กลับไปหน้าแรก
บันทึกน้ำแม่ปิง :
แมคกิลวารี -ฮอลเล็ท -เลอ เมย์ -พระราชชายา เจ้าดารารัศมี -กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ *
*มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คลิกดูภาพใหญ่
น้ำแม่ปิง มองจากพระธาตุดอยน้อย แลเห็นฝายน้ำล้นขนาดใหญ่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงหม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชมณฑลพายัพขณะนั้นว่า ต้องมีหน้าที่สร้างทำนบ และระบบชลประทาน ในลำน้ำแม่ปิงด้วย (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
บันทึกน้ำแม่ปิง :
เอกสารของแมคกิลวารี ฮอลเล็ท และเลอ เมย์ (พ.ศ.๒๔๐๗, ๒๔๑๙ และ ๒๔๕๖)

     ก่อนที่จะมีเส้นทางรถไฟสายเหนือเกิดขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ น้ำแม่ปิงเป็นเส้นทางการคมนาคม และการค้าที่สำคัญที่สุด จากเชียงใหม่ถึงปากน้ำโพ (นครสวรรค์) เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ และอาศัยน้ำแม่ปิงขนสินค้า หรือเดินทางขึ้นเหนือถึงเชียงใหม่ เพื่อเดินทางต่อไปยังเขตรัฐฉาน สิบสองปันนา และหลวงพระบาง หรือแม้แต่การเดินทางจากเชียงใหม่ถึงเมืองระแหง (ตาก) เพื่อต่อไปยังมะละแหม่งในพม่า
     ซึ่งการค้าทางเรือระหว่างล้านนากับกรุงเทพฯนั้น กระทำโดยพ่อค้าชาวจีน สินค้าออกจากเชียงใหม่ที่สำคัญได้แก่ ครั่ง สีเสียด หนังสัตว์ เขาสัตว์ น้ำมันหมู ส่วนสินค้าซึ่งนำมาจากกรุงเทพฯได้แก่ เสื้อผ้า ผ้า ด้าย น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ สบู่ เครื่องเหล็ก เกลือ4 ชุมชนพ่อค้าจีนในเชียงใหม่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ บริเวณหน้าวัดเกต ซึ่งยังคงดำเนินชีวิตสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
     มีบันทึกของชาวต่างประเทศ ที่ได้กล่าวถึง การเดินทางผ่านมาทางน้ำแม่ปิงหลายราย อาทิ การเดินทางเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๖-๙ ของนายแพทย์แดเนียล แมคกิลวารี 5 หมอสอนศาสนาผู้มีบทบาทสำคัญในล้านนา และการเดินทางของโฮลท์ เอส. ฮอลเล็ท เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖6 อย่างไรก็ตาม การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังเชียงใหม่โดยทางบกของเรยีนัล เลอ เมย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖7 ก็นับเป็นสัญญาณอันตราย ของความเปลี่ยนแปลงของน้ำแม่ปิง อย่างไม่มีวันหวนกลับคืนมา
     หมอแมคกิลวารีได้บันทึกถึงการเดินทาง ขึ้นมาสำรวจภาคเหนือเป็นครั้งแรก เพื่อวางโครงการจัดตั้ง คณะเผยแพร่คริสต์ศาสนาในปลายปี พ.ศ.๒๔๐๖ โดยใช้เวลา ๔๙ วันจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่
คลิกดูภาพใหญ่
ลำน้ำแม่ปิง บริเวณบ้านสบแจ่ม แลเห็นการทำฝายดักจับปลาในลำน้ำ (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
     ต่อมาต้นปี พ.ศ. ๒๔๐๙ หมอแมคกิลวารีพร้อมคณะ ขนสัมภาระขึ้นมาเชียงใหม่ ด้วยเรือใหญ่สองลำ กินเวลาเดินทางทั้งสิ้นถึงสามเดือนเต็ม โดยเฉพาะการนำเรือผ่านแก่งต่างๆ ในเขตอำเภอฮอด และตากใช้เวลาถึงเดือนเศษ
     ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ฮอลเล็ทได้เข้าเฝ้าเจ้าอุบลวรรณาเจ้านายคนสำคัญ ของเชียงใหม่สมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๔๐) ฮอลเล็ทได้ทราบถึงการเดินทางค้าขายทางไกล ด้วยขบวนม้าต่างและลาต่าง แต่ละขบวนมีจำนวนนับพันตัว ระหว่างเชียงใหม่กับยูนนาน เชียงตุง เชียงรุ่ง หลวงพระบาง และพม่าตอนล่าง
     เจ้าอุบลวรรณายังได้เล่าถึง การค้าขายสัตว์เศรษฐกิจเช่น ควาย วัว และช้างในระหว่างหัวเมือง การค้าดังกล่าวนับร้อยนับพันตัวต่อปี และกล่าวถึงน้ำแม่ปิงว่า ในฤดูฝนนั้นมีเรือวิ่งไปมามากมาย "เฉพาะที่วิ่งไปมาระหว่างเชียงใหม่กับตากมีประมาณ ๑๐๐๐ ลำ ส่วนใหญ่เดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ"๘
     ในสายตาของฮอลเล็ทเอง เขาเห็นว่าน้ำแม่ปิง เป็นแม่น้ำที่มีความงดงาม และน่ารื่นรมย์มาก เนื่องจากเป็นแม่น้ำสายใหญ่ น้ำปริ่มฝั่ง และมีต้นไม้ทั้งไม้ดอกไม้ผล ยืนต้นเรียงรายตลอดสองฝั่งลำน้ำ ส่วนเลอ เมย์ ซึ่งเดินทางขึ้นมารับตำแหน่ง รองกงศุลที่เชียงใหม่ในพ.ศ.๒๔๕๖ โดยทางรถไฟ ซึ่งขณะนั้นรถไฟวิ่งจากกรุงเทพฯ ถึงสถานีเด่นชัยแล้ว เลอ เมย์ จึงต้องเดินทางทางบกอีกประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตรจากเด่นชัยถึงเชียงใหม่ รวมใช้เวลาทั้งสิ้นจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ในตอนนั้น ๑๑ วัน

  บันทึกน้ำแม่ปิง :
การเสด็จกลับเชียงใหม่ครั้งแรก ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พ.ศ.๒๔๕๑

     หลังจากที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้เสด็จจากบ้านจากเมืองเชียงใหม่ ลงไปถวายตัวอยู่รับราชการ สนองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๙ ต่อมาอีก ๒๑ ปี พระราชชายา เจ้าดารารัศมีจึงมีโอกาส ได้เสด็จกลับมาเยี่ยมนครเชียงใหม่ครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ คราวที่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ พระเชษฐา ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาอนุชิตชาญไชย (สาย สิงหเสนี) เป็นพระอภิบาลกำกับการทั่วไปตลอด การเดินทาง เริ่มจากการเดินทางโดยรถไฟ มาลงที่ปากน้ำโพ แล้วประทับลงเรือพระที่นั่งเก๋งประพาส มีเรือแม่ปะ เรือสีดอ และเรือชะล่า กว่า ๕๐ ลำ ประกอบเป็นขบวนเสด็จ โดยระยะทางจากปากน้ำโพ ขึ้นมาถึงเชียงใหม่รวมเวลา ๒ เดือน ๙ วัน
คลิกดูภาพใหญ่
๑ พระธาตุดอยน้อย ตำบลดอยหล่อ อำเภอจอมทอง มีจารึกอักษรฝักขาม กล่าวว่าพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ให้ขุนดาบเรือน มาบูรณะปฏิสังขรณ์ ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาเยือนเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔ (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
     ตลอดเส้นทาง เมื่อกระบวนเรือของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีผ่านเขตอำเภอ จังหวัด มณฑลใด เจ้าหน้าที่นั้นๆ จะต้องคอยปลูกพลับพลาประทับร้อน ประทับแรม และคอยรับส่งเสด็จโดยตลอด
     พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ประทับอยู่ที่เชียงใหม่ได้ ๖ เดือนเศษ จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยทางน้ำแม่ปิงเช่นเดียวกับขามา10
     จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี จึงมีโอกาสกลับมาประทับ ยังเชียงใหม่เป็นการถาวร ในคราวที่เจ้าแก้วนวรัฐ ได้เลื่อนจากตำแหน่งเจ้าอุปราช ขึ้นเป็นผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ ๙ สืบแทนเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ และได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯ แต่การเสด็จในครั้งหลังนี้ เป็นการเดินทางโดยทางรถไฟ ขึ้นมาถึงอุตรดิตถ์ และสถานีผาคอ จากนั้นจึงเสด็จโดยขบวนช้างม้า นับร้อยพร้อมคนหาบหามนับพัน ขึ้นมายังเชียงใหม่ 11
     การจัดเตรียมปะรำพักร้อน และพักแรม ของเจ้าดารารัศมี ในการเสด็จกลับเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น ออกจะเป็นเรื่องโกลาหลพอสมควร เพราะทางส่วนกลาง ต้องคอยส่งโทรเลขไปตลอดเส้นทางเสด็จ เพื่อกำกับการจัดสร้างปะรำรับเสด็จ ให้สมพระเกียรติ ซึ่งบ้างก็เป็นการกำหนดแม่กอง ผู้รับผิดชอบการสร้างปะรำ บางเรื่องก็เป็นการกำหนดรูปแบบปะรำ หรือสั่งเปลี่ยนแบบปะรำ เพื่อให้สามารถรับข้าราชการผู้ใหญ่หลายคน ที่โดยเสด็จมาด้วย บางเรื่องก็เป็นการสั่งสร้างปะรำเพิ่มเติม เพราะระยะทางเสด็จทางเรือในช่วงนั้น ไกลหรือลำบากด้วยเกาะแก่ง จนต้องเสียเวลานาน14 หรือบางเรื่องก็มีความเข้าใจไม่ตรงกัน ในเรื่องตำบลที่จะให้ปลูกสร้างปะรำ ซึ่งในกรณีหลังนี้ มีตัวอย่างเช่นเมื่อนายอำเภอ และกรมการอำเภอจอมทอง สงสัยในชื่อตำบล "บ้านสันทราย" ที่จะให้สร้างปะรำพักเรือเจ้าดารารัศมี ซึ่งไม่ตรงกับบัญชีระยะทาง ที่ต้องทำปะรำพักแรม ที่ระบุชื่อตำบล "บ้านห้วยทราย"15
คลิกดูภาพใหญ่
พระธาตุดอยน้อยองค์เดิม เป็นพระเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูน และดูขาวสว่างงดงาม ต่อมาทางวัดได้ทำการปฏิสังขรณ์ โดยหุ้มทองจังโกใหม่ทั้งองค์ ขณะเริ่มหุ้มทอง ปรากฏว่าฐานแตกร้าวทั้งองค์ และแม้ว่าขณะนี้ การบูรณะจะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่กลับปรากฏร่องรอยสนิม และน้ำรั่วซึมออกมา จากองค์พระธาตุหลายจุดในขณะนี้ เพราะเราขาดการสืบทอด เทคนิคช่างโบราณ มาอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยทิ้งไว้ องค์พระธาตุอาจล้มลงมาได้ ควรที่กรมศิลปากรจ ะเข้าไปตรวจสอบโดยเร็ว (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
     อย่างไรก็ตามในโทรเลข ฉบับที่ ๑๖๓ วันที่ ๒๕/๑๑/๑๒๗ จากกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงพระยาสุรสีหวิสิษฐศักดิ์ ข้าหลวงเทศาภิบาล ประจำมณฑลพายัพ ได้ให้รายชื่อเส้นทาง และตำบลที่กระบวนเสด็จ ของเจ้าดารารัศมีผ่าน อันเป็นทางหนึ่ง ที่ทำให้เราสามารถทราบถึง สภาพของน้ำแม่ปิง ในเวลานั้นได้พอสมควร เพราะจะต้องเป็นตำบล ที่มีชุมชนประชากร ตั้งบ้านเรือนพอสมควร เหมาะสมกับการรับเสด็จ หรือตั้งอยู่ในระยะทาง ที่ต้องหยุดแวะพักเรือพระที่นั่ง ซึ่งหลายตำบลก็คงจะเป็นที่แวะพักกัน ในหมู่ผู้ขึ้นล่องในลำน้ำปิงด้วย
     รายชื่อตำบลทั้ง ๑๑ แห่งพร้อมนามแม่กองสร้างปะรำได้แก่

          ตำบล นามแม่กองทำ
          บ้านมืดกา เจ้าราชภาติกวงษ์
          บ้านท่าเดื่อ หนานคำ
          บ้านนาแก่ง พญาจร
          เมืองฮอด นายอินเหลา
          บ้านห้วยทราย
          ขุนจอมจารุบาล
          จอมทอง
          บ้านดอยหล่อ ขอทางลำพูนช่วยทำ
          บ้านสบขาน พร้อมทั้งผู้คนเสร็จ
          บ้านปากบ่อง
          บ้านปากเหมือง นายไชยวงษ์

          นครเชียงใหม่ ทำพลับพลารับเสด็จที่ท่าน้ำหน้าบ้านเจ้าอุปราช (เจ้าอุปราชจัดทำเอง)

คลิกดูภาพใหญ่
บริเวณฐาน ขององค์เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ ที่บ้านสบแจ่ม มีร่องรอย ของการลักลอบ ขุดหาของมีค่าขนาดใหญ่มาก ซึ่งอาจมีผลต่อการพังทลาย ขององค์เจดีย์ได้ สมควรที่จะมีการสำรวจขุดค้น และขุดแต่งทั้งองค์เจดีย์ และบริเวณสวนลำไยโดยเร็ว (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
บันทึกน้ำแม่ปิง :
การกลับจากเชียงใหม่ของ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ.๒๔๖๔

     แม้ว่าทางรถไฟสายเหนือ ที่เริ่มสร้างหลังจากกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ.๒๔๔๕ จะมาถึงลำปางเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ และสร้างต่อจนสามารถเปิดการเดินรถ ถึงปลายทางที่เชียงใหม่ได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๖๔ สมัยรัชกาลที่ ๖16 แต่ในเวลานั้น ก็ยังมีบันทึกการเดินทาง ในลำน้ำปิงให้เราได้เห็นอยู่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ใน 'หนังสือมัคคุเทศ' ชื่อ อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิงค์ ตั้งแต่เชียงใหม่ ถึงปากน้ำโพธิ์ ซึ่งรวบรวมจากจดหมาย ที่ได้เขียนพรรณนา ระยะทางล่องลำน้ำปิง ของพระองค์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์- มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๔ ถวายพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ตามที่พระราชชายาฯ ผู้ทรง "มีความรอบรู้โบราณคดีไม่มีใครเสมอ ในมณฑลพายัพ" มีพระประสงค์ต้องการทราบ17
บันทึกดังกล่าว ได้ให้ภาพการเดินทาง ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ตลอดจนเส้นทาง และจุดแวะพักตลอดจนเกาะแก่งต่างๆ ก่อนหน้านี้ชัดเจนขึ้น มีหลายตำบลตลอดสองฝั่งน้ำแม่ปิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเชียงใหม่ และตาก ซึ่งเป็นที่หยุดพัก ทั้งของพระราชชายาฯ และของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีหลายตำบล ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ และโบราณคดีลุ่มน้ำแม่ปิง อย่างน่าสนใจยิ่ง
     อาจกล่าวได้ว่าบันทึกทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนเท่านั้น แต่แท้จริง คือเรื่องราวของสายน้ำมากกว่า เราอาจแบ่งระยะทางล่องน้ำแม่ปิง ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในครั้งนั้นได้เป็นสองช่วงด้วยกัน คือช่วงแรก ระหว่างเชียงใหม่ถึงเมืองตากใหม่ และช่วงที่สอง ระหว่างเมืองตากใหม่ถึงปากน้ำโพ
     ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเส้นทางในช่วงแรก ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๔ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนภูมิพล

คลิกดูภาพใหญ่
บริเวณบ้านสบแจ่มฝั่งตะวันตก ผู้เขียนได้สำรวจพบ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ริมน้ำแม่ปิง ปัจจุบันวัดร้างแห่งนี้ ได้กลายเป็นสวนลำไยไปหมดแล้ว นับเป็นหลักฐาน ศิลปะแบบสุโขทัยเด่นชัด ริมฝั่งน้ำแม่ปิงที่สำคัญ นอกเหนือจากเจดีย์วัดธาตุกลาง ทางใต้ของประตูเชียงใหม่ และเจดีย์ทิศรอบพระธาตุ วัดสวนดอก ซึ่งปรากฏหลักฐานในภาพถ่ายเก่า (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     เช้าออกจากเชียงใหม่มาพักแรมที่ตำบลท้ายเหมือง ซึ่งสมเด็จฯ ทรงกล่าวว่าเป็นบริเวณที่หม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชมณฑลพายัพขณะนั้น กำลังสร้างทำนบในลำน้ำปิง เพื่อไขน้ำเข้ามาทางฝั่งตะวันออก
     จากการเปรียบเทียบกับแผนที่ เราไม่พบบ้านท้ายเหมืองดังกล่าว แต่ในแผนที่ปรากฏบ้านปากเหมือง ที่พระราชชายาฯ เสด็จประทับเป็นแห่งสุดท้าย ก่อนเข้าเมืองเชียงใหม่ โดยตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่18 ในแผนที่ยังปรากฏร่องลำเหมือง ที่เป็นระบบทดน้ำ เพื่อการเกษตรกรรมของล้านนาโบราณ จำนวนมากกระจายอยู่ระหว่างดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกกับน้ำแม่ปิง และทางฝั่งตะวันออก
     ลักษณะเช่นนี้สัมพันธ์กับการเรียกชื่อสถานที่ "บ้านท้ายเหมือง" และ "บ้านปากเหมือง" นั่นแสดงถึงความสำคัญ ของระบบการทดน้ำเข้าเหมือง และฝายเพื่อการเกษตรกรรม ด้วยเหตุนั้น อุปราชมณฑลพายัพ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง จึงต้องทำหน้าที่จัดสรรน้ำด้วย ดังในกรณีของหม่อมเจ้าบวรเดช

  ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     พักแรมตำบลปากบ่อง ไปดูเวียงป่าซาง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญ เกี่ยวพันกับการตั้งทัพ รวบรวมกำลังคนในสมัยพระยากาวิละ และไปดูวัดเก่าสองวัดคือวัดอินทขีล กับวัดป่าซางงาม
     สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ออกจะโปรดทำเลที่ตั้งเวียงป่าซาง มาก เพราะชัยภูมิดี อุดมด้วยไร่นา ขนาดก็พอเหมาะกับการรักษาต่อสู้ข้าศึก ด้วยมีลำน้ำแม่ทาอยู่ด้านเหนือ และลำน้ำปิงอยู่ทางทิศตะวันตก ทั้งยังเป็นบริเวณศูนย์กลาง การเดินทางติดต่อระหว่างเมืองเชียงใหม่- ลำพูน- ลำปาง- ตาก
     อย่างไรก็ตาม ตำบลปากบ่อง ซึ่งเป็นจุดแวะพักทั้งของพระราชชายาฯ และของกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ไม่ปรากฏในแผนที่ แต่จากการสำรวจของผู้เขียนเอง พบว่ามีหมู่บ้านชื่อ "ปากบ่อง" อยู่ริมฝั่งตะวันออก บริเวณใต้สบแม่ทา (บริเวณที่น้ำแม่ทาไหลมาบรรจบน้ำแม่ปิง) ลงมาไม่ไกลนัก คืออยู่ระหว่างบ้านก้องกับบ้านหนองผำ เขตอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

คลิกดูภาพใหญ่
ชิ้นส่วนกลีบบัวปูนปั้น ตกแต่งปากระฆัง เพียงชิ้นเดียวที่สำรวจพบ (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     แวะบ้านหนองดู่ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายว่า เป็นบ้านคนมอญ และยังเสด็จไปดูวัดเดิม วัดใหม่ จึงพักแรมบ้านหนองดู่
     บ้านหนองดู่ ในที่นี้ปรากฏในแผนที่ ทางฝั่งตะวันออกของน้ำปิง ในเขตอำเภอป่าซาง19 และจากการสำรวจพบว่า อยู่ห่างจากบ้านปากบ่อง เลียบริมน้ำแม่ปิง ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ซึ่งหากไปต่ออีกไม่กี่กิโลเมตร ก็จะถึงวัดเกาะกลาง ซึ่งมีเจดีย์ที่มีลวดลายปูนปั้น แบบราชวงศ์มังราย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงมีการเดินเรือ มาขึ้นที่ท่าหน้าวัด
     เรื่องที่น่าแปลกใจเรื่องหนึ่ง คือกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กลับมิได้ทรงกล่าวถึงบ้านสันมหาพน ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านปากเหมือง กับ บ้านหนองดู่ ทางฝั่งตะวันออกห่างจากแม่น้ำปิงประมาณ ๔ กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของซากเจดีย์ ทรงสี่เหลี่ยมซ้อนชั้น และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมอยู่คู่กัน ซึ่งปัจจุบันเรารู้จักกัน ในชื่อของเจดีย์จามเทวี และนับเป็นตัวแบบศิลปสถาปัตยกรรม แบบทวารวดี ในภาคเหนือที่สำคัญ หรือว่าการศึกษาค้นคว้า ของชาวตะวันตก ที่เข้ามาสู่ล้านนาขณะนั้น ยังมาไม่ถึงลำพูน? แต่ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเลอ เมย์ ก็ได้ขึ้นมาถึงเชียงใหม่แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๖

คลิกดูภาพใหญ่
ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ด้านหน้าทางทิศตะวันออก ขององค์พระธาตุดอยเกิ้ง ซึ่งบูรณะขึ้น ในสมัยของครูบาศรีวิชัย ลักษณะศิลปกรรมแบบพม่า- ไทใหญ่ และกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     แวะชมพระธาตุดอยน้อยบนฝั่งตะวันตก และพักแรมตรงที่ว่าการอำเภอจอมทอง
     อาจเป็นไปได้ว่า บริเวณที่พักแรมวันนี้ คงจะตรงกับตำบลบ้านดอยหล่อ ที่พระราชชายาฯ เคยเสด็จประทับ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงพระธาตุดอยน้อย ว่าเป็นวัดโบราณบนยอดดอย เดิมมีศิลาจารึก แต่ถูกนำไปไว้ที่วัดพระธาตุจอมทองแล้ว
     วัดพระธาตุดอยน้อย ตำบลดอยหล่อ อำเภอจอมทองนี้ สามารถเห็นได้ชัดเจนในแผนที่ 20 สภาพองค์เจดีย์ปัจจุบัน ได้หุ้มทองจังโกไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง และยังมีศิลาจารึกตัวอักษรไทย ฝักขามสมัยพระเมืองแก้ว ฝังไว้ข้างฐานพระเจดีย์ จารึกนี้คงสร้างขึ้นในศักราช ๙๒๖ หรือ พ.ศ. ๒๐๙๔ ในสมัยพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ตามที่ระบุไว้ในจารึกตัวฝักขาม ข้อความกล่าวถึงการสร้างเจดีย์ ของพระนางจามเทวี ตลอดจนการถวายทาน และกล่าวถึงชื่อของพระธาตุดอยน้อย เมื่อแรกสร้างว่าชื่อ "สุวัณจุลคีรี" หรือ "ดอยคำน้อย" ซึ่งเพี้ยนมาเป็น "ดอยน้อย" ในที่สุด21 ไม่แนใจว่าจารึกนี้ จะตรงกับจารึกที่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวถึงหรือไม่

