น้ำหนักของสมองและหัวใจในสารคดีของ โตมร ศุขปรีชา
“เราต้องขยายนิยามของความเป็นสารคดีออกไปให้กว้างมากที่สุด”

เรื่อง : นิรมล มูนจินดา
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

author14 author14a

 

นักอ่านและแฟน ๆ รู้ดีว่า งานของ โตมร ศุขปรีชา ไม่ใช่งานประเภท “ทั่วไป”
ตัวหนังสือในงานเขียนประเภทต่างๆ ของโตมรประกอบด้วยธาตุบางอย่างที่เมื่ออ่านแล้วก็ราวกับได้แลเห็นโลกและจักรวาล พวกมันรวบรวมข้อมูลความรู้มากพอ ๆ กับที่บรรทุกความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้อ่านหยั่งถึงร่องหยักของสมองและน้ำหนักของหัวใจโตมรได้เป็นอย่างดี

จบมัธยมปลายจากอัสสัมชัญ ลำปาง แล้วเรียนชีวเคมีต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนจะทำงานประจำในกองบรรณาธิการนิตยสาร Trendy Man ที่ซึ่งเขาได้เริ่มเขียนสารคดีสิ่งแวดล้อม ก่อนจะไปสู่สารคดีชีวิตสัตว์และชีวิตคนในกาละและเทศะต่อๆ มา

“ช่วงแรกที่ทำสารคดีสิ่งแวดล้อม จะเป็นทวิลักษณะ คือมีอยู่สองฝั่งตลอด เราพยายามจะเป็นกลาง แต่หลัง ๆ วิธีมองโลกของเรามันเปลี่ยน คือไม่ได้เห็นอะไรเป็นสองฝั่งแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว แต่จะเห็นว่าในฝั่งนี้ก็มีอะไรเหมือนกับอีกฝั่งหนึ่ง หรือในฝั่งนี้เองมันก็ไม่ได้เห็นเหมือนกันไปทั้งหมด หลาย ๆ กรณีถ้าคุยกับฝ่ายต่าง ๆ จริง ๆ แล้วก็ไม่มีฝั่งเลยด้วยซ้ำ เพราะว่ามันกลม

“เวลาที่เราเขียนออกไป มันไม่มีอะไรเป็นความจริงแท้สมบูรณ์ มันเป็นได้แค่ความจริงในสายตาของเรา-ในเวลานั้นอีกต่างหาก ถ้าเปลี่ยนสถานที่หรือเปลี่ยนเวลา ความจริงนั้นก็อาจจะไม่จริงอีกต่อไป สิ่งที่เราค้นคว้ามาแทบล้มประดาตาย ที่เราคิดว่ามันถูกต้องแน่นอน มันก็อาจจะไม่ใช่

“การเอาข้อมูลมาเล่าไปเรื่อย ๆ เป็นความพยายามบอกความจริงแบบหนึ่ง ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งก็ถือว่ากว้างพอที่จะเป็นสารคดีได้แล้ว เช่น เราอาจนำเสนอเรื่องวัฒนธรรมไทยอย่างซื่อตรงที่สุดในแบบที่เราคิดว่ามันเป็น แต่ที่จริงมันอาจบิดเบือนไปแล้วทั้งหมดเลยก็เป็นได้ เพราะมันอาจจะเป็นวัฒนธรรมไทยในแบบที่ถูกจัดตั้งในยุคจอมพล ป. ถ้าเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความจริงนั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมด

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าวิธีนำเสนอหรือการให้ข้อมูลแบบนี้ถูกหรือผิด แต่อยู่ที่ว่าคนที่มีอำนาจรัฐหรือคนทำสารคดีมักจะมองว่าสารคดีแบบนี้คือสารคดีที่ถูกต้อง ดีงาม เที่ยงธรรม แม่นยำที่สุดแล้ว ในขณะที่สารคดีแบบอื่น ๆ ที่อาจจะมีตัวตนและอารมณ์ของผู้เขียน ดูจะเป็นสารคดีที่ลำเอียง แต่ที่จริงความลำเอียงมีอยู่ในสารคดีทุกแบบ

