โลกสารคดีที่กว้างไกลสุดสายตาของ ชนินทร์ ชมะโชติ แห่ง Panorama
Worldwide

เรื่อง : เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

author02 author02a

 

ชนินทร์ ชมะโชติ สัมผัสงานสารคดีโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว เริ่มด้วยการเป็นช่างภาพ ผู้สื่อข่าว และเขียนบทสารคดีที่แปซิฟิคฯ ซึ่งนำทีมโดย ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ปี ๒๕๓๐ รายการ “โลกสลับสี” ซึ่งชนินทร์รับบทเป็นทั้งโปรดิวเซอร์ ถ่ายภาพ และเขียนบท ปรากฏสู่สายตาผู้ชมเป็นครั้งแรก สร้างความฮือฮาให้ผู้ชม เรตติ้งถล่มทลาย ด้วยเนื้อหาที่หลากหลายและรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ความสำเร็จของ “โลกสลับสี” นอกจากจะสร้างชื่อให้แก่แปซิฟิคฯ แล้ว ยังเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รายการสารคดีได้รับความสนใจมากขึ้น

ปี ๒๕๓๖ ชนินทร์และทีมโลกสลับสีแยกตัวจากแปซิฟิคฯ ออกมาตั้งบริษัทพาโนราม่า ดอคคิวเมนทารี่ เพื่อผลิตสารคดีโทรทัศน์และสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ จนถึงปี ๒๕๔๗ ชนินทร์ย้ายบ้านอีกครั้ง มาผนึกกำลังกับช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. ก่อตั้ง Panorama Worldwide เพื่อผลิตสารคดีป้อนให้โมเดิร์นไนน์ทีวีและตลาดโลก

แม้วันนี้ชนินทร์จะมีบทบาทหลักเป็นผู้บริหารที่ต้องดูแลคุณภาพงานของ Panorama Worldwide แต่ด้วยความรักในงานสารคดีที่ซึมอยู่ในสายเลือดแบบที่เขาเรียกว่า “เหมือนเป็นยาเสพติดไปแล้ว” ทำให้เขาไม่อาจทิ้งงานสนุก ๆ ในสายการผลิตไปได้ เมื่อมีโอกาส ชนินทร์จะถอดหมวกผู้บริหารออก แล้วกระโดดลงไปเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ คนเขียนบท หรือแม้กระทั่งตากล้องด้วยตัวเอง

“สิ่งที่เราเน้นมากที่สุด คือการใส่ใจคุณภาพในทุกรายละเอียด รายการ “Panorama Special” ที่จะเริ่มออกอากาศเดือนเมษายนนี้ จะเป็นสารคดีเต็มรูปแบบที่ทุ่มทั้งเวลาและทุนเพื่อให้ได้คุณภาพระดับสากล เป็นรายการสารคดีซึ่งต่างจากงานที่ผลิตโดยคนไทยที่ผ่านมา เน้นรูปแบบการนำเสนอ เทคนิคการถ่ายทำ การดำเนินเรื่องต้องสนุก ภาพต้องสวย กราฟิกต้องงาม ลำดับภาพต้องมัน ดนตรีประกอบสื่ออารมณ์ได้ พิธีกรต้องเหมาะกับเนื้อหา และไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์ก็ได้ เรื่องราวจะหลากหลายมาก ทั้งชีวิตมนุษย์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ชีวิตสัตว์ โบราณคดี เริ่มต้นด้วยสารคดีชุดใหญ่ “ตามรอยพระพุทธเจ้า” ซึ่งผมกำกับเอง เป็นเรื่องที่ผมอยากทำที่สุดในชีวิต หาข้อมูลมา ๑๐ กว่าปี แต่หยุดไประยะหนึ่งเพราะใช้ทุนหลายสิบล้าน

“รูปแบบของสารคดีโทรทัศน์เปลี่ยนไปเยอะ เมื่อมองย้อนกลับไป “โลกสลับสี” มันเหมือนหนังทดลองที่เชยมาก แต่สำหรับยุคนั้นมันโมเดิร์นสุด ๆ แล้ว ทุกวันนี้คนได้เห็นว่าสารคดีระดับโลกเป็นยังไง ถ้ายังยึดรูปแบบเดิมจะขายไม่ออก จึงต้องเปลี่ยนกระบวนการคิด วิธีการทำงาน เรื่องและวิธีการนำเสนอต้องน่าสนใจ

“ปัจจุบันบทบรรยายมีบทบาทน้อยลง เสียงจริงมีบทบาทมากขึ้น เพราะคนดูต้องการอะไรที่มีชีวิตมากขึ้น รายการส่วนใหญ่จึงหันมาเน้นด้านอารมณ์ อะไรที่ทำให้คนดูดูสนุก ถือว่าใช้ได้แล้ว

