สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕ " ๑๐ ตัวพิมพ์กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕  

พระตำหนักสวนหงส์
นิมิตมงคลแห่งพระชนมายุ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า



ผังพระราชวังดุสิตในปัจจุบัน (คลิกดูภาพใหญ่)

      นอกเหนือไปจากพระที่นั่ง วิมานเมฆ อภิเศกดุสิต และตำหนักฝ่ายในสำหรับพระกนิษฐาในรัชกาลที่ ๕ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในฉบับก่อน ๆ ยังมีกลุ่มพระตำหนักอีกกลุ่มหนึ่ง ปลูกสร้างขึ้นท่ามกลางหมู่แมกไม้ ภายในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระราชวังดุสิต เพื่อพระราชทานแด่เจ้านายฝ่ายหญิงชั้นมเหสีและพระวิมาดาเธอ ได้แก่
      - พระตำหนักสวนหงส์
      - พระตำหนักสวนสี่ฤดู
      - พระตำหนักสวนบัว
      ซึ่งในตอนนี้จะขอกล่าวจำเพาะถึงพระตำหนักสวนหงส์ก่อนเป็นอันดับแรก


 

พระตำหนักสวนหงส์

สภาพของพระตำหนักสวนหงส์ในอดีต (คลิกดูภาพใหญ่)
      ในทศวรรษสุดท้ายของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดปรานการสะสม เครื่องถ้วยลายคราม และเครื่องกังไสของจีน รวมทั้งนิยมจัดประกวดเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น หรือที่เรียกกันโดยรวมว่า "เล่นกิมตึ๋ง" อย่างเอิกเกริก ฉะนั้นในบริเวณพระราชวังดุสิต จึงโปรดให้จัดสวนต่าง ๆ ขึ้นใช้รองรับการประดับประดากระถางเครื่องปั้นเหล่านี้ แล้วพระราชทานชื่อสวน กับพระตำหนักตามชื่อของลายกิมตึ๋ง โดยมากเป็นลายประเภทโป๊ยเซียนหรือมงคลแปด กับลายธรรมชาติที่ซ่อนความหมายเชิงสัญลักษณ์ ประกอบด้วยลายสัตว์และลายบุปผชาติ 
      เมื่อพระตำหนักซึ่งรัชกาลที่ ๕ พระราชทานแด่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา) สร้างแล้วเสร็จ จึงได้พระราชทานนามแด่พระตำหนักว่า "สวนหงส์" อันเป็นการเฉลิมนามตามอย่างลายนิมิตมงคล ซึ่งปราชญ์ชาวจีน ผูกกระบวนลายขึ้นใช้เขียนบนเครื่องกระเบื้องกังไส และกระเบื้องลายครามแทนการให้พร มีบันทึกไว้ในพงศาวดารจีนว่าใช้สืบต่อกันมาไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ ปีแล้ว นอกจากนี้ยังได้นำประติมากรรมรูปหงส์ มาประดับอยู่ด้านหน้าพระตำหนักด้วย
      เมื่อพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว พระตำหนักสวนหงส์ ถือเป็นตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมแนวสัญลักษณ์นิยม ที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย-จีน-แขกอย่างแยบยล สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเรามีนิสัยไม่ปฏิเสธสิ่งซึ่งเป็นมงคล จึงพอใจที่จะประยุกต์เอาลวดลายของจีนก็ดี และพาหนะของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูก็ดี มาใช้ในงานศิลปกรรมไทยตั้งแต่อดีตกาลแล้ว เห็นได้ชัดจากการนำสัญลักษณ์รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ มาประดับหน้าบันของปราสาทราชวัง ตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบต่อมาถึงราชวงศ์จักรี อันหมายถึง เดช อำนาจ วาสนา และบารมี
 

