สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๕ " เปิดแฟ้มคดีมด "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๕  

พันธุ์ปลาหลังเปิดเขื่อนปากมูล งานวิจัยของคนหาปลา

เรื่องและภาพ : คณะนักวิจัยไทบ้านสมัชชาคนจนกรณีปากมูน
(คลิกดูภาพใหญ่)

      นับจากเขื่อนปากมูลที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกั้นขวางแม่น้ำมูน สร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าในปี ๒๕๓๗ ชาวบ้านที่เคยทำประมงในแม่น้ำมูนก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะพันธุ์ปลาและปริมาณปลาลดลง ซึ่งชาวบ้านได้ต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้ตลอดมา
      มิถุนายน ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีมีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทดลองเปิดประตูเขื่อนปากมูลทั้ง ๘ บานเป็นเวลา ๑ ปี และตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อศึกษาทางด้านนิเวศวิทยา ชนิดของพันธุ์ปลา เปรียบเทียบระหว่างปิดและเปิดเขื่อนว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
      ในอีกด้านหนึ่ง คณะนักวิจัยไทบ้าน (ชาวบ้าน) ของกลุ่มสมัชชาคนจนกรณีปากมูน อันเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารวบรวมชนิดพันธุ์ปลาต่าง ๆ ที่กลับเข้ามายังแม่น้ำมูนหลังการเปิดประตูเขื่อน โดยมีชาวบ้าน ๒๐๐ คนจากหมู่บ้านตลอดสองฝั่งแม่น้ำมูนเข้าร่วมเป็นนักวิจัย การจำแนกชนิดปลา กระทำโดยพรานปลาท้องถิ่น ผู้เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่จำนวน ๒๐ คน โดยมีเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-ประเทศไทย เป็นผู้ช่วยวิจัย และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มมีการเปิดประตูเขื่อนปากมูล เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๔ ถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕ ครอบคลุมพื้นที่ ๖๕ หมู่บ้านบริเวณปากแม่น้ำมูน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อนปากมูล 
      พ่อดำ ชาตะพันธ์ พรานปลาคนหนึ่งแห่งลุ่มน้ำปากมูนกล่าวว่า "เราเป็นเจ้าของปัญหา เป็นคนที่ได้รับผลกระทบ ทรัพยากรของเรา ชีวิตของเราถูกทำลาย เมื่อเปิดเขื่อน ปลากลับมา ธรรมชาติกลับมา ชีวิตเราก็กลับมาด้วย ทำยังไงให้คนอื่นได้เห็น ได้เชื่อในสิ่งที่เราอยากจะบอก ก็เลยคิดว่าต้องจดบันทึก ต้องรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าให้คนอื่นมาทำ ก็กลัวเขาจะทำได้ไม่ถูกต้องครบถ้วน เพราะคนในเมืองเขาไม่เข้าใจวิถีชีวิตอย่างเรา ไม่รู้เรื่องปลา เรื่องแก่ง เรื่องแม่น้ำเหมือนเรา ก็ต้องมาถามเราอยู่ดี ก็เลยคิดว่าทำเองดีกว่า..."


