มันเป็นสูตรหรือครับว่าต่างฝ่ายต่างต้องสร้างความเกลียดชังขึ้นมาอย่างรุนแรงจนอีกฝ่ายไม่ใช่คน
ไม่จำเป็น แต่ขณะนี้มันเป็นอย่างนั้น ผมนึกถึงการต่อสู้ของสมัชชาคนจน น่าสนใจมากว่าสมัชชาคนจนเริ่มต้นการเคลื่อนไหวจากการใช้กำลังเหมือนกัน แล้วพัฒนามาจนกลายเป็นการต่อสู้แบบสันติวิธีที่น่าทึ่งที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในระยะใกล้ ขณะที่ของพันธมิตรฯ นั้นกลับกัน

กล่าวคือ กระบวนการทำงานสันติวิธีของสมัชชาคนจนเป็นกระบวนการต่อสู้ที่อยู่บนความจริงมากขึ้น สมจริงสมจังมากขึ้น เข้าใจจุดด้อยของตัว เข้าใจดีว่าสภาพสังคมอยู่ที่ไหน และมีโจทย์คือต้องรักษาชีวิตคนในขบวนการไว้ให้ถึงที่สุด รวมถึงเข้าใจว่าอำนาจของอีกฝ่ายหรือฝ่ายรัฐมีอาวุธในมือ ดังนั้นพวกเขาเรียนรู้ว่าอาวุธตามธรรมชาติของสมัชชาคนจนที่ดีที่สุดคือสันติวิธี เราจะเห็นว่าการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของเขา เขาใช้สันติวิธีอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันสิ่งที่เขาทำมากที่สุดเท่าที่ผมเห็นคือ สร้างมิตร สร้างเพื่อน สร้างแนวร่วมกับทุกฝ่าย

แต่กับสิ่งที่ผมเห็นตอนนี้ในพันธมิตรฯ กลับกันหมด แปลกไหม พอเป็นชนชั้นกลางไม่ต้องการมิตรเลย ต้องการคือแนวหลัง พูดให้ถึงที่สุดคือต้องการ “พวก” ไม่ได้ต้องการ “เพื่อน” ขณะที่การต่อสู้ของสมัชชาคนจนต้องการเพื่อน คล้ายๆ การทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา บุชต้องการพวก ไม่ต้องการเพื่อน ต้องการแนวหลังด้วยซ้ำ ผมใช้คำง่ายๆ การเปลี่ยนจากความต้องการเพื่อนมาเป็นอยากได้พวกเป็นความแตกต่างที่สำคัญยิ่ง

“พวก” นี่เดินตามคุณ จะถูกจะผิดมันก็พวกเรา อีกฝ่ายเป็นฝ่ายตรงข้าม “เพื่อน” นี่ ถ้าเพื่อนดีมันเตือนคุณว่าผิดยังไง มันทำให้คุณฉุกคิด มันทำให้คุณประเมินสถานการณ์อย่างสมจริง เพื่อนไปไหนไปด้วยกัน แต่พวกไม่ เงื่อนไขของเพื่อนคือความรักในหมู่เพื่อน เงื่อนไขของพวกคือความเกลียดอีกฝ่าย แล้วก็ยอมรับอำนาจนำโดยไม่มีใครตั้งคำถาม ผมว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์มาก แต่ทั้งสองมีลักษณะร่วมของสันติวิธี อันหนึ่งงอกงามไปเรื่อยๆ ถ้าเราดูสมัชชาคนจนตั้งแต่ตอนต้นไปจนถึงระยะหลัง ในที่สุดมันพัฒนาเข้มข้นขึ้นบนฐานของความเข้าใจเบื้องต้นว่าต้องใช้สันติวิธี เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เราเป็นคนยากคนจน เราคือผู้ใช้แรงงาน ฉะนั้นเราต้องรวมตัวกัน อำนาจที่เรามีคือตัวเรา สิ่งสำคัญคือชีวิต เราเสี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันไม่มีใครพูดแทนเรา เราก็ต้องใช้อำนาจเท่าที่มี อำนาจจากการแสดงออก แต่พันธมิตรฯ ไม่ใช่ อาจเพราะว่าเขามาจากฐานอำนาจชนิดอื่น เช่น ทรัพย์ หรืออื่นๆ และมาจากความเข้าใจการเมืองอีกลักษณะหนึ่งด้วย

