นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ "โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน

  เรื่อง : พจน์ กริชไกรวรรณ
 (คลิกดูภาพใหญ่)       เมื่อเอ่ยถึงชื่อ "โกมล คีมทอง" คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในปัจจุบันน้อยคนนักที่จะทราบว่าเขาเป็นใคร และยิ่งมีคนน้อยกว่านี้มากนักที่จะรู้ว่าเขาเคยทำเคยสร้างอะไรมาบ้าง
      หากเป็นคนที่อายุ ๔๐ กว่าขึ้นไป อาจเคยได้ยินได้ฟัง หรือจำได้ว่า เมื่อกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว มีข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวหนึ่งที่โด่งดังมาก เกี่ยวกับบัณฑิตหนุ่มสาวจากจุฬาฯ สองคน ถูกยิงเสียชีวิตขณะอุทิศตนเป็นครูเข้าไปตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ แก่เด็กในท้องถิ่นทุรกันดารที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี คนหนึ่งนั้นคือ โกมล คีมทอง อีกคนเป็นเพื่อนสาวของเขาที่ชื่อรัตนา สกุลไทย
      ความน่าสนใจของชายหนุ่มคนนี้อยู่ตรงที่ว่า เขาเป็นคนหนุ่มที่ไม่เคยลังเลใจในการประกาศปณิธานแห่งชีวิตของตนว่า "จะขอเป็นครูตราบชั่วชีวิต" ตั้งแต่เมื่ออายุยังน้อยและยังศึกษาอยู่ ทั้งที่ด้วยโอกาสของเขาหลังจากจบการศึกษาแล้ว สามารถไต่บันไดทางการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือเสาะหาอาชีพที่ทำให้สถานภาพทางสังคม และเศรษฐกิจของเขาดีขึ้น ได้โดยไม่ลำบากนัก ตามอย่างเพื่อนนิสิตนักศึกษาทั่วไปในสมัยนั้น
  ใครคือ "โกมล คีมทอง"
 (คลิกดูภาพใหญ่)
      โกมลคือชื่อของคนหนุ่มแห่งลุ่มน้ำลพบุรี ตามทะเบียนนิสิตของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีหลักฐานเป็นลายมือของโกมลเองว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ ที่จังหวัดสุโขทัย เป็นบุตรของนายชวน คีมทอง กับนางทองคำ คีมทอง ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
      โกมลมีพี่น้องท้องเดียวกันทั้งหมด ๕ คน เป็นชายทั้งสิ้น คนโตชื่อโอภาส สิ้นชีวิตเมื่อมีอายุได้ ๓ เดือน คนที่ ๒ คือโกมล คนที่ ๓ ชื่อด้วง สิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ ๑ ขวบ คนที่ ๔ สิ้นชีวิตเสียแต่เมื่อยังไม่ได้ตั้งชื่อ คนที่ ๕ ชื่อนิพนธ์ ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ และบวชเป็นพระ (ปี ๒๕๔๐) สมัยเด็กอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ต่อมาลุงกับป้าขอตัวไปเลี้ยงเพราะไม่มีลูก
      เด็กชายโกมลใช้ชีวิตวัยเด็กและได้รับการศึกษาขั้นต้นจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และมาต่อที่โรงเรียนบ้านหมี่วิทยาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ สอบไล่ได้ ๘๗ เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นได้มาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยอาศัยอยู่กับบ้านญาติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สาว ในเขตบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี จนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ แผนกศิลปะ เมื่อปี ๒๕๐๙ สอบไล่ได้ ๗๒.๗๐ เปอร์เซ็นต์ และในสมัยนุ่งกางเกงขาสั้นนั้น เขาเคยทำกิจกรรมด้านหนังสือมาบ้าง เนื่องจากเรียนมาทางสายศิลปะ และมีแววทางด้านการขีดเขียน ส่วนกิจกรรมด้านอื่นๆ ไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็น
  จากรั้วชมพู-ฟ้า มายังรั้วชมพู-เพลิง
 (คลิกดูภาพใหญ่)
      โกมลสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สองแห่ง คือที่คณะนิติศาสตร์ (บางคนว่า คณะรัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดยที่ค่านิยมในสมัยนั้น เวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักศึกษาที่เรียนทางด้านสายศิลปะหรืออักษรศาสตร์ จะเลือกคณะอักษรศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนคณะครุศาสตร์เป็นอันดับถัดมา
      ชมพู คือสีของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
      เพลิง คือสีของคณะครุศาสตร์ (ซึ่งเปรียบดั่งเพลิงเผาผลาญความไม่รู้ และส่องปัญญาให้แก่เยาวชน)
      แต่โกมลเลือกที่จะเป็นครูมากกว่าเป็นหมอความ
      ยุคสมัยที่โกมลเข้ามาเป็นนิสิตโก้เก๋ที่จุฬาฯ นั้น ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร กิจกรรมของเหล่าปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัยจึงมีแต่เรื่องการเชียร์ การแข่งขันกีฬา (ซึ่งมักแถมการยกพวกตีกัน) การจัดงานเต้นรำ การดูภาพยนตร์ ส่วนกิจกรรมประเทืองปัญญาก็เพิ่งเริ่มได้ไม่นานนัก การออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทเริ่มเป็นที่นิยม โดยบางคนมองว่าเป็นเรื่องแฟชั่น แหล่งเที่ยวของวัยรุ่นคือตามโรงภาพยนตร์ ขณะที่สยามสแควร์ยังไม่แจ้งเกิด หนุ่มสาวอาศัยงานบอลล์เป็นที่พบปะ นักร้องที่ชื่นชอบก็เป็นพวกฝรั่งตะวันตก
      ท้ายสุด โกมลจบชั้นอุดมศึกษาจากคณะครุศาสตร์ สาขามัธยมศึกษา เอกวิชาสังคมศึกษา โทภาษาฝรั่งเศส ในปีการศึกษา ๒๕๑๒
     คุณแม่ของโกมลเล่าว่า ชีวิตในวัยเด็กของเขาก็เหมือนกับเด็กผู้ชายไทยธรรมดาที่เรียบร้อย ว่าง่าย เชื่อฟังพ่อแม่ แต่ที่จะมีลักษณะพิเศษอยู่บ้างก็ตรงเป็นเด็กช่างคิดช่างฝัน ค่อนข้างเงียบขรึม และความเป็นคนช่างคิดนี้ก็เริ่มปรากฏ และเป็นที่ชัดแจ้งแก่ทุกคนเมื่อมาใช้ชีวิตในคณะครุศาสตร์
     โกมลเติบโตขึ้นมาเป็นชายหนุ่มร่างสันทัด ใบหน้าคมสัน ผิวค่อนข้างคล้ำ มีบุคลิกภาพเป็นผู้นำ เชื่อมั่นในตนเอง พร้อมๆ กับมีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างจริงใจ ยึดมั่นในหลักการ และมีความเป็นตัวของตัวเอง จึงมีผู้ใหญ่หลายท่านให้ความเอ็นดูต่อเขา
     บุคลิกของโกมลที่เพื่อนบางคนสะท้อนให้เห็น คือ ใบหน้าของเขาจะระบายด้วยรอยยิ้มน้อย ๆ ชอบสวมเสื้อแขนยาว เดินเร็ว ชอบหอบแฟ้มสีน้ำตาลหม่นเล่มโตๆ เดินไปไหนต่อไหน ชอบเข้าไปนั่งในห้องสมุดอยู่เสมอ ชอบจดคำบรรยายในกระดาษพิมพ์ดีด ให้ความเป็นกันเองกับเพื่อน มีจิตใจโอบอ้อมอารี ชอบซักถาม ไม่พูดเรื่องของตนเอง แต่ชอบคุยเรื่องมีสาระ ชอบถกเถียง ชอบคุยกับผู้ใหญ่ ชอบเอาข่าวกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมาบอก เป็นคนอ่อนโยน เฉียบ แต่ดื้อดันและซน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพยายามนำความคิดนั้นมาทดลองปฏิบัติ รวมถึงมีความมุ่งมั่นศรัทธาในวิชาชีพครูอย่างแท้จริง
  น้องใหม่ หน้าที่ใหม่
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     การแสดงออกของโกมลเมื่อเริ่มเข้าเรียนที่คณะครุศาสตร์ในปี ๒๕๐๙ นั้น ดูจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษให้แลเห็นเด่นชัดมากนัก นอกไปเสียจากความกระตือรือร้นในความเป็นครูมากกว่าคนอื่น ๆ เขายังคงมองกิจกรรมในคณะฯ และในจุฬาฯ อยู่อย่างห่างๆ ให้ความสนใจกับชุมนุมภาษาไทยที่ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (ปัจจุบันคือคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ) ทำงานอยู่ ไพฑูรย์เป็นเพื่อนรุ่นพี่ และเป็นผู้ชักชวนให้เขามารู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในเวลาต่อมา นอกจากนี้เขายังสนใจทำหนังสือกับเพื่อนรุ่นเดียวกันจากคณะต่าง ๆ คือหนังสือ น้อง ๐๙ (บางคนว่า อนุสารวรรณศิลป์ จุฬาฯ) นำมาขายแก่บรรดานิสิตที่หน้าจุฬาฯ โดยเนื้อหาในนั้น ได้ตีพิมพ์ "จดหมายถึงพ่อคิด" ซึ่งอาจถือได้ว่างานชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่เขียนเล่าประสบการณ์ในชีวิตมหาวิทยาลัย
     เมื่อได้อ่านสมุดบันทึกประจำวัน ปี ๒๕๑๐ หรือ อนุทิน ๒๕๑๐ ของโกมลจะพบว่า เขาสนใจเรียนภาษาฝรั่งเศสและสังคมศึกษามาก ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องใช้การท่องจำมากทั้งคู่ นี้ทำให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมนุมสังคมศึกษาของคณะตั้งแต่อยู่ปี ๑ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการชุมนุมชุดใหม่ในปลายปีการศึกษานั้น เขากลับพลาดตำแหน่งรองประธาน รวมถึงตำแหน่งหัวหน้าชั้นปีที่ ๒ โดยที่ความขยันขันแข็งในการเรียน ความใฝ่รู้ และการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงงานทางด้านหนังสือ ก็เริ่มส่อแววให้เห็นได้ตั้งแต่ปีแรกนี้
     จนกระทั่งหยุดภาคเรียนในเทอมปลาย (พฤษภาคม ๒๕๑๐) โกมลได้ไปร่วมค่ายอาสาพัฒนานิสิตนักศึกษาไทย-อิสลาม ที่ค่ายบ้านทอน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งถือว่าเป็นการไปค่ายครั้งแรก และที่ปัตตานี ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (อดีตประธานรัฐสภา) รุ่นพี่คณะครุศาสตร์เป็นผู้อำนวยการค่าย เขาเองรับหน้าที่ช่วยงานด้านวิชาการให้แก่ค่ายนี้ เขาจึงได้ไปรู้ไปเห็นวิธีการจัดและดำเนินการค่าย ทำให้ในเวลาต่อมา โกมลได้เข้าไปร่วมและจัดกิจกรรมค่ายอีกหลายครั้งอย่างสนุกและกระตือรือร้น
     นอกจากนั้น ความสนใจใฝ่รู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ยังชักพาให้เขาไปสมัครเรียนภาษาบาลีที่วัดมหาธาตุ ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเรียนเฉพาะวันอาทิตย์เพียงชั่วโมงเดียว เป็นโอกาสให้รู้จักกับรุ่นน้องผู้หญิง จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่สนิทสนมด้วยคนหนึ่ง ที่ชื่อ สายพิณ หงส์รัตนอุทัย
  ปีที่ ๒ ปีแห่งการศึกษางานค่าย
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     ในช่วงปีที่ ๒ โกมลเริ่มสนิทสนม ใกล้ชิด และคุ้นเคยกับ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ และ อุทัย ดุลยเกษม มากขึ้น ทั้งนี้โกมลได้ออกจากบ้านญาติมาอาศัยอยู่ที่หอพักธรรมนิวาสถาน แถวถนนวิสุทธิ์กษัติย์ ข้างวัดมกุฎกษัตริยาราม โดยมีอาจารย์วศิน อินทสระ เป็นอาจารย์ผู้ดูแลหอพัก ความมีอิสระจากผู้ปกครองมากขึ้นดังกล่าว ทำให้เขาสามารถทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่
     ช่วงปีนี้โกมลเริ่มให้ความสนใจกับการศึกษามากขึ้น โดยอยากรู้ความเป็นไปของการศึกษาในบ้านเมืองว่าเขาทำกันอย่างไร อะไรคือจุดบกพร่องและจุดอ่อน สภาพความเป็นจริงกับสภาพที่เรียนๆ กันอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร เพื่อนกลุ่มนี้เคยคิดที่จะตั้งชุมนุมวิชาการศึกษาขึ้นในคณะครุศาสตร์ เพื่อร่วมสนทนากันในเรื่องของการศึกษา พากันไปเที่ยวเยี่ยมเยือนโรงเรียนตามที่ต่างๆ โดยคิดไกลถึงขนาดว่าอย่างน้อยๆ ก็จะดึงอาจารย์ที่เคารพนับถือ ให้ไปรู้จักความจริงของสภาพแวดล้อมกับตนบ้าง และคิดกันถึงขนาดที่จะแก้ไขความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของคนในคณะครุศาสตร์ทีเดียว ดังข้อเขียนของโกมลเองเรื่อง "ความว่างเปล่า" ในหนังสือ เพลิงชมพู ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นสูจิบัตรประกอบงานบอลล์ของคณะครุศาสตร์
     "เคยคิดลามปามมาถึงคณะในฐานะผู้ผลิต ไฉนจึงยัดเยียดให้กันแค่ความรู้ ความคิดที่สำคัญกว่าไม่ได้ให้ การปลูกฝังให้รักและหยิ่งต่ออาชีพไม่มี การสร้างอุดมคติแก่นิสิตไม่มี ด้วยเหตุนี้เมื่อจบออกไปแต่ละรุ่น จึงได้คนทำงานครูเป็น ๖๐ % เท่านั้น อีก ๔๐ % ถูกกลืนหายเข้าแดนสนธยาไปเสีย ความผิดพลาด ความสูญเสีย ทั้งนี้ทุกคนตระหนัก ทั้งนิสิตและคณะ แต่ไม่เคยเลยที่จะได้เห็นท่าทีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น"
     จากจุดเริ่มต้นของการคิดตั้งชุมนุมวิชาการศึกษา ผนวกกับความสนใจในกิจกรรมโดยเฉพาะค่ายอาสาเป็นพิเศษนี้เอง ที่เป็นพลังให้โกมลได้ดำเนินการจัดตั้ง "ค่ายพัฒนาการศึกษา" ขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนในปี ๒๕๑๑ ที่แปดริ้ว บ้านบางขวัญ ตำบลบางขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเขาเป็นผู้อำนวยการค่าย หลังจากกลับจากค่ายฝึกผู้นำนิสิตนักศึกษาอาสาพัฒนา ที่บ้านนายาง จังหวัดหนองคาย ซึ่งทำให้เขามีเพื่อนต่างสถาบันมาก รวมถึงค่ายอาสาสมัครของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่บ้านหนองแปน บ้านโนนสูง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
