อ้อย กาญจนะวณิชย์
oykan@hotmail.com

nature3จินตนาการเป็นพรสวรรค์พิเศษของมนุษย์ ที่ทำให้เราแตกต่างไปจากสัตว์ส่วนใหญ่  ด้วยจินตนาการ เราสามารถเข้าใจมุมมองของชีวิตอื่น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ตรงเอง เราเพียงแค่แปลงร่างในใจเท่านั้น

นึกถึงตอนเด็ก ๆ เราอ่านเทพนิยาย ดูลิเก หุ่นเงาหนังตะลุง หรือแม้แต่ดูหนังผีรุ่นบุกเบิกได้อย่างสนุกสนาน ทั้งที่ไม่ได้ถ่ายทำกันตอนกลางคืน  แม่นาคฉบับ ปรียา รุ่งเรือง เดินมายืนสยายผมท่ามกลางแดดจ้าและเสียงหมาหอน เราก็เอออวยติต่างได้เองว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นในคืนบรรยากาศมาคุจัง มีอารมณ์ร่วมกลัวผีไปได้กับผู้สร้างหนัง โดยไม่จำเป็นต้องเห็นหัวผีโปร่งแสงหลุดลอยไปมา  เพราะในฐานะคนดู เรายอมรับบทบาทในการร่วมสร้างมโนภาพ พูดง่าย ๆ คือ เราเป็นคนดูคุณภาพ มีหัวใจ มีชีวิตชีวา ไม่ได้ตายด้านไปกับภาพมายาเสมือนจริงของคอมพิวเตอร์ งอมืองอตีนเรียกร้องให้ผู้ผลิตสื่อสร้างจินตนาการแทนเรา

ด้วยความเคารพต่อความสามารถในการจินตนาการของผู้อ่าน “โลกธรรมชาติ” ตอนนี้จึงขอให้ผู้อ่านเริ่มต้นด้วยการนึกภาพตัวเองอาศัยอยู่ในเครื่องซักผ้าที่มีน้ำปนทราย หมุนปั่นอย่างแรงตลอดเวลา จะเป็นอย่างไร

ยิ่งกว่าถูกกระดาษทรายถูผิวเสียอีก

นี่คือสถานแห่งบ้านทรายทอง สภาพสุดโหดที่ชีวิตที่จะอยู่ในหาดทรายต้องผจญ

ในหมู่พื้นที่ชายฝั่งทั้งหมด หาดทรายนับว่าเป็นที่ที่อยู่ยากที่สุด เราจะพบหาดทรายในที่ที่เปิดรับคลื่นลม ห่างจากปากแม่น้ำหรือลำธารออกมา  คือโดยทั่วไป ยิ่งเราออกห่างจากปากแม่น้ำเท่าไร ตะกอนเลนก็น้อยลงเท่านั้น จากที่พบหาดเลนบริเวณปากน้ำ ซึ่งรับตะกอนเต็มไปด้วยสารอินทรีย์ที่สายน้ำพัดพามาจากแผ่นดิน ก็จะเริ่มกลายเป็นหาดเลนปนทราย หาดทรายปนเลน จนถึงหาดทรายเปล่า ๆ ในที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าหาดแต่ละหาดต้องปะทะกับคลื่นลมแรงแค่ไหน ถ้าเจอคลื่นแรง ๆ ต่อให้อยู่ไม่ไกลจากปากน้ำ คลื่นก็จะซัดเอาตะกอนเม็ดละเอียดอย่างเม็ดเลนออกไปเกือบหมด เหลือแต่เม็ดทรายหยาบ ๆ เป็นส่วนใหญ่  เพราะฉะนั้น ชีวิตในหาดทรายจึงไม่เพียงแต่จะต้องเจอกับภาวะตากแห้งกลางแดดเปรี้ยงเมื่อน้ำลง และภาวะจมน้ำท่วมหัวเมื่อน้ำขึ้น สลับกันไปมาทุกวันเช่นเดียวกับพื้นที่ชายฝั่งอื่น ๆ เท่านั้น  แต่มันยังต้องเจอกับที่ที่มีสารอาหารน้อยกว่าชายเลน และที่สำคัญ พื้นทรายเป็นพื้นผิวที่ไม่น่าอยู่เอามาก ๆ ใช้ยึดเกาะเป็นที่พึ่งไม่ได้เลย ร่วนเป็นเม็ด ๆ ลมพัดก็ปลิว น้ำซัดก็กระเจิง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา

