ว า ร ส า ร เ มื อ ง โ บ ร า ณ
Muang Boran Journal

ISSN 0125-426X
ปีที่ ๒๙ ฉบับ ๓ กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๖
Vol. 29 No. 3 July - September 2003

วารสารวิชาการรายสามเดือน เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย
ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรม
วารสาร เมืองโบราณ เดือน กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๖ ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๙

ส า ร บั ญ
สงกรานต์ม็อบ สงกรานต์มั่ว สงกรานต์ถ่อย
งีเงาคำ กับตัวตนของคนอาหม... ดำรงพล อินทร์จันทร์

Ngi Ngao Kham and the Ethnic Revival of the Tai Ahom ... Damrongphon Inchan

ไทเหนือเมืองสิง ... วิชญดา ทองแดง

Tai Nua in Muang Sing ... Wityada Thongdaeng

สืบทอดภาษา บทเพลง จ้าตไต กระบวนสร้างชาติไทใหญ่ ในชุมชนจินตนาการ... วันดี สันติวุฒิเมธี

Toward the Imagined Nation: the Shan's Cultural Struggle on the Borderline... Wandee Suntivutimetee

มิติวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนาของชาวกะเหรี่ยงราชบุรี... สุรินทร์ เหลือลมัย
ชอง: ฟื้นความหลัง แลไปข้างหน้า... อิสระ ชูศรี

Chong: Looking Back, Looking into the Future... Isara Choosri

สายรกญัฮกุ้ร ในวิถีอลหม่าน ของโลกไร้พรมแดน... จิตติมา ผลเสวก
ความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว... วลัยลักษณ์ ทรงศิริ รุจิรา เชาว์ธรรม และสมปอง บุญเติร
คำปุน ศรีใส ทองเนื้อแท้แห่งเมืองอุบล... อรชร เอกภาพสากล
เทศบาลนครปารีส กับงานพิพิธภัณฑสถาน... ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
พุทธปฏิมา... สุรชัย จงจิตงาม
ศรีย่าน...บ้านพายัพ... ปราณี กล่ำส้ม

A Tale of Two Cities: from Payap to Sriyan... Pranee Glumsom

ความหลังครั้งอดีตของข้าพเจ้า... ประจวบ หวายโป่ง
The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia... สว่าง เลิศฤทธิ์
กระจ่า - จวัก - กระบวย... จุฑารัตน์ เหลืองสง่างาม
วิกฤตการณ์สิมอีสาน... ลักขณา จินดาวงษ์
จารึกการบูรณะวัดประเสริฐสุทธาวาส... ศานติ - นวรัตน์ ภักดีคำ
เรื่องเล่า ตำนาน และสุสานที่บ้านพระปืด... ประสิทธิ์ ไชยชมพู
ลิเกพื้นบ้านสุรินทร์: ตำนานที่กำลังเลือนหาย... ไชยา วรรณศรี
รูปถ่ายลายเส้น... ศูนย์ข้อมูล เมืองโบราณ
เรื่องเก่าเล่าสู่... กองบรรณาธิการ
จดหมายจากผู้อ่าน
ครูเสด... นคร สำเภาทิพย์
คลิกดูภาพใหญ่
 
งีเงาคำ กับตัวตนของคนอาหม
ดำรงพล อินทร์จันทร์

ความนำ

คลิกดูภาพใหญ่     รัฐอัสสัมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทว่าเป็นดินแดนปลายสุดทางตะวันตกที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทตั้งถิ่นอาศัยอยู่
    กล่าวกันว่ามีคนไทจำนวนหนึ่ง จากอาณาจักรมาวหลวงที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของจีน และสหภาพพม่าในปัจจุบัน อพยพเคลื่อนย้ายมาสร้างอาณาจักรไทอาหมอันยิ่งใหญ่ เหนือลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว
    แต่ภายหลัง เมื่อคนไทอาหมเปลี่ยนมานับถือศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย (Vaisana-Hinduism) ละทิ้งตัวเขียนและภาษาไท หันมาใช้ภาษาอัสสัมมิสในชีวิตประจำวัน ทำให้คงเหลือเพียงคัมภีร์อักษรไทโบราณบนเปลือกไม้ที่ยังเก็บรักษาไว้ และคำสวดในพิธีกรรมบางอย่างที่สืบทอดต่อมาจวบจนทุกวันนี้
    นับตั้งแต่อาณาจักรไทอาหมล่มสลายลงเมื่ออังกฤษเข้าปกครองในปี ค.ศ.๑๘๒๖ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และประชากรครั้งใหญ่ การเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในอัสสัม เปิดพื้นที่การผลิตทางอุตสาหกรรมเหมืองแร่ น้ำมัน การเกษตรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสวนชา ส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมหาศาลจากเขตอาณานิคมอื่นๆ จนกระทั่งคนนอกเข้ามาครอบครองสัดส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และแก่งแย่งทรัพยากรกับคนในท้องถิ่นอย่างเข้มข้น