 (คลิกดูภาพใหญ่)      โกมลถือได้ว่าเป็นคนแรก ๆ ที่เริ่มตั้งค่ายพัฒนาการศึกษาเฉพาะ คือไปให้การศึกษาเด็ก ไปช่วยโรงเรียน ถือเป็นค่ายแบบใหม่ของสโมสรนิสิตจุฬาฯ (เดิมเป็นค่ายของคณะครุศาสตร์) เพราะมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษามากกว่าเรื่องการสงเคราะห์ หรือการก่อสร้างถาวรวัตถุให้แก่ชาวบ้าน และค่ายนั้นก็ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม นั่นแสดงว่าเขาสนใจในงานอาสาสมัคร งานเสียสละ เท่า ๆ กับงานด้านความคิด ด้านปัญญา
     จากประสบการณ์ในงานค่ายนี้เอง อาจเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจไปเป็นครูที่บ้านส้อง อันเป็นสถานที่แห่งสุดท้ายก่อนถูกยิงเสียชีวิต
     สามทศวรรษต่อมาหลังจากที่โกมลเสียชีวิต ไพฑูรย์เล่าให้ฟังว่า การที่โกมลอยู่ในวงกิจกรรมค่ายอาสา ค่ายการศึกษา ทำให้เขารู้สึกว่าชนบทเป็นสิ่งที่ต้องการการกระตุ้น ผลักดัน แก้ไข เมื่อเขาไปเห็นเด็กต่างจังหวัด ใจหนึ่งนั้นคงนึกเปรียบเทียบกับตนเอง ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดเช่นเดียวกัน เขาคงรู้สึกสะท้อนใจ และคิดว่าต้องให้ความช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส เขาเองมองกิจกรรมนักศึกษาในสมัยนั้นว่าไปทางด้านสนุกสนานเฮฮา จึงคิดว่ามันต้องมุ่งไปสู่สิ่งที่ดีงามกว่านี้ เขาหวังให้น้องใหม่ คนในครุศาสตร์ ได้มองการศึกษา การทำงานในด้านการศึกษา ในภาพใหม่ๆ คือการที่จะได้เข้าใจความเป็นจริงของการศึกษาที่เป็นอยู่ เข้าใจสังคมที่การศึกษาจะไปมีบทบาท
     ทั้งโกมลยังเข้าใจดีว่ากิจกรรมค่ายที่ตนเองทำนั้น มิได้หมายถึงการออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน สงเคราะห์เขา หรือช่วยแก้ปัญหาให้เขา แต่ชาวค่ายเองต่างหากที่เป็นผู้ได้ นอกจากน้ำใจจากชาวบ้านชนบทที่ชาวค่ายได้รับแล้ว ประสบการณ์ไม่กี่วันที่นักศึกษาจากในเมืองได้มีโอกาสไปพบเห็น ได้ร่วมคิด ถกเถียง เปิดมุมมองใหม่ๆ เพิ่มเติมจากตำรับตำราต่างหาก ที่จะยังประโยชน์ให้แก่ชาวค่ายในโอกาสอื่น ๆ ต่อไป
  ปีที่ ๓ ปีแห่งการเรียนรู้โลกภายนอก
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     ชีวิตของโกมลมาเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อตอนเรียนอยู่ปีที่ ๓ เขาใช้ชีวิตเพื่อความรู้และความคิดที่กว้างขวางลึกซึ้งมากที่สุด หลังจากที่คลุกคลีกับงานอาสาสมัครมามากพอควรแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่าเขาหันเหชีวิตมาสนใจกิจกรรมทางด้านความคิด ความอ่าน และปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเริ่มวางมือจากงานค่าย มาติดตามกิจกรรมแทบทุกประเภท โดยเฉพาะด้านการศึกษา เขาแทบจะไม่ขาดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นที่หอประชุมคุรุสภา หอสมุดแห่งชาติ โรงพยาบาลสงฆ์ หอประชุมจุฬาฯ หอประชุมธรรมศาสตร์ และแม้จนหอประชุม เอ.ยู.เอ. รวมถึงได้ร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษาต่างสถาบันอีกด้วย
     "ชมรมปริทัศน์เสวนา" มีส่วนอย่างสำคัญในการปลูกฝังคุณลักษณะหลายอย่างให้แก่โกมล และเขาเองได้เป็นสมาชิกประจำของชมรมนี้อยู่เสมอ ๆ ทำให้เขามีโอกาสพบปะกับผู้รู้และนักคิดต่าง ๆ มากมาย ได้ฟังทัศนะต่าง ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างจริงจัง คุณสมบัติประการหลังติดตัวเขาไปตลอดเวลาจวบจนสิ้นชีวิต
     ชมรมปริทัศน์เสวนาตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างจริงจัง โดยอาศัยสติปัญญาเป็นเกณฑ์ มิได้ถือขีดขั้นแห่งการศึกษาเป็นเกณฑ์ เด็กนักเรียนมหาวิทยาลัยใด ๆ หรือเด็กนักเรียนโรงเรียนใดใคร่จะมาร่วมก็ได้ ในช่วงแรกได้อาศัยท่านเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุณาเป็นองค์อุปการะ ให้ใช้โบสถ์ร้างของวัดรังษีสุทธาวาสเป็นที่พบปะกัน ต่อมาจึงได้ใช้ร้านหนังสือศึกษิตสยามของอาจารย์สุลักษณ์ที่สามย่านเป็นสถานที่นัดพบ ชมรมดังกล่าวเป็นที่รวมของนักคิด นักเขียน นักกิจกรรม หรือรวมเรียกว่าปัญญาชน โดยต่างมีความคิดเห็นอิสระ ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันได้ แต่สิ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถรวมตัวกันได้ คือ ความรู้สึกไม่พอใจในระบบที่เป็นอยู่ ต้องไม่ลืมว่าสมัยต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ ประเทศไทยยังถูกปกครองโดยกลุ่มเผด็จการทหารต่อเนื่องกันมานานกว่า ๒๐ ปี นับจากรัฐประหาร ๒๔๙๐
     เมื่อโกมลไปฟังไปถามแล้ว ก็เก็บมาถกเถียงอภิปรายกันกับเพื่อนสนิท สถานที่ถกเถียงอภิปราย นอกจากชมรมปริทัศน์เสวนา ก็มักเป็นห้องอาหารครุศาสตร์ ร้านกาแฟ และแม้กระทั่งบ้านของไพฑูรย์เป็นบางครั้ง เรื่องที่พูดคุยกันนั้นมีสารพัดชนิด แต่ทุกเรื่องก็มักจะมุ่งไปที่ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างไร มีคุณค่าเพียงใด ถูกต้องเหมาะสมเพียงใด และจะทำอะไรกันได้บ้าง เป็นต้น
 (คลิกดูภาพใหญ่)      ครั้นเมื่อสมาชิกชมรมปริทัศน์เสวนาหลายคนเรียนจบแล้ว และยังอยากพบปะแลกทัศนะกันเช่นนี้อีกเดือนละครั้งสองครั้ง จึงรวมตัวกันตั้งชมรมศึกษิตเสวนาขึ้นสำหรับผู้ที่พ้นภาระจากการเรียนในสถาบันการศึกษา โกมลร่วมอยู่ในกลุ่มทั้งสองนี้มาเกือบจะโดยตลอด ส่วนรัตนา เพื่อนสาวที่เสียชีวิตพร้อมกับเขา มาร่วมแต่กับกลุ่มศึกษิตเสวนาในระยะท้าย ๆ ของปี ๒๕๑๓
     ทั้งโกมลและเพื่อนรุ่นพี่ของเขา คือไพฑูรย์ ต่างเห็นคุณค่าและประโยชน์ของชมรมปริทัศน์เสวนาเป็นอย่างมาก ด้วยเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้จะทำให้นิสิตเป็นอิสระในทางปัญญามากขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความมั่นใจที่จะกล้าทำกล้าต่อสู้มากขึ้น ดังนั้นจึงสนับสนุนให้มีกิจกรรมเช่นนี้ขึ้น ในสมัยที่โกมลเป็นประธานชุมนุมสังคมศึกษา ของคณะครุศาสตร์ ในชื่อของ "แผนกศึกษาสนทนา" โดยมีอุทัยเป็นผู้ช่วย แต่ก็ทำอยู่ได้ไม่นานนัก หลังจากหมดสมัยของเขาแล้ว กิจกรรมเช่นนี้ก็หมดไป
     เมื่อโกมลเป็นประธานชุมนุมสังคมศึกษาของคณะครุศาสตร์ในปีนี้นั้น เขาได้จัดกิจกรรมทางด้านความคิดและวิชาการขึ้นอย่างกว้างขวาง เขาจัดฉายภาพยนตร์ความรู้ต่างๆ อยู่เป็นประจำ เชิญวิทยากรภายนอกและภายในมาปาฐกถา อภิปราย จัดทัศนศึกษาภาคเหนือและจังหวัดใกล้เคียง งานชิ้นสำคัญก็คือการจัดสัมมนานักเรียนฝึกหัดครูเรื่อง "บทบาทของครูในสังคมปัจจุบัน" ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๒ ของคณะครุศาสตร์ และของวงการนักเรียนฝึกหัดครู
     นอกจากนี้ โกมลยังเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา และเมื่ออยู่ปลายปีที่ ๒ เขาก็เป็นหนึ่งในคณะบรรณกรของ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ฉบับที่ ๕ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ อีกด้วย
  ปีสุดท้าย ปีแห่งการตั้งมั่นตามปณิธาน
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     ขณะขึ้นปีที่ ๔ โกมลได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการนิสิต ของคณะให้เป็นสาราณียกรหนังสือต้อนรับน้องใหม่ ครุศาสตร์รับน้อง ๒๕๑๒ ซึ่งทำความว้าวุ่นใจให้แก่เขามากพอควร เพราะใจหนึ่งก็อยากทำหนังสือ ตามที่ตนคิดฝันไว้ว่าจะให้มีเนื้อหาอันทรงคุณค่า มีความถูกต้อง มีความงาม และได้ประโยชน์คุ้ม คือใช้งบประมาณไม่มาก เพราะน้องใหม่ก็หาเงินมาอย่างยากลำบาก โดยปรารถนาจะนำความคิดอันเกิดจากการพูด และถกเถียงกันในเรื่องของคนทำหนังสือมาปฏิบัติ แต่ใจหนึ่งก็กลัวเรื่องการฝึกสอน และเรื่องการเรียน ทั้งนี้มีไพฑูรย์ เพื่อนรุ่นพี่ของโกมล ซึ่งตอนนั้นทำงานสอนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการทำหนังสือ และได้ เทพศิริ สุขโสภา เพื่อนชมรมปริทัศน์เสวนาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ช่วย
     หนังสือรับน้องของคณะเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาและรูปแบบที่แหวกแนว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เพราะตามธรรมเนียมการทำหนังสือ ต้องมีพระบรมฉายาลักษณ์ และบทอาศิรวาทสดุดีเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงหน้าแรก แต่โกมลกลับอัญเชิญพระบรมราโชวาท ที่เกี่ยวกับการศึกษามาลงเป็นหน้าแรกแทน โดยที่เขาไปอ่านพบในหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ คอลัมน์ "ลำนำเจ้าพระยา" ซึ่ง นิตยา นาฏยะสุนทร เจ้าของคอลัมน์อัญเชิญมาลงไว้ และรู้สึกประทับใจ จึงอยากให้เพื่อนๆ น้องๆ ที่คณะซาบซึ้งในวิญญาณครูตามพระบรมราโชวาทนั้นด้วย
     จากข้อเขียนของโกมลที่ชื่อ "สุนทรพจน์ให้คณะเชียร์" เขาได้บรรยายขั้นตอนการทำหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ได้รวบรวมหนังสืออนุสรณ์จากสถาบันต่างๆ ไม่ต่ำกว่า ๓๕ เล่มมาศึกษา และบอกเล่าจุดมุ่งหมายเชิงอุดมคติของหนังสือต่อนิสิตครูรุ่นน้องว่า "หนังสือนี้ข้าพเจ้ามิได้ทำเพื่อตัวข้าพเจ้าหรือเพราะเห็นแก่ผู้ใด ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะดีและถูกต้อง ต่อการที่จะทำอะไรเพียงเพื่อเอาใจ หรือเพื่อความพอใจให้แก่บางคน แต่ได้ทำขึ้นเพื่อให้ท่านได้อ่าน และได้ตระหนักในภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของท่านต่อสังคม ให้ท่านได้เห็นความสำคัญในตัวท่าน ต่อประเทศชาติ ให้ท่านได้รอบรู้เท่าทันกับสภาพสังคม ให้ท่านได้คิด ได้หาจุดมุ่งหมายแน่วแน่ในชีวิต ได้มองออกไป ได้ไถ่ถอนตัวเองออกจากความเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ทั้งมวล ได้มองสังคมและโลกด้วยความคิดจะให้จะช่วย แทนที่จะรับและรับดังที่คนส่วนมากเป็นอยู่"
 (คลิกดูภาพใหญ่)      ส่วนเพื่อนของโกมลซึ่งชอบทำและเขียนหนังสือเหมือนกันที่ชื่อ เกษม จันทร์น้อย และต่อมาเป็นคนทำหนังสือ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีของจุฬาฯ เอ่ยถึงกรณีนี้ว่า "เมื่อขึ้นปี ๔ ถึงเวลาที่โกมลจะแสดงฝีมือในการทำหนังสือ เขียนหนังสือตามทัศนะของเขาเอง ข้าพเจ้าจำได้ติดหูติดตาว่า หนังสือรับน้องใหม่ครุศาสตร์ปีนั้น รูปร่างแปลกแหวกแนวชาวบ้าน และข้าพเจ้าเคารพความคิดของโกมลว่า เขากล้ามากที่ทำอย่างนั้น เพราะการทำหนังสือที่แหวกวงล้อมของคนปัจจุบันออกไปได้แบบนั้น แสดงให้เห็นว่าเขากล้าในสิ่งที่ถูก และเป็นผู้นำในสังคมด้วย ความจริงความคิดของโกมลไม่ใช่ของใหม่สำหรับเวลานั้น หลายคนคิดจะทำแบบนั้น แต่ไม่มีใครกล้า เพราะกลัวถูกตำหนิ ซึ่งมันก็เป็นการตำหนิผิดๆ นั่นเอง หนังสือเล่มนั้นได้มาตรฐานในสายตานักทำหนังสือด้วยกัน แต่เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความเอาจริงเอาจังในวิชาการ และเป็นแก่นสารอย่างหนักแน่น ตรงข้ามกับของคณะอื่นๆ ที่ฟุ่มเฟือยและ "ไม่มีอะไร" ในนั้นเลย เราเคยพูด "ไม่มีอะไร" ในนั้นว่า หากประหยัดเงินค่าจัดทำลง จะสามารถเหลือเงินเอาไปสร้างโรงเรียนชนบทได้หลายหลัง"
     ในปีสุดท้ายของชีวิตมหาวิทยาลัย โกมลให้ความสนใจกับกิจกรรมภายนอกมากขึ้น โดยค่อยๆ ละงานอื่นๆ เกือบหมด และรับทำงานให้ชมรมปริทัศน์เสวนา จนเขาได้รับเลือกจากบรรดาเพื่อนๆ ให้เป็นประธานของชมรม ในช่วงปี ๒๕๑๒-๒๕๑๓ ปรากฏว่าเขาเป็นประธานที่เอางานเอาการ จัดทั้งด้านสัมมนา ทั้งด้านปาฐกถาและอภิปราย และช่วงเทอมสุดท้ายในชีวิตการเรียนในห้องสี่เหลี่ยม เขายังรับเป็นบรรณกรให้ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ฉบับที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๓
     ขณะเดียวกัน โกมลก็เริ่มมีงานเขียนโดยเฉพาะบทความที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและอื่นๆ ปรากฏเผยแพร่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จำนวนไม่ใช่น้อย ทั้งใน ศูนย์ศึกษา จารุสัมพันธ์ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จุฬาฯ สาร เป็นต้น ข้อเขียนของเขานั้นอ่านง่าย มีความไพเราะและนุ่มนวลทางภาษา เพราะเขาเขียนออกมาจากความคิดความรู้สึกของตนเอง ผลงานของเขาจึงเป็นผลงานในทางความคิด พอๆ กับในทางภาษา
       ไพฑูรย์เล่าว่า การเขียนหนังสือทำให้โกมลมีโอกาสไปสัมภาษณ์ ไปคุยกับครู กับบุคคลต่างๆ ในวงการศึกษา เพื่อเตรียมตัวเป็นครูที่ดี เช่น ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง บุคคลที่เขาไปคุย ไปสัมภาษณ์ ไปติดตามฟังการบรรยาย การอภิปรายตามที่ต่างๆ นั้นเอง ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและความก้าวหน้าในทางความคิดของเขา โดยบุคคลต่าง ๆ ในชมรมปริทัศน์เสวนาก็มีส่วนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่เขาให้ความนับถือและยกย่องในอุดมการณ์และวิธีการ เพราะเปิดโอกาสให้ตัวเขาเองและพรรคพวกได้โต้แย้ง ถกเถียง และคงความเป็นตัวของตัวเองได้ดี จนหลายคนในสถาบันการศึกษาของเขา หาว่าเขาถอดแบบมาจากอาจารย์สุลักษณ์ด้วย ทั้งท่วงทำนองการเขียน ตลอดจนบุคลิกลักษณะ
