เด็กพันธุ์ใหม่ ...วัย X
โดย อรสม สุทธิสาคร

Click ชีวิตวัยรุ่นไทยยุคปี ๒๐๐๐ ในความเห็นของคุณClick ชีวิตวัยรุ่นไทยยุคปี ๒๐๐๐ ในความเห็นของคุณ

ปกหนังสือ เด็กพันธุ์ใหม่...วัย X (คลิกดูหน้าหลัก)
ชีวิตเด็กไทยยุค ๒๐๐๐ ยังมีความหวัง-ทางออก?  
วัลลภ ตังคณานุรักษ์  
      "คำว่าเหงาคำเดียวตัวเท่าบ้าน" คำพูดสั้นๆ เพียงประโยคเดียวนี้ ดูจะแง้มหัวใจวัยรุ่นยุคปี ๒๐๐๐ ได้อย่างหมดจด ด้วยว่าผลพวงของ "ความเหงา" ก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามมามากมาย
      ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ให้ข้อสังเกตถึงปัญหาและทางออกของเยาวชนว่า ผู้ใหญ่ต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ต้องพยายามตามเด็กให้ทัน แต่ผู้ใหญ่มักติดเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกที่เห็น จึงยอมรับพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นไม่ได้ ทำให้เกิดช่องว่างกันขึ้น
      ครูหยุยยังมองอีกว่าความรู้สึกของเด็กมีสองอย่าง คือ หนึ่ง เด็กมีแรงขับภายในตามวัย อยากตามให้ทันเพื่อน ทันกระแส เหมือนที่ผู้ใหญ่ในยุคนี้ครั้งที่เป็นวัยรุ่นก็เคยอยากไว้ผมทรงเอลวิส อยากนุ่งกางเกงมอสขาบาน อย่างที่สองคือเด็กมีช่องว่าง เมื่อคุยกันกับผู้ใหญ่คนละวัยไม่รู้เรื่อง เด็กก็ต้องไปแสวงหาคนที่พูดคุยกันรู้เรื่อง พูดคุยด้วยภาษาเดียวกัน การจะพบคนที่รู้สึกเหมือนกัน ก็ต้องไปตามสถานที่ที่ทำให้เด็กๆ มารวมตัวกันได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนที่จับกลุ่มเยาวชนได้จะทำผับ หรือสถานที่เที่ยวกลางคืนขึ้นมา เนื่องจากผับเป็นโลกของวัยรุ่น มีเสียงเพลงดังกระหึ่ม เป็นสถานที่ที่รวมคนวัยเดียวกันให้มาพบปะกัน สนุกสนานร่วมกัน แหล่งเช่นนี้สามารถตอบสนองแรงขับดันภายในของวัยรุ่นที่ต้องการลองของใหม่ๆ ต้องการความสะใจได้
      "คนที่จับเรื่องวัยรุ่นได้นี่ เขาจะทำทุกอย่างที่เป็นธุรกิจกับกลุ่มวัยรุ่น ตั้งแต่แฟชั่น ไปถึงภาษา เพลง สถานที่ บรรยากาศ อันนี้แหละที่มาสอดรับกับคำว่าเหงาของวัยรุ่น มันตอบทุกอย่างที่เราพูดได้ ดังนั้นนี่ก็จะเป็นปรากฏการณ์ของปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย"
      ครูหยุยกล่าวว่าทุกวันนี้ต้องโทษผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมปรับตัวเข้าหาเด็ก จึงเท่ากับผู้ใหญ่เป็นผู้ผลักเด็กออกไปเอง