หมายความว่าคนจนอาจจะอดทนที่รอคอย ในขณะที่ชนชั้นกลางในพันธมิตรฯ ไม่อดทน
ผมยังไม่ได้พูดเรื่องความอดทนเลย ถ้าผมเองเข้าใจไม่ผิด ผมคิดว่าสำหรับคนจนหรือชาวบ้านสมัชชาคนจน เรื่องที่เขาต่อสู้ เขาเห็นว่ามันสัมพันธ์กับชีวิตเขา สิ่งที่เขาเอาออกมาใช้คือตัวเขา ผู้คนที่เกี่ยวกับเขา การออกมาเดินขบวน ออกมาแสดงสิทธิ การต่อรอง สิ่งที่เขาห่วงคือชีวิตของเขาและชีวิตคนที่เกี่ยวกับเขา นั่นคือสิ่งเดียวที่เขามี สมัชชาคนจนต่อสู้แบบนี้ แต่ว่าการต่อสู้ด้วยการบอกว่าใช้สันติวิธีที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้มีนัยของสงครามมากกว่า เนื่องจากมีอาวุธที่มีประสิทธิภาพและนำออกมาใช้ โดยเฉพาะอาวุธทางการสื่อสาร สมัชชาคนจนไม่มีอาวุธทางการสื่อสาร สิ่งที่เขาเอามาใช้แทนคือเพื่อนและสันติวิธี แต่เมื่อชนชั้นกลางมีอาวุธคือการสื่อสารและเป็นการสื่อสารทางเดียวเป็นหลัก สิ่งที่คุณจะได้คือพวก ไม่ใช่เพื่อน ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคืออำนาจ เวลาคุณรวมตัวดูเหมือนคุณมีอำนาจ แต่มันไม่ได้มั่นคงซึ่งเขาก็รู้ เพราะฉะนั้นจึงก่อปัญหาความประมาณตนขึ้นอีกส่วนหนึ่ง

interview03

อยากให้อาจารย์วิเคราะห์ว่าทำไมสังคมไทยถึงได้ร้าวฉานขนาดนี้
ผมคิดว่ามีปัจจัย ๒-๓ อย่าง คือความร้าวฉานมันถูกผลิตได้ เป็นไปได้ไหมว่าตอนนี้ศักยภาพในการผลิตความร้าวฉานมีมากขึ้นกว่าในอดีต ด้วยพัฒนาการของเครื่องมือหลายอย่าง สมัยก่อนเราไม่มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการช่วยขยายความขัดแย้ง เวลานี้ด้วยพลังของไซเบอร์สเปซ คนสามารถทำให้ความขัดแย้งแรงขึ้นผ่านการมีส่วนร่วมลักษณะต่างๆ สิ่งที่เราเห็นคือสถานการณ์พวกนี้เป็นส่วนที่ส่งผลต่อความร้าวฉาน

