นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ "แม่น้ำโขง : แม่น้ำพิเศษของโลก"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากบรรณาธิการ

 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
ชีวิต ตำนาน และความเข้าใจผิด เกี่ยวกับ "เสด็จเตี่ย" กรมหลวงชุมพรฯ 

     ผมไปศรีลังกาในช่วงที่มีการเจรจาทำสัญญาสงบศึก ระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬ
     หน้าทางเข้าสนามบินมีบังเกอร์ปืนกล ของทหารรักษาความปลอดภัยอยู่เป็นระยะ
     สงครามกลางเมืองอันยาวนานกว่า ๓๐ สิบปีได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า ๖ หมื่นคน และทำให้คนไร้ที่อยู่อาศัยนับล้านคน
     ชาวสิงหลเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ ๗๔ นับถือศาสนาพุทธ ขณะที่ชาวทมิฬเป็นชนส่วนน้อยของประเทศ มีประมาณร้อยละ ๑๘ อาศัยอยู่ทางเหนือและตะวันออกของเกาะ นับถือศาสนาฮินดู
     ผมไม่แน่ใจว่า เหตุใดคำว่า "ทมิฬ" ในภาษาไทย จึงแปลว่า ดุร้าย ป่าเถื่อน
     อันที่จริงคำว่า "ฝรั่ง" น่าจะหมายถึง ดุร้าย ป่าเถื่อน มากกว่าคำว่า "ทมิฬ" เสียอีก เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความโหดร้าย การไล่ฆ่าชาวพื้นเมืองนับล้านคนอย่างป่าเถื่อนในสมัยล่าอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นอินเดียนแดง ชาวเอเชีย ชาวแอฟริกา ชาวอะบอริจินส์ จนมาถึงการไล่เข่นฆ่าชาวอาหรับในสงครามอิรัก ล้วนมาจากน้ำมือของคนขาวทั้งนั้น
     ผมมีเพื่อนทั้งชาวทมิฬและชาวสิงหล ทุกคนล้วนมีนิสัยใจคอน่ารัก 
     พาซาน่า นักโบราณคดีหนุ่มชาวสิงหล ได้พบรักและแต่งงานกับเจนนี่ เนติบัณฑิตสาวชาวทมิฬ เช่นเดียวกับชาวสิงหลและชาวทมิฬอีกหลายล้านคนที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในศรีลังกา แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางด้านสีผิว เชื้อชาติ และศาสนา
     ประวัติศาสตร์บอกเราว่า การปลุกกระแสคลั่งชาติสร้างความแตกแยกให้แก่คนในประเทศ บางทีก็มาจากผู้นำประเทศนั่นเอง
     ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ๒๔๙๑ มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้น เวลานั้นความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชนชาติยังไม่รุนแรง
     ต่อมารัฐบาลศรีลังกาที่เป็นชาวสิงหลชาตินิยม ได้ออกกฎหมายให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการ แทนภาษาอังกฤษ อันเป็นการประกาศไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของภาษาทมิฬ ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความรุนแรง ชาวทมิฬเรียกร้องขอให้พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศเป็นรัฐอิสระ

       ความขัดแย้งได้ลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ มีการปลุกระดมให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเกลียดชังอย่างไร้เหตุผล คนสิงหลและคนทมิฬที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเดียวกันเริ่มฆ่ากันเอง ครอบครัวของเจนนี่และชาวทมิฬที่อาศัยอยู่ในกรุงโคลัมโบ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากข้าราชการที่ส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล
     สงครามกลางเมืองจึงเริ่มขึ้น ทหารรัฐบาลชาวสิงหลพยายามส่งกำลังเข้าโจมตีจังหวัดจาฟน่า ทางตอนเหนือของประเทศ ฐานที่มั่นใหญ่ของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มทมิฬที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ 
     กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬที่มีกำลังน้อยกว่ามาก ก็ตอบโต้ด้วยการใช้ระเบิดพลีชีพ เข้าไประเบิดในอาคาร ที่ทำการของรัฐกลางกรุงโคลัมโบ จนมีผู้บริสุทธิ์ล้มตายจำนวนมาก ที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ การที่สมาชิกสาวของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬผูกระเบิดเข้าไปสังหารนายราชีพ คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อสิบกว่าปีก่อน ด้วยความแค้นที่อินเดียส่งกำลังมาช่วยทหารศรีลังกาปราบกองกำลังทมิฬ
     ผมเดินดูร่องรอยของระเบิดในพระราชวังแห่งเมืองแคนดี ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๑ มีคนตายหลายสิบคน สิ้นเสียงระเบิดแต่ละครั้ง นักท่องเที่ยวที่เคยหลั่งไหลเข้ามาชมความงดงามของชายทะเล ป่าเขา และโบราณสถาน ก็ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ 
     สงครามทำให้ศรีลังกายากจนลง คนในประเทศฆ่ากันเอง ผู้อพยพหนีสงครามนับล้านคนหนีตายไปอยู่ประเทศอื่น ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจจากสงครามทำให้ศรีลังกาถอยหลังไปหลายสิบปี
     ในที่สุดญี่ปุ่นและนอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวทมิฬเข้าไปอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก ได้ยื่นมือเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย 
     มีการประชุมสันติภาพระหว่างสองฝ่ายหลายครั้ง ไทยเราก็เคยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมให้สองครั้ง ที่พัทยาและนครปฐม
     มีแนวโน้มว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมรับเงื่อนไขซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลือกตั้งใหม่ การจัดตั้งรัฐบาลผสม และเขตปกครองพิเศษของทมิฬ 
     พาซาน่าพาผมไปดูย่านการค้าทันสมัยที่สุดของกรุงโคลัมโบ ยังมีทหารวางลวดหนามรักษาการณ์ อยู่ เพราะสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ
     เจนนี่บอกว่าประชาชนทั้งสองฝ่ายภาวนาขอให้การเจรจาครั้งนี้บรรลุผล เพื่อหันหน้ามาสร้างชาติกันใหม่
     ประชาชนพร้อมแล้วสำหรับสันติภาพ แต่ไม่มีใครรู้ว่า นักการเมืองผู้กระหายอำนาจพร้อมหรือยัง

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com