นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ "โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

ถนน ไม้ ไฟฟ้าพลังน้ำ วิบากกรรมสงคราม บนโฮจิมินห์เทรล

  เรื่องและภาพ วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์
        สารคดีนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ "ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์"
โดย อินเตอร์เพรส เซอร์วิส (เอเชีย-แปซิฟิก) และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ 
................................................................................................

      หลังสงครามอินโดจีนผ่านไปเกือบสามทศวรรษ 
ดินแดนลาวใต้บริเวณที่เคยถูกขนานนาม "เส้นทางโฮจิมินห์"
กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงเนื่องในสงครามยุคใหม่ 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ระหว่างห้วงเวลายาวนานกลางแดดเจิดจ้าที่ล้อรถตะกุยขึ้นภู เพื่อนร่วมทางชาวออสเตรเลียก็ร้องให้ทุกคนได้ยิน "tank...tank"
      ห่างออกไปไม่กี่เมตร ซ้ายมือคือซากรถถังขนาดหนัก ซึ่งยังคงน่าเกรงขาม แต่พริบตา...ฝุ่นก็ม้วนตลบขึ้นพรางมัน ราวกับฉากสงครามอันระทึก
      เพื่อนของเราไม่ยอมผ่อนคันเร่งด้วยเห็นเป็นเนินชัน มีแต่ฝุ่นกับก้อนหิน แล้วเราก็เสียเวลาไปมากตอนหยุดกินกลางวันที่บ้านดักลาน อาจไปถึงเมืองดักจึงไม่ทันค่ำ 
      ผมมองหาพิกัดเผื่อไว้ขากลับจะได้บันทึกหลักฐานของ "โฮจิมินห์เทรล" แต่ดูเหมือนเปล่าประโยชน์ พอขึ้นถึงบนสันแปก็ปรากฏหลุมระเบิดพรุนอยู่สองฟากทาง บางหลุมลึกพอสำหรับรถจี๊ปทั้งคัน ซึ่งมันจะชี้บอกตำแหน่งได้ดียิ่งกว่าป้ายในอุทยานแห่งชาติ
      หมดกังขาถึงฐานะสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของภูดอยเขตลาวตอนใต้ลูกนี้ อันนำมาซึ่งการบอมบ์ปูพรมในสงครามอินโดจีนครั้งที่ ๒ จากปี ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๗๓ เมื่อผมหยิบแผนที่ขึ้นดูก็พบว่า แนวสันเขาลูกนี้ยาวเหยียดต่อเนื่องจากดักจึงไปถึงเมืองสานไซของแขวงอัดตะปือ และอีกนิดเดียวก็ข้ามพรมแดนสู่เวียดนามใต้- -เป้าหมายของฝ่ายเวียดกง เพื่อนต่างชาติคนเดิมให้ความเห็นว่า จำนวนหลุมระเบิดบนเนินน่าจะมากกว่าแถบทุ่งไหหิน--สมรภูมิสำคัญทางเหนือเสียอีก 
      จำนวนเที่ยวบินทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ ๙๐๐ เที่ยวต่อวัน ในปี ๑๙๖๙ หรือเฉลี่ยหนึ่งเที่ยวในทุก ๆ ๘ นาทีตลอดสงคราม เพื่อหยุดเส้นทางลำเลียงชื่อ "โฮจิมินห์"* ทำให้หลุมระเบิดในลาวดูเป็น "เรื่องธรรมดา" แต่ถึงอย่างไร ซากรถถัง หลุมระเบิดเหล่านี้นับเป็นอีกจุดที่เราไม่รู้มาก่อน 
      ที่นี่...การสอบถามข้อมูลง่าย ๆ เรื่องเส้นทางบางครั้งกลับดูยุ่งยาก เช่นระหว่างทางเราถามคนที่พบในบัก** ถึงเขตอนุรักษ์แห่งหนึ่งซึ่งกำลังจะสร้างเขื่อน เขาได้แต่ส่ายหน้า หนทางอันกันดาร กอปรกับมีการประกาศเขตอนุรักษ์ใหม่หลายแห่ง โดยคนในพื้นที่เองก็ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่ตรงไหน ดังนั้นจึงมีการแนะนำกันว่า นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีไกด์หรือผู้ชำนาญท้องถิ่นนำทาง
        * คนเวียดนามเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุทธการตรึงซอน (Truong Son) แปลว่า เทือกเขายาว
      ** แพขนานยนต์ในลาว
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราไม่พลาดข้อมูลสำคัญ... แต่หมายถึงดูแลให้รอดปลอดภัยจากป่าเขาที่มีระเบิดฝังอยู่มากมายด้วย
      ครั้งหนึ่ง...เราพบชาวเผ่ากรูออกมาจากป่า หอบกระบุง ตะกร้า มาขายเจ้าหน้าที่ในรถยูเอ็น ไม่ไกลกันยังพบกลุ่มหญิงชาวเผ่าเดินแบกตะกร้าเหมือนว่ากำลังขนพืชไร่หรือท่อนฟืน พอรถผ่านจึงรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในตะกร้าคือเปลือกหุ้มระเบิด ที่เรียกว่า "กาบบมบี" (bombie) และเศษอาวุธยุทโธปกรณ์ ...ภาพที่เห็น นำไปตัดต่อกับภาพกองเศษเหล็กหน้าบ้านดักลาน ที่รับซื้อกันกิโลละ ๕๐๐ กีบ (ราว ๒ บาท) รวมถึงเสายุ้งข้าวทำจากกาบบมบีได้พอดิบพอดี
      เนินเขาแห่งนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของสงคราม ผมนึกในใจ...ขณะอยู่กับซากรถถัง กระสุนปืนใหญ่ บนผืนไร่ที่รอยจุดไฟเผาไร่ยังอุ่น ๆ ...สงครามนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้แต่โครงการถนนลาดยางที่กำลังเริ่มต้นบนเส้นทาง หรือไม้แปกกองโตที่คนงานเวียดนามชักลากอยู่บนเนิน ซึ่งแต่ละต้นใหญ่โตกว่า ๑ เมตร 
      ในสงคราม เราต้องปลุกระดมมวลชนให้เชื่อในชาติ อิสรภาพ เสรีภาพหรือความสงบสุขที่จะตามมาหลังชัยชนะ สงครามเศรษฐกิจก็เช่นกัน ต้องทำให้ประชาชนเชื่อในมายาคติบางอย่าง และสิ่งที่จะได้รับภายภาคหน้า
 