จึงไม่แปลกเลย ที่เราไม่ค่อยเห็นสัตว์อาศัยบนหาดทราย เว้นเสียแต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใส่บิกีนี และซากแมงกะพรุนถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยหาดเท่านั้น  อย่างดีก็มีปูกับนกวิ่งเล่นไปมา

เลยพานคิดว่าหาดทรายก็เหมือนกับทะเลทรายซาฮาร่า ไม่มีชีวิตอะไรเท่าไรเลย

แต่คนช่างสังเกตจะรู้ว่า ใต้ก้อนน้ำแข็งที่เห็นลอยบนทะเลคือก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่กว่าที่เห็นถึงสิบเท่าฉันใด  ใต้พื้นทรายที่ปูและนกวิ่งระเริงไปมาก็ต้องมีอะไรซ่อนอยู่มากมายฉันนั้น ได้แก่ สัตว์มากมายหลายชนิดเป็นล้าน ๆ ๆ ตัว

แน่นอนว่า ไม่มีสัตว์อะไรน่าสมเพชพอที่จะทำตัวเป็นพจมาน ปล่อยให้หญิงเล็กประพฤติตนเยี่ยงคลื่นชายฝั่ง จับตัวเหวี่ยงโยนไปมา หอบเอาเม็ดทรายจากพื้นขึ้นมาฝนใบหน้าจนถึงกระดูกใน แล้วเขี่ยทิ้งให้ตากแห้งเป็นปลาริวกิวแกล้มข้าวต้ม  สัตว์ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามหาดทรายจึงเป็นสัตว์ขุดรู หรือสัตว์ในดิน

แม้ว่าสภาพบนผิวหาดจะโหดร้ายไม่น่าอยู่ แต่ลึกลงไปเพียงแค่ไม่กี่เซนติเมตร กลับเป็นสภาพที่ออกจะคงที่ ไม่ค่อยแปรปรวน ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือลง อากาศจะร้อนหรือหนาว แดดจะออกหรือฝนจะตก ทั้งนี้เพราะโมเลกุลผิวน้ำที่เคลือบคลุมเม็ดตะกอนทรายแต่ละเม็ดเสมือนแผ่นฟิลม์ จะยึดติดกัน จับเม็ดทรายรวมตัวกันไว้ ทำหน้าที่เป็นฉนวนรักษาสภาพแวดล้อม  ภายในพื้นทรายใต้แนวน้ำขึ้น ซึ่งเห็นได้ง่ายจากรอยซากเกยหาดที่คลื่นซัดมาทิ้งไว้ จึงมีเขตที่เปียกอยู่เสมอแม้ในช่วงเวลาที่น้ำลง อุณหภูมิค่อนข้างคงที่ และความเค็มไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าฝนจะตกหนัก อย่างไรก็ตาม โซนที่คงสภาพนี้ไว้อาจย้ายแนวไปบ้างตามเวลาน้ำขึ้นลง แต่ยังไง ๆ สภาพเช่นนี้ ก็ปรากฏอยู่ใต้พื้นทรายในหาดได้ตลอดเวลา

ณ ที่นี้ เราจะพบสังคมสัตว์ครบทั้งระบบ มีทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า เช่นเดียวกับในป่าที่มีเสือกับกวาง  แต่ปัญหาสำหรับพวกเราที่ชอบทำตัวเป็นนักสืบค้นหาสัตว์ คือ สัตว์ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมากจนเรามองไม่เห็น แม้จะใช้แว่นส่องพระก็ตาม

สัตว์ตัวจิ๋วพวกนี้มีมากมายหลายชนิด ประกอบด้วยสมาชิกจากกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังแทบทุกกลุ่ม ตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียว หนอนตัวกลม สัตว์มีกระดองตัวเหมือนเม็ดถั่วของทิงเกิลเบลล์ และมีสาหร่ายขนาดเล็กนิดเดียวอย่างไดอะตอมด้วย  พวกมันอาศัยอยู่ในน้ำภายในช่องว่างระหว่างเม็ดทราย ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ผิวพื้นทราย มากกว่าจะฝังตัวอยู่ลึกลงไปเท่ากับสัตว์ขนาดที่เรามองเห็น เพราะไดอะตอมซึ่งเป็นพืช ยังต้องการแสงแดด  เพราะฉะนั้น ถ้าลองหยิบทรายเปียก ๆ ขึ้นมากำมือเดียว ส่องใต้กล้องจุลทรรศน์ก็ดูกันได้ช่ำตา  รูปร่างของสัตว์จิ๋วและไดอะตอมมีแปลก ๆ สุดจะจินตนาการ  คนบางคนจึงหลงไหลในโลกมหัศจรรย์ใบจ้อย จนยินดีที่จะนั่งส่องกล้องดูสัตว์อยู่ในห้องแล็บทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี

ถึงตัวมันจะเล็ก แต่สัตว์จิ๋วพวกนี้เคลื่อนที่กันได้เร็ว พวกมันจะอพยพขึ้นลงตามแนวหาดไปกับน้ำขึ้นน้ำลง และกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงบริเวณใกล้ผิวพื้นทราย โดยอาศัยกันอยู่ตามแนวที่มีทรายเปียก กินเศษอาหารขนาดจิ๋วที่ทะเลซัดเข้ามากับคลื่น หรือไม่ก็ล่าตัวอื่นกิน

ในขณะที่ป่าหรือทุ่ง มีพืชเป็นฐานหลักของสายใยอาหาร รองรับชีวิตอื่น ๆ ที่กินต่อกันเป็นทอด ๆ  เศษซากสารอินทรีย์จากทะเลและสัตว์จิ๋วในพื้นทรายพวกนี้ คืออาหารพื้นฐานของชีวิตในหาดทราย

การ “ทำความสะอาด” หาด โดยคราดเกลี่ยพื้นทรายให้ราบเรียบ ที่รีสอร์ต เทศบาล หรือแม้แต่อุทยานทางทะเลบางแห่งชอบทำกันเป็นกิจวัตรแต่เช้าตรู่ทุก ๆ วัน ด้วยความหวังดี คิดว่าเป็นการดูแลหาดให้เรียบร้อย มีระเบียบ สวยงามสไตล์ปุระชัย จึงเป็นการกวาดอาหารออกไปจากพื้นผิวทราย  นักวิจัยนกบนหาดรายงานไม่นานมานี้ว่า ตั้งแต่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมขยันกวาดหาด ประชากรนกหาดก็ลดลง จากเดิมที่เคยเป็นแหล่งนกหาดที่สำคัญ เพราะนกกินสัตว์ที่กินสัตว์จิ๋วและเศษซากอาหารในตะกอนทรายอีกต่อหนึ่ง

วิธีการกินก็มีต่าง ๆ กัน

สัตว์บางตัวเรียบร้อย บรรจงเลือกหยิบชิ้นอาหารที่ต้องการ เช่น เหรียญทะเล ยื่นหลอดตีนใต้ตัวออกมาเก็บอาหารตามพื้นทรายกิน หอยสองฝาจำนวนมากก็ใช้กล้ามเนื้อเป็นหลอด ยื่นออกมาจากรูที่มุดอยู่เพื่อหยิบอาหารกินเวลาน้ำขึ้นเช่นกัน

