้มคดีมด "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๕  

ตามหาการ์ตูน ตอนที่ ๔ มังงะ

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

(คลิกดูภาพใหญ่)
๑.กำเนิดเจ้าหนูปรมาณู

      เท็ตซึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์การ์ตูนญี่ปุ่น เขียน เจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy) หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบแล้วเจ็ดปี บาดแผลจากระเบิดปรมาณูยังไม่จางหาย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเมื่อเจ้าหนูปรมาณูหรือ "อะตอม" ต้องทำหน้าที่เป็นทูตสันติภาพในทันทีที่เขาถือกำเนิดขึ้น
      เจ้าหนูปรมาณูเกิดเมื่อปี ๑๙๕๒ (รูปที่ ๑) ภาพที่เห็นนี้ตามต้นฉบับเดิมจะมีคำบรรยายประกอบและบัลลูนคำพูดร่วมด้วย แต่ผู้เขียนลบคำบรรยายเหล่านั้นออกทั้งหมดเพื่อให้เหลือเพียงภาษาภาพล้วน ๆ ซึ่งไม่ยากเลยที่จะเข้าใจ
      เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะโอซามุเขียนการ์ตูน ด้วยเทคนิคของการถ่ายทำภาพยนตร์ ด้วยลำพังภาษาภาพก็ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจไปมากกว่าครึ่ง เช่นเดียวกับการดูหนังต่างประเทศ โดยไม่มีคำแปลบรรยายหรือปิดเสียงทิ้ง ก็ยังคงดูพอรู้เรื่องได้อยู่ดี
      โอซามุเขียนภาพระยะไกล ระยะใกล้ ระยะประชิด เปลี่ยนมุมมองและตัดต่อฉับไว เพื่อช่วยให้การเล่าเรื่องสนุกสนานได้อรรถรส โดยไม่ต้องพึ่งคำบรรยายหรือบัลลูนคำพูดมากจนเกินไป นี่คือข้อแตกต่างจากการ์ตูนของประเทศอื่น

(คลิกดูภาพใหญ่)
๒.เจ้าหนูปรมาณู
      ศิลปินการ์ตูนญี่ปุ่นรุ่นถัดมา ซึ่งเกือบทั้งหมด ได้รับอิทธิพลจากโอซามุยิ่งเพิ่มความถี่ และปริมาณของการเปลี่ยนมุมมอง และการตัดต่อให้มากขึ้นไปอีก ทำให้นักอ่านการ์ตูนที่เชี่ยวชาญ สามารถอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นได้รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ
      การ์ตูนญี่ปุ่นเรียกตนเองว่า มังงะ (Manga) เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าเป็นตระกูลหนึ่งของการ์ตูนที่ไม่เหมือนพวก คอมิกส์ (Comics) 
      ลองพิจารณาการ์ตูนยุโรปซึ่งมีจุดเด่นที่ clear line คือตัดขอบคมชัด เช่น แต๋งแต๋งผจญภัย ของ แอร์เช่ หรืออเมริกันซูเปอร์ฮีโร่ที่มีลักษณะ hyperkinetic คือทะลุทะลวงหลุดจากกรอบ โลดโผนโจนทะยาน ระยะชัดลึกชัดเจน เช่น การ์ตูนของ แจ็ก เคอร์บี้ จะพบว่าทั้งสองตระกูล จำเป็นต้องใช้คำบรรยายหรือบัลลูนประกอบ มิเช่นนั้นจะอ่านไม่รู้เรื่องเสียมาก 
      แต่การ์ตูนญี่ปุ่นสมัยใหม่ซึ่งมี เท็ตซึกะ โอซามุ เป็นบิดาผู้ให้กำเนิด มีจุดเด่นที่ cinematic style นั่นคือใช้เทคนิคของการถ่ายทำภาพยนตร์เป็นสำคัญ
      กำเนิดเจ้าหนูปรมาณูนอกจากจะกลายเป็นตำนานแล้ว ยังมีความหมายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่ออะตอมถือกำเนิดมา ภารกิจแรกใน "ชีวิต" ของเขาคือเป็นทูตสันติภาพในสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับพวกต่างดาว ซึ่งเป็นคู่แฝดของชาวญี่ปุ่น 
  (คลิกดูภาพใหญ่)
๓.อากิระไม่ใช่คน
      ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในจักรวาลอันไกลโพ้น ดาวแฝดของโลกระเบิด ผู้คนบนดาวดวงนั้นอพยพออกมาทันเวลา
      พวกเขาใช้ยานอวกาศขนาดยักษ์จำนวนหลายลำขนประชากรทั้งหมดหลบหนี ยานเหล่านั้นได้ชื่อตามชนชาติที่อาศัย คือ ยานญี่ปุ่น ยานอเมริกัน และยานอังกฤษ
