นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ "ดาบอาทมาฏ อานุภาพของดาบไทย"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

Andy Worhol ราชาแห่งพ็อปอาร์ต

  วิบูลย์ ลี้สุวรรณ
(คลิกดูภาพใหญ่)
แอนดี วอร์โฮล ถ่ายเมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๔
      หากสังเกตการเคลื่อนไหวของศิลปะตะวันตกให้ดีจะเห็นว่าวิวัฒนาการเป็นวัฏจักร นับจากการสร้างศิลปกรรมเลียนแบบธรรมชาติ หลังจากนั้นศิลปินก็เริ่มเห็นว่าความงามของธรรมชาติ ที่จะนำมาร้อยเรียงสร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานศิลปะนั้น จำเป็นต้องตัดทอน เพิ่มเติม ตกแต่ง ด้วยกระบวนการทางศิลปะให้เกิดสุนทรียภาพอย่างที่ศิลปินปรารถนา ทำให้งานศิลปกรรมยุคต่อ ๆ มามิได้ติดยึดอยู่กับความเหมือนจริงตามธรรมชาติอีกต่อไป ศิลปินเริ่มสร้างรูปทรงของศิลปะใหม่ ๆ ตามแบบที่ถูกตาต้องใจ จนในที่สุดราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ศิลปินก็หันมาสร้างศิลปะไร้รูปอย่างที่เรียกว่า abstract art หรือศิลปะนามธรรม
      จะเห็นได้ว่า จากจุดเริ่มต้น ศิลปะตะวันตกเดินทางมายาวไกลมากและใช้เวลาหลายร้อยปี แต่การสร้างสรรค์งานศิลปะก็ยังมิได้หยุดเพียงเท่านั้น ราวปี ค.ศ. ๑๙๖๗ ศิลปินหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการนำเสนอมากกว่าผลลัพธ์ เกิดเป็นรูปแบบศิลปะใหม่ที่เรียกกันว่า conceptual art หรือมโนทัศนศิลป์ ที่ไม่ให้ความสำคัญตัวงานศิลปกรรม (art object) แต่ในที่สุดแนวคิดดังกล่าวก็หมดความนิยมไป ถึงปี ค.ศ. ๑๙๗๐ ศิลปินหันกลับไปให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งที่เหมือนจริงอีกครั้ง แต่คราวนี้เน้นความเหมือนจริงเสียยิ่งกว่าเหมือน เกิดเป็นรูปแบบศิลปะที่เรียกกันว่า super realism (hyper realism) หรือศิลปะอภิสัจนิยม การสร้างศิลปะแนวนี้ จึงถือเป็นการเดินทางกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ของการสร้างศิลปะของมนุษย์นั่นเอง 
(คลิกดูภาพใหญ่)
Campbell's Soup ค.ศ. ๑๙๖๒ สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๕๐.๕x๘๑ ซม. ปัจจุบันอยู่ที่ Museum Abteiberg เมือง Monchengladbach ประเทศเยอรมนี
      อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะ มิได้เป็นวัฏจักรที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็วรวบรัดอย่างที่เล่ามา แต่เป็นกระบวนการที่เคลื่อนไปอย่างช้า ๆ จากศิลปะแนวหนึ่งไปสู่ศิลปะอีกแนวหนึ่ง หรือลัทธิหนึ่ง โดยใช้เวลาเป็นศตวรรษหรือหลายทศวรรษ ดังนั้นการทำความเข้าใจกับศิลปะ จึงต้องใช้เวลาและต้องศึกษาวิวัฒนาการของศิลปะด้วย เพื่อช่วยให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ 
      เช่นเดียวกับรูปแบบศิลปะที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ หากดูเพียงผิวเผินอาจเห็นเป็นเพียงภาพโฆษณา หรือเป็นศิลปะเชิงพาณิชย์หรือพาณิชยศิลป์ (commercial art) ที่ไม่น่าจะมีราคาค่างวดมากนัก ทว่าศิลปะประเภทนี้ของศิลปินบางคนกลับมีราคาสูงนับสิบล้านร้อยล้านบาท โดยเฉพาะผลงานของศิลปินที่ชื่อ แอนดี วอร์โฮล (Andy Warhol) ผู้ซึ่งได้รับการเรียกขานว่า เป็นราชาแห่ง pop art หรือศิลปะประชานิยม