สอง อาจจะเป็นไปได้ว่าคนที่ปะทะกันเวลานี้พื้นฐานทางชนชั้นต่างกัน แน่นอนมีคนบอกว่าพูดแบบนี้ไม่ถูก ในพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้มีแต่ชนชั้นกลาง มีคนชนชั้นอื่นมากพอสมควร แต่ว่าถ้าพูดในแง่สไตล์การเคลื่อนไหวแล้ว พื้นฐานต่างกันพอสมควร ในพื้นฐานเหล่านี้ความรู้สึกของกลุ่มพลังจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สมมุติเราเทียบกับสมัชชาคนจน สมัชชาคนจนเป็นการ
รวมตัวของกลุ่มชาวบ้านที่มีปัญหาใหญ่ร่วมกัน ๗ กลุ่มปัญหา ไม่รวมปัญหาเล็กๆ อีกนับร้อย สิ่งที่ดูดคนหลากหลายเข้าร่วมสมัชชาคนจนคือปัญหาร่วมกัน แล้วพยายามกดดันให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น เรียกร้องให้เปิดเขื่อน ให้จ่ายค่าชดเชยจากโครงการของรัฐ มักจะมีข้อต่อรองแบบนั้น ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เขามีคือความเป็นกลุ่มพวกเดียวกันถูกแสดงออกโดยปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ด้านลบของคู่ต่อสู้ แต่ตอนนี้สิ่งที่เราเห็นเป็นอีกแบบ เวลานี้ความเป็นกลุ่มพวกถูกแสดงออกโดยศัตรู การรวมกลุ่มของแต่ละฝ่ายกลายเป็นเรื่องด้านลบของอีกฝ่าย เช่น ปัญหาความถูกผิดทางจริยธรรม ความถูกผิดในทางความเป็นธรรม ปัญหาการตีความเรื่องประชาธิปไตยจึงยกระดับ แบ่งค่ายได้ชัดเจนขึ้น และมีการพึ่งตัวเองสูง ทรัพยากรที่แต่ละฝ่ายมีทำให้ความร้าวฉานเป็นไปได้มากขึ้น ลงลึกขึ้น ผมคิดว่านี่คือข้อต่างสำคัญ

ปัจจัยอีกประการมาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้นเอง ระยะหลังเป็นไปได้ไหมว่าคนในสังคมเดียวกันอยู่กันด้วยความคาดหวังที่แตกต่างกัน เวลานี้คนเมืองอาจจะไม่คาดหวังกับระบบเลือกตั้งที่มีอยู่ แต่ในชนบทมันยังเป็นคำตอบ คนในเมืองจำนวนมากก็รู้สึกว่าเลือกทีไรพวกนี้ได้ทุกที รู้สึกว่าหน้าตาของคณะรัฐมนตรีทำไมออกมาแบบนี้ ดูแล้วไม่น่าจะสามารถมาทำงานบริหารได้เลย และจากประสบการณ์ในอดีตของผู้คนไม่น้อยพบว่า บางทีรัฐบาลจากการแต่งตั้งอาจจะได้คณะรัฐมนตรีที่ดีกว่า จะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร นี่คือส่วนหนึ่งของความร้าวฉาน

หลายปีที่ผ่านมาสังคมเปลี่ยน เงื่อนไขของสถาบันทางสังคมการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาล องค์กรอิสระต่างๆ ฯลฯ ที่โยงคนในสังคมเข้าหากันไว้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ละสถาบันมีหน้าที่ของตนอยู่ อะไรทำให้สถาบันทางสังคมการเมืองคงความสามารถที่จะยึดโยงคนเอาไว้ด้วยกัน ความสามารถในการยึดโยงคือสามารถที่จะเป็นของคนทุกคนในสังคมได้อย่างเสมอภาค ไม่ใช่เป็นของคนบางส่วน ผมคิดว่านี่สำคัญ เราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เราต้องเป็นอาจารย์ของนักศึกษาทุกคน ไม่ใช่เป็นอาจารย์ของนักศึกษาพวกหนึ่งที่พ่อแม่เป็นศิษย์เก่า แต่อีกพวกพ่อแม่ไม่ใช่ศิษย์เก่า เราเลยไม่สัมพันธ์กับลูกศิษย์เหล่านี้ในระดับเสมอหน้ากัน แบบนี้เราจะคงความชอบธรรมเอาไว้ไม่ได้ กลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่สำคัญกว่านั้นคือในสังคมไทย สัญลักษณ์ในทางทฤษฎีต้องมีความกำกวมพอสมควร ความกำกวมนี้จะเอื้อให้ฝ่ายต่างๆ แสดงตัวเองเข้ากับสัญลักษณ์นี้ได้ เวลาความกำกวมหายไปอันตรายจะปรากฏ