 

พันธุ์ปลา พันธุ์พืช หลังเปิดประตูเขื่อน

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยไทบ้านพบว่า ก่อนการสร้างเขื่อนปากมูล แม่น้ำมูนเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคอีสาน เป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เนื่องจากเป็นแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง แม่น้ำมูนจึงมีพันธุ์ปลามากถึง ๒๖๕ ชนิด บริเวณปากมูนยังถือว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน ทั้งแก่ง ขุม วัง เวิน คัน เห่ว ดอนหรือเกาะ ป่าบุ่งป่าทาม และลำห้วยสาขา การสร้างเขื่อนปากมูลทำให้ปลาไม่สามารถว่ายจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูน พันธุ์ปลา และปริมาณปลาจึงลดลงมาก ปลาหลัก ๆ ที่มีอยู่คือปลาแมว เพราะเป็นปลาที่สามารถอยู่ได้ในน้ำนิ่ง และทนน้ำได้ดี ในขณะที่ปลาอื่น ๆ ชอบอยู่ในน้ำไหล เมื่อแม่น้ำมูนกลายสภาพเป็นน้ำนิ่ง ก็เกิดการระบาดของวัชพืชน้ำ เช่นผักตบชวา เกิดการระบาดของหอยคัน น้ำเน่าเสีย และการระบาดของเห็บปลาหรือ "แม่ปลา" เมื่อปิดประตูเขื่อนกักเก็บน้ำ แก่ง ๓๙ แก่งก็จมอยู่ใต้น้ำ ไม้ใหญ่และพืชบริเวณแก่ง รวมไปถึงพืชริมชายฝั่งสองฝั่งลำห้วยสาขาของแม่น้ำมูน และตลิ่งรอบเกาะหรือ "ดอน" จมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่ไมยราบยักษ์ได้ระบาดสองฝั่งแม่น้ำมูน ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปนี้ทำให้ปลาในแม่น้ำมูนหายไป เพราะไม่สามารถอาศัย หากิน และวางไข่ได้
      ขณะที่ห้วยหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำมูน เช่นห้วยตุงลุง หลังการสร้างเขื่อนมีทรายมาอุดตัน ทำให้ขุม วัง ในห้วย ตื้นเขินมาก เมื่อมีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลในหน้าแล้ง เพราะไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือปลาจากแม่น้ำโขงได้อพยพขึ้นมาอาศัย หากิน และวางไข่บริเวณปากมูน และทางตอนบนรวมทั้งแม่น้ำสาขาอีกครั้ง การสำรวจตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๔๔ ถึงพฤษภาคม ๒๕๔๕ ภายหลังการเปิดเขื่อน พบว่ามีพันธุ์ปลากลับมาในแม่น้ำมูนถึง ๑๕๒ ชนิด ในจำนวนนี้เป็นปลาธรรมชาติ ๑๔๕ ชนิด ส่วนอีก ๗ ชนิดเป็นปลาต่างถิ่น 
(คลิกดูภาพใหญ่)       พันธุ์ปลาธรรมชาติที่พบเป็นปลาอพยพจากแม่น้ำโขงถึง ๑๓๔ ชนิด และเป็นปลาที่อพยพระยะทางสั้น ๆ ในแม่น้ำมูน หรือ "ปลาอยู่มูน" ๑๘ ชนิด แสดงว่าปลาแม่น้ำมูนส่วนใหญ่เป็นปลาอพยพระหว่างแม่น้ำมูนกับแม่น้ำโขง ปลาหลายชนิดที่กลับมาเป็นปลาหายาก และใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลาบึก ปลาตองกราย ปลาบู่หิน ปลาแข่หิน และปลาเอี่ยนหูซึ่งวางไข่บริเวณทะเลจีนใต้บริเวณน้ำลึกประมาณ ๑ กิโลเมตร ระหว่างเวียดนามกับฟิลิปปินส์ และอพยพเข้ามาตามชายฝั่ง ก่อนที่จะเข้าสู่แม่น้ำโขงและแม่น้ำมูนเพื่อการเจริญเติบโต 