บางตัวมูมมาม อย่างปลิงทะเลและไส้เดือนทะเลหลายชนิด จะดูดตะกอนกินเข้าไปเหมือนเครื่องดูดฝุ่น ย่อยอาหารที่กินได้ในท้อง แล้วค่อยถ่ายตะกอนที่เหลือที่ย่อยไม่ได้ออกมา  ไส้เดือนทะเลบางตัวอย่าง ragworm อาศัยในรูรูปตัวยู มีรูเปิดสองทาง เวลาน้ำขึ้นท่วมรู มันจะกระพือเส้นรยางค์รุ่งริ่งข้างตัว ดึงกระแสน้ำเข้ารูพร้อมกับอาหาร ของเหลือก็พุ่งออกอีกรูหนึ่ง พอน้ำลง ตะกอนทรายกะสุดท้ายที่ถ่ายออก จะปรากฏเป็นพูนทรายขด ๆ เหมือนเส้นสปาเกตตีวางกองอยู่เหนือรู

แต่ที่น่าดูจริง ๆ (เพราะนั่งยอง ๆ ดูได้เลย) ก็คือพวกปูทหารและปูปั้นทราย พอน้ำลง พวกมันจะออกมาจากรู บางครั้งขึ้นมายึดพื้นที่เต็มหาด ใช้ก้ามกอบทรายเปียก ๆ บนผิวหาดเข้ามาหาตัว แล้วพลิกก้อนทรายไปมาอย่างรวดเร็วเพื่อกินอาหารที่ปนอยู่ในทราย จนก้อนทรายกลมดิก  กินหมด มันก็ผลักก้อนทรายออกไป พลางกอบก้อนใหม่ขึ้นมากินต่อ

ปูพวกนี้มีขนเล็ก ๆ อยู่บนกรามในปาก ปลายขนมีรูปร่างคล้ายช้อน เหมาะกับการตักไดอะตอมและอาหารชิ้นจิ๋ว ๆ ในตะกอนกิน โดยที่ปูปั้นทราย (ซึ่งเป็นชื่อที่ฉันตั้งขึ้นมาเองจากชื่อฝรั่ง Sand Bubbler Crab เพราะไม่เห็นมีชื่อไทย) จะมีขนปลายช้อนพวกนี้มากกว่าปูทหาร หรือ Soldier Crab  จึงไม่แปลกที่จะสังเกตเห็นว่า แม้ปูปั้นทรายและปูทหารจะหากินในพื้นที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน แต่เรามักพบปูปั้นทรายมากกว่าในที่ที่ทรายมีเลนปนอยู่น้อย และพบปูทหารมากกว่าในที่ที่ทรายมีเลนหรือสารอินทรีย์ปนอยู่มาก เพราะปูปั้นทรายมีประสิทธิภาพในการกินสูงกว่า จึงเป็นการแบ่งช่องทางหากินระหว่างปูทั้งสองยี่ห้อโดยปริยาย

ปูตัวเล็ก ๆ พวกนี้ต้องรีบกิน กิน กิน และกินในช่วงเวลาน้ำลง เพราะอีกไม่นานน้ำก็จะขึ้นมาอีก แล้วมันจะต้องหลบลงรูไปพัก และยังต้องหนีปลาอีกต่างหาก พฤติกรรมตรงนี้แหละที่ดูสนุกที่สุด

ก่อนมันจะขุดรูเพื่อหลบคลื่นและศัตรู มันจะปั้นก้อนทรายกลม ๆ มาเรียงเป็นกำแพงวงกลมรอบตัว แล้วก่อต่อขึ้นไปเป็นวงทีละชั้น จนกลายเป็นหลังคาโดมครอบตัวมันไว้ ดูเหมือนอิกลู บ้านคนเอสกิโม จากนั้นมันจึงขุดรูลงไปใต้หลังคานี้  พวกมันสร้างอิกลูได้รวดเร็วมาก ใช้เวลาหมุนตัวติ้วสามสี่รอบเพื่อก่อวงกำแพงไม่กี่วินาทีก็เสร็จ

nature4สัตว์มีกระดองเจ้าประจำหาดทรายที่สร้างบ้านมีหลังคาครอบรูแบบนี้อีกตัวคือแม่แก่ ว่ากันว่ามันมีลักษณะคล้ายแม่หอบในป่าชายเลน แต่ฉันไม่เคยเห็นตัวมันเลย เพราะมันขุดรูอยู่ลึกมาก มุดหนีจอบที่เราพยายามใช้ขุดก็เร็ว  ข้อสังเกตอย่างเดียวที่มีคือปากรูของมัน บางครั้งเห็นเป็นทรายพอง ๆ ตามหาดเปียก มีช่องอากาศอยู่ข้างใต้ เหยียบแล้วยุบ ลองแซะหลังคาทรายออกมา จะเห็นรูลึกอยู่ข้างใน