สถาบันทางสังคมเหล่านี้ต้องเป็นกลางหรือไม่
คำถามคือสิ่งที่เราทำจะเป็นอย่างไร ต้องเป็นกลางหรือ ผมว่าไม่ใช่ เวลาผมพูดถึงสถาบันผมหมายถึงของทุกอย่างในสังคมนี้ อย่างเช่นสื่อมวลชน สถาบันตุลาการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นกลาง แต่ต้องมีสิ่งซึ่งนักสิทธิมนุษยชนเรียกว่า Impartiality คือมีความยุติธรรม ไม่เข้าข้างใคร หมายความว่าถ้าเราเป็นศาล ศาลเป็นตัวอย่างที่ดี ศาลไม่ได้เป็นกลางกับทุกฝ่าย แต่ศาลไม่เข้าข้างคนผิด ศาลต้องตัดสินเข้าข้างคนถูก ต้องชดเชยข้อเสียหายให้แก่คนที่ถูกรังแกตามหน้าที่ แต่สิ่งที่ทำให้ศาลเป็นที่เคารพคือปฏิบัติกับทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน ถ้าทำแบบหนึ่งกับคนหนึ่ง ทำอีกแบบกับอีกคน ความไม่เสมอหน้าก็ตามมา เป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้พลังของสถาบันเหล่านี้ถูกสั่นคลอนและกระทบกระเทือนกับทัศนะของคนที่มีต่อสถาบันเหล่านี้ในระยะยาว นี่คือปัญหาความร้าวฉานที่มีมากขึ้นหรือไม่

มีบางคนบอกว่าที่จริงแล้วไม่ว่าฝ่ายไหนต่างก็อ้างสันติวิธีสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง ไม่ได้คิดถึงหรือใช้สันติวิธีกันอย่างจริงจัง
ผมเองไม่ได้รู้สึกอะไรกับข้อโต้แย้งนี้เลย เพราะความน่าสนใจอยู่ที่ว่าสิ่งที่ตนใช้อ้างจะกำหนดสิ่งที่ตัวเองทำ พอคุณอ้างมาตรฐานนี้ คนทั่วไปก็จะเอาสิ่งนี้มาตัดสินคุณ ในความหมายนี้จึงสำคัญมากที่คุณอ้างอะไร สมมุติผมบอกว่าผมจะเป็นคนเถื่อน มาตรฐานที่สังคมมองผมก็คือกุ๊ย ถ้าผมบอกว่าผมเป็นอารยะ สังคมก็จะมองผมว่ามีมาตรฐานอีกแบบหนึ่งที่จะต้องมาประเมินกัน ก็ใช่ ถ้าผมบอกว่าผมจะเป็นประชาธิปไตย ถึงแม้มันจะงี่เง่าเผด็จการขนาดไหนถ้าอ้างประชาธิปไตย มาตรฐานที่สังคมจะวัดผมคือประชาธิปไตยเช่นกัน ถ้าทั้งสองฝ่ายอ้างว่าจะยึดแนวทางการต่อสู้แบบ สันติวิธี ก็เป็นมาตรฐานที่สังคมมองคุณอยู่แล้วว่าคุณจะปฏิบัติจริงหรือไม่

ในประวัติศาสตร์ของขบวนการสันติวิธีต้องยอมรับว่าคนที่หยิบสันติวิธีมาใช้เขาหยิบมาด้วยเหตุผลเชิงปฏิบัติกันมาก การศึกษาเรื่องนี้ส่วนมากจะสรุปเช่นนี้ แล้วขบวนการทั้งหลายก็นำมาใช้อ้าง ในแง่นี้ไม่ดีกว่าหรือถ้ามีขบวนการทั้งหลายในสังคมที่ต่อสู้เพื่อสิ่งต่างๆ ลุกขึ้นมาอ้างสันติวิธีและพยายามใช้สันติวิธี มันจะกลับมาที่สังคมว่า แล้วจะมีวิธีการอย่างไรในการกำกับให้การต่อสู้เหล่านั้นเป็นไปตามแนวทางสันติวิธีอย่างเคร่งครัด ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบจึงสำคัญ สังคมต้อง
กำกับ นี่คือความก้าวหน้าอีกอย่าง