      ความจริงแล้ว ศิลปะรูปแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษราว ค.ศ. ๑๙๕๔ โดยกลุ่มศิลปินอิสระที่มีนักวิจารณ์ศิลปะชื่อ ลอว์เรนซ์ ฮัลโลเวย์ (Lawrence Alloway) ร่วมอยู่ด้วย และเป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอแนวคิดใหม่ของศิลปินหัวก้าวหน้ากลุ่มนี้ โดยกล่าวว่าพวกเขาได้พบบางสิ่งบางอย่างซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมพื้นบ้านที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เช่น ภาพโฆษณาสินค้า ภาพการ์ตูน เครื่องหมายจราจร ฯลฯ แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีอิทธิพล และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และหากพิจารณาให้ดีก็จะพบความงาม และสาระที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างน่าสนใจ ศิลปินกลุ่มนี้สนใจรูปแบบของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นแต่ปฏิเสธเนื้อหาที่แสดงออกเชิงพาณิชย์ และไม่เชื่อในเรื่องความแตกต่างของรสนิยมดีหรือเลวเพราะถือเป็นสิ่งสมมุติ 
(คลิกดูภาพใหญ่)
The Two Marilyns ค.ศ. ๑๙๖๒ ซิลก์สกรีนบนผ้าใบ ขนาด ๕๕x๖๕ ซม. ปัจจุบันเป็นสมบัติ ของเอกชน ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
      ศิลปินหัวก้าวหน้ากลุ่มนี้ซึ่งประกอบด้วย ปีเตอร์ เบลก (Peter Blake ค.ศ. ๑๙๓๒-) เดวิด ฮอคเนย์ (David Hockney ค.ศ. ๑๙๓๗-) ริชาร์ด แฮมิลตัน (Richard Hamilton ค.ศ. ๑๙๒๒-) เป็นต้น ได้สร้างงานศิลปะขึ้นตามแนวคิดดังกล่าว โดยนำสิ่งของที่ใช้สอยอยู่ในชีวิตประจำวัน มาสร้างเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม หรือภาพพิมพ์ เช่น นำภาพดาราภาพยนตร์มาวาด หรือพิมพ์ให้มีขนาดใหญ่ นำอาหารกระป๋อง หลอดยาสีฟัน กล่องใส่ของ ขวดน้ำอัดลม เครื่องหมายจราจร และวัสดุสำเร็จรูป มาประกอบกันหรือทำให้มีขนาดใหญ่กว่าของจริง เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ขัน เยาะเย้ยถากถาง โดยซ่อนแง่คิดอยู่เบื้องหลัง ศิลปะประเภทนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ เช่น พ็อป อาร์ต, นีโอ-ดาดา (Neo-Dada), เลอ นูโว เรอาลิสม์ (Le Nouveau Realisme) และไซน์เพนติ้ง (Sign Painting) ในเวลาใกล้เคียงกัน ศิลปะแนวนี้ได้ก่อตัวขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นิวยอร์ก ศิลปินสำคัญ ๆ ได้แก่ รอเบิร์ต เราเชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg ค.ศ. ๑๙๒๕-) จิม ไดน์ (Jim Dine ค.ศ. ๑๙๓๕-) รอย ลิชเตนสไตน์ (Roy Lichtenstein ค.ศ. ๑๙๓๒-) รอเบิร์ต อินเดียนา (Robert Indiana ค.ศ. ๑๙๒๘-) จอร์ช ซีกัล (George Segal ค.ศ. ๑๙๒๔-) และ แอนดี วอร์โฮล (Andy Warhol) 
      แอนดี วอร์โฮล เดิมชื่อ แอนดรูว์ วอร์โฮลา (Andrew Warhola) วันเดือนปีเกิดไม่แน่นอน เชื่อว่าเกิดระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๑ ที่เมืองฟอเรสต์ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา บิดาชื่อ Ondrej Warhola อพยพมาจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกียเมื่อ ค.ศ.๑๙๑๒ หลังจากนั้นเก้าปี จูเลีย-ภรรยา จึงตามมาอยู่ด้วย วอร์โฮลมีพี่ชายคนหนึ่งและน้องชายหนึ่งคน 
(คลิกดูภาพใหญ่)
Marilyns ค.ศ. ๑๙๖๔ ซิลก์สกรีนบนผ้าใบ ขนาด ๑๐๑.๖x๑๐๑.๖ ซม. 
      ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๔๒ บิดาของเขาถึงแก่กรรม ทำให้ครอบครัวขาดผู้นำ แต่วอร์โฮลก็ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๙ เขาได้เข้าศึกษาที่ Carnegie Institute of Technology เมืองพิตต์สเบิร์ก และได้รับปริญญาตรีด้านวิจิตรศิลป์ ขณะที่ศึกษาอยู่นั้นเขาได้พบกับ ฟิลิป เพิร์ลสไตน์ (Philip Pearlstein ค.ศ. ๑๙๒๔-) ซึ่งต่อมาได้อยู่ในกลุ่มอเมริกันพ็อปอาร์ตเช่นเดียวกัน แต่ภายหลังเพิร์ลสไตน์หันไปสร้างงานจิตรกรรมรูปเปลือยจนได้รับยกย่องว่าเป็น "New Humanism" 
      เมื่อจบการศึกษาแล้ว วอร์โฮลเดินทางไปทำงานที่ห้างสรรพสินค้า St. Mark's Place ทางตะวันออกของนิวยอร์ก นับเป็นการเริ่มต้นทำงานโฆษณาและงานออกแบบ หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งและเริ่มมีชื่อเสียงบ้าง เขาจึงเปลี่ยนชื่อจาก แอนดรูว์ วอร์โฮลา มาเป็น แอนดี วอร์โฮล
      ในปี ค.ศ. ๑๙๕๒ วอร์โฮลมีโอกาสแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกที่ ฮูโก แกลเลอรี (Hugo Gallery) ในนิวยอร์ก หลังจากแสดงผลงานแล้ววอร์โฮลก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะของนิวยอร์กมากขึ้น เขาพยายามสร้างลักษณะเฉพาะตัว เช่น เปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้สั้นเพื่อให้เรียกและจำได้ง่าย ย้อมผมสีฟางข้าว (straw colour) และมักปล่อยให้ยาวอย่างไม่สนใจ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขามาจนตลอดชีวิต
(คลิกดูภาพใหญ่)
Reversal Series: Marilyn ค.ศ. ๑๙๗๙-๑๙๘๖ ซิลก์สกรีนบนผ้าใบ ขนาด ๔๖x๓๕ ซม. ปัจจุบันอยู่ที่ Thaddaeus Gallery เมืองซัลซ์บรูก เยอรมนี
      ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๖-๑๙๖๒ เป็นช่วงเวลาที่วอร์โฮลแสวงหาแนวคิดและทิศทาง ในการสร้างศิลปะของตนเอง เขาต้องการเป็นศิลปินมากกว่านักออกแบบโฆษณาสินค้า แต่กลับได้รับรางวัลศิลปินด้านพาณิชยศิลป์ในปี ค.ศ. ๑๙๕๗ แม้วอร์โฮลจะยังต้องหารายได้จากงานพาณิชยศิลป์ โดยพยายามปรับทักษะด้านการออกแบบให้เป็นงานศิลปะ แต่เขาก็เชื่อมั่นในความเป็นศิลปินของเขา ด้วยเหตุนี้วอร์โฮลจึงวาดภาพ One Dollar Bill with Washington Portrait, 1962 (ดินสอดำบนกระดาษ ขนาด ๔๕x๖๐ เซนติเมตร) เพื่อประชดสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ นอกจากนี้ยังทำภาพพิมพ์ Two Dollar Bills (front and rear) ด้วยเทคนิคซิลก์สกรีน (silkscreen) ลงบนผ้าใบ ขนาด ๒๑๐x๙๖ เซนติเมตร (ปัจจุบันอยู่ที่ Ludwig Museum เมืองโคโลญ สวิตเซอร์แลนด์) เทคนิคดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าวอร์โฮลเป็นผู้ริเริ่มขึ้นเป็นคนแรก นับเป็นการนำเทคนิคที่นิยมใช้กับงานพาณิชยศิลป์มาประยุกต์ใช้ ในการสร้างงานศิลปะสมัยใหม่ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น และเทคนิคนี้ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของวอร์โฮลไปในที่สุด