        "...ความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่โขง"
      "วิสัยทัศน์ใหม่" ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต่อพื้นที่ลุ่มน้ำ จากบันทึกในจดหมายข่าวคณะกรรมาธิการ เดือนธันวาคม ๑๙๙๘


      "...แม่น้ำแห่งความทรงจำอันชั่วร้าย"
      ภาพสะท้อนจาก โคลิน ทูบรอน เกี่ยวกับแม่โขงระหว่างสงครามเวียดนาม ใน Behind The Wall : A Journey through China ลอนดอน ๑๙๘๗

 (คลิกดูภาพใหญ่)       พวกเราขึ้นไปค้างดักจึงคืนหนึ่งก็กลับลงมา...อย่างอาลัยอาวรณ์ความหนาวเย็น ปราศจากเขม่าควันการเผาไร่ นอกจากนั้นใกล้ ๆ ตัวเมือง (หรือ "อำเภอ" ของไทย) ยังมีหมู่บ้านเก่าชื่อเดียวกันตั้งอยู่ เรือนแต่ละหลังปลูกสร้างด้วยไม้ตามรูปแบบ "เรือนยาว" จั่วด้านหน้าและหลังปกคลุมด้วยชายคาทรงกลมป้านแบบกระโจม เหมือนที่เคยเจอตามป่าเขาเขตกะลึมนั่นเอง ถ้าจำไม่ผิด เมื่อคราวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังเซกองในปี ๑๙๙๖ พระองค์ท่านเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมายังดักจึงด้วย
      การเดินทางจากแขวงเซกองไปดักจึงเป็นโอกาสที่จะทำความรู้จักเซกองให้ถ่องแท้ขึ้น บางครั้งเราสวนกับรถขับเคลื่อนสี่ล้อขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งตัวอักษรข้าง ๆ โชว์ว่า --UXO ของหน่วยเก็บกู้ระเบิด, AusAID ของออสเตรเลีย หรือ UNDP -โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และครั้งหนึ่งเราพบรถบริษัทรับเหมาไทยที่กำลังสำรวจทางและได้สนทนากันเล็กน้อย 
      ทางสายเซกอง-ดักจึงไปจรดชายแดนเวียดนามระยะทาง ๑๒๒ กิโลเมตร เป็นโครงการพัฒนาถนนเชื่อมต่อระดับภูมิภาคของลาวตอนใต้ นอกเหนือจากโครงการทางหมายเลข ๑๘ บี จากอัดตะปือ (เมืองสามัคคีไซ) ถึงชายแดนเวียดนาม ซึ่งเริ่มขึ้นพร้อม ๆ กันช่วงปีสองปีมานี้ โครงการทาง ๑๘ บี มีมูลค่าถึง ๓๕ ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นโครงการใหญ่โตสุดเท่าที่แขวงเคยมี ทั้งยังเป็นถนนเส้นแรกของลาวตอนใต้ที่จะเชื่อมกับเวียดนามอีกด้วย
      ก่อนอื่น เราคงต้องถอยออกมาเล็กน้อยเพื่อจะพบว่า ที่นี่คือ "อินโดจีน" อดีตอาณานิคมฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๕๔) บริเวณรอยต่อของแขวงสาละวัน เซกอง อัดตะปือ และจังหวัดกวางหนำ-ดานัง จังหวัดกอนตุม-ยาล่าย ของเวียดนาม มีภูดอยสลับซับซ้อนส่วนหนึ่งของเทือกเขาอันนัม ซึ่งทอดยาวลงมาจากตอนใต้ของประเทศจีนเป็นพรมแดนธรรมชาติแบ่งกั้น
      พื้นที่ส่วนใหญ่เกินร้อยละ ๘๕ เป็นภูเขา ลาวใต้จึงเป็นอาณาจักรอันอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าฝนเขตร้อน มีความหลากหลายของชนิดพืชพรรณ สัตว์ป่า และสำรวจพบแร่ธาตุหลากชนิด ข้อสำคัญ เป็นต้นกำเนิดสายน้ำสาขาของแม่โขงไม่น้อยกว่า ๑๐ สาย อาทิ น้ำเทิน น้ำหินบูน น้ำกะดิ่ง เซบั้งไฟ และเซกอง ไหลหล่อเลี้ยงลาวตอนกลางจนถึงตอนใต้ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ผืนป่าทางตะวันออกที่ยาวต่อเนื่องถึงเวียดนาม ยังสำรวจพบสัตว์ป่าชนิดใหม่ ๆ เสมอ นักโบราณคดี นักภาษาศาสตร์ พบว่ากลุ่มชนเจ้าของพื้นที่แต่เดิมคือกลุ่มมอญ-เขมร หรือผู้พูดภาษาตระกูลออสโตร-เอเชียติก ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายสิบเผ่า เจ้าหน้าที่รัฐเรียกตามสภาพทำเลอยู่อาศัยว่า ลาวเทิง (เทิง แปลว่า บน) ปัจจุบันลาวเทิงบางส่วนก็ยังคงรักษาวิถีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมไว้
      ในสงครามอินโดจีนครั้งที่ ๒ ซึ่งชาวโลกรู้จักในนามสงครามเวียดนาม แต่ความเป็นจริงไฟสงครามลามไปทั่วทั้งเวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นเวลากว่า ๑๑ ปี ก่อนจะดับมอดลงใน ค.ศ. ๑๙๗๕ ฝ่ายเวียดกงใช้เส้นทางป่าเขาฟากตะวันตกของประเทศลำเลียงพล อาวุธยุทธปัจจัย อ้อมเขตปลอดทหารบริเวณตอนกลางของประเทศ ผ่านเข้าไปในลาวและกัมพูชา ก่อนจะวกกลับออกมาโจมตีเวียดนามใต้ รู้จักกันในนาม "โฮจิมินห์เทรล" (ก็คือเครือข่ายเส้นทางที่ถือกำเนิดคราวสงครามปลดปล่อยกับฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐) แม้ว่าตลอดระยะสงคราม ฝ่ายเวียดกงไม่ยอมรับถึงการละเมิดเขตปลอดทหารตามสนธิสัญญาเจนีวา (ค.ศ ๑๙๕๔) ด้วยเส้นทางโฮจิมินห์ก็ตาม 
      แต่...จะแปลกอันใด เมื่อฝ่ายสหรัฐฯ ขณะนั้นก็ไม่ยอมรับต่อโลกว่า มีการบอมบ์เส้นทางดังกล่าวในราชอาณาจักรลาว อันเป็นรัฐซึ่งไม่ได้ประกาศสงคราม หลายปีติดต่อกัน
      ประชาชนตาดำ ๆ โดยเฉพาะชาวเผ่าซึ่งอาศัยบนที่ราบสูงบอละเวน หรือแนวเส้นทางโฮจิมินห์ ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าใครทิ้งระเบิดใส่พวกเขา และทำไม ?