“สำหรับผม สารคดีคืออะไรก็ได้ที่คนเขียนตั้งใจจะสื่อถึงความจริง ซึ่งความจริงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และบางทีการพยายามจะสื่อถึงความจริงก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้เราเล่าความจริงนั้นอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ คนเขียนสารคดีหลายคนจึงเลือกเอากลวิธีแบบ fiction มาใช้ ระยะหลังนี้ก็มีงานก้ำกึ่งที่พูดไม่ได้ว่าเป็นสารคดี หรือบทความ หรือเรื่องแต่ง แต่มันอยู่ตรงกลาง เช่น กระทบไหล่เขา ของ ปราบดา หยุ่น ซึ่งผมว่าดีมาก จะส่งซีไรต์ในฐานะเรื่องสั้นก็ได้ หรือจะส่งประกวดแบบสารคดีก็ได้เหมือนกัน ผมคิดว่าเราต้องขยายนิยามของความเป็นสารคดีออกไปให้กว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“บางคนบอกว่างานเขียนของผมมีลักษณะเฉพาะ คงเพราะผมเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ได้รับการอบรมบ่มเพาะมาด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ฟังดูอาจเป็นเรื่องธรรมดาตามแบบฉบับไปหน่อย แต่ว่าวิธีคิดแบบตรรกะ (logic) นี้ใช้ได้จริง ๆ เพราะสิ่งนี้เป็น สิ่งนี้จึงเป็น เป็นธรรมะใช่หรือเปล่า อันนี้เป็นเหตุผลของอันนี้ แล้วผลจะพาไปสู่อะไรได้อีก เวลาเรามอง เราก็จะมองแบบเชื่อมโยง บางทีการเชื่อมโยงของเราดูแล้วขัดเขิน ดูแล้วพยายามโยงเหลือเกินก็มี ซึ่งเป็นความล้มเหลว แต่บางทีมันก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้โดยที่เราเองก็คาดคิดไม่ถึง อีกอย่างที่วิทยาศาสตร์สอนมากคือการช่างสังเกต เราจะเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่วิทยาศาสตร์สอนให้สังเกตแบบประจักษนิยมหรือแบบภายนอก แต่เราก็เอามาใช้สังเกตสิ่งที่เป็นเรื่องภายในด้วย นอกจากนั้นผมไม่ค่อยเชื่ออะไรง่าย ๆ พอสงสัยหรือคิดวิพากษ์วิจารณ์ (skeptic) ก็เกิดคำถามใหม่ ๆ ขึ้นมา

“ศาสนาคริสต์ก็มีอิทธิพลค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งที่ผมมองเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มันมหัศจรรย์มาก เป็นเพราะถูกปลูกฝังแต่เด็กว่าพระเจ้าสร้างสิ่งต่าง ๆ เวลาเห็นทะเลหรือภูเขา เราจะรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก แต่ว่าพระเจ้าสำหรับผมอาจจะไม่ใช่ตาแก่ผมยาว เวลาที่ผมอ่านงานของ แอนนี ดิลลาร์ด ซึ่งเป็นนักชีววิทยาที่เขียนความเรียงด้วย เขาเขียนถึงความมหัศจรรย์ขณะที่เขากอบดินขึ้นมาในกำมือ ในนั้นมันมีชีวิตอยู่มากมายมหาศาล ซึ่งเราเข้าใจได้ง่ายว่าเขากำลังพูดถึงสิ่งที่เราเรียกว่าพระเจ้า เป็นความรู้สึกที่ ดร. สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ บอกว่า ไม่อาจเล่าให้คนอื่นฟังได้โดยที่คนฟังไม่อ้วก

“ชอบเขียนเรื่องคน แบบที่เราเดินทางไปคนเดียวหรือไปกันน้อยคน คือเคยไปทำเรื่องแม่น้ำเมยกับเพื่อนช่างภาพ (ไทยรัฐ ลิ้ม) แล้วมีความทรงจำที่ดีจากการเดินทางแบบนั้น หลังจากนั้นไม่ว่าเราจะทำเรื่องอะไรที่เดินทางไปคนเดียว เราจะได้เรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่บังเอิญได้ และบังเอิญที่มีคนเข้ามาคุยด้วย แล้วเราก็ไม่ได้คุยอย่างที่เป็นนักข่าว ไม่ได้จด แต่เราจำคำพูดเขาได้หมดเลย ประโยคมันเหมือนดีดขึ้นมา จำบรรยากาศได้ จำภาพตอนนั้นได้ว่าเวลาที่เขาพูดแบบนั้นแล้วหน้าตาเขาเป็นอย่างไร

“ความเชื่อเรื่องคนสมัยนี้มีเวลาน้อยแล้วจะไม่อ่านอะไรยาว ๆ เป็นความเชื่อของนักการตลาด ฉะนั้นทุกอย่างในหน้านิตยสารจะถูกซอยให้สั้นลงมากที่สุด และก็เป็นนักการตลาดอีกนั่นแหละที่เชื่อว่า คนอ่านนิตยสารเพื่อความรื่นรมย์ เพราะฉะนั้นสารคดีจะเครียดไม่ได้ พูดถึงคนใต้สะพานไม่ได้ เดี๋ยวอ่านแล้วที่กำลังทาไวเทนนิ่งอยู่จะทาไม่ลง