      การเปิดเขื่อนปากมูลทำให้ปลาในแม่น้ำมูนกลับมามีความหลากหลายอีกครั้ง รวมถึงปลาที่หายาก และใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย การศึกษายังพบว่า ปลาแม่น้ำโขงเริ่มอพยพขึ้นมาในแม่น้ำมูนตั้งแต่เดือนสาม (หรือประมาณเดือนมกราคม) ถึงเดือนสิบ และเริ่มอพยพกลับสู่แม่น้ำโขงตั้งแต่เดือนแปดถึงเดือนอ้าย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การอพยพของปลาระหว่างแม่น้ำมูนกับแม่น้ำโขงมิได้มีสี่เดือน (มิถุนายน-กันยายน) อย่างที่เข้าใจกัน แต่ปลาอพยพขึ้นลงแทบจะทั้งปี ยกเว้นเดือนอ้ายเท่านั้น
      ขณะที่ในด้านระบบนิเวศ การเปิดประตูเขื่อนปากมูลทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำมูนที่สลับซับซ้อน ได้ฟื้นสภาพจนเกือบอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมอีกครั้ง น้ำที่ไหลตามสภาพธรรมชาติ ทำให้แม่น้ำสะอาด วัชพืชน้ำโดยเฉพาะผักตบชวาหายไปภายใน ๑ เดือน หลังจากนั้นแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำมูนก็เริ่มโผล่ขึ้นมา แต่มีสภาพ "อ้น" หรือทับถมด้วยโคลนเลนหรือตะกอน 
      เมื่อผ่านไปประมาณ ๓ เดือน สภาพการ "อ้น" ของแก่งก็เริ่มหายไปเกือบหมด เพราะกระแสน้ำได้พัดพาเอาโคลนเลนหรือตะกอนออกจากแก่ง เมื่อเปิดประตูเขื่อนได้ประมาณ ๕ เดือน "แม่ปลา" หรือเห็บปลาซึ่งเป็นศัตรูของปลาก็เริ่มลดลงและหมดไป เมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำลด พบว่าบริเวณปากมูนมีแก่งโผล่ถึง ๓๙ แก่ง ขณะเดียวกันพืชริมตลิ่งก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง และเมื่อผ่านฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว พืชตามแก่งก็เริ่มกลับมา โดยพืชบริเวณแก่งทางตอนบนเช่นแก่งสะพือ และแก่งไก่เขี่ย ฟื้นตัวได้ดีกว่าตอนล่างที่อยู่ใกล้กับเขื่อน การสำรวจพืชในแก่งทุกแก่งในแม่น้ำมูน พบพืช ๕๐ ชนิด ซึ่งล้วนแต่เคยถูกทำลายหายไปหลังสร้างเขื่อน 
      พืชที่ยังไม่ฟื้นตัวคือ ป่าไคร่และต้นไม้ใหญ่จำนวนมากในแก่งที่หายไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากจมอยู่ใต้น้ำนานเกือบ ๑๐ ปี 
      อย่างไรก็ตาม ต้นไม้บางชนิดซึ่งมีเฉพาะบริเวณแก่งก็แตกยอดใหม่ เช่น ส้มกุ้ง ซึ่งเหลือรอดเพียงต้นเดียว และเมื่อผ่านไปกล้าของต้นไม้ก็เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะไคร่นุ่น ซึ่งเป็นพืชหลักตามแก่ง นอกจากนั้นยังพบพืชน้ำตามธรรมชาติอีก ๑๒ ชนิดที่ฟื้นคืนมา และ "เทา" หรือตะไคร่น้ำที่เป็นอาหารของปลาอีก ๓ ชนิด และเทาคนกินอีก ๑ ชนิด
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       พืชตามแก่งและพืชน้ำที่ฟื้นกลับมานี้นับว่ามีความสำคัญต่อปลามาก เนื่องจากเป็นอาหารและที่อาศัย หากิน และวางไข่ของปลา นอกจากนั้นยังพบว่าสัตว์หน้าดินซึ่งเป็นอาหารของปลาก็กลับคืนมาด้วย โดยเฉพาะไข่หินที่เกาะตามแก่ง และแมงวารีตามขอนไม้ ที่เป็นอาหารของปลา และชาวบ้านใช้ทำเหยื่อปลา