      ช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ วอร์โฮลเริ่มนำภาชนะสำหรับบรรจุเครื่องอุปโภคที่อยู่ใกล้ตัว เช่น กระป๋องซุป ธนบัตร ขวดน้ำอัดลม มาสร้างเป็นงานศิลปะ โดยวาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ หรือใช้เทคนิคซิลก์สกรีนบนผ้าใบ หรือทั้งสองอย่างผสมกัน เช่นภาพ Campbell's Soup (ค.ศ. ๑๙๖๒) วาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๕๐.๕x๘๑ เซนติเมตร เป็นภาพกระป๋องซุปสองใบ ใบซ้ายมือขนาดใหญ่เกือบเต็มกรอบผ้าใบในขณะที่ใบขวามือขนาดเล็ก รูปแบบการวาดคล้ายภาพพิมพ์ ใช้เส้นและสีเรียบ ๆ อย่างภาพโฆษณาทั่ว ๆ ไป ต่อมาภาพกระป๋องซุปแคมป์เบลล์ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวอร์โฮล และเป็นภาพที่เขาทำขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายแบบ ทั้งที่เป็นกระป๋องเดียวโดด ๆ แต่มีขนาดใหญ่กว่าของจริง และประเภทที่นำภาพกระป๋องมาพิมพ์เรียงกันเป็นแถวนับร้อยใบ อย่างที่เราจะเห็นกันบนชั้นวางของตามซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งเป็นการสะท้อนวิถีชีวิตชาวอเมริกันที่ผูกพันอยู่กับอาหารสำเร็จรูป วอร์โฮลกล่าวว่าเขากินซุปกระป๋องแทบทุกวันมานานกว่า ๒๐ปี ซุปกระป๋องจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
(คลิกดูภาพใหญ่)
Mao ค.ศ. ๑๙๗๒ ขนาด ๒๐๘x๑๕๗ ซม. สีอะคริลิก ซิลก์สกรีน และสีน้ำมันบนผ้าใบ
      วอร์โฮลสร้างภาพกระป๋องซุปโดยวาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบและพิมพ์ด้วยเทคนิคซิลก์สกรีนลงบนผ้าใบ บางครั้งวอร์โฮลใช้ทั้งการพิมพ์ซิลป์สกรีนลงบนผ้าใบผสมกับการระบายสี เช่นภาพ Campbell's Soup I ,1968 พิมพ์ด้วยเทคนิคซิลก์สกรีนและระบายด้วยสีอะคริลิกและสีลิเควเท็ก (liquitex) บนผ้าใบขนาด ๙๑.๕x๖๑ เซนติเมตร (ปัจจุบันอยู่ที่ Neue Galerie-Ludwig Collection, Aachen) ต่อมาวอร์โฮลได้นำภาพกระป๋องซุปแคมป์เบลล์มาทำเป็นภาพพิมพ์ขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนชุด Campbell's Soup I, 1998 (ขนาด ๘๐.๕x๔๖.๗ และ ๘๙x๔๘.๕ เซนติเมตร) พิมพ์ขนาดละ ๒๐๐ แผ่น นอกจากภาพกระป๋องซุปแล้ว วอร์โฮลยังนำสินค้าอื่น ๆ ที่มีอยู่ในซูเปอร์มาร์เกตมาสร้างเป็นงานศิลปะ เช่น ภาพขวดเครื่องดื่ม กล่องบรรจุอาหาร ลังสบู่ เช่น Brillo Box, 1964 ขนาด ๔๔x๔๓x ๓๕.๕เซนติเมตร, Brillo Box,1964 ขนาด ๓๓x๔๑x๓๐ เซนติเมตร Del Monte Box,1964 ขนาด ๒๔x๔๑x๓๐ เซนติเมตร, Heinz Tomato Ketchup Box,1964 ขนาด ๒๑x๔๐x๒๖ เซนติเมตร Brillo, Del Monte and Heinz Cartons, 1964 ขนาด ๔๔x๔๓x๓๕.