สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๕ "หมาสมัยใหม่, ความรัก, และผลประโยชน์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๕  

หมาสมัยใหม่, ความรัก, และผลประโยชน์

นิรมล มูนจินดา : เรื่อง
ฝ่ายภาพ สารคดี : ภาพ

(คลิกดูภาพใหญ่)

       หมาและวัตถุสิ่งของอันเกี่ยวแก่มันมีให้เห็นอยู่ทั่วทุกแห่ง
       จะเลี้ยงหรือไม่เลี้ยง เสียงเห่าของพวกมันก็ลอยแหวกอากาศมาให้ได้ยิน
       กลิ่นตัว กลิ่นฉี่ กลิ่นอึของมัน อวลให้ประสาทในจมูกรู้
       สิ่งแวดล้อมอันเกิดจากหมาและผลิตภัณฑ์ของมัน มีให้เราพบเห็น โดยไม่ต้องสังเกตมากมาย

       กวาดตาไปยังหมู่หมาที่เห็นกันทุกวันทั้งในบ้านและนอกบ้าน
       เคยเดาเล่น ๆ ไหมว่า พวกมันมีอยู่มากหรือน้อยกว่าจำนวนทีวีในเมืองไทย เคยมองไหมว่า แต่ละตัวมีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณ ผิดแผกหลากหลายกันอย่างไร หรือมันก็ดูเป็นหมาเหมือนกันหมด
       ถ้าหมาเป็นเอเลียนบุกโลก โลกก็คงถูกมันครองไปเรียบร้อยแล้ว เพราะคนเรามัวแต่ระแวงแมลง แมง สัตว์เลื้อยคลาน และเชื้อโรคกันอยู่
       นอกจากนั้น เรายังพูดถึงและได้ยินเพื่อนพูดถึงหมาในวงข้าวมื้อต่าง ๆ ทั้งในวันทำงานและวันหยุด
       ถ้าหมาเป็นเจ้าลัทธิ มันคงมีสาวกไปทั่วโลก ถ้าหมาเป็นเจ้าของสินค้า มันคงประสบความสำเร็จในการครองตลาดอย่างยิ่ง

       พ.ศ. ๒๕๔๕ เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครห้ามไม่ให้หมาเข้าสวนสาธารณะ ห้ามหมาขึ้นรถเมล์ ห้ามหมาเข้าห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต ห้ามหมาเข้าร้านอาหารและภัตตาคาร แต่กิจกรรมและกิจการค้าใดที่มีหมาเกี่ยวข้องนั้น กลับรุ่งเรืองเฟื่องฟูมากกว่าทุกยุคสมัย สินค้าและบริการสำหรับสุนัข ถ้าไม่เรียกว่าเคียงคู่แล้ว ก็ต้องบอกว่าตามของคนมาติด ๆ
       เป็นเพราะอะไรกัน


 

"ด็อกเลิฟเวอร์" ยอมจ่ายเดือนละครึ่งหมื่น
เลี้ยง "สุนัขแบบไฮโซ" เจาะคนรุ่นใหม่

กรุงเทพธุรกิจ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕

(คลิกดูภาพใหญ่)        คำว่า "ด็อกเลิฟเวอร์" ของ กรุงเทพธุรกิจ คงจะแปลว่า คนรักหมาที่มีเงินสักหน่อย
       เนื้อความในข่าวนั้น กล่าวถึง ด็อกเลิฟเวอร์ (Dog Lover) หรือคนที่เลี้ยงหมาแบบ "รักเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว" ซึ่งมีอยู่ร้อยละ ๕ หรือราว ๕ หมื่นคน จากบรรดาผู้เลี้ยงสุนัขทั้งหมดมากกว่า ๑ ล้านคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นตัวเลขของผู้เลี้ยงสุนัขในกรุงเทพฯ หรือทั้งประเทศ และไม่ได้บอกว่า ใน ๑ ล้านคนนี้ เป็นเจ้าอาวาสวัดกี่รูป) ด็อกเลิฟเวอร์เป็นผู้มีพฤติกรรมการเลี้ยงหมาที่ค่อนข้างพิเศษ คือยอมเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลสุนัขสูงถึง ๕,๐๐๐-๙,๐๐๐ บาทต่อเดือน ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ดี มีการศึกษาสูง และมีความรู้ในการเลี้ยงสุนัขเป็นอย่างดี
       นั่นหมายความว่า คนเลี้ยงหมาที่ไม่มีเงินมาก อย่างแม่ค้าวัยกลางคนหน้าปากซอยวัดดุสิดาราม ที่ยืนอารมณ์ดีจับเห็บให้หมาพันทางแถวนั้น หลังเสร็จงานประจำวันและเก็บกวาดแผงขายของเสร็จในตอนเย็น อย่างพ่อค้าปากคลองตลาดที่พาพูเดิลและมิเนียเจอร์พินเชอร์เห่าเก่งมายืนเฝ้าเข่งผักในตอนดึก อย่างคนเก็บของเก่าถีบซาเล้งที่มีหมานั่งอยู่หลายตัว อย่างชายสติฟั่นเฟือนนอนประจำป้ายเมล์ผู้ไม่เคยแสดงความรักกับใครเว้นแต่หมาขี้เรื้อนประจำตัว อย่างป้าแก่วัยเกษียณที่มีชิวาวานอนเป็นเพื่อนข้างหมอนหนุนนั้น หรืออย่างเด็กเร่ร่อนกับหมาใต้สะพาน เขาจะไม่รักหมา "เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว" หรอกหรือ
       บางที การรักหมาชนิดรักเป็นลูกอาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปหมด จะเลี้ยงสุนัขแบบไฮโซ หรือเลี้ยงหมาแบบโลโซ ล้วนแต่ทำให้เกิดรายจ่ายผ่องถ่ายให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหมาด้วยกันทั้งนั้น
       ศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกให้เรารู้ว่าไม่ควรมองข้ามธุรกิจที่ว่าด้วยสุนัข เพราะตลาดสินค้าและบริการประเภทนี้เติบโตฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจมาอย่างองอาจ จากที่เคยมีมูลค่า ๔๕๐ ล้านบาท ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ พุ่งทะยานเป็น ๒,๕๐๐ ล้านบาท ใน พ.ศ. ๒๕๔๔ 
       ในขณะที่ธุรกิจการค้าอย่างอื่นล้มกันระเนระนาด ธุรกิจอาหารสุนัขขยายตัวร้อยละ ๑๐-๑๕ มีมูลค่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท คิดเป็น ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับหมา (คาดว่าเงิน ๒,๐๐๐ ล้านบาทมาจากผู้ซื้อร้อยละ ๕ จากจำนวนผู้เลี้ยงสุนัขทั้งหมด) ฟาร์มสุนัขเปิดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๐ ในรอบ ๕ ปี ภายใน ๗ เดือนแรกของปีที่แล้ว คนไทยจ่ายเงิน ๑.๔๓ ล้านบาท เพื่อนำเข้าสุนัขจำนวน ๘๒ ตัวจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และเนเธอร์แลนด์ ส่วนธุรกิจเวชภัณฑ์และธุรกิจดูแลสุขภาพและอุปกรณ์อื่น ๆ มีมูลค่า ๒๕๐ ล้านบาทเท่ากัน อย่างแรกขยายตัวร้อยละ ๔๐ อย่างหลังขยายตัวร้อยละ ๒๐ 
       นักวิจัยด้านการตลาดยังบอกอีกว่า ตลาดเฉพาะ (niche market) อย่างธุรกิจที่ครอบคลุมทุกอย่างเกี่ยวกับหมานี้ จะเติบโตต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ เพราะยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากมายที่รอให้ใครต่อใครเข้ามาลงทุนได้อีก และที่ยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากมายนั้น ก็เพราะคนไทยจะเลี้ยงหมาเพิ่มขึ้น และจะเลี้ยงหมาเหล่านั้นเป็นเพื่อน หรือเป็นลูกมากขึ้น
       ตลาดอันเกี่ยวกับสุนัขในเมืองไทยยังถูกเรียกว่า "เวอร์จิน" นัก เมื่อเทียบกับนิวยอร์กหรือญี่ปุ่น
 

ตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุนัข จึงยังคงมีแนวโน้มแจ่มใส