“กราฟิกก็สำคัญมาก เพราะจะทำให้คนดูเข้าใจง่ายขึ้น ในสารคดี “ตามรอยพระพุทธเจ้า” เราใช้กราฟิก ๓ มิติสร้างเสาพระเจ้าอโศก สร้างกรุงราชคฤห์ขึ้นมาใหม่ เนรมิตภาพอดีต ๒,๕๐๐ ปีขึ้นจากข้อมูลและภาพถ่ายที่ศึกษาค้นคว้ามา

“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะให้คนกลุ่มไหนดูสารคดีของเรา เด็กอายุ ๑๔ จนถึงผู้ใหญ่อายุ ๖๕ เขารับสารตรงนี้ได้หมด เพราะการเรียนรู้ของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งมีฐานคนดูกว้างเท่าไรยิ่งเป็นผลดีต่อประเทศชาติมากเท่านั้น การทำงานให้คนดูหลากหลายกลุ่มจึงต้องยึดความสนุกเป็นเกณฑ์อย่างหนึ่ง หาอารมณ์ร่วมบางอย่างที่ทำให้คนต่างวัยดูด้วยกันได้

“ความคิดที่จะไปตลาดโลกเริ่มมา ๑๐ ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยอยู่พาโนราม่า ดอคคิวเมนทารี่ เราพยายามเปลี่ยนกระบวนการคิดและมุมมองเรื่องคุณภาพมาตลอด ทำเรื่องที่ตลาดโลกยอมรับ ควบคุมคุณภาพอย่างถึงพริกถึงขิง ทุกเรื่องไม่ว่าจะออกอากาศในเมืองไทยหรือตลาดโลก ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน

“สมัยที่ออกตลาดโลกใหม่ ๆ เราจับเรื่องที่กว้างมากเกินไป อย่างเราทำเรื่องมวยไทย คิดว่าต่างชาติชอบเรื่องพวกนี้ เขาต้องซื้อแน่ ตอนนั้นทำเรื่องความเป็นมา เน้นท่าทาง กลายเป็นตำราสอนเตะมวยไป มีเรื่องชีวิตนักมวยเล็กน้อย แต่เมื่อไปขาย เขาไม่เอา ฝรั่งชอบเรื่องอะไรที่เจาะลงไปลึก ๆ ถ้าเราทำเรื่องชีวิตของนักมวยคนหนึ่งที่ไต่เต้า ฝึกซ้อมไปจนขึ้นชก เน้นความเป็น emotional มากขึ้น ฝรั่งซื้อทันที เรามักมองจากภาพกว้าง แต่ไม่ค่อยได้มองที่จุดเล็ก ๆ แล้วขยายออกไป ฝรั่งเคยถามว่ามีสารคดีเรื่องพวงมาลัยที่ห้อยหน้ารถตุ๊กตุ๊กมั้ย ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยมองข้าม เราต้องจับจุดให้ได้ว่าเขาชอบอะไร แล้วเมื่อเป็นคนเอเชียทำเรื่องเอเชีย เรื่องในบ้านตัวเอง เราจะถ่ายทอดได้ลึกซึ้งกว่าคนยุโรปทำ ไม่ต้องไปแข่งทำเรื่องสิงโตไล่กินม้าลายที่แอฟริกา เพราะเราสู้เขาไม่ได้ แล้วตอนนี้เรื่องของโลกตะวันออกมันดึงดูดคนในโลกได้มาก เราเชื่อว่าความสามารถส่วนบุคคลและเทคโนโลยีไม่แพ้กัน แต่แพ้กันที่มุมมอง ถ้าปรับมุมมองได้เมื่อไร เราสู้เขาได้แน่

“ตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา เห็นเลยว่าถ้าจะทำสารคดีแบบที่เราอยากทำอย่างเดียว จะต้องมีสายป่านยาวมาก ขณะที่บ้านเรายังไม่เปิดโอกาสเหมือนชาติตะวันตกที่รายการสารคดีครองเวลาไพรม์ไทม์*ทั้งหมด พอทำแล้วก็เลยเจ๊ง แต่คิดว่าท้อไปก็แพ้สิวะ ก็เลยก้มหน้าก้มตาทำไป แต่ก็ต้องเงยดูคนอื่นในโลกด้วยว่าเขาไปกันถึงไหนแล้ว ตอนนี้เลยต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดใหม่ เมื่อมาเป็น Panorama Worldwide เราเปิดกว้างมากขึ้นในการรับงาน นอกจากทำสารคดีโทรทัศน์แล้ว เรายังรับทำสารคดี presentation สปอตโฆษณา ซึ่งใช้เวลาน้อย รายได้ดี คือสารคดีในฝันของเรายังไม่เกิดหรอก แต่เมื่อตั้งเป็นองค์กรธุรกิจ บริษัทก็ต้องอยู่ได้ ค่อย ๆ ทำควบคู่กันไประหว่างงานที่ทำเพื่อเงินกับงานที่ทำเพื่ออุดมการณ์ ทำรายการที่คนอื่นอยากดู เพื่อเอาเงินมาทำสารคดีที่เราอยากทำ

“วิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สำคัญมาก มันไม่ใช่แค่ให้โอกาสคนทำสารคดี แต่ให้โอกาสคนในชาติได้พัฒนาความคิด เพราะที่ผ่านมาพวกเขาถูกมอมด้วยมลภาวะทางปัญญา เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องทนดูต่อไป เหมือนเราคิดแทนชาวบ้านมาตลอดว่าเขาชอบบันเทิง ซึ่งไม่ใช่ เพียงแต่ที่ผ่านมา ๕๐ ปี เขาไม่เคยมีโอกาสได้ดูอย่างอื่นเลย ดังนั้นไม่ใช่ว่าถ้าสารคดีมาฉายเวลาไพรม์ไทม์แล้วคนไม่ดู มันอยู่ที่ว่า ถ้าเวลาดี การผลิตดี ดูสนุก คนก็รับได้หมด

“กระแสโลกกำลังก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ผมว่าถึงจุดหนึ่งสัดส่วนรายการจะโดนบีบให้เปลี่ยน แม้ละครก็จะมีสาระมากขึ้น ช่องไหนที่ปรับตัวได้เร็วกว่า ก็จะไปได้เร็วกว่า อย่างโมเดิร์นไนน์เองวางคอนเซ็ปต์ตัวเองว่าเป็น “Knowledge-based Society” คือ “สังคมอุดมปัญญา” ผมว่าถูกต้องแล้ว มันเป็นการต่อยอดปัญญาของมนุษย์ ซึ่งสำคัญที่สุด เมื่อโมเดิร์นไนน์ให้โอกาสสารคดีปรับตัวใหม่ ดูง่ายขึ้น เวลาดี คนดูก็มากขึ้น เมื่อเรตติ้งขึ้น เอเจนซีก็เปลี่ยนจากที่เคยสนับสนุนละคร เกมโชว์ มาสนับสนุนรายการสารคดี

“สารคดีสำหรับเรา คือ “เรื่องจริง” ที่ถูกนำเสนออย่าง “สร้างสรรค์” ด้วย อย่างน้อยต้องเกิดผลกระทบบางอย่างกับคนดู ดูแล้วคิดต่อได้ แต่ถ้านำเสนออย่าง “ธรรมดา” ดูจบแล้วผ่านไป ถือว่าไม่ใช่สารคดี สารคดีในฝันของเราคงเป็นอย่าง “Panorama Special” เพียงแต่เราฝันอยากให้รายการนี้อยู่คู่เมืองไทยไปนานที่สุด จนแม้ผมจะตายไปแล้ว เป็นรายการที่ให้ความรู้คนในชาติ แล้วเผยแพร่สู่ชาติอื่นในเอเชีย ไม่อยากให้มันหายไปเพราะทุนหมดหรือเปลี่ยนผู้บริหาร

“ความสุขของพวกเราคือการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และนำสิ่งที่พบเห็นมาเล่าให้คนอื่นฟัง ให้เขาดูแล้วมีความสุข ได้ความคิด มุมมองใหม่ ๆ ยิ่งโลกพัฒนาไป ยิ่งมีเรื่องราวให้พูดถึงเสมอ ทุกวันนี้ตื่นขึ้นมาก็เป็นวันใหม่เสมอ ยังตื่นเต้นกับเรื่องใหม่ที่จะเจออยู่ทุกวัน และแม้จะเป็นเรื่องเดิม ทำมาแล้ว ๒๐ ปี แต่อย่างน้อยมันก็เกิดในอีกวันที่ไม่ใช่เมื่อวาน

“ประสบการณ์กว่า ๒๐ ปีในงานสารคดี ทำให้ผมสรุปได้ว่าเราเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องราวอีกมากมายในจักรวาล ตายแล้วก็ไม่มีวันรู้ได้หมด เปรียบเหมือนกำทรายอยู่ในมือ แล้วคิดว่า…โอ้โฮ ทรายในมือของเรามันมากมายมหาศาลเลยนะ ขณะที่เงยหน้าขึ้นมองแล้วพบว่าตัวเองยืนอยู่บนชายหาดที่ใต้เท้ายังมีผืนทรายอีกกว้างไกลสุดสายตา”