     บุคคลที่โกมลนิยมในความคิดทางการศึกษาคนหนึ่งคือ อาจารย์ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ซึ่งเขาเอ่ยถึงอยู่บ่อยๆ อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นครูของเขาเอง คืออาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ผู้เคยสอนวิชาภาษาไทยขณะเขาเรียนอยู่ชั้นปี ๑ และวิชาการศึกษากับสังคม เมื่อเขาอยู่ชั้นปีสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตาม เขาเคารพและนับถือทุก ๆ คนที่ได้ให้ความรู้และความคิดอันกว้างขวางแก่เขา แม้ว่าจะเป็นครูหรือคนเล็ก ๆ ที่ใด ๆ ก็ตาม
  เมื่อเป็นครูฝึกสอน
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     ถึงแม้ปีที่ ๔ ในชีวิตมหาวิทยาลัยนี้ควรจะมีข้อที่ทำให้โกมลภูมิใจหลายอย่างก็ตาม แต่เขาก็รู้สึกผิดหวังมากอยู่อย่างหนึ่ง คือเรื่องการฝึกสอนนักเรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ในช่วงเทอมแรกของปีการศึกษา ๒๕๑๒ เขาพยายามดำเนินการในแบบที่คณะวางไว้และผสมผสานแบบของเขาเอง ชั่วระยะชั่วโมงสอนครั้งหนึ่ง ๆ นั้น เขามีความพอใจมาก เด็กนักเรียนทุกคนชอบเขา เห็นว่าครูโกมลสอนดี มีความรู้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาให้เสมอๆ เขาเคยพูดว่าอาจารย์นิเทศก์เคยแนะนำให้เพื่อนนิสิตเอาอย่างเขา แต่เมื่อถึงวันสอบ เขาต้องสอบถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกเขาไม่ดำเนินการตามแบบที่ได้วางไว้ตายตัว แต่พยายามค้นหาสาระและจุดหมายของการสอนครั้งนั้น ผลปรากฏว่าเขาต้องสอบใหม่ ผลการสอบของเขาครั้งนี้ทำให้เขาผิดหวัง และรู้สึกลังเลในระบบวัดผลการฝึกสอน ที่ถือเอาการสอนเพียงครั้งเดียว ชั่วโมงเดียว เป็นเครื่องตัดสินชีวิตคน
     ยุทธชัย เฉลิมชัย อดีตลูกศิษย์ของครูโกมล เคยเขียนเล่าบรรยากาศสมัยที่ครูโกมลมาเป็นนิสิตฝึกสอน ไว้ในบทความที่ชื่อ "คิดถึงครู" เมื่อ ปี ๒๕๓๙ ว่า "เคยมีเรื่องกระทบกระเทือนใจครูอยู่ครั้งหนึ่ง เด็กนักเรียนเข้าไปแสดงท่าทางเกี้ยวพาอาจารย์ฝึกสอน คงลามปามจนเกินทน ครูโกมลในฐานะหัวหน้ากลุ่มอาจารย์ฝึกสอน จึงออกปากห้ามปราม เจ้าเด็กอันธพาลกลับฮึดฮัดจะเข้าทำร้ายครู เรื่องถึงโรงเรียน บ่ายวันนั้น หน้าแถวนักเรียนทั้งตึกก่อนขึ้นเรียน อาจารย์ฝ่ายปกครองเฆี่ยนเด็กคนนั้น และให้กล่าวขอขมาแก่ครูโกมล อันธพาลน้อยรายนั้นไม่ได้รู้สำนึกอะไร พูดและยกมือไหว้อย่างขอไปที แต่สิ่งที่เราเห็นคือความรู้สึกเสียใจของครู" และให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า จุดนั้นเองที่ทำให้เขาประทับใจในตัวครูโกมล เพราะ "ครูโกมลกลับขอโทษนักเรียนคนที่จะมาเตะแก แกร้องไห้ ทำให้นักเรียนพลอยจะร้องไห้ตามไปด้วย เป็นความฝังใจ"
 (คลิกดูภาพใหญ่)      เมื่อถามว่า หากย้อนกลับไปดูบทบาทของครูโกมลที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คิดอย่างไรบ้าง ยุทธชัยตอบว่า "ครูโกมลเป็นภาพความเป็นจริงของอุดมคติ ถ้าเราบอกว่าคนหนุ่มสาวคนใดมีอุดมคติ แกก็เป็นตัวจริง ก็ต้องย้อนไปดูว่าแกเติบโตมาอย่างไร ความอ่อนโยนมีเมตตานั้นชัดเจนในตัวครูโกมล จิตใจที่มีให้แก่คนอื่นนั้นมีอยู่สูงมาก คงไม่ต่างจากเมื่อเราพูดถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่แกจะมีจุดอ่อนอะไรก็ไม่รู้นะ ตลอดเวลาที่ยืนสอนอยู่หน้าชั้นแกไม่เคยหลุดเลย แกเป็นคนอ่อนไหวและละเอียดอ่อนมาก เช่นเรื่องการขอโทษนักเรียนหน้าชั้น นอกจากนี้แกยังปฏิบัติต่อเด็กไม่ต่างกัน"
     ขณะที่อาจารย์สุมนเขียนถึงโกมลในกรณีนี้ว่า "โกมลภาคภูมิใจในการฝึกสอนของเขามาก เขาบอกกับฉันทุกครั้งที่กลับมาประชุมที่คณะครุศาสตร์ในวันศุกร์ เขาเข้ากับเด็กได้อย่างดี อาจารย์นิเทศก์ชมว่าสอนดี ทั้งยังให้เขาสอนเป็นตัวอย่างแก่นิสิตคนอื่นๆ ที่สอนไม่เก่ง เมื่อประกาศคะแนนฝึกสอน โกมลผิดหวังค่อนข้างมาก เพราะได้เกรด C แสดงว่าต้องมีข้อบกพร่องค่อนข้างมาก โกมลเขียนจดหมายถึงฉันยาวเหยียดในวันนั้น ฉันจึงต้องอธิบายว่าคะแนนฝึกสอนนั้น ประกอบด้วยการวัดผลหลายด้านด้วยกัน ตอนที่โกมลฝึกสอนนั้น โกมลรับหน้าที่สาราณียกรอยู่ด้วย โกมลอาจจะปลีกเวลาไปโรงพิมพ์บ้างก็ได้ ผลที่สุดฉันสรุปว่า ถ้าโกมลวัดผลตนเองเห็นว่าควรจะได้ A ก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง "ติด" อยู่กับการวัดผลของผู้อื่น สอบได้ก็แล้วกัน โกมลก็ไม่ใช่คนที่ "ติด" คะแนนนักไม่ใช่หรือ" (ในข้อเขียนไว้อาลัยที่ชื่อ "ฉันคิดถึงโกมล")
     ในช่วงนั้น โกมลต้องตรากตรำกับการเรียน การฝึกสอน การทำกิจกรรมกับชมรมปริทัศน์เสวนา และงานสาราณียกรอย่างหนัก แต่สิ่งที่ทำให้เขาวิตกกลับเป็นเรื่องภายในจิตใจของเขาเอง คือกลัวว่าในอนาคตจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างที่เขาไม่ชอบใจ ดังข้อเขียนของเขาที่ว่า "ความหวั่นไหวขณะนี้เริ่มก่อตัวขึ้น ความลังเลไม่แน่ใจต่อสภาพที่ต้องเปลี่ยนแปลง และต่อสังคมที่ต้องออกไปเผชิญ ไม่แน่ใจว่าตนเองมั่นคง และเหนียวแน่นเพียงใด ออกไปครั้งนี้ได้ชื่อว่าออกไปทำงาน อยากจะถามตนเองว่าทำเพื่ออะไร หรือเพื่อใคร ข้าพเจ้าก็ยังลังเลที่จะตอบออกมาได้" (ข้อเขียนเรื่อง "เวลาที่เปลี่ยนไป")
     และอีกตอนหนึ่งของข้อเขียนเรื่อง "ข้าพเจ้ากลัว" ในหนังสือ เพลิงชมพู ๒๕๑๒ โกมลเขียนไว้ว่า "ข้าพเจ้ากำลังเกรงอยู่ว่า เมื่อถึงขั้นหนึ่งไปแล้วข้าพเจ้าจะต้องเปลี่ยนแปลง จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงเป็นปรกติธรรมดาโลก แต่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนจุดหมายแห่งชีวิตจากความเริงรื่นสวยสดและเต็มไปด้วยความคิดและปรารถนาดี มาสู่ความอยากได้ ใคร่เด่น ความต้องการมีหน้ามีตา ทั้งคิด พูด และกระทำออกมาเพื่อหาเกียรติยศชื่อเสียงแก่ตัวเอง ดิ้นรนไปมาแต่เท่านี้ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเลยว่าตัวเองได้เจริญขึ้น แต่ตรงกันข้าม ดูจะน่าสมเพชและชวนเวทนาขึ้นมากกว่า ข้าพเจ้ากลัวเหลือเกินจะเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างที่หลายท่านอันเป็นที่เคารพของข้าพเจ้ากำลังหมกมุ่นอยู่ อย่างอุตลุดและไม่คิดชีวิต"
  ความเป็นบัณฑิตที่แท้
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     นอกจากนี้ โกมลยังได้แสดงทัศนะค่อนข้างชัดเจน เกี่ยวกับใบปริญญาบัตรตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ดังจดหมายที่เขาเขียนถึงพี่นันทา เนียมศรีจันทร์ ฉบับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ตอนหนึ่งกล่าวว่า "ผมจะจบหลักสูตรในหนึ่งเดือนข้างหน้านี้ แต่ผมอาจพูดได้เต็มปากเลยว่าไม่มีความยินดียินร้ายเลย ถ้าจะให้คิดว่าผมกำลังได้ใบปริญญาบัตร ผมไม่ค่อยเห็นคุณค่าข้อนี้ จะเป็นความผิดความถูกอย่างไรไม่ทราบ แต่ตระหนักอยู่ในใจว่า เมื่อได้ใบนี้แล้วสถานที่ที่ผมทำงานเขาเอาไปตีราคาให้เงินเดือน ผมก็ยังรู้สึกได้อย่างเดียวว่า เงิน ๑,๒๕๐ บาทที่ให้ผมนั้นมาเทียบกับค่าแรงผมไม่ได้ นี่คิดถึงเรื่องค่าของใบปริญญาบัตร และจะให้คิดว่าผมจบปริญญาบัตรแล้วมีความรู้แล้ว ความคิดนี้ก็ขัดกับความรู้สึกส่วนลึกที่คอยบอกตัวเองอยู่เวลานี้ว่าผมไม่รู้อะไรเลย ผมยังมีแต่ความลังเล สงสัย ความไม่เข้าใจ และตื่นที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ผมจะไปภูมิใจว่าผมสำเร็จแล้วอย่างไรได้"
     และจดหมายถึง นนทิรา ศุภโยธิน เพื่อนรุ่นน้องจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ก็ยืนยันความมั่นคงของโกมลที่มีต่อเรื่องนี้ "เรื่องปริญญานั้นอย่างไรเสียก็ต้องได้ ส่วนเรื่องความเป็นบัณฑิตนั้น ไม่ใช่ใครจะมาหยิบยื่นให้กันได้ง่ายๆ แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรมทางจิตใจหรือทางวิญญาณ ยิ่งกว่าที่จะมาวัดกันง่าย ๆ อย่างเช่นการสอบ"
     แล้วเขาก็ทำจริงดังที่บอกไว้ คือไม่ได้มารับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ทั้งที่วันนั้น เขาก็อยู่ที่กรุงเทพฯ คนที่ไม่เข้าใจเขา คงมองเขาไปในแง่ร้าย ว่าเป็นคนหัวรุนแรง
     ส่วนเรื่องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นนั้น โกมลเขียนเล่าไว้ในจดหมายถึงนันทาฉบับเดียวกันนั้นว่า "แต่เดิมผมคิดว่า จบปี ๔ นี้แล้วจะหาทางอยู่ในกรุงเทพฯ นี้อีกสัก ๒ ปีเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจตัวเองให้มั่นคงขึ้น เข้มแข็งขึ้น แล้วจากนั้นผมจะออกต่างจังหวัด ผมมองเห็นงานของผมอยู่ที่นั้น และจะใช้ชีวิตนี้อยู่ในสภาพเช่นนั้นตลอดไป ส่วนสองปีที่จะอยู่เมืองหลวงนี้ผมจะอยู่อย่างไร ผมก็คิดว่าจะเรียนปริญญาโทต่อ นั่นผมคิดไว้ แต่เวลานี้เกือบล้มความคิดนี้หมดแล้ว เพราะมองดูแล้วเห็นปรากฏเด่นชัดว่า ถ้าลงทำเช่นนั้นผมก็ต้องวิ่งสอนพิเศษ วิ่งมาเรียน หาวิชาที่ง่ายๆ เรียนพออ่านกันไปเพื่อได้ปริญญาโท ไม่แตกต่างจากคนอื่นเลย วิ่งใฝ่หาเกียรติยศ หาใบรับรองตัวเอง ผมอดทุเรศตัวเองไม่ได้ ที่จะเห็นตัวเองอยู่ในสภาพเช่นนั้น และถ้าทำลงไป ผมก็มองเห็นแต่ว่าตนเองจะถูกฉุดให้ต่ำลงด้วยกิเลส ด้วยความกระหายอยาก ด้วยความดิ้นรนใฝ่หาของความทะเยอทะยานอยาก มีแต่จะโง่ลงทรามลง ผมจึงกลับใจเห็นว่าจะไม่เรียนต่อเอาปริญญาโท แต่จะเรียนด้วยตนเองเสียที หาความรู้และความคิดเฉพาะแนวที่สนใจจริงๆ ไม่วิ่งไม่ไล่ตามสังคมอีกต่อไปละ"
 (คลิกดูภาพใหญ่)      แม้ส่วนลึกแล้ว โกมลก็คงนึกว่าตนเองมีความสามารถเรียนต่อในระดับปริญญาโทได้ แต่เขาก็ต่างจากเพื่อนนิสิตคนอื่น ตรงที่ปณิธานในการทำงานตามที่เรียนมานั้น ชัดเจนและเข้มข้นยิ่งนัก เห็นได้จากข้อเขียนในจดหมายฉบับเดียวกันนั้น "จุดมุ่งหมายได้ตั้งไว้แล้วและแจ่มชัด แต่นั่นเป็นงานเพื่อแก่ชีวิตของผม ซึ่งหวังจะไปให้ไกล แต่งานเพื่อแก่ยศและตำแหน่ง สิ่งนี้กำลังมองเป็นศัตรู จะต้องสู้กันหักโค่นกัน แต่งานในหน้าที่ หน้าที่ของผมคือหน้าที่ครูนี้ ผมคิดว่าความกว้างไกลที่ผมจะไม่มีจำกัด และไปถึงได้ไม่ยาก เมื่อคำว่าครูมาลงเอยอยู่ที่คำว่าอบรมสั่งสอน ให้มีความรู้ ความคิด วิชาชีพที่จะออกไปอยู่ในสังคมได้มีความสุข หน้าที่ของครูผมก็เห็นอยู่แต่เท่านี้เป็นหลัก"
     ส่วนเรื่องการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร อาจารย์สุมนเล่าไว้ในข้อเขียนไว้อาลัยถึงลูกศิษย์คนนี้ว่า "ไม่ว่าจะมีกิจกรรมทางวิชาการที่ไหน ฉันพบโกมลไปที่นั่น โกมลสนใจในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นสาระ เขาชอบคิด ชอบแสดงความคิด และแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น ที่น่าสนใจก็คือ โกมลชอบคิดถึงปรัชญา ควบคู่ไปกับชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมชาติ เมื่อคุยกันถึงการเพิ่มพูนรายได้ของคนไทยในชนบท พูดถึงระบบการจัดการศึกษาเพื่อเขาเหล่านั้น พูดถึงวิถีชีวิตของชาวมหาวิทยาลัยเท่าที่ควรจะเป็น โกมลคิด ข้อคิดที่ดี มีเหตุผล นอกจากจะคิดแล้ว เขายังฝันอีกด้วยว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นย่อมทำได้ เป็นไปได้ ดวงตาที่แจ่มใสของโกมลมีแววจริงจัง ที่ยากจะหาได้ในคนหนุ่มวัยเดียวกัน"
     โกมลจึงถือว่าเป็นลูกศิษย์ที่อาจารย์สุมนประทับใจและอยากให้เด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างเขา
     นอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ โกมลยังเข้าร่วมกิจกรรมการสัมมนากับชมรมปาฐกถาและโต้วาที ชุมนุมวรรณศิลป์ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน และอื่นๆ 
     ตลอดสี่ปีของชีวิตมหาวิทยาลัย โกมลสร้างและบำเพ็ญบารมีด้วยตัวของตัวเองมาโดยตลอด กลุ่มบุคคล ตลอดจนสถาบันการศึกษาของเขามีส่วนอยู่บ้าง แต่คงพูดได้อย่างไม่เต็มปากว่ามีส่วนอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเป็นไปอย่างเต็มที่แล้ว บุคคลเช่นเขาก็คงจะมีปรากฏขึ้นมาก่อน และติดตามหลังมาอย่างมาก แต่นี่เราก็พอจะมองเห็นแล้วว่าเราหาคนอย่างเขาได้มากเพียงใด
  ไปเป็นอิฐก้อนแรก : จากบ้านหมี่สู่บ้านส้อง