      "ทุกวันนี้มีขบวนรถด่วนผ่านหน้าบ้านเราทุกวัน บางขบวนก็พาแฟชั่นแปลกๆ พาเพลงแปลกๆ สถานที่แปลกๆ ยาแปลกๆ มาด้วย แต่เนื่องจากผู้ใหญ่หลับตาลง ไม่สนใจ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ใหญ่ยังกระชากเด็กตกลงมาจากขบวนรถด่วน ให้ตกลงมาอยู่ในขบวนรถสินค้าที่วิ่งช้าๆ ผู้ใหญ่ต้องปรับตัว หัดขึ้นขบวนรถด่วนตามเด็กบ้าง เพื่อจะได้ไปประคองเด็ก และเรียนรู้จักโลกของเด็ก เพื่อจะได้พูดคุยกันด้วยภาษาเดียวกันบ้าง เรียกว่าเป็นการชักคะเย่อซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การพูดจาต่อรองกันแบบเพื่อน ไม่ใช่การบังคับแบบพ่อแม่กับลูก พ่อแม่กับลูกก็จะไปด้วยกันได้ เพราะเด็กจะรู้สึกว่าผู้ใหญ่ห่วงใย และเข้าใจโลกของเด็ก ในขณะเดียวกันเด็กก็เข้าใจความรู้สึกของผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย"
      หากเป็นการแก้ไขในเชิงโครงสร้างของรัฐ ครูหยุยมองว่าบ้านเมืองเรายังขาดรัฐที่เข้าใจเยาวชน คือเป็นรัฐที่สนใจแต่สนามผู้ใหญ่ ไม่สนใจสนามเยาวชน เช่น ผู้ใหญ่มีสนามกอล์ฟ มีอะไรต่างๆ นานา แต่รัฐจะกดขี่เด็กด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็ไม่ทันสถานการณ์ แทนที่จะกดขี่เด็กด้วยกฎหมาย ทำไมเราจึงไม่ให้เด็กได้มีส่วนร่วม
      "อะไรที่เรารู้ว่าโลกก้าวไป เราก็จัดการเตรียมรับไว้เลย เช่น ให้มีดิสโก้เธคกลางแจ้งได้ มีถนนเยาวชนที่เป็นโลกของเขาได้ แต่มีเวลาที่เหมาะสมอยู่ เด็กจะได้ใช้สถานที่ที่เป็นของเขา แต่ว่าเป็นที่ซึ่งโปร่ง ไม่ใช่ที่ลับ ทุกวันนี้ที่โปร่งมันปิดหมด เด็กก็ต้องไปที่ลับ ถ้าเราจัดการอะไรมาก เขาก็ลงใต้ดินหมด ถ้าลงใต้ดินเราจะไม่เห็น มันจะอันตรายกว่า ทำไมไม่เปิดข้างบนให้เป็นบนดินหมดล่ะ นั่นคือเราต้องมีสนามของเยาวชน ส่งเสริมทุกอย่าง เพราะเยาวชนมีแรงขับภายใน แต่ว่าสิ่งที่เด็กแสดงออกอาจต่างกัน เช่น ถ้าเรามีสนามกีฬามากๆ เด็กบางคนก็อาจไปเล่นกีฬาแทนการไปผับ เรามีศูนย์ศิลปะมากๆ เด็กหลายคนก็จะไปพบกับศิลปิน ไปนั่งตามสนามไปวาดรูป มีสวนที่เด็กจะเล่นดนตรีได้ทุกวัน มีสนามสำหรับให้เด็กขึ้นไปร้องเพลง มีสระว่ายน้ำที่ไม่ต้องเสียสตางค์"
      ครูหยุยให้ข้อสังเกตว่าขณะนี้สนามต่างๆ ที่มีให้เยาวชนเป็นสนามที่แพงมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนยูโด เรียนศิลปะ ว่ายน้ำ ดนตรี ดังนั้นรัฐจึงต้องลงทุน สร้างสนามสำหรับเยาวชนในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อเยาวชนจะได้ใช้พลังสร้างสรรค์ตามสิ่งที่ตนสนใจ หากทำได้เช่นนี้ ปัญหาของเยาวชนจะเบาบางลงไป

 
 

contact@sarakadee.com
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ ]
สำนักพิมพ์ สารคดี