home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนธันวาคม

นายรอบรู้ชวนเที่ยว : ดูสนุก ดูที่ไหน
ลัดเลาะเสาะหาตุ๊กตาศิลาจีน

ตุ๊กตาศิลาและงานจำหลักศิลามักจะตั้งอยู่บริเวณรอบอุโบสถ วิหาร ศาลา หรืออยู่เฝ้าซุ้มประตู

“นายรอบรู้” พาเที่ยวฉบับส่งท้ายปีวอกนี้ ไม่ไปไหนไกล ขอพาคุณผู้อ่านไปซอกซอนเสาะหาตุ๊กตาศิลาจีนและศิลาจำหลักหลากหลายแบบที่กระจายอยู่ตามวัดต่างๆ ภายในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ของเรา ไปดูกันว่าเจ้าตุ๊กตาศิลาจีนหรือตุ๊กตาหินมีกี่แบบ ทำไมวัดนี้มี วัดนั้นถึงไม่มี์

ตุ๊กตาศิลาจีนและเครื่องศิลาต่างๆ เช่น กระถาง ศาลเจ้าจำลอง ถะหรือเจดีย์แบบจีน ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม เช่น ลูกกรง เสา เขามอ โคมเสามังกร มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว เพราะการค้าสำเภาเจริญมากในสมัยนั้น ในปีหนึ่ง ๆ มีเรือสำเภาแล่นเข้าออกตามหัวเมือง เช่น จันทบุรี นครศรีธรรมราช ปัตตานี อยู่เป็นประจำ ดังที่พบเจดีย์ศิลาแบบจีนองค์ใหญ่ที่วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช เป็นต้น

รูปสัตว์

เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์การค้าเรือสำเภากลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งนับแต่รัชกาลที่ ๒-๓ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องสงคราม โดยเฉพาะรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่การค้าสำเภารุ่งเรืองมากและทรงมีพระราชนิยมในศิลปกรรมจีน จึงทรงสั่งตุ๊กตาศิลาจีนและรูปจำหลักหินแบบต่างๆ จำนวนมากเพื่อนำมาประดับตกแต่งตามวัดที่ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ซึ่งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่รับอิทธิพลของศิลปะจีน จนเรียกกันว่า “ศิลปะแบบพระราชนิยม”

นอกจากการสั่งซื้อเข้ามาแล้ว พวกตุ๊กตาจีนและศิลาจำหลักยังมาพร้อมกับเรือสำเภาในฐานะเครื่อง “อับเฉา” ใส่ไว้ใต้ท้องเรือสำเภาเพื่อถ่วงน้ำหนักเรือไม่ให้โคลง

เก๋งจีนและเสามังกรจากวัดอรุณ  ถะจากวัดสุทัศน์  เก๋งจีนและเสามังกรจากวัดอรุณ  ถะจากวัดสุทัศน์  เก๋งจีนและเสามังกรจากวัดอรุณ  ถะจากวัดสุทัศน์

เรือสำเภาของไทยที่เดินทางกลับมาจากการค้ากับจีน แม้จะบรรทุกสินค้ามาเต็มลำเรือก็จริง แต่ก็มีน้ำหนักเบา เพราะเป็นพวกผ้าแพร ผ้าต่วน เครื่องเรือน ใบชา ถ้วยชาม ฯลฯ ดังนั้นจึงถ่วงน้ำหนักเรือด้วยอับเฉา เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงนำไปถวายตามวัดต่าง ๆ ที่รัชกาลที่ ๓ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ เพื่อประดับตกแต่งตามอุโบสถ วิหาร ศาลา

ส่วนเรือสำเภาของพ่อค้าชาวจีนที่ใช้ตุ๊กตาศิลาบรรทุกเป็นอับเฉาใต้ท้องเรือ เมื่อมาถึงเมืองไทยนำขึ้นทูลเกล้าถวายเป็นเครื่องบรรณาการ รัชกาลที่ ๓ ก็โปรด ถือเป็นความดีความชอบ ชาวจีนเองก็พอใจที่ได้เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของตน จึงกลายเป็นเครื่องส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้เครื่องศิลาและตุ๊กตาศิลาจีนเข้ามาเผยแพร่มากมาย

กินรีหน้าจีนและครุฑ ออกแบบโดยช่างไทย แต่เป็นฝีมือช่างจีน  กินรีหน้าจีนและครุฑ ออกแบบโดยช่างไทย แต่เป็นฝีมือช่างจีน

ประเภทของตุ๊กตาศิลาจีนและเครื่องจำหลักศิลาจีนที่มีอยู่ตามพระอารามในประเทศไทยจำแนกได้หลายรูปแบบ ได้แก่

ลั่นถัน หมายถึง ตุ๊กตาหินที่มีรูปร่างสูงใหญ่ แต่งกายสวยงามเต็มยศตามธรรมเนียมขุนนางจีนทั้งฝ่ายบู๊ฝ่ายบุ๋น ลักษณะเหมือนกับตัวงิ้ว จึงเรียกกันว่า ตัวงิ้ว

รูปคนต่างๆ เช่น นักบวช ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก เซียน เทพ ฝรั่ง ซึ่งมีเครื่องแต่งกายแตกต่างกัน