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

(คลิกดูภาพใหญ่)        สำหรับสื่อมวลชน หมาเป็นของหอมหวนอีกอย่างหนึ่งซึ่งการันตียอดขายและเรตติง รายการเกร็ดข่าวที่เรียกความสนใจของผู้ชมอย่าง "สะเก็ดข่าว" และ "เก็บตก" มักไม่เคยพลาดข่าวเกี่ยวกับหมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นบ้านอย่างหมาท่อ (หมาที่ใช้ชีวิตอยู่ในท่อตั้งแต่เด็กจนโต) หมาเป็นเพื่อนกับหนูและแมว หมาเป็นเพื่อนกับไก่ หมาแสนรู้ที่เจ้าของสั่งให้ไปซื้อของได้ เมรุเผาหมา ไปจนถึงระดับสปาหมา นิตยสารผู้หญิงหลายเล่มออกวาระหมา โดยมีนายแบบอวดกล้ามหรือนางแบบบอบบาง -ถ้าไม่อุ้ม ก็ต้องกอดหมา- ขึ้นปก ในเล่มมีสัมภาษณ์ดารา นักร้อง และคนดังที่เลี้ยงหมา ว่าด้วยนิสัยใจคอ เหตุที่ได้มาอยู่ด้วยกัน พฤติกรรม วีรกรรม และความคิดเห็นเอ็นดูต่อหมาตัวนั้น พร้อมคัดสรรสินค้าแปลก ๆ คอลัมน์ราศีบอกนิสัยหมา และแบบสอบถามเกี่ยวกับนิสัยหมาเพื่อประเมินความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนนิตยสารรายสัปดาห์ก็เปิดคอลัมน์ประจำที่เขียนถึงหมา
       ธเนศ กิตติกนกกุล ไม่ได้เป็นนายแบบ ดารา หรือนักร้อง แต่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมาแล้วหลายหน ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนร้าน Doggie Bag หัวมุมซอยทองหล่อ ๑๕ นามบัตรของเขาระบุตำแหน่งเป็น "dog lover"
       รอยเตอร์ บีบีซี ซีเอ็นเอ็น มารีแคลร์ฉบับภาษาญี่ปุ่น นิตยสารฮ่องกง ๓ ฉบับ รายการวิทยุจากออสเตรเลีย ไทยแลนด์แทตเลอร์ และ กรุงเทพธุรกิจ ต่างให้ความสนใจร้านของเขา
       ค่าที่ร้านของธเนศไม่ได้ขายสินค้าสำหรับผู้รักสุนัขอย่างเดียว แต่ยังมีสตูดิโอสำหรับถ่ายภาพพอร์เทรต มี "ซาลอนแอนด์สปา" สำหรับอาบน้ำและเสริมสวยพร้อมบริการกลิ่นบำบัด (aromatherapy) และนวดตัวสุนัขด้วยน้ำมันสมุนไพร และมีร้านอาหารอิตาเลียนที่ประกาศตัวว่าต้อนรับสุนัขด้วย
       ธเนศลงทุนครั้งแรกไป ๑๐ ล้านบาทกับร้านที่ตกแต่งเป็นกระท่อมไม้หลังเล็กสามหลัง และมีลานกว้างอเนกประสงค์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งในพื้นที่ ๑ ไร่ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยตึก เขายอมรับว่า "เป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้ความกล้าบวกความบ้าเล็กน้อย" เขาไม่กล้าคาดหวังมาก "แต่ปรากฏว่าผลตอบกลับมาเป็นที่น่าพอใจ"
       ร้านของธเนศจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับสุนัข แต่ก็มีคอลเล็กชันถ้วยชามกระเบื้องที่ประดับด้วยลายลูกสุนัขบางแก้วอันเป็นโลโกของร้านขายสำหรับคนด้วย เขาขายโฮมเมดคุกกี้ปลอดน้ำตาล เกลือ และสารกันบูดสำหรับสุนัขราคาขีดละ ๑๐๐ บาท รสตับผสมเบคอนขายดีกว่าทูนาและไก่ ส่วน "ของกินเล่น" อย่างอื่นที่ขายดีคือ "หูแผ่น" (หูหมูและหูวัวทำเป็นแผ่น) ที่พะยี่ห้อว่า "ลิ้มกิมเอ็ง" นั้นขายดี มีลูกค้าจากฮ่องกงและสิงคโปร์มาซื้อเสมอ นอกเหนือจากปลาเส้นไขมันต่ำรสผักและทูนา
(คลิกดูภาพใหญ่)        ธเนศแบ่งของอุปโภคสำหรับสุนัขในร้านเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือกลุ่มของใช้จำเป็นอันได้แก่ ปลอกคอ สายจูง โซ่ล่าม ชามข้าว ชามน้ำ แปรงขน (สำหรับสุนัขขนยาว) และเสื้อผ้า (หมาบางชนิดจำเป็นต้องใส่ เนื่องจากมันหนาวจนตัวสั่นเมื่ออยู่ในห้องปรับอากาศ) ส่วนกลุ่มของใช้ไม่จำเป็น ได้แก่ เป้ ของเล่น หมวก ผ้าพันคอ ผ้าอนามัยและกางเกงใน (อาจจำเป็นในเมื่อสุนัขตัวเมียที่เป็นสัดและต้องออกนอกบ้าน) ผ้าอ้อม รองเท้า ถุงเท้า โซฟาขนาดย่อม และของกัดเล่นรูปรองเท้ายี่ห้อ "Emelda's Choices" 
       "ด็อกเลิฟเวอร์" ที่เข้ามาในร้าน อาจจ่ายสตางค์ตั้งแต่ ๑๐๐ บาทเพื่อซื้อคุกกี้สักขีดหนึ่ง หรือ ๑๕,๐๐๐ บาทสำหรับปลอกคอหนังประดับอัญมณีแท้ หรือจ่ายถึง ๔-๕ หมื่นบาทสำหรับของหลายรายการต่อการซื้อหนึ่งครั้ง
       ระหว่างเลือกซื้อสินค้าในร้าน ลูกค้าคนใดที่ประสงค์จะใช้บริการ "ซาลอนแอนด์สปา" และได้โทรศัพท์นัดหมายไว้แล้ว ก็สามารถฝากสัตว์เลี้ยงของตนไว้เพื่อให้ช่างอาบน้ำ ทำความสะอาด ตัดแต่งขน ตัดเล็บ และเสริมสวย แล้วอาจให้ธเนศช่วยนวดน้ำมันสมุนไพรเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยก็ได้ พูเดิลสักตัวหนึ่งอาบน้ำตัดขนครั้งละ ๘๐๐ บาท หากต้องการนวดอีก ๔๕ นาที ก็เพิ่มอีก ๓๕๐ บาท และถ้าหิว ลูกค้าก็สามารถสั่งอาหารจากร้านให้สุนัขของตนได้ด้วย
       ธเนศบอกว่า วันเสาร์อาทิตย์ที่อากาศดี ๆ ลานหน้าร้านของเขาจะคึกคักด้วยเจ้าของที่มาสังสรรค์ นั่งรับประทานอาหาร หรืออ่านหนังสือ โดยมีสุนัขนั่งหรือนอนหมอบอยู่ข้าง ๆ เขามีแผนจะเปิดโรงแรมสุนัขที่จะติดกล้องวงจรปิดเพื่อให้เจ้าของที่ฝากสุนัขเอาไว้ได้เห็นภาพสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะอยู่ไกลกันขนาดไหนก็ตามสามารถชมภาพความเป็นอยู่ของสุนัขผ่านทางอินเทอร์เน็ต
       www.wrat.com/animalstory.asp ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่สรุปข่าวสั้นเฉพาะเรื่องสัตว์และสัตว์เลี้ยงทั่วโลก เรียกที่นี่ว่าเป็น "สวรรค์ของคุณหมา" ได้เขียนแนะนำว่า "ถ้าเจ้าหมาของคุณเหน็ดเหนื่อยกับวันอันยาวนานที่หมดไปกับการนอน การกิน และการแอบเข้าไปกินน้ำในห้องน้ำ คุณควรพิจารณาพาเพื่อนตัวนี้ไปพักผ่อนที่แบ็งค็อก ไทยแลนด์ ได้แล้ว"
 