      ขณะที่ห้วยหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำมูน เช่นห้วยตุงลุง เมื่อเปิดประตูเขื่อน สภาพการอ้นก็หายไปเช่นเดียวกับแม่น้ำมูน แต่ไม่มีปัญหาไมยราบยักษ์ และมีปลาขึ้นมาจากแม่น้ำมูนอีกครั้ง 
      แม่น้ำมูนบริเวณปากมูลที่ฟื้นตัวภายหลังการเปิดประตูเขื่อนปากมูล มีระบบนิเวศที่หลากหลายสลับกัน ระหว่างระบบนิเวศแบบแก่ง ขุม วัง เวิน คัน เห่ว (น้ำตก) ถ้ำ ดอน บุ่ง โบกหรือโบกหิน ตาด หลุมหิน ฮูต่าง ๆ ตามแก่ง แปวหรือป่องและแม่น้ำสาขาต่าง ๆ ระบบนิเวศที่ฟื้นมานี้มีสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) แบบแก่งที่กินพื้นที่ขนาดใหญ่ เป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ และไม่พบที่อื่นในประเทศไทย 
      ความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศนี้เอง ที่เอื้อให้ปลาในแม่น้ำมูนมีความหลากหลาย และสามารถขยายพันธุ์ได้ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลที่พบว่า ปลาธรรมชาติ ๑๔๕ ชนิดที่กลับมาหลังการเปิดเขื่อนนั้น เป็นปลาที่อยู่ตามแก่ง ๓๔ ชนิด ปลาอยู่เวิน ๒๒ ชนิด ปลาอยู่วัง ๓๗ ชนิด ปลาอยู่คัน ๒๐ ชนิด ปลาอยู่ถ้ำหิน ๑๗ ชนิด ปลาอยู่ป่าบุ่งป่าทาม ๒๕ ชนิด และปลาที่อยู่ในแม่น้ำสาขา ๓๐ ชนิด
      บริเวณปากมูนยังเป็นที่วางไข่ของปลา โดยพบว่าพันธุ์ปลาที่กลับมาหลังการเปิดประตูเขื่อน มีปลาที่วางไข่ตามแก่ง ๔๑ ชนิด ปลาที่วางไข่ตามขุม ๒๙ ชนิด ปลาที่วางไข่ตามวัง ๔๒ ชนิด ปลาที่วางไข่ตามเวิน ๒๖ ชนิด ปลาที่วางไข่ตามถ้ำหิน ๑๙ ชนิด ปลาที่วางไข่ตามคัน ๑๒ ชนิด ปลาที่วางไข่ตามแม่น้ำสาขา ๕ ชนิด และปลาที่วางไข่ตามป่าบุ่งป่าทาม ๔๔ ชนิด
      ที่สำคัญก็คือ ปลาหลายชนิดอาศัย หากิน และวางไข่เฉพาะบริเวณแก่งเท่านั้น เช่น ปลาผอ ปลากด ปลาแข้วไก้ ปลาหว่า ปลาหว่าหน้านอ ปลาหลาด ปลาขี้เหี่ย ปลาบู่หิน เป็นต้น 
      นอกจากนั้น แก่งต่างๆ ในแม่น้ำมูนยังทำหน้าที่เสมือนเครื่องเติมออกซิเจนให้แก่แม่น้ำหรือเป็นเครื่องบำบัดน้ำเสียตามธรรมชาติ และยังเป็นการกักเก็บน้ำไปในตัว น้ำในแม่น้ำมูนจึงไม่ได้แห้งแต่อย่างใด แต่กลับใสสะอาด อยู่ในสภาพธรรมชาติที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของปลา และชาวบ้านสามารถลงไปใช้ได้เหมือนเดิม
 

การหาปลาหลังเปิดประตูเขื่อน

(คลิกดูภาพใหญ่)
      การศึกษาข้อมูลระดับหมู่บ้านในช่วง ๔ เดือนแรกหลังเปิดประตูเขื่อน โดยศึกษา ๔๕ หมู่บ้านที่เป็นชุมชนริมมูน พบข้อมูลที่สำคัญดังนี้ 
      จากครัวเรือนทั้งหมด ๗,๒๘๖ ครัวเรือน มีคนกลับลงมาหาปลาในแม่น้ำมูนถึง ๖,๙๑๕ ครัวเรือน คิดเป็น ๙๔.๙๑% 
      ครัวเรือนที่หาปลาอย่างเดียวโดยไม่ทำนาเลยมีถึง ๑,๕๘๗ ครัวเรือน คิดเป็น ๒๑.๕๑% 
      เป็นครัวเรือนหาปลาและทำนาด้วย ๔,๗๗๒ ครัวเรือน คิดเป็น ๖๕.๕๐% 
      หาปลาและทำอย่างอื่น ๕๘๖ ครัวเรือน คิดเป็น ๘.๐๔% 