 คลิกดูภาพใหญ่
กาดวัว-กาดควายที่สันป่าตอง ไม่ห่างจากลำน้ำแม่ปิงนัก ปัจจุบัน ตลาดนัดซื้อขายวัว- ควาย ไปจนถึงรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และเครื่องมือเครื่องใช้ แห่งนี้ เป็นตลาดใหญ่โตมาก มีเงินทุนหมุนเวียน ในแต่ละเสาร์ไม่น้อยเลย ลูกค้าบางคนมาไกลถึงจากสุโขทัยก็มี (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     ก่อนที่จะออกเรือต่อไป "กินกลางวัน' ที่ท่าอาบนาง ริมน้ำท้ายดอยห้วยลิง และพักแรมที่ตำบลบ้านแม่สอย กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปชมวัดพระธาตุจอมทอง ซึ่งตั้งอยู่บนเนิน โดยมีชุมชนบ้านหลวงอยู่เชิงเนิน ทรงกล่าวถึงวัดแห่งนี้ว่า เป็นวัดโบราณอายุราว ๓๐๐ ปีแล้ว มีศิลาจารึกสองแผ่น ส่วนวิหารหลวงและโบสถ์ เป็นของที่พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก สร้างใหม่แทนของเดิม และที่สำคัญทรงกล่าวถึง พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ออกสรงน้ำ ซึ่งยังปฏิบัติมาถึงทุกวันนี้ว่า "ได้นำแบบแผนการปฏิบัติ บูชาพระเขี้ยวแก้ว ที่เมืองลังกามาจัดขึ้น ไว้อย่างเดียวกับที่พระธาตุจอมทองนี้"
     ส่วนตำบล บ้านแม่สอย ที่ทรงพักแรมนั้น ปรากฏในแผนที่ริมฝั่งตะวันตก ของน้ำแม่ปิงทางใต้ ของวัดสบสอย ซึ่งน้ำแม่สอยไหลมาลงน้ำแม่ปิง ประมาณหนึ่งกิโลเมตร 22 และเกี่ยวข้องกับตำนานที่กล่าวว่า พระนางจามเทวีได้มาสร้างเวียงสอยไว้ เมื่อเดินทางตามน้ำแม่ปิงจากลพบุรี ขึ้นมาครองนครหริภุญไชย หรือลำพูนปัจจุบัน23 แต่ไม่แน่ใจว่าท่าอาบนาง อยู่บริเวณใด เข้าใจว่าชื่อท่าอาบนางนี้ ก็คงเรียกซ้ำกับผาอาบนาง ในเขตจังหวัดตาก ซึ่งมีที่มาจาก ตำนานพระนางจามเทวีเช่นกัน

  ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงวัดแม่สอยที่ได้ไปดูมาว่า "เป็นวัดสามัญ" หลังจากนั้นลงเรือไปกินกลางวัน ที่ตำบลสบแจ่ม ซึ่งทรงบรรยายว่าลักษณะงดงามมาก "ห้วยแม่แจ่มนี้ตอนบน ลำน้ำไหลผ่านช่องเขา เหมือนกับประตูหิน..." แต่ก็ทรงบ่นว่า ระยะทางใกล้ถึงที่พักแรม ที่อำเภอเมืองฮอดนั้น "วกวนเสียเวลาอย่างยิ่ง ชาวบ้านเดิรบกเพียง ๕๐ เส้น ทางเรือล่องถึง ๒ ชั่วโมง"
     ชื่ออำเภอ'ฮอด'นี้ตรงกับคำว่า 'รอด' หมายถึงตำบลที่พระนางจามเทวี ทรงตรัสว่า ตนเองได้เดินทางรอดปลอดภัย มาถึงหริภุญไชยแล้ว24

คลิกดูภาพใหญ่
พระธาตุดอยเกิ้ง อำเภอดอยเต่า ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้บูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ ภายหลังกลับมาจากกรุงเทพฯ เพราะต้องอธิกรณ์ครั้งที่ ๔ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในหนังสือ อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิงค์ ตั้งแต่เชียงใหม่จนถึงปากน้ำโพธิ์ว่า เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔ ท่านได้แวะเชิงดอยเกิ้ง ที่ซึ่งครูบาศรีวิขัย ได้มอบพระพุทธรูปแบบอินเดีย ให้สมเด็จฯ ด้วยวิธีเสี่ยงทาย นับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ หน้าสำคัญ ที่กล่าวถึงการพบกัน ระหว่างบุคคลสำคัญ ของไทยทั้งสองท่าน (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
 
๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     วันนี้ไปดูวัดที่ฮอด แวะพักร้อนที่บ้านแอ่น และพักแรมบ้านท่าเรือ
     เข้าใจว่าอำเภอเมืองฮอด ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า ตั้งอยู่ได้เพราะเป็นตลาดรับสินค้า จากเชียงใหม่ และตาก มาไว้ขายแก่พวกชาวดอน และเป็นตำบลที่ทรงพักแรมนั้น ขณะนั้นคงเป็นชุมชนใหญ่พอสมควร และน่าจะตรงกับที่พระราชชายาฯ เสด็จประทับเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ โดยอยู่ระหว่างบ้านแควมะกอก กับบ้านแพะ ดินแดงริมฝั่งตะวันตกของน้ำแม่ปิง เขตอำเภอฮอด หรือประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ทางเหนือของบ้านวังลุง เพราะตรงกับวัดโบราณ ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวถึง25 คือวัดหลวงฮอด ที่ฝีมือช่างรุ่นเดียวกับวัดพระสิงห์ ที่พระยาเชียงใหม่ช้างเผือกสร้าง และยังมีเจดีย์ รูปทรงเดียวกับที่จอมทองด้วย
     จากนั้นเดินขึ้นไปชม เจดีย์เก่าแก่ บนดอยอู่แก้ว ซึ่งในแผนที่ระบุชื่อเป็นดอยอูบแก้ว ลงจากดอยไปดูวัดพระโต ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วัดพระโท้อยู่ริมฝั่งน้ำแม่ปิง และวัดเจดีย์สูง ซึ่ง "เป็นวัดใหญ่กว่าทุกวัด เจดีย์สูงประมาณ ๑๕ วา ฐานสี่เหลี่ยมมีบันไดนาค ๗ เศียร ขึ้นไปถึงคูหาตั้งพระพุทธรูปนั่งทั้งสี่ทิศ ยอดเป็นพระเจดีย์กลม ดูเป็นของซ่อมหลายครั้ง" ลักษณะเช่นนี้ น่าจะตรงกับเจดีย์พระธาตุแก้วขาว ริมฝั่งน้ำแม่ปิง เหนือบ้านแควมะกอกขึ้นไปสักหน่อย เพราะแผนที่ได้แสดงสัญลักษณ์เจดีย์ขนาดใหญ่ ที่ถ่ายทอดมาจากภาพถ่ายทางอากาศ แลเห็นเด่นชัดเพียงองค์เดียวคือเจดีย์องค์นี้ (ทำนองเดียวกับกรณีเจดีย์ร้าง ที่บ้านร้องขุ้ม ในเขตอำเภอสันป่าตอง ที่เคยไปสำรวจมา) ซึ่งเราคงจะต้องสำรวจกันต่อไป
     สำหรับบ้านแอ่น ที่แวะพักกินกลางวันนั้น เดิมอาจอยู่ฝั่งตะวันตก หากดูตามแผนที่ลำน้ำปิงของบุญเสริม สาตราภัย26 ขณะที่ในแผนที่ปัจจุบันปรากฏชื่อ 'บ้านแอ่นใหม่' อยู่ทางฝั่งตะวันออก ในเขตอำเภอดอยเต่า
     วันนี้ นายอำเภอฮอดทูลว่า ครูบาศรีวิชัยอยากจะมอบพระพุทธรูป ที่พวกยางขุดได้ ให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