แต่ที่เราเห็นกันอยู่ ทั้งสองฝ่ายก็ใช้ความรุนแรงกันบ้าง
ความรุนแรงที่สำคัญมี ๒ อย่าง อย่างแรกคือความรุนแรงเชิงกายภาพ มีคนเจ็บ คนตาย โดนแทง โดนระเบิด
เราเห็นชัด ไม่ปฏิเสธของพวกนี้ แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่ และที่ผ่านมาบรรดาฝ่ายพันธมิตรฯ คงเชื่อว่ากำลังทำอะไรบางอย่างที่ถูกต้องและคงไม่คิดไปฆ่าไปแกงใคร พอเกิดความรุนแรงเขาก็โกรธและคิดว่าอีกฝ่ายทำ แต่ฝ่ายพันธมิตรฯ มีส่วนก่อความรุนแรงด้วยไหม เขาอาจจะมองไม่เห็นหรือไม่ได้มอง พันธมิตรฯ ก็มีหลายส่วนในขบวน แต่ละคนก็มีพื้นฐานต่างกัน นปช. ก็มีหลายส่วน ส่วนหนึ่งอาจเป็นตัวแทนของอีสาน อีกส่วนอาจจะมาจากไหนก็ไม่รู้ ตัวละครมีมากมาย ซึ่งคงมีบ้างบางคนที่ไม่ได้ใช้สันติวิธี นั่นคือการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพ

แต่ความรุนแรงอีกประการที่สำคัญพอกัน คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ปรากฏในกระบวนการต่อสู้ขณะนี้ นั่นคือเมล็ดพันธุ์ที่อันตราย “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” หมายถึงวิธีการที่เราทำสองอย่าง อย่างแรกคือทำให้อีกฝ่ายที่เราสู้ด้วยเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่คน ทำสารพัดวิธีให้เขากลายเป็นปีศาจ เป็นมาร สองคือทำให้รู้สึกว่าในที่สุดก็ต้องใช้ความรุนแรงเป็นคำตอบสุดท้ายอยู่ดี

ถ้าทำทั้งสองอย่างนี้ ผมคิดว่ากำลังจะเพาะเมล็ดพันธุ์ความรุนแรงในสังคมไทย แม้จะอ้างสันติวิธีก็ตาม เพราะจะมีปัญหาร้ายแรงตามมา หมายความว่าตามหลักวิชาการด้านความขัดแย้งและสันติวิธี ถ้าคุณใช้ความรุนแรงมาผสมกับสันติวิธีในสิ่งที่คุณมีและเป็น สิ่งที่จะตามมาคือความชอบธรรมของคุณจะลดลง ขบวนการใดๆ ที่อ้างสันติวิธีแล้วเอาความรุนแรงมาผสม ผลที่จะตามมาคือความชอบธรรมของขบวนการนั้นจะลดลง สมมุติขบวนการชาวนาในอินเดียต้องการพิทักษ์ป่าไม้ด้วยสันติวิธี แต่ว่าแอบไปใช้ระเบิดระเบิดรถโรงงานทำไม้ เล่นงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ความชอบธรรมก็จะลดลง อาจเป็นข่าวแค่วันสองวัน แต่ความชอบธรรมในระยะยาวจะหายไป

ขบวนการสันติวิธีใด หรือขบวนการที่อ้างสันติวิธีใด พอผสมความรุนแรงเข้ามาในขบวนการของตน ต้นทุนจะสูง อีกทั้งยังจะเพิ่มความชอบธรรมกับอีกฝ่ายที่จะใช้ความรุนแรงเข้าปราบ คือพอตัวเองมีบางส่วนที่ใช้ความรุนแรง อีกฝ่ายเห็นและรู้เข้าก็เป็นเหตุผลความชอบธรรมที่ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายต่อต้านจะใช้ความรุนแรงกับฝ่ายนี้ และคนที่อยู่ในนั้นจะกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง เราไม่รู้ว่าผู้นำขบวนการนั้นจะคิดถึงคนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน บางคนตัดสินใจยอมเสีย อ้างเหตุผลว่าสู้กันนี่ต้องตายบ้าง แต่ถ้าเช่นนี้จะเท่ากับว่าเพราะไม่เห็นคนในขบวนการเป็นพี่เป็นน้อง เป็นคนในชุมชนเดียวกันหรือไม่ ซึ่งอันตราย