      ทำนาโดยไม่ได้หาปลา ๒๙๖ ครัวเรือน คิดเป็น ๔.๐๖ % 
      ทำอย่างอื่นโดยไม่ได้หาปลาและไม่ได้ทำนา เช่น ค้าขาย รับจ้าง ราชการ ๑.๐๓%
      จากข้อมูลนี้จึงกล่าวได้ว่า หลังการเปิดประตูเขื่อนชาวบ้านได้ลงมาหาปลาในแม่น้ำมูนอีกครั้ง ในแง่เศรษฐกิจ ชาวบ้านปลูกข้าวไว้กินเป็นหลัก ขณะที่การจับปลานั้นทั้งเพื่อการบริโภคและขาย ดังนั้นระบบเศรษฐกิจของชุมชนปากมูน จึงกลับมาขึ้นอยู่กับการหาปลาขาย มิใช่จากการทำนา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในครอบครัว เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่าเทอมลูก ฯลฯ จึงมาจากการขายปลา ผู้ที่ลงหาปลามิได้มีเพียงชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้าราชการครู ตำรวจ เช่นที่บ้านวังแคน ส่วนผู้มีฐานะดีในชุมชนที่มิใช่ข้าราชการ ซึ่งมีสัดส่วนน้อยมาก ก็ได้ประโยชน์จากการหาปลาเช่นกัน โดยเป็นผู้ลงทุนซื้อเครื่องมือประมงให้คนหาปลา ลงทุนให้แม่ค้า แล้วคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ภายหลัง
(คลิกดูภาพใหญ่)       คนจับปลาริมมูนกลับมาใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านได้อีกครั้ง ด้วยรูปแบบการหาปลาถึง ๖๔ รูปแบบ และเครื่องมือประมง ๗๔ ชนิด โดยมี ๒๒ ชนิดที่ไม่เคยใช้เลยในช่วงปิดประตูเขื่อน เครื่องมือประมงที่ชาวบ้านใช้นั้นปรับเปลี่ยนไปตามระบบนิเวศและชนิดปลา เช่น เมื่อเปิดเขื่อนในช่วง ๓ เดือนแรก ใช้การวางมอง และการไหลมองตามวัง เช่น วังสะแบง ท่าช้าง-วังแคน ร่องอ้อ เมื่อน้ำขึ้นก็เข้าไปหาปลาบริเวณแม่น้ำสาขา ป่าบุ่งป่าทามและที่น้ำท่วมถึง เมื่อถึงฤดูน้ำลดจะวางตุ้มลาน และล่าสุดได้นำตุ้มต่าง ๆ มาใช้ เช่นตุ้มปลายอน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ไม่สามารถใช้ได้ในบริเวณอ่างเก็บน้ำ 
      จากการศึกษาพบว่า เครื่องมือหลักที่ใช้เกือบตลอดทั้งปีคือ แห มอง เบ็ดจม สวิง พุ สะนาง เบ็ดฝั่ง จูงนาง จอวอ กะบั้งกุ้ง และบัด เครื่องมืออื่น ๆ จะใช้ในช่วงเวลาแตกต่างกันไป 
      เครื่องมือหาปลาเกือบทุกชนิดจะมี "ป่อม" ที่ทำจากโฟม ขวด หรือไม้ไผ่ เพื่อหมายให้รู้ว่า เครื่องมือหาปลาของตนอยู่ตรงไหนของลำน้ำ ในขณะเดียวกันยังแสดงให้เห็นถึง "สิทธิ" ว่า เครื่องมือนี้เป็นของใคร เมื่อคนหาปลาเห็นป่อมแล้วจะไม่เข้าไปวางเครื่องมือทับซ้อนอีก นับเป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน แสดงถึงความไว้วางใจกัน และศักดิ์ศรีของคนหาปลาที่จะหาปลาจากความรู้ และกำลังของตนเองเท่านั้น 
      ในหมู่บ้านท้ายเขื่อน เช่น หัวเห่ว ท่าแพ ชาวบ้านก็สามารถใช้เครื่องมือหาปลาได้อีกครั้ง เพราะกระแสน้ำมีความแน่นอน ไม่ไหลเชี่ยวเหมือนตอนที่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อปั่นไฟ จึงไม่จำเป็นต้องนอนเฝ้าเครื่องมือหาปลาตลอดเวลา ไม่ให้เครื่องมือถูกกระแสน้ำจากการปั่นไฟ พัดพาไปเหมือนช่วงปิดเขื่อน นอกจากนี้ยังลงมองได้ตลอดเวลา โดยไม่มีรากผักตบชวาจำนวนมากไหลมาติดมอง อันเกิดมาจากการระบายผักตบชวาหน้าเขื่อนทิ้ง 
