home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
www.Thaitraveler.com
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนพฤษภาคม

นายรอบรู้ชวนเที่ยว : ดูสนุก ดูที่ไหน
ชมสวนผลไม้ภาคตะวันออก

ยามลมพัทยาพัดเฉื่อยฉิวในฤดูนี้ เดินเข้าไปในตลาดไหนๆ ก็จะเห็นสารพัดผลไม้วางเรียงรายให้เลือกซื้อกลับไปกินที่บ้านกันอย่างปรีดิ์เปรม เมืองไทยเราเป็นเมืองเกษตรกรรม ดินดีดินดำน้ำชุ่ม ยิ่งสมัยก่อนว่ากันว่า เพียงแค่กินผลไม้อะไรแล้วเอาเมล็ดโยนทิ้งไว้ อีกไม่นานปีก็จะผลิดอกออกผลให้กินกันได้ สมัยก่อนตามบ้านเรือนผู้คนจึงมีผลไม้หลากชนิด ปลูกไว้ให้ได้เก็บกิน อย่างมะม่วง ชมพู่ ฝรั่ง และอื่น ๆ แล้วแต่จะนิยมกินอะไรกัน 
ทว่าเดี๋ยวนี้แค่ต้นไม้พื้น ๆ ที่ให้ผลสุกหวานอร่อยอย่างนี้ ถามเด็กรุ่นใหม่บางทียังแยกไม่ค่อยจะออกว่าต้นไหนมะม่วง ต้นไหนชมพู่ "นายรอบรู้" เลยอยากพาไปชมสวนผลไม้ ยิ่งผลไม้อย่างทุเรียน มังคุด ราชาและราชินีแห่งผลไม้ ใครเคยเห็นต้นเห็นใบกันบ้าง 
สมัยก่อนนั้น พื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ เคยเต็มไปด้วยสวนผลไม้หลากหลาย ผลไม้มีชื่อก็ล้วนแต่อยู่ในแถบนี้ทั้งนั้น ทุเรียนมีนับร้อยสายพันธุ์ เงาะต้องที่บางยี่ขัน มังคุดปลูกกันมากแถบธนบุรี แต่ด้วยประสบทั้งภัยน้ำท่วม น้ำเสีย การขยายตัวของบ้านเรือน ทำให้สวนรอบๆ กรุงเทพฯ เริ่มน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วเลยไปขยายตัวชุกชุมในแถบภาคตะวันออกของไทย ซึ่งมีภูมิอากาศที่ชุ่มชื้น ฝนตกชุก สภาพดินลึกและเก็บความชื้นได้ดี เหมาะแก่การทำสวนผลไม้ 
ลูกทุเรียนอ่อน บางชนิดกว่าจะโตเต็มที่ใช้เวลาถึง ๖ เดือนถึงสุกกินได้ (คลิกดูภาพใหญ่)สอยเงาะกันสด ๆ (คลิกดูภาพใหญ่)คุณยายเจ้าของสวนกับเงาะสีชมพูและเงาะโรงเรียน (คลิกดูภาพใหญ่)
ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายนนั้น เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการไปเยี่ยมชมสวนผลไม้ เพราะไม่ว่าจะเป็นทุเรียน เงาะ มังคุด สละ ระกำ ลองกอง ลางสาด มะม่วง ล้วนติดผลให้เก็บกินกันได้ตลอด ดังนั้นในช่วงนี้จึงสามารถเดินเข้าไปในสวนที่ร่มรื่น ชุ่มเย็น เห็นสีแดง สีเหลือง สีม่วงของผลไม้ ตัดกับสีเขียวๆ ของใบไม้ในสวน นอกจากสวยแล้วยังกินอร่อยอีกด้วย
สวนในภาคตะวันออกนั้นมักจะปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด และอื่นๆ คละกันไป เพราะจะได้สามารถเก็บผลไม้ชนิดต่าง ๆ ขายได้ตลอด แต่ก็มีบ้างที่ปลูกเฉพาะเป็นอย่าง ๆ ไป 