คลิกดูภาพใหญ่     เงื่อนไขที่เปลี่ยนไปอย่างรุนแรงนี้ทำให้ชาวไทอาหมเดิมกลายเป็นกลุ่มคนล้าหลัง อยู่ในชนชั้นวรรณะต่ำกว่ากลุ่มฮินดูที่อพยพเข้ามาใหม่ การเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชั้นนำและปัญญาชนจึงนำมาซึ่งการก่อตั้งองค์กรและสมาคมต่าง ๆ ขึ้นรองรับแนวคิดในการฟื้นฟูสำนึกประวัติศาสตร์ชนชาติ เป็นการนิยามตนเองใหม่ และพยายามยกระดับสภาพทางเศรษฐกิจ ปรับสถานภาพทางสังคมเพื่อเข้าถึงอำนาจทางการเมืองในรัฐอัสสัม
    ภายหลังอินเดียเป็นเอกราชในปี ค.ศ.๑๙๔๗ กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้อเรียกร้องของผู้นำในการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม ความพยายามแยกพื้นที่อัสสัมตอนบนเป็นรัฐอิสระดำเนินควบคู่กันไปกับขบวนการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมไท การอนุรักษ์โบราณสถาน ทั้งยังเป็นการสร้างสำนึกบนพื้นฐานของการแยกอัตลักษณ์ชาวไทอาหม ออกจากสังคมอัสสัมมิส 
    ภายใต้การพัฒนาประเทศอินเดียในปัจจุบัน อัสสัมไม่เพียงจะเป็นรัฐด้อยพัฒนาห่างไกล สถานภาพของชาวไทอาหมโดยรวมก็ตกอยู่ในชะตากรรมไม่ต่างกันนัก พวกเขาถูกนิยามจากรัฐว่าเป็น กลุ่มชนชั้นล้าหลัง (Other Backward Class) และสังกัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับชาวอัสสัมมิส ซึ่งไม่มีสิทธิพิเศษที่จะได้รับความช่วยเหลือตามแผนการพัฒนา เมื่อเทียบเคียงกับคนที่อยู่ในฐานะชนเผ่า (Scheduled Tribes) จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐปรับสถานภาพอย่างเป็นทางการของอาหม ให้มาอยู่ในระดับขั้นชนเผ่า ทว่ากลุ่มองค์กรนำที่ร่วมฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าบรรดาปัญญาชนต่างก็ตระหนักดีว่า ลำพังเพียงการต่อสู้ผ่านช่องทางการเมืองแบบตัวแทนอย่างเดียว จะไม่สัมฤทธิ์ผลได้โดยง่าย หากไร้ซึ่งปฎิบัติการหลากรูปแบบ
คลิกดูภาพใหญ่      ความพยายามในการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มเคลื่อนไหว ด้วยการทำให้ความเป็นชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่มองเห็นได้และได้รับการตอบรับ บอกเล่าถึง "ความเป็นไทอาหม" ที่มีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมอัสสัมปัจจุบัน มีภาคปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบภายใต้เงื่อนไขและบริบทต่างกันไป
     สมาคม องค์กร นักวิชาการ ปัญญาชน ผู้นำชุมชนและคนไทอาหมทั่วอัสสัมตอนบนเคลื่อนไหว และตื่นตัวอย่างมากเพื่อปลุกสำนึกทางประวัติศาสตร์ แสดงสถานะและตัวตนความเป็นไท รื้อฟื้นภาษา วรรณกรรม ศาสนา พิธีกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทกระจายทั่วรัฐ มีแบบเรียนภาษาไทระดับชั้นประถมในโรงเรียนที่มีชุมชนคนไทอาหมอาศัยอยู่หนาแน่น ส่งเสริมความเชื่อทางศาสนาดั้งเดิมที่ใช้ภาษาไทในพิธีกรรมโดยมีกลุ่มหมอเป็นผู้นำ ผลิตองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในวงวิชาการและสาธารณะ นำเสนอภาพของวีรบุรุษ ตั้งพิพิธภัณฑ์ไทแห่งอัสสัม จัดเวทีงานประชุมประจำปีหมุนเวียนตามพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนแสวงหาแนวร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เป็นต้น
     สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมนับเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง ในกระบวนการปลูกสร้าง และกระตุ้นสำนึกร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์  ผ่านรูปแบบของตำนาน ปรัมปราคติ พิธีกรรม ตลอดจนการอ้างอิงบันทึกทางประวัติศาสตร์ กระทั่งก่อรูปเป็นสัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์ เพื่อนำไปสู่การนิยามตนเองท่ามกลางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์หลายหลากในปัจจุบัน โดยอาจเป็นไปในลักษณะผสานกลมกลืนอย่างดีหรือเต็มไปด้วยคำถามให้วิพากษ์วิจารณ์ก็ได้
     สัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของไทอาหมร่วมสมัยที่สำคัญคือรูปมังกรสิงโตมีปีกที่เรียกว่า "งีเงาคำ" (Ngi Ngao Kham) ที่ปรากฏตัวในหลากรูปแบบ กระจายแพร่หลายมากที่สุด