คลิกดูภาพใหญ่
พระธาตุจอมทอง ทรงระฆังแบบล้านนา ส่วนมณฑปภายในวิหารจตุรมุข สามารถเปิดออก เพื่ออัญเชิญพระบรมธาตุ เสด็จออกมาสรงน้ำได้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาเยี่ยมเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔ และกล่าวว่าเป็นแบบแผนการบูชา พระเขี้ยวแก้วจากลังกา ในภาพจะเห็นแผ่นทองจังโก ที่หุ้มไว้ปริบวมโดยทั่วไป อันอาจเนื่องมาจากฝีมือช่างปัจจุบัน ตกต่ำกว่าช่างโบราณมากนั่นเอง (ภาพ: ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     วันนี้แวะเชิงดอยเคิ่ง ซึ่งในแผนที่เรียกว่าพระธาตุดอยเกิ้ง ภาษาพื้นเมืองหมายถึง "ดอยฉัตร" แลเห็นอยู่ริมฝั่งตะวันตกของน้ำแม่ปิง ซึ่งมีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในบริเวณนี้ 27
     ดอยเกิ้งขณะนั้น กำลังมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ พระธาตุบนยอดดอย และทำทางขึ้นดอยเป็นระยะทาง ๔ กิโลเมตร โดยการนำของพระครูบาศรีวิชัย ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกขานว่า "พระศรีวิชัย" มีผู้คนมาช่วยเป็นอันมาก มีทับกระท่อม ตลอดจนร้านตลาดตั้งเต็มตลอดฝั่งลำน้ำ เส้นทางนี้ขณะที่ผู้เขียนไปสำรวจ ชำรุดหมดแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะเอารถเข้าไป
     ครูบาศรีวิชัยได้ต้อนรับ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นอย่างดี และนำสมเด็จฯ เข้าไปยังศาลารับรอง ที่จะมอบพระพุทธรูปให้ แต่พระครูบาศรีวิชัยให้สมเด็จฯ เสี่ยงทายเลือกเอาเอง ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า "เห็นจัดที่บูชาตั้งพระพุทธรูปปิดทองใหม่ๆ เรียงกันไว้ ๓ องค์ บอกให้ข้าพเจ้าองค์ ๑ แล้วแต่จะเลือกองค์ไหนตามชอบใจ เป็นทำนองจะทดลองความรู้ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง" กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเลือก พระพุทธรูปอินเดียโบราณ แทนที่จะเลือกพระพุทธรูป แบบเชียงแสนพื้นๆ อีกสององค์ ซึ่งก็ "ถูกองค์ที่พระศรีวิชัยหมายไว้"28 ท่านยังได้รับพระพิมพ์ลำพูน จากครูบาศรีวิชัยอีกองค์หนึ่งด้วย
     จากนั้นล่องเรือต่อมาพักแรมที่บ้านมืดกา ซึ่งตั้งอยู่ตอนเหนือของแก่งต่างๆ เรือล่องต้องพักที่นี่เพื่อเตรียมหาคน และเครื่องใช้สำหรับนำเรือล่องแก่งลงไปทางใต้ ในทางกลับกัน ในแขวงเมืองตากที่บ้านทา จะเป็นที่หยุดพักเรือ สำหรับเตรียมขึ้นแก่ง โดยมีชายฉกรรจ์ รับจ้างเอาเรือล่อง และขึ้นแก่ง เมื่อส่งเรือพ้นแก่งแล้ว ก็ขึ้นบกเดินกลับบ้าน
     ขบวนเรือเสด็จของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีก็ต้องหยุดประทับ ที่บ้านมืดกานี้เช่นกัน กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า แก่งในน้ำแม่ปิงตอนนี้ ทั้งในเขตแดนเมืองเชียงใหม่ และแดนเมืองตาก ล้วนเรียกรวมกันว่า "แก่งเชียงใหม่"
     บันทึกของพระองค์ท่านในคราวนี้ นับว่ามีค่าทางประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงตั้งพระทัย ที่จะบันทึกเกี่ยวกับแก่งต่างๆ ไว้ให้สมบูรณ์ โดยทรงแบ่งแก่งเหล่านี้จำนวน ๔๙ แก่งไว้เป็น ๓ ระดับ คือ "แก่งชั้น ๑ เป็นแก่งลงยาก เรือใหญ่ขนาดเรือแม่ปะ มักต้องผูกเชือกโรยจึงลงได้ แก่งชั้นที่ ๒ ปล่อยเรือแล่นผายลงได้แต่ต้องระวัง เพราะมีที่ร้าย ถ้าล่องไม่ดีโดนหิน แก่งชั้นที่ ๓ ช่องกว้างเป็นแต่น้ำเชี่ยว ผายเรือลงได้สดวก"
     พระองค์ท่านยังได้บรรยายถึง ธรรมชาติของแก่งเหล่านี้ไว้ด้วยว่า "แก่งหน้าน้ำนั้นมักเป็นวังตรงที่ผา ซึ่งลงมาถึงน้ำทั้งสองฟาก หรือมิฉะนั้นเป็นที่มีหินลอยก้อนใหญ่ๆ รายระกะไปทั้งลำน้ำ เวลาฤดูแล้งน้ำนิ่งไม่เป็นแก่ง แต่ระดูน้ำๆ ไหลแรงเป็นวนและพุ่งเป็นฟอง จึงเกิดแก่งร้าย ต้องรอให้น้ำลดต่ำ ระดับน้ำร้ายเสียก่อนจึงขึ้นล่อง" และระยะเวลาการเดินทาง ยังต้องขึ้นกับฤดูน้ำมาก หรือน้ำน้อยอีกด้วย อย่างไรก็ตามจากแผนที่ 29 เราไม่พบตำบลบ้านมืดกา หากเทียบกับแผนที่การเดินทาง ในน้ำแม่ปิงของบุญเสริม สาตราภัย บ้านมืดกานี้ น่าจะอยู่ทางฝั่งตะวันออกเยื้องๆ กับดอยเกิ้ง คืออยู่ใต้ห้วยเสปัน ซึ่งในแผนที่เรียกว่าห้วยสีฟันลงมา อาจเป็นบริเวณบ้านดงมะนะ หรือแถบใกล้เคียง

