ว า ร ส า ร เ มื อ ง โ บ ร า ณ
Muang Boran Journal

ISSN 0125-426X
ปีที่ ๒๘ ฉบับ ๔ ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๕
Vol. 28 No. 4 October - December 2002

วารสารวิชาการรายสามเดือน เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย
ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรม
วารสาร เมืองโบราณ เดือน ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๕ ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๒๘

ส า ร บั ญ
เมื่อนึกถึงจิตร ภูมิศักดิ์
ทวารบาลลายรดน้ำ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ... สุรชัย จงจิตงาม

Door Guardians of Wihan Lai Kham, Wat Phra Singha ... Surachai Jongjitngam

บันทึกเรื่องเรือนไทย... ประจวบ หวายโป่ง

งานช่างกับการสืบสาน... ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์

Traditional Art: Somethings that Should Be Passed On ... M.L. Surasavasti Suksavasti

พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า ... จารุณี อินเฉิดฉาย

Phra Bot: the Buddhist Art on Banner ... Jarunee Incherdchai

ป่าปราสาทที่สมโบร์ไพรกุก ... วิชชุ เวชชาชีวะ
วรรณกรรมอ้างอิงใน จารึกใหญ่แห่งนครวัด ... ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ

Reference Literatures in the Grand Inscription of Angkor ... Peter Skilling and Santi Pakdeekham

ถนนสายนี้ที่บางโพ ... ปราณี กล่ำส้ม
On the Streets of Bang Pho ... Pranee Glumsom
พิพิธภัณฑสถาน ในประเทศญี่ปุ่น ... กฤษฎา พิณศรี
ยกคายครูหนังประโมทัยบ้านแต้ ... ลักขณา จินดาวงษ์
Pramotai Shadow Puppet in Roi Et ... Lakana Jindawong
พระพุทธบาทสองรอย ในจิตรกรรมที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม ... เชษฐ์ ติงสัญชลี
Two Buddha's Footprints at Wat ko Kaeo Suttharam ... Chet Tingsanchali
ข้อง กระชัง ที่ขังปลา... จุฑารัตน์ เหลืองสง่างาม
ทวารวดี ศิลปกรรมยุคแรกเริ่ม ในดินแดนไทย ... ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง
ปอเลอเปรอ เรื่องเล่าปากะญอ ... นพวรรณ สิริเวชกุล
ข้าวของกับตัวตน ของคนพื้นเมือง ... สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และพรรณราย โอสถาภิรัตน์
สถูปศิลปะทวารวดี ในพิพิทภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ... นิตยา กนกมงคล
รูปถ่ายลายเส้น ... ศูนย์ข้อมูล เมืองโบราณ
เรื่องเก่าเล่าสู่ ... ศูนย์ข้อมูล เมืองโบราณ
พิพิธภัณฑ์ผ้ากับจ่าทวี ... นคร สำเภาทิพย์
คลิกดูภาพใหญ่
 
พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า
จารุณี อินเฉิดฉาย*
*พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

คลิกดูภาพใหญ่     พระบฏ คือผืนผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธประวัติหรือชาดก คำว่า "บฏ" มีรากศัพท์ในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ - ตะ) หมายถึง ผ้าทอ ผืนผ้า 
     การประดับอาคารศาสนสถานด้วยผ้าเขียนภาพต่างๆ นั้น เป็นคตินิยมเนื่องในพุทธศาสนามหายานจากประเทศอินเดีย และได้ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ เช่นจีนและญี่ปุ่น ดังพบหลักฐานการเขียนภาพบนผืนผ้าและนำไปประดับตามศาสนสถานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ (สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง) ส่วนใหญ่เป็นภาพพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี หรือพระโพธิสัตว์ แวดล้อมด้วยพระสาวก (มาลินี คัมภีรญาณนนท์ ๒๕๓๒) 
     ในจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑๐๖ (จารึกวัดช้างล้อม) กล่าวถึงพนมไสดำ ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ ไว้เป็นอันมาก และในปีพุทธศักราช ๑๘๒๗ "...จึงมาตั้งกระทำหอพระปีฎกธรรมสังวร ใจบูชาพระอภิธรรมกับด้วยพระบดจีนมาไว้ ได้ปลูกทั้งพระศรีม(หาโ)พธิ อันเป็นจอมบุญจอมศรียอ...พระบดอันหนึ่ง ด้วยสูงได้ ๑๔ ศอกกระทำให้บุญไปแก่สมเด็จมหาธรรมราชา กระทำพระหินอันหนึ่ง ให้บุญไปแก่มหาเทวี..." (สำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๑๓) 
คลิกดูภาพใหญ่     ดังนั้น คติการสร้างพระบฏในสมัยสุโขทัย จึงนิยมทำขึ้นเพื่อการอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว 
     ในจารึกหลักเดียวกันนี้ยังกล่าวถึง "พระบฏจีน" ซึ่งอาจจะเป็นพระบฏที่เขียนขึ้นเนื่องในคติมหายานตามความนิยมของจีน หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจหมายความว่าการเขียนภาพบนผ้านั้น ทำตามแบบอย่างของจีน จึงเรียกว่าพระบฏจีน 
     ในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช วรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยา (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓) ก็ได้กล่าวถึงพระบฏไว้หลายตอนด้วยกัน เช่น 
     "...ครั้งนั้น ยังมีผขาวอริยพงษ์ อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลงกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นที่ปากพนัง พระบตขึ้นที่ปากพนัง ชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอนทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากน้ำ พระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบต ผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาวๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดี..." (กรมศิลปากร ๒๕๑๗) 
     พระบฏที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ได้มาการขุดกรุพระเจดีย์ วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยกรมศิลปากร ในโครงการสำรวจทางโบราณคดีเหนือเขื่อนภูมิพล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบฎผืนนี้มีขนาดใหญ่มาก คือกว้าง ๑.๘ เมตร และยาวถึง ๓.๔ เมตร เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ แวดล้อมด้วยเหล่าทวยเทพ สภาพเมื่อแรกพบนั้นชำรุด มีรอยขาดผ่ากลาง ซึ่งเป็นลักษณะการชำรุดก่อนที่จะนำไปบรรจุไว้ในหม้อดิน จึงสันนิษฐานว่าพระบฏนี้มีอายุเก่ากว่าพระเจดีย์ หรือมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒
     ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัตถุประสงค์การสร้างพระบฏยิ่งหลากหลายออกไป กล่าวคือมีทั้งที่ทำขึ้นเพื่อสืบทอดพระศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ และเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว เมื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย จึงทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพระบฏไปด้วย ทั้งในด้านเรื่องราว วัสดุ และขนาด 