ที่มาของงีเงาคำ

คลิกดูภาพใหญ่      ชุดคำอธิบายแหล่งที่มาของ "งีเงาคำ" นั้นไม่ปรากฏชัดเจนนัก ปัญญาชนชาวไทอาหมอ้างอิงหลักฐานบนแผ่นทองแดงซึ่งเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของรัฐอัสสัม ว่าสัญลักษณ์รูปงีเงาคำนี้ปรากฏเป็นตราพระราชลัญจกรในราชสำนักของกษัตริย์อาหมหลายพระองค์ ได้แก่ เจ้าเสือดินฟ้าหรือจันทรกันตาสิงห์ (Sudinpha, Chandrakant Singh ค.ศ.๑๘๑๐ - ๑๘๑๘) เสือใหญ่ฟ้างำเมืองหรือเคารินาถสิงห์ (Suhitpongpha, Gaurinath Singh ค.ศ.๑๗๘๐ - ๑๗๙๕) และเสือแรมฟ้าหรือราเจตวาสิงห์(Surampha, Rajesvar Singh ค.ศ.๑๗๕๑ - ๑๗๖๙) ส่วนเหรียญในสมัยเสือปาดฟ้า (Supatpha, ค.ศ.๑๖๘๑ - ๑๖๙๖) และเสือขุงฟ้า (Sukrungpha ค.ศ.๑๖๙๖ - ๑๗๑๔) ก็มีรูปมังกรสิงโตมีปีก ทั้งยังปรากฏรูปปั้นสิงโตมีปีกตามมุมทั้งสี่ของบัลลังก์สิงโต ซึ่งเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของรัฐอัสสัมด้วย
    นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่าในคัมภีร์โบราณของอาหมและศาตตระ (Sattra) ของฮินดูไวษณพนิกายจากแหล่งทางตอนเหนือของเมืองเกาฮะตี เช่น Dihingia Satra of North Guwahati, Barpeta Satra, Sundaridiya Satra, Bardua Satra  ก็พบภาพวาดมังกรสิงโตมีปีกจำนวนมาก 
    หากที่เป็นรูปธรรมชัดเจนก็คือภาพแกะสลักนูนต่ำในโบราณสถานสมัยอาณาจักรอาหม ที่ซุ้มประตูพระที่นั่งรังคฆร (Rong Ghar) เมืองสิพสาคร และซุ้มประตูวิหารเจ้าแม่กามาขยา (Kamakhaya Temple) ที่เมืองเกาฮะตี คนไทอาหมเล่าว่าที่พระราชวังแจ้ม่วน (Talatal Ghar) แจ้ฮุ่ง (Kareng Ghar) เมืองสิพสาคร ก็เคยปรากฏภาพแกะสลักนูนต่ำเหมือนกัน แต่ปัจจุบันได้ชำรุดเสียหายและเลือนรางไปหมดแล้ว
คลิกดูภาพใหญ่     ผู้นำและปัญญาชนอาหมอธิบายความหมายของงีเงาคำอ้างอิงจากลิกลายแปงกากา (Lit Lai Peyn Ka Ka - คัมภีร์โบราณของไทอาหม) ว่า "ผู้หนึ่งชื่อต้าง งีเงาคำ หือปุดคิงพูราไลปลอง งีเงาคำ ไลปลอง " (Fu Leng Chu Tang Ngi Ngao Kham Heu Put Khring Fra Lai Plung Ngi Ngao Kham Lai Plung) แปลความตรงตามคำว่า งีแปลว่าลูกคนสุดท้อง เงาคำแปลว่าแสงสีทอง จึงหมายถึงลูกคนสุดท้องชื่อ งีเงาคำ มีหน้าที่รับผิดชอบนำคำสอนของพระเป็นเจ้ากระจายไปทั่วฟ้า ส่วนอีกหน้าที่หนึ่งก็คือเก็บรักษาคำสอนหรือองค์ความรู้ของพระเป็นเจ้า นั่นคือ งีเงาคำเป็นบุตรชายคนที่สี่ของพระเป็นเจ้าซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่คำสอนของพระเป็นเจ้าไปแก่มนุษยชาติ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เงาแสงบงพูรา" หรือ "เงาแสงเมืองฟ้า" มีอำนาจซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด
     คำอธิบายดังกล่าวปรากฏในอาหม-บุราณจี ฉบับพิมพ์ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องราวเขียนเป็นตอนสั้น ๆ ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่การสร้างโลก ตอนกำเนิดเทพเจ้าจากมอนคำหรือไข่แดงทองคำ ตอนกำเนิดผู้รับใช้ ตอนกำเนิดต้นวงศ์กษัตริย์ และบรรยายถึงวงศ์กษัตริย์ต่อเนื่อง มาถึงขุนหลวงขุนหลายลงบันไดจากฟ้ามาครองเมืองรีเมืองรำ และลำดับรายชื่อกษัตริย์ปกครองสืบจนมาถึงเสือก่าฟ้าและราชวงศ์ไทอาหม
    ความตอนที่เกี่ยวข้องกับงีเงาคำเป็นตอนกำเนิดเทพเจ้าจากนางมอนคำที่ว่า 
    เมื่อพระเป็นเจ้าสร้างโลกขึ้นมาแล้ว เกิด "มอนคำ" หรือไข่แดงทองคำอยู่ชิดเคียงกัน เปลี่ยนให้เถ้าหลวงกกงำ กกเป็นนานก็ไม่เกิดเป็นตัวจึงผละไปเสาะหาหญ้าปูลอกมายา ภายหลังมอนคำจึงแตกเกิดเป็นคน ฟ้าก็สอนสั่งทุกสิ่ง ผู้หนึ่งตั้งชื่อว่า "เจ้าอ้ายก่อฟ้าสร้างดินขุนใหญ่" ให้แสงเมืองซึ่งเป็นมณีคู่เมือง และให้เป็นกษัตริย์ ผู้หนึ่งตั้งชื่อว่า "แสงช่อผ้าผาคำ" ให้มีอำนาจเหนือฝูงเงือกแปดล้านก่อแคว ผู้หนึ่งตั้งชื่อว่า "แสงกำฟ้า" ให้มีอำนาจเหนือแปดหมื่นสายฟ้า ส่วนอีกผู้หนึ่งคือ "ยี่เงาคำ" ให้ "ปุดคิงฟ้า" หรือเปลี่ยนเป็นกษัตริย์ครองหลายเมือง ฟ้าสอนเสร็จแล้วก็ไป ภายหลังแสงกำฟ้าขัดคำสั่งฟ้าจึงตายเป็นผี ลูกชื่อแสงก่อฟ้าครองขุนแทน เมื่อตายกลายเป็นด้ำ
    ดังข้อความในต้นฉบับที่ว่า 
    ...God said to his youngest son, "I name you Ngi ngao kham. You will have to remain with me to help me in the creation of the world destroyed. You will also be called Phura." Having thus instructed His sons, God rose up.
คลิกดูภาพใหญ่      เช่นเดียวกับคำอธิบายเกี่ยวกับคติจักรวาลและเทพเจ้าของอาหมว่า งีเงาคำ เป็นลูกของพระเจ้า รู้จักกันทั่วว่า "พูรา" และยังคงมีการบูชาพูราของชาวอาหมอยู่
    แต่ก็มีข้อสังเกตของรณี เลิศเลื่อมใส (๒๕๔๔) ซึ่งค้นคว้าเรื่องจักรวาลทัศน์ไทอาหม จากเอกสารโบราณหลายฉบับเทียบเคียงกัน กล่าวว่ายี่เงาคำหรืองีเงาคำ (Ngingaokham) ในบรรทัดดังกล่าวเป็นการสอดแทรกเนื้อหาใหม่เพิ่มเข้าไปเป็นลำดับที่ ๔ ซึ่งใน พื้นก่อเมือง (เอกสารโบราณภาษาไทอาหมอีกฉบับหนึ่ง) กล่าวถึงไข่ฟ้ามอนคำแตกเป็นเทพเพียง ๓ องค์ ดังข้อความว่า " เป็นทั้งสามมอนคำสีฟอน" ส่วนคำว่า "พูระ" (Phura) หรือ "ฟ้า" เป็นคำสมัยหลังอันเกี่ยวข้องกับลัทธิพิธีบูชาฟ้าหลวงหรือ "พูราหลวง" หรือ "พร้าหลวง" ของชาวไทอาหมในปัจจุบัน
    ขณะที่อีกหลักฐานหนึ่งกล่าวว่า งีเงาคำนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นตัวแทนของฟ้า เรียกว่าจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมือง ซึ่งกล่าวกันว่าเสือก่าฟ้านำมาจากเมืองเมาตั้งแต่สมัยสร้างเมืองนุนสุนคำ ตามความเชื่อโบราณ ก่อนที่กษัตริย์ทุกพระองค์จะขึ้นครองราชย์ต้องบูชาสักการะ และปกติแล้วทุกปีจะต้องทำพิธีบูชาในเดือนสามที่หอจุ้ม ซึ่งในปลายสมัยราชอาณาจักร จุ่มฟ้ารุ่งแสงเมืองได้สูญหายไป ปัจจุบันการบูชางีเงาคำจึงเป็นเสมือนการบูชาจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมืองอีกด้วย