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     "เพื่อนเอ่ยถึงเรื่องหนึ่งว่าเวลานี้เราขาดคนที่จะยอมตนเป็นก้อนอิฐก้อนแรก ที่ทิ้งลงไปและก็จมอยู่ที่นั่น เพื่อให้ก้อนอื่น ๆ ถมทับตนอยู่ที่นั่น และเสร็จแล้วเจ้าก้อนที่จะปรากฏเป็นผู้รู้จักของสังคม ก็คือก้อนที่อยู่เหนือก้อนอื่นสุด ส่วนก้อนแรกนั้นก็จมดินอยู่นั่นเอง เราหาคนอย่างนี้ไม่ค่อยได้ จึงไม่ค่อยมีอะไรที่ใหม่ที่มีคุณค่าออกมา เพราะน้ำจิตน้ำใจแห่งการเสียสละของเรายังอบรมกันได้ผลน้อยเต็มที หรือว่าเราจะไม่เคยเน้นการอบรมเรื่องนี้กันเลยก็ได้"

     จดหมายถึงอาจารย์แถมสุข นุ่มนนท์ 
     ฉบับวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๓

     ทำไมเด็กหนุ่มจากลุ่มน้ำลพบุรีจึงเดินทางมาเรียนต่อยังลุ่มน้ำเจ้าพระยา และจบออกไปทำงานเป็นครูอยู่ในท้องถิ่นชนบทแห่งลุ่มน้ำตาปี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ กว่า ๖๐๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากบ้านเกิดเกือบ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร
     ความเป็นมาเริ่มตรงที่อาจารย์สุลักษณ์ไปเป็นบรรณาธิการ วิทยาสารปริทัศน์ ขณะที่คุณอารีย์ เอส เบอริแกน ผู้จัดการเหมืองห้วยในเขา แห่งตำบลบ้านส้อง กิ่งอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเหมืองแร่พลวง ได้อ่านบทความของอาจารย์สุลักษณ์ เรื่อง "บทเรียนจากหน่วยอาสาสมัครต่างประเทศของอังกฤษ" ตีพิมพ์ในหนังสือ วิทยาสารปริทัศน์ ฉบับที่ ๑ เขาเห็นด้วยกับความคิดเห็นในบทความดังกล่าว จึงเขียนเชิญชวนคนหนุ่มสาวจากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาพัฒนาตนเอง โดยจัดเป็น "ค่ายพัฒนากำลังคน เหมืองห้วยในเขา"
     ผลจากการตีพิมพ์จดหมายเชิญชวนเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่ามีนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครราว ๒๐ คนจากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา ไปทดลองทำเหมืองกันในตอนปิดภาค ดังหนึ่งเป็นงานค่ายอาสาสมัครกลายๆ ทางฝ่ายเหมืองเลยอยากให้บรรณาธิการ วิทยาสารปริทัศน์ ไปเยี่ยมและบรรยายให้แก่เยาวชนพวกนี้ อาจารย์สุลักษณ์ก็รับปาก และได้ชวนโกมลไปด้วย แต่แล้วท่านกลับไม่มีโอกาสได้ไปเพราะติดไปประเทศญี่ปุ่น คงให้แต่เพื่อนร่วมงานในกองบรรณาธิการไปแทน คือ อาจารย์อวบ สาณะเสน เป็นหัวหน้าทีม ร่วมด้วย ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ และ เทพศิริ สุขโสภา โดยมีโกมลซึ่งเพิ่งสอบเสร็จเดินทางร่วมไปด้วยดังที่วางแผนไว้เดิม
 (คลิกดูภาพใหญ่)      ค่ายนี้ได้มีโอกาสต้อนรับคณะนักเขียนจาก วิทยาสารปริทัศน์ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๑๓
     ในการไปเยี่ยมค่ายครั้งนั้น โกมลได้ไปเห็นเหมืองและได้คุยกับผู้จัดการเหมือง ก็เกิดชอบอัธยาศัยกัน เขาได้ทราบถึงความมุ่งหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนชุมชน ของเหมืองห้วยในเขาอยู่ก่อนแล้ว และทราบว่าทางเหมืองมีความคิดที่จะสร้างวัดขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในทางธรรมของชุมชน รวมถึงสถานีอนามัย ซึ่งจะรับสมัครแพทย์และพยาบาลมาประจำ แต่ก็ยังหาไม่ได้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะทางเหมืองรู้สึกว่าตนได้รับเงินจากที่นั่นส่วนหนึ่ง จึงควรจ่ายกลับไปเพื่อตอบแทนชุมชน
     คุณอุดม เย็นฤดี ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเหมืองแร่พลวง (ปัจจุบันเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโกมลคีมทอง) ให้สัมภาษณ์เมื่อปลายปี ๒๕๓๙ เกี่ยวกับที่มาของโรงเรียนแห่งนี้ว่า "เราใช้เขา [นักศึกษาที่มาออกค่าย--ผู้เขียน] ไปสำรวจความรู้สึกของชาวบ้านว่าเขาต้องการอะไรในเมื่อมีเหมืองแห่งนี้อยู่ ปรากฏว่าสิ่งที่เขาต้องการคือ อยากมีโรงเรียนใกล้บ้านแถวๆ นี้ เพราะลูกของเขาต้องเดินไปเรียนหนังสือไกลถึง ๖ กิโลเมตร คุณอารีย์จึงเสนอความคิดตั้งโรงเรียน ก็ประกาศออกมา โกมลเผอิญตามไปดูที่เหมืองทีหลัง ไปรู้เรื่องนี้ก็เลยเกิดความสนใจ"
     ผลผลิตอันสืบเนื่องจาก "ค่ายพัฒนากำลังคน เหมืองห้วยในเขา" ทำให้ในเวลาต่อมา สมาชิกบางส่วนของค่าย อาทิ สุรพล ศรีชุ่มสิน (นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์) มาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการเหมือง และ ทนง จันทราจล (นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์) มาเป็นครูประจำชั้นช่วยงานครูโกมลอีกคนหนึ่ง
     และราว ๑ เดือนต่อมา โกมลจึงได้ตอบตกลงเรื่องการทำโรงเรียนดังกล่าว และสมัครเป็นครูใหญ่ ตามจดหมายติดต่อของเขาถึงผู้จัดการเหมือง ลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๓ โดยที่เขาเล่าว่ารู้สึกหนักใจอยู่มาก เพราะ "ประการสำคัญคือ ผมไม่เคยคิดจะทำการประถมมาก่อนเลย ความสนใจส่วนใหญ่ตลอดเวลาคือเรื่องการมัธยมและอุดมศึกษา ฉะนั้น เรื่องที่จะทำต่อไปนี้ จึงต้องศึกษาและเรียนรู้กันใหม่ ผมกลับจากภูเก็ตครั้งที่แล้ว ก็พยายามเก็บความรู้ความคิดเรื่องการประถมนี้เรื่อยมา ได้ดูโรงเรียน ได้ถามหลักการต่างๆ และขอดูพวกอุปกรณ์ที่จะใช้ แต่เรื่องหลักสูตรยังไม่มีเวลาศึกษาจนบัดนี้"
 (คลิกดูภาพใหญ่)      การตัดสินใจครั้งนี้ ได้รับการคัดค้านจากเพื่อนฝูงและครอบครัว โดยเฉพาะนางทองคำผู้เป็นแม่ เพราะโกมลล้มเลิกแผนการเรียนต่อในระดับปริญญาโท รวมถึงงานด้านการสอนซึ่งอาจารย์ผู้ใหญ่ที่คณะครุศาสตร์ก็อยากได้ตัวไปช่วย โดยเขาได้ไปปรึกษาพ่อคือนายชวน ซึ่งในอดีตเคยเป็นครูสอนหนังสือนานถึง ๑๖ ปี แต่ขณะนั้นบวชเป็นพระภิกษุมานาน ๕ พรรษาแล้ว ท่านสนับสนุนการตัดสินใจของเขา และบอกแก่เขาว่า ชีวิตนี้ไม่ควรไปยินดียินร้ายดิ้นรนมันนัก ผลที่ได้มามันไม่คุ้มอะไรกัน ทะเยอทะยานไป สิ่งที่ได้มาไม่ใช่แก่นสารอะไรแก่ชีวิต 
     โกมลเขียนจดหมายไปบอกอุทัย เพื่อนที่สนิทว่า "ผมตัดสินใจมาเป็นครูอยู่สุราษฎร์ธานีแล้ว เวลานี้ผมมาตั้งหลักน่ะ ขืนอยู่จุฬาฯ อีก คงไม่แคล้วถูกกลืนจนหมดตัว" และในจดหมายฉบับวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๑๓ เขาเขียนเล่าความในใจว่า คำของหลวงพ่อนั้นสะกิดใจเขาอยู่นานหลายเดือน ตั้งแต่ไปเยี่ยมครั้งก่อน และว่า "พูดถึงความก้าวหน้า ผมคิดและไตร่ตรองดูโดยรอบคอบแล้วเห็นว่า ผมจะต้องหันกลับมาเล่นงานตัวเองเป็นจุดใหญ่ ตัดการยึดและถือมั่น ลดการถือตัว ถือทิฐิประจำตัว และปล่อยวาง หากดวงจิตตรงนี้สะอาดขึ้น สว่างขึ้น และสงบขึ้น นั่นแหละคือความก้าวหน้า แต่ตรงข้ามมันกลับสกปรกโสโครกลง มืดมิดลง และฟุ้งซ่านขึ้น โลดแล่นต่อไปด้วยอำนาจกิเลสและตัณหามากขึ้น นี่แหละคือความหายนะของชีวิตผม ความล่มจมและความเสื่อม แต่ก็มิได้หมายความว่าจะหนีโลกหนีสังคม ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นแต่จะชี้ให้เห็นถึง concept ของผมเกี่ยวกับชีวิตนี้ และนั่นเป็นหลักการใหญ่ เป็นประดุจจุดมุ่งหมายสูงสุดให้แก่ชีวิตของตน แต่ในฐานะเกิดเป็นคนในสังคม ผมยังเป็นหนี้สังคมอยู่มาก ผมยังคงไม่ทอดทิ้งภาระและหน้าที่นี้เด็ดขาด การศึกษาที่เรียนมายังจะเป็นเรื่องที่ต้องจับขึ้นมาทำ และจะเล่นอย่างจริงจัง ให้ผลแก่การศึกษาต่อไป เฉพาะแต่จะเอาตัวรอด เป็นครูดี สอนดี ประพฤติดี ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว สำหรับเรา สำหรับสังคมยุคนี้และต่อไป ผมเห็นว่าเราจะต้องโลดแล่นต่อไปในสังคมการศึกษา ในทางที่จะต้องพยายามยกระดับให้สูงขึ้น จริงจังมากขึ้น และมี aim มีปรัชญาที่แน่นอนและถูกต้องเหมาะสมมากกว่านี้ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น เราเห็นจะต้องสั่งสมและสร้างบารมีกันก่อน บารมีนี้คือความรู้ความเข้าใจและความคิด เรื่องยศ เรื่องตำแหน่ง เวลานี้ยังมีสะกิดเกี่ยวและรบกวนจิตใจอยู่บ้างไม่น้อยเลย แต่เชื่อแน่ว่าอีกไม่ช้าผมจะตัดมันออกให้ขาดเด็ดกันได้"
     และอีกตอนหนึ่งของจดหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งแสดงความเป็น "โกมล คีมทอง" ได้อย่างชัดเจน และต่อมากลายเป็นอมตพจน์ที่ใช้อ้างอิงอยู่เสมอเวลาเขียนถึงเขา 
     "การมีชีวิตอยู่เพียงเพื่ออยู่รอด ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย เพียงแต่ปรับตัวเข้ากับคนอื่นเรื่อยไปก็อยู่ได้ แต่คนที่ยึดมั่น เชื่อมั่น และยึดในหลักการนั้น หายาก และทำยาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การทำยากจะทำไม่ได้ ชีวิตอย่างเราผมเห็นว่าความสุข ความพอใจ ไม่ควรให้อยู่เป็นแค่การอยู่รอด เอาตัวรอด แต่ความสุข ความพอใจควรอยู่ที่การทำดี ทำตรง ทำถูกต้อง และมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานยาก ๆ ที่คนธรรมดาทำไม่ได้นั่นมากกว่า ผมจะดีใจและพอใจเสมอที่จะได้ทราบข่าวคราว และเรื่องราวที่เราสามารถขัดและแย้ง หาความถูกต้องดีงามให้แก่สังคมได้"
 (คลิกดูภาพใหญ่)      จะว่าไป นอกจากโกมลจะได้ซึมซับภาพความเป็นครูจากบิดาของตนแล้ว ในช่วงวัยแรกรุ่น เขายังมีภาพประทับใจต่อครูคนหนึ่งซึ่งเคยสอนเขาสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนบ้านหมี่วิทยา ครูท่านนั้นชื่อ ธวัชชัย เหรียญทอง จดหมายที่เขาเขียนถึงครูคนนี้เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๒ ขณะที่กำลังเป็นนิสิตฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ บ่งชัดว่า เขาได้แบบอย่างแห่งความเป็นครูที่แท้จากท่านผู้นี้มาเพียงไร เขาเขียนว่า "คำพูด คำสอนของครูทั้งหมด ตลอดบุคลิก ท่าทาง การปฏิบัติตัวของครู เป็นสิ่งที่ฝังใจผมอยู่เรื่อยมา และมารู้ตัวมากขึ้นเมื่อมาสอนเด็กอยู่ขณะนี้"
     การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ โกมลได้ไปปรึกษาอาจารย์สุลักษณ์ด้วยว่าจะเลือกทำงานอย่างไหนดี อาจารย์แนะนำเพียงว่าเขาต้องตัดสินใจเอง และบอกแก่เขาว่า "การเป็นอาจารย์ในกรุงเทพฯ ก็ดี ถ้ามีอุดมคติ คิดจะไปปรับปรุงแก้ไขระบบการจากภายใน ก็คงทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ข้อสำคัญของการทำงาน ต้องนึกเสียว่าแพ้บ้างชนะบ้างละก็เป็นใช้ได้ อยู่กรุงเทพฯ ก็มีประโยชน์ตรงที่จะตักตวงความรู้ได้อีก มีโอกาสพบปะผู้คนได้มาก ได้เรียนรู้อะไรอีกมาก [...] ส่วนการออกไปเป็นครูบ้านนอกก็เป็นความคิดที่ดี แต่ถ้ามีความฝันไว้มากก็ต้องเตรียมผิดหวังไว้ให้มาก ๆ ด้วย พร้อมกันนั้น การทำอะไรถ้าไม่ฝัน มันก็เข้าร่องว่าสักแต่ทำไปวันๆ ดังเป็นลูกจ้างเขา หรือดังคนขายตัวขายอุดมการณ์ทั้งหลายนั่นเอง คนที่มีอุดมคติต้องเตรียมที่จะรับการผิดหวังไว้ โดยเฉพาะในกรณีของสภาพสังคมปัจจุบัน"
     โกมลไปถึงสถานีรถไฟบ้านส้อง ซึ่งอยู่ห่างจากเหมืองไม่มากนัก เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ก่อนวันปิดค่ายพัฒนากำลังคนราวหนึ่งสัปดาห์ เขามีกระเป๋าเดินทางใบย่อมติดตัวมาเพียงใบเดียว แต่มีลังกระดาษบรรจุหนังสือตำราต่างๆ อีกสี่ใบ ขณะที่เสื้อผ้าและหนังสือส่วนใหญ่ได้แจกจ่ายแก่เพื่อนๆ และเด็กยากจนไปหมด นำติดตัวมาเฉพาะที่เห็นว่าจำเป็นจะต้องใช้ ตามสภาพของการอยู่ป่า เมื่อผู้จัดการเหมืองสั่งให้แม่บ้านจัดเครื่องนอนสำหรับเขา เขาก็ขอรับเอาเพียงเสื่อผืน หมอนใบ และผ้าห่มสักผืน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อจะได้ฝึกการกินง่าย พยายามที่จะให้มีความเป็นอยู่ให้ใกล้กับพระสงฆ์ผู้ทรงศีลมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
     ในขณะนั้น โรงเรียนมีเพียงอาคารชั่วคราว ยังไม่สามารถเปิดรับเด็กได้ทันในปีการศึกษาใหม่นี้ แต่โกมลคิดว่าเทอมกลางนี้จะเอาเด็กก่อนเกณฑ์มาเริ่มสอนไปพลางก่อน เพราะได้สำรวจเด็กไว้หมดแล้ว แต่ปัญหาคือจะสอนอะไรแก่เด็ก อีกทั้งยังต้องดำเนินการก่อสร้างต่อให้เสร็จ นั่นคือพื้นของอาคารยังต้องปรับ การแบ่งห้อง จัดห้อง การสร้างโต๊ะเก้าอี้ โต๊ะครู และส้วม ห้องน้ำ บ่อน้ำ และประปา ไฟฟ้าประจำโรงเรียนซึ่งต่อมาจากเหมือง