ประเด็นนี้ อธิบายให้คนที่ไม่เลี้ยงสุนัข 
จะไม่เข้าใจว่า อะไรจะเว่อร์ขนาดนั้น

ธเนศ กิตติกนกกุล

(คลิกดูภาพใหญ่)        ก่อนเปิดร้าน ธเนศเดินทางเก็บข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจด้านนี้มาแล้วหลายแห่งหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ซานดิเอโกและฮอลลีวูด หรือที่ปารีสและโตเกียว "อเมริกาแถบตะวันตกด้านซานดิเอโก มีคนเลี้ยงสุนัขเยอะมาก ได้ไอเดียมาแต่ยังปรับใช้กับเมืองไทยไม่ได้ในทันที เพราะเขารุดหน้ากว่าเรา ๔๐-๕๐ ปี"
       แต่ที่ได้มาวางในร้าน คือสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของสินค้าทั้งหมด จึงมีลูกค้าหลายคนที่ติว่า "ของคุณแพง แพง แพง"
       ธเนศตอบว่า "ถ้าบอกว่าของในร้านเราราคาสูง เราไม่ว่า แต่ถ้าบอกว่าแพง แสดงว่าคุณไปเห็นของชิ้นนี้ราคาถูกวางขายที่ร้านอื่น เราราคาสูง ผมอธิบายได้ว่าสูงเพราะมาจากที่ไหน ถ้ามาจากอเมริกา ค่าเงินผิดไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ จากแต่เดิม ๒๐ บาท เป็น ๕๐ บาท มันต้องขึ้นตามอยู่แล้ว แต่ถ้าคิดตามราคาขายปลีกของที่อเมริกา ที่ร้านเราต่างจากเขานิดเดียว ของญี่ปุ่นนั้นแพงอยู่แล้ว มีคนบอกว่า ตุ๊กตาตัวนี้แพงจังเลย มีของที่ถูกกว่านี้ไหม เรามี แต่มาจากประเทศอื่น แต่คุณเทียบดูสิว่า คุณภาพแตกต่างกัน คุณก็ไม่ชอบอีก คุณก็บอกว่า ต้องการของราคานี้-คุณภาพนี้ ซึ่งมันไม่เป็นเหตุผล"
       ความเป็นเหตุผลในเรื่องนี้ น่าจะคือคำว่า "กว่า"
       "ลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ระดับหนึ่งยินดีจ่ายเงินซื้อสินค้าในร้าน เพราะของที่ซื้อไปทนทาน...บางทีถ้าดีไซน์ดีกว่า ทนทานกว่า แต่แพงกว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ก็จะเลือกซื้ออย่างนั้น
       "กลุ่มที่ ๒ เห็นว่าดีไซน์มันแปลก ถ้าเขาได้ใช้แล้วก็เหมือนมีสถานภาพที่ดีขึ้น แตกต่างกว่า เก๋กว่า เท่กว่า ของบางอย่างทั้งของสุนัขและของเจ้าของก็มี เช่นกระเป๋าใส่ของกินเล่นสำหรับเหน็บเข็มขัดเจ้าของที่กำลังฝึกสุนัขอยู่ แต่ในบ้านเราไม่มี เขาซื้อไปเขาก็ได้ประโยชน์ใช้สอยและเป็นเรื่องของอิมเมจ ของบางอย่างถ้าเป็นเพียงแต่ภาพลักษณ์ก็ไม่น่าส่งเสริม แต่ถ้ามันมีประโยชน์ใช้สอยมาก่อนดีไซน์ก่อนภาพลักษณ์ ผมว่าก็ไม่เสียหาย ของเล่นราคาเกือบพันบาท ถ้าเจ้าของชอบด้วย ได้เล่นด้วย ถ้าซื้อหนึ่งชิ้นก็ได้เล่นสองคน ในร้านมีเชือกที่ใช้เล่นชักเย่อกับสุนัข ถ้าเราใช้เชือกฟาง เชือกกล้วยที่บ้านได้ไหม ก็ได้มั้ง แต่ที่เขาดีไซน์มาทำด้วยเชือกมนิลาอย่างดี และมีของเล่นทำเป็นรูปขาไก่ รูปไส้กรอกให้สุนัขงับได้ผูกติดอยู่ มันก็ดูตลกขึ้น"
       เว่อร์ไปนี้ดไหมนะ
(คลิกดูภาพใหญ่)        "มีนักข่าวบีบีซีถามตรง ๆ ว่า เราทำงานนี้ ไม่เหมือนกับว่าสังคมมันเละเทะไปหน่อยไหม เพราะอย่างอื่นที่จำเป็นมีอยู่เยอะมากและเศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี นี่เป็นความฟุ้งเฟ้อหรือเปล่า
       "สำหรับคนที่ไม่เคยเลี้ยงสุนัขอาจจะไม่เข้าใจ ถ้าเทียบกับเด็ก คนที่ไม่เคยมีลูกจะไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องขนาดนั้น หลายครั้งที่การซื้อของให้ลูก หรือทำอะไรให้สุนัขของเรา สิ่งที่ตอบกลับคืนมาอยู่ที่ตัวเราเอง เรามีความสุขไปด้วย การที่เราซื้อขนมนอกจากอาหารพื้นฐานของเขานั้น ทำให้เรามีโอกาสอยู่กับเขา ทำให้เขาสนิทกับเรามากขึ้น จริง ๆ ขนมชิ้นนั้นเราซื้อเพื่อตัวเราเองมากกว่าที่จะซื้อให้สุนัข
       "เพื่อนบ้านชาวต่างชาติคนหนึ่งมาต่อว่าผม บอกว่าสุนัขของผมรบกวนเขา เห่าบ่อยมาก ผมขอเขานิดหนึ่งว่า ถ้าเขาเลิกใช้คำว่าสุนัข และคิดว่าเขาเหมือนลูกผม เหมือนที่เขามีลูก เวลาลูกเขาร้องไห้ เสียงดังมาก ผมไม่เคยต่อว่าว่าลูกคุณร้องไห้ แต่คุณกำลังแบ่งสถานภาพว่า อันนี้เป็นหมาหนึ่งตัว อันนี้เป็นคน คนมีสิทธิ์ร้องไห้ หมาไม่มีสิทธิ์เห่า แล้วจะมีปัญหา ผมไม่มีครอบครัว สุนัขเป็นลูกผม และผมมั่นใจว่า เขาถูกฝึกมาไม่ให้เห่าพร่ำเพรื่อ เหมือนลูกคุณที่ร้องไห้ เขาไม่ได้ร้องประจำ ถ้าคิดแบบนี้เราอยู่ด้วยกันได้
       "ไม่ใช่เรื่องจำเป็นน่ะเห็นด้วย แต่ความจำเป็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าคนหนึ่งคนตัดสินใจจะทำอะไรไปแล้ว และสิ่งที่เขาทำ ไม่ได้เป็นภาระกับคนอื่น ผมว่าเราก็น่าจะเคารพเขาเหมือนกัน แต่คนจะบอกว่า ถ้าเราเอาเงินก้อนนี้ไปให้เด็กกำพร้าไม่ดีกว่าจะเอาให้หมาตัวเองหรือ ผมก็ว่าไม่ค่อยจะถูกต้องที่จะเอาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้โยงไปโยงมา เหมือนกับคนติงว่า ทำไมอเมริกาต้องเอาเงินให้นาซาบินขึ้นดวงจันทร์ เอาเงินมาให้คนไม่มีงานทำไม่ดีกว่าหรือ
       "มันคงต้องทำอะไรไปด้วยกันหลาย ๆ อย่าง ถ้าคนคนนั้นไม่ได้เลี้ยงสุนัข เขาอาจจะฟุ้งซ่าน ทำงานไม่ได้ ไม่มีความสุข เขาอาจจะเป็นปัญหาสังคมก็ได้ เราไม่ทราบ ผมมองว่าถ้าเขาเลี้ยงสุนัข โดยที่เขามีการงานทำ มีเงินของตัวเองซื้อของให้สุนัข ดูแลเขาโดยไม่ได้เดือดร้อนชาวบ้าน เราก็ไม่น่าจะไปยุ่งกับเขา
       "ผมพยายามบอกกับคนถามคำถามนี้ว่า ถ้าลองเลิกนึกว่าเป็นหมาเป็นแมว แต่ลองนึกว่าเป็นหนึ่งชีวิตที่อยู่กับเรา คงจะไม่มีคำถามนี้
       "ชีวิตหนึ่งที่อยู่กับเรา ทำให้เรามีความสุข ซื้อขนมให้ ๑๐๐ บาท มันไม่มากเลย เพราะสิ่งที่เขาให้เรากลับคืนมาตีค่าเป็นเงินไม่ได้ ทำงานเหนื่อยมากลับบ้านตีสอง ยังไม่กินข้าว คอยเราอยู่หน้าบ้านขนาดนี้ บางทีสามีภรรยาไม่ทำขนาดนั้นด้วยซ้ำไป"
 

เกิน ๑ ใน ๓ ของเจ้าของหมาจัดอันดับความสนิทกับหมา
มากกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้าน

