นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๕ เดือนมกราคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๕ เดือนมกราคม ๒๕๔๖ "มายาแห่ลูกปัด"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๕ เดือนมกราคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากบรรณาธิการ

 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
ผู้ชายคนนี้ชื่อ
โกมล คีมทอง
     เคยได้ยินหลายคนพูดว่า การแบกเป้เดินป่าระยะทางไกล คือการปฏิบัติสมาธิและฝึกสติอันดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง
     ชีวิตที่ผ่านมายังไม่เคยบรรลุความรู้สึกนี้เลย แม้จะเดินป่ามาหลายครั้ง
     ปลายปีที่ผ่านมาเรามีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลระเหเร่ร่อนไปไกลถึงรัฐแทสเมเนีย รัฐขนาดเล็กที่สุดทางตอนใต้ประเทศออสเตรเลีย
     แทสเมเนียเป็นเกาะที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่าประเทศไทยเก้าเท่า แต่มีประชากรอาศัยเพียง ๔๐๐,๐๐๐ กว่าคนเท่านั้น
     แม้จะมีประชากรเบาบางแต่แทสเมเนียเป็นดินแดนแห่งธรรมชาติอย่างแท้จริง มีพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลเกือบครึ่งหนึ่งของแทสเมเนีย ส่วนใหญ่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ 
     แต่ป่าอีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สัมปทาน มีหน่วยงานคล้ายรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ คอยตัดต้นไม้ใหญ่นำมาสับเป็นเศษไม้ส่งไปขายประเทศญี่ปุ่นเป็นเยื่อไม้ทำกระดาษ
     ด้านฝั่งตะวันตกของเกาะแทสเมเนีย เป็นพื้นที่อุทยานมีอาณาบริเวณติดต่อกันเป็นผืนใหญ่สิบล้านกว่าไร่ ใกล้เคียงกับพื้นที่ของผืนป่าตะวันตกในบ้านเรา ทางยูเนสโกได้ขึ้นบัญชีให้เป็นเขตมรดกโลกทางธรรมชาติ
     เมื่อประมาณยี่สิบปีที่ผ่านมา ปัญญาชนและองค์กรสิ่งแวดล้อมเคยคัดค้านการสร้างเขื่อนในเขตมรดกโลกถึงสองเขื่อน ครั้งแรกผู้นำสำคัญคือคุณหมอบ๊อบ บราวน์ ได้พาผู้คนมาคัดค้านการตัดไม้ทำลายป่า แต่ไม่สำเร็จคุณหมอถูกจับดำเนินคดี เขื่อนได้รับการสร้างจนเสร็จ พอจะมีโครงการสร้างเขื่อนแห่งใหม่ มีการรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนไปทั่วทั้งประเทศออสเตรเลีย จนรัฐบาลยอมยุติการก่อสร้าง
     จากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มีการก่อตั้งพรรคกรีนขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก คุณหมอบ๊อบบราวน์ได้กลายเป็นหัวหน้าพรรคและลงสมัครรับเลือกตั้ง จนได้รับเลือกให้เป็นสส.ติดต่อกันหลายสมัยสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
     แทสเมเนียจึงเป็นต้นกำเนิดของพรรคสีเขียวในโลก และเป็นเมืองแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยแท้
     เราตั้งใจมาเดินป่าในเขตมรดกโลก ในช่วงฤดูร้อนของออสเตรเลีย ประเทศทางซีกโลกใต้ ซึ่งมีฤดูกาลตรงข้ามกับประเทศทางซีกโลกเหนือ
     แต่อุณหภูมิปรกติในฤดูร้อนบนเกาะแห่งนี้คือ ๑๔ องศาเซลเซียส
       คืนแรกเรามาก่อกองไฟกางเต็นท์นอนบนผืนทรายบนอ่าวเล็ก ๆ แห่งหนึ่งปลายสุดของเกาะแห่งนี้ 