๕ เซนติเมตร, ๓๓x๔๑x๓๐ เซนติเมตร, ๒๔x๔๑x๓๐ เซนติเมตร และ ๒๑x๔๐x๒๖ เซนติเมตร ผลงานทั้งหมดพิมพ์ด้วยเทคนิคซิลก์สกรีนลงบนไม้ที่ทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับของจริง (ปัจจุบันผลงานทั้งหมดนี้เป็นของนักสะสมเอกชนที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม) ผลงานลักษณะนี้ของวอร์โฮลเป็นเสมือนโลกของซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่ทั่วไป แต่การนำมาสร้างองค์ประกอบศิลป์ด้วยการเรียงกันเป็นเป็นแถว ๆ และซ้ำ ๆ กันก็เป็นการนำเสนอความคิดใหม่ เช่นเดียวกับการนำภาพเหล่านี้มาขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือย่อให้เล็กลงก็เป็นการนำเสนออย่างง่าย ๆ แต่แฝงนัยให้คิดเช่นเดียวกัน
      นอกจากผลงานชุดโลกซูเปอร์มาร์เกตดังกล่าวแล้ว ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้วอร์โฮลมากอีกชุดหนึ่ง คือชุดดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน
      เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๗๗) เป็นราชาร็อกแอนด์โรลและนักแสดงที่ได้รับความนิยมสูงสุด (หลังจากที่เขาเสียชีวิตเพียง ๒๔ ชั่วโมง แผ่นเสียงของเขาขายได้ถึง ๒๐ ล้านแผ่น) วอร์โฮลสร้างภาพ Triple Elvis ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๖๔ ด้วยเทคนิคโฟโตซิลก์สกรีน (สร้างภาพจากภาพถ่ายลงบนแผ่นฟิล์มขาว-ดำ แล้วอัดลงบนแผ่นตะแกรงไหมเพื่อใช้เป็นแม่พิมพ์) ลงบนผ้าใบขนาด ๒๐๙x๑๕๒ เซนติเมตร เป็นภาพเอลวิสกำลังเต้น พิมพ์ซ้อนกันสามครั้ง ทำให้ดูเหมือนภาพเคลื่อนไหว
(คลิกดูภาพใหญ่)
Liz ค.ศ. ๑๙๖๕ ซิลก์สกรีนบนผ้าใบ ขนาด ๑๐๖x๑๐๖ ซม. ปัจจุบันเป็นสมบัติ ของเอกชน ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
      มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe ค.ศ. ๑๙๒๖-๑๙๖๒ ชื่อจริง Norma Jean Baker) เป็นนักแสดงชาวอเมริกันที่เริ่มต้นจากการเป็นนางแบบเปลือยสำหรับปฏิทินและโปสเตอร์ ต่อมาได้แสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง ถึงช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ ก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในฐานะสัญลักษณ์ทางกามารมณ์ วอร์โฮลนำภาพใบหน้าของมาริลีนมาสร้างเป็นงานซิลก์สกรีนบนผ้าใบไว้หลายชุด เช่น The Two Marilyn (ค.ศ. ๑๙๖๒) ขนาด ๕๕x๖๕ เซนติเมตร เป็นภาพใบหน้าของมาริลีนสองหน้า ซ้ายมือเป็นภาพขาว-ดำ ขวามือเป็นภาพใบหน้าสีชมพู ริมฝีปากแดง ขอบตาสีเขียว ผมสีเหลือง (มาริลีนมักย้อมผมเป็นสีทอง) พื้นหลังภาพสีเขียว เช่นเดียวกับภาพ Marilyn (ค.ศ. ๑๙๖๔) ซึ่งเป็นภาพซิลก์สกรีนบนผ้าใบขนาด ๑๐๑.๖x๑๐๑.๖ เซนติเมตร ขยายจากภาพต้นแบบเดิม ภายหลังวอร์โฮลได้นำภาพมาริลีนมาทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง ได้แก่ชุด Reversal Series: Marilyn ซึ่งทำขึ้นระหว่าง ค.ศ.๑๙๗๙-๑๙๘๖ โดยใช้สีในลักษณะกลับค่าของสี (negative) ที่ให้ความรู้สึกแปลกไป วอร์โฮลเป็นผู้ทำให้คนทั่วไปที่ชื่นชอบ มาริลีน มอนโร ได้ใกล้ชิดเธอมากขึ้น แทนที่จะเห็นในภาพยนตร์เท่านั้น
