สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕ " ๑๐ ตัวพิมพ์กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕  

จากบรรณาธิการ


 คลิกดูภาพใหญ่
ฉบับหน้า
การเดินทาง ของก้อนหิน

     ต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ผมกลับไปเยี่ยมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หลังจากห่างเหินไปหลายปี
     คนที่ไม่ได้ไปเขาใหญ่มานาน ขอแนะนำให้รีบไปโดยด่วน แล้วจะพบกับความตื่นตาตื่นใจ
     พอขับรถขึ้นเขาใหญ่ ตามเส้นทางถนนสายปากช่อง-ปราจีนบุรี ที่ผ่ากลางเขาใหญ่ความยาวประมาณ ๔๕ กิโลเมตร มีการปรับปรุงขยายพื้นผิวถนนให้กว้างขึ้น 
     พอถึงทางแยกขึ้นสู่ศาลเจ้าพ่อเขาเขียว ผมเลี้ยวรถเข้าไปบริเวณที่เรียกว่า 
     บ้านพักสำนักนายกรัฐมนตรี อันเป็นบ้านพักของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับหรู ที่สร้างไว้นานแล้ว ผมนึกว่าหลงเข้าไปในหมู่บ้านจัดสรรกลางป่า เพราะอาณาบริเวณได้รับการปรับปรุงใหม่อย่างทันสมัย มีการก่อสร้างบ้านพักเพิ่มเติมอีก ๔ หลัง และยังโค่นต้นไม้เปิดภูเขาทางด้านหลัง ให้ผู้มาพักอาศัยได้เห็นทิวทัศน์มากขึ้น
     พอมาถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยสำนักงานอุทยาน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และร้านสวัสดิการอาหารที่เราคุ้นเคยกันดี ปรากฏว่าอาคารเหล่านี้ถูกรื้อทิ้งไปหมด แทนที่ด้วยอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ทันสมัย ฝั่งตรงข้ามจัดสร้างร้านอาหารอย่างหรู ราคาแพง แถมยังมีบริการนวดตัวอีกต่างหาก
     บริเวณมอสิงโต ซึ่งเดิมมีหอส่องสัตว์มอสิงโตอยู่ ก็เปลี่ยนเป็นที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ถัดลงมาทางไปสนามกอล์ฟเก่า เคยป็นที่ตั้งของค่ายเยาวชน ก็ถูกรื้อถอนออก เปลี่ยนเป็นศูนย์ฝึกอบรม "สุรัสวดี" ประกอบด้วยอาคารฝึกอบรม ที่พัก ที่จอดรถ ระบบสาธารณูปโภคครบครัน สามารถรองรับผู้คนได้มากกว่า ๒๐๐ คน
     ส่วนบริเวณที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าดิบมากที่สุด คือเส้นทางไปผากล้วยไม้ มีการก่อสร้างและปรับพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อทำเป็นแคมป์ลำตะคอง ประกอบด้วยศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่ย่างบาบีคิว ลานจอดรถ ลานกางเต็นท์ปูด้วยหญ้าญี่ปุ่นอย่างดี 
       ล่าสุด กรมป่าไม้มีโครงการจะให้เอกชน เข้าร่วมบริหารบ้านพักบนเขาใหญ่
     อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยุคคิดใหม่ ทำใหม่ มีสภาพไม่ต่างจากรีสอร์ตขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันด้วยศัพท์ทันสมัยว่า "คอมเพล็กซ์ธรรมชาติ" คือมีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับบริการการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร
     หลายปีที่ผ่านมา เขาใหญ่ไม่เคยว่างเว้นจากการพัฒนา เพื่อรองรับการท่องเที่ยว มีการก่อสร้างเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ขณะที่งานป้องกันรักษาป่า งานวิชาการ กลับไม่ได้รับการเหลียวแล
     อุทยานเขาใหญ่ถือเป็นแม่แบบของอุทยานแห่งชาติทั้งหลาย ที่มีประมาณ ๑๐๐ กว่าแห่ง และนโยบายของกรมป่าไม้ในเวลานี้ คือทุ่มเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท เพื่อพัฒนาอุทยาน รวมไปถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อหาเงินให้ได้มากที่สุด โดยไม่มีใครรู้ว่าใครได้ประโยชน์สูงสุด จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ระหว่างรัฐ ประชาชนทั่วไป เอกชนที่ได้รับสัมปทาน หรือนักการเมือง ข้าราชการที่ได้รับประโยชน์จากการก่อสร้าง
     การพัฒนาในที่นี้เน้นการก่อสร้างเป็นหลัก ภายใต้คำพูดที่สวยหรูว่า เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
     แต่ขยะยังเกลื่อนเขาใหญ่ บ้านพักทุกแห่งต่อท่อระบายน้ำ ตรงสู่ลำธารที่นักท่องเที่ยวแห่กันมาเล่นน้ำ จนทำให้รถติดบนเขาใหญ่ในวันหยุด
     ในสหรัฐอเมริกา แม่แบบของการจัดการอุทยานแห่งชาติ คือการถอนสิ่งก่อสร้าง บ้านพักในอุทยานให้ออกมาอยู่บริเวณนอกพื้นที่อุทยาน จำกัดนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่บางแห่ง เพื่อไม่ให้ธรรมชาติถูกรบกวนมากไปกว่านี้
     ใครอยากพักค้างแรมอย่างสบาย ก็ออกมาพักข้างนอก ไม่ใช่อยู่ในอุทยานแล้วยังนอนให้ห้องติดแอร์ ทุกวันนี้การหารายได้เข้าประเทศ จากการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ แต่การรักษาธรรมชาติไว้ให้ลูกหลาน น่าจะสำคัญกว่าไม่ใช่หรือ
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com