รูปสัตว์ แบ่งเป็นสัตว์ในจินตนาการหรือในตำนาน เช่น มังกร หงส์ กิเลน และสัตว์ทั่วๆ ไป เช่น เต่า ม้า ลิง เสือ สิงโต หมู

สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แท่นบูชา เสามังกร กระถางหิน ถะหรือเจดีย์แบบจีน

การจะจำแนกตุ๊กตาหินจึงต้องสังเกตที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สิ่งของที่อยู่ในมือ ใบหน้าท่าทาง ลองดูตัวอย่างดังนี้

ขุนนางฝ่ายบู๊ เป็นพวกทหาร นักรบ จะแต่งกายในชุดออกรบ สวมเสื้อเกราะ ถืออาวุธ เช่น ง้าว พลอง ดาบ ขวาน มีรูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าดุดัน ถมึงทึง ส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่บริเวณซุ้มประตูทางเข้า เช่นที่วัดโพธิ์

ลักษณะของนักบวชและเซียน  ลักษณะของนักบวชและเซียน

ขุนนางฝ่ายบุ๋น พวกนี้แต่งกายโอ่อ่า รูปร่างอ้วนท้วน มักจะมีหนวดเครายาว ใบหน้ายิ้มแย้ม ในมือถือหนังสือ หรือสิ่งที่จะสื่อความหมายว่าเป็นผู้มีความรู้

เทพ เซียน มีท่านั่งบนหลังสัตว์ นั่งพื้น นั่งห้อยขา และท่ายืน ลักษณะเป็นพระจีนหรือคนแก่ ในมือมักจะถือสิ่งของเสมอ เช่น ลูกประคำ พัด หนังสือ ไม้เท้า

หญิงชั้นสูง จะมีอิริยาบถอ่อนช้อย สวมเครื่องแต่งกายประณีต มีเครื่องประดับบนศีรษะ ชายกระโปรงคลุมปลายเท้า เพราะสตรีชั้นสูงจะต้องรัดเท้าให้เล็กเท่าเท้าเด็ก แต่หากเห็นปลายเท้าโผล่แสดงว่าอาจมาจากตระกูลคหบดีหรือหญิงชาวบ้านผู้เข้าไปได้ดีในวัง ที่วัดอรุณมีตัวอย่างให้ดูหลายลักษณะ
หญิงชาวบ้าน มีหลายท่าทาง ทั้งแต่งตัวเป็นนักรบ มีให้ดูที่วัดอรุณ วัดสุทัศน์ และเป็นหญิงธรรมดา มีตัวอย่างให้ดูที่วัดเทพธิดาราม เป็นท่ายืนอุ้มลูก และมีลูกอีกคนกำลังปีนป่ายอยู่ที่ขา

เด็ก มีรูปร่างเล็ก มีมวยผมสองข้าง ที่วัดสุทัศน์ มีตุ๊กตาเด็กให้ดูหลายแบบ
ตุ๊กตาฝรั่ง มีรูปร่างสูงใหญ่ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบตะวันตก หน้าตาน่ากลัว

ดูสนุกดูที่ไหน
หญิงชั้นสูง ที่วัดอรุณวัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง ธนบุรี
เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีตุ๊กตาหินจีนจำนวนมาก เฉพาะที่ลานระเบียงคดรอบพระอุโบสถมีถึง ๓๐๔ ตัว ไม่รวมที่ประดับอยู่รอบ ๆ ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่าที่วัดโพธิ์ แต่ก็มีหลากหลายรูปแบบให้ชม นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของงานสถาปัตยกรรมให้ชมอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้า ถะ เขามอ เสามังกร
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน
เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงอุปถัมภ์ทำนุบำรุง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ ภายในวัดมีศิลาจำหลักและตุ๊กตาหินตัวใหญ่มากมาย ถือกันว่าตุ๊กตาศิลาจีนที่นี่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาวัดต่างๆ อีกด้วย

ขุนนางฝ่ายบุ๋น ที่วัดอรุณ กับขุนนางฝ่ายบู๊ ที่วัดสุทัศน์วัดสุทัศนเทพวราราม เสาชิงช้า
มีทหารฝรั่งยืนหน้าดุ เฝ้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ และทหารหญิงขนาดเล็ก รวมทั้งเด็กท่าทางหน้าตาน่ารักคู่กับม้าอยู่บริเวณพระวิหารหลวง

หญิงชาวบ้านที่วัดเทพธิดารามวัดเทพธิดาราม ถ. ราชดำเนินกลาง
ส่วนใหญ่ในวัดนี้เป็นศิลาจำหลักผู้หญิง แม้มีไม่มากเท่าวัดอื่น แต่ก็เป็นอิริยาบถที่แตกต่างไม่เหมือนใคร

 

นอกจากนี้ยังมีวัดที่สร้างและปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ อีกจำนวนมาก ที่มีตุ๊กตาหินและศิลาจำหลักมากน้อยคละเคล้ากันไป เช่น วัดราชนัดดาราม วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ฯลฯ

เดินดูเดินชมกันแล้ว ก่อนกลับเข้าไปกราบพระขอความเป็นสิริมงคลให้เรียบร้อย แล้วละเลียดชมภาพจิตรกรรมฝาผนังกันอีกนิดตามที่ “นายรอบรู้” เคยแนะนำวิธีชมไปแล้ว เมื่ออิ่มใจอิ่มสมองจะได้กลับบ้านอย่างมีความสุข

Home