      เอลิซาเบท เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor หรือ Liz) เป็นดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก เธอเกิดในประเทศอังกฤษเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๒ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้อพยพมายังแคลิฟอร์เนียขณะที่อายุเพียง ๑๐ ขวบและได้ร่วมแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วยวัยที่สดใสน่ารัก เอลิซาเบทได้แสดงภาพยนตร์เรื่อยมา เคยได้รับรางวัลออสการ์สองตัว และเคยแต่งงานมาแล้วแปดครั้ง เอลิซาเบทเป็นดาราที่มีใบหน้างดงามมาก ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ วอร์โฮลนำภาพใบหน้าของเอลิซาเบทมาพิมพ์ลงบนผ้าใบเช่นเดียวกับภาพใบหน้าของ มาริลีน มอนโร เช่น ภาพซิลค์สกรีนบนผ้าใบชื่อ Liz (ค.ศ. ๑๙๖๕) ขนาด ๑๐๖x๑๐๖ เซนติเมตร ซึ่งแสดงให้เห็นใบหน้าที่ได้รูป ริมฝีปาก และดวงตาที่งดงามของเธอได้เป็นอย่างดี
(คลิกดูภาพใหญ่)

(คลิกดูภาพใหญ่)
Flowers ค.ศ ๑๙๗๐ ขนาด ๙๑.๕x๙๑.๕ ซม. ซิลก์สกรีนลงบนกระดาษ พิมพ์จำนวน ๒๐๐ ชุด
      แจ็กเกอลีน ลี บูริเอร์ (Jacqueline Lee Bouvier) หรือแจ็กกี้ เคนเนดี ( Jackie Kennedy) ภรรยาของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy ค.ศ. ๑๙๑๗-๑๙๖๓) ประธานาธิบดีคนที่ ๓๕ ของสหรัฐอเมริกา (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๑-๑๙๖๓) หลังจากสามีถูกลอบสังหารแล้ว แจ็กกี้แต่งงานใหม่กับมหาเศรษฐีชาวกรีก อริสโตเติล โอนาสซิส (Aristotle Onassis ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๗๕) แจ็กกี้เป็นผู้หญิงสวยและมีชื่อเสียงโด่งดังอีกคนหนึ่งที่วอร์โฮลนำภาพใบหน้าของเธอมาสร้างงานศิลปะ เช่นภาพ Jackie Tripych (ค.ศ. ๑๙๖๔) เป็นภาพซิลก์สกรีนบนผ้าใบ ขนาด ๕๓x๑๒๔ เซนติเมตร พิมพ์เป็นสามภาพต่อกัน จากใบหน้าเล็กไปใหญ่ ภาพแรกพิมพ์สีดำบนพื้นหลังสีน้ำเงินหันหน้าไปทางขวา ภาพที่ ๒ พิมพ์สีดำบนพื้นหลังสีเทา และภาพที่ ๓ พิมพ์สีดำบนพื้นหลังสีฟ้า (ปัจจุบันอยู่ที่ Ludwig Collection เมืองโคโลญ สวิตเซอร์แลนด์), ภาพ Four Jackies (ค.ศ. ๑๙๖๔) ซิลค์สกรีนบนผ้าใบ ขนาด ๑๐๑x๘๑ เซนติเมตร เป็นภาพเหมือนของแจ็กกี้สี่ภาพในเฟรมเดียวกัน, ภาพ Jackie III (ค.ศ. ๑๙๖๖) ซิลก์สกรีนบนกระดาษ ขนาด ๑๐๑.๖x๗๖.๒ เซนติเมตร พิมพ์จำนวน ๒๐๐ แผ่น เป็นภาพใบหน้าของแจ็กกี้สี่ด้านที่นำมาประกอบเป็นภาพเดียวกัน 