คลิกดูภาพใหญ่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     ลงแก่งป๊อก - แก่งใหม่เหนือ - แก่งอกม้า - พักร้อนที่ผาปาง - และพักแรมที่บ้านก้อ
     หลังจากเสด็จออกจากบ้านมืดกาแล้ว ขบวนเรือก็ต้องล่องแก่งป๊อก เป็นแก่งแรก แต่ไม่สู้ลำบากมากนักเพราะเป็น 'แก่งชั้น ๓' ส่วน แก่งใหม่ หรือแก่งใหม่เหนือในที่นี้ มีเรือของเจ้าเชียงใหม่ลำเดียวเท่านั้น ที่ต้องโรยเชือก นอกนั้นผายได้
     สำหรับแก่งป๊อก น่าจะได้แก่ บริเวณรอยต่อของอำเภอดอยเต่า และอำเภอสามเงา ซึ่งมีห้วยป๊อกเหนือ และห้วยป๊อกใต้ ไหลมาลงน้ำแม่ปิงทางฝั่งตะวันตก บรรจบกับห้วยแก่งป๊อก ที่ไหลมาจากดอยแปรป่าหมากทางฝั่งตะวันออก30
     ส่วนตำบลบ้านก้อ เข้าใจว่าตั้งอยู่ตรงแก่งก้อ บริเวณที่น้ำแม่ก้อ ไหลจากดอยก้อ มาบรรจบกับน้ำแม่ปิงทางฝั่งตะวันออก ปัจจุบันบริเวณนี้ เป็นพื้นที่ของหน่วยอุทยานแห่งชาติแก่งก้อ ท่าก้อบริเวณริมน้ำแม่ปิง ก็เป็นท่าเรือสำคัญ ที่ชาวแพในเขตอำเภอลี้ ใช้ขึ้นลงขนส่งน้ำมัน ข้าวสาร และข้าวของที่จำเป็น ลงไปยังเรือนแพ และยังเป็นท่าที่จะนำปลา จากทะเลสาบขึ้นไปขาย บริเวณนี้จึงคึกคักกว่าย่านอื่นๆ31 ชื่อบ้านก้อนี้ ยังเกี่ยวพันกับนิทานพื้นบ้าน เรื่องปู่อ้ายท้ายลึก หรือปู่อ้ายต๊ายเลิ๊ก ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต ของคนตามล้ำน้ำแม่ปิง ตลอดจนการพึ่งพิง ระหว่างมนุษย์ และสายน้ำ32

  ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     วันนี้ลงเรือประพาสลำของพระราชชายาฯ ที่โปรดให้ใช้เข้ากระบวนมาเที่ยวดูป่าดูเขา เพราะเป็นเรือโถงล่องง่าย ออกจากที่พักแรมผายแก่งก้อ แก่งขอน ส่วนเรือใหญ่ต้องโรยเชือกทั้งสองแก่ง (แก่งชั้น ๒ และชั้น ๓) ผายแก่งผาตา แก่งอุมปัด ตรงบริเวณห้วยอุ้มปาดในแผนที่ แต่วันนี้ไปไม่ถึงแก่งสร้อยที่ต้องการจะไป เพราะน้ำลดมาก เสียเวลาเดินทางไปกับการโรยเรือใหญ่ จึงต้องพักแรมที่บ้านแม่สะเรียม ตั้งแต่ตอนบ่าย ซึ่งคงจะอยู่บริเวณที่ห้วยสะเรียม ไหลมาบรรจบน้ำแม่ปิง ทางฝั่งตะวันตก33

คลิกดูภาพใหญ่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     ลงแก่งสะเรียม แก่งหาดขี้หมู - แก่งพวง - แก่งช้างร้อง - แก่งวังวน - แก่งผาม่าน - แก่งผาสิงหรือแก่งวังสิงห์ - แก่งจาง - แก่งสร้อย พักแรมแก่งสร้อย และเที่ยวชมวัดที่แก่งสร้อย
     ในช่วงแรกขบวนเรือผ่านแก่งต่างๆ ไปได้ดี ที่น่ากลัวคือแก่งวังสิงห์ ซึ่ง "เป็นที่น้ำร้ายในระดูน้ำ ถ้าน้ำได้ขนาดเป็นวน และเกิดระลอกเรือล่องไม่ได้"
     น่าสังเกตว่าแก่งต่างๆ ในช่วงนี้ยังมีร่องรอยเห็นได้ชัดเจน และชื่อแก่งก็ยังอ้างอิงได้กับในแผนที่ เช่น แก่งพวง อยู่ตรงที่ห้วยปวง ไหลลงน้ำแม่ปิงทางฝั่งตะวันตก ผาแมว ที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงหยุดถ่ายภาพ ก็อยู่บริเวณดอยผาแมวตรงปากแก่งพวง ชื่อดอยผาแมวนี้ ก็มาจากนิทานเรื่องปู่อ้ายท้ายลึกนั้นเอง ต่อมายังแก่งช้างร้อง ก็ตรงกับห้วยจ้างฮ้อง แก่งผาม่าน อยู่บริเวณดอยผาม่าน ซึ่งมีลักษณะ "เขาสองฝั่งใกล้กระชั้นกันกว่าทางเหนือ" แลดูเหมือนมีม่านห้อยอยู่สองฝั่ง แก่งวังสิงห์ อยู่ตรงห้วยสิงห์
     ถึงแก่งสร้อย บริเวณห้วยแม่สร้อย ซึ่งปรากฏอยู่ในตำนานพระนางจามเทวีว่า "นางมาถึงที่อันหนึ่ง เป็นอันใหญ่เชี่ยวแรงนัก คองน้ำอันทุบตีนักแลแตกออกเป็นดั่งดอกไม้ อันหากส้อมหากร้อยเป็นส้อยเป็นสาย งามนัก"34 อันมีลักษณะตรงกับที่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจัดเป็นแก่งชั้น ๑ ชาวเรือเรียกเป็น 'พ่อแก่ง' ขณะที่เรียกแก่งอุมหลุ ที่จะเดินทางผ่านในวันรุ่งขึ้นว่า 'แม่แก่ง' ซึ่งน้ำเชี่ยวด้วยกันทั้งสองแก่ง
     สำหรับการสำรวจวัดที่แก่งสร้อย นับเป็นกรณีที่น่าสนใจมาก
       ประการแรก คือปัญหาเรื่องที่ตั้งของตัวโบราณสถาน ซึ่งไม่แน่ว่าถูกระดับน้ำ ในน้ำแม่ปิงท่วมไปหมดหรือไม่ หรือถูกแนวป่ารุกเข้ามาหมด เพราะไม่เห็นหลักฐานสถูปเจดีย์ หรือสิ่งก่อสร้างใดๆ บริเวณแก่งสร้อยจากแผนที่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ เลย35 ตามบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ วัดที่พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ สมุหเทศภิบาลมณฑลนครสวรรค์ กับพระยาประสาท ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก มารับไปชมนั้นมีถึง ๔ วัด ได้แก่วัดหลวงซึ่งมีซุ้มประตูฝีมือช่างหลวง มีวิหารและเจดีย์ที่เหลือแต่ฐาน วัดนกยูง วัดเกษที่ยังเหลือซุ้มประตู กับพระเจดีย์กลมทรงลาว หรือทรงล้านนา และที่อยู่ยอดดอยสูงกว่าวัดอื่น ได้แก่วัดแก่งสร้อย ซึ่งมีวิหารกับพระเจดีย์เหลี่ยมปิดทองจังโกซึ่ง "ฝีมือใหม่กว่าวัดอื่นแต่ทำประณีต" เข้าใจว่าจะตรงกับพระธาตุแก่งสร้อย ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปหยุดแวะพักกัน36 แต่ก็น่าสงสัย ว่าทำไมไม่ปรากฏในข้อมูลแผนที่ปี พ.ศ.๒๕๑๒
     ประการต่อมาคือ ปัญหาการตีความ เนื่องจากขาดการศึกษาหลักฐานเพิ่มเติม ดูเหมือนว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะไม่สามารถตีประเด็นข้อสงสัย ได้ว่าทำไม่ถึงมีการสร้างวัด ที่แก่งสร้อยมากมายเช่นนี้ "คิดไม่เห็น ด้วยเป็นที่กลางหมู่ภูเขา ไม่เป็นทำเลบ้านเมือง... ในแถวแก่งสร้อยหามีที่นาไม่... เดิมคงมีพวกละว้า อาศัยอยู่ในหมู่ภูเขาแถวนี้มาก แต่ก็เป็นบ้านป่าทั้งนั้น พวกละว้าจะสร้างวัดเหล่านี้ ดูพ้นวิสัย"
     อย่างไรก็ตาม เคยมีการสำรวจแก่งสร้อย และกลุ่มวัดต่างๆ บริเวณแก่งสร้อยนี้ โดยกรมศิลปากรในระหว่างวันที่ ๗ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ตามโครงการโบราณคดีกู้ภัย เมื่อมีโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้ายันฮี หรือเขื่อนภูมิพลขึ้น ทำให้เราได้เห็นภาพเจดีย์ทรงปราสาท มีเรือนธาตุ ในรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ บนดอยแก่งสร้อย และซากซุ้มประตูกำแพงวัดใหญ่ ซึ่งคงจะตรงกับซุ้มประตูวัดหลวง ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวถึง ตลอดจนซากโบราณสถานอื่นๆ ซึ่งทางคณะผู้สำรวจ เห็นตรงกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ล้วนเป็นเจดีย์ซ่อมขึ้นใหม่37 ซึ่งในรายงานแสดงว่า การสำรวจทำได้ค่อยข้างลำบาก เนื่องจากอุปสรรคในด้านภูมิประเทศ เป็นเขากันดาร การขาดความเข้าใจ ระหว่างเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรกับชาวบ้าน การไม่เข้าใจลักษณะวิถีชีวิต และคติความเชื่อของคนงานท้องถิ่น ที่ร่วมทางไป38 ยิ่งกว่านั้นในส่วนของรายงานการสำรวจเอง ยังไม่มีการเผยแพร่โดยสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่มีคุณค่าทางวิชาการเป็นอันมาก39 ด้วยเหตุนั้น เราจึงยังไม่สามารถหาคำตอบต่อข้อสงสัย ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้