      ยานญี่ปุ่นเดินทางผ่านอวกาศนาน ๒,๐๐๐ ปีจึงมาถึงดาวเคราะห์โลก ที่ซึ่งชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยินดีต้อนรับพวกเขา แม้ว่าพวกเขาแต่ละคน จะเป็นคู่แฝดของคนที่อาศัยอยู่ก่อนแล้วก็ตาม 
      แต่ก็มีบางคนเช่นดอกเตอร์เท็นมะ นักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างอะตอม เห็นว่าคนเหล่านี้จะมาแย่งอาหาร และทรัพยากรไปจากโลก เขาจึงคิดค้นอาวุธร้ายแรงที่สามารถกำจัดคนจากดาวแฝดโดยเฉพาะ เมื่อคนญี่ปุ่นจากต่างดาวทราบเข้าก็เตรียมตอบโต้
      ชื่อของเจ้าหนูปรมาณูคือ อะตอม ครั้งนี้อะตอมมิได้ทำลายล้างใคร ในทางตรงข้ามอะตอมกลับสร้างสันติภาพระหว่างชาวญี่ปุ่นกับคู่แฝดของพวกเขา เสมือนหนึ่งจะบอกว่าแม้แต่คนต่างโลกยังอยู่ร่วมกันได้ เพราะอะไรมนุษย์โลกด้วยกันแท้ ๆ จะมิสามารถอยู่กันดี ๆ ได้ในยุคปรมาณู
(คลิกดูภาพใหญ่)
๔.คอบร้าเห่าไฟสายฟ้า
      สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจพิมพ์ผลงานคลาสสิกตลอดกาล ชุดเจ้าหนูปรมาณูออกจำหน่าย ให้ชื่อตอนที่ ๑ นี้ว่า "ทูตน้อยอะตอม" (รูปที่ ๒)
      เรื่องที่ ๒ ชื่อตอนว่า "มนุษย์ก๊าซ" โอซามุเขียนขึ้นในปี ๑๙๕๒ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ เดินทางลงมาสิงสู่และควบคุมมนุษย์ คล้ายคลึงกับที่ปรากฏในหนัง Invasion of the Body Snatchers ซึ่งสร้างจากงานเขียนปี ๑๙๕๕ เรื่อง The Body Snatchers ของ Jack Finney 
      หนัง Invasion of the Body Snatchers สร้างเป็นหนังขาวดำ กำกับโดย Don Siegel ปี ๑๙๕๖ และหนังสีกำกับโดย Phillip Kaufman ปี ๑๙๗๘ ฉบับหลังจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่านำแสดงโดย โดนัลด์ ซูเทอร์แลนด์ เวโรนิกา คาร์ทไรท์ และ เลินนาร์ด นีมอย 
      ในตอนนี้โอซามุไม่เพียงเขียนการ์ตูนไซไฟระทึกขวัญให้อ่าน แต่เขายังเขียนถึงความอ่อนโยน และอ่อนไหวของจิตใจหุ่นยนต์
 (คลิกดูภาพใหญ่)
๕.รันมา 1/2
      ตัวอย่างที่ ๑ เมื่ออะตอมสืบรู้ว่าน้ำในเขื่อนมีพิษ เขาป้องกันมิให้ผู้คนนำน้ำไปใช้ แม้ว่าจะต้องแลกกับการถูกทำร้ายร่างกาย เพียงเพราะเขาเป็นหุ่นยนต์ ตัวอย่างที่ ๒ เมื่อเขาถูกพ่อด่าและขับไล่ไสส่งไปดวงจันทร์ เขาก็จากไปโดยดี ตัวอย่างที่ ๓ เมื่อผู้เป็นพ่อสำนึกผิด จึงนำน้ำมันหล่อลื่นมาหยอดใส่ให้เขาตอนที่เขานอนหลับ
      เรื่องที่ ๓ ชื่อตอนว่า "แฟรงเก็นสไตน์" เขียนเมื่อปี ๑๙๕๓ เมื่อหุ่นยนต์ทำหน้าที่ผลิตหุ่นยนต์ แล้วเกิดเหตุผิดพลาดได้เป็นแฟรงเก็นสไตน์ เจ้า "แฟรงเก็น" เดินไปเรื่อย และก่อโศกนาฏกรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อะตอมเข้าขัดขวางแฟรงเก็น แต่แล้วก็สืบทราบว่าที่แท้ผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงคือพวกมนุษย์ 
      เรื่องถัดไปคือ "แมวแดง" โอซามุเขียนปี ๑๙๕๓ เช่นเดียวกัน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ที่หมายป้องกันสภาพธรรมชาติ ของชานเมืองโตเกียว มิให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมมารุกราน เขาสร้างเครื่องมือควบคุมสัตว์นานาชนิด ให้ลุกขึ้นต่อต้านพวกมนุษย์ สำหรับคอหนังจะพบว่าเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกับหนังปี ๑๙๗๒ เรื่อง Frogs ของ George McCowan ซึ่งมีคำโปรยว่า When the Nature Strike Back! 