สถานการณ์แบบนี้คนไม่เลือกฝ่ายมีประโยชน์ไหมครับ คนกลางที่ไม่ยอมอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสำคัญต่อสังคมไหม
เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่า เวลานี้สังคมไทยอาจไม่ได้มีแค่ ๒ หรือ ๓ ฝ่าย แต่อาจจะมี ๔ ฝ่าย คือฝ่ายพันธมิตรฯ อีกฝ่ายคือ นปช. และรัฐบาล ฝ่ายที่ ๓ คือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และฝ่ายที่ ๔ คือฝ่ายที่ “ฝักใฝ่ทั้งสองฝ่าย” น่าสนใจนะ ฝ่ายที่ ๑ และ ๒ พฤติกรรมหลักคือสร้าง “กำแพง” กันคนของเขาไว้ข้างใน ไม่ให้คนข้างนอกเข้ามาหรือให้บางคนเข้ามาได้แต่ออกลำบาก ในการสร้างกำแพงต้องทำให้เห็นว่าเราต่างจากอีกฝ่าย ไม่ให้รับรู้เรื่องราวส่วนที่เป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องรับรู้สิ่งที่บอกเท่านั้นว่าอีกฝ่ายเลวยังไงก็ว่ากันไป เน้นการสร้างกำแพง ส่วนพวกไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดก็อาจจะสร้างอะไรมากันตัวเองไม่ให้เข้าไปยุ่งกับทั้งสองฝ่าย อาจจะสร้าง “บันได” บนหอสูงแล้วมองลงมาเห็นทั้งสองฝ่ายในกำแพงว่าคิดอะไร หรือในกลุ่มนี้บางคนอาจไม่สนใจความทุกข์ความร้อนของใคร มองแต่นกแต่ฟ้าอย่างเดียว แต่ฝ่ายที่ ๔ พวกฝักใฝ่ทั้งสองฝ่าย คือพวกที่พยายามจะสร้างทั้ง “บันได” สูงเพื่อมองเห็นความจริงจากทั้งสองฝ่าย แล้วยังพยายามสร้าง “สะพานเชื่อม”

สังคมไทยตอนนี้ผมคิดว่าความพยายามสร้างกำแพงนั้นเด่นชัด มีฝ่ายต่างๆ ที่มุ่งมั่นจะทำเต็มไปหมด ผลก็อย่างที่ว่า มีข้อดีไหม มี คนในกำแพงเราอบอุ่น เราพวกเดียวกัน เราเป็นชุมชน แต่ก็มองอีกฝ่ายไม่เห็น แล้วก็รู้สึกว่าอีกฝ่ายอันตราย เป็นคนเถื่อน ชั่วร้าย มีข่าวก็รับรู้กันภายในกำแพง แต่ฝ่ายสร้างสะพานจะลำบากเพราะพวกในกำแพงจะคิดว่าคุณมาจากไหน จะมาสร้างสะพานให้พูดคุยกันได้ ปรากฏการณ์สังคมไทยที่น่าสนใจคือเราต้องการอะไรสำหรับอนาคต