คลิกดูภาพใหญ่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     วันนี้ลงเรือประพาสแก่งอุมหลุ - แก่งใหม่ - แก่งผาอาบนาง - แก่งฟ้าปื้น - แก่งผาเหล็ก - แก่งหาด ขี้วัว - แก่งงุ่นเกียง - แก่งปัง - พักเที่ยงที่วังกวาง ซึ่งพวกเมืองตากจัดทำที่พักร้อนไว้รับรอง ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็จำเป็นต้องพักแรม ณ ที่นี้เอง เนื่องจากพวกนายร้อย (นายฮ้อย) เดินเรือว่าไม่สามารถไปถึงเกาะเกลือก่อนค่ำได้ เพราะกระบวนเรือใหญ่และต้องหย่อนลงแก่งผาอาบนาง อันเป็นแก่งลงยากทีละลำ
     หากเปรียบเทียบกับแผนที่แล้วเราก็ยังเห็นร่องรอยแก่งต่างๆ เหล่านี้ได้อยู่บ้าง เช่น แก่งอุมหลุ ตรงที่แผนที่เรียกว่าห้วยอมรุทางฝั่งซ้ายเหนือสบตื่น แก่งใหม่ กับแก่งผาอาบนาง ซึ่งในแผนที่เรียกว่าห้วยแอบนางก็อยู่สองฝั่งตรงข้ามกัน ส่วนวังกวาง นั้นไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด คงอยู่ไม่ไกลจากแก่งอาบนางมากนัก
     อย่างไรก็ตาม การเดินทางในวันนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ได้กล่าวถึงการสำรวจโบราณสถานเลย ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะจากรายงานการสำรวจบริเวณนี้ เข้าไปตามเส้นทางน้ำแม่ตื่นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ก่อนน้ำจะท่วมเนื่องจากการสร้างเขื่อนภูมิพลระบุว่า มีแหล่งโบราณสถาน วัดวาอารามมากมาย "ได้ทราบว่าตั้งแต่ปากน้ำแม่ตื่น เข้าไปมีโบราณสถานหลายแห่ง เรียงรายไปจนถึงเมืองตื่น และต่อจากเมืองตื่นเดินทางอีกประมาณ ๒ วันก็จะไปถึงเมืองแม่ต้านได้ด้วย"40 ในตอนนั้น คณะสำรวจของกรมศิลปากรได้เดินทางเข้ามาพักที่สบแม่ตื่น และบ้านอุ้มวาบ พร้อมกับสำรวจโบราณสถานในบริเวณนั้นอย่างคร่าวๆ ในรายงานระบุว่าที่บ้านอุ้มวาบมีวิหารซึ่งหน้าบันสลักงดงามมาก และได้ถ่ายรูปมาไว้ แต่พระพุทธรูปในวิหารนั้น ไม่สามารถขนย้ายได้ เพราะหนักมาก และระยะทางเดิน ต้องไต่ไปตามไหล่เขา "แม้แต่จะพาตัวกลับ ก็เกือบไม่ไหวแล้ว"41

คลิกดูภาพใหญ่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     วันนี้พระยาเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ์ กับพวกที่ลงมาส่งจากเมืองเชียงใหม่ได้ลากลับ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จต่อมายังแก่งจุม - แก่งสองแคว - แก่งท่าวัด - โรยแก่งอกม้า - โรยแก่งผาแอก - ผายแก่งผาออ - ผายแก่งเสือเต้น ถึงที่พักแรมดอนเกลือตอนสายๆ ของวันเดียวกัน
     น่าสังเกตว่าตำบลต่างๆ ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวถึง ระหว่างการล่องเรือในวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปมาก เราไม่สามารถระบุตำแหน่งของแก่ง หรือห้วยจากแผนที่ได้เลย แม้แต่ดอนเกลือ จุดพักแรมซึ่งน่าจะเป็นชุมชนใหญ่พอสมควร ซึ่งเป็น"แดนเมืองตากต่อเมืองลำพูนทางฝั่งตะวันออก ตำบลสบเปาะเหนือดอนเกลือนี้เลี้ยวหนึ่ง แต่ทางฝั่งตะวันตกขึ้นไปต่อแดนเชียงใหม่ ที่สบตื่นเหนือขึ้นไประยะทาง ๒ วัน"

  ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     วันนี้ออกเรือประพาสตอนใต้ดอนเกลือ เทือกเขาสองฟากลงมา จากนั้นผายแก่งตะละน้อย - แก่งฟาน - แก่งกวาง - แก่งตะละหลวง - แก่งกิ่ววาก - แก่งมะขามป้อม - พักเที่ยงที่แก่งเข้าตอก บ่ายผายแก่งส้มป่อยเป็นแก่งสุดท้ายฝ่ายใต้ พักแรมที่พระธาตุลอย
     น่าสังเกตว่ารายชื่อแก่งเหล่านี้ที่ผ่านมาทั้งสองวัน บางแห่งก็อยู่ในนิทานเรื่องปู่อ้ายท้ายลึก เช่น แก่งมะขามป้อม และแก่งเสือเต้น แต่อีกหลายแห่งก็สูญไป ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่าผลของการกักเก็บน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล ทำให้สภาพภูมิศาสตร์ ของสองฝั่งริมน้ำแม่ปิงตอนนี้ เปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว42 ในแผนที่เราคงเห็นภูมิประเทศเด่นๆ ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวถึงไม่กี่แห่ง
     การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวนี้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดี แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว มีผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ชุมชน สองฝั่งลำน้ำแม่ปิงโดยตลอด อย่างไม่มีวันหวนกลับ ซึ่งในบริเวณนี้ ก็อยู่เหนือเขื่อนตรงที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของวัดพระธาตุลอย ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ว่า "เป็นพระเจดีย์ทรงลาวบุทองแดง ปิดทองขนาดย่อม มีวิหารหลัง ๑ กับกำแพงบริเวณ และศาลาอาศัยหลายหลังยังบริบูรณ์ดี" ซึ่งตอนนั้นก็เป็นวัดร้างมาแล้ว ๓ ปีเพราะทางฝั่งตะวันออก ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ประชาชนจึงพากันย้ายมายังฝั่งตะวันตกทั้งๆ ที่ยังนับถือกันอยู่ นี่เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่เราพบเห็นบ่อยมากว่า มีชื่อชุมชนเดียวกันอยู่ทั้งสองฝั่ง
     การสำรวจของกรมศิลปากรในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ก็ทำได้เพียงถ่ายรูป 'เจดีย์ทรงลาว' มาใส่ไว้ในรายงานเท่านั้นเอง แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะแม้ว่าคณะสำรวจ ต้องการจะขุดค้น บริเวณตำบลบ้านนานี้ถึง ๗ แห่ง (ได้แก่ วัดศรีแท่น วัดดอนแก้ว วัดน้อย วัดหลวง วัดท่าเดื่อ วัดท่าโป้ง รวมทั้งวัดพระธาตุลอยด้วย) แต่ก็ทำไม่ได้ในเวลานั้นเพราะ "ชาวบ้านแจ้งว่า กำลังเตรียมจะทำบุญสมโภชพระธาตุเจดีย์ต่างๆ เหล่านี้ในปลายเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการฉลองครั้งสุดท้าย อำลาก่อนอพยพไปอยู่ที่อื่น"43
     ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องสูญเสียอดีต- ปัจจุบัน- และอนาคตของมนุษย์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจดีย์ทรงลาวองค์นี้ ไปตลอดอย่างช่วยเหลืออะไรไม่ได้

