home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนธันวาคม

รู้หรือ (ไม่) รู้

ต. เต่าหัวโต

เป็นที่ทราบกันดีว่า สำนวนหดหัวอยู่ในกระดองที่ใช้เปรียบเปรยถึงคนที่เอาแต่หลบซ่อนอยู่ในที่ของตน ไม่กล้าออกไปสู้ผู้อื่นนั้น มีที่มาจากพฤติกรรมของเต่าที่จะรีบหดหัวเข้าไปซ่อนอยู่ภายในกระดองแข็ง ยามเมื่อตกใจหรือมีภัยมา

ถึงแม้จะเป็นพฤติกรรมเด่นของเต่า แต่เต่าบางชนิดก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากมันมีหัวขนาดใหญ่มาก จนหดเข้าไปในกระดองแคบๆ ไม่ได้ เต่าชนิดนี้คือ เต่าปูลู ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า big-headed turtle ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ Platysternonn megacephalum ในภาษาละติน คำว่า megacephalum ก็หมายถึง “หัวใหญ่” เช่นกัน

ไม่เพียงมีหัวโตจนไม่สามารถหดเข้ากระดองได้ เต่าปูลูยังมีรูปร่างแปลกประหลาดต่างไปจากเต่าที่พบเห็นกันทั่วไป จนดูคล้ายสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์อย่างยิ่ง เริ่มจากปากของเต่าปูลูกว้างมาก จะงอยปากที่งุ้มลงแบบปากนกแก้วยังแข็งและคม จนอาจกัดนิ้วคนที่ไปแหย่ให้ขาดกระเด็นได้ คอของเต่าปูลูก็ยาวมาก จนบางตัวสามารถยืดตวัดกลับมาถึงด้านท้ายของกระดองได้เลยทีเดียว

จุดเด่นที่สุดของเต่าปูลูอยู่ตรงหางที่ยาวมาก ไม่สั้นกุดอย่างเต่าชนิดอื่นๆ แถมยังมีลักษณะเป็นปล้องอีกด้วย

เต่าปูลูพบอาศัยอยู่ตามลำธารและน้ำตกในป่าดงดิบเขา ตั้งแต่ความสูง ๗๐๐ ม. จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป และมีอุณหภูมิเฉลี่ยไม่เกิน ๑๗ องศาเซลเซียส ชอบอยู่ในบริเวณที่น้ำใส พื้นน้ำเป็นทรายปนกรวดและก้อนหิน เต่าปูลูชอบกินปูน้ำตกเป็นอาหารหลัก รวมทั้งแมลงน้ำ กุ้ง หอย และปลา

เต่าปูลูกระจายพันธุ์อยู่ทางตอนใต้ของจีน พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม สำหรับในประเทศไทยพบเต่าปูลูอาศัยอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือและตอนบนของภาคอีสาน ปัจจุบันเป็นสัตว์หายาก และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากการล่าและทำลายถิ่นอาศัย แต่ยังพบได้ตามพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ. เลย

Home