“แต่ความเชื่ออย่างนั้นก็อาจจะจริงสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เสพนิตยสาร คนที่ชอบอ่านยาว ๆ ก็จะอ่านพ็อกเกตบุ๊กแทน เราก็เลยไม่มีพื้นที่สำหรับนักเขียนสารคดีที่เขียนแบบยาว ๆ อิ่ม ๆ คิดเยอะ ๆ พอเราเขียนอะไรที่คิดเยอะ ๆ ก็ถูกว่าว่าอ่านไม่รู้เรื่อง คนอ่านต้องการสิ่งที่สำเร็จรูปมากขึ้น อ่านแล้วเหมือนชงน้ำร้อนกินได้เลย และต้องเป็นเรื่องใกล้ตัว

“สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่คือเขียนเรื่องใกล้ตัวก็ได้ เขียนเรื่อง instant ก็ได้ แต่เราจะซ่อน “ยาพิษ” ของเราเข้าไป เพราะถ้าเรากระโดดออกมานั่งทำหนังสือทางเลือก อาจจะไม่มีคนอ่านก็ได้

“เช่นถ้าเราจะพูดถึงเรื่องชนชั้นหรือความไม่เท่าเทียม ไปเขียนตรง ๆ ก็อาจจะไม่มีคนอ่าน เราก็อาจหันมาทำเรื่องชุดชั้นในที่ออกแบบตามกระแส maximalism ที่ต้องปักเพชรใส่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วก็ไม่มีใครเห็น แล้วเราก็วิพากษ์ย้อนไปว่า minimalism มันทำให้ตัวตนของเราแตกต่างจากคนอื่นได้ไม่มากพอ ตอนนี้โลกก็เลยเหวี่ยงไปหาความหรูหรา ทุกคนจะต้องเข้าคลับแบบจ่ายค่าสมาชิกส่วนตัวแพงมาก ในขณะที่คนอื่น ๆ ดาษดื่นธรรมดาจะเข้าไม่ได้ ต้อง “ไฮ” แท้ ๆ “ไฮ” จริง ๆ ถึงจะเข้าได้ ถ้าเราเขียนวิพากษ์สังคมตรง ๆ ก็จะไม่มีคนอ่าน

“แต่ถ้าถามว่าพื้นที่ของสารคดีโดยรวมลดลงหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ แต่มันเป็นที่ต้องการมากขึ้น advertorial ก็เป็นสารคดีที่ “รับใช้” อย่างสุดขั้ว อย่างเต็มที่และเต็มตัว เช่น มีการสัมภาษณ์คน มีการพูดถึงตัวยาส่วนประกอบ แต่เป็นความรู้ที่บอกด้านเดียว

“คิดอยู่เสมอว่า เมื่องานเขียนออกไปสู่สาธารณะแล้วก็ไม่ใช่ของเราอีก แล้วแต่ใครจะตีความอย่างไร แต่เวลาที่เขาตีความโต้ตอบกลับมาได้ตรงใจเรา ใจเราก็ฟูขึ้นมาเชียว ถ้าเราได้จดหมายจากผู้อ่านที่เขียนมา ว่าเราทำอะไรให้เขาได้บ้าง เราก็ดีใจ

“เคยทำสารคดีเรื่องคนที่เป็น sadomasochism ปรากฏว่ามีผู้อ่านชายที่เป็นมาโซคิสม์เขียนมาขอบคุณว่า ชีวิตเขาเหมือนอยู่ในนรกเพราะว่าไม่มีคนเข้าใจ เพราะเขาต้องปิดบังตัวเอง สังคมทั้งหมดก็มองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องวิปริต เป็นเซ็กซ์ที่ไม่ดี พอได้อ่านเรื่องนี้แล้วก็รู้สึกว่ามีคนเข้าใจเขาจริง ๆ

“สารคดีเป็นงานที่มีคุณค่ากับชีวิตมาก ได้เดินทาง ได้พบคน ได้คิด ได้เขียน ได้เผยแพร่ และมันหล่อหลอมความคิดให้เราด้วย ถ้าไม่ได้ทำสารคดีเรื่องแรกคือเหมืองแม่เมาะ เราก็คงไม่รู้ว่าลำปางที่เราอยู่มาตั้งแต่เล็ก ที่เข้าใจว่าสงบ ไม่เห็นมีอะไร ที่จริงแล้วมีเรื่องแบบนี้อยู่ เป็นอีกโลกหนึ่งเลย แล้วอย่างอื่น ๆ ที่ไกลออกไปล่ะ ก็ยิ่งไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดใหญ่