๑๐๘ ซองคำถาม 108 questions

 

ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

คนมีแซ่
      เคยถามเพื่อน ๆ ที่เป็นกุมารจีนด้วยกันว่า บรรพบุรุษมีแซ่อะไร คำตอบมักเป็นแซ่ซ้ำ ๆ กัน เช่น แซ่ตั้ง แซ่ลิ้ม นาน ๆ จึงจะเจอคนแซ่แปลก ๆ เลยสงสัยว่าจำนวนแซ่ที่มีใช้กัน มีกี่มากน้อยครับ
    (หนุ่มแซ่ลิ้ม)
    แซ่ของจีนตั้งแต่โบราณมา ทางไต้หวันสำรวจได้ ๖,๐๐๐ กว่าแซ่ จีนแผ่นดินใหญ่รวบรวมได้ ๕,๐๐๐ กว่าแซ่ ยังใช้อยู่ในปัจจุบันประมาณ ๓,๐๐๐ แซ่ ที่แพร่หลายมีราว ๕๐๐ แซ่ สมัยราชวงศ์ซ่ง มีคำนำแซ่ที่ใช้แพร่หลาย มาเรียบเรียงเป็นร้อยกรอง เรียกว่า ไป่เจียซิ่ง แปลเอาความได้ว่า "ทำเนียบร้อยแซ่" รวมแซ่ไว้ ๔๓๘ แซ่ ต่อมามีคนเพิ่มเติมเป็น ๕๐๔ แซ่ จนถึงปัจจุบันแซ่ที่มีคนใช้มากจริง ๆ มี ๑๐๐ แซ่ คิดเป็น ๘๕ % ของประชากรชาวฮั่น หรือ ๙๖๐ ล้านคน แซ่ที่มีคนใช้เกิน ๑ % ของประชากรชาวฮั่นมี ๑๙ แซ่ มีคนใช้รวมกัน ๕๕.๖ % ส่วนในไทย บุญศักดิ์ แสงรวี รวบรวมแซ่เท่าที่พบเห็นในเมืองไทย และเขียนประวัติย่อไว้ ๒๒๕ แซ่ แต่ที่แพร่หลายจริง ๆ คงมีไม่เกิน ๑๐๐ แซ่ ที่จดทะเบียนเป็นสมาคมแซ่มี ๕๙ แซ่ 
    แซ่ใหญ่สามอันดับแรกของจีน คือ แซ่หลี (หลี่) เฮ้ง (หวาง) เตีย (จาง) สามแซ่นี้มีประชากรแซ่ละ ๑๐๐ กว่าล้านคน ส่วนแซ่ใหญ่สามอันดับแรกของไต้หวัน คือ แซ่ตั้ง (เฉิน) ลิ้ม (หลิน) อึ๊ง (หวง) ของไทย แซ่ตั้งมากเป็นอันดับหนึ่ง แซ่ลิ้มอันดับสอง อันดับสามก็น่าจะเป็นแซ่อึ๊งเหมือนไต้หวัน 
    ชาวจีนแต้จิ๋วในจีนมีคำกล่าวว่า "ตั้ง ลิ้ม ฉั่ว ทีเอ๋กือ เตี่ยวเจ็กปั่ว" แปลว่า "แซ่ตั้ง ลิ้ม ฉั่ว (ไช่) มีคนรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งในใต้ฟ้า" หมายถึงครึ่งหนึ่งของคนแต้จิ๋วทั้งหมด แต่จีนพวกอื่นเช่นจีนแคะ กวางตุ้ง มีคำสรุปเรื่องแซ่ต่างกันไป
    ถ้าต้องการข้อมูลมากกว่านี้ ขอให้ดูหนังสือ เรื่องของแซ่เซียว ของ ถาวร สิกขโกศล ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

ใครคิดประดิษฐ์หูฟังของหมอ
     ต้องการประวัติความเป็นมาของหูฟัง หรือสเต็ทโทสโคปที่แพทย์ใช้ และอยากทราบด้วยว่าแพทย์ใช้หูฟัง ฟังอะไร
    (สถาปา บุญญานนท์ / กรุงเทพฯ)
   สเต็ทโทสโคป (Stethoscope) เป็นเครื่องมือที่แพทย์ใช้ฟังเสียงต่าง ๆ ภายในร่างกายของคนไข้ โดยเฉพาะเสียงหัวใจและปอด ชื่อเรียกนี้มาจากรากคำในภาษากรีก stethos แปลว่า ทรวงอก กับ skopos แปลว่า ผู้เฝ้าดู ในภาษาไทยนิยมเรียกเครื่องมือชิ้นนี้ว่า หูฟัง หรือทับศัพท์สั้น ๆ ว่า สเต็ท
    นายแพทย์หนุ่มชาวฝรั่งเศสชื่อ เรอเน เทโอฟิลี แลนเนกส์ (Rene Theophile Laennec) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๑๘ ระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๘๑-๑๘๒๖ เป็นผู้ประดิษฐ์หูฟังอันแรกขึ้นใช้ในวงการแพทย์
    แต่เดิมคุณหมอแลนเนกส์ ก็ใช้วิธีเอาหูแนบกับหน้าอกของคนไข้ อันเป็นวิธีการฟังเสียงที่แพทย์กระทำกันทั่วไปในสมัยนั้น แต่วิธีการดังกล่าวไม่สะดวกนัก แถมยังมักไม่ค่อยได้ยินเสียงอะไรเลย คุณหมอเกิดความคิดขึ้น ขณะเฝ้าดูเด็ก ๆ เล่นกับท่อนไม้ซุง เด็กคนหนึ่งใช้มือข่วนเกา และเคาะตรงปลายท่อนไม้ด้านหนึ่ง ในขณะที่เด็กคนอื่น ๆ แนบหูลงกับท่อนไม้ตรงปลายอีกด้านหนึ่ง คุณหมอนำหลักการนี้ มาประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่ โดยนำกระดาษสองสามแผ่น มาม้วนเป็นท่อทรงกระบอก เมื่อเขาวางปลายด้านหนึ่งของท่อทรงกระบอก ลงบนหน้าอกของคนไข้ และเอียงหูฟังตรงปลายท่ออีกด้านหนึ่ง เขาค้นพบว่า สามารถได้ยินเสียงหัวใจของคนไข้เต้นชัดเจน อย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน
    อุปกรณ์หูฟังรุ่นแรกมีลักษณะเป็นท่อไม้ทรงกระบอกยาว ๓๐ เซนติเมตร ตรงกลางกลวงตลอด เมื่อเวลาผ่านไป หูฟังรุ่นบุกเบิกนี้ถูกแทนที่ด้วยหูฟังรุ่นใหม่ทันสมัยกว่า ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาง เชื่อมโยงภาชนะรูปถ้วยเข้ากับส่วนที่เป็นหูฟังสองข้าง ทุกวันนี้สเต็ทโทสโคปเป็นเครื่องมือพื้นฐาน ซึ่งแพทย์โดยทั่วไปมีไว้ใช้วินิจฉัยโรคเบื้องต้น

กลับไปที่หน้า สารบัญ Sarakadee September 2002
ส่งคำถามที่คุณสงสัย แต่ยังไม่มีใครเคยตอบ ได้ที่นี่
108@Sarakadee.com
๑๐๘ ซองคำถาม เล่มที่ ๘