     ที่ตรงนี้คือแผ่นดินสุดท้าย หันหน้าออกทะเลไปปลายสุดขอบฟ้าตลอดระยะทาง ๔,๐๐๐ กิโลเมตรจะไม่มีแผ่นดินหรือเกาะใด ๆ ขวางกั้นไปจนถึงทวีปแอนตาร์ติก
     ขณะที่ลมจากทวีปแอนตาร์ติกจะพัดนำความชื้น และความหนาวเย็นมาสู่ฟากฝั่งนี้เป็นแห่งแรก บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นเขตที่มีอากาศบริสุทธิ์ที่สุดในโลก
     ตะวันลับฟ้าตอนสามทุ่ม ลมหนาวยิ่งกรรโชกแรง เราออกมายืนริมทะเล สูดอากาศครั้งแล้วครั้งเล่า รู้สึกปิติอย่างบอกไม่ถูก เราสัมผัสความยะเยือกของแอนตาร์ติกได้จริง ๆ
     ยิ่งดึกดาวยิ่งระยับฟ้า เป็นดวงดาวแห่งซีกโลกใต้ ที่มีตำแหน่งกลับหัวกลับหางแตกต่างจากซีกโลกเหนือ เราโชคดีเห็นกลุ่มดาวนายพราน แต่ตำแหน่งการเรียงตัวของกลุ่มดาวแตกต่างไปจากการเห็นในซีกโลกเหนือ 
     รุ่งเช้าเราเริ่มต้นเดินป่าลัดเลาะไปตามทุ่งหญ้า ผ่านดงป่ายูคาลิปตัส ต้นไม้พื้นเมืองของที่นี่ เดินขึ้นเขาไปจรดหน้าผาหินแกรนิตสูงชันแห่งหนึ่ง คลื่นใหญ่โถมตัวกระแทกฝั่งระลอกแล้วระลอกเล่า ตรงชายหาดไกลออกไป ฝรั่งแบ็กแพ็กเกอร์สองสามคน หิ้วกระดานโต้คลื่น เตรียมออกไปผจญภัย เราเดินเลียบหน้าผาไต่ลงไปหาซากฟอสซิลหอยตามชายฝั่ง
     วันต่อมาเราเดินย่ำหิมะขึ้นเขาอีกลูกไปดูป่าอัลไพน์ ที่ขึ้นเฉพาะอากาศหนาวจัด ก่อนจะมุ่งหน้าขึ้นทางเหนือเข้าสู่ป่าเขตร้อน มีสภาพไม่ต่างจากป่าเขตร้อนบ้านเรา แต่อากาศเย็นและชื้นกว่ามาก เราเดินผ่านดงเฟิร์นต้นขนาดยักษ์สูงท่วมหัว ผ่านต้นยูคาร์ฯขนาดห้าคนโอบ ย่ำไปตามพื้นอันเฉอะแฉะและฝนที่โปรยปรายเกือบทั้งวัน
     ตกค่ำพอกางเต๊นท์และหุงอาหารเสร็จ เราต้องถอดรองเท้าอังรอบกองไฟ เพื่อให้รองเท้าแห้งก่อนการเดินทางวันต่อไป
     วันแรก ๆที่เดินทาง เรามักจะคิดถึงระยะทางที่เดินในแต่ละวัน จากสิบกิโลเป็นยี่สิบกิโล เหลือบดูนาฬิกาว่าผ่านไปกี่ชั่วโมง แต่เมื่อเดินย่ำเท้าไปเกือบอาทิตย์ หลักกิโลที่ผ่านมาและชั่วโมงแห่งการเดินทางเริ่มหายไปจากความคิดคำนึง
     เราเดินอย่างมีสมาธิมากขึ้น รับรู้ความรู้สึกทุกเท้าก้าวย่าง หัวใจกับฝ่าเท้าเริ่มเป็นอันหนึ่งเดียว กลายเป็นจังหวะการเดินทางของเราเอง รู้สึกได้ว่า เราเดินช้าลงแต่สม่ำเสมอและไม่เหน็ดเหนื่อยมาก
     ความสุขในการเดินป่าอยู่ตรงนี้เอง ทุกก้าวย่างที่ย่ำลงกับพื้น หัวใจล้วนสัมผัสได้เสมอ
     วันสุดท้ายของการเดินป่าร้อยกว่ากิโลเมตร เราเดินขึ้นเขาลูกหนึ่งในอุทยานเครเดอร์ เมาเท่น อากาศปิด ฝนตกตลอดเวลา แต่เรายังพยายามข้ามเขาไปอีกลูกหนึ่งให้ได้ 
     สองชั่วโมงผ่านไป ยิ่งเดินขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ อากาศยิ่งหนาวเหน็บ ฝนเทกระหน่ำมากขึ้น บนยอดเขาเราต้องเดินย่ำหิมะไปตลอดทาง อากาศแปรปรวนตลอดเวลา ลมหนาวพัดราวพายุ ฝนที่ตกเริ่มกลายสภาพเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ร้องเท้าเปียกชื้นเต็มที เสื้อผ้าที่ใส่มาสี่ห้าชั้น ไม่พอกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ
     เราเดินมาได้ไม่ถึงครึ่งทางกว่าจะถึงที่พักข้างหน้า ครั้งนี้เราตัดสินใจเดินกลับ ไม่แน่ว่าหากเดินต่อไป อันตรายถึงชีวิตกำลังรออยู่ข้างหน้าจากความยะเยือกของลมแอนตาร์ติก 
     ธรรมชาติเป็นผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com