Barker & Barker

(คลิกดูภาพใหญ่)        ประโยคที่ว่า "เขาเหมือนลูกผม" และ "ชีวิตหนึ่งที่อยู่กับเรา ทำให้เรามีความสุข" ของธเนศนั้นมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่หมาเปลี่ยนบทบาทจากที่เคยเป็นสัตว์ใช้แรงงาน (อ่านล้อมกรอบ) มาเป็นเพื่อน หรือลูก
       อัญชลี จงคดีกิจ ให้สัมภาษณ์นิตยสาร พลอยแกมเพชร ฉบับวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ว่า "หมานี่มันให้ความสุขกับคนเรามากนะ เป็นธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างจริง ๆ คือเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับมนุษย์ที่สุด มีนิสัยที่เป็นเพื่อนได้ดี...มีความเชื่อง ความอ้อน ความน่าสงสาร ความน่าเอ็นดู ความกตัญญู ความจงรักภักดี"
       แม้โดยทั่วไป ความคิดเห็นของดารา นักร้อง คนดัง และไฮโซ จะไม่ใช่ตัวแทนความคิดของคนทุกคน แต่สำหรับความเห็นเกี่ยวกับคุณค่าของหมา (หรือคุณค่าของการมีหมาเป็นเพื่อน) อาจเป็นนับข้อยกเว้นที่แทนใจคนเลี้ยงหมาจำนวนไม่น้อย
       ร้อยปีก่อน ดับเบิลยู เอฟ บั๊ก เคยเขียนบทความชื่อ "ความคิดของเด็ก ปฏิกิริยา และความรู้สึกต่อหมาที่เลี้ยง" เขาเก็บข้อมูลโดยการอ่านเรียงความที่เด็กนักเรียนเขียนถึงสัตว์เลี้ยง ซึ่งพบว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่เด็กเขียนถึงมากที่สุด และเขียนถึงหมาในแง่ความใส่ใจที่หมามีให้พวกเขาอย่างมากด้วยประโยคเช่นว่า he likes me, guards me, follows me, protects me, barks when I come home from school และ is good to me เป็นต้น เด็ก ๆ ยังเปิดเผยถึงความซาบซึ้งเมื่อหมาแสดงความรักใคร่เขาด้วยการกระโจนใส่ การวิ่งไปรอบ ๆ การกระดิกหาง และทำท่าชวนเล่น และยังมีเด็กหลายคนที่เล่าด้วยว่า ในเวลาที่เขาเหงาหรือเศร้า หมาเป็นเพื่อนกับเขาอย่างไรและเล่นกับเขาอย่างไรบ้าง
       ในโลกตะวันตกนั้น หมาเป็นที่รัก และเป็นผู้มีส่วนทำให้คนมีสุขภาพกายและจิตที่ดี การวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างหมากับคนนั้นมีอยู่มากมาย ผลการวิจัยต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่แสดงถึงคุณค่าของความสัมพันธ์นั้น
(คลิกดูภาพใหญ่)        ๑. เจ้าของหมาในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย รู้สึกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากหมาคือ ความเป็นเพื่อน การปกป้อง และความสุข ความพอใจ (Salmon & Salmon, 1983)
       ๒. เกิน ๑ ใน ๓ ของเจ้าของจัดอันดับความสนิทกับหมามากกว่าสมาชิกคนอื่นในบ้าน (Barker & Barker, 1988)
       ๓. ร้อยละ ๙๕ ของเจ้าของหมาถือว่าหมาเป็น "เพื่อน" (Stallones et al., 1988)
       ๔. ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายของหมาและแมวในครอบครัวจำนวน ๑,๑๐๕ ภาพ ที่ส่งเข้าประกวดภาพถ่ายระดับชาติ พบว่า ร้อยละ ๙๗ ของภาพทั้งหมดแสดงการสัมผัสกันระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะส่วนหัวคนและสัตว์เลี้ยงอยู่ใกล้กันเป็นพิเศษ (Katcher & Beck, 1985)
       ๕. หมาใส่ใจคอยเฝ้ามองเจ้าของมากกว่าที่เจ้าของใส่ใจมัน (Serpell, 1986)
       ๖. ร้อยละ ๘๓ ของชาวสวีดิชจำนวน ๒๕๙ คน เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า "หมาให้โอกาสฉันได้พูดคุยกับคนอื่น" ร้อยละ ๗๙ เห็นด้วยว่า "หมาช่วยผูกมิตรให้ฉัน" (Adell & Bath et. al., 1979)
       ๗. คนพิการที่มีหมาไปซื้อของด้วย จะมีคนเดินเข้ามาพูดคุยด้วย ๘ คน ในการออกไปซื้อของแต่ละครั้ง แต่คนพิการที่ไม่มีหมากลับมีคนเข้ามาคุยด้วยเพียงคนเดียว (Hart, Hart & Bergin, 1987)
       ๘. เด็กพิการใช้รถเข็นและมีหมาไปเรียนด้วย ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ ในโรงเรียนมากขึ้น (Mader et. al., 1989)
       ๙. เมื่อคนเดินกับหมา คนทั่วไปจะเกิดความรู้สึกว่า "เป็นทีม" มากกว่าคู่แม่กับลูก คู่สามีภรรยา หรือคู่พี่น้อง (Goffman, 1971)
       ๑๐. ร้อยละ ๖๕ ของเด็กอายุ ๑๐-๑๒ ปี เชื่อว่า หมาคิดว่าตัวเองเป็นเด็กที่แสนดี (David, 1987)
       ๑๑. เพียงหมาปรากฏตัวอยู่ใกล้ ๆ ก็เพียงพอให้เด็กที่เคยถูกทารุณกรรมหัวเราะออกมา ได้คุยอย่างมีชีวิตชีวา และรู้สึกตื่นเต้นได้ (Gonski, 1985)
       ๑๒. เมื่อหมาเดินเข้ามาในห้อง ความดันเลือดในเด็กจะลดลง (Friedmann et. al., 1983)
       ๑๓. คนรู้สึกสงบเมื่ออยู่ใกล้หมา ในขณะเดียวกันหมาก็เกิดความรู้สึกเช่นเดียวกัน อัตราการเต้นของหัวใจหมาลดลงเมื่อมันได้รับการแสดงความรักจากมนุษย์ (Lynch & McCarthy, 1969)
       ๑๔. หญิงม่ายที่ไม่ได้เลี้ยงหมามีสุขภาพเสื่อมโทรมลงหลังจากคู่สมรสเสียชีวิตลง เมื่อเทียบกับหญิงม่ายที่เลี้ยงหมา หญิงม่ายเหล่านั้นบอกด้วยว่ารู้สึกสิ้นหวัง ตัดขาดจากสังคม และกังวลเกี่ยวกับความตาย หญิงม่ายที่เลี้ยงหมา ๕ ใน ๓๔ คน บอกว่า หมาปลอบใจได้ดีกว่าญาติและเพื่อน (Bolin, 1987)
(คลิกดูภาพใหญ่)        คุณความดีใดของหมาที่ทำให้คนเรารักมันมากอย่างนั้นหรือ มีคนคิดหาคำตอบกันไว้มากมาย (นอกจากเรื่องความซื่อสัตย์จงรักภักดี)
       บางคนบอกว่าเป็นเพราะหมาแสดงความรักและต้องการความรักจากเจ้าของโดยไม่สนใจว่า เขาจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือไม่ มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร มันจึงทำให้เจ้าของรู้สึกว่าตนเองถูกยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข
       บางคนบอกว่าหมาพูดไม่ได้ จึงไม่สามารถให้คำปรึกษา ตัดสิน หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นที่รักและน่าสงสาร มิตรภาพของหมาจริงใจ เชื่อถือได้ น่าไว้ใจ และไม่เปราะบางซับซ้อนเหมือนมิตรภาพระหว่างคนด้วยกัน
       บ้างว่าหมาทำให้คนรู้สึกรัก รู้สึกปลอดภัย รู้สึกสำคัญ ทำให้เราหัวเราะได้ 
       แต่ก็มีคนแย้งว่า ที่เราลูบหัวลูบตัวหมานั้น ก็เพราะการสัมผัสหมาทำให้เราเองก็รู้สึกพึงพอใจ ที่เราชอบพูดกับมัน ถึงจะรู้อยู่ว่า มันฟังไม่เข้าใจทั้งหมดนั้น ก็ทำให้เราสบายใจ และที่เลี้ยงมัน ดูแลมัน เสริมสวยให้มัน วิ่งเล่นกับมัน และใส่ใจมันนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความสุข
       ใครบางคนให้เหตุผลไว้อย่างน่าฟังว่า เป็นเพราะ "ความน่ารักเหมือนเป็นเด็ก" อันเป็นลักษณะสากลของหมานั้น ทำให้เจ้าของรักมัน 
       เมื่อเราเลี้ยงหมาสักตัวหนึ่ง หมาตัวนั้นจะ "เป็นเด็ก" ไปตลอดอายุขัย เหมือนกับว่ามันไม่เคยโตขึ้น ไม่มีเจ้าของหมาคนไหนที่คิดว่า เมื่อหมาโตเป็นผู้ใหญ่ มันจะแยกบ้านไปอยู่เอง หรือออกไปใช้ชีวิตอิสระ นอกจากนั้น ความเป็นเด็กที่ว่านี้ยังกระตุ้น "ความเป็นพ่อแม่" ที่อยากเลี้ยงดู อุ้ม ทำให้อบอุ่น และปกป้องลูกจากอันตราย ในทางกลับกันคนเราจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ถ้ามีใครให้ดูแล ให้เล่นด้วย การลูบตัวหมาทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และความวิตกกังวลของคนเราลดลง เรื่องนี้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์กันมามากแล้ว 
(คลิกดูภาพใหญ่)        แต่เท่าที่พูดมาทั้งหมดนั้น ยังอาจสู้ความดีข้อที่ว่า ไม่ว่าจะอย่างไร มันก็รักเราอยู่เสมอ อภัยเราอยู่เสมอ และให้โอกาสเราอยู่เสมอไม่ได้ ไม่ว่าเราจะละเลยมันขนาดไหน หนีมันไปเที่ยวไกล ๆ หลายวันอย่างไร มันก็ไม่เคยโกรธ ไม่เคยคิดตัดความสัมพันธ์กับเรา เมื่อเรากลับมา มันรีบเผ่นโผนโจนทะยานมาหาเรา อยากจะนั่งอยู่ใกล้ ๆ ขอร้องให้เรากอดมัน เล่นกับมัน มันมองเราด้วยสายตาเคารพนับถืออยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะทำหน้าที่ของเพื่อนหรือของนายบกพร่องไปสักแค่ไหน
       น.สพ. ทศพร นักเบศร์ เป็นนักจัดรายการวิทยุ เจ้าของเว็บไซต์ www.petgang.com และนิตยสารรายเดือน PETGANG และเป็นสัตวแพทย์ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงขอคำปรึกษามากที่สุดคนหนึ่ง บอกให้ฟังว่า "ไอคิวของหมาประมาณเด็กอนุบาล เราไม่ต้องการสัตว์ที่ฉลาดไปกว่านี้เป็นเพื่อนเรา สัตว์ฉลาดประมาณว่า เรียกแล้วมา รู้จักอึฉี่เป็นที่ รู้จักรักษาความลับได้ พูดคุยกับมันได้ ไม่เคยบ่ายเบี่ยง เป็นเด็กตลอดเวลา เรากลับมาก็ดีใจตลอด เราไม่ต้องการสัตว์เลี้ยงที่ฉลาดมากไปกว่านี้ รับรองได้เลยว่า เราไม่ต้องการเลี้ยงลิงชิมแปนซีเพื่อให้มันจับช้อนส้อมมาวิ่งไล่แทงเรา
       "ช่วงเศรษฐกิจตก การเลี้ยงสัตว์ไม่เคยตกเลย กลับยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มองว่า การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงช่วยผ่อนคลายสภาพความเป็นอยู่ที่ความรื่นเริงของชีวิตมันหายไป"
       เหตุนี้ จึงมีคนกล้าพูดว่า หมาเป็นมิตรที่คนชื่นชอบที่สุดในโลก และความชื่นชอบหมาก็เป็นปรากฏการณ์ระดับสากลของมนุษย์ไปแล้ว
       แต่นั่นหมายถึง หมาจะเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอย่างนั้นละหรือ
       หรือมันเป็นเพียงสัตว์เลี้ยง
 