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       รายได้จากการหาปลานั้นเปลี่ยนแปลงไปตามวงจรชีวิตปลา ในช่วงที่ปลาใหญ่ขึ้น ชาวบ้านจะมีรายได้มาก คนที่หาปลาเป็นหลักเฉลี่ยแล้วมีรายได้มากกว่า ๔๐๐ บาทต่อวัน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำปลาที่จับได้ไปขาย เมื่อราคาปลาตกเพราะจับปลากันได้มากขึ้น ชาวบ้านก็จะหันมาทำปลาเอือบหรือปลาร้าเพื่อนำไปขายหรือแลกข้าว 
      การซื้อขายปลาสดมีหลายระบบด้วยกัน ที่สำคัญได้แก่ ขายกันเองในหมู่บ้าน โดยร้อยปลาเป็นพวงเดินขายในหมู่บ้าน ขายให้แก่คนหาปลาด้วยกันที่เป็นพ่อค้าปลาด้วย หรืออาจจะเป็นคนที่ลงทุนเครื่องมือหรือการส่าวลวง เพื่อนำปลาไปขายตลาดอีกที เช่นกลุ่มไหลมองที่วังสะแบง การขายปลาให้แก่พ่อค้าคนกลางในหมู่บ้าน เช่นที่บ้านแก่งเจริญ และขายให้พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อถึงท่า เช่นที่ท่าบ้านด่าน ปลาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะส่งไปขายที่ตลาดโขงเจียมและพิบูล
      ปลาที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ทำให้ระบบเศรษฐกิจของชุมชนหมุนเวียน กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในหมู่บ้านเช่นปั๊มน้ำมันในหมู่บ้าน ก็ได้ประโยชน์จากการขายน้ำมันให้แก่เรือหาปลาที่เพิ่มขึ้น ร้านค้าเครื่องมือหาปลาก็ขายได้มากขึ้น ร้านค้าของชำในหมู่บ้านมีลูกค้ามากขึ้นเพราะชาวบ้านมีเงินจับจ่ายใช้สอย แม้แต่สหกรณ์ของโรงเรียนก็มียอดขายเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับก่อนการเปิดเขื่อน เนื่องจากนักเรียนมีรายได้จากการหาปลาเองขายหรือพ่อแม่มีเงินให้ลูกติดตัวไปโรงเรียนมากขึ้น 
      แม่น้ำมูนที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ยังทำให้ชาวบ้านกลุ่มผู้หญิง คนแก่ และเด็ก มีอาชีพหากุ้งตามธรรมชาติ บางคนหากุ้งไปขายให้ร้านอาหารที่แก่งสะพือหรือไปขายที่ตลาดพิบูล มีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ บาท เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครอบครัว
      ดังนั้นแล้ว การเปิดเขื่อนจึงทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น บรรเทาความเดือดร้อนที่ชาวบ้านเผชิญในช่วงเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ
 

การใช้ประโยชน์แม่น้ำมูนในด้านอื่นหลังการเปิดเขื่อน 

(คลิกดูภาพใหญ่)
การเกษตร
      งานวิจัยไทบ้านพบว่า การเปิดเขื่อนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูนกลับคืนสู่ภาวะปรกติ ในช่วงฤดูหนาวน้ำเริ่มลดลงจนระดับน้ำทรงตัว ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินริมตลิ่ง แม้ที่ดินจะเหลือน้อยลงเพราะตลิ่งพัง บางช่วงตลิ่งก็ชันมาก บางพื้นที่ไมยราบยักษ์ระบาด ต้นไม้ที่เคยยึดหน้าดินตายหายไปหมด แต่ก็ยังมีชาวบ้านเข้าไปรื้อฟื้นทำการเกษตรอีกครั้งหลังจากไม่ได้ทำมานับสิบปีหลังมีเขื่อน 
