สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๕ " เปิดแฟ้มคดีมด "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๕  

เ ฮ โ ล ส า ร ะ พ า


หมูอมตะ

คุณที่รัก

    ปัญหาเฮโลสาระพาฉบับบ้านดิน ถามว่า กีฬาฟุตบอลถือกำเนิดในประเทศใด 
    คุณจุมพล หมอยาดี เขียนคำตอบมาในไปรษณียบัตรว่า
    "ความจริงผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่า กีฬาฟุตบอลถือกำเนิด ณ แห่งหนตำบลใด จะตอบว่าอังกฤษ ก็สังหรณ์ใจว่าผิดแน่ ๆ จะตอบว่าอียิปต์ก็กลัวขายหน้า เลยกะว่าจะไม่ตอบคำถามนี้ รอฟังคำเฉลยเฉย ๆ ดีกว่า ไม่เจ็บตัวและถูกเยาะเย้ย ถากถาง...ฮิฮิ
    สวรรค์มีตา วันก่อนหยิบหนังสือพิมพ์....ขึ้นมาอ่าน พบว่ามีคนเคยทำแผนที่ (ลูกหนัง) โลก และบอกว่า ชาติที่ให้กำเนิดกีฬาฟุตบอล คือ ประเทศจีน เลยรีบเขียนตอบมา เอาเป็นว่าครั้งนี้มีเอกสารอ้างอิง ถ้าคำตอบเป็นอย่างอื่น ผมเห็นทีจะเลิกซื้อหนังสือไม่ฉบับใดก็ฉบับหนึ่ง แฮะแฮะ"
    โอ...สวรรค์มีตา แต่หามีใจให้แก่คุณจุมพลไม่ หนังสืออ้างอิงประเภทสารานุกรมที่ "หมูอมตะ" มีอยู่ในมือ ๓ เล่ม ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า อังกฤษ เป็นต้นกำเนิดฟุตบอล จะขออ้างข้อมูลในสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๑ หน้า ๑๓๗๓๙ ดังนี้
    "การกีฬาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการเล่นฟุตบอลนี้ ที่จริงได้เล่นกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน แต่กีฬาฟุตบอลที่มีวิธีการเล่น ตลอดจนกติกาและระเบียบการเล่นเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ได้เริ่มมีการเล่นครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๖ โดยคณะกรรมการควบคุมการเล่นหรือสมาคมฟุตบอล (Association Football) ในอังกฤษขณะนั้นเป็นผู้วางระเบียบ กฎ กติกา"
    ดังนั้นคำตอบของ "หมูฯ" จึงเป็นอังกฤษ ...คุณจุมพล คุณเป็นจุดอ่อน...เชิญค่ะ

 

คำตอบที่ได้รับรางวัลจากปัญหาฉบับที่ ๒๐๘ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๕

    ดังนั้น
ผู้ที่ตอบปัญหานี้ถูก ได้รับหนังสือ ใคร ๆ ก็อยากมีร้านเบเกอรี่ โดย ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง เป็นของรางวัล ได้แก่ 

๑. คุณสุรวุฒิ พวงจำปา    จ. สระแก้ว
๒. คุณมัทนีย์ คูประทุมศิริ  กรุงเทพฯ
๓. คุณชัยทัต อิฐรัตน์  จ. ขอนแก่น 
๔. คุณสุดคนึง ดีประเสริฐ  กรุงเทพฯ 
๕. คุณชนัญญา นวลอุไร  กรุงเทพฯ 
๖. คุณการันต์ สว่างดี  จ. เชียงใหม่ 
๗. ด.ช. พีระ ศิริเผ่าตระกูล  จ.ระยอง 
๘. คุณสมสุข สามทอง  จ. อุบลราชธานี 
๙. คุณปราโมทย์ ในจิต  จ. ยโสธร 
๑๐. คุณกนกรัตน์ ขุนทอง  กรุงเทพฯ 

 

 

ปัญหาฉบับที่ ๒๑๐ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๕

 
 

    สถิติประเทศไทย

    คุณคิดว่าตัวเลข "๑๖๒๐" เกี่ยวกับประเทศไทยอย่างไร
    ก. จำนวนผลิตภัณฑ์ในโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" 
    ข. ความยาวของประเทศไทยจากเหนือจรดใต้
    ค. จำนวนผู้หญิงไทยที่ประเทศปลายทางไม่ยอมให้เข้าประเทศ เพราะต้องสงสัยว่าจะไปค้าประเวณี ปี ๒๕๔๔
    ง. จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในปี ๒๕๔๔
    จ. ความยาวของแหนมที่กินเนสส์บุ๊กบันทึกไว้เมื่อปี ๒๕๔๑ ที่ จ. เชียงใหม่
    รีบส่งคำตอบมาภายในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ศกนี้


 
รักคุณ
"หมะอมตะ"
MortalPig@ Sarakadee .com
   
 
   

ของแถมท้ายเล่ม

    ความจริงเกี่ยวกับรถโดยสารในเมืองไทย
    ๑. รถเมล์ = ก. รถประจำทาง พาหนะสำหรับผู้รักการผจญภัย ข. พาหนะที่มักจะไม่มาเมื่อคุณรอ และวิ่งให้ว่อนเมื่อไม่ต้องการ
    ๒. พขร. = พนักงานแข่งรถ
    ๓. พกส. = พนักงานเก็บเงินผู้ใหญ่ที่สุด มีอำนาจสั่งการให้ผู้โดยสารไปไหนก็ได้ และเป็นคนเดียวที่คุยกับ พขร. รู้เรื่อง
    ๔. ผู้โดยสาร = บุคคลผู้เจียมเนื้อเจียมตัว บางครั้งถูกเปรียบให้เป็นปลา (กระป๋อง)
    ๕. นายตรวจ = คนเดียวที่ พกส. กลัว
    ๖. ค่าโดยสาร = จำนวนเงินที่ต้องจ่าย กรุณาจ่ายเป็นเศษสตางค์ ไม่รับเหรียญสลึงและแบงก์ใหญ่กว่า ๑๐๐ ฝ่าผืนอาจถูกสรรเสริญจาก พกส. และอาจลามปามไปถึงบุพการีที่นอนอยู่กับบ้านได้
    ๗. ป้าย = ไป (สันนิษฐานว่าเลยไปเลย สังเกตจาก พกส. จะพูดคำนี้ทุกครั้งที่ถึงป้าย)
    ๘. ที่นั่งสำหรับภิกษุ สามเณร = ที่นั่งสำหรับป้า หรือบุคคลตาบอดสี โดยเฉพาะสีเหลือง
    ๙. ที่นั่งสำหรับคนพิการ = ดูข้อ ๘
    ๑๐. เด็ก สตรี และคนชรา = ประชาชนส่วนใหญ่ที่ประชาชนส่วนต้องต้องเอื้อเฟื้อ จึงมักจะ (ดูต่อข้อ ๑๑)
    ๑๑. แกล้งหลับ = วิธีหลีกเลี่ยงจากข้อ ๑๐
    ๑๒. คนดีมีน้ำใจ = คนประหลาดในสายตาข้อ ๑๑
    ๑๓. กริ่ง = กดสองที ฟรีสองป้าย
    ๑๔. รถไฟฟ้า = เครื่องช่วยหายใจคนกรุงฯ สามารถไปได้ทุก ๆ ที่ ยกเว้นบ้านคุณ
    ๑๕. เรือด่วน = เครื่องช่วยหายใจอีกอย่างหนึ่ง เหมาะสำหรับคนว่ายน้ำเป็น น้ำหนักตัวน้อย
    ๑๖. แท็กซี่ = พาหนะที่พาคุณอ้อมไปจากเส้นทางจริง
    ๑๗. สามล้อ = พาหนะสำหรับผู้มีสุขภาพปอดดี เคลื่อนที่ทุก ๆ ครั้งที่มีที่ว่างมากกว่า ๒ นิ้ว
    ๑๘. ไมโครบัส = สูงสุดคืนสู่สามัญ (จากราคา ๑๕ เป็น ๒๐ เป็น ๒๕ เป็น ๓๐ และกลับมาเป็น ๒๐ และ ๒๕ ในปัจจุบัน)
    ๑๙. ครีมน้ำเงิน = วิธีการรีไซเคิล เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงขึ้น (จากเดิม ๒.๕๐ ปัจจุบัน ๕ บาท)
    ๒๐. ยูโร = วิธีการขึ้นราคาค่าโดยสารแบบมัดมือชก ราคามากกว่า แต่คุณภาพ--เหมือนเดิม...เฮ้อ
ที่มา : forward mail