วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

interview1

ในรอบ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกคงรู้สึกเหมือนกันว่าภูมิอากาศของโลกดูจะมีความผันผวนผิดไปจากเดิม ฝนตกหนักและถี่ขึ้น เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง และบางช่วงก็เกิดพายุฝนรุนแรง ขณะที่บางช่วงอากาศร้อนจัด และในพื้นที่บางแห่งก็เกิดความแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนาน ที่เมืองไทยเอง ช่วงใกล้สิ้นปีควรเป็นช่วงเวลาที่อากาศหนาวมาเยือนแล้ว แต่ปรากฏว่าในหลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนักเกือบทุกวันราวกับอยู่ในฤดูฝน

ตัวอย่างความวิปริตของอากาศที่เห็นชัดเจนที่สุดในรอบปีนี้ น่าจะได้แก่เหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรีนาที่มีความรุนแรงมากที่สุดในอ่าวเม็กซิโก พัดเข้าถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ ในรัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา สร้างความเสียหายอย่างยับเยิน มีผู้เสียชีวิตนับพันคน

ขณะที่ข่าวการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่ปรากฏอยู่เป็นระยะ ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้น้ำท่วมโลกได้หรือไม่

ความผันผวนของอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงเวลาไม่ห่างกันนัก สร้างความหวั่นวิตกแก่คนทั่วโลก

คำถามก็คือ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อโลกของเราบ้าง
จริงหรือไม่ ที่อาจมีหายนะครั้งใหม่ๆ รอเราอยู่ อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่วิปริต ?
ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต จะมาไขปริศนาเรื่องนี้ให้เราฟัง

ดร. อานนท์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านสมุทรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นหนึ่งในทีมสำรวจเพื่อฟื้นฟูบูรณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลังจากเหตุการณ์สึนามิ

คำตอบของ ดร. อานนท์สำหรับสาเหตุของปรากฏการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น อาจสรุปได้ด้วยข้อความสั้นๆ เพียงประโยคเดียวว่า

“สาเหตุที่อากาศวิปริต เพราะโลกร้อนขึ้น ๑ องศา”

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นกว่าปรกติหรือเปล่าครับ
มันมีเหตุการณ์ที่ทำให้ดูเหมือนภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ อาทิ ความรุนแรงของพายุเฮอริเคนแคทรีน่าในอ่าวเม็กซิโก แต่ถ้าเทียบดูกับสถิติภูมิอากาศของโลกในระยะยาวแล้ว ยังไม่ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ชัดเจนจนสรุปได้ว่าภูมิอากาศของโลกเราเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะระดับความรุนแรงของพายุหรือความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ก็ยังจัดอยู่ในระดับที่เคยเกิดมาแล้ว เพียงแต่ดูเหมือนว่าสภาพอากาศที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะเกิดถี่ขึ้นมากกว่า เรื่องของสภาพอากาศโดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมฝนแล้งนี้ไม่ใช่ว่าจะดูกันปีเดียวแล้วสรุปออกมาเป็นสภาพภูมิอากาศได้ทันที ต้องดูกันนานๆ แต่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเห็นตรงกันก็คือ ทุกวันนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นประมาณ ๑ องศา เมื่อเทียบกับเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อฟังเผินๆ เราอาจจะคิดว่า ร้อนเพิ่มขึ้นนิดเดียวเอง ไม่เห็นจะเยอะ แต่นั่นคืออุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งโลกและเฉลี่ยตลอดปี ซึ่งในความเป็นจริงแผ่นดินมักจะร้อนมากขึ้นกว่าพื้นน้ำ ดังนั้นแผ่นดินซึ่งมีพื้นที่เพียงประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลกอาจจะร้อนขึ้นถึง ๓-๔ องศา ขณะที่น้ำทะเลซึ่งมีพื้นผิวมากกว่าแผ่นดินถึง ๔ เท่าอาจจะร้อนขึ้นเพียงเล็กน้อย การที่โลกทั้งโลกจะร้อนเพิ่มขึ้น ๑ องศาได้นั้น นั่นหมายความว่าแผ่นดินจะต้องร้อนเพิ่มขึ้นมากกว่าทะเลถึง ๔ เท่า อุณหภูมิระหว่างบนฝั่งกับในทะเลที่แตกต่างกันมากขึ้นนี้ จะทำให้ลมที่พัดจากทะเลเข้าหาฝั่งอย่างเช่นลมมรสุมหรือลมประจำถิ่นอื่นๆ พัดรุนแรงขึ้น พายุหมุนก็จะมีโอกาสเกิดได้บ่อยขึ้นด้วย สิ่งที่ตามมาก็คือลมจะพาไอน้ำจากทะเลเข้ามาหาฝั่ง และเมื่อปะทะกับภูเขาและแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง มวลอากาศก็จะยกตัวสูงขึ้นกระทบกับอากาศเย็นข้างบน เกิดเป็นเมฆและฝน เพราะฉะนั้นบริเวณชายฝั่งก็จะมีฝนตกมากขึ้น

กรณีที่มีฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ตอนบนในช่วงวันที่ ๑๙-๒๐ พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศใช่หรือไม่
การเกิดฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในช่วงดังกล่าว เป็นเพราะลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยได้พาเอาความชื้นจากทะเลเข้าปะทะกับชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก และเกิดการยกตัวของมวลอากาศชื้นจนเกิดเป็นเมฆและฝนตามบริเวณชายฝั่ง ลักษณะอากาศแบบนี้เป็นลักษณะปรกติที่พบได้ในช่วงเวลานี้ของปี และยิ่งเวลาผ่านไป แนวฝนก็จะยิ่งเคลื่อนลงไปทางใต้ตามการเคลื่อนที่ของร่องความกดอากาศต่ำ ซึ่งเคลื่อนที่ตามแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ สมมุติฐานอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคือลมมรสุมที่พัดแรงขึ้น ซึ่งลักษณะอากาศที่เกิดขึ้นนี้ก็สอดคล้องกับสมมุติฐานอันนี้ แต่การที่จะสรุปว่าสภาพภูมิอากาศหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “climate” ของประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้วหรือไม่นั้น เราไม่สามารถบอกจากข้อมูลสภาพอากาศ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “weather” ครั้งนี้เพียงครั้งเดียวหรือจากช่วงเวลาสั้นๆ แค่ปีสองปี แต่ต้องนำข้อมูลสภาพอากาศจากหลายๆ ปีต่อเนื่องกันมาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นภาพรวม ถึงจะสามารถสรุปออกมาเป็นสภาพภูมิอากาศได้