      ห้วยสาขาของแม่น้ำมูนก็เช่นกัน การเปิดประตูเขื่อนปากมูลทำให้พื้นที่ที่เคยใช้ทำเกษตรริมห้วยสาขาซึ่งจมอยู่ใต้น้ำ กลับคืนมาอีกครั้ง ตัวอย่างเช่นที่ริมห้วยกว้าง ชาวบ้านดอนชีวเวินและบ้านหนองเบ็นได้ใช้พื้นที่ที่บริเวณริมห้วยกว้าง ตกกล้าและปลูกข้าวด้วย 
      จากการสำรวจพบว่า จำนวนครัวเรือนที่กลับมาปลูกพืชผักริมมูนในช่วงเปิดประตูเขื่อนมีประมาณ ๗๐๐ ครัวเรือน คิดเป็น ๒๓% ของผู้ที่เคยทำเกษตรริมมูน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อ ๆ ไปหากยังเปิดประตูเขื่อนปากมูลต่อ และหากพิจารณาในเชิงพื้นที่ พบว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านกลับมาทำการเกษตรริมมูนมีถึง ๕๐% เมื่อเทียบกับก่อนการสร้างเขื่อน โดยในช่วงปิดประตูเขื่อน การทำเกษตรริมมูนและห้วยสาขาต้องยุติโดยสิ้นเชิงเนื่องจากพื้นที่เหล่านี้จมอยู่ใต้น้ำ
      การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ริมมูนยังรวมถึงการใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะควาย หรือเก็บเกี่ยวหญ้าไปเลี้ยงสัตว์ด้วย พื้นที่ริมมูนไม่เพียงทำให้ชุมชนเกิดความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องซื้อผักราคาแพงและยังเป็นผักปลอดสารพิษ แต่ยังทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกอื่นในการประกอบอาชีพ นั่นคือการปลูกผักริมมูนเป็นอาชีพเสริม

(คลิกดูภาพใหญ่) พืชอาหารและสมุนไพร
      หลังจากเปิดประตูเขื่อน พรรณพืชตามแก่งริมตลิ่งและชายฝั่งรอบดอนกลับคืนมาเกือบหมด เช่น กระโดนน้ำ ส้มกุ้ง ส้มกบ ไคร่ดอก รวมทั้งเทาที่รับประทานได้ ที่สำคัญอีกประการก็คือ การเปิดประตูเขื่อนทำให้ชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ใกล้ดอนหรือเกาะต่าง ๆ ในแม่น้ำมูนมีโอกาสเข้าไปหาพืชอาหารธรรมชาติและสมุนไพรที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จากเดิมที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึงเนื่องจากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำสูง 
      จากการสำรวจพบว่า ตามดอน ริมตลิ่งแม่น้ำมูน และชายฝั่งรอบดอน รวมทั้งบริเวณแก่งที่ชาวบ้านกลับมาใช้ประโยชน์ มีพรรณพืช ๓๑๖ ชนิด ที่ใช้เป็นอาหาร สมุนไพร เหยื่อปลา อาหารสัตว์เลี้ยง ทำเครื่องมือหาปลา ใช้ประกอบในงานพิธีกรรมและความเชื่อต่างๆ ทำสีย้อมผ้า ใช้เป็นเชื้อเพลิง ฯลฯ พืชอาหารธรรมชาตินี้นับว่ามีความสำคัญต่อชาวบ้าน ทำให้ไม่ต้องพึ่งผักจากตลาดที่เปื้อนสารเคมี และบางรายยังเก็บพืชผักอาหารธรรมชาติขายเป็นรายได้เสริมด้วย 

(คลิกดูภาพใหญ่) การท่องเที่ยว