 (คลิกดูภาพใหญ่)      เมื่อรับงานเกี่ยวกับโรงเรียนแล้ว โกมลได้ขอเวลาไปศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการจัดชั้นเรียน การจัดอุปกรณ์การสอน ตลอดจนหลักสูตร ในท้องที่ต่างๆ นับตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในจังหวัดสงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่กรุงเทพฯ รวมถึงการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนจากทางราชการ ทั้งยังจะจัดให้มีแผนกอาชีวะ ช่างเครื่องยนต์ ช่างไม้ และการศึกษาผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งไม่ใช่งานเล็กน้อยเลย ในการดูงานที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา เขาได้รับการชักชวนจาก ดร. สมพร บัวทอง รองอธิการบดี ถึงสองหนให้ทำงานที่นั่น เพราะเห็นถึงความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่น และความคิดของคนหนุ่มอย่างเขาเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการศึกษา
     จดหมายที่โกมลเขียนถึงไพฑูรย์ ฉบับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ช่วยบรรยายให้เห็นบรรยากาศตอนนั้นได้เป็นอย่างดี "เวลานี้ผมทำอะไรทุกอย่างเร่งรัดตัวเอง กวดขันตัวเอง เพราะด้วยสำนึกว่ายังด้อยความรู้อยู่มาก ผมต้องรู้ก่อนว่า ร.ร. ที่ทำอยู่เวลานี้เป็นอย่างไร หลักการคืออะไร ดีและเลวอย่างไร การเรียนรู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อเอามาพูดวิพากษ์วิจารณ์กัน เสร็จแล้วก็แล้วกันอย่างที่เคยทำมา แต่รู้ตัวว่าจะต้องรู้และเข้าใจโดยตลอด หาข้อบกพร่องและวิธีการแก้ไข ปรับปรุง และด้วยความคิดเช่นนี้ผมจึงต้องเร่งตัวเองออกศึกษา หาความรู้ หาความคิดจากการดู ร.ร. ต่างๆ จนเวลานี้ก็ระเห็ดมาอยู่สงขลา ดูเรื่องการอนุบาลและประถมศึกษามา ๖-๗ วันแล้ว มาพักอยู่หอพักวิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา เย็นลงกลับจากตระเวนที่ต่างๆ ไปหาข้าวปลากินที่บ้านท่านรองอธิการวิทยาลัย แล้วก็ถกกันเรื่องปัญหาการศึกษา การฝึกหัดครู เรื่อง ร.ร. ชุมชน เรื่อง ฯลฯ ถกกันหน้าดำคร่ำเครียดมา ๓ คืนแล้ว อยู่กันดึกดื่นทุกคืน"
     อาจารย์สุมนเคยพูดถึงกรณีนี้ว่า ไม่เคยเห็นลูกศิษย์คนใดเตรียมตัวที่จะออกไปทำงานมากเท่าโกมล เนื่องจากเขาเรียนมาทางด้านสาขามัธยมศึกษา แต่เมื่อต้องไปตั้งโรงเรียนประถม เขาจึงมาขอคำแนะนำจากอาจารย์สุมนซึ่งเป็นครูประถม และยัง "ไปขอความรู้จากอาจารย์ผู้ใหญ่หลายแห่ง ทั้งที่เป็นงานวิชาการ และที่เกี่ยวกับอุปกรณ์การเรียนการสอน ไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ต่างคณะในเรื่องของการออกแบบการก่อสร้างอาคารเรียน บ้านพักครู และสนามเด็กเล่น ไปขอความรู้จากคนที่มีความรู้ทางด้านพืชพันธุ์ไม้ เพื่อนำมาปลูกในบริเวณโรงเรียน เรื่องการทำสวนครัว หรือแม้แต่ในงานอาชีพช่างทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการเย็บผ้าของชาวบ้าน" ดังข้อเขียนที่เป็นจดหมายของเขากว่า ๗๐ ฉบับถึงบุคคลต่างๆ ในช่วงเวลาเพียง ๙ เดือนกว่า ๆ ที่เขาไปอยู่ที่นั่น เป็นประจักษ์พยานอยู่
  ครูเล็กๆ ของแผ่นดิน
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     "เรื่องของโรงเรียนแต่เดิมมา เราทำเป็นแบบสำเร็จรูป ทำแบบออกมาแบบหนึ่งแล้วบังคับใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร เหมือนการตัดเสื้อโหลขายอย่างนั้น ความเหมาะสมไม่ค่อยได้คำนึงถึง แต่การศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำกันง่ายๆ อย่างการตัดเสื้อโหลหรือตัดชุดทหารเกณฑ์ เราน่าที่จะได้คำนึงถึงความแตกต่าง ระหว่างคนในที่ต่าง ๆ ปัญหาของคนในที่ต่างๆ ว่ามีอย่างไร สภาพทางการอาชีพที่แตกต่างกันเหล่านี้ เราควรจะต้องนำมาพิจารณาจัดหลักสูตร จัดเรื่องการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป มากกว่าที่จะจัดให้ทุกอย่างมาอยู่ในฟอร์ม หรือแบบเดียวกันหมดทั่วประเทศ นี่เป็นประเด็นกว้างๆ ที่อยากจะมาทำเรื่องการโรงเรียนชุมชน"

     จดหมายถึงอาจารย์แถมสุข นุ่มนนท์
     ฉบับวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๓

     โกมลใช้เวลาในการศึกษาและดูงานเกี่ยวกับด้านนี้อยู่ประมาณ ๓ เดือน จึงได้ลงมือจัดชั้นเรียน และเปิดทำการสอนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๓ โดยเขาเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนแห่งนี้ ขณะนั้นมีนักเรียนชั้นเด็กเล็ก (อายุ ๕ ขวบ) ๒๔ คน ภายหลังสำรวจพบเด็กอายุเกินเกณฑ์ (อายุ ๘-๑๓ ปี) ไม่ได้เรียนหนังสืออีกจำนวนหนึ่ง จึงจัดชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ ๑ เพิ่ม จำนวนเด็กจึงเพิ่มเป็น ๔๐ คน จัดระบบการศึกษาแบบโรงเรียนชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทยในสมัยนั้น
     คำว่าโรงเรียนชุมชนตามความต้องการของโกมล โรงเรียนควรจะมีบทบาทต่อชุมชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นหมายถึงว่าโรงเรียนนี้ไม่เพียงแต่จะตั้งหน้าตั้งตาสอนเด็กไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่ต้องการที่จะให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าทุกคนเป็นเจ้าของโรงเรียนนี้ มีสิทธิและมีส่วนรู้เห็น ตลอดจนมาใช้สถานที่ของโรงเรียนในโอกาสต่างๆ โรงเรียนชุมชนจึงไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่สอนให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ วิชาที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ก็ไม่จำเป็นต้องสอน ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องกรุงเทพฯ ยุโรป หรืออเมริกา แต่เรียนเรื่องบ้านของตัวเองให้ดีเสียก่อน เช่น การทำนา การทำสวนยาง ฯลฯ เพื่อเด็กจะได้รู้สึกภูมิใจในท้องถิ่นของตัว ไม่ดูถูกภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสร้างสมกันมา ทั้งยังให้การศึกษาแผ่ขยายไปยังผู้ใหญ่ในชุมชนนั้น
 (คลิกดูภาพใหญ่)      ส่วนเรื่องครูผู้ช่วยนั้น โกมลก็มิได้ยึดเรื่องวุฒิเป็นหลัก ดังชาวบ้านธรรมดาๆ เช่น ลุงเฉย ฉิมพลี ก็ถูกชักชวนให้มาสอนเรื่องศิลปะ เรื่องศีลธรรม แก่เด็กนักเรียนด้วยเช่นกัน โดยช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๑๓ ก่อนเปิดเรียน เขาขอให้ลุงเฉยวาดภาพเพื่อทำอุปกรณ์การสอน เมื่อโรงเรียนเปิด ก็ขอร้องให้ลุงเฉยเป็นครูพิเศษอยู่เดือนหนึ่ง ต่อมาจึงเลื่อนมาเป็นครูประจำชั้น โดยใส่ชุดชาวนาไปสอนหนังสือ แต่หลังจากโกมลเสียชีวิต ทางเหมืองก็ไม่ได้รับลุงเฉยเป็นครูเพราะไม่มีวุฒิ ป้าแจ้ว ฉิมพลี ซึ่งเป็นภรรยาเล่าเรื่องลุงเฉยให้ฟังภายหลังว่า ลุงเฉยเป็นคนพูดเก่ง เรียนจบเพียงชั้นประถมสี่ แต่เคยบวชเรียนจนสอบได้นักธรรมโท หลังจากสึกก็ไปเป็นทหาร ไปรบที่เชียงตุง เชียงราย ก่อนเสียชีวิตในปี ๒๕๑๙ ลุงเฉยได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้ ลุงเฉยยังรำมโนห์ราได้ ทั้งเมื่อมีงานศพ ก็ร้องเพลงกระบอกให้ด้วย
     ครูผู้ช่วยอีกคน คือสมชาย เลขวิวัฒน์ นั้น จบการศึกษาจากโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เดิมเจอกับโกมลครั้งแรกบนขบวนรถไฟเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๓ ขณะที่สมชายไปสวนโมกข์ ส่วนโกมลไปบ้านส้อง เมื่อถูกอัธยาศัยกัน โกมลจึงชวนมาร่วมทำงานที่โรงเรียน ต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๓ สมชายมาถึงที่เหมือง โกมลจึงให้ช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ การสำรวจเด็ก การชักชวนชาวบ้านให้เห็นความสำคัญของการส่งเด็กมาเรียน ต่อมาภายหลัง ทั้งคู่ก็ออกตะเวนเยี่ยมตามบ้านของชาวบ้าน ได้เจอศิลปิน กวี นักเล่านิทาน ฯลฯ
     ในการออกตระเวนตามหมู่บ้าน โกมลได้เห็นว่า เด็กซึ่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ มานาน ๒-๓ ปี ก็ยังอ่านหนังสือได้ แต่ปัญหาที่พบคือ เขาไม่มีหนังสืออ่าน เมื่อเรียนจบแล้วก็ออกมาทำนาทำสวน ความรู้ทางหนังสือที่เรียนมาจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ เขาจึงมีความคิดที่จะสอนเรื่องวิชาชีพให้แก่นักเรียนและชาวบ้านด้วย เช่น การทำไร่ข้าวโพด ไร่กาแฟ การเพาะเห็ดฟาง การปลูกไม้ผล หรือการเลี้ยงไก่ รวมถึงการทำแปลงผักในโรงเรียน เพราะเขาคิดว่าอาจเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านนำไปทดลองทำสวนครัวของตนเอง แต่อย่างน้อยเขาก็คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนบ้าง ดังที่เขาเคยเขียนไว้ในข้อเขียนเรื่อง "สวนครัว" ว่า "การสวนครัวนั้น น่าที่จะช่วยแก้และต่อเติมจุดบกพร่องทางการศึกษาได้ไม่น้อย ขณะที่ทำแปลงยกร่องผัก เด็กจะได้รู้จักการทำงานร่วมกัน การร่วมมือร่วมแรง และรู้จักคุณค่าของการทำงานออกแรงขุดดิน ซึ่งงานขุดดินการศึกษาทุกวันนี้ สอนให้ดูถูกและเหยียดหยามตลอดมา"
     ในจดหมายฉบับวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๓ ถึงไพฑูรย์ โกมลพูดถึงเรื่องส้วม และเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งแม้แต่ในยุคที่เริ่มมีการปฏิรูปทางการศึกษาแล้ว ก็ใช่ว่าจะยอมรับแนวคิดนี้กันได้ง่ายๆ "ผมกำลังให้เขาขุดส้วมหลุมตามแบบของ Unesco ที่ราคาถูกที่สุดและมิดชิดมากที่สุด เพื่อใช้ส้วมหลังนี้ในโรงเรียนของเรา และเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านไปด้วย อาจารย์คงนึกออกว่าสภาพชาวบ้านของเราโดยทั่วไป วิธีถ่ายของเขาทำอย่างไร ชาวบ้านไม่ใช้ส้วมเลย ซึ่งถ้าไม่เดือดร้อน คือไม่เกิดอะไรขึ้น ผมก็ไม่เห็นมีความจำเป็นอย่างไร ที่จะต้องให้เขามีส้วม แต่นี่เพราะไม่ใช้ส้วมแล้วทำเอาผมเดือดร้อนอีกด้วย
       "เรื่องมีอยู่ว่า ผมจะต้องคิดหาเครื่องแบบนักเรียน และต้องมาสะดุดอยู่ที่รองเท้า ผมตั้งปัญหาถามตัวเองว่า มีความจำเป็นเพียงไรที่จะต้องมีรองเท้า เด็กที่นั่น ตั้งแต่เล็กจนโตไม่ต้องสวมรองเท้า เขาก็อยู่กันมาได้ ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีใครกลัวว่าเท้าจะร้อนจะพอง เพราะธรรมชาติเสริมให้เท้าของแกหนาเพียงพอ อย่างนี้แล้วเราจะไปเกณฑ์ให้แกเดือดร้อนเพื่ออะไร พ่อแม่แกก็เดือดร้อน เราให้แกสวมเพราะว่านั่นเป็นฟอร์มที่กระทรวงกำหนดไว้หรือเพื่อความสวยงาม ถ้าเป็นสองอย่างนี้ ผมก็ไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องไปบังคับให้ใช้ ความสวยงามของเครื่องแบบก็เป็นแต่เรื่องที่สมมุติขึ้น ถ้าเรากำหนดว่าเครื่องแบบควรมีแต่เสื้อกับกางเกง หรือผ้าถุง แล้วเราบอกว่าอย่างนี้แหละสวย มันก็น่าจะสวย นี่ผมคิดว่าบางอย่างที่ไม่มีเหตุผลพอ เราก็ควรจะตัดออกเสียบ้าง ยึดมากถือมากหนักแย่ไปเลย ปล่อยเสียบ้างก็น่าจะสบายขึ้น
     "ผมพูดเรื่องส้วมกับเรื่องรองเท้าขึ้นมา เพราะในที่สุดมาได้เหตุผลขึ้นว่า เด็กชาวบ้านเป็นโรคพยาธิกันมาก เพราะสาเหตุคือ การถ่ายไม่เป็นที่ ไม่มีส้วม และไม่มีรองเท้า จึงแพร่เชื้อโรคนี้ได้ง่าย เด็กๆ ยิ่งเป็นกันมาก ผมก็เลยได้เหตุผลที่จะบอกให้เด็กต้องมีรองเท้าสวมใส่"
     ทั้งเขายังมีความคิดจะเปิดหลักสูตรพิเศษสำหรับชาวบ้าน ด้านการดูแลสุขภาพของตนเอง เรื่องการปฐมพยาบาล โดยนำเด็กหญิงที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และอยู่บ้านเฉยๆ มารับการอบรม รวมถึงเรื่องการฝึกอาชีพด้านการตัดเย็บแก่ผู้หญิงในหมู่บ้านด้วย ครูของโรงเรียนชุมชนจึงเป็นทั้งผู้สอน พัฒนากร และอนามัยไปในตัว
     นอกจากนี้ ยังคิดจะบรรจุศิลปะพื้นบ้านทางปักษ์ใต้ เข้าไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนชุมชนแห่งนี้ด้วย เป็นต้นว่า มโนห์รา หนังตะลุง เพลงกระบอก กลอนประเภทต่างๆ เพลงหนัง ลิเกย่อ และคตินิทานชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านที่มีความรู้ เป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่บรรดานักเรียนน้อย ซึ่งเป็นลูกหลานของตนเอง
     ส่วนการสร้างอาคารของโรงเรียน ตลอดจนเครื่องเล่นต่างๆ สำหรับเด็ก โกมลคิดใช้วัสดุพื้นบ้าน เช่น ไม้ไผ่ หวาย ดังบ้านพักครูช่วงแรก ก็สร้างด้วยไม้ไผ่เช่นกัน นอกจากนี้ เขายังทำห้องสมุด ซึ่งมิใช่สำหรับเด็กเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านก็สามารถมาร่วมใช้หาความรู้ได้อีกด้วย
     โรงเรียนชุมชนของเขาจึงสอดคล้องและเป็นไปเพื่อชุมชนนั้นอย่างแท้จริง
  เสียงสะท้อนจากลูกศิษย์
 (คลิกดูภาพใหญ่)
คุณถาวร หนูแก้ว ลูกศิษย์ของครูโกมล ถ่ายเมื่อปี ๒๕๓๙

     "ข้าพเจ้าตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า การเป็นครูนั้นมิใช่ของง่ายเลย มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ข้าพเจ้าจะต้องฝึกฝนให้พร้อมและเหมาะสม ตลอดระยะแรกๆ นี้ข้าพเจ้ามั่นใจ เหมือนดังแม่ทัพผู้นำกองทัพเข้าสู่ยุทธภูมิ ความลำพองและฮึกเหิมย่อมมีมากสุดที่จะประมาณ แต่แล้วต่อไปและต่อไปอีกเล่า ความลำพองนี้จะมิกลายเป็นความทรนง ความยะโส และลืมตัว เมื่อเข้าสอนลืมตัวว่าตัวเองรู้ เพราะการเจนจัดในการทำแต่เรื่องนี้ซ้ำซาก แต่ข้าพเจ้าหารู้ไม่ว่า ความรู้กับวิธีการถ่ายทอดนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ทุกคนอาจมีความรู้อยู่เต็มที่เสมอกัน แต่ถ้าไม่ตระเตรียมค้นคิดใฝ่หาเทคนิคการจะถ่ายทอดแล้ว การสอนก็เหมือนการท่องความรู้ให้นักเรียนฟัง"