รู้หรือไม่ว่าทุเรียนนั้นไม่ใช่ต้นไม้พื้นเมืองของไทย แต่เป็นต้นไม้ของหมู่เกาะอินเดีย อินโดนีเซีย แล้วจึงมีผู้นำมาปลูกทางมลายู แพร่หลายเข้ามาทางใต้ และสันนิษฐานกันว่าเมื่อครั้งกองทัพไทยไปตีเมืองทะวาย มะริด และตะนาวศรี ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้นำเข้ามาปลูกในกรุงเทพฯ แล้วชาวสวนแถบระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี ก็เลยนำไปปลูกขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก มีการคัดเลือกสายพันธุ์จนมีหลายร้อยสายพันธุ์ แต่แบ่งกันเป็นกลุ่ม ๆ ได้ สามกลุ่มพันธุ์ คือ 
พันธุ์เบา ปลูกเพียงสี่ห้าปีก็ให้ผล และจากติดดอกถึงตัดลูกได้ใช้เวลาประมาณ ๑๐๐ วัน เช่น หมอนทอง ชะนี ชมพูศรี พันธุ์กลาง อายุห้าปีถึงให้ผล และกว่าผลจะสุกใช้เวลา ๑๓๐ วัน เช่น ก้านยาว กบ กระดุม และพันธุ์หนัก ต้องอายุหกปีถึงให้ผล แถมใช้เวลากว่า ๑๘๐ วันจึงจะเก็บได้ เช่น กำปั่น อีหนัก ทองย้อยฉัตร เป็นต้น 
มังคุดสดจากสวน (คลิกดูภาพใหญ่)ลองกองเดี๋ยวนี้ก็ปลูกกันมาก (คลิกดูภาพใหญ่)
สมัยก่อนคนนิยมกินทุเรียนที่เนื้อสุกเนียนละเอียด ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง แต่เดี๋ยวนี้นิยมกินทุเรียนห่ามกันมากกว่า บางคนทนกลิ่นไม่ไหวก็เลยหนีไปกินทุเรียนทอด ที่ใช้ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เนื้อยังกรอบอยู่ มาฝานเป็นชิ้นบางๆ ทอดโรยเกลือ อร่อยไปอีกแบบ ส่วนทุเรียนที่สุกงอมจนเกินกิน นอกจากจะเอาไปทำน้ำกะทิกินกับข้าวเหนียวแล้ว ชาวสวนยังนำมากวนด้วยไฟอ่อนๆ ในกระทะใบบัว ใช้เวลากว่า ๖ ชั่วโมงจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน เก็บไว้กินได้นาน
กินทุเรียนเข้าไปมาก ๆ แล้วจะพาลร้อนใน คนโบราณท่านว่าต้องกินมังคุดแก้กัน เพราะมังคุดเป็นผลไม้เย็น มังคุดนั้นต้องเลือกที่ผิวบาง เปลือกต้องสีแดงจนถึงม่วงดำ ถ้าเป็นมังคุดดี ๆ รสจะหวานสนิท ลูกใหญ่ เม็ดน้อย ต้นมังคุดนั้นมีรูปทรงสวย แตกกิ่งเป็นชั้นๆ แล้วออกลูกตามซอกกิ่งที่แตกก้าน ถ้าไม่ติดว่าชื่อไม่เหมาะ ปลูกแล้วจะเกิดรักคุดขึ้นมา ก็น่าจะเอามาปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี 
เข้าไปเที่ยวสวนทุเรียนแล้วก็ลองถามคนสวนดูว่า ต้นไหนพันธุ์อะไร มีลูกแบบไหน แต่ที่ดูง่ายๆ ก็คือ หมอนทอง ผลใหญ่ เปลือกออกสีน้ำตาลทอง หนามห่างเห็นเป็นพูชัดเจน ชะนี ผลไม่ใหญ่มาก เปลือกสีเขียว หนามแหลม ก้านยาว ผลปานกลาง รูปทรงกลมไม่แบ่งเป็นพู หนามเล็กละเอียด ขั้วก้านยาวกว่าพันธุ์อื่นๆ เป็นต้น ถ้าสนใจพันธุ์ทุเรียนโบราณ ต้องลองไปดูที่ "สวนละอองฟ้า" ใน จ. นครนายก เพราะเป็นสวนที่อนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนเก่าแก่เก็บไว้หลายสิบสายพันธุ์ 