      กลุ่มนักท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่อีกกลุ่ม ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประตูเขื่อนปากมูล โดยเฉพาะบริเวณแก่งสะพือ ซึ่งปรากฏว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และนักท่องเที่ยวใช้เวลาที่แก่งนานขึ้น เนื่องจากแก่งสวยงามและสามารถลงเล่นน้ำได้ การเปิดเขื่อนยังทำให้แก่งสะพือโผล่เป็นที่ท่องเที่ยวเร็วขึ้น โดยเริ่มโผล่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงหน้าแล้ว จากแต่เดิมโผล่แค่สองเดือนคือเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่ง กฟผ. ลดระดับน้ำให้ การเปิดประตูเขื่อนปากมูล ยังทำให้เทศบาลไม่ต้องจ้าง หรือระดมคนมาขัดแก่งดังเช่นเกือบ ๑๐ ปีที่มีการปิดประตูเขื่อน
      นอกจากแก่งสะพือจะกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแล้ว แก่งอื่น ๆ ที่โผล่หลังการเปิดเขื่อนก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน เช่น แก่งตุงลุง แก่งสุวรรณวารี แก่งคันลึม เป็นต้น บางแก่ง หมู่บ้านหรือ อบต. ที่อยู่ใกล้เคียงได้เขียนป้ายเชิญชวนให้นักท่องเที่ยว ไปเที่ยวแก่งโดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ 
      การท่องเที่ยวเป็นประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะแม่ค้าที่แก่งสะพือ ขณะที่แก่งอื่น ๆ นั้น ชาวบ้านตามหมู่บ้านใกล้แก่งได้ลงมาสร้างร้านค้าชั่วคราวเพื่อขายอาหารให้นักท่องเที่ยว ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวของแก่ง แสดงให้เห็นศักยภาพของพื้นที่เหล่านี้ว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเกิดประโยชน์ต่อคนท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง

(คลิกดูภาพใหญ่) ความขัดแย้ง
      การเปิดประตูเขื่อนทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านภายในชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูน และระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐลดลงหรือบางที่หมดไป ในกรณีความขัดแย้งภายในชุมชน พบว่าทุกชุมชน ความขัดแข้งลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงที่มีการปิดเขื่อน เนื่องจากทุกฝ่ายที่เคยแตกแยกกันในเรื่องเขื่อนได้กลับมาหาปลาในแม่น้ำมูนร่วมกัน การเปิดประตูเขื่อนมีกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แม้แต่ผู้ที่คัดค้านการเปิดประตูเขื่อนก็ยังได้รับประโยชน์ด้วยการลงหาปลาและร่วมพิธีเนาด้วยกัน ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐในบางกรณีได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านหัวเห่วกับเจ้าหน้าที่กรมประมงที่แต่เดิมขัดแย้งกัน เนื่องจากพื้นที่บริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามทำการประมงมาตลอดเกือบ ๑๐ ปี 
      การลดลงและหมดไปของความขัดแย้งนี้ มีความหมายเป็นอย่างยิ่งต่อชุมชน เนื่องจากเป็นการคืนสันติสุขสู่ชุมชนอีกครั้ง หลังจากต้องแตกแยก ขัดแย้ง และไม่มีเอกภาพมาตลอดนับแต่มีการสร้างเขื่อนปากมูล