      อะตอมเข้าขัดขวางการกระทำรุนแรงของพวกสัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยงชนิดต่าง ๆ แต่แล้วก็สืบทราบได้ในที่สุดว่า คนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้เป็นพวกมนุษย์อีกนั่นเอง
 
(คลิกดูภาพใหญ่)
๖.ดรากอนบอล
      โอซามุคือผู้วางรากฐานของการ์ตูนญี่ปุ่นหรือมังงะ เขาเป็นอาจารย์ของศิลปินการ์ตูนรุ่นต่อมาจำนวนมากมาย รวมทั้ง โอโตโมะ คัตซึฮิโร่ เจ้าของผลงาน Akira (อากิระไม่ใช่คน) อันลือลั่น (รูปที่๓) และ บูอิจิ เทราซาว่า เจ้าของผลงานคลาสสิกตลอดกาลเช่น Cobra (เห่าไฟสายฟ้า) (รูปที่๔)
      ว่ากันว่ามีนักเขียนการ์ตูนอาชีพราว ๓,๐๐๐ คนในญี่ปุ่น ประมาณร้อยละ ๑๐ (คือ ๓๐๐ คน) ที่มีทั้งชื่อเสียงและรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้งนี้ยังไม่นับพวกที่เขียนการ์ตูนนอกกระแสซึ่งเรียกว่า dojinshi อีกจำนวนมาก
      ยอดขายของมังงะในทศวรรษ ๑๙๙๐ ประมาณว่าปีละ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านเยน แบ่งเป็นนิตยสารการ์ตูนโดยเฉพาะ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านเยน และเป็นหนังสือการ์ตูนอีก ๒๕๐,๐๐๐ ล้านเยน ยอดนี้ยังไม่นับพวกที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารชนิดอื่น ทั้งหมดคือประมาณหนึ่งในสี่ของมูลค่าสิ่งพิมพ์ทุกชนิดในประเทศญี่ปุ่น
      มังงะจะตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารก่อนที่จะทยอยรวมเล่ม เช่นเดียวกับที่ปรากฏในตลาดบ้านเรา ส่วนใหญ่จึงเป็นงานขาวดำ งานที่ดังและติดตลาด จะเขียนกันนานหลายปีรวมได้หลายสิบเล่มหรืออาจจะถึง ๑๐๐ เล่ม กลุ่มเป้าหมายมีทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ทั้งชาย หญิง และรักร่วมเพศ เฉพาะการ์ตูนสำหรับผู้หญิงที่เรียกว่า shojo manga นั้นจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่เด่นชัดจนสามารถจัดเป็นตระกูลหนึ่งได้ต่างหาก
 (คลิกดูภาพใหญ่)
๗.โจโจล่าข้ามศตวรรษ
      ความแตกต่างระหว่างมังงะกับคอมิกส์เป็นหัวข้อที่ยากแก่การลงความเห็น นอกจากเรื่องกลวิธีการเขียนรูปแบบ cinematic style ของโอซามุแล้ว มังงะมักจะยาวและเขียนกันมาราธอนข้ามหลายปีกว่าจะจบหรือไม่ยอมจบ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการตลาดที่ต้องผ่านนิตยสารก่อนรวมเล่ม และการแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่เข้มแข็ง อีกประเด็นที่แตกต่างกันคือการดำเนินเรื่อง
      การ์ตูนตะวันตกมักมี theme ที่ชัดเจนว่าจะเล่าเรื่องอะไร แล้วดำเนินเรื่องตามที่กำหนดไว้อย่างแม่นยำ อาจจะมี subplot บ้างแต่ก็ไม่มากนักและอยู่ในประเด็นของธีมหลัก 
      แต่สำหรับการ์ตูนญี่ปุ่นแล้ว แม้ว่าอาจจะมี theme เช่นกัน แต่ก็มักถูกลืมไปในตอนกลางเรื่อง อีกทั้งมี subplot มากมายก่ายกอง บางเรื่องก็ไม่เกี่ยวอะไรกับธีมหลักเลย 
      ส่วนที่แตกต่างกันชัดเจนคือ การ์ตูนญี่ปุ่นดำเนินเรื่อง โดยเกาะพัฒนาการของตัวละครหลักเป็นสำคัญ คล้ายๆ กับที่ปรากฏในนิยายกำลังภายในทั่วๆ ไป
      จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นหากนึกถึงนิยายกำลังภายในขนาดยาว เช่น มังกรหยก การดำเนินเรื่องจะเกาะพัฒนาการของก๊วยเจ๋งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบ ระหว่างเนื้อหาที่ยาวเหยียดนั้น มีตัวละครเข้ามาเป็นร้อย ซับพล็อตเป็นสิบ 
      หากสร้างเป็นภาพยนตร์ก็จะยิ่งเห็นชัดมากขึ้นอีกว่า เดี๋ยวตัวนั้นเข้าตัวนี้ออก เดี๋ยวโรงเตี๊ยมเดี๋ยวก้นเหว เดี๋ยวนอกด่านเดี๋ยวในเมือง โดยที่ธีมหลักจะถูกพูดถึงเป็นระยะ ๆ นาน ๆ สักครั้งหนึ่ง บางทีมีปรากฏแค่ตอนต้นกับตอนจบ
  (คลิกดูภาพใหญ่)
๘.ซามูไรพ่อลูกอ่อน
      การ์ตูนญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน เรื่องราวดำเนินไปตามพัฒนาการของตัวเอกมากกว่าธีมของเรื่อง ลองนึกถึงมังงะที่ยาวเกิน ๓๐ เล่ม เช่น รันมา ๑/๒ ของ ทาคาฮาชิ รูมิโกะ (รูปที่๕) ที่เกิน ๔๐ เล่ม เช่น ดรากอนบอล ของ อากิรา โทริยามา (รูปที่๖) ที่เกิน ๖๐ เล่ม เช่น โจโจล่าข้ามศตวรรษ ของ ฮิโรฮิโกะ ฮาราคิ (รูปที่ ๗) ก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 
      มังงะเมื่อเริ่มต้นเป็นของเด็ก ๆ พูดให้เฉพาะเจาะจงคือเป็นของเด็ก ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วเด็กเหล่านี้ก็เติบโตขึ้นโดยไม่ยอมเลิกอ่านการ์ตูน ในที่สุดก็จำเป็นต้องมีมังงะสำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ 
      พอถึงทศวรรษ ๑๙๖๐ ก็ต้องมีมังงะสำหรับนิสิตมหาวิทยาลัย ที่สามารถสนองตอบความต้องการทั้งทางด้านบันเทิง ศิลปะ และการเมือง
 
(คลิกดูภาพใหญ่)
๙.คำสาปฟาโรห์
      เมื่อถึงทศวรรษ ๑๙๘๐ มังงะประกอบด้วยตระกูลใหญ่ ๆ คือ อิงประวัติศาสตร์และซามูไร ตลกและบ้าบอคอแตก ไซไฟและไซเบอร์พังก์ หุ่นยนต์ นักสืบ ต่อสู้ ปราบผี พลังจิต กีฬา โรมานซ์ เมโลดรามา โชโจมังงะ วรรณกรรมคลาสสิก กลุ่มหนังสือการ์ตูนประวัติบุคคลสำคัญ และหนังสือการ์ตูนให้ความรู้
      แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้กลับเป็นว่ามังงะมีสองตระกูล คือ อีโรติก และความรุนแรง ซึ่งนับเป็นความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดและอคติทางลบเช่นนี้ ปรากฏในข้อเขียนจำนวนมากตามหน้าหนังสือพิมพ์โดยบุคคลที่มิได้อ่านมังงะมามากพอ 