ถ้าอากาศที่ร้อนขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น พายุเฮอริเคนแคทรีนาในอ่าวเม็กซิโกเกิดจากสาเหตุนี้ด้วยหรือไม่
น่าจะเป็นไปได้มาก ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลจากการวัดสภาพอากาศในระยะยาวที่จะบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าพิจารณาจากหลักการทางฟิสิกส์แล้ว สามารถอธิบายได้ว่าพายุหมุนเขตร้อนทุกลูกจะต้องเกิดในทะเลเสมอ โดยจุดเริ่มต้นของพายุมักจะเป็นบริเวณเล็กๆ ในมหาสมุทรที่น้ำทะเลร้อนขึ้นมากกว่าส่วนอื่นโดยรอบ และทำให้อากาศโดยรวมหมุนวนเข้าหาตาของพายุนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ตัวพายุก็จะดูดความร้อนที่อยู่ในน้ำทะเลเข้าไปเพิ่มพลังให้ตัวมันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าน้ำทะเลร้อนขึ้นเนื่องมาจากอากาศที่ร้อนขึ้น พายุที่เกิดขึ้นก็จะมีกำลังและความรุนแรงมากขึ้นด้วย อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตก็คือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอ่าวไทยที่คล้ายกับอ่าวเม็กซิโก คือเป็นอ่าวที่มีปากอ่าวอยู่ทางด้านตะวันออก สิ่งที่น่ากลัวสำหรับอ่าวแบบนี้ก็คือ ไม่มีแผ่นดินที่จะขวางและลดความรุนแรงในตัวพายุ นอกจากนี้สภาพอ่าวที่เป็นอ่าวปิด คือมีพื้นที่อ่าวกว้างแต่ปากอ่าวแคบ ยังจะทำให้น้ำทะเลที่ถูกพายุดูดเข้ามาไม่มีทางระบายออกไป ส่งผลให้การเกิดภาวะน้ำหนุน หรือการยกตัวของน้ำทะเลเนื่องจากพายุที่เรียกว่า storm surge ในอ่าวแบบนี้มีความรุนแรง สังเกตว่าความเสียหายส่วนใหญ่ในเมืองนิวออร์ลีนส์ไม่ได้เกิดจากลมพายุ แต่เกิดจากน้ำท่วมมากกว่า เรื่องน้ำหนุนจากพายุนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราสนใจมาก เพราะกรุงเทพฯ และที่ราบลุ่มภาคกลางของเราสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงเล็กน้อย การที่น้ำยกตัวขึ้นมา ๒ หรือ ๓ เมตร ก็น่าเป็นห่วงแล้ว ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าศูนย์กลางหรือตาของพายุจะต้องผ่านเข้ามาที่กรุงเทพฯ ยกตัวอย่างพายุลินดาเมื่อปี ๒๕๓๙ ซึ่งพัดเข้ามาแถวชุมพร แต่ทำให้เกิดน้ำท่วมไปจนถึงสมุทรสาคร สมุทรสงคราม มหาชัย ทั้งๆ ที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางของพายุหลายร้อยกิโลเมตร นอกจากนี้พายุลินดาเองก็ยังไม่ถือว่าเป็นพายุไต้ฝุ่นด้วยซ้ำ เป็นเพียงพายุโซนร้อน แต่ก็ยังทำให้เกิดน้ำเอ่อสูงถึงเมตรกว่า ผมจึงอยากจะให้พวกเรามองพายุเหล่านี้ ทั้งแคทรีนา ลินดา และพายุอื่นๆ เป็นตัวอย่าง แล้วเริ่มคิดถึงการรับมือในอนาคต ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือโดยปรกติเส้นทางเคลื่อนตัวของพายุหมุนเขตร้อนในบ้านเราในอดีตจะไม่ลงมาทางใต้มากนัก ส่วนใหญ่จะมาจากทะเลจีนใต้และขึ้นฝั่งที่เวียดนาม หลังจากนั้นก็จะอ่อนกำลังลง กลายเป็นหย่อมฝนที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากข้อมูลในช่วงปี ๒๔๙๓-๒๕๓๑ พบว่าพายุที่เกิดในช่วงปลายปี คือเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ซึ่งมีเส้นทางเคลื่อนตัวลงมาทางใต้มาก จนกระทั่งเข้ามาในอ่าวไทย มีทั้งสิ้น ๖ ลูก ในช่วง ๓๘ ปี หรือเฉลี่ยทุกๆ ๖ ปี ส่วนข้อมูลตั้งแต่ปีที่เกิดพายุเกย์ คือปี ๒๕๓๒ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีพายุเข้ามาในอ่าวไทยถึง ๖ ลูกเช่นกัน แต่เป็น ๖ ลูกในช่วงเวลาเพียง ๑๖ ปี หรือเฉลี่ยทุกๆ ๓ ปีเท่านั้น โดยมีพายุหมุ่ยฟ้าเมื่อปีที่แล้วเป็นลูกล่าสุด ถึงแม้ว่าพายุซึ่งเข้ามาในอ่าวไทยถี่ขึ้นในระยะหลัง เป็นปรากฏการณ์ที่เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือไม่ แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น

interview2

โดยปรกติพายุเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีหรือไม่
พายุหมุนเขตร้อนจะเกิดได้ทั้งปี แต่จะเกิดถี่ในช่วงที่น้ำทะเลอุ่น ดังนั้นตำแหน่งที่จะเกิดพายุได้จึงมักจะเป็นบริเวณที่ผิวโลกตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ ตำแหน่งที่ว่านี้จะเปลี่ยนไปตามการเอียงของแกนหมุนรอบตัวเองของโลก ช่วงที่จะเกิดพายุได้มากในซีกโลกภาคเหนือ คือช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน เดือนอื่นก็เกิดได้เหมือนกัน แต่เกิดได้น้อยกว่ามาก การที่ประเทศไทยจะได้รับผลจากพายุแต่ละลูกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแนวการเคลื่อนที่ของพายุด้วย โดยพายุที่เกิดขึ้นในต้นฤดู คือช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงกันยายนนั้นมักจะเคลื่อนตัวไปทางเหนือ อย่างจีนและญี่ปุ่น แต่พายุที่เกิดในช่วงปลายปีจะมีแนวทางการเคลื่อนตัวไปทางใต้ เนื่องจากช่วงเวลานี้มวลอากาศเย็นจากทางเหนือเริ่มแผ่ลงมา ทำให้พายุไม่สามารถเดินทางข้ามแนวรอยต่อระหว่างมวลอากาศร้อนและเย็นได้ แนวทางการเคลื่อนตัวจึงถูกดันให้เบนลงมาทางใต้ เมื่อมวลอากาศเย็นแพร่เข้ามาปกคลุมจนทำให้ภูมิภาคบ้านเราเป็นฤดูหนาวอย่างสมบูรณ์แล้ว โอกาสเกิดพายุก็จะน้อยมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดไม่ได้ เพราะความผิดปรกติเกิดขึ้นได้เสมอ อย่างเช่นประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ซึ่งโดยปรกติจะเป็นพื้นที่ปลอดพายุ แต่ระยะหลังก็มีพายุเกิดขึ้น เช่นกรณีของพายุวาเม ในปี ๒๕๔๔ ที่สร้างความเสียหายให้สิงคโปร์ไม่น้อย ไม่ใช่เพราะพายุรุนแรง แต่เพราะเขาไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีพายุเกิดขึ้นใกล้กับเส้นศูนย์สูตรได้ขนาดนั้น

เวลาที่เกิดน้ำหนุนจากพายุหรือ storm surge จะเกิดภาวะน้ำท่วมนานแค่ไหน
จริงๆ แล้วถ้าน้ำสามารถไหลขึ้นลงได้อย่างอิสระโดยไม่มีอะไรกีดขวาง เมื่อพายุผ่านพ้นไปแล้วน้ำก็จะลดลงเป็นปรกติ โดยปรกติอิทธิพลจากพายุโดยตรงจะทำให้น้ำหนุนสูงอยู่ประมาณ ๑๐-๑๕ ชั่วโมง ซึ่งถือว่าไม่นานนัก แต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีการก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งมีถนนและกำแพงที่กีดขวางการไหลกลับของน้ำ จึงทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ลักษณะคล้ายๆ ตอนที่เกิดน้ำท่วมแถวรังสิตเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นน้ำท่วมอยู่เป็นเดือนๆ เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ราบลุ่ม น้ำระบายลงสู่ทะเลได้ช้า กรณีน้ำท่วมที่เมืองนิวออร์ลีนส์ก็เป็นเพราะสาเหตุนี้เหมือนกัน กรณีน้ำทะเลหนุนเนื่องจากพายุขนาดใหญ่นี้ ถ้าเกิดกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว คงจะยิ่งทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก เพราะในช่วงปลายปีเป็นช่วงที่ระดับน้ำทะเลสูงอยู่แล้วตามธรรมชาติ ทั้งยังเป็นช่วงที่น้ำหลากจากทางเหนือยังไม่หมดดีอีกด้วย เรียกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลมีปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดน้ำท่วมขังได้เกือบจะสมบูรณ์แบบทีเดียว