สัตว์เลี้ยง หมายถึง สัตว์ที่ : 

๑. ได้รับอนุญาตให้อยู่ในครัวเรือน ในขณะที่สัตว์อื่นถูกกันออกไป
๒. มีชื่อส่วนตัว ในขณะที่สัตว์อื่นถูกเรียกด้วยชื่อชนิด เช่น ยุง มด ไก่ เป็ด
๓. กินได้ แต่ไม่เคยถูกกิน เพราะเป็นสมาชิกหนึ่งในครอบครัว

Keith Thomas

(คลิกดูภาพใหญ่)        คนเราเพิ่งรู้สึกว่า หมาเป็น "สัตว์เลี้ยง" ตามความหมายข้างต้นได้ไม่นานนัก ในบ้านเรา ยังไม่มีใครเขียนถึงการเลื่อนชั้นทางสถานภาพของหมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่เราอาจลองเทียบเคียงกับของฝรั่งดูในฐานะมนุษย์ร่วมโลกโลกาภิวัตน์
       เอเดรียน แฟรงคลิน สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งทัสมาเนีย ออสเตรเลีย ได้สำรวจดูประวัติศาสตร์การเลี้ยงหมาในประเทศอังกฤษแล้วพบว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ หลังสมัยแห่งการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ (the Enlightenment) คนอังกฤษเริ่มมีทัศนคติเปิดกว้างต่อสัตว์มากขึ้น สัตว์ที่เคยถูกมองว่ามีไว้เพื่อใช้งานอย่างหมา ได้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านเรือนของชนชั้นนำ ซึ่งเป็นฐานแห่งการเลี้ยงสัตว์อย่างแพร่หลายในกาลต่อมา
       ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ต่อกับคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อการแบ่งชนชั้นแบบดั้งเดิมถูกสั่นคลอนโดยชนชั้นเกิดใหม่อย่างกลุ่มพ่อค้าและนักอุตสาหกรรม การมีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะ "สัตว์เลี้ยงชั้นสูง" จึงมีนัยถึงการแบ่งลำดับชั้น ในช่วงนี้ที่การเลี้ยงหมาแมวแพร่หลายไปตามครัวเรือนประชาชน ค.ศ. ๑๗๙๖ ประเทศอังกฤษมีหมาราว ๑ ล้านตัว 
       ปลายศตวรรษที่ ๑๙ เกิดสมาคมสุนัขขึ้น มีการจัดงานประกวดสุนัขและแมวมากมาย ชนชั้นสูงเริ่มถือเรื่องพันธุ์ประวัติ (pedigree) เป็นเรื่องสำคัญ และเกิดการเพาะพันธุ์ การประกวดประขันความฉลาด หนังสือ และนิตยสารเกี่ยวกับหมาอย่างมากมาย ในยุคนั้นสัตว์เลี้ยงมีความสำคัญในสังคมอังกฤษในฐานะที่เป็นสินค้า เป็นเครื่องบอกตำแหน่ง เป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิง เป็นของประดับคู่กับเสื้อผ้า เป็นผู้เข้าประกวดความฉลาด มากกว่าจะเป็นเพื่อน
       การเล่นบทเป็น "ของประดับ" ของหมาดำเนินมาถึงขีดสูงสุดในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ หมาถูกเพาะพันธุ์เพื่อใช้ในการนี้อย่างแพร่หลาย การมี "หมาทอย" หมาพันธุ์ (ที่ถูกทำให้ตัว) เล็ก เพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่นเป็นเพื่อน อย่างพูเดิล พัก และปักกิ่งไว้ครอบครอง หมายถึงการมีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยและเก๋ไก๋
       ทศวรรษถัดมา เป็นยุคแห่งการเห่อเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของคนอังกฤษ สัตว์เลี้ยงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ธุรกิจอาหารและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงเติบโตเต็มที่ คนเริ่มตระหนักถึงคุณประโยชน์ของสัตว์เลี้ยงที่มีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะประโยชน์ในเชิงการบำบัดรักษา ที่สำคัญ คนอังกฤษเริ่มเลี้ยงสัตว์แบบเป็นเพื่อนมากกว่าเลี้ยงเพื่อการประดับตกแต่งเพื่อความบันเทิงอย่างแต่ก่อน 
       ในเวลานี้เองที่คนเรียกการเลี้ยงสัตว์ในบ้านว่าเป็น "งานอดิเรก" ที่ไม่มีพิษไม่มีภัย แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญทางสังคมมากนัก หรือเลี้ยงอย่างจริงจังเท่ากับคนในยุคนี้
(คลิกดูภาพใหญ่)        หลังจากนั้นไม่นาน คนอังกฤษเริ่มคร่ำครวญถึงการล่มสลายของสถาบันครอบครัวและชุมชน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้ผู้คนเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายตามต้องการ ครอบครัวเดี่ยวเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ผู้คนรู้สึกขาดความมั่นคงซึ่งเคยหาได้จากสังคม เช่น ในอาชีพการงาน ชีวิตคู่ ที่อยู่อาศัย กระทั่งความมั่นคงที่ควรได้จากพ่อแม่ ความปลอดภัยทางทรัพย์สินก็ถูกคุกคามจากขโมยและโจร คนเลือกที่จะไม่แต่งงานมากขึ้น หรือไม่ยอมมีลูกจนกว่าจะทำงานเก็บเงินได้มากพอ และบางคนก็ตัดสินใจไม่มีลูกเลย
       ช่วงนี้ คนอังกฤษเลี้ยงหมาสองแบบ แต่ละแบบล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงและเงื่อนไขทางสังคมของแต่ละครอบครัวหรือของแต่ละคน แบบแรกคือกลุ่มหมาที่มีความเป็นเพื่อนสูง มีบุคลิกชอบเข้าสังคม ได้แก่ ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์และสแปเนียล แบบที่ ๒ คือหมาที่มีบุคลิกตรงข้าม ได้แก่กลุ่มหมา "ต่อต้านสังคม" หมายาม หรือหมากลุ่มต่อสู้ เช่น ร็อตไวเลอร์ โดเบอร์แมน บูลเทอร์เรียร์ ส่วนเยอรมันเชฟเพิร์ดหรืออัลเซเชียนนั้น เพิ่งมาฮิตช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐
       การก้าวเข้ามาในบ้านของหมาจึงไม่ได้เป็นการก้าวเข้ามาแต่ในทางกายภาพเท่านั้น แต่มันได้เดินเข้ามานั่งอยู่ในจิตใจของคนเราในตำแหน่ง "สัตว์เลี้ยงแสนรัก" ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็น "ลูกรัก" ในภายหลัง ช่วงเวลานี้มีผู้ศึกษาวิจัยเรื่องหมากันมากขึ้น ส่วนชาวบ้านชาวเมืองก็มองหมาด้วยสายตาเห็นอกเห็นใจและด้วยความรู้สึกที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม
       คนไทยเองก็เรียนรู้ที่จะมองหมาด้วยความรู้สึกใหม่อย่างนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นไฮโซ เป็นดารา หรือเป็นแม่ค้าขายของหน้าปากซอย
       เมื่อหมาเปลี่ยนฐานะมาเป็นเพื่อน (สนิท) หรือสมาชิกหนึ่งในบ้าน โดยอนุญาตให้หมาได้เข้ามานอนในบ้านหรือนอนในห้องได้ สิ่งที่เจ้าของทำเพื่อตอบแทนเพื่อนคือการที่หมอทศพรเรียกว่า "การให้คุณค่าเพื่อนเท่ากับตัวของเรา ทำให้เพื่อนของเรามีความรู้สึกที่ดีขึ้น"
 