      จะตระกูลใดก็ตามล้วนใช้ cinematic style เป็นหลัก คือการเล่าเรื่องด้วยภาพและเทคนิคการตัดต่อ เส้นนำสายตาและเส้นเคลื่อนไหว สปีดไลน์และซาวนด์เอฟเฟ็กต์ ความหมายของภาพและความหมายระหว่างภาพ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีความสำคัญมากกว่าคำบรรยายและบัลลูน
(คลิกดูภาพใหญ่)
๑๐.ด็อกเตอร์สลัมป์
      ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเขียนคนวาดคนอ่านล้วนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เติบโตขึ้นพร้อม ๆ กัน ทำให้เนื้อหาของการ์ตูนมิอาจเลี่ยงความรุนแรงและความหมกมุ่นทางเพศตามอายุไปได้ อีกทั้งอิทธิพลจากสังคมที่มีต่องานศิลปะทุกชนิดก็ช่วยกำกับงานทั้งหมดนี้อีกโสดหนึ่ง
      เมื่อมังงะเกี่ยวพันกับสังคมมากขึ้น ความหมายของภาพที่เขียนกลับลดลง เพราะมิอาจแสดงออกอย่างประเจิดประเจ้อได้ง่ายนัก ความหมายระหว่างภาพจะทวีความสำคัญมากขึ้น การอ่านการ์ตูนที่แท้จึงเป็นการอ่านความหมายระหว่างภาพหรือ read between the frame เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือที่ทรงประสิทธิภาพ คือการอ่านความหมายระหว่างบรรทัด หรือ read between the line
      มังงะตระกูลต่าง ๆ เกิดขึ้นและได้รับความนิยมเรียงตามลำดับยุคสมัย
      เจ็ดปีหลังสงครามเป็นช่วงเวลาที่กองทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์รวมทั้งภาพยนตร์ จนกระทั่งปี ๑๙๕๒ การควบคุมเหล่านี้จึงเริ่มผ่อนคลายลง ตระกูลที่ได้รับการผ่อนผัน และได้รับความนิยมก่อนจะเป็นการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ (historical manga) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับขุนศึก ซามูไร และนินจา
(คลิกดูภาพใหญ่)
๑๑.พยัคฆ์ร้าย ๐๐๙
      เรื่องที่รู้จักกันดี เช่น Kozure Okami (The Lone Wolf and the his Kid ซามูไรพ่อลูกอ่อน รูปที่ ๘) ของ Kojima Goseki กับ Koike Kazumo, Ninja bugei Kagemura den (Records of Ninja Warfare: The Legend of Kagemaru) ของ Shitaro Sanpei, Nobunaga ของ Ikegami Ryoichi
      ยุคสมัยของขุนศึกทั้งสาม คือ โอดะ โนบุนางะ, โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ และ โตกุกาวา อิเอยาสุ รวมทั้งสงครามที่ทุ่งเซกิงาฮาราจะถูกนำมาเขียนเป็นการ์ตูนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของ มุซาชิ มิยาโมโต้ และ ซากาโมโต เรียวมา ที่ถูกนำมาเขียนถึงบ่อยครั้งเช่นกัน
      การ์ตูนตระกูลอิงประวัติศาสตร์นี้ยังรวมถึงเรื่องราวของประเทศอื่นด้วย ที่มีชื่อเสียงมากคือ กุหลาบแวร์ซายส์ (The Rose of Versailles) ของ Ikeda Riyoko และ คำสาปฟาโรห์ (Faroh's Curse) ของ Hosokawa Cheiko (รูปที่๙)
(คลิกดูภาพใหญ่)
๑๒.Appleseed