พระบฏในสมัยรัชกาลที่ ๕ 
คลิกดูภาพใหญ่     ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๔๖ เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีทำ จากการเขียนภาพลงบนผืนผ้าทีละผืน มาเป็นการเขียนภาพเป็นแบบไว้ แล้วส่งไปถ่ายบล็อกมาพิมพ์ลงบนกระดาษ ทำให้ผลิตได้เร็วขึ้นและครั้งละมากๆ พระบฏในยุคนี้จึงมีลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ยังคงเรียกว่า "พระบฏ" เช่นเดิม สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเล่าถึงการทำพระบฏในลักษณะเช่นนี้ว่า
     "...ในกาลครั้งหนึ่ง กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงพระดำริทำพระบฏเล็กๆ ขาย ให้พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) เขียนตัวอย่างเป็นปางมารประจญ แล้วส่งออกไปตีพิมพ์ที่เมืองนอก ครั้นได้เข้ามาก็ส่งไปจำหน่ายตามร้าน เป็นที่ต้องตาต้องใจคนเป็นอันมาก ขายดีเล่าลือจนทราบถึงพระกรรณ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ผู้เขียน) ตรัสถามถึงลักษณะพระบฏนั้น ฉันจึ่งไปซื้อมาถวายแผ่นหนึ่งก็พอพระราชหฤทัย 
     "ต่อมากรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจเห็นว่าขายดีมีกำไรมาก จึ่งทรงจัดให้ช่างเขียนขึ้นหลายแบบ ส่งออกไปให้ทำเข้ามาอีก แล้วคนอื่นก็สั่งทำเข้ามาขายด้วย ต่างคิดค้นหาแบบเก่าใหม่ ที่หวังว่าคนจะชอบ ส่งไปเป็นตัวอย่าง เป็นการแย่งขายแย่งประโยชน์กันตามเคย พระบฏต่างๆ จึงมีทอยๆ กันเข้ามามาก..." (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๐๙: ๖) 
     นอกจากนั้นแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีหลักฐานการสร้างพระบฏอีกชุดหนึ่ง เป็นพระบฏหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าโปรดฯ ให้สร้างถวายไปตามวัดต่างๆ ๑๘ วัด พระบฏชุดนี้ก็มีลักษณะแตกต่างไปจากพระบฏที่เคยมีมา เพราะเป็นแผ่นไม้ผืนผ้า กว้าง ๒ ศอก สูง ๖ ศอกก็มี กว้าง ๒ ศอกคืบ สูง ๔ ศอกก็มี (ประมาณ ๑ x ๓ เมตร และ ๑.๒๕ x ๒ เมตร) แบ่งเป็นสองตอน ตอนบนเขียนภาพพระพุทธรูปปางต่างๆ หรือพระเจดีย์ ส่วนตอนล่างเป็นภาพชาดก ซึ่งกำหนดให้ช่างไปถ่ายแบบหรือคัดลอก มาจากภาพเขียนฝีมือเยี่ยมตามวัดต่างๆ เช่น พระพุทธประวัติในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เนมิราชชาดก มโหสถชาดก และเวสสันดรชาดก ภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม เป็นต้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นผู้กำหนดภาพที่ต้องการให้ช่างเขียนและวิธีการในการทำงานไว้อย่างละเอียด เช่น 
คลิกดูภาพใหญ่     "... ที่ช่องบน เขียนรูปพระพุทธเจ้าปางเมื่อเหลียวหลังสั่งเมืองเวสาลี จงเขียนเส้นร่างตามแบบซึ่งส่งมาด้วยนี้ ถ่ายขยายให้ใหญ่ขึ้น ๕ เท่า การลงสีนั้น องค์พระเจ้าใช้สีเหลืองอ่อน พระสาวกใช้สีขาว ตัดอย่างโบราณ คือใช้คิ้วดำ หนวดดำ จีวรใช้ชาดเติมรงให้จัด แล้วตัดด้วยดินแดงเกลื่อนเข้าข้างลึก แล้วเอาเหลืองโฉบตามกลีบผ้าตรงที่สูงเส้นเล็กๆ บางๆ อย่างทำลายฉลุ รัศมีพระเจ้านั้นใช้ ๖ สี คือพื้นทาแดงชาด เส้นขอบรัศมี ๕ ชั้น ๕ สี ในเส้นหงษชาดใหญ่ ถัดออกไปเส้นขาวใสเล็ก ถัดออกไปเส้นเขียวแก่ใหญ่ ถัดออกไปเส้นเหลืองเล็ก ทีนี้ทิ้งให้หางวางเส้นทองเล็กอีกเส้นหนึ่ง ให้สีพื้นผนัง หลังเขาคั่นอยู่ในรหว่างเส้นเหลืองกับทอง เปนลวดใหญ่อีกลวดหนึ่งด้วย ถ้าแลเห็นไม่ขึ้นดี เอาเส้นดำเข้าช่วยคัดด้วยในรหว่างนั้นก็ได้... "ที่ช่องล่างเขียนเรื่องพระเนมีย์ราช จงไปถ่ายอย่างฝีมือครูทองอยู่ ซึ่งเขียนไว้ในพระอุโบสถวัดสุวรรณ คลองบางกอกน้อย ถ่ายเอาทั้งห้อง แต่ลดขนาดเขียนให้เล็กลงสามสอง (คือเหมือนหนึ่งว่าภาพต้นอย่างสูง ๑๒ นิ้ว ลดเขียนแต่ ๘ นิ้ว) ที่ว่าถ่ายทั้งห้องนั้น หมายความเอาเพียงเท่าที่เขียนไว้เดิมเท่านั้น ที่พอกปูนแก้บานแผละ เติมห้องกว้างออกมาอีกข้างละ ๖ นิ้ว และเขียนต่อเติมไว้ยังไม่แล้วนั้น ไม่หมายให้ถ่ายด้วยดอก อย่าหลงไปคิดเข้าด้วยจะลงกระดานไม่ได้..." (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๐๙ : ๘๓ - ๘๕)