นอกจากทุเรียนแล้ว ยังมีเงาะที่ปลูกกันมาก พันธุ์เงาะนั้นชาวสวนรุ่นเก่าๆ ได้ไปจากบางยี่ขัน สมัยก่อนมีพันธุ์เหลืองเล็กเหลืองใหญ่ พอชาวสวนจันท์เอาไปเพาะแล้วกลายพันธุ์ ได้เป็นเงาะสีชมพู ที่เปลือก ขนสีแดงอมส้ม เนื้อร่อน หวาน ส่วนเงาะโรงเรียน ที่มีเปลือกสีแดงสด ปลายขนสีเขียว เนื้อร่อนกรอบนั้น ได้พันธุ์มาจากบ้านนาสาร จ. สุราษฎร์ธานี แต่มาปลูกในพื้นที่นี้แล้วได้ผลดี ก็เลยเป็นที่นิยมกันของคนทั่วไป บางสวนในจันทบุรียังมีต้นเงาะเหลืองใหญ่ เหลืองเล็ก พันธุ์เก่าดั้งเดิมอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที ต้องลองถามคนสวนกันดูว่ายังหลงเหลืออยู่ที่สวนไหนบ้าง
เงาะโรงเรียน (คลิกดูภาพใหญ่)สารพัดผลไม้ที่ชาวสวนนำออกมาจำหน่ายตามตลาดผลไม้ต่างๆ  (คลิกดูภาพใหญ่)มะไฟหวานยังพอหากินได้ (คลิกดูภาพใหญ่)
สมัยก่อนใครมาเที่ยวทะเลแถบนี้ ขากลับนอกจากจะขนเงาะ ทุเรียน มังคุด มาเต็มรถแล้ว ยังต้องเหลือที่ให้ระกำ หวานบ้าง เปรี้ยวบ้าง ระกำหวานนั้นไม่หวานสนิท อมเปรี้ยวเล็กน้อย แต่ระกำเปรี้ยวนั้นเอามาตำน้ำพริกอร่อยนัก แต่เมื่อคนสวนแถบเนินวง ได้เมล็ดพันธุ์สละหม้อจากแถวยานนาวา กรุงเทพฯ ไปปลูก แล้วกลายพันธุ์ ได้สละที่มีเนื้อหนา เมล็ดลีบเล็ก รสหวาน กลายเป็นสละเนินวง ที่นิยมปลูกกันมาก จนเดี๋ยวนี้คนชักจะลืมๆ ระกำกันไป หันไปนิยมสละเนินวงกันมากกว่า
นอกจากผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากเหล่านี้แล้ว ภายในสวนบางสวนอาจจะยังปลูกต้นมะไฟ มะม่วงอกร่อง มะม่วงน้ำดอกไม้ ชมพู่ทับทิมจันทร์ ลางสาด ลองกอง แซมอยู่ในพื้นที่สวนด้วย เรียกว่ามีผลไม้ที่ไหน ลองเอามาทดลองปลูกในแถบนี้ก็มักจะได้ผลที่ดีเหมือนกับต้นพันธุ์ บางทีก็กลายเป็นพันธุ์ที่ดีกว่าแหล่งกำเนิดเสียอีก ชาวสวนในภาคตะวันออกเขาจึงภูมิใจในพื้นดินถิ่นเกิดของเขาว่า มีดินดี น้ำดี ผลไม้เด็ด พอถึงฤดูกาลผลไม้ออกผลสุก ก็เลยอยากเชิญชวนให้ไปเที่ยว จะเดินดูไปคุยกับเจ้าของสวนเรื่องการเพาะเลี้ยงดูแลไป หรือจะเดินไปเก็บกินผลไม้ไปก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าจะเอากลับบ้านก็คงต้องเอาไปชั่งน้ำหนักคิดสตางค์กันบ้าง 
ร้อนนี้อย่าพลาดการไปเที่ยวชมสวน เรียนรู้พันธุ์พืชกันบ้าง จะได้แยกกันออกว่าต้นแบบนี้ต้นทุเรียน ต้นนี้ต้นเงาะ ต้นนี้มังคุด แถมยังได้กินผลไม้กับแบบสดๆ จากสวน สมดังคำกล่าวที่ว่า "เมืองไทย ใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน" นั่นไง