หมาอายุยืนขึ้น

รศ. น.สพ. ดร. ชัยณรงค์ โลหชิต

(คลิกดูภาพใหญ่)        การทำให้เพื่อนของเรามีความรู้สึกที่ดีขึ้นนั้น หมอทศพรหมายถึงว่า "เราจะเริ่มคิดว่าทำอย่างไรให้เพื่อนมีสุขภาพดี ผิวหนังเป็นอย่างไร แววตาเป็นอย่างไร สีขนเป็นอย่างไร เราก็ต้องดูแลเขาแน่นอน อย่างวิวัฒนาการเรื่องอาหารก็เปลี่ยนแปลงไปมาก จากการที่เราบอกว่า หมากินอะไรก็ได้ เศษอาหารที่เหลือ กินกระดูกไก่ เศษข้าว น้ำข้าว ไม่ใช่แล้ว เราเรียนรู้ว่าสุนัขมีความต้องการสารอาหารที่ต่างจากมนุษย์มาก"
       อาหารสำเร็จรูปทั้งแบบกระป๋องและแบบเม็ด สำหรับหมาเด็กไล่ไปจนถึงหมาชรา สำหรับหมาพันธุ์เล็กจนถึงหมาพันธุ์ใหญ่มาก สำหรับหมาประกวด พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ สำหรับหมา (ที่เจ้าของต้องการลดความ) อ้วน สำหรับป้องกันหินปูนในปาก และสำหรับหมาป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคตับ-ไต โรคภูมิแพ้ อาหารบางอย่างมีจำแนกเฉพาะไปอีกเช่นอาหารมังสวิรัติสำหรับหมาที่เป็นโรคภูมิแพ้
       "เวลาเราเลี้ยงสัตว์ ปัจจัยพื้นฐานคือเราต้องการให้สัตว์มีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาวไปกับเรา เราคงไม่อยากเลี้ยงสัตว์แล้วพรุ่งนี้ตาย ซื้อมาใหม่ หรือเลี้ยงไปเจ็บออด ๆ แอด ๆ ไป เป็นความทุกข์ใจเปล่า ๆ ปัจจุบัน การขยายตัวของวงการรักษาสัตว์เลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการตรงนี้มากขึ้น มีโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนมากขึ้น มีเครื่องมือที่ทันสมัย ระบบการรักษาที่ซับซ้อนขึ้น" หมอทศพรกล่าว
       โรงพยาบาลและคลินิกรักษาโรคเปิดบริการมากขึ้นและเติบโตไม่ต่ำกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์ทุกปี โรงพยาบาลขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนมากกว่า ๑๐ ล้าน ให้การบริการรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น อายุรกรรม ศัลยกรรม สูติกรรม ทันตกรรม กายภาพบำบัด โรคผิวหนัง โรคตา โรคเบาหวาน ไปจนถึงการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม โรงพยาบาลเปิดใหม่มีอ่างจาคูซีสำหรับทำวารีบำบัด (hydrotherapy) พร้อมนวดน้ำมันหอม (aromatherapy) เพื่อคลายความเครียดและความกังวล ขณะเดียวกันก็เปิดเป็นโรงแรมสัตว์เลี้ยงที่มีบริการ "เปิดเพลงหรือเทปอัดเสียงเจ้าของ" ให้ฟัง พร้อมบริการอาหารที่ "เลือกได้หลายรสชาติ เช่น ข้าวราดด้วยสตูไก่ นอกจากนี้ยังมีอาหารสำหรับขัดฟันในทุก ๆ มื้ออาหาร"
       ในแง่สุขภาพของหมา สัตวแพทย์ล้วนเห็นตรงกันว่า อายุขัยของสุนัขยืนยาวขึ้น จากค่าเฉลี่ย ๑๐-๑๒ ปี เป็น ๑๖ ปี และมีบางตัวที่อายุยืนถึง ๒๐-๒๕ ปี เนื่องจากเจ้าของใส่ใจในสุขภาพของหมามากขึ้น
(คลิกดูภาพใหญ่)        "หมาอายุยืนมากขึ้น เพราะคนยอมที่จะจ่าย หมอมีความรู้ที่จะพัฒนาการรักษา และตรวจวินิจฉัยได้มากขึ้น" รศ. น.สพ. ดร. ชัยณรงค์ โลหชิต นายกสมาคมผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ กล่าว
       "เอาเป็นว่า หมากับแมวต้องรักษาเหมือนคน คือคิดว่าเป็นคน เจ้าของคิดอย่างนั้นจริง ๆ แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องคุณค่าของหมากับทุนทรัพย์ของเจ้าของที่ไม่พอกัน เช่นจะผ่าสมองหมาสักตัว ค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ก็มีบางคนยอมจ่าย หรือบางทีเราจะให้หมาเข้าพีทีสแกน จ่ายทีเป็นหมื่น บางคนก็ยอม"
       หมาบางตัวอายุมากถึง ๒๐ ปี เจ็บป่วยไปทั่วทุกระบบของร่างกาย รักษาโรคหนึ่งหาย ก็เป็นโรคอื่นต่อ เจ้าของให้เด็กในบ้านพามารักษาและให้น้ำเกลือทุกวัน บอกว่า "ตัวนี้ตายไม่ได้" 
       ในกรณีเช่นนี้ อาจารย์ชัยณรงค์เห็นว่า "สัตว์เลี้ยงก็หนีความตายไม่พ้นหรอก มันเป็นไปไม่ได้ที่จะยืดชีวิตหมาตัวนี้ไป ๔๐-๕๐ ปี ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ แต่ตอนนี้เป็นไปไม่ได้ ผมว่าสิ่งที่เขาทำก็เป็นการพยายามทำถึงที่สุดให้แก่เพื่อน ให้แก่คนที่เรารัก เทคโนโลยีทำให้สัตว์อายุยืนขึ้น หมายถึงกระบวนการในการรักษาโรค การวินิจฉัยโรคมากกว่า แทนที่จะเป็นโรคแล้วตายเลย แต่สามารถรักษาให้หายแล้วอายุยืน ใช้ชีวิตบั้นปลายต่อไปได้อย่างมีความสุข"
       น่าแปลกที่ว่า บนพื้นฐานของความรู้สึกรักที่มีมากมายไม่น่าจะมากน้อยไปกว่ากัน วิธีคิดและการปฏิบัติของคนไทยและฝรั่งนั้นกลับต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่คนไทยยอมทุ่มเทความพยายามและค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาชีวิตหมาที่ไม่ว่าจะดูสิ้นหวังขนาดไหน จะเป็นอัมพาตเดินไม่ได้อย่างไร ก็ยังอุตส่าห์ขวนขวายเต็มที่ แต่ฝรั่งมักเลือกที่จะฉีดยาให้จากไปโดยสงบ (put to sleep) เพื่อตัดความทรมานทางกายของหมาและตัดความทรมานใจของเจ้าของ
       อาจารย์ชัยณรงค์เล่าให้ฟังว่า "หมาฝรั่งบางตัวยังแข็งแรงมาก แต่เจ้าของจะกลับเมืองนอก เอามาให้ผมฉีดยา ถามว่าทำไม เขาบอกว่า ผมไม่แน่ใจว่าคนไทยจะเลี้ยงหมาของผมได้ดีเท่าผม มันอยู่ที่นี่มันทรมานแน่ หรืออย่างอัลเซเชียนอีกตัวหนึ่งที่ยังสวย แต่เริ่มมีอาการข้อตะโพกห่าง ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ ฝรั่งเขา put เลย เขาบอกว่า ถ้ามันแก่ลง มันทรมานมาก แต่คนไทยมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน ขนาดเดินขาลากยังเลี้ยงอยู่เลย หาล้อต่อให้มัน"
       อย่าว่าแต่ชาวบ้านที่คิดไม่เหมือนกันเลย แม้แต่สัตวแพทย์ด้วยกันยังมีความเห็นแตกต่างกันไป คลินิกสัตวแพทย์บางแห่งไม่รับทำเรื่องนี้ แต่บางแห่งถือว่าเป็นการุณยฆาต
(คลิกดูภาพใหญ่)        นอกจากอาหารและการดูแลสุขภาพแล้ว ความเป็นอยู่สำหรับหมาที่เจ้าของมีสตางค์นั้น ดูช่างสะดวกสบายไปทุกอย่าง หมาได้อยู่ในบ้านหมาบุผ้านวมและที่นอนบุไม้หอม มีตะกร้าสำหรับเดินทาง มีเสื้อผ้าดีไซน์เก๋ไก๋ ตั้งแต่บิกีนี กี่เพ้า ไปถึงชุดราตรีฟูฟ่อง แว่นตากันแดด รองเท้า ถุงเท้า เป้ใส่ของ กิ๊บ โบ หมามีแชมพูที่ใช้คำโฆษณาแทบจะอย่างเดียวกับของคนว่า "ช่วยปรับสภาพขนที่หยาบกระด้างให้กลับนุ่มสลวย ดกฟู เป็นประกายเงางาม มีชีวิตชีวา เพื่อความหอม สะอาด นุ่มนวล" "อ่อนโยนถนอมผิวสำหรับลูกสุนัข" มียาหยอดกำจัดเห็บหมัดที่ "ออกฤทธิ์รุนแรงต่อเห็บ หมัด เรื้อน แต่อ่อนโยนกับมนุษย์และสุนัข" และ "ป้องกันตัวหมัดไม่ให้ได้ฟักจากไข่หรือออกจากตัวอ่อน" มีวิตามินและแร่ธาตุรวมบำรุงร่างกาย และมีผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพปากอย่างยาสีฟัน แปรงสีฟัน น้ำยาดับกลิ่นปาก หมาจึงมีทุกอย่างอย่างที่คนมี
       ในประเทศอังกฤษ เจ้าของหมาได้รับคำแนะนำให้แปรงฟันหมาตั้งแต่อายุยังน้อย และให้แปรงเป็นประจำ ๓-๔ ครั้งต่อสัปดาห์ ประธานสมาคมทันตสัตวแพทย์เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ปัจจุบัน คนอังกฤษ ๓ หมื่นคน แปรงฟันให้หมา "ตอนนี้คนเรารักษาความสะอาดของฟันสัตว์เลี้ยงดีกว่าฟันของตัวเอง"
       คนเรากังวลเกี่ยวกับลมหายใจและกลิ่นปากของหมามากขึ้น ก็เพราะเราสนิทกับมันมากขึ้น กอดจูบ และให้มันเข้ามาใกล้ชิดเรามากเหลือเกิน แต่ว่าคนยังไม่หยุดกังวลใจเพียงแค่นั้น
       เมื่อเปิดเข้าไปใน amazon.com วันนี้ เราจึงพบกับหนังสือยอดฮิตเกี่ยวกับหมาอย่าง
       The Ten Trust: What We Must Do to Care for the Animals We Love (ความไว้ใจ ๑๐ ประการ : เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อดูแลสัตว์ที่เรารัก) 
       Bone Would Rain From the Sky: Deepening Our Relationships with Dogs (ให้ฝนตกลงมาเป็นกระดูก: สร้างความสัมพันธ์กับหมาให้ลึกซึ้งกว่าเดิม) 
       Dogtionary (หมาจนานุกรม) 
       How to be your dog's best friend (จะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของหมาได้อย่างไร)
       เรายังต้องการรู้เรื่องหมาและแคร์ความรู้สึกของหมามากขนาดนั้น
 