ย้ายพระตำหนัก

สระน้ำพุด้านหลังพระตำหนัก ซึ่งปัจจุบันยังคงสภาพเดิม (คลิกดูภาพใหญ่)       เดิมนั้นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ประทับอยู่ในเขตพระราชฐานฝ่ายใน ของพระบรมมหาราชวัง แต่เนื่องจากมิอาจทนต่อสภาพแวดล้อมที่ทึบทึม เนืองแน่นไปด้วยอาคาร อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และไม่ค่อยมีต้นไม้ภายในวังหลวง เมื่อพระองค์ทรงพระประชวรบ่อยเข้าจำต้องย้ายไปประทับอยู่ ณ พระตำหนักศรีราชาเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๔๕ และเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงส์จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๓
      ช่วงระหว่างที่ทรงประทับ ณ พระตำหนักศรีราชา สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ทรงสนพระทัยในเรื่องหัตถกรรม โดยเฉพาะการทอผ้า ครั้นเมื่อย้ายมาประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ในพระราชวังดุสิต จึงโปรดให้นำหูกจากศรีราชามาตั้งไว้ในพระตำหนักแห่งใหม่ ใช้สำหรับทอผ้าไหมดิบจากญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายหารายได้เลี้ยงพระชนม์ชีพ จนเกิดเป็นกองงานกองหนึ่งชื่อ "กองทอ" พระองค์ท่านเองทรงฝึกทอผ้าจนชำนิชำนาญ ผู้ที่ถวายคำแนะนำในการทอผ้าคือ นางทองพูน ปัญญาเทวะ บุตรีข้าหลวงจากจังหวัดตราด 
      นอกจากนี้แล้วยังทรงสร้างโรงสีเครื่องจักรขึ้น เพื่อรองรับผลเก็บเกี่ยวอันเกิดจากที่นาของพระองค์ ซึ่งมีอยู่มากมายในจังหวัดปทุมธานี อนึ่ง ทั้งโรงทอและโรงสีข้าวต่อมาได้กลายเป็นกำลังเสบียงหลัก มีบทบาทสำคัญใช้เลี้ยงดูชาววังสวนดุสิตเรื่อยมา แม้ภายหลังจากการที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จักทรงย้ายไปประทับนอกเขตพระราชฐานแล้วก็ตาม และจากจุดนี้เองสันนิษฐานน่าจะเป็นต้นกำเนิดหรือแรงบันดาลใจให้เกิด "โครงการเกษตรหลวง" ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับ "โครงการศิลปาชีพ" ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของรัชกาลปัจจุบัน
      ในบั้นปลายพระชนม์ชีพภายหลังจากทรงประสบกับมรสุมชีวิตสืบต่อกันหลายระลอก นับแต่การสวรรคตของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง กอปรกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอเกือบทุกพระองค์ ทรงสิ้นพระชมน์ก่อนชันษาอันควร วิกฤตเหล่านี้นำมาซึ่งความโศกาดูรอันใหญ่หลวง พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยย้ายไปประทับนอกเขตพระราชฐาน ณ วังสระปทุม บริเวณปทุมวัน 
 

สถาปัตยกรรมแบบ Picturesque

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  กับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (คลิกดูภาพใหญ่)
      ดูคล้าย แต่ไม่เหมือน 
      สิ่งที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษอีกประการหนึ่งของพระตำหนักสวนหงส์ ก็คือรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สร้างเป็นเรือนไม้สองชั้นบนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการฉลุลวดลายแบบ "ขนมปังขิง" ตามส่วนต่าง ๆ รับอิทธิพลมาจากศิลปะสกุลช่าง "วิคตอเรียกอทิก" ร่วมสมัยกันกับพระนั่งวิมานเมฆ ทว่าลักษณะปลีกย่อยของการตกแต่งและจัดวางพระตำหนักแห่งนี้ เมื่อพิจารณาจากองค์รวมแล้วจัดเป็นศิลปะแบบที่เรียกว่า Picturesque มากกว่าที่จะเป็นวิคตอเรียนกอทิก
      คำว่า Picturesque พัฒนามาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า Pittoresco หรือ Pittoresque ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง "เสมือนภาพวาด" ใช้เรียกงานศิลปกรรมทั้งประเภทประติมากรรม และสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นระหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ในยุโรป ที่มีลักษณะอ่อนหวานชดช้อย "งามดั่งวาด" กล่าวคือดูแล้วให้ความรู้สึกสงบงดงามคล้ายดั่งภาพเขียน
 