     ข้อเขียนเรื่อง "ข้าพเจ้ากลัว"

     สมยศ จันทร์แก้ว อดีตเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ (ปี ๒๕๑๓) แห่งโรงเรียนบ้านพรุกระแชง ซึ่งมีบ้านตั้งอยู่หน้าโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาเล่าว่า พ่อของเขา คือ สุรินทร์ จันทร์แก้ว เป็นบุคคลผู้หนึ่งซึ่งบริจาคที่ดินหลายไร่สำหรับสร้างโรงเรียน สมยศย้อนทวนเหตุการณ์สมัยที่ไปส่งอาหารปิ่นโตให้แก่ครูโกมลและครูรัตนา วันละสองมื้อ ที่บ้านพักครู และบอกว่าตนเคยไปนอนเล่นที่ห้องพักของครูโกมลด้วย ครั้งหนึ่งครูเคยมอบรูปถ่ายสวมครุยรับปริญญาให้ใบหนึ่ง จึงรู้สึกประทับใจเพราะครูโกมลใจดี มีของอะไรก็เอามาให้กิน ไปไหนก็ชวนไปด้วย มักเอารูปต่างๆ ให้ดู ส่วนสภาพบ้านพักครูในสมัยนั้น เป็นบ้านไม้สองชั้น ชั้นบนเป็นห้องพักของครูโกมล ข้างในไม่มีเตียง แต่มีหนังสือมาก ส่วนชั้นล่างมาเปิดเป็นห้องเรียนหลังจากครูเสียชีวิตแล้ว
     ถาวร หนูแก้ว อดีตหัวหน้านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ รุ่นแรกแห่งโรงเรียนเหมืองห้วยในเขา เล่าบรรยากาศสมัยที่ครูโกมลมาสอนหนังสือเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน ในรายการ "ย้อนรอยครูโกมล คีมทอง" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ว่า "มีอะไรเธอก็ถามครูนะ ท่านบอกว่าการถามนี้คือความรู้ ไม่ต้องกลัวครู ท่านบอกว่า ถ้าเราเป็นคนที่รู้ตัว รู้ฐานะ การคุยเราไม่ต้องกลัวครู แต่เราต้องเกรง แกบอกว่าการกลัวกับการเกรงมันผิดกัน ไม่เหมือนกัน ถ้ากลัว เราลนลาน ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราเกรง เวลามีอะไรเรากล้าปรึกษา กล้าถาม กล้าพูด ท่านสอนอย่างนั้น ในตอนนั้น ท่านคงรู้ว่าพวกผมยังอ่านหนังสืออะไรไม่ค่อยได้ จึงยังไม่มีหนังสือให้ พอมาช่วงหลังๆ พอเห็นว่าพวกผมอ่าน สะกดหนังสืออะไรได้บ้างแล้ว ท่านก็เอาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับประเทศไทย ผมจะชอบมากเลย"
 (คลิกดูภาพใหญ่)
ด.ช.ถาวร หนูแก้ว ลูกศิษย์ของครูโกมล ถ่ายเมื่อปี ๒๕๑๓
     และอีกตอนเมื่อครูโกมลของเด็กๆ พานักเรียนออกมาเรียนคำอ่านนอกห้องเรียน "ท่านบอกว่าแสงแดดตอนเช้านี้มันมีประโยชน์ มันจะช่วยบำรุงกระดูกอะไรผมก็จำไม่ค่อยจะได้ ตอนนั่งคุยอย่างนั้น บางคนไปนั่งกอดเอวท่านบ้าง นั่งในตักท่านบ้าง ท่านก็จะแนะนำคำพูดอะไรยากๆ อย่าง "เงาะ" สอนกันวันละคำสองคำ พอนักเรียนพูดได้ พรุ่งนี้ท่านก็จะเปลี่ยนอีก เอาอีกคำหนึ่งมา"
ส่วนพี่ชายของถาวร คือ มงคล หนูแก้ว แม้จะไม่ได้เรียนที่โรงเรียนของครูโกมล แต่ยังจำได้ดีว่าที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา มีนมให้เด็กดื่มตอนกลางวันด้วย ขณะที่โรงเรียนอื่นไม่มี มงคลเล่าความประทับใจแต่หนหลังให้ฟังว่า "วันเสาร์อาทิตย์ผมจะหยุดโรงเรียน แต่โรงเรียนของครูโกมลจะเปิดสอน [จะหยุดเรียนในวันพระเต็มวัน วันโกนครึ่งวัน--ผู้เขียน] บ้านผมก็อยู่ละแวกนั้น ผมก็เดินมาเที่ยว มาเกาะรั้วข้างโรงเรียน นั่งดูครูเขาสอนกัน ครูก็บอกว่า เธอไม่เรียนหนังสือเรอะ เรียนครับ งั้นก็เข้ามานั่งข้างในสิ ผมก็เลยเข้ามานั่ง แล้วครูก็ว่า เอาหนังสือนี่อ่านให้นักเรียนของผมฟังด้วย ผมก็ลุกขึ้นยืนและก็อ่านตามหนังสือที่เขาเรียนกัน"
     สารภี ศรีนุ่ม ลูกศิษย์คนหนึ่งของโกมล เล่าว่า "ครูโกมลชอบเดินไปเยี่ยมบ้านนักเรียน เดินครั้งหนึ่งระยะทางก็ ๔-๕ กิโลเมตร ครูสอนดี ไม่ตี พูดเพราะ ไม่ด่าไม่ว่า นักเรียนส่วนมากเป็นเด็กยากจน ครูจะรับนักเรียนที่ยากจนก่อน ฉันไม่มีหลักฐาน ไม่มีสูติบัตร ครูก็ให้เรียน ไม่ถือว่า กินข้าวจากปิ่นโตเดียวกันได้ ไปค้างบ้านไหนใครก็รัก"
     สุทิน บุญเหลือ ลูกศิษย์อีกคน เล่าว่า "ผมรู้สึกรักและเทิดทูนครูโกมลอย่างแรง เพราะว่าเมื่อมานึกสภาพในสมัยนี้มันผิดกัน ครูโกมลเป็นคนที่รักศิษย์รักจริง ตั้งใจสอนจริง"
ไพลินเป็นเด็กอีกคนที่ครูโกมลชอบอุ้มและพาไปเที่ยวไหนต่อไหน ถึงขนาดจะขอเอาเป็นลูกบุญธรรมและรับปากพ่อแม่เด็กว่าจะส่งเสียให้เล่าเรียนจนถึงที่สุด "ครูยังอุ้มฉัน ยังหาขนมให้กิน ตอนนั้นฉันอายุห้าหกขวบ ครูใจดี รักเด็ก กินง่าย น้ำพริกไม่ใส่ปลาก็กินได้"
     นอกจากนี้ ลูกศิษย์คนอื่นยังช่วยกันเล่าเรื่องทั่วๆ ไปของโรงเรียนให้ฟังอีกว่า นักเรียนจะเข้าเรียนตอนแปดโมงครึ่ง มีการร้องเพลงชาติ และเก็บขยะ หัวหน้าห้องจะเป็นคนนำเพื่อนท่องแม่เลข (สูตรคูณ) และนำนักเรียนสวัสดีคุณครู เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะแต่งกายธรรมดา ใส่ชุดพื้นบ้าน มีอะไรก็ใส่ไป ที่ซื้อมีน้อยมาก เพราะครูไม่อยากให้เด็กนักเรียนลำบาก โรงเรียนมีแปลงปลูกผักบุ้งด้วย โดยให้นักเรียนช่วยกันรดน้ำดูแล เมื่อโตพอก็ให้เด็กตัดและมัดกลับบ้าน ส่วนอาคารเรียนหลังใหญ่สมัยก่อนทำเป็นอาคารยกพื้นสองชั้น ชั้นบนเป็นชั้นเด็กเล็ก
     แม้เหตุการณ์เหล่านั้นจะผ่านมานานกว่า ๓๐ ปี แต่ความทรงจำอันงดงามและความรู้สึกประทับใจยังคงแจ่มชัดในความรู้สึกของเหล่าลูกศิษย์ ครูโกมลจึงเป็นที่รักของเด็กนักเรียน และกลายเป็นอีกตำนานหนึ่งของชาวบ้านส้องรุ่นนั้น
  ความสนใจด้านศิลปะวัฒนธรรม
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     "พี่เขียนจดหมายฉบับนี้เมื่อฝนตก อากาศเย็นเห็นเม็ดฝนตกลงเป็นสาย อดจะนึกถึงสายพิณไม่ได้ ข้างๆ พี่มีเด็กชาวบ้านมานั่งเล่นพวกอุปกรณ์เด็กเล่นอยู่ ๔-๕ คน และแว่วเสียงคำบอกของคนแก่ประจำหมู่บ้าน กำลังเล่านิทานพื้นบ้านให้ครูของเราจดเพื่อทำบันทึกเก็บไว้ สภาพทุกอย่างที่นั่นเป็นไปอย่างเนิบนาบ ไม่เร่งร้อน คนหนุ่มมาอยู่ที่นี่จึงน่าจะได้อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ ข้อ คือ ความสะดุดหยุดความทะยานอยาก ที่ไม่รู้จะอยากจะต้องการเพื่ออะไรแน่ อีกอย่างหนึ่งสำหรับบางคนอาจจะเห็นชีวิตนี่เป็นชีวิตเฉื่อย เหนื่อยหน่ายน่าเบื่อก็ได้"

     จดหมายถึง สายพิณ หงส์รัตนอุทัย

     เพียงเดือนกว่าหลังจากโรงเรียนเปิด โกมลก็เริ่มมีปัญหานั่นคือ เขาคิดว่าทางเหมืองไม่พร้อมในเรื่องการสนับสนุนด้านเงินทุน ที่สำคัญคือ เขาคิดว่าเจตนารมณ์ของการก่อตั้งโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาขึ้นนั้น แตกต่างกันโดยพื้นฐานของปรัชญาโรงเรียนชุมชน จุดแตกหักอยู่ที่ปัญหาความขัดแย้งกับผู้จัดการเหมืองนั่นเอง เริ่มแต่ปัญหาส่วนตัวระหว่างสมชายกับผู้จัดการเหมือง และการที่ผู้จัดการเหมืองเริ่มเข้ามาแทรกแซงบทบาทการบริหารงานในโรงเรียนของโกมล
     ช่วงเวลาเดียวกันนั้น โกมลก็เริ่มเบนความสนใจไปในเรื่องการสำรวจหมู่บ้าน เขาต้องการค้นหาสิ่งที่ดีงามที่ชาวบ้านมีอยู่แล้ว เพื่อเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นสมบัติสืบต่อๆ ไปถึงชนรุ่นหลัง จึงได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้หมดไปด้วยการเยี่ยมเยียนชาวบ้าน เดินขึ้นเขาลงห้วยและบุกป่าฝ่าหนามไปถึงชานเรือนของชาวบ้านทุกหลังคาเรือน ได้ซักถามความรู้สึก ความเป็นอยู่ รายได้รายจ่ายของครอบครัว ความต้องการของแต่ละบุคคล เพื่อจดบันทึกและถ่ายรูปประกอบการจัดทำคตินิทานของชาวบ้านที่นับวันจะสูญหายตกหล่น รวมถึงการเก็บเครื่องมือเครื่องใช้โบราณเพื่อรวบรวมทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน และการที่เขาออกไปอยู่ในชนบทและเคารพนับถือชาวชนบท ทำให้เขาเข้าใจและเคารพศิลปะพื้นบ้านด้วย จนถึงขนาดกระตุ้นให้ชาวบ้านรื้อฟื้นการแสดงการรำมโนห์ราแบบโบราณ ที่กำลังถูกอิทธิพลของมหรสพสมัยใหม่เบียดจนไม่เหลือพื้นที่ให้ดำรงอยู่ต่อไป โดยทำให้มีชีวิตอยู่ชั่วระยะหนึ่ง พ่อเฒ่าที่เล่นมโนห์ราได้เป็นอย่างดี ที่ตีทับได้เป็นอย่างเก่ง กลับได้แรงกระตุ้นจากคนหนุ่มอีกวาระหนึ่ง ความภูมิใจในของดั้งเดิมกลับมีขึ้นอีกอย่างไม่น่าเชื่อ
     เพียงไม่กี่เดือนของการตะเวนสำรวจหมู่บ้าน โกมลกับเพื่อนร่วมงานสามารถรวบรวมนิทานพื้นบ้านได้กว่า ๓๐ เรื่อง ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับมโนห์ราก็มีไม่น้อยกว่า ๑๕๐ หน้า ยังไม่รวมเรื่องหนังตะลุง เพลงกระบอก นิทานสัปดน ซึ่งยังไม่ได้ศึกษา
 (คลิกดูภาพใหญ่)      เข้าใจว่า โกมลมีความสนใจเรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้าน นิทานเก่าแก่ เรื่องโบราณต่างๆ มาแต่เดิม ประกอบกับการทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท การได้ออกต่างจังหวัดตามภาคต่างๆ ได้พบเจอและพูดคุยซักถามเกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้าน นิทานปรัมปรา เรื่องเล่าต่างๆ จากคนเฒ่าคนแก่ซึ่งทรงภูมิปัญญามากมาย รวมถึงขณะเรียนอยู่ชั้นปีสุดท้าย เขามีโอกาสได้เรียนวิชาเบื้องต้นแห่งคติชาวบ้าน กับอาจารย์เทือก กุสุมา ณ อยุธยา อีกด้วย และมาได้ความรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ครั้งมาศึกษาดูงานการศึกษาที่สงขลาเพื่อเตรียมจัดชั้นเรียน
     และในที่สุดถึงกับเสนอให้อาจารย์สุลักษณ์ นำเอามโนห์รามาแสดงให้ชาวไทยและชาวต่างชาติชมที่กรุงเทพฯ จนถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของหมู่บ้านแห่งนั้น ทั้งยังขอให้อาจารย์สุลักษณ์ช่วยหาทุนเพื่อไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกด้วย
     จดหมายที่โกมลเขียนถึงอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฉบับวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๓ คงบรรยายภาพให้เห็นว่าเขาได้ทำและคิดอย่างไรต่อชาวบ้านบ้าง "ชีวิตผมที่นั่นได้พบได้เห็นอะไรดีพอสมควร พบคนแปลกๆ รู้จักคนแปลกๆ งานออกจะหนักสมบุกสมบัน การกิน การอยู่ การนอน เป็นไปอย่างง่ายๆ บางทีกินไปด้วยร้องห่มร้องไห้ไปด้วยเพราะเผ็ด บางคืนนอนตากลม ตากยุง ไม่มีแม้ผ้าห่ม เรื่องหมอนเรื่องเสื่ออย่าได้ถามเลย แต่เมื่อคิดถึงผลบางอย่างที่ได้แก่ชาวบ้านแล้ว ก็พอจะเป็นเครื่องปลอบใจได้บ้าง"
     โกมลกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง ตอนที่พาคณะมโนห์รามาแสดงการรำสาธิตแบบโบราณที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๓ ความรักความผูกพันและความสำนึกในบุญคุณ ทำให้เขาอยากให้นิสิตคณะครุศาสตร์ได้ดูด้วย จึงได้ติดต่อผ่านทางอาจารย์สุมนเพื่อกำหนดเวลากัน แต่บังเอิญมีอุปสรรค คณะมโนห์ราจึงได้แสดงเพียงที่สยามสมาคม คุรุสภา และวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร
     อาจารย์สุลักษณ์บอกว่า เมื่อโกมลนำคณะมโนห์ราขึ้นมา เห็นได้ชัดว่าเขาเข้ากับชาวบ้านได้อย่างไร ว่าความรักใคร่ซึ่งกันและกันมีมากเพียงใด ว่าต่างฝ่ายต่างเคารพกันถึงขนาดไหน ท่านพยายามบริการมโนห์ราคณะนี้อย่างสุดฝีมือ เพื่อไม่ให้โกมลเสียชื่อ และผู้หลักผู้ใหญ่ตั้งแต่เจ้านาย รัฐมนตรี และทูตานุทูต ต่างก็ให้ความสนใจในการแสดงครั้งนี้มาก "เมื่อโกมลกับคณะมโนห์ราพักอยู่ ณ คุรุสัมมนาคาร ที่ถนนพญาไท นักการศึกษาผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดขึ้นต่อหน้าข้าพเจ้าและตัวเขาว่า ถ้าใครมีลูกศิษย์ที่คิดทำการอย่างเสียสละเช่นโกมล คนคนนั้นจักชื่อว่าเป็นคนโชคดีมาก โกมลโต้ตอบอย่างถ่อมตัวและอย่างจริงใจที่สุด ว่าเขาเองไม่ได้เสียสละอะไรมากมายถึงเพียงนั้นดอก คำคำนี้ข้าพเจ้ายังจำได้ติดหู แต่ก็ยังรู้สึกว่าทั้งๆ ที่เขาพูดจริง แต่เขาก็ทำจริงยิ่งกว่าที่พูดมากนัก"
  รัตนา สกุลไทย
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     ช่วงที่โกมลพาคณะมโนห์รามาแสดงที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๓ เขากับ ชวน หลีกภัย ส.ส. หนุ่มจากจังหวัดตรัง ได้รับเชิญจากชมรมศึกษิตเสวนา ให้มาพูดเรื่องปัญหาของคนใต้ให้สมาชิกฟังที่ร้านหนังสือศึกษิตสยาม รัตนา ซึ่งในเดือนตุลาคมเพิ่งลาออกจากการเป็นอาจารย์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มาหมาดๆ และกำลังเตรียมไปสอนภาษาไทยให้แก่หน่วยสันติภาพอเมริกันในเดือนเมษายน ๒๕๑๔ ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยกำลังรอบรรจุอยู่ ได้มาร่วมฟังด้วย
     รัตนาอายุไล่เลี่ยกับโกมล แต่เรียนเร็วกว่า เธอเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๘๘ ที่บ้านริมคลองมหาสวัสดิ์ ข้างวัดศรีประวัติ ฝั่งธนบุรี เป็นลูกคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้อง ผู้หญิง ๕ คน ผู้ชาย ๒ คน ของนายทองดี และนางอัจฉรา สกุลไทย จบชั้นมัธยมปีที่ ๘ จากโรงเรียนราชินี รั้วน้ำเงิน-ชมพู สายอักษรศาสตร์ แล้วมาต่อที่รั้วชมพู-เทา ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๐๕ เมื่อเรียนจบเธอได้เกียรตินิยมอันดับ ๒ ต่อมาเข้าเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๘-๒๕๑๓ ที่สถาบันเดิม
     สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชินี เพื่อนร่วมรุ่นเคยกล่าวถึงรัตนาไว้ในหนังสือรุ่นว่า เธอชอบวรรณคดีไทยมาก และมักไปเดินเลือกซื้อหนังสือเก่าที่สนามหลวงเป็นประจำ
     มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า สมัยที่รัตนาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ เคยซื้อขนมจากแม่ค้าหาบเร่ ต่อมาเธอถูกผู้ใหญ่เรียกไปเตือนทำนองว่า การกินของจากหาบกับพื้นนั้น ไม่สมศักดิ์ศรีของอาจารย์ ขออย่าให้ทำเช่นนั้นอีก
     เธอเป็นผู้หญิงร่างเล็ก สวมแว่นสายตา ปรกติเธอเป็นคนขรึม ไม่ค่อยพูดจายิ้มหัวกับใครนัก ออกจะเป็นคนจริงจังกับชีวิต มีความคิดความเห็นเป็นของตนเอง จนบางคนมองว่าเธอเป็นคนแปลกๆ มีบุคลิกที่ไม่เหมือนใคร ความจริงการแสดงออกของเธอ อาจเป็นผลเนื่องจากความไม่สมหวังในสภาพสังคมที่เธอมีส่วนร่วมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกรอบระเบียบหรือการบริหารงานบางอย่างในระบบราชการ การลาออกจากการเป็นอาจารย์เพื่อไปเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือให้แก่หน่วยสันติภาพฯ คงเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาสังคมที่เธอใฝ่ฝัน เมื่อมีโอกาสแวะมาเยี่ยมโกมลที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา จึงได้สัมผัสชีวิตชนบทอันงดงาม ได้พบกับความซื่อใสของเด็กๆ และความจริงใจของชาวบ้านซึ่งอยู่ห่างไกลความเจริญ จากจดหมายของเธอที่มีมาถึงครอบครัวและเพื่อนฝูง เธอบรรยายถึงความสนุกสนานเมื่อได้มาเล่นกับเด็กๆ หรือเมื่อดูจากภาพถ่ายก่อนเธอเสียชีวิตไม่นาน ก็คงเห็นได้ชัดเจนว่าบรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนที่ประสบการณ์ดังกล่าว ได้ช่วยทำให้เธอกล้าที่จะมองโลกด้วยความหวังมากยิ่งขึ้น
 (คลิกดูภาพใหญ่)      อาจารย์สุลักษณ์เคยเขียนถึงรัตนาว่า "แม้ข้าพเจ้าจะรู้จักเขาในระยะสั้น แต่ก็รู้ได้ว่าเขาเป็นตัวของเขาเอง ยิ่งกว่าที่จะยอมให้ระบบหรือสังคมดูดกลืนเขาไป เขาต้องการค้นหาสาระหรือแก่นแท้ของชีวิต อาจจะมุทะลุหรือพูดไม่เข้าหูคน แต่เขาเป็นคนที่มีความจริงใจเป็นอย่างมาก และในหลายกรณีเขาเป็นคนที่น่าสงสารมาก เขาเป็นคนยากนักที่สังคมไทยสมัยนี้จักพยายามเข้าใจ และเขาก็ไม่เข้าใจสังคมอันเหลวเละเฟะฟอนนี้ด้วย เขาลงไปสวนโมกข์เพื่อจะไปแสวงหาสัจธรรม และเขาไปหาโกมลซึ่งเขาก็เพิ่งได้รู้จัก เพื่อไปรับใช้เพื่อนมนุษย์ ทั้งนี้ก็เพื่อจะหาสาระให้แก่ชีวิต แต่แล้วก็ต้องไปจบชีวิตลงเสียก่อน"
     ในวันที่พบกันครั้งแรกนั้น โกมลได้เล่าเรื่องงานของตนเองที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา รัตนาเมื่อฟังแล้วรู้สึกสนใจ และซาบซึ้งในสิ่งที่เขาริเริ่ม จึงปวารณาตัวว่าจะไปช่วย ในที่สุดทั้งคู่ก็ติดต่อกัน และมีโอกาสไปเยี่ยมโกมลที่เหมืองบ้านส้องราวปลายเดือนมกราคม ๒๕๑๔
     ต่อเหตุการณ์นี้ อาจารย์พุทธทาสแห่งวัดธารน้ำไหลเคยเล่าให้คณะที่ไปร่วมงานย้อนรอย ๒๐ ปี โกมล คีมทอง ฟังเมื่อต้นปี ๒๕๓๔ ว่า "แรกเริ่มเดิมทีเดียวนั้น เขาแวะมาที่นี่ทุกครั้งก่อนที่จะไปเข้าป่า มีเพื่อนสตรีมาคนหนึ่งด้วย ชื่อคุณรัตนา คุณโกมลก็มาคุยกับอาตมา เพื่อนสตรีนั้นก็ไปคุยกับคุณเฉิน หงส์สนันทน์ อุบาสิกาแก่ๆ ที่ทางเขตอุบาสิกาโน้น แล้วอาตมาก็คุยกับคุณเฉินว่า มันยังไงกันที่จะเข้าไปแสดงบทบาทในป่าอย่างนี้ สารภาพตรงๆ ว่าเต็มไปด้วยความวิตกกังวล เป็นห่วงว่าจะเป็นอันตราย แต่เมื่อมองในแง่ที่ว่า โอ๊ย ! ช้างมันไม่มีใครฉุดให้หยุดได้ ที่หยุดมันไม่มี ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ก็เลยไม่ได้แสดงความคิดเห็นในทางที่จะคัดค้านอย่างไร ได้แต่พูดไปตามประสาคนแก่ที่ไม่รู้อะไรมากมายว่า ระวังๆ เท่านั้นแหละ ระวังให้ดีๆ ระวังให้สุขุมให้รอบคอบ คุณโกมลได้แวะมาที่นี่ไม่น้อยกว่า ๔-๕ ครั้ง แม้ประเดี๋ยวประด๋าวก็อุตส่าห์แวะมาก่อนที่จะเข้าไปในป่า"
  ช่วงท้ายของชีวิต
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     ในเขตพื้นที่ของเหมืองและหมู่บ้านที่โกมลไปอยู่นั้น เป็นพื้นที่อันตราย เพราะอยู่ในเขตปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งโกมลก็รู้ดี เพียงแต่คิดว่าตนเองอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คิดว่าตนจะเป็นพิษภัยแก่ผู้ใด ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์มีมากเกินไป จนเขาไม่ให้ความสำคัญแก่ปัญหานี้เพียงพอ เขาเคยเขียนจดหมายถึงอาจารย์สุลักษณ์ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๓ เล่าเรื่องดังกล่าวไว้ว่า "ในช่วงเวลาที่ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ๑๐ วัน มีการยิงกันตายวันละศพ รวมแล้ว ๘ ศพ ข่าวว่าคนยิงนั้นตำรวจคุ้มกันอยู่ด้วยซ้ำ และไม่มีการจับกุมแต่อย่างไร สถานที่ยิงอยู่ห่างจากกิ่งอำเภอไปไม่เท่าไร คนยิงก็รู้เห็นกันอยู่ แต่ไม่มีใครหาญเข้าแสดงตัวว่าเห็นคนยิง ผู้จัดการเหมืองห้วยในเขาอยู่ในสถานะที่น่าเวทนามาก เพราะหวาดกลัวไม่น้อย อดที่จะสงสารไม่ได้ ชาวบ้านเองก็พรั่นพรึงอยู่เช่นกัน เวลาค่ำคืนจะไม่ค่อยออกเดิน งานศพของคนที่ตายเงียบเหงา เพราะไม่มีคนกล้าไป พอคนหนึ่งตาย คนไปเยี่ยมศพถูกลอบยิงตาย คนไปเยี่ยมศพคนถูกลอบยิงตายกลับถูกลอบยิงอีก หลายซับหลายซ้อนกันอยู่อย่างนี้จนเข็ดขยาดกันหมด เราสองคน [โกมลกับสมชาย--ผู้เขียน] ก็อดหวาดตามคนอื่นไปด้วยไม่ได้ แต่ก็ยังเดินกลางค่ำกลางคืนอยู่อย่างเดิม กลับบ้าน ๕ ทุ่ม เที่ยงคืนประจำ คนในบ้านรับรองความปลอดภัยให้ เขาให้คำมั่นว่าชีวิตครูเขารับรองเอง แต่จะไปเชื่ออะไรกันนัก ชีวิตที่นั่นอยู่ด้วยความรู้สึกว่าเราบริสุทธิ์ใจและให้ความจริงใจต่อเขามากกว่า เราเชื่อมั่นอยู่ว่าเราไม่มีอะไรที่เป็นพิษและภัยกับใคร เราก็น่าจะไม่มีภัยด้วย อีกอย่างหนึ่งก็ได้อาศัยความเชื่อในเรื่องกรรม ซึ่งถ้าได้เคยทำไม่ดีเอาไว้ ก็น่าที่จะได้รับการชดใช้กันเสีย จะหลีกเลี่ยงกันอยู่ทำไม หรือหลีกเลี่ยงก็ไม่น่าจะเลี่ยงไปได้ อาศัยหลักยึดเสียอย่างนี้ ก็เลยไม่สู้วิตกอะไรนัก"
     และยังเคยบอกอาจารย์สุลักษณ์เมื่อเจออุปสรรคและเริ่มรู้สึกท้อถอยว่า ตนอยากกลับเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อร่วมทำ วิทยาสาร กับท่าน ทั้งที่เดิมเขากำหนดเวลาว่าจะอยู่ที่บ้านส้องประมาณ ๒ ปี
 (คลิกดูภาพใหญ่)      ปลายเดือนมกราคม ๒๕๑๔ อุทัยได้ไปเยี่ยมโกมลเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อชวนเขาไปร่วมงานสัมมนาที่กรุงเทพฯ และเขียนเล่าบรรยากาศช่วงนั้นไว้ในข้อเขียนไว้อาลัยว่า "ข้าพเจ้าค้างคืนกับเขาที่บ้านพักในบริเวณเหมือง แต่เรามีเวลาได้นอนจริงๆ น้อยมาก คืนนั้นเรานั่งคุยกันท่ามกลางความมืดจนดึกดื่น โดยมีคุณรัตนา สกุลไทย ร่วมสนทนาอยู่ด้วยตลอด ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่า เมื่อข้าพเจ้าพบเขาครั้งนี้เขาเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ดูเขาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ปล่อยวางมากขึ้น ข้าพเจ้าทราบจากปากเขาว่า เขาเริ่มฝึกสมาธิและอดอาหารในตอนเย็นทุกวัน และความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาให้ความสนใจกับตัวเองน้อยมาก หนวดก็ไม่โกน การแปรงฟันก็ใช้เกลือแกงแทนยาสีฟัน ก่อนที่ข้าพเจ้าจะกลับ เราได้คุยกันจนนาทีสุดท้ายและเขายังเป็นห่วงข้าพเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากในวันที่ข้าพเจ้ากลับนั้น มีกองทหารกำลังทิ้งระเบิดทำลายแหล่งพักพิงของผู้ก่อการร้าย เขาแนะนำให้ข้าพเจ้าเดินจากเหมืองไปขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านพรุกระแชง อยู่ห่างจากบ้านพักของเขาประมาณ ๒ กิโลเมตร ข้าพเจ้าก็เชื่อเขา และเขาได้ยืนดูข้าพเจ้าจนลับตา ข้าพเจ้ามิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่า การจากกันครั้งนั้นจะเป็นการจากกันครั้งสุดท้าย หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับจากการเข้าร่วมสัมมนาที่กรุงเทพฯ แล้ว เขามีจดหมายถึงข้าพเจ้า สอบถามเรื่องราวของการสัมมนา จดหมายของเขาลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ นัดแนะและชักชวนข้าพเจ้าไปท่องเที่ยวหมู่บ้านกับเขา โดยกะว่าจะตะลุยไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายในจังหวัดปักษ์ใต้ เพื่อจะได้ดูสภาพความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ข้าพเจ้าตอบจดหมายรับปากเขาไปได้เพียงไม่ถึงอาทิตย์ ก็ได้ทราบข่าวว่าเขาถูกยิงถึงแก่ชีวิต"
     คุณอุดม เจ้าของเหมืองให้สัมภาษณ์ภายหลัง ซึ่งทำให้เห็นภาพเชื่อมต่อของเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจนขึ้นว่า ประมาณปี ๒๕๑๒-๒๕๑๓ ทางราชการจะตัดถนนจากบ้านนาสารผ่านบ้านส้องถึงอำเภอฉวาง และมาขอรถแทร็กเตอร์ของทางเหมืองไปช่วยตัดถนน ต่อมาอีกปี ทางราชการก็มาขอให้ช่วยทำทางไปหมู่บ้านเหนือคลองเพราะตอนนั้นยังไม่มีถนนขึ้นไป ครั้นตัดถนนเสร็จต้นปี ๒๕๑๔ ทหารจากค่ายทหารในชุมพร ก็ยกกำลังพร้อมลากปืนใหญ่ขึ้นไปถล่มพวกคอมมิวนิสต์ที่หมู่บ้านเหนือคลอง ปรากฏว่าบ้านเรือนชาวบ้านถูกเผา ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นก็เลยเกิดความรู้สึกว่าเหมืองไปรับใช้บ้านเมือง ทำให้เขาเดือดร้อน
 (คลิกดูภาพใหญ่)      "เผอิญตอนนั้นผู้แทนราษฎรของเขตนั้นที่ชื่อคุณชอบ พารา ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสมัยจอมพลถนอมว่า ทำไมถึงไปปฏิบัติกับชาวบ้านอย่างนั้น เขาต้องการรูปประกอบเรื่อง ผู้แทนคนนั้นก็ไปที่ตลาดบ้านส้อง ไปพบกับ เสรี ปรีชา คนขายยาเร่ตามหมู่บ้านต่างๆ บอกว่าได้ตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้สำหรับชาวบ้านแล้ว ช่วยไปถ่ายรูปมาให้ทีสิ เสรีรับปากด้วยนึกเห็นครูโกมลว่ามีกล้องถ่ายรูป ประกอบกับตอนนั้นครูโกมลเคยไปที่หมู่บ้านนั้นหลังจากทำถนนเสร็จ เพราะแกจะเขียนเรื่องลงในวิทยาสาร ว่าแกเป็นคนตั้งโรงเรียนชุมชนแห่งแรกขึ้นที่เหมืองบ้านส้อง ครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านเหนือคลองก็บอกว่าไม่ใช่แห่งแรกหรอก เขาตั้งก่อน ที่โน่น โกมลก็ไปที่นั่น ได้ไปคุย ก็ได้เรื่องที่จะเขียน และอยากจะถ่ายรูปโรงเรียนประกอบ จึงชวนไปถ่ายรูปด้วย"
     พวกคอมมิวนิสต์เกิดสงสัยครูโกมล คิดว่าเป็นสายลับปลอมตัวมาสืบราชการลับให้กองทัพบก ประกอบกับทางเหมืองก็รู้เห็นเป็นใจช่วยทางราชการตัดถนนขึ้นไปทางบ้านเหนือคลอง รวมทั้งเสรีเอง ซึ่งขึ้นไปปลูกบ้านอยู่ปากทางเข้าบ้านเหนือคลอง เลยถูกระแวงว่าเป็นการมาอยู่เพื่อติดตามพฤติกรรมชาวบ้าน จึงทำให้ครูสองคน และเสรี คนนำทาง ถูกยิงเสียชีวิต
  อาทิตย์ดับที่บ้านเหนือคลอง
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     กันยา ปรีชา ภรรยาของเสรีเล่าว่า วันนั้นคือวันจันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ทั้งสามคนออกเดินทางจากโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาประมาณเที่ยงวันหลังโรงเรียนเลิก "เขารู้จักกันในงานวันเปิดป้ายโรงเรียน [วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๓--ผู้เขียน] เสรีไปเป็นโฆษก ก็ชวนกันว่าว่างๆ ไปเที่ยวเหนือคลองด้วยกัน วันนั้นครูโกมลแวะมากินข้าวมื้อสุดท้ายที่บ้าน ป้าตำน้ำพริกกับแกงเลียงผัก ครูโกมลบอกว่าดูแล้วไม่น่าจะอร่อย แต่พอกินแล้วรู้สึกว่าอร่อยดี กินกันจนอิ่ม แล้วก็ขึ้นไป ตอนนั้นถนนไปบ้านเหนือคลองเป็นลูกรัง ยังไม่ลาดยาง พอไปถึงโรงเรียนที่เหนือคลอง ชาวบ้านเขาบอกให้กลับ กลุ่มที่ไปด้วยบอกว่าไม่ได้ไปทำอะไร แค่ถ่ายรูป แต่พวกข้างบนกลัวว่าจะถูกทางนายซัก เลยฆ่าปิดปาก"
     สมจิตร ศักดิ์ยิ่งยง หญิงชาวบ้านส้อง ซึ่งในตอนนั้นเธออายุ ๑๘ ปี และมีบ้านอยู่ใกล้บ้านพักครูของโกมล เล่าว่า "วันนั้นฝนตกด้วย ตอนเย็นใกล้หัวค่ำ แกตากเสื้อผ้าไว้เต็มเลย ลมพัดเสื้อผ้าหล่นหมด เสื้อผ้าเปียกกระจายอยู่เต็มใต้ถุน น้องคนเล็กมาถามแม่ว่าครูโกมลครูรัตนาไปไหน แม่ถามว่าลูกเก็บเสื้อผ้าให้หรือเปล่า มันบอกว่าไม่กล้าเก็บ ตอนนั้นยังเล็กอยู่ ตอนเช้าจึงรู้ว่าแกตาย ตอนเย็นยังไม่รู้"
     ส่วน นิยม รักมาก คนงานก่อสร้างบอกว่า ตอนนั้นกำลังทำงานอยู่ที่โรงเรียนสามัคคีอนุสรณ์ ประมาณสี่โมงเย็น มีคนมาบอกว่ามีคนยิงกันบนควนนี้ ก็เป็นห่วงคนที่บ้าน เลยปั่นจักรยานมา แต่ตอนนั้นบนควนมันลื่น พอมาถึงก็เกือบล้มเหยียบศพที่นอนอยู่ (หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นลงข่าวว่า คนข้างบนหามลงมาวางไว้บริเวณทางแยกหมู่บ้านทุ่งคา)
     เวลานั้นค่ำแล้ว ชาวบ้านแถวนั้นทราบเรื่องครูถูกยิงบ้างแล้ว แต่ที่เหมืองยังไม่มีใครรู้ รุ่งขึ้นอีกวันจึงรู้กันทั่ว พวกผู้ชายซึ่งเป็นผู้ใหญ่ไปเอาศพลงมา พวกเด็ก ๆ ไม่กล้าขึ้นไป ตอนนั้นยังไม่มีรถเข้าถึง ต้องเอาศพวางบนไม้กระดานคนละแผ่น คลุมด้วยใบกล้วย ผูกเชือกคล้ายเปลหามกันลงมา เพราะตอนกลางคืนไม่มีใครกล้าขึ้นไปเอา
     ครูโกมลของเด็ก ๆ ๔๐ คนที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขามีโอกาสใช้ชีวิตเป็นครู ตามปณิธานแห่งชีวิต ในถิ่นทุรกันดารแห่งนั้นได้ไม่ครบปีดี ก็ถูกยิงเข้าทางด้านหลังจนเสียชีวิต ขณะที่มือของรัตนาเองก็ยังกำหญ้าแน่น บ่งบอกถึงความเจ็บปวดที่เธอได้รับ โดยทั้งคู่อายุเพียง ๒๕-๒๖ ปีเท่านั้น บรรยากาศของเย็นวันนั้น จึงเย็นเยือกและมืดมนไปทั่วบ้านส้อง
 (คลิกดูภาพใหญ่)      บ่ายวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ศพถูกหามมาตั้งไว้บนร้านสูงข้างถนน บริเวณปากทางเข้าบ้านเหนือคลอง ซึ่งเป็นบ้านของเสรี เอง โดยพ่อค้าขายยาแผนโบราณ และโฆษกเวลามีหนังกลางแปงมาฉายคนนี้ เคยคิดไว้ว่าจะทำเป็นร้านชำไว้ขายของ หลังจากอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อย จึงนำศพไปไว้ที่วัดบ้านส้องในตอนเย็น โดยชาวเมืองช่วยกันต่อโลงไม้อัดให้ และทางเหมืองและวัดช่วยจัดพิธีกรรมให้ ๑ คืน กับอีกครึ่งวัน
     ประมาณเดือนสองเดือนหลังจากนั้น มีเครื่องบินของฝ่ายรัฐบาลมาโปรยใบปลิวในป่าบริเวณนั้นให้ชาวบ้านเก็บไปดู โฆษณาทำนองว่าไปยิงครูโกมลทำไม และหลังจากนั้นไม่นาน พวกในป่าก็ออกโปสเตอร์เผยแพร่ โดยยอมรับว่าเป็นผู้สังหารคนทั้งสามเอง เนื่องจากคิดว่าเป็นสายลับให้แก่ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด
     ศพของทั้งคู่ถูกส่งมาทางรถไฟ ถึงกรุงเทพฯ ในวันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ในสภาพที่ไม่ได้ฉีดยากันเน่า อาจารย์สุลักษณ์ไปรับนำมาไว้ที่วัดประยุรวงศาวาส ฝั่งธนบุรี จัดงานสวดอีก ๗ วัน แล้วบรรจุศพเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม จนกระทั่งวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๔ เวลา ๑๗.๐๐ น. จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ณ เมรุของวัดเดียวกันนั้น
     ในงานนั้น กัลยาณมิตรของโกมลได้ช่วยกันรวบรวมจดหมายและข้อเขียนของเขา รวมถึงประวัติ คำไว้อาลัย และข่าวการตายที่ปรากฏในสื่อมวลชนขณะนั้น จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกงานสังสการศพ ใช้ชื่อว่า จดหมายและข้อเขียนของโกมล คีมทอง ได้หนังสือหนากว่า ๕๐๐ หน้า โดยไม่ได้แจกจ่ายตามธรรมเนียมดังหนังสืองานศพทั่วไป แต่นำมาตอบแทนแก่ผู้สมทบทุนขั้นต้นเพื่อใช้ก่อตั้งมูลนิธิโกมลคีมทองซึ่งตั้งตามนามของเขา
     อาจารย์สุลักษณ์เขียนไว้ในคำนำหนังสือที่ระลึกในงานศพเล่มดังกล่าวว่า ต้องการมุ่งที่จะให้เป็นอนุสรณ์แด่ชีวิต เท่าๆ กับเป็นอนุสรณ์แก่การตายของโกมล โดยเชื่อว่าจะมีพลังส่งมาถึงคนรุ่นใหม่ต่อไปอีกนานแสนนาน ตราบที่คนไทยยังเห็นคุณค่าของคนที่มีอุดมคติ ซึ่งเลือกดำรงชีวิตอย่างเสียสละเพื่อส่วนรวมยิ่งกว่าเพื่อส่วนตัว "สิ่งซึ่งโกมลก่อไว้ จักไปจุดไฟในดวงใจของคนอื่นๆ ให้ลุกโพลงเป็นอุดมการณ์ตามเยี่ยงอย่างเขาได้"
 (คลิกดูภาพใหญ่)      คงต้องกล่าวในที่นี้ว่า หนังสืองานศพซึ่งทำอย่างประณีต ด้วยฝีมือของนักทำหนังสือมืออาชีพเล่มดังกล่าว ประกอบกับข้อเขียนอันทรงพลังของโกมล ซึ่งช่วยกระตุ้นมโนธรรมสำนึกให้เกิดขึ้นกับผู้อ่าน ภายหลังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจทางด้านอุดมคติ ให้แก่คนรุ่นหลังอีกจำนวนไม่น้อย จนอาจกล่าวได้ว่า ผลจากการตายของเขา และกิจกรรมอันเกิดขึ้นภายหลังของมูลนิธิอันเนื่องมาจากชื่อของเขานั้น มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ขึ้น และสืบเนื่องมาถึง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ รวมทั้งเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ อีกด้วย
     ส่วนเหมืองนั้น ต่อมาประสบกับภาวะขาดทุน เจ้าของเหมืองบอกว่าถูกชาวบ้านขโมยแร่พลวง ครอบครัวคนงานก็เริ่มแยกย้ายกันไปหากินที่อื่น โรงเรียนจึงเริ่มถูกตัดโครงการช่วยเหลือ จนราวปี ๒๕๑๗ โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา จึงย้ายไปสังกัดสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี และย้ายที่ตั้งไปยังสถานที่แห่งใหม่ซึ่งไม่ไกลจากเดิมนัก แต่ยังคงใช้ชื่อโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาเช่นเดิม
     หากลองนับระยะเวลาที่โกมลทำหน้าที่เป็นครูตามปณิธานแห่งชีวิตของเขา ตั้งแต่เริ่มตกลงรับงานในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๓ เขาก็ทำหน้าที่ครูได้ไม่ถึง ๑๐ เดือนดี แต่ความจริงแล้ว วิญญาณความเป็นครูของเขาสืบทอดมาโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัวมานานแล้ว โดยเริ่มปรากฏชัดในสมัยเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๑ ซึ่งนับว่าแปลกและหาได้ยากยิ่งในบรรดาเพื่อนครูที่เรียนในรุ่นเดียวกัน
     โกมลมีเพื่อนมาก เพราะเขามองคนในแง่ดีเสมอ เขาหวังดีต่อเพื่อนทุกคน กลุ่มเพื่อนๆ ก็มักจะมีทัศนะที่ใกล้เคียงกับเขา คือสนใจในงานทางปัญญาและความเสียสละ เช่น กลุ่มปริทัศน์เสวนา กลุ่มค่ายอาสาพัฒนา กลุ่มสัมมนาของจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เป็นต้น แต่ทุกกลุ่ม ทุกคนมักจะยอมรับกันเสมอว่า เขาเป็นคนที่มีความคิดความอ่านดี มีหัวก้าวหน้า และมีลักษณะผู้นำ
     "โกมลมิได้เป็นชายหนุ่มธรรมดาหรอกหรือ เขาเป็นชายหนุ่มธรรมดา แต่ที่เขาผิดจากคนอื่นอยู่บ้างก็ตรงที่เขามีลักษณะสัตบุรุษเต็มตัว เขาไม่หวั่นไหวต่อสังคมมากนัก ไม่ตื่นเต้นในสังคมมากเกินควร เขาพยายามสละความอยากได้ใคร่ดีเสีย หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ สมดังลักษณะของสัตบุรุษที่มีกล่าวไว้ในสุภาษิตร้อยบทของภรฺตฺฤทรีว่า "ไม่ยินร้ายคราวประสบอนิฏฐารมณ์ ไม่ยินดีในคราวประสบอิฏฐารมณ์ หมั่นสนทนากับท่านนักปราชญ์ มีความกล้าหาญในยุทธกาล รักษาเกียรติยศของตน ขยันอ่านพระเวท เหล่านี้เป็นคุณสมบัติประจำสันดานของสัตบุรุษ" และเช่นนี้เองที่คนโดยมากแม้ไม่ค่อยชอบเขา แต่ก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้มีคนอย่างเขามากๆ ในสังคมไทย" 
     จากข้อเขียนบางส่วนในหนังสือ ประวัติครู ๒๕๑๕ โดย สุมน อมรวิวัฒน์
     คงไม่เป็นการพูดที่เกินเลยหากจะบอกว่า โกมลเป็นทั้งนักคิดที่หมั่นตรวจสอบพิจารณาตนเอง นักการศึกษาที่มองคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นักปฏิบัติที่เอาจริงเอาจัง และนักเขียน โดยเฉพาะในประเด็นหลัง ถ้ามีโอกาสได้อ่านงานเขียนของเขา เราจะพบความมีเสน่ห์ในข้อเขียนของเขา โดยเฉพาะจดหมายที่เขาเขียนถึงบุคคลอื่น แม้ว่าข้อคิดและคำคมต่างๆ ที่เขาเขียนนั้นอาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากข้อเขียนหรือจากบุคคลต่าง ๆ ที่เขาให้ความสนใจ หรือให้ความเคารพก็ตาม ลองพิจารณาดูว่า คนในวัยเพียง ๒๕ ปี แต่กลับมีงานเขียนปรากฏอยู่มิใช่น้อย และข้อเขียนของเขาจำนวนหนึ่งมีคุณค่าสาระ แฝงข้อคิดทางธรรม ท้าทายมโนธรรมสำนึกของผู้อ่านอยู่กลาย ๆ
  ดอกผลแห่งอุดมคติ
 (คลิกดูภาพใหญ่)
     "น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมต
     น จนฺทนํ ตครมลฺลิกา วา
     สตญฺจ ธมฺโม ปฏิวาตเมติ
     สพฺพา ทิสา สปฺปุริโส ปวายติ"
     "กลิ่นดอกไม้หอม อันได้แก่ไม้จันทน์ กฤษณา และมะลิซ้อน ไม่อาจทวนลมได้ แต่กลิ่นหอมของสัตบุรุษผู้ประพฤติธรรมย่อมไปได้ทุกทิศ"

     พุทธภาษิต

     พระพุทธเจ้าสอนว่า การเกิดเป็นมนุษย์มีค่ายิ่ง ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเกรงกลัวความตาย พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และพึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ขณะที่ใครหลายคนเห็นว่า การมีชีวิตอยู่และทำงานเสียสละหลายๆ อย่างที่คนส่วนมากไม่ทำ ย่อมมีคุณค่ากว่าการตายอย่างนักเสียสละเพื่ออุดมคติ อุดมการณ์แบบใด ๆ ทั้งนั้น ยกเว้นเมื่อจำเป็นจริงๆ
     ต่อมา เพื่อนและผู้ใหญ่หลายท่าน ที่รัก เข้าใจ และตระหนักถึงความเสียสละของเขา ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิของสามัญชนตามชื่อของเขาขึ้น เพื่อสืบสานปณิธาน ความคิด และเป็นเสมือนแบบอย่างแห่งความเสียสละของคนหนุ่มผู้สนใจใฝ่รู้ มีความเคารพต่อคนท้องถิ่น อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างจริงใจ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในบุคลิกของคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน
     เปลวเพลิงชมพูที่ครูเล็กๆ ของแผ่นดินคนนี้จุดไว้ แม้ยังไม่ฉายฉาน แต่ก็จะไม่มีวันดับ มันจะคอยเผาผลาญอวิชชาให้มอดสิ้นไป เพราะกระสุนอาจฆ่าชีวิตเขาได้ แต่ไม่อาจทำลายอุดมการณ์และผลงานของเขาได้
     อุดมคติของโกมลจึงเป็นดั่งเทียนซึ่งเผาตนเองเพื่อให้แสงส่องทางแก่ผู้อื่น และการเผยแพร่อุดมคติของเขาก็เป็นดั่งการต่อเทียนด้วยเทียน คือ ง่าย ช้า แต่งดงาม
     ถึงใครหลายคนจะสงสัยว่า อุดมคติและปณิธานของโกมล คีมทอง ณ พ.ศ. นี้ จะยังยั่งยืนคงทนต่อการทดสอบ ท้าทายจากสังคม และผู้คนรอบข้างอย่างไร และแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม อิฐก้อนแรกที่ถมลงไปเพื่อส่วนรวมก้อนนั้น ยังคงสามารถดำรงคุณค่า ความดีงาม และเป็นเสมือนแรงบันดาลใจอันงดงามแก่คนหนุ่มสาวรุ่นต่อๆ มา นับจากบัดนั้นจนถึงบัดนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย
     แม้ครูโกมล คีมทอง จะตายไปแล้ว แต่ดอกตูมในวันนี้จากผลงานของเขา จักผลิบานขึ้นในดวงใจของเราในวันพรุ่ง
  หนังสือประกอบการเขียน (ลำดับตามเวลา)
 (คลิกดูภาพใหญ่)      ๑. นันทะ เจริญพันธ์ นิวัติ กองเพียร พิภพ ธงไชย บรรณาธิการ, จดหมายและข้อเขียนของ โกมล คีมทอง, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน ๒๕๑๔ 
     ๒. ธัญญา ชุนชฎาธาร บรรณาธิการ, อ่าน โกมล คีมทอง, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕.
     ๓. บุปผชาติ นิมิตรเดชวงศ์ เรียบเรียง, โกมล คีมทอง ตำนานคนหนุ่มสาว, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐.
     ๔. โกมล คีมทอง เขียน, พจน์ กริชไกรวรรณ บรรณาธิการ, คมความคิดครูโกมล, พิมพ์ครั้งที่สอง มิถุนายน ๒๕๓๙.
     ๕. โกมล คีมทอง เขียน, พจน์ กริชไกรวรรณ บรรณาธิการ, โกมลฅนหนุ่ม รวมข้อเขียนแห่งความบันดาลใจ, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม ๒๕๔๐.
     ๖. พจน์ กริชไกรวรรณ บรรณาธิการ, โกมล คีมทอง ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต, พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน ๒๕๔๐.
  ขอขอบคุณ
        มูลนิธิโกมลคีมทองที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ รวมถึงหนังสือประกอบการเขียนซึ่งมูลนิธิเป็นผู้จัดพิมพ์ทุกเล่ม
  เกี่ยวกับผู้เขียน
       พจน์ กริชไกรวรรณ อดีตนักเรียนสวนกุหลาบฯ รุ่นหลังครูโกมล ๒๑ รุ่น ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตรุ่นแรก จบแล้วทำงานที่สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ก่อนจะมาเป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์วิภาษา ตามด้วยบรรณาธิการนิตยสาร สานแสงอรุณ ของมูลนิธิสานแสงอรุณ ปัจจุบันเป็นคนทำหนังสืออิสระ