      ถัดจากนี้จึงมาถึงยุคของตระกูลตลก (comedic manga) ตระกูลตลกเสียดสี (satirical manga) และตระกูลบ้าบอคอแตก (nonsense manga) เฉพาะตระกูลสุดท้ายนี้ผู้เขียนคิดว่าใช้คำว่า "การ์ตูนไร้สาระ" ก็ออกจะเบาไป เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่นั้นบ้าบอคอแตกเอามาก ๆ ที่รู้จักกันดีคือ ดอกเตอร์สลัมป์ของ อากิรา โทริยามา (รูปที่๑๐) และ รันมา๑/๒ ของ ทาคาฮาชิ รูมิโกะ 
      หลังจากนี้จึงเป็นตระกูลไซไฟ เช่น Cyborg 009 ของ อิชิโนโมริ โชทาโร่ (รูปที่๑๑) Cobra ของ บูอิจิ เทราซาว่า ตามมาติด ๆ ด้วยตระกูลไซเบอร์พังก์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัยรุ่น จักรกลชีวะและวัฒนธรรมตะวันออก ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก คือ Akira ของ โอโตโมะ คัตซึฮิโร่ และ Appleseed ของ มาซามุเนะ ชิโร่ (รูปที่๑๒)
      มังงะตระกูลอื่น ๆ คือหุ่นยนต์ นักสืบ ต่อสู้ ปราบผี พลังจิต กีฬา โรมานซ์ เมโลดรามา ทำให้โลกได้รู้จักกับศิลปินมังงะจำนวนหนึ่งที่มีลายเส้นเฉพาะตัวและผลงานที่ไว้ใจได้ เช่น ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ (โดเรมอน) โยชิคะสุ ยาสุฮิโกะ (กันดัม) เท็ตซึโอะ ฮาระ (หมัดเพชฌฆาตดาวเหนือ) อิคาเงิมิ เรียวอิจิ (โนบุนางะ) เคน อิชิกาวา (เก็ตเตอร์โก) โกโช อาโอยามา (โคนัน) มาซามิ คุรุมาดะ (เซ็นต์เซย่า) ซึคาสะ โฮโจ (ซิตี้ฮันเตอร์) ยูโซ ทาคาดะ (The Legend of Trinetre 3 (3 Eyes) เค็นทาโร มิยูระ (Berserk) มิตซึรึ อาดาจิ (H2) เป็นต้น
(คลิกดูภาพใหญ่)
๑๓.X1999 หนึ่งในผลงานของ CLAMP
      สำหรับการ์ตูนผู้หญิง (Shojo Manga) ประมาณร้อยละ ๙๐ ของผู้เขียนเป็นผู้หญิง สามารถฉีกตนเองออกเป็นอีกตระกูลหนึ่งของมังงะอย่างชัดเจน ด้วยสมมุติฐานที่ว่าเด็กชายเด็กหญิงนั้นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
      เนื้อเรื่องมักเป็นเมโลดรามาเกี่ยวกับเด็กหญิงที่ขัดแย้งกับมารดา เติบโตขึ้นอย่างเสรี ประสบความสำเร็จทั้งการงานและความรัก 
      ลายเส้นเหนือจริง ตาใหญ่เป็นประกาย ผมบลอนด์ ขายาวเรียวผอม แต่จมูกไม่โด่ง หน้าอกไม่อึ๋มและตะโพกไม่อวบอั๋น มีกรอบและบัลลูนที่เสรี หลาย ๆ ครั้งไม่มีกรอบและไม่มีขอบบัลลูน มีแต่รูปภาพและคำพูดที่ลอยไปมา ตัวการ์ตูนพาดข้ามกรอบ ดอกไม้ผีเสื้อโปรยปรายทั้งหน้าและหลัง
      ประมาณทศวรรษ ๑๙๗๐ การ์ตูนผู้หญิงหลุดจากเรื่องราวระหว่างแม่ลูก และเพื่อนชายของลูกไปสู่บริบทของไซไฟ แฟนตาซี และบิวตี้ฟูลบอย ศิลปินหญิงบางคนหรือบางกลุ่ม ถึงกับเขียนให้เด็กหนุ่ม และกลุ่มรักร่วมเพศอ่านโดยเฉพาะ ที่รู้จักกันดี คือ การ์ตูนทุกเรื่องของกลุ่มนักเขียนหญิงสี่คน ที่ใช้นามปากกาว่า CLAMP (ดูรูปที่ ๑๓)
      ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนตระกูลใดก็ตาม เท็ตซึกะ โอซามุ ล้วนเขียนได้ทั้งสิ้น