พระตำหนักสวนหงส์ (คลิกดูภาพใหญ่)       หากเป็นสถาปัตยกรรมก็เจาะจงจำเพาะอาคารบ้านเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ทั้งหลัง อาจมีการฉลุลวดลายพันธุ์พฤกษาบ้างตามกรอบหน้าจั่ว บานประตู-หน้าต่าง ลูกกรงระเบียง ค้ำยัน มุงหลังคาด้วยเครื่องไม้หรืออาจะเป็นเครื่องกระเบื้องเคลือบตกแต่งลายสลับสี ข้อสำคัญต้องตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร หรือมิฉะนั้นหากสร้างกลางเมืองก็จะต้องมีการจัดฉากภูมิทัศน์เลียนแบบธรรมชาติ เช่น ขุดสระน้ำ ก่อเขามอ มีน้ำพุ โขดหิน หรือธารน้ำตก กล่าวคือเป็นสถาปัตยกรรมที่ดูโดยรวมแล้วต้องมีความงามที่อิงแอบ และกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียว
      นอกจากนี้ Picturesque ยังกินความกว้างไปถึงอาคารที่หยิบยืมเอารูปแบบศิลปะของจีน ซึ่งในยุโรปขณะนั้นกำลังตื่นตาตื่นใจกับกลิ่นอายตะวันออก เช่นเก๋งจีน หรือเจดีย์ทรงถะอย่างมาก จึงนิยมเลียนแบบรูปทรงดังกล่าวมาสร้างเป็นหอคอย หอดูดาว หรือศาลาทรงแปดเหลี่ยมในสวนป่า นอกจากนี้ศิลปะสมัยนีโอคลาสสิกยังเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สถาปัตยกรรมแนว Picturesque นิยมนำมาประยุกต์ใช้อีกด้วย 
การฉลุไม้ด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษาตามกรอบหน้าจั่ว บานประตู-หน้าต่าง (คลิกดูภาพใหญ่)       ความหมายดั้งเดิมของ Picturesque นี้ เคยใช้เรียกงานประเภทจิตรกรรมในสมัยโรแมนติก (ซึ่งก็มีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ร่วมสมัยกัน) มาก่อนที่จะขยายวงกว้างไปสู่งานประเภทประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ถือกำเนิดจากการใช้เรียกภาพเขียนที่แสดงฉากอาคารเก่าคร่ำทว่างดงามที่ถูกทิ้งร้าง ประเภทซากโบราณสถานมีไม้เลื้อยปกคลุมท่ามกลางป่ารกชัฏ กล่าวให้ง่ายเข้าก็คือเป็นภาพเขียนที่จงใจแสดงอารมณ์สะเทือนใจและโหยหาอดีตอันรุ่งโรจน์
ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๓๐ เป็นต้นมา ในแวดวงสถาปัตยกรรมยุโรป โดยมีอังกฤษเป็นชาตินำร่อง ได้ขอยืมเอาแนวคิดแบบ Picturesque จากภาพจิตรกรรมไปพัฒนาใช้ในงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นตามชนบท เพื่อใช้เป็นพระราชวังประทับพักผ่อนในช่วงฤดูร้อน ของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียอย่างสัมฤทธิผล ต่อมาได้ส่งอิทธิพลไปยังประเทศเพื่อนบ้านแถบฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลีตอนเหนือ
      สำหรับพระตำหนักสวนหงส์นี้ ออกแบบและก่อสร้างโดยกลุ่มนายช่างชาวต่างชาติประจำราชสำนัก ซึ่งมีทั้งชาวอิตาเลียน เยอรมัน และอังกฤษ ผู้เคยเรียนรู้และสัมผัสกับสถาปัตยกรรมแนว Picturesque ในยุโรปมาแล้วเป็นอย่างดี จึงสามารถดึงเอาคตินิยมอันนี้มาปรับใช้กับพระตำหนักสวนหงส์ได้อย่างลงตัว สมดังพระราชประสงค์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่ทรงปรารถนาให้เจ้านายฝ่ายในประทับพักผ่อนอย่างสำราญพระราชหฤทัย ภายใต้เรือนไม้โปร่งเบาฉลักลวดลายอ่อนหวานวิจิตร สดับเสียงสกุณวิหคและทอดทัศนารุกขชาตินานาพรรณ คล้ายดั่งบรรยากาศอันงามงดแห่งภาพเขียน
 