      โฮจิมินห์เทรลเป็นดังเส้นทางปิศาจ ภายใต้ครอบคลุมของป่าทึบและหมอกควัน ทั้งยังเปลี่ยนแปลงเสมอเพื่อหลบหลีกการโจมตีของทหารอเมริกัน ด่านเข้า-ออกก็หลายจุด กินพื้นที่ตลอดทิวเขาซีกตะวันออกของลาวตั้งแต่แขวงคำม่วน สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จนถึงอัดตะปือซึ่งอยู่ตอนใต้สุด และที่คนนึกไม่ถึงคือ เวียดกงใช้จักรยานลำเลียงข้าวของ แต่ละคันบรรทุกหนักกว่า ๒๐๐ กิโลกรัมตลอดเส้นทางหลายร้อยกิโลเมตร กระทั่งคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นฝ่ายมีชัย พร้อมกับสถาปนารัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นในประเทศอินโดจีนถ้วนทั่ว
(คลิกดูภาพใหญ่)       ทุกวันนี้เราอาจพบเห็นรูป ประธานโฮจิมินห์* ผู้ถูกยกย่องเป็น "ผู้นำแห่งอินโดจีน" เคียงข้างรูป คาร์ล มาร์กซ์ เลนิน ตามฝาเรือนหรือห้องการแขวง เป็นตัวแทนถึง "เส้นทางโฮจิมินห์เก่า" ไม่นับซากยานลำเลียงที่ปล่อยทิ้งร้างข้างสำนักเมือง หรือที่ดัดแปลงไปเป็นบักอีกมาก 
      โฮจิมินห์เทรลยังคงปรากฏ--ในรูปของทางลาดยาง, เคยลาดยาง, ดินลูกรัง ตลอดจนทางม้าต่าง บางหมู่บ้านก็กลายเป็นเมืองหรือตัวแขวง ช่องทางบางจุดก็เปิดเป็นด่านสากล ไม่มิบเม้มเหมือนก่อน เช่นที่บ้านน้ำพาว (สุดทางหมายเลข ๘) จงหลอ (สุดทางหมายเลข ๑๒) และในอนาคตเมื่อทางสายดักจึงเสร็จก็จะเปิดเป็นด่านสากลเช่นกัน นั่นหมายถึงพ่อค้า คนเดินทางไม่ว่าถือสัญชาติใด หากมีเอกสารตราประทับรับรองก็สามารถผ่านแดนได้
      ...สิ่งของผ่านทางต่างหากที่เปลี่ยนไป คนลาวจากกลางจรดใต้ในวันนี้ต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคจากเวียดนาม หรือจีนผ่านเวียดนาม โดยเข้ามาทางลาวบาว ตามทางหมายเลข ๙ (แขวงสะหวันนะเขต) เป็นหลัก และต้องการปูนซีเมนต์ เครื่องสุขภัณฑ์ เหล็ก อุปกรณ์ก่อสร้าง และของกินบางอย่างจากไทย 
      ขณะเดียวกัน...ถ้าเราผ่านเส้นทางสายหลักสักเส้น เป็นต้องได้เห็นรถซุงแล่นเป็นคาราวาน ไม้เหล่านั้นจะถูกนำไปแปรรูปก่อนส่งออกไปยังปลายทาง-ไทยหรือเวียดนาม ลาวมีเพียงไม้ กาแฟ หมากจอง เปลือกบง** รวมถึงไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้นไว้ถ่วงดุลการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
      หลังจาก (อดีต) สหภาพโซเวียตปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจและการเมือง พร้อมกับลดความช่วยเหลือที่เคยให้ประเทศในค่ายเดียวกัน ในปี ๑๙๘๖ ลาวได้เข้าสู่ยุค "จินตนาการใหม่" (New Thinking Policy) เปิดรับความช่วยเหลือและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการปรับนโยบายควบคู่ไปกับการปรับนโยบายของเวียดนาม พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า "กลไกเศรษฐกิจใหม่" มาใช้พัฒนาประเทศ สาระสำคัญคือเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ มาสู่การกระจายอำนาจในการตัดสินใจ และเปิด
        โอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจทั้งภายในและกับต่างประเทศ โดยรัฐเพียงควบคุมหน่วยเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างการเงิน การธนาคาร ฯลฯ เท่านั้น
      ในแผนพัฒนาระยะต่อมา ผู้นำรัฐบาลตั้งปณิธานว่า จะให้ประชาชนลาวหลุดพ้นภาวะยากจนให้ได้ ภายในปี ๒๐๒๐ ยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก มุ่งไปที่ไฟฟ้าพลังน้ำและไม้ ที่มีประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญ จากตัวเลขที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐบาลลาว นำเอาทรัพยากรทั้งสอง มาพัฒนาก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
      อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผู้นำลาวกังวลเสมอมา คือ ประเทศของเขาไม่มีทางออกสู่ทะเล 
      คนลาวบอกผมว่า "มองไปไสบ่มีทะเล มีแต่ป่าไม้เขียว"
        * ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ (๑๘๘๐-๑๙๖๙) อดีตผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
      ** หมากจอง บางคนเรียกพุงทะลาย พบตามป่าดิบในภาคอีสานรอยต่อไทย ลาว กัมพูชา คนจีนนำมาแช่น้ำแล้วดื่ม, เปลือก (ต้น) บงตากแห้ง นำมาบดเป็นส่วนผสมในการทำธูป
 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       "โครงสร้างการบริการ คมนาคม สื่อสาร แผนการใน ๕ ปี ๑๐ ปี และ ๒๐ ปี ลาวจะสร้างถนนเชื่อมไปหมด ทางเหนือก็เชื่อมต่อเวียดนาม จีน ลงมาผ่านอุดมชัยมาเมืองไทย เป็นถนนดีเพื่อเป็นบริการทางผ่าน"
      สุทธิเดช พรหมราช กงสุลใหญ่ สปป. ลาว กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "วิสัยทัศน์กัมพูชา สปป. ลาว เวียดนาม และการปรับตัวของนักลงทุนไทย" ธนาคารแห่งประเทศไทย, ๒๐๐๑


      เมื่อกลับไปเยือน "เซกอง" อีกครั้งโดยมีโจทย์เรื่องไม้ ๆ เขื่อน ๆ เป็นเพื่อน ผมเดินทางออกจากด่านช่องเม็ก อุบลฯ เข้าเมืองปากเซ จากนั้นจับรถต่อไปตามทางหมายเลข ๑๖ จนถึงตัวเมืองละมาม ศูนย์กลางของแขวงเซกอง ซึ่งทางลาดยางโดยตลอด ทางสายใต้ฝั่งตะวันออกนี้จะไปสิ้นสุดยังเมืองสามัคคีไซ แขวงอัดตะปือ ระยะทาง ๗๗ กิโลเมตรจากเซกอง 
      บุคคลแรกที่ผมนึกถึงคือท่านวีพอน จออาสาน ปัจจุบัน "ลุงวีพอน" เป็นรองประธานแนวลาวสร้างชาติ แขวงเซกอง ท่านเคยเป็นครูและเคยเป็นเจ้าเมือง (นายอำเภอ) อยู่ที่กะลึม 
      อาจารย์ที่พาผมไปรู้จักลุงวีพอนเมื่อสามปีก่อนเคยเล่าว่า ผู้นำชนเผ่าทางใต้ที่ต่อสู้อย่างเข้มแข็งในสงครามปลดปล่อยและรอดชีวิต ปัจจุบันได้รับความดีความชอบเป็นระดับบิ๊ก ๆ ของแขวง ลุงวีพอน ชาวเผ่ากะตูก็คนหนึ่ง ท่านมีหน้าที่ดูแลงานหลายภาคส่วน ไม่ว่าโครงการน้ำสะอาดและสิ่งแวดล้อม โครงการต้านเอดส์ ฯลฯ น่าจะช่วยเหลือผมได้