คลิกดูภาพใหญ่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     ถ่ายรูปดอยเจ้าหลวงทุ่งจ๊ะ - ออกจากพระธาตุลอย - แวะดูดอยแก้ว - ผาสามเงา - พักแรมท่าพระธาตุเกาะตะเภา
     กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึงดอยเจ้าหลวงทุ่งจ๊ะ หรือดอยทุ่งจ๊ะหลวงในแผนที่ว่า ถือกันว่าเป็นเขาประตูเมืองเชียงใหม่ เพราะเป็นเขาผาสูง เหนือเทือกเขาทั้งปวงทางฝั่งตะวันตก " หน้าผาเขานี้มีปากถ้ำใหญ่แลเห็นอยู่ ๓ ถ้ำ ปากถ้ำทางแง่ด้านเหนือเรียกกันว่าประตูเชียงใหม่ ปากถ้ำทางแง่ด้านใต้เรียกประตูสยาม ปากถ้ำทางแง่ด้านตะวันตกเรียกกันว่าประตูอังวะ" ปัจจุบันแลเห็นเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลสาบแม่ปิง
     ตอนเหนือของดอยทุ่งจ๊ะเป็นที่ตั้งของบ้านสมง หรือบ้านโสมงบริเวณปากห้วยท่าลาดในแผนที่ ซึ่งเป็นจุดแวะพักสำคัญของคณะสำรวจกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ด้วย
     สำหรับผาสามเงา นั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็อ้างถึงตำนานพระนางจามเทวีเช่นกัน แสดงว่าเป็นตำนานท้องถิ่น ที่คนไทยรู้จักกันดีในขณะนั้น บรรดาเจ้านายจากกรุงเทพฯ ที่เดินทางขึ้นล่องน้ำแม่ปิง ก็นิยมมาแวะเที่ยวชมผาสามเขาแห่งนี้กัน44 อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าท่าพระธาตุเกาะตะเภา ที่พักแรมนั้นตั้งอยู่ ณ ที่ใด เห็นมีชื่อ'วัดพระบรมธาตุ'บริเวณบ้านศรีค้ำ เข้าใจว่าคงอยู่ริมน้ำแม่ปิงฝั่งตะวันตก ซึ่งปัจจุบันได้แก่บริเวณบ้านตากตก ที่ห้วยตากไหลมาบรรจบกับน้ำแม่ปิง45

  ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔

     วันนี้กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จขึ้นไปดูเมืองตากเก่า บนดอยเล็กๆ แลดูคล้ายป้อม ห่างฝั่งประมาณ ๑๐ เส้น และสันนิษฐานว่าคงเป็นชุมชนมอญ เข้าใจว่า เป็นเพราะลักษณะของเจดีย์พระธาตุเมืองตาก หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่าพระธาตุตากตกนั้น ได้รับการซ่อมแปลง เป็นแบบเจดีย์ชเวดากองไปแล้ว สมเด็จฯ ทรงเห็นว่าของเดิม อาจเป็นเจดีย์แบบสุโขทัยก็เป็นได้ เพราะยังมีเจดีย์อีกองค์หนึ่งสูง ๑๐ วาอยู่บนยอดดอยทางเหนือของพระธาตุ เข้าใจว่าจะตรงกับธาตุขุนรามคำแหงในแผนที่46
     เจดีย์องค์นี้ "เป็นเจดีย์ทรงสุโขทัย เหมือนพระเจดีย์องค์กลางที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย และพระเจดีย์องค์ใหญ่ ที่วัดตระพังเงินในเมืองสุโขทัย... น่าสันนิษฐานว่าพระเจดีย์สุโขทัยองค์นี้ จะสร้างเป็นของเฉลิมพระเกียรติ เรื่องชนช้างคราวนั้น (ชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด : ผู้เขียน)" ซึ่งก็ยังน่าสงสัย เพราะเจดีย์ทรงสุโขทัย หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์นั้น เป็นเจดีย์ที่เริ่มนิยมกัน ในสมัยพญาลิไทแล้ว
     หลังจากนั้นในตอนบ่าย "๖.๓๐ ล.ท." (หรือ 6.30 PM) ขบวนเรือเสด็จของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็มาถึงเมืองตากใหม่ หรือตากในปัจจุบัน พระยารามราชภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กับพระยาถกลสรศิลป ผู้บังคับการตำรวจมณฑลนครสวรรค์มาคอยรับ
     ในวันรุ่งขึ้นจึงออกเดินทางต่อไป จนถึงปากน้ำโพในวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๔ เป็นอันจบหน้าบันทึกน้ำแม่ปิง รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๒๖ วัน แต่สำหรับเราทั้งหลายแล้ว นี่อาจเป็นจุดสำคัญ ที่จำต้องหันมาทำการบันทึก น้ำแม่ปิงกันใหม่ก็ได้ นอกเหนือจากการจัดงานแห่กระทง ในวันยี่เป็ง หรือวันลอยกระทงกันทุกปีเท่านั้น

คลิกดูภาพใหญ่ ข้อเสนอแนะ

     ๑ ขอให้มีการตรวจสอบและแก้ไขชื่อลำห้วย เกาะแก่ง ตำบล อำเภอ และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ในแผนที่ให้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือที่คนในอดีตระบุไว้ เพื่อเป็นการนำตำนานกลับมาสู่วิถีชีวิตของเรา ได้อย่างถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง
     ๒ ควรมีการศึกษาลำน้ำแม่ปิงตลอดทั้งสาย ศึกษาถึงการสูญสิ้นการดำรงอยู่ และการเกิดขึ้นใหม่ของชุมชน ตำบล เส้นทางคมนาคมต่างๆ ควบคู่ไปกับการศึกษา การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ของลำน้ำ อันจะยังผลต่อการทำโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำ และลำน้ำแม่ปิงต่อไป
     ๓ ควรมีการสำรวจทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ในบริเวณลุ่มน้ำแม่ปิง โดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อสร้างองค์ความรู้โดยรวม กับฐานข้อมูลอื่นๆ ที่มีการค้นคว้าก้าวหน้าไปแล้ว เราต้องหันกลับมามองสายน้ำแม่ปิง และสายน้ำอื่นๆ อีกครั้งกันใหม่ มองหาคุณค่าอันแท้จริงของลำน้ำ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้อาศัย และผ่านไปมาในอดีต เพื่อเป็นคำตอบในการอยู่ร่วมกัน ระหว่างมนุษย์ และสายน้ำในอนาคต
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณห้องสมุดแผนที่ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอันมาก ในการเอื้อเฟื้อข้อมูลแผนที่ ในส่วนที่ผู้เขียนขาดไป ด้วยน้ำใจอันงามยิ่ง