สัตว์เลี้ยงคือสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้น จากวิถีชีวิตของเจ้าของ

Adrian Franklin

(คลิกดูภาพใหญ่)        เพราะอะไร หมาหลายตัวถึงมีราคาสูง สูงเกินกว่าประโยชน์การใช้งานจริงของมันด้วยซ้ำ
       มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นอกจากความสัมพันธ์แบบ "เป็นครอบครัว" ของคนกับหมาจะไต่สูงถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนแล้ว หมายังมีหน้าที่นอกบ้านนอกครอบครัวด้วย มันเล่นบทเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง "ความเป็นตัวตน" (self-identity) ของเจ้าของในแง่ที่เป็นทางเลือกหนึ่งของการใช้ชีวิต
       ในโลกสมัยเก่า ชีวิตของคนเราไม่ต้องเลือกอะไรมากนัก เพราะระเบียบของชีวิตถูกจัดเอาไว้อย่างสัมพันธ์กับสิ่งอื่นเป็นส่วนใหญ่ แต่ในโลกสมัยใหม่ คนเราต้องเผชิญหน้ากับ "ทางเลือก" ในการใช้ชีวิตมากมาย ในความคิดของคนสมัยใหม่ การมี "ทางเลือก" มาก ๆ ดูเป็นสิ่งดี ในชีวิตประจำวันทุกคนต้องเลือก และในการเลือกนั้น เราไม่ได้เลือกเพราะมันมีหน้าที่ใช้สอยหรือประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่เลือกเพราะมันบอกเล่าความเป็นตัวตนของเราออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เช่นการแสดงฐานะและชนชั้นด้วยพันธุ์หมา
       ในอังกฤษ หมู่ชนชั้นกลางที่อยู่ในชนบทเลือกหมามีเพ็ดดิกรีอย่างลาบราดอร์สีดำ สแปเนียล พอนต์เตอร์ หรือโกลเดนรีทรีฟเวอร์ หนุ่มสาวนักเดินทางรุ่นนิวเอจเลือกหมาหุ่นเพรียวอย่างเลอร์เชอร์ ซึ่งถูกเพาะขึ้นจากเกรย์ฮาวน์ผสมกับคอลลี ชนชั้นกลางวัยหลังเกษียณแล้วเลี้ยงหมากลุ่มทอย แต่คนทำงานระดับล่างเลี้ยงหมากลุ่มต่อสู้และหมาเฝ้ายาม
(คลิกดูภาพใหญ่)        ที่ประเทศนี้ การเลือกพันธุ์หมายังบ่งชี้ถึงเพศสภาพและอายุได้ด้วย พิตบูลเทอร์เรียร์ที่ใส่ปลอกคอหนังมีหนามทองเหลืองแหลมคมเป็น "เครื่องประดับ" ข้างกายชายชาตรี พูเดิลทอยสีอ่อนเป็นหมาฮิตในหมู่กะเทย พูเดิล อัฟกัน ปอมเมอเรเนียน และซาลูกิเป็นหมาของพวกผู้หญิง โดยมีนัยเชื่อมโยงกับความเป็นเมืองใหญ่ ความร่ำรวย และความเป็นหนุ่มสาว ส่วนพัก ชเนาเซอร์ และชิวาวา เป็นหมาสำหรับผู้หญิงชนชั้นกลางวัยกลางคน
       แล้วในเมืองไทยเล่า เมื่อใครสักคนตัดสินใจจะเลี้ยงหมาสักตัว เหตุผลในการเลือกพันธุ์นั้นมาจากไหนได้บ้าง
คุณอาจตอบว่า เลือกตรงหน้าตาและอุปนิสัย (จึงมีคนเป็นจำนวนมากเลือกพักเพราะมันกินเสียงดัง ตดเก่ง และนอนกรน)
       บางคนให้ความเห็นว่า คนไทยเลี้ยงหมาตามที่เห็นในโฆษณาทีวี บ้างว่าตามหนังฮอลลีวูด บ้างว่าเลี้ยงตามดารานักร้องที่ถ่ายรูปคู่กับหมาลงนิตยสาร และบ้างยืนยันว่า คนเลี้ยงพันธุ์ที่แสดงความร่ำรวยนั้นก็มีอยู่
       หมาพันธุ์แท้ ๒๐ อันดับแรกที่มาขอจดทะเบียนกับสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๔ - พ.ศ. ๒๕๔๕ มีดังนี้ ๑. โกลเดนรีทรีฟเวอร์ ๒. ปอมเมอเรเนียน ๓. ชิห์สุ ๔. รอตไวเลอร์ ๕. พัก ๖. ยอร์กเชียร์เทอเรียร์ ๗. ไซบีเรียนฮัสกี ๘. ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ ๙. บีเกิล ๑๐. ไทยหลังอาน ๑๑. บูลด็อก ๑๒. มิเนียเจอร์ชเนาเซอร์ ๑๓. เซนต์เบอร์นาร์ด ๑๔. โดเบอร์แมน ๑๕. บูลเทอร์เรีย ๑๖. บ็อกเซอร์ ๑๗. มิเนียเจอร์พินเชอร์ ๑๘. ชิวาวา ๑๙. พูเดิลทอย ๒๐. อเมริกันค็อกเกอร์
 

เรารักหมาและลงทุนจ่ายเงินเพื่อมันในสถานภาพครึ่งคน (quasi-human)
แต่ก็เฉพาะตราบเท่าที่พวกมันหยุดประพฤติตัวเป็นสัตว์เท่านั้น