      ลุงแกคุยถึงถนนเซกอง-ดักจึงที่กำลังจะสร้างว่า ปรกติทางเส้นนี้จะใช้ได้เฉพาะหน้าแล้ง พอหน้าฝนจะถูกตัดขาดเนื่องจากเป็นโคลนลื่น น้ำในลำธารไหลแรง ช่วงฝนตกหนักจึงขนสินค้าจากเวียดนามไม่ได้ หากมีถนนก็จะสะดวก สินค้าราคาถูกลง แต่ด้านหนึ่งก็กังวลว่า นักท่องเที่ยว กรรมกรสร้างทางที่หลั่งไหลเข้ามาจะนำโรคเอดส์มาด้วย ระยะนี้จึงต้องรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน 
      "ครั้นมีทางใหญ่แล้ว บ่แม่นหมายถึงความสะดวกอย่างเดียว จะต้องมีอันสับสน มีนักท่องเที่ยวที่อาจเข้าไปกระทำบ่ดี หรือโฆษณาใส่ร้ายป้ายสี" แกพูดและบอกด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นถนน ชลประทาน เขื่อนไฟฟ้า เมื่อจะทำเราก็ต้องเสียพื้นที่ป่าไม้ไป ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะมีการปลูกไม้ทดแทน
(คลิกดูภาพใหญ่)       นอกจากนี้ ที่โรงแรมเซกองสุกสำลาน ที่พักระดับมาตรฐานแห่งเดียวของแขวง ผมยังได้พบนายวิทยากร ทองเสน นักการเมืองท้องถิ่นจากกาฬสินธุ์ เดินทางมาในนามของวิทยากรกรุ๊ป อินเตอร์เนชันแนล คู่สัญญาก่อสร้างถนนของรัฐบาล ระยะเวลาก่อสร้าง ๕ ปี ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๒-๒๐๐๗ ในลักษณะทุนให้กู้ยืม ชำระคืนภายใน ๑๕ ปี 
      "จากที่นี่จะตรงไปท่าเรือน้ำลึกดานัง ประเทศเวียดนาม ระยะทางประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตรเท่านั้น" นายวิทยากรให้ความเห็น "ต่อไปถนนสายนี้จะเป็นเส้นทางหลักออกสู่ทะเลของลาวใต้ และเซกองจะไม่ใช่เมืองปิดอีกต่อไป 
      "ในอนาคตแม้แต่ไม้ก็ต้องส่งออกทางท่าเรือดานัง...ไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หมายถึงว่าผลผลิตทางการเกษตรทางภาคอีสานของไทยที่ขายให้จีน ญี่ปุ่นออกทางนี้จะลัดมาก น้ำมันที่จะเข้ามาก็ผ่านมาทางเวียดนาม ลาว ทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลง"
      เขาเห็นว่าการที่ญี่ปุ่นลงทุนสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ปากเซ แขวงจำปาสัก มูลค่ากว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท ก็ถือเป็นการวางแผนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าทางทะเลผ่านลาว เขมร เข้าภาคอีสานของไทยโดยไม่ต้องอ้อมลงอ่าวไทย
      สำหรับข้อวิจารณ์ว่ารัฐบาลลาวใช้ไม้ที่มีอยู่มากมายแลกกับสัญญาสร้างทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นายวิทยากรยืนยันว่าไม่จริง "เมื่อก่อนอาจมีการเอาไม้แลกทาง แต่ตอนนี้องค์กรระหว่างประเทศไม่ยอมหรอก ไม้ส่วนที่ตัดจากการสร้างถนนนั้นเปิดให้เอกชนเข้าไปสัมปทาน ถ้าได้รับอนุมัติก็สามารถนำออกนอกประเทศ หรือความเป็นจริงรัฐบาลลาวอาจขายไม้แล้วนำเงินมาจ่ายเป็นค่าสร้างถนนก็ได้" 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เป้าหมายของโครงการหมายเลข ๑๘ บี ก็คล้ายคลึงกัน คือการนำแขวงอัดตะปือ "ออกสู่ทะเล" ทางด้านท่าเรือกวางงายของเวียดนาม ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ลาวเห็นคล้อยตามกันแต่ในด้านดีของถนน แม้มันตัดผ่านป่าเขา ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย พวกเขาเห็นว่าน่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น โดยปราศจากผลกระทบทางวัฒนธรรม
      "ถนน ๑๘ บีจะกว้าง ๙ เมตร แต่ระหว่างก่อสร้างต้องเปิดหน้าดินกว้างประมาณ ๒๐ เมตร" ท่านอัมพอน ไซมะนี รองหัวหน้าโครงการหมายเลข ๑๘ บี กล่าวกับผมที่แคมป์สร้างทางเมืองไซเสดถา (ไชยเชษฐา) สำหรับงบประมาณการก่อสร้างนั้นกู้ยืมจากเวียดนาม และมีบริษัทจากเวียดนามเป็นแกนหลักในการก่อสร้าง 
      น่าสนใจว่า ระยะทาง ๑๑๓ กิโลเมตรภายในลาวของถนนเส้นนี้จะตัดผ่าน "ดงอัมพาม" เป็นระยะทาง ๕ กิโลเมตร ป่าผืนนี้ดำรงสถานะเขตอนุรักษ์ชีวะนานาพันธุ์แห่งชาติ (National Biodiversity Conservation Area / NBCA) เนื้อที่ ๒ แสนเฮกตาร์ ถือว่าเป็น NBCA ที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีความสมบูรณ์มั่งคั่งของชีวิตพันธุ์ รวมทั้งเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ 
      เหตุผลที่รัฐกรลาวอธิบายว่าทางหมายเลข ๙ (สะหวันนะเขต-ชายแดนเวียดนาม) ใช้ขนถ่ายสินค้าห้าแขวงทางภาคกลาง ส่วนทางหมายเลข ๑๘ บี จะรับใช้สี่แขวงภาคใต้ เพื่อการพัวพันค้าขายกับเวียดนามนั้น เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ผู้คร่ำหวอดพื้นที่ลาวใต้ซึ่งผมพบที่เวียงจันทน์ วิจารณ์อย่างน่าฟังว่า
      "นอกเหนือจากทางหมายเลข ๙ ลาวจะต้องการถนนไปออกทะเลอีกกี่สาย มีสินค้าอะไรมากมายที่ต้องส่งออก งบประมาณอันมหาศาลในการก่อสร้าง เหตุใดไม่นำไปพัฒนาด้านอื่นที่ยังขาดแคลนมาก เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล" เขาตั้งคำถามด้วยว่า ได้มีการดูแลผลกระทบที่จะเกิดกับคนในท้องถิ่นนั้นหรือไม่ ความไม่รู้เท่าทันอาจทำให้พวกเขาต้องสูญเสียที่ดินซึ่งถนนตัดผ่าน "และประเด็นสำคัญคือโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้จะต้องกู้เงินต่างประเทศ ลาวจะชดใช้คืนอย่างไร...ถ้าไม่ขายทรัพยากรไม้อีก
      "ถนนจะถูกใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการตัดไม้และขนไม้ออกไปเสมอ"
 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       "ประเทศเราพื้นฐานเป็นกสิกรรม...สิ่งที่ธรรมชาติกำหนดให้ประเทศลาวมีมา คือ ภูผา ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร รัฐบาลจึงมีแผนใช้ต้นทุนเหล่านี้" 