โดยทั่วไปมีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ถ้าไม่นับน้ำขึ้นน้ำลงที่เกิดจากแรงกระทำระหว่างโลกกับดาวต่างๆ ซึ่งมีระยะเวลาการขึ้นลงที่แน่นอนแล้ว ปัจจัยหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลผันแปรไปจากที่ควรจะเป็น อันแรกก็คือลม ซึ่งนอกจากลมพายุที่มาเป็นครั้งคราวแล้ว ยังมีลมมรสุมซึ่งพัดสลับทิศทางกันในแต่ละฤดู อย่างอ่าวไทยในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือฤดูฝน น้ำในอ่าวจะถูกพัดออกไปยังทะเลจีนใต้ ทำให้ระดับน้ำทะเลต่ำลงกว่าในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ในอนาคตเมื่อโลกร้อนขึ้นอีก ก็จะยิ่งทำให้ลมมรสุมพัดแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลยิ่งสูงขึ้น ทำให้การระบายน้ำลงทะเลลำบากขึ้นอีก ถ้าไม่เตรียมการรับมือไว้แต่เนิ่นๆ เรื่องน้ำท่วมขังนี่คงดูไม่จืดเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ

ปัจจัยต่อมาคือการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก กับการขยายตัวของน้ำทะเลเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าอีกสัก ๕๐ ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยอาจจะสูงขึ้นประมาณครึ่งเมตร บางคนคาดว่าจะมากถึง ๒ เมตร แต่ที่แน่ๆ คือไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดเชื่อว่าระดับน้ำทะเลจะลดลงหรือแม้แต่คงที่เท่าเดิม ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น บวกกับลมที่แรงขึ้น อาจจะทำให้ระดับน้ำในบางบริเวณและในบางฤดูสูงขึ้นเกือบ ๑ เมตร ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งและการรุกของน้ำเค็มเข้าไปในแม่น้ำ โดยเฉพาะที่ราบชายฝั่งทะเลตั้งแต่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรีบางส่วน ซึ่งมีความลาดชันน้อยมาก คืออยู่ในระดับ ๑ ต่อ ๑๐,๐๐๐ หรือน้อยกว่านั้น ระดับน้ำที่สูงขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยในแนวดิ่ง จะมีอิทธิพลในแนวราบ คือทำให้น้ำไหลท่วมฝั่งได้ไกลกว่าที่คนทั่วไปคิด ผมว่านี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาและศึกษาให้รอบคอบ แม้ว่าตอนนี้ระดับน้ำทะเลยังไม่ได้สูงขึ้นสักเท่าไร แต่เราก็พบปัญหาเรื่องการกัดเซาะและการรุกล้ำของน้ำเค็มแล้ว ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก ปัญหาเหล่านี้อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น

ตอนนี้พื้นที่ของกรุงเทพฯ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑ เมตรใช่ไหมครับ
เฉลี่ยประมาณ ๑ เมตร แล้วก็ทรุดจมลงทุกปีด้วยนะครับ สาเหตุที่กรุงเทพฯ ทรุดตัวลงนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการขุดเจาะน้ำบาดาล อีกส่วนหนึ่งคือพื้นที่บริเวณนี้มันไม่มั่นคงอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งตามธรรมชาติจะต้องมีความสมดุลกันระหว่างตะกอนที่แม่น้ำพามาและตะกอนที่น้ำทะเลพาออกไป ถ้าสมดุลนี้มันเปลี่ยนไป พื้นที่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทรุดตัว เรื่องการทรุดตัวของแผ่นดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้นมานานแล้ว พลเรือตรี คงวัฒน์ นีละศรี ได้เคยนำข้อมูลจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของกรมอุทกศาสตร์ที่สันดอนเจ้าพระยา ซึ่งตั้งมาประมาณ ๖๐-๗๐ ปีแล้ว มาวิเคราะห์ พบว่าพื้นดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยามีการจมตัวอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการขุดน้ำบาดาลกันอย่างรุนแรงในประเทศไทยเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนด้วยซ้ำ ดังนั้นการจมตัวของกรุงเทพฯ จึงมีสาเหตุที่ซับซ้อนกว่าแค่การขุดเจาะน้ำบาดาลอย่างเดียว ส่วนการขุดเจาะน้ำบาดาลจัดเป็นตัวช่วยเร่งให้มันจมเร็วขึ้น

สาเหตุของการทรุดตัวของกรุงเทพฯ มาจากอะไรอีกครับ
คงจะเกี่ยวข้องกับสมดุลของตะกอนที่ไหลเข้ามาและที่ถูกพัดออกไป เคยมีบางคนเสนอว่าเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาก็อาจจะมีส่วน เพราะว่าเขื่อนจะปิดกั้นไม่ให้ตะกอนจากต้นน้ำทางเหนือไหลลงมาทางปากแม่น้ำ ในขณะที่ตะกอนทางใต้เขื่อนจนถึงปากแม่น้ำยังคงถูกพัดออกไปในอัตราที่มากกว่าการทดแทน สมดุลของตะกอนก็เสียไปเพราะมีตะกอนไหลออกมากกว่าไหลเข้า ก่อให้เกิดการกัดเซาะ นอกจากนี้ยังมีคนเชื่อว่าการพัฒนาที่ราบภาคกลางให้เป็นพื้นที่การเกษตร การสร้างระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดสรรน้ำและป้องกันไม่ให้น้ำไหลบ่าเข้ามาท่วมพื้นที่นา ตลอดจนการก่อสร้างเครือข่ายถนนหนทางต่างๆ ก็มีส่วนที่ทำให้ตะกอนในแม่น้ำลดลง ประเด็นเหล่านี้คงยังเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่มีข้อสรุปไปอีกนาน

ถ้าเกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณรอบๆ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งรัฐบาลมีแผนจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราจะแก้ไขอย่างไร เพราะบริเวณนั้นเป็นที่ลุ่มต่ำอยู่แล้ว
พื้นที่บริเวณนั้นเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบต่ำชายฝั่งทะเล ซึ่งมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงซึ่งจะมีวันละ ๒ ครั้ง ในปัจจุบันพื้นที่บางส่วนถูกใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อสะสมน้ำ ทั้งที่เป็นน้ำเหนือและน้ำที่ระบายออกมาจากพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อรอให้น้ำทะเลลดต่ำลงมากพอที่น้ำจะไหลระบายลงทะเลได้ วิธีการแก้มลิงนี้อาศัยกระบวนการทางธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นวิธีการที่ต้องใช้พื้นที่มาก เนื่องจากไม่สามารถขุดพื้นที่ให้ลึกลงไป เพราะจะทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ในอนาคตถ้ามีน้ำมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และพื้นที่ที่เป็นแก้มลิงถูกพัฒนาไปเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เราก็ต้องมีระบบอื่นมาทดแทนเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งคงหนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีและวิธีการทางวิศวกรรมต่างๆ เช่นการสร้างคันกั้นน้ำล้อมรอบและใช้การสูบน้ำ ซึ่งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าพลังงานและค่าดำเนินการอื่นๆ ตามมา กลายเป็นต้นทุนอีกส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่

การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของกลางวันและกลางคืนหรือไม่
การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของกลางวันและกลางคืนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่ขึ้นอยู่กับเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นและตกในแต่ละวัน ซึ่งเป็นกระบวนการทางดาราศาสตร์ จากการศึกษาเบื้องต้นโดยใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ที่เราได้ทำมาระยะหนึ่ง เราพบว่าอากาศในโลกที่ร้อนขึ้นนั้น ไม่ได้ร้อนขึ้นเท่าๆ กันทั้งกลางวัน กลางคืน เราพบว่าอุณหภูมิในช่วงกลางวันของประเทศไทยสำหรับวันเดียวกันในแต่ละปีจะไม่เพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบันมากนัก แต่อุณหภูมิในช่วงกลางคืนจะสูงกว่าในปัจจุบันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณที่ราบภาคกลางและภาคตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลจากลมบกลมทะเล สาเหตุน่าจะเป็นเพราะลมทะเลในช่วงกลางวันและบ่ายจะพัดแรงขึ้น เนื่องจากพื้นแผ่นดินที่ร้อนมากขึ้น อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจก มวลอากาศจึงถูกแทนที่ด้วยอากาศจากทะเลซึ่งเย็นกว่า ในขณะที่ตอนกลางคืนพื้นแผ่นดินที่ร้อนจะทำให้ลมบกในช่วงดึกและช่วงเช้ามืดพัดไม่แรงมากเท่าในปัจจุบัน ดังนั้นความร้อนที่แผ่หรือคายออกมาจากพื้นดินจึงสะสมอยู่ในอากาศ

สาเหตุที่โลกร้อนขึ้นเป็นเพราะอะไรครับ
สาเหตุหลักคือ Greenhouse Effect หรือภาวะเรือนกระจก ที่ทำให้พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนออกจากเปลือกโลกกลับออกไปในอวกาศไม่ได้ เพราะว่ามันถูกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกตัวอื่นๆ ดักเอาไว้ คือคลื่นที่เข้ามาเป็นคลื่นแสงสว่างที่มีพลังงานสูง สามารถทะลุผ่านชั้นก๊าซต่างๆ เข้ามาได้ แต่พอมากระทบกับพื้นโลกมันก็จะเสียพลังงานไป เปลี่ยนเป็นคลื่นพลังงานความร้อนซึ่งไม่มีพลังงานมากพอที่จะทะลุชั้นก๊าซต่างๆ ในบรรยากาศออกไปได้ พลังงานจึงถูกกักเก็บสะสมเอาไว้ในรูปของความร้อน แต่ถามว่าโลกเราจำเป็นต้องมีก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้หรือไม่ คำตอบก็คือต้องมี เพราะถ้าไม่มีก๊าซพวกนี้ โลกเราก็จะเป็นเหมือนกับดวงจันทร์ที่มีอุณหภูมิที่ผิวพื้นติดลบหลายสิบองศาเซลเซียส สิ่งมีชีวิตทั้งหลายคงไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ วิวัฒนาการในโลกก็คงจะไม่เกิดขึ้น

ปัญหาของภาวะเรือนกระจกก็คือก๊าซเรือนกระจกหนาขึ้นใช่ไหมครับ
มันไม่ได้หนาขึ้น แต่มันเข้มข้นมากขึ้น สาเหตุหลักคือธาตุคาร์บอนที่เคยสะสมอยู่ในรูปของน้ำมันและถ่านหิน ซึ่งควรจะอยู่ในที่ของมัน เราเอามาเผาเพื่อนำพลังงานมาใช้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งตามธรรมชาติถ้าเราให้เวลามันนานเพียงพอ กระบวนการตามธรรมชาติในโลกจะค่อยๆ ดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศกลับออกไป แต่ตอนนี้เราขุดคาร์บอนขึ้นมาเผาวันละ ๘๐ ล้านบาร์เรล มันเร็วเกินกว่าที่กระบวนการตามธรรมชาติจะกำจัดออกไปได้ มันก็สะสมในอากาศมากขึ้นจนเกิดภาวะเรือนกระจก นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ก็ยังมีก๊าซมีเทนอีกตัวหนึ่งที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย กล่าวคือที่ผ่านมาเวลามีการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยปัญหาภาวะเรือนกระจก ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมักจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มาก ก็พยายามที่จะยกประเด็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมักจะเป็นประเทศเกษตรกรรมก็ผลิตก๊าซมีเทนมากด้วยเช่นกัน โดยยกตัวอย่างการปลูกข้าวแบบให้น้ำท่วมขัง ซึ่งจะทำให้ดินขาดออกซิเจน แบคทีเรียบางชนิดจึงผลิตก๊าซมีเทนในทำนองเดียวกับกระบวนการในบ่อเกรอะบ่อหมักต่างๆ และเนื่องจากก๊าซมีเทนสามารถกักเก็บความร้อนได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง ๑๐ เท่า ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วจึงพยายามกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนาร่วมรับผิดชอบด้วยในระดับหนึ่ง แต่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งนำโดยจีนและอินเดียก็ไม่ยอม ผมได้เรียนถามผู้รู้ในเรื่องการปลูกข้าว ก็ได้รับคำอธิบายว่า การที่ชาวนาต้องขังน้ำไว้ในแปลงนานั้นก็เพื่อควบคุมวัชพืช ถ้าเรามีวิธีอื่นในการควบคุมวัชพืชก็อาจจะไม่ต้องใช้วิธีนี้ก็ได้

นอกเหนือจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกยังได้แก่การลดลงของไม้ยืนต้นและสารอินทรีย์ที่อยู่ในดิน เนื่องมาจากการแปรสภาพพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้การทำการเกษตรโดยใช้ปุ๋ยไนโตรเจนก็ยังก่อให้เกิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอีกตัวหนึ่งด้วย

หลังจากที่มนุษย์เริ่มนำน้ำมันขึ้นมาใช้และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลก อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นกี่องศา
ทุกวันนี้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ ๑ องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับเมื่อร้อยปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มนำเชื้อเพลิงฟอสซิล อันได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ มาเป็นแหล่งพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมและการขนส่ง กิจกรรมดังกล่าวของมนุษย์ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มจากประมาณ ๒๘๐ ppm (๒๘๐ ส่วนในล้านส่วน) เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว มาเป็นประมาณ ๓๗๐ ppm ในปัจจุบัน แต่ในอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีการแก้ไขหรือชะลอการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งหากไม่มีการฟื้นฟูสภาพป่าและที่ดิน ภาวะเรือนกระจกอาจจะเพิ่มจาก ๓๗๐ ppm ในปัจจุบัน ขึ้นเป็นเกือบ ๑,๐๐๐ ppm ก็ได้ คือจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าที่ผ่านมาอย่างมาก ดังนั้นถึงแม้ว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาา การกระทำของมนุษย์จะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น ๑ องศา แต่ในอีกศตวรรษข้างหน้านี้ โลกอาจจะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ๓-๔ องศา และบางพื้นที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่า ๕ องศาก็ได้ ผลสืบเนื่องที่สำคัญก็คงไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับน้ำ คือน้ำท่วม ฝนแล้ง หลายพื้นที่อาจจะมีฝนมากขึ้น ลมแรงขึ้น พายุมากขึ้น ขณะที่หลายพื้นที่ก็จะแห้งแล้งมากขึ้นเหมือนกัน ในเรื่องนี้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change-IPCC) ได้มีการรวบรวมผลการจำลองภูมิอากาศไว้เพื่อเป็นแนวทางในการคาดการณ์ว่า แต่ละภูมิภาคในโลกจะร้อนมากขึ้นเท่าใด และจะมีฝนมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร อย่างทวีปเอเชีย IPCC คาดว่าประเทศตามชายฝั่งทะเลจะได้รับฝนมากขึ้น แต่ถ้าลึกเข้าไปตอนกลางของทวีป ปริมาณฝนมักจะลดลงจากปัจจุบัน แต่เกือบทุกภูมิภาคจะร้อนขึ้นทั้งนั้น แทบจะไม่มีที่ไหนในโลกที่เย็นลงเลย อย่างมากก็เท่าเดิม นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง ๑๐-๔๐ ปีข้างหน้านี้ อุณหภูมิจะสูงขึ้นจากปัจจุบันเกือบๆ ๑ องศา ส่วนการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนยังไม่ชัดเจน แต่ในช่วง ๗๐-๑๐๐ ปีข้างหน้าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงกว่าในปัจจุบันประมาณ ๒-๕ องศา และค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีฝนมากขึ้นในทุกฤดู โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน น่าจะมีฝนมากขึ้นประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์

นอกจากก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจจะทำให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงหรือไม่
จะมีเรื่องของละอองขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ เรียกว่า aerosol ซึ่งเกิดมาจากหลายกระบวนการ บางส่วนเกิดจากเกลือที่มาจากละอองน้ำทะเลซึ่งฟุ้งขึ้นมาจากทะเล บางส่วนมาจากควันและเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้ต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการเผาป่า การเผาเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่านหิน และบางส่วนมาจากสารเคมีพวกซัลเฟตและอื่นๆ เป็นต้น ในตอนนี้เรายังมีความรู้เกี่ยวกับพวก aerosol เหล่านี้ไม่มากนัก แต่เชื่อกันว่า aerosol บางส่วนอาจจะทำให้โลกเย็นลงบ้าง เนื่องจากจะช่วยกรองแสงอาทิตย์ไว้ นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้มีฝนมากขึ้น เนื่องจาก aerosol บางตัวสามารถดูดความชื้นจากอากาศให้รวมตัวเป็นหยดน้ำและกลายเป็นเม็ดฝนในที่สุด อย่างไรก็ดี aerosol หลายชนิดอาจจะเป็นโทษกับสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ เนื่องจากเป็นสาเหตุของฝนกรดและทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

เรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกละลายจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น จะก่อให้เกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด
นี่คงเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากข่าวภูเขาน้ำแข็งลอยน้ำที่แตกออกมาจากแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือและใต้ และมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกกำลังลดลงหรือไม่ ผมขอเรียนว่าตามธรรมชาติแล้ว แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกจะมีการแตกออกมาเป็นภูเขาน้ำแข็งลอยน้ำ ซึ่งแต่ละก้อนก็ใหญ่โตมาก บางก้อนอาจจะมีปริมาตรเป็นลูกบาศก์กิโลเมตร อาจจะมีส่วนที่มองเห็นพ้นน้ำกว้างยาวหลายกิโลเมตร แล้วยังมีส่วนที่จมน้ำอยู่อีก ๙ ส่วน ภูเขาน้ำแข็งในทะเลเหล่านี้จะละลายกลายเป็นน้ำจนหมด ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายเดือน อย่างไรก็ตามน้ำแข็งที่แตกออกมาจากขั้วโลกนี้จะถูกทดแทนด้วยหิมะที่ตกทับถมและอัดตัวกลายเป็นก้อนน้ำแข็ง ทำให้ขอบนอกของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกกว้างออกไปเรื่อยๆ พอขอบกว้างออกไปถึงบริเวณที่มีอากาศอบอุ่นขึ้น ก็จะเริ่มแตกหักลอยออกไปในมหาสมุทรอีกเป็นวัฏจักร ซึ่งบางครั้งอาจจะเร็วบ้างช้าบ้าง การที่โลกเราร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจจะทำให้การแตกของน้ำแข็งเกิดเร็วกว่าการเกิดทดแทน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเพียงปีสองปีนั้นไม่เพียงพอ จะต้องดูจากข้อมูลระยะยาว ซึ่งโดยปรกติวัฏจักรที่เกี่ยวกับภูมิอากาศที่เป็นที่ยอมรับตามเกณฑ์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ต้องใช้ข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย ๓๐ ปีจึงสามารถบอกได้ นอกจากนี้หากน้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้มีการละลายอย่างต่อเนื่องจริง เพียงแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ของน้ำแข็งขั้วโลก ก็สามารถทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นถึง ๑ เมตรได้แล้ว เพราะฉะนั้นการจะบอกว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างต่อเนื่อง คงเป็นการด่วนสรุปเกินไป และถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อว่าปรากฏการณ์เรือนกระจกจะทำให้โลกของเราร้อนมากขึ้นจนถึงระดับที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายจนหมดสิ้น ซึ่งประมาณว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราวๆ ๑๐๐ เมตร ! เนื่องจากถ้าโลกเราร้อนมากถึงขนาดนั้น ระบบต่างๆ ทั้งทางกายภาพและชีวภาพคงจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับว่าน้ำแข็งบนยอดเขาหลายแห่งทั่วโลกละลายมากกว่าปรกติ
ครับ ธารน้ำแข็งถาวรบนยอดเขาเกือบทุกแห่งทั่วโลก เช่นบนยอดเขาหิมาลัย ยอดเขาแอนดีส แม้แต่บนยอดเขาที่ปาปัวนิวกินีก็มีขนาดลดลงอย่างชัดเจนมากเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่เคยมีผู้ถ่ายไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน ปรากฏการณ์นี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยยืนยันว่าอุณหภูมิของโลกน่าจะสูงขึ้นจริง

ในระยะยาวปรากฏการณ์นี้จะส่งผลอย่างไร เพราะว่าน้ำแข็งบนยอดเขาหลายแห่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย
โดยปรกติธารน้ำแข็งบนภูเขาจะละลายลงในฤดูร้อน ในอัตราที่สมดุลกับการเกิดทดแทนของหิมะในฤดูหนาว ดังนั้นขนาดของธารน้ำแข็งก็จะมีการขยายและหดตัวตามฤดูเป็นวัฏจักรธรรมชาติ ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาตามแม่น้ำก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำแข็งที่มีการสะสมไว้ในฤดูหนาว การที่ปริมาณน้ำต้นทุนบนยอดเขาจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่าหิมะที่ตกสะสมในฤดูหนาวมีมากหรือน้อย ถ้าในอนาคตฤดูหนาวสั้นลง หรือไม่หนาวเท่าที่เคยเป็นมา หิมะก็อาจจะมีน้อยลง และทำให้น้ำในแม่น้ำน้อยลงได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้อากาศที่มีความชื้นสูงจากทะเลถูกพาเข้ามาตกเป็นหิมะบนยอดเขามากขึ้น ก็อาจจะทำให้แม่น้ำมีน้ำมากขึ้นก็ได้ ตรงนี้คงขึ้นกับที่ตั้งของภูเขาแต่ละแห่งและลักษณะภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ผมคิดว่าถ้ามองภาพรวมของทั้งลุ่มน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่อยู่ใกล้ตัวเรา ผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อปริมาณน้ำในส่วนที่มาจากหิมะบนที่ราบสูงทิเบตทางตอนบนของลุ่มน้ำ คงไม่มากเท่ากับผลที่มีต่อปริมาณฝนในช่วงตอนล่างของลุ่มน้ำ เนื่องจากน้ำที่มีการสะสมในลุ่มน้ำตอนบนจนมาถึงเชียงแสนนั้นมีปริมาณรวมกันเพียงไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เทียบกับฝนที่ตกในประเทศไทยและลาวซึ่งมีปริมาณรวมกันมากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ จากการศึกษาของเราคาดว่าประเทศลาวโดยรวมน่าจะมีฝนมากขึ้นประมาณ ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ เลยมีการพูดกันเล่นๆ ว่า ประเทศลาวน่าจะทำเขื่อนได้มากขึ้นเพื่อผลิตและขายไฟฟ้าได้มากขึ้น

ปรากฏการณ์โลกร้อนจะทำให้เกิดผลกระทบด้านใดอีก
มีความเป็นไปได้อยู่หลายประเด็น เช่น โรคระบาด ปะการังเปลี่ยนสี ไฟป่า สัตว์หรือพืชบางชนิดหายไปจากที่ที่เคยพบ บางชนิดปรากฏขึ้นในที่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ส่วนมากผลกระทบพวกนี้มักจะเกี่ยวข้องกับการเกิดเอลนีโญด้วย เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่ลมฟ้าอากาศเกิดผิดปรกติขึ้นเป็นบางปี คือในปีนั้นลมที่พัดจากตะวันออกมาตะวันตกบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งปรกติเคยพัดแรง มันเกิดอ่อนกำลังลง จึงทำให้น้ำอุ่นที่เคยกองรวมอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรไหลย้อนไปทางตะวันออกเพราะไม่มีลมคอยต้านไว้ เมฆและฝนที่เคยปกคลุมชายฝั่งทวีปเอเซียแถวแถวฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย จึงมีน้อยลง ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ไฟป่า และโรคระบาด แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเอลนีโญกับโลกร้อนนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นเพียงข้อสังเกตและการสันนิษฐานเท่านั้น โดยเฉพาะระยะหลังๆ นี้เกิดเอลนีโญถี่ขึ้น และแต่ละครั้งก็รุนแรงกว่าในอดีต เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตาและติดตามความก้าวหน้าของการศึกษาต่อไป

เอลนีโญมีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกไหมครับ
เอลนีโญจะกลับมาอีกแน่นอน แต่จะเป็นปีไหนเรายังพยากรณ์ไม่ได้เนื่องจากเรายังไม่เข้าใจปรากฏการณ์นี้ดีพอ แต่จากสถิติที่ผ่านมาในอดีต ทุกๆ ประมาณ ๑๐-๑๕ ปีจะเกิดเอลนีโญครั้งหนึ่ง แต่ช่วงหลัง ๆ จะเกิดทุก ๆ ประมาณ ๖-๗ ปี ล่าสุดเกิดในปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ เป็นเอลนีโญอย่างอ่อน ก่อนหน้านั้นก็มีในปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ ซึ่งเป็นเอลนีโญขนาดรุนแรง ดังนั้นถ้าจะเดาแบบใช้สถิติแนวโน้มแต่เพียงอย่างเดียว เอลนีโญน่าจะเกิดอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๕๑ ทั้งนี้เราจะต้องจับตาดูปรากฏการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเอลนีโญมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าประมาณ ๑ ปี การติดตามข้อมูลภูมิอากาศโลกโดยเฉพาะความกดอากาศและอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเอลนีโญ

ภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างไร
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยเฉพาะอุณหภูมิตอนกลางคืนที่สูงขึ้น อาจจะมีผลต่อการติดผลของไม้ผลบางชนิดได้ เรื่องนี้คงต้องสอบถามจากผู้ที่มีความรู้ด้านนี้เพิ่มเติม แต่จากการที่เราได้ประสานงานให้เริ่มมีการวิจัยในเรื่องนี้ ซึ่งนำโดย ดร. อรรถชัย จินตะเวช ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าผลผลิตของพืชไร่ที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ผลผลิตอ้อยและข้าวโพดดูเหมือนว่าจะดีขึ้น ดังนั้นถึงแม้ว่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีมากขึ้นในบรรยากาศอาจจะทำให้พืชโตเร็วขึ้น แต่ถ้าปริมาณน้ำและฤดูกาลต่างๆ ไม่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้ผลผลิตลดลงได้ นี่ยังไม่นับถึงว่า ปริมาณฝนที่มากขึ้นจะชะเอาความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินออกไป ถ้าภาคการเกษตรของเราไม่เริ่มเตรียมการปรับตัวก็คงจะเกิดปัญหาแน่ ชาวนาต้องปรับตัวตั้งแต่วิธีการปลูกข้าว การเลือกใช้พันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่ฝนตกชุกและอากาศร้อนขึ้น อาจจะต้องมีการเตรียมหรือพัฒนาพันธุ์ข้าวที่โตเร็ว เพื่อให้ต้นข้าวสูงพ้นระดับน้ำที่จะท่วมเข้ามาในนาช่วงน้ำหลก นอกจากนี้สมมุติว่าในอนาคตแดดอาจจะน้อยลงเพราะเมฆฝนมีมากขึ้น เราก็ต้องหาวิธีการทำให้ข้าวแห้ง อย่างที่เวียดนามเขาปลูกข้าวได้ถึงปีละ ๓ ครั้ง แต่ผลผลิตสุทธิก็ยังได้ไม่มากกว่าไทยสักเท่าไร เพราะว่าแม้จะปลูกและเก็บเกี่ยวได้มาก แต่ว่าไม่มีแดดมากพอที่จะตาก ข้าวจึงเสียมาก ตอนนี้เวียดนามเขาคิดไว้แล้วว่าจะพัฒนาการใช้ถ่านหินเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการอบข้าวให้แห้ง นับว่าเขามองการณ์ไกลทีเดียว ขณะที่ประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้คิดไปถึงตรงนั้น

พอเข้าหน้าหนาว ช่วงเวลาที่จะมีอากาศหนาวเย็นจะสั้นลงด้วยไหม
สั้นลงครับ สังเกตง่าย ๆ ว่าแต่ละปีจำนวนคนใส่เสื้อกันหนาวตามถนนดูจะน้อยลง ยอดขายเสื้อกันหนาวก็คงจะลดลงด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะอากาศในฤดูหนาวอุ่นขึ้น แต่เราจะดูจากในเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะในเมืองใหญ่ๆ เช่นกรุงเทพฯ มันมีสิ่งที่เรียกว่า โดมความร้อน หรือ heat island ซึ่งเป็นผลมาจากอาคารต่างๆ ที่มีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากสถานีตรวจอากาศในเมืองจึงไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นตัวชี้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาพใหญ่ เราจะต้องใช้ข้อมูลจากสถานีที่สภาพแวดล้อมโดยรอบคงที่ให้มากที่สุด คือไม่มีการก่อสร้าง การตัดต้นไม้ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ที่จะมีผลต่อสภาพอากาศในบริเวณนั้น

นอกจากสาเหตุที่มาจากมนุษย์แล้ว อุณหภูมิของโลกขึ้นกับปัจจัยอื่นอีกบ้างหรือไม่
ถ้าพูดกันระยะยาว คือเป็นหลักแสนจนถึงหลายๆ ล้านปี โลกของเราจะมีทั้งยุคที่เย็นจัดกระทั่งพื้นผิวโลกส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และยุคระหว่างยุคน้ำแข็ง ในช่วง ๔๐๐,๐๐๐ ปีที่ผ่านมานี้ เรามียุคน้ำแข็งหลักๆ ๔ ครั้ง ซึ่งกินเวลาครั้งละประมาณ ๕๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ปี ในขณะที่มียุคระหว่างยุคน้ำแข็ง ๔ ครั้งเหมือนกัน แต่ละครั้งกินเวลาเพียงประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีหรือน้อยกว่า ในปัจจุบัน ถ้าไม่มีภาวะเรือนกระจกอันเนื่องมาจากมนุษย์ เราควรจะอยู่ในจุดที่อุณหภูมิสูงที่สุดของยุคระหว่างยุคน้ำแข็งและกำลังจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งหรือยุคที่เย็น แต่ปรากฏว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น

ทำไมวัฏจักรของโลกต้องมียุคน้ำแข็งด้วยครับ
มันเกิดขึ้นเนื่องจากรูปแบบของวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรีที่สัดส่วนระหว่างความกว้างและความยาวจะแปรเปลี่ยนไปตามวัฏจักรของมัน นอกจากนี้แกนการหมุนรอบตัวเองของโลกยังมีการแกว่งอีกด้วย ดังนั้นบางช่วงที่โลกได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์น้อย ก็จะเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง ในช่วงที่ได้รับความร้อนมากก็จะเข้าสู่ยุคระหว่างยุคน้ำแข็ง โดยในช่วงที่เป็นยุคน้ำแข็งนั้น นอกจากอุณหภูมิอากาศจะเย็นลงแล้ว ระดับน้ำทะเลยังอาจจะต่ำลงเป็น ๑๐ เมตร ดังนั้นในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายที่เรียกว่ายุควิสคอนซิน เมื่อประมาณ ๑๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว พื้นที่ส่วนมากบริเวณอ่าวไทยคงจะเป็นแผ่นดิน และถ้ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้แล้วในยุคนั้น มนุษย์เหล่านั้นก็อาจจะเคยสร้างที่อยู่หรือเพาะปลูกในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นทะเลก็ได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่น่าจะอุดมสมบูรณ์

การที่น้ำแข็งปกคลุมทั่วโลกหรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหวหรือไม่
เป็นไปได้สำหรับบางพื้นที่ เพราะการที่ชั้นน้ำแข็งปกคลุมแผ่นดินเป็นจำนวนมากในยุคน้ำแข็งนั้น จะทำให้ทวีปหนักขึ้นและกดให้เปลือกโลกตรงนั้นจมลึกลงไปในชั้นหินหลอมละลายที่รองรับอยู่ข้างล่าง เมื่อเข้าสู่ยุคที่ร้อนขึ้นเช่นในปัจจุบัน น้ำแข็งละลายหายไป ทวีปจึงเบาขึ้นและค่อยๆ ลอยยกสูงขึ้นมา หรือที่เรียกว่า rebound ในระหว่างการยกตัวนี้เองที่อาจจะเกิดการติดขัดและหลุดเลื่อนเป็นระยะ ทำให้มีการสั่นสะเทือนเกิดเป็นแผ่นดินไหวได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา แผ่นดินไหวเหล่านี้มักมีจุดศูนย์กลางอยู่ตอนกลางๆ แผ่นเปลือกโลกมากกว่าตามขอบของแผ่นเปลือกโลก และมักจะไม่รุนแรงมากนัก

ถึงตอนนี้เราจะพูดได้ไหมว่าอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และถ้าเป็นเช่นนั้นสาเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นจากอะไร
การเปลี่ยนแปลงเท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ยังไม่ถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนจนเห็นได้ชัด ยกเว้นในเรื่องของอุณหภูมิและการละลายของน้ำแข็ง แต่ถ้าพูดในเรื่องของภัยพิบัตินั้นจัดอยู่ในระดับที่เกือบๆ จะสรุปได้ว่าเปลี่ยน ถ้าในอีก ๒-๓ ปีข้างหน้านี้มีภัยพิบัติระดับที่ทำลายสถิติเดิมเกิดขึ้นอีกสัก ๒-๓ เหตุการณ์ นักวิทยาศาสตร์คงสรุปว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่เห็นได้ชัดเจน แต่ทั้งนี้ผมคิดว่าเราไม่น่าจะต้องรอให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปตรงนั้นก่อนจึงค่อยเริ่มคิดทำอะไรกัน การเริ่มต้นบางอย่าง เช่น การเริ่มทำความเข้าใจกับวิทยาการด้านอากาศ การรู้จักนำข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศและภูมิอากาศมาใช้ในชีวิตประจำวันและในธุรกิจต่างๆ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยลดสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอันได้แก่ก๊าซเรือนกระจกต่างๆ เท่าที่จะทำได้ โดยไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตตามปรกติมากนัก ตลอดจนให้ความร่วมมือกับกิจกรรมที่จะเพิ่มความเข้มแข็งของภาคส่วนและชุมชนต่างๆ ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต เหล่านี้นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี อย่ามองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นเรื่องไกลตัวหรือไร้สาระ เพราะอย่างที่เห็นตัวอย่างกันแล้วว่า ภัยพิบัติต่างๆ นั้นใกล้ตัวกว่าที่คิด

คนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการพยากรณ์อากาศได้มากกว่าคำเตือนเรื่องพายุฝนอย่างที่เป็นอยู่หรือไม่
ทุกวันนี้เวลาพูดถึงการพยากรณ์อากาศ คนส่วนมากยังสนใจการพยากรณ์ระยะสั้น คือช่วง ๑-๕ วัน และมักจะคิดเอาว่าทุกอย่างต้องถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การพยากรณ์ทุกอย่างย่อมต้องมีความไม่แน่นอนเสมอ โดยเฉพาะการพยากรณ์ที่เป็นการพยากรณ์สาธารณะนั้นไม่สามารถจำเพาะเจาะจงให้ใครหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษ ผู้ฟังควรจะต้องสังเกตสภาพพื้นที่ของตัวเองและติดตามการพยากรณ์เป็นประจำ ไม่ใช่ติดตามเฉพาะเวลาที่มีสภาพอากาศรุนแรงเท่านั้น

การพยากรณ์อีกประเภทหนึ่งคือการพยากรณ์ระยะกลาง ล่วงหน้าตั้งแต่ ๑-๖ เดือนหรืออาจจะนานกว่านั้น ซึ่งจะเป็นการคาดการณ์ลักษณะอากาศรวมทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นต้น ข้อมูลพวกนี้จะช่วยทำให้การวางแผนประกอบการต่างๆ เช่น การเพาะปลูก การสต็อกสินค้า การผลิตสินค้าต่างๆ รัดกุมขึ้น เช่นถ้ามีการคาดการณ์ว่าปีหน้าอาจจะเกิดเหตุการณ์เอลนีโญ ซึ่งมักจะทำให้สภาพอากาศร้อนและแล้งกว่าปรกติ ผู้ประกอบการผลิตไอศกรีมก็อาจจะเตรียมสต็อกวัตถุดิบต่างๆ ให้เพียงพอ บริษัทผู้ผลิตเสื้อกันหนาวก็อาจจะลดการผลิตลง จะเห็นได้ว่าเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องแฟชั่น การเกษตร แต่ผู้ใช้ก็ต้องรู้จักบริหารความเสี่ยงด้วย เพราะการคาดการณ์ล่วงหน้าแบบนี้จะมีระดับความผิดพลาดสูงกว่าการพยากรณ์ระยะสั้นอย่างแน่นอน

การพยากรณ์ประเภทสุดท้ายคือการคาดการณ์ระยะยาว เช่นการคาดการณ์เกี่ยวกับภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการนานๆ เช่นถ้ามีการคาดการณ์ว่าพื้นที่หนึ่งอาจจะมีฝนมากขึ้น ก็อาจจะต้องเผื่องบประมาณในส่วนของการบำรุงรักษา ตลอดจนการประกันภัยไว้ด้วย เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้เริ่มกำหนดให้การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์โครงการด้วยแล้ว

สิ่งสุดท้ายที่อยากจะฝากเป็นข้อคิดก็คือ เนื่องจากการพยากรณ์ที่เกี่ยวกับภูมิอากาศนั้นมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และข้อมูลต่างๆ ก็มักจะมีไม่เพียงพอ ดังนั้นผู้ฟังจึงควรเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นหรือข้อสังเกตจากหลายๆ แหล่ง หลายๆ มุมมอง อย่าเชื่อในมุมใดมุมหนึ่ง โดยเฉพาะมุมมองที่สุดขั้ว นอกจากนี้อย่าไปยึดติดหรือประมาทว่าอะไรที่ไม่เคยเกิดมันจะไม่เกิด เพราะในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราคงจะเห็นกันแล้วว่า หลายอย่างที่ไม่เคยเกิด มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

หนึ่งปีสึนามิกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดซึ่งเกิดจากสึนามิคืออะไร
การสำรวจที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำในช่วง ๖-๘ เดือนที่ผ่านมา พบปัญหาหลักคือการเปลี่ยนแปลงและการกัดเซาะของชายฝั่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งแนวชายฝั่ง บางที่เป็นปัญหาที่มีอยู่เดิม แต่บางที่ก็เกิดขึ้นมาเพราะเหตุการณ์สึนามิ มีเพียงไม่กี่ที่เท่านั้นที่ชายหาดงอกเพิ่มออกมา นอกจากนั้นก็พบปัญหาว่าร่องน้ำที่เคยใช้เดินเรือได้เปลี่ยนทิศทาง ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้มันเชื่อมโยงกัน จะต้องแก้ปัญหาโดยมองทั้งภาพรวม เพราะถ้าหากไปแก้ที่หนึ่งก็จะเป็นปัญหาในอีกที่หนึ่งต่อเนื่องกันไป การแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในตอนนี้เป็นการปล่อยให้แต่ละท้องที่ ท้องถิ่น ทำกันเองตามยถากรรม บางทีก็เอาหินไปถม เอาทรายไปถม สร้างเขื่อน สร้างแนวกันคลื่น ทำกันแบบต่างคนต่างทำ การแก้ปัญหาอย่างนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ แต่เป็นการแก้ปัญหาหน้าบ้านโดยผลักปัญหาไปให้คนอื่นเพราะอะไรการแก้ปัญหาอย่างนี้จึงไม่มีประสิทธิภาพ
คือธรรมชาติของหาดทรายหาดเลนนั้น ตะกอนจะมีการไหลไปมาอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีอะไรไปกระทบความสมดุลของมัน รูปร่างของหาดก็จะเปลี่ยนเข้าสู่สมดุลใหม่ ถ้าเราพยายามฝืนมันโดยแก้ที่ปลายเหตุอย่างเดียว ก็มักจะไม่สำเร็จ หรืออย่างมากก็แก้ได้เฉพาะพื้นที่เล็กๆ การสร้างเขื่อนหรือคอกป้องกันก็มักจะเอาไม่อยู่ เพราะมันมีการกัดเซาะต่อเนื่องโดยพลังจากคลื่นที่พัดอย่างไม่หยุดหย่อน พาทรายออกไปวันละเล็กละน้อย ในที่สุดโครงสร้างที่สร้างขึ้นมาก็พัง ในระยะยาวมันต้านไม่ได้

มีผลกระทบด้านอื่นอีกหรือไม่
มีเรื่องของการขาดแคลนแหล่งน้ำจืด ที่ผ่านมาชุมชนชายฝั่งจะอาศัยบ่อน้ำตื้นเป็นแหล่งน้ำหลัก ซึ่งบ่อน้ำตื้นนี้มีน้ำจำกัดอยู่แล้ว เมื่อก่อนถ้าเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ก็พอใช้ได้ แต่ถ้าหมู่บ้านมีการพัฒนาจนใหญ่ขึ้น น้ำก็ยิ่งไม่พอใช้ ยิ่งมาเจอปัญหาจากสึนามิยิ่งเกิดปัญหาใหญ่

การขาดแคลนแหล่งน้ำจืดหมายถึงแหล่งน้ำจืดหายไปหรือไปปนเปื้อนกับน้ำเค็มหลังเกิดสึนามิ ?
ทั้ง ๒ อย่าง แหล่งน้ำจืดที่เป็นชั้นน้ำชายหาดบางส่วนหายไปเนื่องจากเหตุการณ์สึนามิ บางพื้นที่น้ำเค็มมันลงไปปนอยู่ในชั้นน้ำ ๑ ปีผ่านไปมันก็ยังปนเปื้อนอยู่ เพราะมันซึมอยู่ในดินด้วย วิธีการแก้ปัญหาที่ใช้กันก็คือสูบล้างหรือขุดบ่อใหม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันซึมอยู่นานเท่าไร และกระจายไปไกลเท่าไร บางที่ต้องขุดบ่อใหม่ห่างจากบ่อเดิมออกไป ๒๐ เมตร จึงจะไม่มีปัญหา เช่นที่โรงเรียนบ้านกมลา แต่ในรัศมีประมาณ ๑๐-๒๐ เมตรจากบ่อเดิมนี่ไม่ต้องไปขุดเลย ขุดไปก็เค็มอีก เพราะเกลือมันซึมแพร่ไปแล้ว ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดอีกประการคือ การที่เราย้ายคนไปอยู่ในบางพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยตรง บางส่วนก็เป็นผลพลอยมาจากการเร่งการพัฒนา ทั้งยังมีการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ กิจกรรมหลายอย่าง เช่นการท่องเที่ยว ซึ่งแม้จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็ตาม มันก็มีความต้องการใช้น้ำมากกว่าที่ชาวบ้านปรกติใช้ จึงมีหลายพื้นที่ที่จะมีปัญหาในระยะยาว บางที่ที่โชคดีมีน้ำในชั้นน้ำลึกหรือประปาภูเขาก็ค่อยยังชั่ว ส่วนที่อื่นๆ ถ้าจะสร้างเขื่อนหรือฝาย พื้นที่ที่เหมาะสมทางฝั่งนี้มันก็มีไม่มาก แล้วเราก็ต้องคิดถึงผลกระทบในด้านอื่นเหมือนกัน

คนมักเข้าใจว่าภาคใต้ฝนตกชุก ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจืด
จริงๆ แล้วภาคใต้มีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ใกล้ชายทะเล เพราะแม่น้ำในภาคใต้เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ และมีความชันมาก พอฝนตกมันก็ลงทะเลหมด พอไม่มีฝน น้ำเค็มก็หนุนเข้ามาในแม่น้ำ ส่วนชั้นน้ำตื้นก็มีปัญหาคล้ายกัน เพราะฉะนั้นในช่วงฤดูแล้ง ทางภาคใต้ก็ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่

 

interview3

สภาพปะการังในบริเวณที่เกิดสึนามิ ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
จากข้อมูลโดยทั่วไป ความเสียหายที่มาจากคลื่นโดยตรงก็ยังมีอยู่บ้าง แต่จากการสำรวจ เราได้ข้อสรุปว่า แนวปะการังต้องการการฟื้นฟูในภาพรวมมากกว่าจะมองเฉพาะปัญหาจากสึนามิเท่านั้น เราพบว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของปะการังในทะเลอันดามันหลายแห่งตอนนี้คือ การถูกรุกรานโดยสาหร่ายและสิ่งมีชีวิตอื่นที่เข้ามาแย่งพื้นที่ ปัญหานี้จะพบมากในแนวปะการังที่อยู่ใกล้แหล่งชุมชนขนาดใหญ่ คือของเสียและสิ่งปฏิกูลที่ชุมชนเหล่านี้ปล่อยออกมา ทำให้เกิดปัญหาน้ำที่มีธาตุอาหารสูงซึมออกมาตามชั้นน้ำใต้ดิน ทำให้สาหร่ายบริเวณนั้นโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว การแก้ปัญหาในบริเวณนี้โดยเอาปะการังมาปลูกใหม่ จะไม่ได้ผล ถ้าเราไม่แก้ปัญหาน้ำเสียที่ซึมออกมาจากชั้นน้ำชายหาด

อาจารย์กำลังบอกว่าปะการังที่ถูกทำลายเป็นผลมาจากส้วมของมนุษย์
ปะการังเป็นเพียงผลกระทบปลายเหตุอันหนึ่งเท่านั้น การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการจำกัดการปนเปื้อนของชั้นน้ำตื้นชายหาด ซึ่งแหล่งต้นกำเนิดมลพิษที่สำคัญก็คือส้วม ส้วมตามบ้านเรือนที่ติดชายทะเล ส่วนใหญ่เป็นแบบบ่อใครบ่อมัน พอมันย่อยสลายเสร็จก็จะซึมลงชั้นน้ำใต้ดินในระดับ ๖-๗ เมตร ในที่สุดมันก็ลงไปในทะเล กลายเป็นปุ๋ยให้พวกสาหร่ายตามแนวปะการัง พอสาหร่ายเพิ่มขึ้น ก็จะมีตัวอื่นๆ ตามมากินสาหร่าย อย่างเช่นหอยเม่น หลังจากนั้นก็จะมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างพวกฟองน้ำขึ้นคลุมเป็นผืน ปะการังก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นพื้นที่ชายฝั่งของเราทุกแห่ง ถ้าแก้ปัญหาเรื่องส้วมไม่ได้จะลำบาก ถ้าเป็นชุมชนเล็กๆ ก็ไม่มีปัญหา เพราะระบบธรรมชาติพอรองรับได้ แต่สำหรับชุมชนใหญ่ ถ้าไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ในระยะยาวก็จะเป็นปัญหา ผู้ประกอบการหรือธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีถังบำบัดที่เป็นระบบปิดคงไม่ใช่ประเด็นที่เราต้องไปช่วยเหลือ เราคงจะต้องคิดหาทางหรือหาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยชุมชนชายฝั่งแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทั้งนี้วิธีการนั้นจะต้องไม่ขัดกับวิถีการดำเนินชีวิตและควรจะเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนด้วย

อาจารย์มองว่าภาพรวมของปัญหาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหลังสึนามิเป็นอย่างไร
ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือระบบการจัดการ การทำงานในภาครัฐ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นยังสับสน งานต่างๆ ยังแยกส่วนกัน วิธีการและมาตรฐานการทำงานก็แตกต่างกัน กฎระเบียบที่แต่ละหน่วยงานใช้ก็ไม่ค่อยสอดคล้องกัน หน่วยงานท้องถิ่นส่วนใหญ่มีความตั้งใจมุ่งมั่นสูง แต่มักจะใจร้อนและเดินหน้าไปโดยขาดการประสานงานและองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งเราก็ได้เสนอไปว่าสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคและสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดจะต้องมีศักยภาพทั้งงบประมาณ บุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ มากกว่านี้ เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งสำคัญที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างหน่วยงานวิชาการในส่วนกลางกับในท้องถิ่น

หนึ่งปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการฟื้นฟูธรรมชาติต้องรอให้ธรรมชาติเยียวยาตัวเองมากกว่าที่มนุษย์จะเข้าไปช่วย
ผมมองว่าเรื่องที่เราควรจะทำเฉพาะหน้า เราก็ทำไปเกือบหมดแล้ว เรียกได้ว่าทำไปมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เหลือก็ต้องใช้เวลาให้มันฟื้นฟูกลับมา อย่างเช่น ป่าชายหาด ป่าชายเลน เราก็ปลูกไปแล้ว ก็คงต้องรอให้มันโตแล้วก็บำรุงรักษามัน ตอนนี้เรายังมีปัญหาอยู่ที่รายละเอียดของการฟื้นฟู ซึ่งน่าจะทำได้ดีกว่านี้