พิพิธภัณฑ์ภาพงานพระราชพิธี

ประติมากรรมหินอ่อน ตั้งอยู่ในห้องจัดแสดงของพระตำหนัก (คลิกดูภาพใหญ่)
      ปัจจุบันพระตำหนักสวนหงส์จัดแสดงภาพงานพระราชพิธีโบราณต่าง ๆ ซึ่งหาดูได้ยาก เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ พระราชพิธีเสด็จสถลมารคและชลมารค พระราชพิธีทรงผนวช พระราชพิธีตรียัมปวาย พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงการแต่งกายของทหารในการพระราชพิธีต่างๆ
 

อาคารรถม้าพระที่นั่ง

ประติมากรรมรูปหงส์ ซึ่งตั้งประดับอยู่บริเวณด้านหน้าพระตำหนัก (คลิกดูภาพใหญ่)
      เป็นอาคารโถงยาวตั้งอยู่ทางด้านขวาและด้านหลังของพระตำหนัก จัดแสดงบรรดารถม้าพระที่นั่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๓ องค์ ส่วนอาคารโถงยาวทางด้านซ้ายจัดแสดงเครื่องราชูปโภค 
      การนำรถม้าเข้ามาใช้ในเมืองไทยมีขึ้นครั้งแรกตอนปลายรัชกาลที่ ๔ ในเวลานั้นเมืองไทยมีรถลากหรือรถเจ๊กใช้กันอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อนำรถม้าเข้ามาจากประเทศยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะประเทศอังกฤษมากขึ้น รถเจ๊กจึงเสื่อมความนิยมลง 
      รถม้าพระที่นั่งที่ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบด้วย รถม้าพระที่นั่ง รถม้าพระที่นั่งรอง รถม้าพระประเทียบ (สำหรับฝ่ายใน) และรถม้าสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชโองการจัดตั้งกรมพระอัศวราชขึ้น ทำหน้าที่จัดหาม้าและรถม้าเพื่อใช้ในราชการ การใช้รถม้าพระที่นั่งได้ใช้สืบต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๘ ในคราวเสด็จนิวัติพระนครจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือว่าเป็นการเสด็จโดยขบวนรถม้าพระที่นั่งเป็นครั้งสุดท้ายของพระมหากษัตริย์ไทย เพราะหลังจากนั้นมาไม่มีพิธีนี้ให้พสกนิกรได้ชมอีกเลย
 

ข้อมูลเฉพาะ

การฉลุไม้ด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษาตามกรอบหน้าจั่ว (คลิกดูภาพใหญ่)       ที่ตั้ง ถ. ราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ โทร. ๐-๒๖๒๘-๖๓๐๐
      เวลาเปิด/ปิด ทุกวัน ๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ น.
      เฉพาะพระที่นั่งวิมานเมฆ เปิด ๐๙.๓๐-๑๕.๑๕ น. 
      ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก นิสิต นักศึกษา และพระสงฆ์ ๒๐ บาท
      การแสดงนาฏศิลป์ ศาลาท่าน้ำ พระที่นั่งวิมานเมฆ รอบ ๑๐.๓๐ น. และ ๑๔.๐๐ น.
      การเดินทาง พระราชวังดุสิตมีประตูเข้าสามทางคือ ด้าน ถ. ราชวิถี, ถ. ราชสีมา และ ถ. อู่ทองใน มีรถโดยสารผ่านทั้งสามเส้นทาง และภายในมีลานจอดรถขนาดใหญ่ที่ด้าน ถ. ราชวิถี
      รถประจำทาง ด้าน ถ. ราชวิถี สาย ๑๘, ๒๘, ๑๐๘, ปอ. ๕๑๐, ปอ. ๕๑๕ และ ปอ. พ. ๔ ถ. ราชสีมา สาย ๑๒, ๕๖ และ ถ. อู่ทองใน สาย ๗๐ 
      ข้อควรปฏิบัติ ควรแต่งกายสุภาพ 
      หมายเหตุ: ประตูเข้าสู่พระตำหนักสวงหงส์ที่ใกล้ที่สุดคือด้าน ถ. ราชวิถี
 
รถม้าแบบไม่มีประทุน สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ (คลิกดูภาพใหญ่) รถม้าพระที่นั่งแบบกึ่งเก๋ง สั่งต่อมาจากประเทศอังกฤษ (คลิกดูภาพใหญ่) ร.๕ ทรงสั่งให้ต่อรถม้าพระที่นั่งแบบเก๋งมาจากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย (คลิกดูภาพใหญ่)