แต่สัญลักษณ์เด่นสุดที่ทำให้คนนึกถึงหาดทราย ได้แก่ ปูลม-ปูผี  เช่นเดียวกับปูปั้นทรายและปูทหาร ปูลม-ปูผีจะมีขนเล็ก ๆ ที่ขา สามารถดูดซับน้ำขึ้นมาจากทราย ทำให้ตัวชุ่มชื้นอยู่เสมอ วิ่งไปมาบนทรายกลางแดดจ้ายามน้ำลงได้ โดยไม่ต้องคอยวิ่งกลับไปแช่น้ำ  พวกมันจะทำหน้าที่รับกินเละ กินได้ตั้งแต่อาหารในตะกอนทราย ซากปลาเกยหาด เศษขยะอาหาร ทั้งเนื้อเน่าเนื้อสด จนบางครั้ง แม้แต่ลูกเต่าออกจากไข่ คลานตุปัดตุเป๋ลงทะเล ยังโดนปูผีสกัดจับกิน

สัตว์อื่น ถ้าไม่ล่าเขากิน ก็ชิงกินซากศพ  และบริเวณที่มีกิจกรรมคึกคักพัลวันที่สุด คือ บริเวณชายน้ำที่คลื่นกำลังซัด ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ฝั่งในช่วงน้ำขึ้น หรืออยู่ห่างฝั่งในช่วงน้ำลง เพราะคลื่นจะคอยซัดตัวสัตว์และซากอาหารต่าง ๆ ขึ้นมา หรือรบกวนสัตว์ที่มุดทรายอยู่ตื้น ๆ  เราจึงมักจะเห็นฝูงนกหัวโต นกคอสั้นตีนไว วิ่งพล่านล้อคลื่น คอยจิกกุ้งปู หรือพวกหอยนักล่าต่าง ๆ เช่น หอยวงพระจันทร์ หอยปากกระจาด  สังเกตดู จะพบใกล้ชายน้ำบ่อยกว่าบริเวณอื่นสักหน่อย แต่สุดยอดนักชิงซากเห็นจะต้องยกให้แก่หอยโต้คลื่นแห่งแอฟริกาใต้ ไอ้ตัวนี้มีความสามารถพิเศษ ทันทีที่มันได้กลิ่นซากปลาหรือเศษซากสัตว์อื่นถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่ง มันจะโผล่ออกมาจากรู ซึ่งอยู่บริเวณน้ำตื้นชายฝั่ง แล้วใช้แผ่นตีนอันกว้างใหญ่ แผ่เป็นกระดานโต้คลื่น แล่นเข้ามางาบอาหาร ก่อนที่ซากนั้นจะถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งไปไกลเกินแนวที่มันจะเข้าหาได้  ทุกวันนี้ ฉันยังแอบหวังจะเห็นตัวอะไรเล่นสนุกแบบนั้นในเมืองไทย

ชีวิตมหัศจรรย์ในหาดทรายยังมีให้เล่าอีกไม่น้อย แต่ถ้าจะดูชีวิตหาดยุ่บยั่บมากมายหลากหลายชนิดกันจริง ๆ แล้วละก็ ต้องไปที่หาดที่มีเลนปนเยอะหน่อย ไม่ก็หาดโขดหิน หรือที่ที่มีก้อนหินระเกะระกะ เพราะที่พวกนี้ มีทั้งบ้านและอาหารมากกว่าในหาดทราย

ไว้โอกาสหน้าก็แล้วกัน