      การที่วอร์โฮลนำภาพเหมือนของสตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มาสร้างงานศิลปะเป็นอีกแง่มุมหนึ่งในการนำเสนอของศิลปินพ็อปอาร์ต ซึ่งนับเป็นการบันทึกประวัติของบุคคลร่วมสมัยไว้ในงานศิลปะ วอร์โฮลกล่าวถึงความงามของสตรีที่เขานำภาพมาสร้างเป็นงานศิลปะว่า "เมื่อเธองดงามในช่วงเวลาของเธอและดูมีเสน่ห์ เมื่อเวลาเปลี่ยนและรสนิยมเปลี่ยนไปเป็นเวลาสิบ ๆ ปี ถ้าเธอยังดูแลตนเองไม่ให้เปลี่ยนแปลง เธอก็ยังคงงดงามอยู่ได้"
(คลิกดูภาพใหญ่)
Judy Garland ค.ศ. ๑๙๕๖ ภาพปะติด (collage) และปิดทอง ขนาด ๕๑.๒x ๓๐.๔ ซม. 
      อย่างไรก็ตาม ผลงานระยะหลังของวอร์โฮลแสดงให้เห็นว่า เขาสนใจปัญหาสังคมและการเมืองมากขึ้น เช่นที่เขานำภาพเหมือนของอดีตประธานาธิบดีจีน เหมาเจ๋อตง (ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๗๖) ผู้นำการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน มาสร้างเป็นงานชุด "Mao Tse Tung" เช่นภาพ Mao Tse Tung (ค.ศ. ๑๙๗๒) ซิลค์สกรีนบนผ้าใบ ขนาด ๑๒๘x๑๐๗ เซนติเมตร เป็นภาพครึ่งตัว ใบหน้าสีเหลือง ทับด้วยสีดำ ระบายสีพื้นหลังและเสื้อด้วยสีน้ำมัน เช่นเดียวกับภาพ Mao Tse Tung (ค.ศ. ๑๙๗๓) ขนาด ๓๐.๕x๒๕.๕ เซนติเมตร พิมพ์ด้วยเทคนิคซิลก์สกรีนแล้วระบายด้วยสีอะคริลิก และภาพ Mao (ค.ศ.๑๙๗๒) ขนาดใหญ่ ๒๐๘x๑๕๗ เซนติเมตร เป็นภาพจำลอง (reproduced) จากภาพถ่ายของเหมาเจ๋อตง นอกจากนี้วอร์โฮลยังนำภาพเหตุการณ์ทางสังคมมานำเสนอด้วย เช่น ภาพการล่าสังหารคนผิวดำในรัฐแอละแบมา ภาพเก้าอี้ไฟฟ้า ภาพนักโทษ และภาพระเบิดปรมาณู เป็นต้น
วอร์โฮลมีพลังสร้างสรรค์สูงจึงสร้างงานศิลปะไว้หลายประเภท ช่วง ค.ศ. ๑๙๖๓ เขาร่วมกับเพื่อนสร้างภาพยนตร์อันเดอร์กราวด์หลายเรื่อง อาทิ Sleep ความยาว ๖ ชั่วโมง, Empire เป็นภาพนิ่งของตึกเอ็มไพร์สเตต (Empire State Building) ความยาว ๘ ชั่วโมง, The Chelsea Girl เป็นฉากชีวิตในโรงแรมเชลซีในนิวยอร์ก และในปีถัดมาเขาได้สร้างภาพยนตร์ไว้อีกมากกว่า ๗๕ เรื่อง 
      วอร์โฮลมีความคิดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะว่า ศิลปินไม่จำเป็นต้องลงมือทำงานเองทั้งหมด แต่เป็นผู้กำหนดความคิดและรูปแบบ ดังนั้นห้องทำงานของเขาจึงมีลักษณะเป็นโรงงานแทนที่จะเป็นห้องทำงานส่วนตัว เพราะมีเด็กหญิงและชายเป็นผู้ช่วยถึง ๑๘ คนเพื่อผลิตงานประเภทต่าง ๆ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๒-๑๙๖๔ เขาผลิตงานต่าง ๆ มากกว่า ๒,๐๐๐ ชิ้น
(คลิกดูภาพใหญ่)
Brillo, Del Monte and Heinz Cartons ค.ศ. ๑๙๖๔ ซิลก์สกรีนบนแผ่นไม้ ปัจจุบัน เป็นสมบัติของเอกชน ในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
