เจ้าไชยสุริวงศ์ในสายตระกูลเจ้าเจ็ดตน

เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ เกิดในสายตระกูลเจ้าเจ็ดตน* ซึ่งมีพระยาสุลวฦาชัยสงคราม หรือเจ้าหนานทิพย์ช้าง ผู้เป็นบรรพบุรุษของเจ้าชาย ๗ องค์ ที่เป็นต้นเค้าของสกุลสำคัญฝ่ายเหนือ อันได้แก่  ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง, สิโรรส, ธนันชยานนท์ และลังกาพินธุ์ โดยท่านอยู่ในสายตรงของเจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ ๒ คือ เจ้าธัมมลังกา (ดูรายละเอียดจากสาแหรกสกุล)

ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ ของแม่นายคำใสกับ พ.ต.อ. เจ้าไชยสงครามหรือเจ้าน้อยสมพมิตร ณ เชียงใหม่ ผู้กำกับการตำรวจมณฑลพายัพ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบที่เหี้ยมหาญ มีวิชาคาถาอาคม และมีความใกล้ชิดกับเจ้าแก้วนวรัฐ ในฐานะนายตำรวจคนสนิทที่เจ้าแก้วนวรัฐมอบความไว้วางไว้ใจให้ทำหน้าที่เป็นควาญช้างพระที่นั่งให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๗ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลพายัพในปี พ.ศ. ๒๔๖๙

เจ้าไชยสุริวงศ์ถือได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในธุรกิจโรงแรม โรงภาพยนตร์ และโรงพิมพ์ของเชียงใหม่ ด้วยเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ คือ โรงแรมสุริวงศ์ ที่ ถ. ช้างคลาน พร้อม ๆ กับได้สร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยแห่งแรกของเชียงใหม่ ด้วยระบบจอซีนีมาสโคป ๗๐ มม. เสียงเซ็นเซอร์ราวนด์ และติดเครื่องปรับอากาศ  เมื่อธุรกิจโรงภาพยนตร์เจริญสุดขีดก็ได้สร้างโรงภาพยนตร์ในเครือสุริวงศ์ขึ้นอีกหลายแห่ง เพื่อสนองความต้องการของคนเชียงใหม่และคนในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ โรงภายนตร์สุริยา สุริยง รามา และแสงตะวัน อีกทั้งยังร่วมลงทุนสร้างภาพยนตร์ด้วย  ขณะเดียวกับที่กิจการภาพยนตร์เฟื่องฟู ท่านได้เปิดธุรกิจโรงพิมพ์เพิ่มขึ้น คือ สุริวงศ์การพิมพ์ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์แรก ๆ ของเชียงใหม่  ต่อมายังได้สร้างโรงแรมแม่ปิงและโรงแรมดวงตะวัน  และเมื่อธุรกิจโรงแรม โรงภาพยนตร์ มีการแข่งขันสูง ประกอบกับความชรา เจ้าไชยสุริวงศ์จึงขายกิจการทั้งหมด

กิจกรรมอย่างหนึ่งที่เจ้าไชยสุริวงศ์เล่นมาตั้งแต่เป็นนักเรียนและได้ยึดถือเป็นกิจวัตรประจำวันตลอดช่วงชีวิตของท่านก็คือ การเล่นดนตรีไทย  ท่านได้ตั้งวงขึ้นเล่นที่บ้าน และวงของท่านยังได้มีโอกาสร่วมเล่นกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงแวะเยี่ยมเจ้าไชยสุริวงศ์ที่บ้านเชิงดอยอีกด้วย

เจ้าไชยสุริวงศ์เป็นเจ้านายฝ่ายเหนืออีกท่านหนึ่งที่มีอายุยืนถึง ๙๑ ปี  ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันศุกร์ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ 

---------------------

* เจ้าเจ็ดตน มีที่มาจากบุตรชายทั้งเจ็ดของเจ้าฟ้าชายแก้ว และคำว่า  "เจ้า" เป็นคำเรียกขานนำหน้านามตามประเพณีนิยมแบบล้านนา ใช้กับผู้สืบสกุลของ เจ้าหลวง (ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร)