ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ กับความเป็นสากล
"โกศพันธุรัตน์" แท่งหินซึ่งมีลักษณะ เป็นยอดจุกในพืดเขาเจ้าลาย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
"โกศพันธุรัตน์" แท่งหินซึ่งมีลักษณะ เป็นยอดจุกในพืดเขาเจ้าลาย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันถูกระเบิด เอาหินไปทำปูน
ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ ประดิษฐาน พระสยัมภูวลึงค์  ไว้ภายใน
พระบาทเวินปลา นครพนม (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
พระบาทเวินปลา นครพนม ในฤดูน้ำ เห็นเป็นก้อนหิน โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา เพียงเล็กน้อย

ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)

ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ ประดิษฐานพระสยัมภูวลึงค์ ไว้ภายใน


(อ่านต่อ)

    ที่อยู่ในการสังเกตของข้าพเจ้า ในที่นี้ก็คือปราสาทตาเมือนธม ในเขตอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์แห่งหนึ่ง กับที่พระบาทเวินปลา ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครพนมอีกแห่งหนึ่ง
    แห่งแรก คือปราสาทตาเมือนธมนั้น ตั้งอยู่บนโขดหิน ที่เป็นเนินตะพัก ของเทือกเขาพนมดงเร็ก ระหว่างเส้นแบ่งเขตแดนไทย - กัมพูชา ความเป็นเนินตะพักนี้ จะสังเกตไม่เห็น ถ้าหากยืนอยู่ในบริเวณปราสาท ในเขตประเทศไทย เพราะอยู่ในบริเวณที่สูง แต่ถ้าหากเดินลงไป ทางเขตกัมพูชาเล็กน้อย ก็จะแลเห็นความเป็นตะพัก และโขดหินในเขตประเทศไทย คือจะแลเห็นว่า โคปุระของปราสาทตา เมือนธมนั้น หันหน้าลงสู่ที่ราบต่ำเขมร และตั้งอยู่บนตะพักเขาทีเดียว
    จากโคปุระมีทางเดินเข้าไปถึงตัวปรางค์สำคัญ ซึ่งสร้างคร่อมทับ โขดหินศักดิ์สิทธิ์ของตะพักอยู่ พระศิวลึงค์ ที่อยู่ภายในองค์ปรางค์นี้ เป็นแท่งหินธรรมชาติ ที่ถากและเกลาให้เป็นแท่งกลม อีกทั้งมีท่อโสมสูตรต่อจากแท่นศิวลึงค์ ออกไปนอกตัวปราสาท ให้แลเห็นด้วย
    ปรางค์หรือปราสาทประธาน ที่สร้างคร่อมทับโขดหินศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกได้ว่า "สวยัมภูวลึงค์"   นี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่ หากเป็นขนาดเล็ก ดูสวยงาม แต่ก่อนเคยมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นโอบไว้ ดูเด่นและสง่าดี ต่อมา ไม่ทราบว่ามีนักโบราณคดีที่ไหน มาทำการบูรณะปราสาทหลังนี้ โดยไม่สังเกต ได้โค่นตัดต้นไม้นี้เสีย   แล้วบูรณะปราสาทไปอย่างที่เข้าใจ โดยมิได้สนใจ ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง โขดหินศักดิ์สิทธิ์ และปราสาทประธานแม้แต่น้อย
    ข้าพเจ้าคิดว่า ด้วยความมีอยู่ของโขดหินศักดิ์สิทธิ์ ณ บริเวณนี้เอง ที่ทำให้เกิดการสร้างปราสาทตา เมือนธมขึ้นมา เป็นจุดสำคัญบนเส้นทางคมนาคม ระหว่างที่ราบสูงโคราช กับเขมรต่ำ บนช่องเขาพนมดงเร็ก และจากความสำคัญดังกล่าวนี้ ก็เป็นผลไปถึงการสร้างปราสาทตาเมือน(ปราสาทไบครีม) และปราสาทตาเมือนโต๊จ ซึ่งเป็นธรรมศาลา และอโรคยาศาลขึ้นตามมา ให้เป็นแหล่งชุมชน ที่สำคัญบนเส้นทางคมนาคม
    การค้นคว้า และหาความหมายความสำคัญในเรื่องนี้ จะทำให้แหล่งโบราณสถาน ที่ทางรัฐบาล จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ เป็นสิ่งน่าสนใจแก่ผู้ใฝ่หาความรู้ อีกไม่น้อยทีเดียว


    ส่วนโขดหินศักดิ์สิทธิ์แหล่งที่สอง ก็คือพระบาทเวินปลา ที่จังหวัดนครพนม เป็นโขดหินอยู่ริมแม่น้ำโขง ห่างจากฝั่งเล็กน้อย ผู้คนสามารถเดินตามโขดหินเล็กๆ ไปถึงได้ในหน้าแล้ง ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่สูงนัก แต่ถ้าเป็นในฤดูน้ำมาก จะเข้าไปไม่ถึง
    ตรงกลางของโขดหินนี้ มีรอยสึกกร่อนจากการกระทำของน้ำ ทำให้แลดูเป็นแอ่งคล้ายเท้าคน ตรงนี้เอง ที่คนลาวโบราณสังเกต และนำไปอธิบายว่า เป็นรอยพระพุทธบาท จนมีการสร้างตำนาน และมีประเพณีพิธีกรรม ในการมาสักการะบูชา และบันทึกไว้ ในตำนานพงศาวดาร เช่น ตำนานอุรังคธาตุ เป็นต้น
    ถ้ามองดูอย่างคร่าวๆ เฉพาะตัวโขดหิน ที่สมมุติว่ามีรอยพระพุทธบาทนั้น ก็ไม่น่าเตะตาอะไร แต่ถ้ามองอย่างกว้างๆ โดยเน้นให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมธรรมชาติโดยรอบแล้ว ก็นับว่าแปลก เหตุที่ว่าแปลกนั้น ก็เพราะตรงนี้ เป็นบริเวณที่เป็นเวิ้งน้ำใหญ่ ของลำแม่น้ำโขง น้ำเชี่ยว และมีวังน้ำวน พื้นที่สองฝั่งน้ำเป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะทางฝั่งไทย การมีโขดหินอยู่ริมแม่น้ำ ในภูมิประเทศแบบนี้ยิ่งดูแปลก แต่จะมีความสัมพันธ์ กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำหรือไม่นั้น ยังไม่มีการค้นคว้ากัน ทว่าสิ่งที่ปรากฏในตำนานก็คือ ชาวบ้านเชื่อว่า ในเวิ้งน้ำใหญ่ของแม่น้ำโขงแห่งนี้ ในปางก่อนเป็นที่สถิต ของพระยาปลา ผู้ต่อมาได้ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า และเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระอดีตชาติ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ โขดหินแห่งนี้ เรียกว่าพระพุทธบาทเวินปลา และบนรอยธรรมชาติ ที่สมมุติว่าเป็นรอยพระพุทธบาท ก็ได้มีผู้มาสลักร่องรอย เป็นรูปดอกบัวอยู่ในวงกลมไว้กลางรอย เพื่อแสดงให้เห็น ถึงความศักดิ์สิทธิ์อย่างสมจริง
    ความต่างกันระหว่างสวยัมภูวลึงค์ ที่ปราสาทตาเมือนธม ของพวกขอมโบราณ กับพระบาทเวินปลา ของพวกลาวโบราณก็คือ สวยัมภูวลึงค์ของขอม เป็นเรื่องสัญลักษณ์ทางศาสนาฮินดู ที่ในปัจจุบันนี้ ประเพณีพิธีกรรม และความเชื่อดังกล่าว ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดสิ้นแล้ว ส่วนพระบาทของคนลาว เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งทั้งความเชื่อ ตลอดจนประเพณีพิธีกรรมยังคงดำรงอยู่
    จะเห็นได้ว่าพระบาทเวินปลานั้น ในยามปรกติ ก็เป็นแต่เพียงของที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพียงอยู่ในเขตวัดพระบาทเท่านั้น ไม่ใคร่มีใครมาเกี่ยวข้องด้วย แต่ในยามฤดูเทศกาล จะมีผู้คนจากทุกสารทิศ เดินทางมากราบไหว้ มีพิธีกรรมและงานแข่งเรือ ระหว่างคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง นับเป็นประเพณีบุญ ที่ตอบสนองความสุขทางจิตใจ และความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งระหว่างคนในท้องถิ่นเดียวกัน และกับคนภายนอก ทั้งสองฝั่งโขงด้วย
    ส่วนทางของขอมนั้น เหลือแต่เพียงร่องรอยโบราณสถานให้เห็น ไม่อาจทราบได้ถึงความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ ประเพณีพิธีกรรม เพราะคนที่เกี่ยวข้องหมดไปแล้ว
    ขณะเดียวกัน ความเหมือนกันระหว่างสวยัมภูวลึงค์ ของปราสาทตาเมือนธม กับพระบาทเวินปลา   ก็คือการที่คนให้ความสำคัญ แก่โขดหินศักดิ์สิทธิ์ในทำนองเดียวกัน แลเห็นโครงสร้างความคิด ที่เป็นแบบเดียวกัน คือกลุ่มคนในท้องถิ่น ที่สัมพันธ์กับลักษณะภูมิประเทศทางธรรมชาติ และสิ่งที่มีอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ   ความสัมพันธ์กันทั้งสามอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ตอบสนองการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ทั้งในมิติทางสังคม และจิตวิญญาณ

เขาวงกฎ เป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ ในเขตอำเภอบ้านหมี่ มาแต่สมัยทวารวดี
เขาวงกฎ เป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ ในเขตอำเภอบ้านหมี่ มาแต่สมัยทวารวดี แต่ถูกทำลาย เพราะคนระเบิด เอาหินมาทำปูน


    ในเมืองไทยเรา   การสร้างบ้านแปงเมือง ที่สัมพันธ์กับภูเขาศักดิ์สิทธิ์นั้น นับว่าเป็นความสัมพันธ์ ที่เป็นสากล เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ มีทั้งกับภูเขาที่เป็นธรรมชาติ และภูเขาที่ทำเทียมขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ ทั้งสองอย่างนี้ ต่างก็แลเห็น และยืนยันได้ จากหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ประเพณีความเชื่อ และพิธีกรรม ที่บางอย่างก็สูญหายไปแล้ว แต่หลายๆ อย่างก็ยังคงทำสืบทอดกันเรื่อยมา
    อาจกล่าวได้ว่า บรรดาเมืองโบราณในประเทศไทย ที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีนั้น ถ้าหากไม่สัมพันธ์กับภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นธรรมชาติ ก็จะสัมพันธ์กับภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นของสร้างเทียมขึ้นมา ในรูปของพระสถูปเจดีย์ ที่เรียกว่าพระมหาธาตุ หรือธาตุ อันเป็นของเนื่องในพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นของเนื่องในศาสนาฮินดู หรือพุทธมหายานแล้ว ก็จะถูกสร้างขึ้นในรูปของปราสาทหรือปรางค์แทน
    เมืองที่เห็นความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ชัดเจน และอาจนำมากล่าวถึง เป็นอันดับแรกในที่นี้ ก็คือเมืองสุโขทัย
    ตัวเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขาหลวง ซึ่งเป็นเขาสูงใหญ่อยู่ทางทิศใต้ แลเห็นตระหง่านแต่ไกล ผู้รู้ในท้องถิ่นบางคนบอกว่า มีลักษณะคล้ายกับพระนอน เขาลูกนี้ ตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ที่กล่าวว่า
    "...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎี พิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร้าวป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพยดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้...."
    จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับ พระขพุงผี บนเขาหลวงหาใช่เป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาไม่   แต่เป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่น รวมทั้งของคนไทยครั้งสุโขทัย ที่น่าจะมีมาก่อน การนับถือพระพุทธศาสนา
    แต่ในที่นี้ เห็นว่าอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และมีอยู่พร้อมๆ กันก็ได้
    นั่นก็คือคนสุโขทัย ครั้งพ่อขุนรามคำแหง และสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย ต่างก็นับถือผี และพุทธพร้อมกันไปทั้งสองอย่าง อีกทั้งเป็นสิ่งที่คนโบราณ พยายามสร้างความสัมพันธ์ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่า มีการสร้างพระสถูปเจดีย์ และวัดขึ้นตามบริเวณต่างๆ ของเขาหลวง โดยเฉพาะให้เป็นแหล่งพำนัก ของบรรดาพระภิกษุ ฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งกระจายกันอยู่ ตั้งแต่เขาตะพานหิน เขาพระบาทน้อย เขาพระบาทใหญ่ ทางตะวันตกของเมืองสุโขทัย ไปจนถึงทางทิศใต้ เข้าเขตเขาหลวง
    แม้แต่บนเขาหลวงเอง ก็มีร่อยรอยของโบราณสถานเป็นระยะๆ ไป ยิ่งกว่านั้นจากการสำรวจ และค้นคว้าทางโบราณคดี เมื่อไม่นานมานี้ ก็พบร่องรอยของศาสนสถาน ทั้งฮินดู และพุทธมหายาน สมัยก่อนราชวงศ์พระร่วง ในบริเวณดังกล่าวนี้ด้วย โดยเฉพาะศาสนสถานของศาสนาฮินดูนั้น ดูเด่นเป็นพิเศษ เป็นปราสาทแบบขอม   มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สร้างบนยอดเขาปู่จ่า ซึ่งเป็นเขาลูกเตี้ยๆ ในซอกเขาที่อยู่ในบริเวณเขาหลวง โดยที่ก่อนหน้านี้เมื่อนานมาแล้ว ก็มีผู้พบเทวรูปสตรี ในโซกพระแม่ย่า ที่อยู่ในเขตเขาหลวงอีกเช่นกัน
    ปัจจุบัน ทางราชการได้นำรูปเทวสตรีนี้ ไปประดิษฐานไว้ ที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อให้เป็นที่สักการะ ของชาวสุโขทัย ในลักษณะที่เป็นเทพเจ้าผู้คุ้มครองเมือง
    ถ้ามองให้ลึกลงไป จากหลักฐานทางด้านโบราณคดี ศิลาจารึก และโบราณสถาน ก็จะเห็นได้ว่า ภูเขาหลวงที่ตระหง่าน อยู่เหนือเมืองสุโขทัยนั้น คือที่สถิตของสิ่งที่มีอำนาจ ของท้องถิ่น ซึ่งคนสุโขทัยต้องพึ่งพิง และอ้างอิง เพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันทางสังคมอย่างราบรื่น
    จากความเชื่อดังกล่าว ได้นำไปสู่การเกิดขึ้น ของประเพณีพิธีกรรมทั้งในรอบปี และในเวลาพิเศษ ที่ตอกย้ำการดำรงอยู่ ของอำนาจในด้านจิตวิญญาณ และในขณะเดียวกัน ก็สร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคมให้เกิดขึ้น เพราะประเพณีพิธีกรรม เป็นสิ่งที่ทำให้คนชาวเมืองสุโขทัย ต่างมาพบปะสังสรรค์กันในทางสังคม แต่ที่น่าเสียดายก็คือ ไม่มีข้อมูล และหลักฐานให้เห็นถึงรูปแบบ และโครงสร้างของพิธีกรรมเหล่านี้ ในสมัยต่อมา
    การสืบทอดความสำคัญของเขาหลวง ในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์ กลับมีกล่าวถึงในตำนานเมืองสุโขทัย ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในสมัยอยุธยา อันเป็นเรื่องของคน ในสมัยหลังราชวงศ์พระร่วง นั่นคือตำนานกล่าวว่า บนยอดเขาหลวง มีปล่องลึกลงไปในบาดาล เป็นช่องที่นางนาค ขึ้นมาเที่ยวเล่น เผอิญมีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ศรีธรรมาโศกราช ขึ้นมาจำศีล ณ ที่นั้น ได้พบเห็น และได้เสียกับนางนาค จนตั้งครรภ์ขึ้นมา แล้วมีโอรสออกมา คือพระร่วง ทำให้เกิดตำนาน เกี่ยวกับการผจญภัยของพระร่วง ผู้เป็นกษัตริย์สุโขทัยขึ้น ในลักษณะต่างๆ ที่อาจนำไปวิเคราะห์ศึกษา ทางด้านมานุษยวิทยาได้อีกมากมาย
    แต่ที่จะกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยในที่นี้ก็คือ เรื่องราวของพระร่วง ในฐานะที่มีชาติกำเนิด สัมพันธ์กับอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ (คือเป็นลูกนางนาค) นี้ ได้ทำให้เกิดชื่อสถานที่ ตามบ้านเมือง และท้องถิ่นต่างๆ ในแวดวงของแคว้นสุโขทัย และบ้านเมืองใกล้เคียงอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น แก่งหลวงที่เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นบริเวณที่พระร่วง ได้มาเล่นน้ำแล้วหายไป ซึ่งตำนาน ก็พยายามชี้ให้เห็นว่า กลับไปอยู่กับนางนาค ผู้เป็นมารดาในบาดาล

    เมืองศรีเทพ นับเป็นเมืองโบราณอีกแห่งหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญ กับภูเขาศักดิ์สิทธิ์อย่างโดดเด่น ไม่แพ้เมืองสุโขทัย ถึงแม้จะไม่มีศิลาจารึก หรือตำนานใด ที่กล่าวถึงความสำคัญของภูเขา ที่มีต่อเมือง แต่การดำรงอยู่อย่างโดดเด่น ของเขาถมอรัตน์ และถ้ำโบราณสถาน ที่ศักดิ์สิทธิ์ทางทิศตะวันตก ของเมืองศรีเทพ คือการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ เชิงอำนาจอย่างแท้จริง
    จากหลักฐานทางโบราณคดี เมืองศรีเทพ พัฒนาขึ้นจากชุมชน ที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยเหล็ก มีอายุตั้งแต่ราว ๒,๕๐๐ ปีลงมา ตัวเมืองตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางบก จากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผ่านลุ่มน้ำป่าสัก ในหุบเขาเพชรบูรณ์ ตัดผ่านช่องเขาดงพระยากลาง ขึ้นไปยังบริเวณต้นลำน้ำช ี - มูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีแว่นแคว้นโบราณ ในสมัยทวารวดีมากมาย เมืองศรีเทพจึงเป็นเป็นแหล่งชุมทางคมนาคม ที่สำคัญในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก
    ความสำคัญดังกล่าวนี้ แลเห็นได้จากซากเมืองโบราณ ที่มีคูน้ำ และคันดินขนาดใหญ่ล้อมรอบ อาจนับเป็นที่สอง รองจากเมืองนครปฐมโบราณ หรือนครชัยศรีเท่านั้น ภายในเมือง และรอบๆ เมือง พบร่องรอยโบราณสถานวัตถุมากมาย นับตั้งแต่สมัยทวารวดี มาจนถึงลพบุรี ล้วนเป็นของที่มีคุณค่า ทางศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็น ถึงฐานะและความสำคัญของเมือง ที่เป็นเมืองใหญ่ ของแคว้นใดแคว้นหนึ่ง อย่างชัดเจน
    แต่ความโดดเด่นทางภูมิทัศน์ของเมือง ดูเหมือนอยู่ที่ภูเขาถมอรัตน์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง ไปทางตะวันตกประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้ผู้สัญจรไปมา แต่โบราณได้รู้ว่า   ถ้าเห็นเขาลูกนี้ หรือเมื่อใกล้เขาลูกนี้แล้ว ก็เข้ามาถึงเขตเมืองศรีเทพแล้ว

    การเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิทัศน์ ของเขาถมอรัตน์ กับเมืองศรีเทพนี้ เปรียบเทียบได้กับบรรดาภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ของพวกจามปาในประเทศเวียดนาม ซึ่งเคยเป็นอาณาจักรเก่าแก่ ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนสถานบนเนินเขา ที่เรียกว่ามิซอน เมืองยาเกียวที่อยู่บนที่ราบลุ่ม และภูเขารังแมวที่เห็นได้แต่ไกล
    ที่เมืองศรีเทพ ความสัมพันธ์ระหว่างเมือง กับภูเขาแลเห็นได้ชัดเจน จากที่เมื่อยืนอยู่กลางเมือง หันหน้าไปทางตะวันตก ซึ่งก็จะพบว่า มีภูเขาสูงตระหง่านอยู่เบื้องหน้า แต่ที่สำคัญก็คือ ศาสนสถานสำคัญสองแห่ง ของเมือง คือปรางค์ใหญ่ และปรางค์สองพี่น้อง ซึ่งเป็นปราสาทอิฐแบบขอม อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๗ ลงมานั้น ล้วนแต่หันหน้าไปทางตะวันตก สู่เขาถมอรัตน์ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากปราสาทขอมทั่วไป ที่มักจะหันหน้า ไปทางตะวันออก
    ในขณะเดียวกัน เขาถมอรัตน์ ก็มีสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ จากการที่มีถ้ำอยู่บนยอดเขา ภายในถ้ำเป็นศาสนสถาน ที่มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดี พบพระพุทธรูปประทับยืน แบบทวารวดีสลักนูนสูง บนโขดหินตรงหน้าถ้ำ และผนังถ้ำก็มีภาพสลัก ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระเมตไตรยโพธิสัตว์ รวมทั้งลวดลายปูนปั้น ประดับมากมาย จากรูปแบบทางศิลปกรรม อาจคาดคะเนได้ว่า โบราณสถานวัตถุภายในถ้ำ ที่น่าจะมีอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา อันเป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนามหายาน แพร่หลายจากอาณาจักรศรีวิชัย เข้ามาผสมผสานกับพุทธศาสนา ของบ้านเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมาแล้ว
    เพราะฉะนั้น การสร้างถ้ำศาสนสถาน และการให้ความสำคัญแก่เขาถมอรัตน์ ในฐานะเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นสัญลักษณ์ทางภูมิทัศน์ และการคมนาคมนั้น คงเกิดขึ้นเมื่อมีการขยายเส้นทางการค้าขาย ที่มาจากศรีวิชัย และตัดข้ามไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะเวลานี้ ยังสัมพันธ์กันกับการเติบโต ของเมืองศรีเทพด้วย เพราะศาสนสถานกลางเมือง ซึ่งเรียกกันว่า คลังใน ที่มีอายุเก่าแก่ ก่อนพระปรางค์ใหญ่ และปรางค์สองพี่น้องนั้น เมื่อทางกรมศิลปากรขุดแต่งแล้ว หลักฐานที่พบก็ได้เผยให้เห็นอิทธิพล ของศาสนสถานวัดโขลง เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี อันเป็นเมืองที่มีอายุ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา อีกทั้งได้รับอิทธิพล ทางด้านศิลปวัฒนธรรม มาจากทางศรีวิชัยอยู่ไม่น้อย
    เมื่อเปรียบเทียบกับเขาหลวง ของเมืองสุโขทัย เขาถมอรัตน์ ก็คือที่สถิตแห่งอำนาจ ของเมืองศรีเทพ และบรรดาชุมชนบ้านเมืองในท้องถิ่น หรือถ้าหากเมืองศรีเทพ เป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักร หรือแว่นแคว้นในลุ่มน้ำลพบุรี - ป่าสักแล้ว เขาถมอรัตน์ ก็คือที่สถิตของเทพเจ้า ผู้คุ้มครองแว่นแคว้นนี้ด้วย

    เมืองศรีเทพเป็นเมืองในสมัยทวารวดี ที่มีอายุเก่าแก่กว่าเมืองสุโขทัย การร้างไปของเมืองศรีเทพ ตั้งแต่สมัยลพบุรี คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ นั้น นอกจากร่องรอยของโบราณสถานวัตถุแล้ว ก็ไม่มีตำนาน หรือประเพณีพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองศรีเทพ และเขาถมอรัตน์ เหลือให้เห็นอีก แต่ทว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเขาถมอรัตน์น่าจะยังสถิตอยู่ จึงแสดงอภินิหาร ให้ปรากฏแก่บรรดาคนใจร้าย ที่ทำลาย และลักขโมยของโบราณ อย่างที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน
    เรื่องเกิดขึ้นเมื่อประมาณกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว โดยได้มีคนร้ายบุกเข้าไปในถ้ำเขาถมอรัตน์ ลอบตัดพระเศียรพระพุทธรูป และเทวรูปพระโพธิสัตว์ ลงมาจนหมดสิ้น ทำให้เหลืออยู่แต่เพียงองค์พระพุทธรูป และเทวรูปเศียรขาดอยู่จนทุกวันนี้ ต่อมาไม่นาน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมศิลปากรสืบได้ว่า เศียรพระที่ถูกลอบตัดไปนั้น ตกไปอยู่ในความครอบครอง ของนายจิม ทอมป์สัน ราชาเจ้าของกิจการไหมไทยที่ร่ำรวย จึงได้ดำเนินการขอคืน ทำให้นายทอมป์สันโกรธมาก ถึงขนาดล้มเลิกเจตนารมณ์เดิมของเขา ที่ต้องการจะยกพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ให้แก่ทางรัฐบาลไทย
    มีคนหลายคนเคยพูด หรืออย่างน้อยก็เชื่อว่านายจิม ทอมป์สัน มีส่วนรู้เห็น ในการจ้างคนขึ้นไปตัดเศียรพระพุทธรูป และเทวรูปในถ้ำศักดิ์สิทธิ์ บนเขาถมอรัตน์ แต่ทางราชการ ก็ไม่มีหลักฐานที่จะเอาความผิดได้ จึงเป็นเหตุให้ดูเหมือนว่า ครั้งนี้อำนาจนอกเหนือธรรมชาติ จะต้องเป็นฝ่ายจัดการลงโทษเสียเอง
    เพราะปรากฏต่อมาอีกไม่นานว่า นายจิม ทอมป์สัน ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ขณะอยู่ในระหว่างการท่องเที่ยวบนเขา ที่อยู่ใกล้เมืองกัวลาลัมเปอร์   ประเทศมาเลเซีย บ้างว่าถูกสัตว์ป่าคาบเอาไปกิน บ้างว่าถูกพวกผู้ก่อการร้ายลักตัวเอาไปฆ่า แต่ที่สำคัญก็คือ ความวิบัติที่เกิดขึ้นนั้น หาได้อยู่ที่ตัวนายทอมป์สัน แต่เพียงผู้เดียวไม่ หากเกินเลย ไปถึงการเสียชีวิต ลงด้วยสาเหตุอันประหลาด ของบรรดาญาติพี่น้อง ของนายจิม ทอมป์สัน ที่อยู่ในอเมริกาด้วย

กลับไปอ่านหน้าแรกคลิกที่นี่Click here


ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ กับความเป็นสากล (หน้าแรก)

MB-Journal@ViriyahBooks.com

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) วารสาร เมืองโบราณ (Muang Boran Journal) หน้าที่แล้ว (Previous Page)