      วอร์โฮลเป็นศิลปินประสบความสำเร็จด้านการงาน ชื่อเสียง และเงิน เพื่อนร่วมงานกล่าวว่า เขาเป็นนักธุรกิจที่ดีและเป็นศิลปินที่มีความสามารถ มีความคิดหลักแหลม ฉับไว ทันเหตุการณ์ วอร์โฮลเป็นศิลปินที่มีความสามารถรอบด้าน ทั้งการออกแบบ งานโฆษณา งานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ และภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการเขียนหนังสือด้วย วอร์โฮลเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อ The Philosophy of Andy Warhol ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๗๕ 
      ช่วงปลายของชีวิต วอร์โฮลสนใจจิตรกรรมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ของยุโรป จึงศึกษาผลงานของศิลปินชั้นครูบางคนแล้วนำผลงานมาสร้างขึ้นในรูปแบบใหม่ เช่น นำผลงานจิตรกรรม The Last Supper ของ เลโอนาร์โด ดา วินชิ (Leonardo da Vinci ค.ศ. ๑๔๕๒-๑๕๑๙) มาทำเป็นภาพพิมพ์ นำภาพ Birth of Venus ของ ซันโดร บอตติเชลลิ (Sandro Botticelli ค.ศ. ๑๔๔๕-๑๕๑๐) มาสร้างเป็นงานจิตรกรรม
      ในปี ค.ศ. ๑๙๘๖ วอร์โฮลสร้างงานชุดภาพเหมือนตนเองและภาพเหมือนเลนิน (Vladimir Ilyich Lenin ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๒๔) ผู้นำคนแรกของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ซึ่งเป็นผลงานชุดสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิต 
      แม้วอร์โฮลจะประสบความสำเร็จด้านศิลปะ แต่ดูเหมือนชีวิตส่วนตัวจะไม่มีความสุขนัก เขาไม่ได้แต่งงานเพราะเป็นผู้นิยมรักร่วมเพศ จึงอาศัยอยู่กับมารดาในนิวยอร์กและเลี้ยงแมวไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา วอร์โฮลเสียชีวิตจากการผ่าตัดในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๗ เป็นการปิดฉากชีวิตของศิลปินแนวหน้าของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ 
      วอร์โฮลเคยกล่าวว่า "โลกในอนาคตจะทำให้คนมีชื่อเสียงอยู่ได้เพียง ๑๕ นาทีเท่านั้น" (Famous for 15 minutes) เพราะอิทธิพลของการสื่อสารที่รวดเร็ว ผู้คนรับรู้เร็วแต่ก็ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คำพูดของวอร์โฮลคงต้องยกเว้นในกรณีของตัวเขาเอง เพราะแม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้วเกือบสองทศวรรษ ทว่าชื่อเสียงและผลงานของเขาก็ยังเป็นที่รู้จักและคงอยู่มาจนทุกวันนี้
 

หนังสือประกอบการเขียน

        กำจร สุนพงษ์ศรี, ศิลปะสมัยใหม่, กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๓.
      ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ อังกฤษ-ไทย, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๑.
      Anna C.Krausse, The Story of Painting from The Renaissance to the Present, Konemann Verlagsgesellschaft mbH, Germany,1995.
      Klus Honnef, Andy Warhol, Benedikt Taschen, Germany, 2000,16.
      Klaus Honnef, Andy Warhol, Benedikt Taschen, Germany, 2000, 16.