Click hereอ่านต่อคลิกที่นี่

Ngi Ngao Kham and the Ethnic Revival of the Tai Ahom
Damrongphon Inchan
คลิกดูภาพใหญ่       The Tai Ahom is a Tai-speaking ethnic minority in Assam, Northeast India. Until the 19th century and prior to the British colonization of India, the Tai Ahom had a Kingdom of their own. 
      
In the area formerly known as the Ahom Kingdom, one common images found in many monuments and archeological sites are Ngi Ngao Kham, a winged lion - dragon. The ancient copper plates and coins bearing these images indicate that the Ahom sovereigns once used Ngi Ngao Kham as their royal insignia.
       According to the Tai Ahom, the origin of Ngi Ngao Kham can be traced back to the Ahom buranji, the sacred manuscript. This mythical animal appears as a hybrid of a snake, a lion, a tortoise, a horse and a bird. Tai Ahom people believe that Ngi Ngao Kham also has close relationship with dragon of the Chinese.
คลิกดูภาพใหญ่        Recently the image of Ngi Ngao Kham has re-gained popularity among the Tai Ahom and become increasingly prevalent. The motifs of this legendary creature can be found everywhere. Several cultural organizations and political movements have adopted the icon as a part of their emblems. Some even revere Ngi Ngao Kham as one of the Gods along with the Hindu Pantheon. 
       Ngi Ngao Kham has therefore become a dominant symbol of the Tai Ahom in their current process of re-building collective consciousness. This phenomenon along with the revival of Tai-ness in other aspects (e.g. myths, history, language and rituals) aim at reformulating the Tai Ahom ethnic identity in order to distinguish themselves from the Assamese and to define their identity amidst ethnic diversity in Modern day India.