ทุเรียนกองเป็นภูเขาอย่างนี้ มีให้เห็นได้ทุกปี (คลิกดูภาพใหญ่)ตัดแต่งขั้วทุเรียนกันใต้ต้น (คลิกดูภาพใหญ่)ถ้าจังหวะดีๆ ก็จะได้เห็นการเก็บทุเรียน คนเก็บจะโยนลงมาจากต้น และมีคนถือกระสอบคอยรับ (คลิกดูภาพใหญ่)

เที่ยวสนุก เที่ยวที่ไหน

สวนผลไม้ต่าง ๆ ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะทุเรียน เงาะ และมังคุดนั้น มีมากในแถบ อ. แกลง อ. เมือง และ อ. บ้านค่าย จ. ระยอง จันทบุรีปลูกกันมากแถบ อ. เมือง อ. ขลุง อ. ท่าใหม่ และ อ. เขาคิชฌกูฎ ส่วนที่ จ. นครนายก และ จ. ปราจีนบุรี นั้นปลูกกันมากแถบ อ. เมือง หากขับรถผ่านไปอาจขอแวะเข้าไปชมในสวนต่างๆ ได้ สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลามากอาจติดต่อขอเข้าชมสวนต่างๆ ดังนี้ 
สวนวงษ์วิทย์ อ. เมือง จ. จันทบุรี ที่นี่ปลูกไม้ผลหลายอย่าง นอกจากเงาะ ทุเรียน ซึ่งสามารถเลือกชิมได้จนอิ่มแล้ว ยังมีผลไม้อื่น ๆ ให้ชมกัน เช่น สละ ลางสาด ลองกอง กระท้อนพันธุ์ดี มีการสาธิตการกวนและทอดทุเรียน ค่าเข้าสวนคนละ ๖๐ บาท โทร. ๐-๑๘๖๑-๖๒๕๘
สวนโถทอง อ. เมือง จ. จันทบุรี นอกจากเงาะ ทุเรียน และผลไม้เหมือนสวนอื่นๆ แล้ว ยังมีสวนสมุนไพรให้ชม ค่าเข้าสวนคนละ ๖๐ บาท โทร. ๐-๓๙๔๕-๙๓๓๙ 
สวนสุภัทรา อ. บ้านค่าย จ. ระยอง เปิดให้เข้าชมการสาธิตเก็บผลไม้และบำรุงพันธุ์ และเก็บกินเงาะได้ด้วยตนเอง เพราะสังเกตได้ง่ายว่าผลสุกหรือยัง ส่วนผลไม้อื่นๆ ทางสวนจะจัดเตรียมไว้ให้ คิดค่าบริการตามชนิดของผลไม้ที่เก็บกิน ตั้งแต่ ๕๐-๑๕๐ บาท โทร. ๐-๓๘๘๙-๒๐๔๘-๙ และ ๐-๑๓๐๕-๑๒๑๒ 
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ทุเรียน สวนละอองฟ้า อ. เมือง จ. นครนายก เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ทุเรียนจากทั่วประเทศ เกิดจากลุงชม โสวรรณตระกูล ชาวสวนเก่าในกรุงเทพฯ ที่ย้ายสวนหนีน้ำท่วมมาปลูกที่นี่ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ โดยปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ไว้กว่า ๕๐ สายพันธุ์ มีทุเรียนพันธุ์ที่ไม่เคยได้ยินชื่อ เช่น เขียวลูกฟัก ซ่อนกลิ่น ทองแดง กบเล็บเหยี่ยว กำปั่น กระดุม เป็นต้น ชื่อ "ละอองฟ้า" ก็เป็นชื่อทุเรียนพันธุ์หนึ่ง ที่รวมลักษณะเด่นของหมอนทองกับก้านยาวไว้ด้วยกัน เมื่อลุงเสียชีวิตลงในปี ๒๕๓๖ ทายาทจึงตั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนขึ้น ภายในพื้นที่ ๓๐ ไร่ มีทุเรียนอายุ ๓๐ กว่าปีอยู่เป็นร้อยๆ ต้น เปิดให้เข้าชมฟรี โทร. ๐-๓๗๓๘-๖๑๕๘
Home