Click hereอ่านต่อคลิกที่นี่

Phra Bot : the Buddhist Art on Banner
Jarunee Incherdchai
Bigger       Phra Bot is a fabric banner used for decorating in Buddhist buildings when there were important ceremonies. It was a tradition in Mahayana Buddhism from India, and spread to other territories such as China and Japan from the 7th century. In Thailand, an inscription of Wat Chang Lom in Sukhothai, indicated that in the 15th century, Phra Bot was created for dedication to the deceased. 
       The oldest existing Phra Bot in Thailand was discovered at a pagoda in Wat Dok Ngoen in Hod district, Chiang Mai. It was created in 16th century and illustrated the Lord Buddha descending from Tavatimsa Heaven.
       Originally, Phra Bot was often depicted a standing Buddha with his two disciples standing on his sides, various episodes of Buddha's life, the sacred Culamani pagoda of Tavatimsa Heaven, Ten Jatakas, four Buddha's footprints with 108 auspicious motifs and illustrations from Pannasa Jataka such as Phra Suthon-Manora etc.
Bigger       Ancient painters often drew Phra Bot on white cotton cloth. In the old days, painters usually used the tempera technique with natural pigment, which were just black, white, red and yellow. It was the time of King Rama V (r.1868 - 1910) when there were chemical pigments imported from abroad. Phra Bot painting technique was greatly changed at this period; that was, painters formerly painted one piece at a time. They changed to depict prototypes and sent them to Europe to make printing blocks, then print them on papers. This technique helped producing pictures faster and much more quantity at a time. Phra Bot was not only an art form of Buddhism, but also well reflected the change of Buddhist beliefs in each period. Even though, the limitation of materials made Phra Bot impermanent work of art. However, we can still see them at many important temples and museums such as Wat Mahathat and Wat Chantrawat , Phetchaburi Province, Wat Hua Toei, Phattalung Province, Suan Pakkad Palace Museum , Bangkok etc.