      บุนเลือน จันทะจัก แห่งกระทรวงคมนาคม สปป. ลาว ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียน ที่แคมป์สร้างทางไซเสดถา แขวงอัดตะปือ, พฤษภาคม ๒๐๐๒


      วันหนึ่งผมและเพื่อน ๆ รอข้ามบักเข้าเมืองสามัคคีไซ ข้างรถของเรามีขบวนจักรยานค้าเร่ ของพ่อค้าเชื้อสายญวน ที่กลับจากตระเวนขายกระป๋องพลาสติกตามหมู่บ้าน
      บางครั้งผมเห็นจักรยานเร่ขายเปลญวน แล้วอดนึกยกย่องความมานะของพวกเขาไม่ได้--นี่แหละ ...อดีตที่ยังมีลมหายใจของทางลำเลียงโฮจิมินห์ของจริง
      แต่รถถีบคันหนึ่งน่ะสิ...ด้านท้ายบรรทุกหม้อสำริดใบเขื่อง ลายตรงขอบด้านบนคุ้นตา คาดเดาไม่ยากว่า "บาร์เตอร์" มาจากหมู่บ้านชาวเผ่า เขาเห็นผมถ่ายรูปเลยบอกขาย ๑ แสนกีบ--ไม่เต็ม ๕๐๐ บาทด้วยซ้ำ ผมนึกไม่ออกว่าโบราณวัตถุอายุอาจเก่าถึง ๑,๐๐๐ ปี สภาพดีชิ้นนี้ หากตกถึงปากเซ, กรุงเทพฯ ราคาจะทวีเป็นกี่สิบเท่า 
      เมืองสามัคคีไซ เขตเทศบาลของแขวงอัดตะปือ ตั้งอยู่เกือบจะกลางโอบล้อมของน้ำเซกอง บริเวณน้ำเซกะมานไหลลงสบเซกองพอดี ทัศนียภาพแคมเซยามเย็นจึงงดงาม...จนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงบรรยากาศเหงา ๆ ของแคมเซสายเดียวกันที่เมืองกะลึม 
      บางวันผมถึงกับออกมารอริมน้ำตั้งแต่ตะวันเริ่มคล้อย และบางวัน...ใจก็เต้นโครมครามกับภาพรถบรรทุกไม้ กำลังทยอยข้ามบัก ไม้ซุงแต่ละต้นใหญ่ขนาด ๒-๓ ต้นต่อคันรถสิบล้อทั้งนั้น
      "ฤดูแล้งจะต้องรีบขนไม้ข้ามน้ำ พอถึงฤดูฝนแล้วทำไม่ได้" คนของบริษัทสัมปทานแห่งหนึ่งบอก 
      ทุกวันจึงมีรถซุง รถไม้แปรรูปรอเข้าคิวข้ามแม่น้ำ โดยมาจากสองทาง คือ ไซเสดถา (ซึ่งกำลังสร้างทาง ๑๘ บี) และภูวง อันเป็นแหล่งสัมปทานไม้ที่สำคัญ และในอนาคตอันใกล้ อัดตะปือก็จะมีสะพานข้ามเซกองเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมต่อทางหมายเลข ๑๘ บี (เช่นเดียวกับจุดข้ามแม่น้ำเซกอง บนทางสายเซกอง-ดักจึง) หลังจากตอม่อสะพานอันแรกเริ่มโผล่ให้เห็น 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ไม้ซุงที่ยังไม่แปรรูปจะถูกส่งเข้าโรงเลื่อยในเมืองหรือส่งไปยังปากเซ ส่วนไม้แปรรูปจะส่งสู่ชายแดนทันที ตอนนี้ลาวมีนโยบายให้ส่งออกเฉพาะไม้แปรรูปเท่านั้น เพื่อที่ภายในประเทศจะได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
      ที่บอกว่า "ใจเต้นโครมคราม" ก็เนื่องมาจากในเมืองไทย และอีกหลายประเทศหมดโอกาสเห็นภาพเช่นนี้แล้ว และผมก็ไม่นึกว่า พ.ศ. นี้จะมีใครหน้าไหนอนุญาตให้สัมปทานทำไม้  โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็งจากป่าเขตร้อนในประเทศตัวอีกต่อไป 
      มันทำให้ผมเชื่อมโยงกับที่นักธุรกิจไทยคาดการณ์ว่า ทรัพยากรป่าไม้ของลาว สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อีก ๒๐ ปี นึกถึงผลการสำรวจทางดาวเทียมล่าสุด ในปี ๑๙๘๙ ระบุว่าประเทศลาวเหลือพื้นที่ป่า ๔๗ เปอร์เซ็นต์เศษของเนื้อที่ทั้งหมด หรือคิดเป็น ๑๑.๖ ล้านเฮกตาร์ 
      ตามรายทางตั้งแต่เซกองถึงดักจึง, อัดตะปือ, ภูวง หรือดงอัมพาม ทุก ๆ ที่จะเห็นไม้ซุงกองเป็นภูเขาเลากา ไม่ว่าจะเป็นไม้แดง ไม้แคน หรือไม้ดู่ ล้วนเป็นแม่ไม้ ขนาดใหญ่โตจนไม่น่าเชื่อว่าในชีวิตจะได้เห็นซุงท่อนขนาดนี้อีก แล้วก็โยงไปถึงเหตุแห่งการตัดถนน เด็ก ๆ ก็เดาออกว่า ระหว่างถนนดินกับถนนลาดยาง อย่างไหนควรจะเอื้ออำนวยต่อรถสิบล้อบรรทุกซุงมากกว่ากันในฤดูฝน แต่ขณะเดียวกัน เจ้าพนักงานของรัฐต่างพูดว่า การทำลายป่าส่วนใหญ่เกิดจากการทำไร่หมุนเวียนของคนลาวเทิง ซึ่งใช้วิธีแผ้วถางป่าแล้วเผา
      จากการสอบถามเจ้าหน้าที่กองขุดค้นไม้ของรัฐ แขวงอัดตะปือ ได้ความว่าตั้งแต่ปี ๑๙๙๙ เป็นต้นมา แขวงทางใต้ คือ จำปาสัก สาละวัน เซกอง และอัดตะปือให้สัมปทานไม้แขวงละประมาณ ๒๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร (เมตรก้อน) ต่อปี โดยปี ๒๐๐๑ แขวงอัดตะปือ ให้สัมปทานไม้ไป ๖๓,๕๐๐ เมตรก้อน ปี ๒๐๐๒ เสนอแผนการขุดค้นทั้งสิ้น ๑ แสนเมตรก้อน สัมปทานไม้ของลาวจะเริ่มจากแขวงต่าง ๆ ทั้ง ๑๗ แขวงให้กองขุดค้นไม้ฯ ทำการสำรวจพื้นที่ป่าแล้วยื่นขออนุมัติไปยังส่วนกลางที่เวียงจันทน์ รัฐบาลเป็นผู้อนุมัติและตั้งราคาขาย จากนั้นทางแขวงก็เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาซื้อโควตาสัมปทาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากประเทศไทย ลาว และเวียดนามบางส่วน 
(คลิกดูภาพใหญ่)       รัฐกรบางคนบอกว่าตัวเลขที่อนุมัติ เมื่อตัดจริง ๆ อาจไม่ได้ครบตามจำนวน เนื่องจากขณะนี้ป่าไม้เหลือน้อยลง (ไม้ใหญ่กระจายตัวทำให้ไม่คุ้มค่าการตัด) ไม้ราคาแพง ไม่คุ้มต่อการส่งออก ขณะที่คนจากองค์กรเอกชนพูดประเด็นนี้ว่า ในทางปฏิบัติจริง หลายพื้นที่มีการตัดไม้เกินกว่าที่ระบุในโควตาไปมาก
      แม้โดยหลักการ การตัดและชักลากไม้ จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่หรือทำในนามของกองขุดค้นไม้ฯ บริษัทสัมปทานจะเข้าไปตัดเองไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติแทบเป็นจริงไปไม่ได้ เพราะคนและเครื่องไม้เครื่องมือของกองขุดค้นไม้ฯ มีจำกัด ไม่อาจสนองความต้องการของสัมปทานได้ทั่วถึงและทันการณ์ จึงเป็นบริษัทเอกชนเองนั่นละเป็นผู้ลงมือตัด 
      ไม้ที่มีราคาเป็นที่ต้องการของตลาด คือ ไม้แดง ไม้ดู่ ไม้แคน (ตะเคียน) ไม้ยาง ไม้จิก ไม้บาก รวมทั้งไม้เนื้ออ่อน อย่างไม้แปก (สน) ไม้แต ไม้แตะคา ส่วนไม้คะยูง ไม้ปะดง ไม้โลงเล็ง เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมาย ลูกจ้างคนหนึ่งของบริษัทจูงดง (เวียดนาม) สัมปทานรายใหญ่ของแขวงเล่าว่า บริษัทเขามีโรงเลื่อยแปรรูปไม้ในพื้นที่ สัปดาห์หนึ่ง ๆ จะขนไม้ออกมาราว ๒๐-๓๐ เที่ยว ราคาขายไม้แปรรูป เมตรก้อนละประมาณ ๙,๐๐๐ บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูง
      แม้รัฐบาลกำหนดให้เจ้าของสัมปทานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปลูกไม้ทดแทน ๒ เหรียญสหรัฐต่อเมตรก้อน และในห้องการป่าไม้แขวงเองมีตารางแจงยอดพื้นที่การปลูกป่าแต่ละปี เป็นต้นว่าปีละ ๗๐ เฮกตาร์บ้าง ๑๕๐ เฮกตาร์บ้าง หรือล่าสุด ปี ๒๐๐๑ ปลูกไป ๔๑๕ เฮกตาร์ก็ตาม ทว่ากิจกรรมนี้ก็ถูกแย้งว่าไม้ที่ปลูกทดแทนส่วนใหญ่เป็นไม้สัก ไม้วิก (ยูคาลิปตัส) ซึ่งไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงไม่ใช่ป่า ควรเรียกว่า "สวน" มากกว่า และเป็นแต่เพียงเพิ่มตัวเลขพื้นที่ป่าขึ้นตบตาเท่านั้น ข้อสนับสนุนเรื่องนี้มาจากการศึกษาชุมชนแถวเซบั้งไฟ แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งประชาชนเคยเก็บเห็ดเผาะส่งขายไทยเป็นอาชีพเสริม เมื่อให้สัมปทานไม้และมีการปลูกป่าทดแทน ก็ไม่สามารถเก็บเห็ดเผาะได้ต่อไป
      ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) เปรมฤดี ดาวเรือง ได้แสดงความเห็นว่า นโยบายปลูกไม้ทดแทนยิ่งทำให้พิจารณาได้ถึงแนวคิดแบบตลาดเสรีที่ไหลบ่าเข้ามา ซึ่งรัฐมองป่าไม้ว่าเป็น "ทรัพยากรป่าไม้" มองการใช้ป่าอย่างยั่งยืนว่าหมายถึงการทำไม้ (logging) อย่างยั่งยืน ต่างจากชาวบ้านที่มองการใช้ป่าไม้อย่างยั่งยืนไปถึงลูกถึงหลาน 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       และเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอในเวียงจันทน์เสนอความเห็นว่า เรามักจะมองกันที่ตัวเลข จำนวนเปอร์เซ็นต์เนื้อที่ป่า ซึ่งจะทำให้พลาดประเด็นสำคัญ เพราะในการสัมปทานจะตัดเฉพาะไม้ใหญ่หรือขนาดที่เหมาะสม เหลือไว้แต่ไม้เล็ก ๆ ซึ่งชาวบ้านน่าจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ดังนั้นตัวเลขของพื้นที่ป่าอาจยังคงที่หรือไม่ลดลง "แต่คุณภาพของป่าไม้เปลี่ยนไป"
      นอกจากนี้ ช่วงสองปีที่ผ่านมาสัมปทานไม้ของรัฐยังกระทบถึงโครงการ "แบ่งดินแบ่งป่า" ซึ่งเป็นการมอบป่าไม้ให้ประชาชนดูแล (ป่าชุมชน) เพราะมีการอนุมัติให้ผู้ได้สัมปทานเข้าตัดไม้ ในผืนป่าสงวนของชุมชนมากมายทั่วประเทศ โดยที่ประชาชนไม่อนุญาต ซึ่งบางทีเหตุของการทำเช่นนั้นอาจเนื่องมาจากป่าไม้ที่สมบูรณ์ (และตัดสะดวก) เหลืออยู่ไม่เพียงพอแล้ว ผลคือทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นนโยบายอนุรักษ์ป่าไม้ของรัฐอีกต่อไป
      เอ็นจีโอผู้นี้กล่าวด้วยว่า การที่รัฐใช้นโยบายกระจายอำนาจให้แต่ละแขวง จัดการทรัพยากรของตนตามนโยบาย ๐๑* น่าจะเป็นผลดีในแง่การป้องกันป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย แต่มีจุดอ่อนตรงแต่ละแขวงจำเป็นต้องหารายได้ของตัวเองมาใช้ (ผสมกับงบฯ จากส่วนกลาง) ในโครงการพัฒนาต่าง ๆ แล้วแผนพัฒนาของแขวงมักไม่สอดคล้องกับรายได้ในกระเป๋า เมื่อต้องหาเม็ดเงินให้พอเพียงโดยเร็ว วิธีดีที่สุดคือ "ตัดไม้" โดยการเร่งสำรวจและขออนุมัติโควตาจากส่วนกลาง จึงกลายเป็นว่าปริมาณไม้ที่ขึ้นบัญชีตัดในแต่ละปีขึ้นอยู่กับตัวเงินตามแผนพัฒนา ไม่ใช่ตัดตามหลักวิชาการ
      เขาสรุปว่า "สิ่งที่ถูกที่ควรคือการสำรวจป่าไม้ก่อนว่ามีไม้ที่ควรตัดปริมาณเท่าไหร่ ทว่าวิธีคิดแบบที่เป็นอยู่ทำให้ต้องผลาญป่าในทุกที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา" 
      .......................................
      โดยนโยบายแล้ว แม้ความต้องการไม้ในตลาดโลกจะไม่จำกัด ราคาก็ดีดสูงขึ้นทุกขณะ แต่ดูเหมือนว่าผู้นำรัฐบาลไม่สบายใจนักต่อแรงต้าน แรงกดดันจากองค์กรเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนบางแขนง
      ดังนั้นการสนับสนุนธุรกิจป่าไม้จึงไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเมื่อเทียบกับ "เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ" ในความคิดของผู้นำลาว
        * นโยบายการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นของรัฐบาลลาว เริ่มต้นในปี ๒๐๐๑
 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       "ช่วยปลา แต่ฆ่าทารก !"
      คำขวัญเย้ยหยันนักสิ่งแวดล้อมจากรัฐกรลาวที่โกรธแค้น โต้ตอบการคัดค้านแผนสร้างเขื่อนของลาว บนสาขาแม่โขง--ซึ่งบางทีอาจไร้หลักฐานยืนยัน


      คุณคงจำลำน้ำเซกะมานได้--ในอิริยาบถที่เธอไหลเอื่อย ๆ ลงซบเซกองที่เมืองสามัคคีไซ บริเวณคุ้มเมืองใหม่ ทั้งสองถือเป็นลำน้ำสาขาใหญ่ที่สุดของแม่โขงตอนล่าง เมื่อรวมกับน้ำเซซานในประเทศเขมร ตัวเลขปริมาณน้ำที่ผันเข้าสู่แม่โขงสูงถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำแม่โขงทั้งหมด (สาขาแม่โขงในลาวทั้งหมดป้อนน้ำไม่น้อยกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ลงสู่แม่โขงตอนล่าง) 
      แต่ภาพที่ผมยังไม่ได้ฉายให้เห็นโดยละเอียดได้แก่เหล่าคนหาปลา ซึ่งหาอยู่หากินด้วยสวิง ซอง ตาข่าย ฯลฯ สามารถกล่าวได้ว่าปลาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนทุกเพศทุกวัยแถบนี้ ชาวป่าที่ตัดไม้ไผ่จากดงลึกแถบต้นน้ำ แล้วผูกแพล่องลงมาเพื่อสานแคร่ สานเล้าไก่ขายยังเมือง ที่ขาดเสียมิได้ คือกลุ่มสตรีเพาะถั่วงอกบนหาดทรายชายน้ำ เหมือนกับบางจังหวัดริมฝั่งโขงของไทย 
      จุดที่เซกะมานไหลผ่านช่องเขา ห่างจากเทศบาลเมืองสามัคคีไซทางตะวันออกราว ๕๒ กิโลเมตร คือจุดที่โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ "เซกะมาน ๑" จะอุบัติขึ้นในไม่ช้า...