James Serpell

(คลิกดูภาพใหญ่)        ในอเมริกาและอังกฤษ หมามียศตำแหน่งเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ หมาได้รับความรักและการยกย่องอย่างมาก
       เดี๋ยวนี้หมาไม่ค่อยมีความสำคัญกับคนในทางเศรษฐกิจ พูดง่าย ๆ คือไม่ได้เป็นสัตว์มีไว้ใช้งานหรือช่วยทำมาหากินอย่างแต่ก่อนแล้ว
       หมามีชื่อ ถูกกอด จูบ ลูบ เล่น และเสริมสวย และต้องมีการออกกำลังกายเพียงพอ หมาไม่ได้อยู่แต่ในบริเวณบ้าน แต่ถูกจูงออกไปพบปะสังสรรค์กับหมาและคนอื่น ๆ ข้างนอกบ้าน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเจอกับสัตวแพทย์
       แต่หลายครั้งที่ความรักระหว่างคนกับหมาไม่ได้หวานชื่นจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายจากไป
       หมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกทิ้ง ถูกทำร้าย ถูกทำลาย และถูกทารุณมากที่สุด
       หมาถูกหล่อหลอมให้มีความงามและความประพฤติตามแบบคน จนมันถูกจำกัดความสามารถในการเอาชีวิตรอดของมัน การเอาตัวรอดไม่ได้ในป่าอย่างสัตว์ป่านั้นเป็นของแน่นอน แต่การใช้ชีวิตในเมืองสำหรับหมาที่ถูกเลี้ยงมาในบ้าน ได้รับการดูแลอย่างดีนั้น ก็ยังไม่ใช่ของง่าย หมาไม่ได้เป็นสัตว์เสียทีเดียว และก็ไม่ได้ถูกอัปเกรดถึงขนาดเป็นคนอย่างเต็มตัวด้วย
       หมาเป็นใคร
       หมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์ที่ถูกใช้เปรียบเปรยถึง เป็นส่วนผสมระหว่างการถูกยกย่องกับการดูถูก ถูกทำร้าย ถูกกินเป็นอาหาร ถูกนับถือว่าเป็นสัตว์นำวิญญาณ เป็นแพะรับบาป และเสียสิทธิ์ในการใช้ชีวิตเป็นสัตว์ที่แท้จริง
       หมาเป็นหมา และคนก็รังเกียจที่มันกินขี้ ดมจิ๋ม และกัดคน ทั้งที่นั่นเป็นธรรมชาติของมัน เราจึงต้องฝึกมัน "เพื่อให้อยู่ร่วมกับเราในสังคมอย่างมีความสุข" การฝึกหมาจึงเป็นของจำเป็นในสังคมที่หมาอยู่ใกล้ชิดสนิทกับคนขนาดนี้
       หมาทำหน้าที่ของมันที่มีต่อคนได้ดีมาก มันเป็นเพื่อน ทำให้คนอายุยืน และเป็นผู้บำบัดรักษาเมื่อเราเจ็บป่วย หรือไม่มีความสุข หมากลายเป็นสิ่งทดแทนความสัมพันธ์นับไม่ถ้วนของมนุษย์ ทำหน้าที่แทนคู่ที่เลิกร้างกันไป แทนลูก แทนเพื่อน แทนคนเป็นที่รัก แทนเด็ก ๆ แทนพี่น้อง หรือเป็นพ่อแม่ในเวลาที่พ่อแม่จริงต้องไปทำงาน 
(คลิกดูภาพใหญ่)        ในเมืองไทย จากจำนวนหมาข้างถนนจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ ตัว ที่กรุงเทพมหานครประมาณเอาไว้นั้น มีหมาที่ถูกเจ้าของนำมาปล่อยประมาณ ๒ หมื่นตัว ซึ่งเจ้าของมักมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้า ที่จะปล่อยหมาให้ออกผจญภัยในท้องถนน กลายเป็นภาระของสังคม หรือของวัด และบ้านสงเคราะห์สัตว์
       สัตวแพทย์และผู้รู้หลายคนยืนยันว่า เหตุผลของเจ้าของหมาส่วนใหญ่มาจากความไม่เข้าใจในธรรมชาติ และพฤติกรรมของหมาอย่างที่มันเป็น ส่วนปัญหาด้านพฤติกรรม โดยเฉพาะความก้าวร้าวของหมานั้น ล้วนเกิดจากการกระทำของคนแทบทั้งสิ้น
       ..................
       สี่สิบปีก่อน ฝรั่งบ่นว่าเรื่องความสัมพันธ์ที่สนิทกันเกินไปของหมากับคน แต่คิดให้ดี ที่บ่นไปก็เพราะเป็นกังวลว่าถึงยุคเสื่อมของความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกัน ฝรั่งบ่นได้ไม่นาน ก็เงียบกันไป อาจเพราะฝรั่งเลิกหวังจะให้คืนวันอันแสนดีเก่า ๆ กลับคืนมา หรืออาจเพราะว่า ความสนิทสนมที่ลึกซึ้งระหว่างคนกับหมากลายเป็นของยอมรับได้และปรกติมากขึ้นทุกวัน
       ..................
       หรือที่จริง บางคนในสังคมไทยก็เข้าใจเรื่องนี้มานานแล้ว
       ไม่อย่างนั้น คนรักหมาและด็อกเลิฟเวอร์อย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช คงไม่ "ขอแสดงความเห็น" ไว้ให้เราคิดกันเล่น ๆ ว่า :
       "เรื่องความภักดีของหมานั้น เป็นเรื่องที่มนุษย์ชอบเพ้อกันมากสักหน่อย เป็นต้นว่า หมาเป็นมิตรที่ซื่อสัตย์ที่สุด หรือเป็นผู้ที่จงรักภักดีมากที่สุด ฯลฯ พูดกันไปพูดกันมาก็มักจะเลยเถิดไปว่า หมานั้นดีกว่าคน เพราะมีความกตัญญูสูงกว่า สามารถตายแทนเจ้าของได้ และอะไรต่ออะไรอีกมาก
       "คติเกี่ยวกับหมาเหล่านี้ หากคนที่ไม่ชอบหมาหรือคนที่ไม่เคยเลี้ยงหมา พูดไปเป็นอย่างอื่น คนที่ชอบหมาและเลี้ยงหมาก็จะหาว่าคน ๆ นั้นไม่เข้าใจ ไม่รู้จักหมา แล้วแค่นจะมาพูด แต่ผมเองเป็นคนเลี้ยงหมารักหมามาตลอดชีวิต คราวนี้ออกจะต้องขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับหมาไว้บ้าง 
       "หมานั้นเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างหนึ่ง และในฐานะเช่นนั้นจะดีกว่าหรือดีเท่ามนุษย์ไม่ได้เป็นอันขาด มนุษย์เราทุกคนนั้น ถึงจะดีเลวอย่างไรก็ย่อมมีธาตุของสัตว์อยู่ในตัว จะมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ระดับของจิตใจ แต่สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งหมาด้วยนั้น ถึงจะดีจะประเสริฐกว่าหมาสักเท่าไรก็ตาม จะหาธาตุมนุษย์อยู่ในตัวนั้นไม่มีแม้แต่สักน้อย ถึงอย่างไรก็เป็นสัตว์บริบูรณ์ไม่มีธาตุมนุษย์เจือปนอยู่นั่นเอง 
(คลิกดูภาพใหญ่)        "หากหมาจะแสดงอะไรออกมา ซึ่งเหมือนกับมนุษย์เป็นครั้งคราว สิ่งที่แสดงออกนั้นก็เพียงอาการของสัตว์ซึ่งคงมีเหลืออยู่บ้างในมนุษย์ ไม่ใช่แสดงอาการของมนุษย์ ความภักดีของมนุษย์ ความซื่อสัตย์ ตลอดจนความกตัญญูของมนุษย์ เป็นของประเสริฐที่ไม่มีในเดรัจฉานนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ มนุษย์จึงเป็นมนุษย์ แตกต่างกับเดรัจฉาน แต่ความภักดี ความซื่อสัตย์ และความกตัญญูของหมานั้น เป็นเรื่องของสัตว์โดยแท้ เป็นคนละอย่างกับของมนุษย์ จะเปรียบกันไม่ได้ เมื่อจะสนใจศึกษาสิ่งเหล่านี้ก็ต้องแยกไว้ต่างหาก ไม่ควรเอามาปะปนกัน 
       "แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาความรู้สึกและนิสัยใจคอของหมานั้น หากจะเกี่ยวโยงถึงมนุษย์ ก็เป็นไปในทางเปรียบเทียบ เหมือนกับศึกษาเครื่องจักรเครื่องยนต์อย่างง่าย ๆ เพื่อให้รู้หลักและจะได้เกิดความรู้ในเครื่องจักรเครื่องยนต์ที่ยากกว่าใหญ่กว่าและประณีตกว่าต่อไป ข้อสำคัญที่สุดก็คือ คนที่จะรู้จักหมาได้จริงนั้น จะต้องรักหมาเพราะมันเป็นหมา มิใช่รักหมาเหมือนรักคน และต้องไม่เห่อหมาหรือตื่นหมาหรือหลงหมาเป็นอันขาด เพราะความรู้สึกเหล่านั้น บดบังความจริงได้มากที่สุด"
 

ขอขอบคุณ

         นพ. ประพันธ์ กิติสิน รศ. น.สพ. ดร. ชัยณรงค์ โลหชิต น.สพ. ธานินทร์ สันติวัฒนธรรม น.สพ. ทศพร นักเบศร์ ผ.ศ. พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ ส.พญ. สุธาสนาน เจียรพร น.สพ. บ้านหมอรักหมา คุณลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ คุณสิทธิพร ชื่นชุ่มจิตร์ คุณธเนศ กิตติกนกกุล คุณพิชัย ธนทวิกร คุณประโยชน์ เชาวน์สินธุ์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คุณวนิตา ฉายประกายแก้ว คุณศตพร ดีพา คุณเอกชัย เอื้อธารพิสิฐ ครูเอก (กลุ่มคนที่ถูกถ่ายภาพ)
 

หนังสือประกอบการเขียน

(คลิกดูภาพใหญ่)        ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (๒๕๔-), คนรักหมา, ดอกหญ้า ๒๐๐๒, กรุงเทพฯ.
       ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (๒๕๔๔), "ธุรกิจต่อเนื่องกับสุนัข : ตลาดใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม", มองเศรษฐกิจ, http://wwwtfrc.co.th.
       Adrian Franklin 1999), Animals and Modern Cultures, Sage London, Thousand Oaks, New Delhi.
       Ann Squire (1991), Understanding Man's Best Friend: Why Dogs Look and Act the Way They Do, Macmilan New York.
       Bruce Fogle (2000), The New Encyclopedia of the Dog, Dorling Kindersley U.K.
       James Serpell (1995), "From paragon to pariah: some reflections on human attitudes to dogs", The domestic dog: its evolution, behaviour, and interactions with people, James Serpell et. al., Cambridge U.K.
       Lynette A. Hart (1995), "Dogs as human companions: a review of the relationship", The domestic dog: its evolution, behaviour, and interactions with people, James Serpell et. al., Cambrideg U.K.