      เดิมทีแผนนโยบายแม่บทเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติของลาว ปี ๑๙๙๓-๒๐๐๐ กำหนดให้มีการ "พัฒนา" แหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ๑๒ โครงการ แบ่งออกเป็นโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน ๓๐ แห่งทั่วประเทศ จากการประมาณการเบื้องต้นของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดว่า เขื่อนเหล่านี้จะมีศักยภาพผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ ๘,๕๒๐ เมกะวัตต์* ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอินโดจีนและไทย โดยมูลค่าเงินลงทุนก่อสร้าง ๙,๗๘๙ ล้านดอลลาร์นั้นจะเปิดให้บริษัทเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุน รัฐบาลลาวต้องการให้ทุกโครงการสำเร็จภายในปี ๒๐๐๗ ซึ่งถ้าสามารถพัฒนาแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำได้บรรลุตามเป้าหมาย คาดกันว่าจะทำให้ลาวมีรายได้ เฉพาะการส่งออกกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้ต่างประเทศ อย่างน้อยปีละ ๒,๕๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ
        * โดยเฉลี่ยกระแสไฟฟ้า ๑ เมกะวัตต์เพียงพอสำหรับใช้ในบ้านเรือนชาวอเมริกัน ๑,๐๐๐ หลังใน ๑ ปี
 (คลิกดูภาพใหญ่)       มีข้อสังเกตว่า ในรายชื่อเขื่อน ๓๐ แห่งนั้น ส่วนใหญ่เทมาลงบริเวณตอนกลางและตอนใต้ เฉพาะบนสายน้ำเซกองและเซกะมานมีอย่างละสี่รายชื่อ รวมกับห้วยเฮาะและเซเปียน-เซน้ำน้อย ใกล้ ๆ กันอีกสองเขื่อน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสภาพฝนฟ้าที่เอื้ออำนวย บวกกับภูมิประเทศลาวตอนกลางและตอนล่างส่วนใหญ่เหมาะสม ที่ว่าเหมาะสมคือภูเขามีลักษณะถูกตัดเป็นลูก ๆ ไม่ติดกันเป็นเทือกเขายาว ทำให้เกิดหุบเขารูปตัววี (V-shape) และมักมีสายน้ำไหลผ่าน ส่วนที่เป็นที่ราบสูงมักเกิดเป็นคอคอดระหว่างเขาซึ่งมีลำน้ำสายใหญ่ไหลผ่าน ว่ากันว่าลักษณะเช่นนี้ทำให้การสร้างเขื่อนใช้พื้นที่ไม่มากนัก แต่สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นจำนวนมาก
      นอกจากลักษณะทางกายภาพเหมาะต่อการสร้างเขื่อนแล้ว สิ่งสำคัญที่ผลักดันให้ลาวมุ่งขยายการก่อสร้างเขื่อนอย่างจริงจังอีกประการ ได้แก่ความต้องการรายได้เพื่อการพัฒนาประเทศ ในปี ๑๙๙๕ ลาวมีรายได้ประชากรเฉลี่ย ๓๘๐ ดอลลาร์ต่อหัวต่อปี แต่ปี ๒๐๐๐ ลดเหลือเพียง ๓๕๐ ดอลลาร์ (ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ) ถือว่าต่ำเกือบจะที่สุดในเอเชีย ส่วนหนึ่งของรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งกระแสไฟฟ้าออกจำหน่ายต่างประเทศ
      ลูกค้ารายใหญ่ของลาวก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้กำลังดำเนินแผนแสวงหาแหล่งพลังงานสำรองในอนาคต ในปี ๑๙๙๖ ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลทั้งสอง เรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าในลาว ซึ่งจะขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์ เป็น ๓,๐๐๐ เมกะวัตต์ ภายในปี ๒๐๐๖ ภาวะฟองสบู่แตกนับแต่กลางปี ๑๙๙๗ ทำให้การใช้ไฟฟ้าของไทยไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ คณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าในลาว (คปฟ.-ล) จึงขอเจรจาเลื่อนการรับซื้อไฟฟ้า จากเดิมที่กำหนดรับซื้อจำนวนทั้งสิ้น ๓,๐๐๐ เมกะวัตต์ภายในปี ๒๐๐๖ ปรับเปลี่ยนเป็นแบ่งการรับซื้อออกเป็นสองช่วง คือภายในปี ๒๐๐๖ ประมาณ ๑,๖๐๐ เมกะวัตต์ และกลางปี ๒๐๐๘ รับซื้ออีกประมาณ ๑,๗๐๐ เมกะวัตต์ (ปัจจุบันลาวส่งไฟฟ้าขายไทยได้แล้ว ๕๐๐-๖๐๐ เมกะวัตต์) 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ครั้งหนึ่งในการพูดคุยเรื่องเขื่อนสามหุบ เขื่อนยักษ์ในจีน ดร. สุบิน ปิ่นขยัน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาบริษัทวิศวกรรมชลประทานแห่งหนึ่ง บอกผมว่า ทุกวันนี้ภายในประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว ๒๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ ขณะที่ฤดูร้อนช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามากสุดจะตก ๑๖,๐๐๐ เมกะวัตต์เศษ อัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ เมกะวัตต์ หากเป็นเช่นนี้ ไทยจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองในอีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีข้างหน้าอย่างเร่งด่วน 
      เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของแขวงอัดตะปือสองโครงการ คือ เขื่อนเซกะมาน ๑ และเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย อยู่ในแผนการรับซื้อช่วงที่ ๒ ด้วย โดยเฉพาะเซกะมาน ๑ ถือเป็นโครงการนำร่องสำหรับเขื่อนบนลุ่มน้ำเซกองด้วย ตามความคาดหมายของเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของแขวง หลังจาก "อนามัยอ่างน้ำ" หรือตัดไม้เหนืออ่างเก็บน้ำไปบางส่วนแล้วหยุดชะงักลง โครงการเซกะมานก็น่าจะเริ่มเดินหน้าต่อไปได้ในต้นปี ๒๐๐๓ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลง จะทำให้ลาวมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๕๐ ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ ๔๔,๖๐๐ ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน)
      ตามข้อมูลเดิม เขื่อนเซกะมาน ๑ ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ มีกำลังผลิตติดตั้ง ๔๖๘ เมกะวัตต์ แนวสันเขื่อนเป็นคอนกรีตอัดหิน สูง ๑๘๗ เมตร ซึ่งจะสูงเป็นอันดับสองของโลก สำหรับเขื่อนประเภทนี้ เมื่อกักเก็บน้ำเต็มปริมาณความจุ น้ำจะเอ่อท่วมเป็นอาณาบริเวณราว ๒๓๐ ตารางกิโลเมตร (เทียบกับเขื่อนน้ำเทิน ๒ แขวงคำม่วน น้ำจะท่วมพื้นที่ ๔๕๐ ตารางกิโลเมตร) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณตอนเหนือของเขตอนุรักษ์ฯ ดงอัมพาม และที่สำคัญได้แก่การอพยพคนพื้นถิ่นกลุ่ม "มอญ-เขมร" ออกไปประมาณ ๙ หมู่บ้าน ๘๑๒ คน
 (คลิกดูภาพใหญ่)       เท่าที่ผมมีโอกาสพูดคุยถามความเห็นคนลาว พบว่าไม่เพียงแต่ผู้บริหารประเทศเท่านั้นที่มีความหวังจาก "ไฟฟ้าน้ำตก" ความคาดหวังนั้นแผ่ซ่านทั่วไปในหมู่คน ไม่ว่าจะในเขตเทศบาลของแขวงเซกองหรืออัดตะปือ รัฐกร ร้านค้า เจ้าของโรงแรม ทุกคนคิดถึงแต่ข้อดีของการขายไฟ เพื่อจะนำเงินมาพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจจะดีขึ้น รัฐกรผู้ใหญ่บางคนตั้งความหวังลึก ๆ ว่า "ลาวจะเป็นศูนย์ส่งออกกระแสไฟฟ้าแห่งเอเชียในอนาคต" 
      "เวียงไซ" นักธุรกิจทำไม้บริษัทสีลาวง เห็นว่า ถ้าทำเขื่อนเซกะมานจะได้เอาไม้ออกอีก ๒-๓ แสนเมตรก้อนทีเดียว ขณะที่ผู้จัดการเกสต์เฮาส์สุกสมพอน ที่พักเล็ก ๆ หนึ่งในสี่แห่งภายในแขวง ถึงกับอ้างคำพูดของคนในรัฐบาลว่า "อีกหน่อยลาวจะเป็นอย่างประเทศบรูไน ที่ขายแต่น้ำมันอย่างเดียว ลาวขายแต่ไฟฟ้าก็รวย"
      สำหรับชนเผ่าตามชนบทแล้วไม่ค่อยมีปากเสียง ราวกับว่าแค่วุ่นวายกับปัญหาปากท้องเฉพาะหน้า หรือการต้องอพยพย้ายถิ่นอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่เป็นอันต้องคิดเรื่องอื่น สิ่งที่จะกระทบพวกเขาอย่างกว้างขวางขณะนี้ อาจมิใช่การที่บางส่วนต้องอพยพจากบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อน หากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะอพยพชนเผ่าบนภูดอยซึ่งเคยทำไร่หมุนเวียน ลงมาทำนาบนพื้นราบให้หมดภายในปี ๒๐๐๕ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า และความอดอยาก แต่ปัญหาสำคัญคือ จะหาที่ราบจากไหนเพียงพอให้ชาวลาวเทิง
      .........................................
      เป็นที่รับรู้กันในปัจจุบันว่า การสร้างเขื่อนไม่อาจคิดได้ว่า เป็นโครงการเพื่อการพัฒนาภายในของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นกิจการข้ามพรมแดน ประกอบไปด้วยประเทศผู้ขายไฟฟ้า-ผู้ซื้อไฟฟ้า วิศวกร ผู้ก่อสร้าง ผู้ได้สัมปทานไม้บริเวณอ่างเก็บน้ำ และผู้ออกเงินกู้สำหรับโครงการ ซึ่งได้แก่ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เป็นหลัก ทั้งหมดเกี่ยวโยงกันด้วยผลประโยชน์และถูกเรียกขานในนามของ "บริษัทเขื่อนโลก" 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เช่นเดียวกับเขื่อนน้ำเทิน ๒ (แขวงคำม่วน) เขื่อนปากมูลของประเทศไทย หรือเขื่อนใหญ่แห่งอื่น ๆ เขื่อนเซกะมาน ๑ จะสร้างหายนะใหญ่หลวงต่อสภาพแวดล้อมของป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณ สัตว์ป่า ผืนป่าที่เต็มไปด้วยแม่ไม้ โดยยังมิได้ประเมินคุณค่าของป่าไม้อย่างแท้จริง นอกเสียจากจะเป็นไม้เศรษฐกิจที่ตีราคาได้เท่านั้น และโดยตัวของมันเอง โครงการนี้ย่อมขัดแย้งกับแผนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของรัฐบาลลาว โดยการประกาศเขตอนุรักษ์ชีวะนานาพันธุ์แห่งชาติ (NBCA) ๒๐ แห่ง เพื่อจะได้มีพื้นที่อนุรักษ์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ประเทศอีกด้วย 
      สำหรับหายนะต่อพันธุ์ปลา ตลอดจนสัตว์น้ำอื่น ๆ ดอกเตอร์ไทสัน โรเบิร์ต และ เอียน แบรด์ ผู้ศึกษาวิจัยพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขงและผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาในเขตร้อน รายงานตรงกันว่า แม่โขงและลำน้ำสาขาเป็นสายน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลามาก เป็นอันดับสองของโลกรองจากแม่น้ำแอมะซอน อาจมีถึง ๑,๒๐๐ ชนิด แม้ยังไม่มีการสำรวจความหลากหลายของพันธุ์ปลาในน้ำเซกอง เซกะมาน อย่างละเอียด แต่คาดว่าจะมีมากกว่า ๒๐๐ ชนิด หากประเด็นสำคัญก็คือ ภาพรวมของปลาในประเทศเขตร้อนส่วนใหญ่จะเป็นปลาอพยพ ซึ่งมักอพยพจากท้ายน้ำขึ้นไปเหนือน้ำเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ นอกจากเขื่อนจะตัดวงจรอพยพของปลาและวิถีธรรมชาติแล้ว มันยังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อถิ่นอาศัย (habitat) ของเหล่าสัตว์น้ำ ด้วยการเปลี่ยนระดับ หรือคุณภาพความขุ่น ความใสของน้ำ ทำให้ปลาต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรุนแรง 
      "เวลาคนพูดถึงผลกระทบจากเขื่อนต่อพันธุ์ปลา จะนึกถึงแต่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน แต่ใต้เขื่อนมักไม่พูดถึง..." เอียนพูด เขาหมายถึงชาวบ้านที่ทำประมง หรือหาปลายังชีพเป็นหลัก ทางท้ายน้ำจะได้รับความเดือดร้อน เหมือนที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างแล้วมากมาย ไม่ว่าเขื่อนปากมูล เขื่อนน้ำเทิน-หินบูน
(คลิกดูภาพใหญ่)       พาทริก แม็กคูลี ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมอันทรงคุณค่า Silenced River ได้กล่าวว่า บ่อยครั้งการอ้างประโยชน์ของเขื่อนขนาดใหญ่ได้กล่าวเกินจริงไปมาก เขายกหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า โดยเปรียบเทียบแล้วโคลนที่น้ำพัดพามาเหนือเขื่อน สามารถลดประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้อย่างรวดเร็ว ประเด็นโต้แย้งเรื่องโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องการทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินด้วยพลังน้ำ เพราะว่าเขื่อนขนาดใหญ่สามารถสร้างสภาพทางนิเวศที่ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งสามารถทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้น 
      และปลายปี ๒๐๐๐ คณะกรรมการเขื่อนโลก องค์กรที่ริเริ่มโดยธนาคารโลกและสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้ว การรายงานถึงความไม่เหมาะสม ในการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทินสองประเด็นสำคัญคือ การกักเก็บน้ำจะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการทำให้โลกร้อนขึ้น นอกจากนี้ยังจะทำให้ประชากรแถบนั้นสูญเสียที่อยู่อาศัย เผชิญกับความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากสารเคมีและพาหะนำโรคจะไหลลงขังในอ่างเก็บน้ำ 
      สิ่งนี้อาจจะเป็นนิมิตหมายที่ดี หากรัฐบาลลาว (รวมทั้งรัฐบาลไทย) นำมาพิจารณาถึงนโยบายการพัฒนาของตนว่า การมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และข้อบกพร่องของมันอาจทำให้ละเลยปัญหาสังคมและการเมืองขั้นพื้นฐาน ที่มีอยู่จริงในประเทศแถบที่ราบลุ่มแม่โขงก็เป็นได้ ไม่ว่าจะปัญหาด้านการศึกษาหรือสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ต้องใช้เงินมากมาย แต่ให้ผลการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างแท้จริง
        หมายเหตุ : คำพูดเปิดของบทที่ ๑ และ ๔ มาจาก หนังสือ Mekong ของ มิลตัน ออสบอร์น
  ขอขอบคุณ
        เปรมฤดี ดาวเรือง
      วิทยากร ทองเสน
      ทศพร โชคชัยผล
      จิรวรรณ ตั้งจิตเมธี
      และเพื่อนร่วมทาง ภัทรพงศ์ คงวิจิตร ธานินทร์ นนธะระ แซลลี ไรต์
  อ้างอิง
 (คลิกดูภาพใหญ่)       Mekong by Milton Osborne, 2001. 
      The Ho Chi Minh Trail by Hoang Khoi, 2001.
      Watershed, Vol.๗ No. 2 November 2001 - February 2002, Vol. 6 No. 1 July - October 2000, Vol. 5 No. 3 March - June 2000, Vol. 3 No. 2 November 1997 - February 1998
      ความร่วมมือไทย-ลาว ในกรณีการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาว (๑๙๙๓-๑๙๙๗) โดย พาฝัน นิลสวัสดิ์, ๒๕๔๒. 
      ปาพื้นเมืองอยู่พากใต้ของลาว เอียน แบรด์ บรรณาธิการ, ๑๙๙๙.