อาจารย์คิดว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยอยู่ฝ่ายไหน
เท่าที่สังเกตดู กำแพงที่ทั้งคนนอกและคนในช่วยกันสร้างดูจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ในอดีตผมอาจจะเคยรู้สึกว่าคนกลางๆ มีมาก แต่วันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจ คนที่เหลือ คนที่จะสร้างสะพานเชื่อม สร้างบันไดสูงร่วมกัน ผมคิดว่าพื้นที่นี้เล็กลงเรื่อยๆ เพราะคนในกำแพงไม่ยอมให้อยู่ และพยายามจะบีบว่าต้องเข้ามาอยู่ในกำแพงหรือไม่ก็ต้องออกนอกกำแพงของฉัน ในระยะยาวการแก้ปัญหาระหว่างกันจะยากลำบากขึ้นถ้าเราไม่มีคนบนบันไดสูงเราจะไม่เห็นภาพทั้งสองด้านที่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีคนที่สร้างสะพานเราจะไม่เห็นว่าสองฝ่ายจะเชื่อมโยงกันอย่างไร จึงน่าจะอันตราย

สังคมไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าพื้นที่ตรงกลางไม่มีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งในแง่ชนชั้นและพื้นที่ทางการเมือง ในที่สุดสังคมที่ดีอาจจะเป็นสังคมที่มีคนกลางๆ มาก คนรวยมีน้อยจนมากๆ มีน้อย แต่กลางมีมาก นี่เป็นเงื่อนไขสังคมแบบที่อริสโตเติลว่าอาจจะดีที่สุด แต่เวลานี้บอกไม่ได้ ไม่มีพื้นที่ตรงกลางก็จะอันตราย มีแต่การปะทะกัน ไม่มีเครื่องกันกระแทกหรือหมอนคอยพยุงการปะทะไม่ให้ถึงเลือดตกยางออก

ความขัดแย้งทางการเมืองในแบบที่เราเผชิญอยู่คือชนชั้นกลางในเมืองเลือกพรรคการเมืองชุดหนึ่ง
กับคนชนบทเลือกอีกชุดหนึ่ง มีตัวอย่างในต่างประเทศไหมครับ

ความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบทส่วนใหญ่ในโลกเป็นแบบนั้น อินเดียเป็นตัวอย่างสำคัญ ปัญหาที่น่าสนใจคือความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทแบบที่เป็นอยู่มักมีข้อตกลงร่วมกันคือการยอมรับกติกาบางอย่าง การยอมรับการตัดสินประเด็นการขึ้นมาครองอำนาจ แม้ต่างกันแต่สิ่งสำคัญคือฝ่ายหนึ่งชนะการเลือกตั้ง อีกฝ่ายยอมให้การเลือกตั้งตัดสินผลที่ตามมาคือเสียงส่วนมากก็เลือกคนแบบหนึ่งขึ้นมา

ผมคิดว่าเป็นอาการปรกติของความขัดแย้งแบบนี้ แต่การบรรลุข้อยุติเป็นไปได้ด้วยการยอมรับข้อตัดสินบางอย่าง สังคมไทยขณะนี้ไม่เพียงมีความต่างกันในแง่การเลือก แต่ยังมีความต่างกันในเกณฑ์การตัดสินว่าจะเอาอะไร อันนี้เลยยาก อีกฝ่ายไม่ยอมรับกติกาจากการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งสกปรก ใช้เงินซื้อเสียง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ยืนยันว่าการเลือกตั้งคือฐานความชอบธรรมของการขึ้นมาครองอำนาจ พอไม่เอาเกณฑ์นี้ก็ถามว่าจะเอาวิธีไหน ในต่างประเทศอย่างน้อยเขาก็มีข้อตกลงร่วมกัน เขายอมรับกติกาบางอย่าง บางที่เขาไม่ตกลงร่วมกัน แต่ฝ่ายหนึ่งชัดเจนว่ามีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายก็กำหนดว่าเป็นแบบนี้ ในจีนก็เป็นประชาธิปไตยแบบที่พรรคเป็นตัวกำหนด แต่เป็นไปได้ไหมว่าในสังคมไทยเวลานี้ อำนาจในสังคมมันพอๆ กัน หมายถึงการแบ่งฝักฝ่ายในสังคมมีพลังที่อยู่ข้างหลังในปริมาณที่มากพอกัน ไม่มีใครแน่ใจว่าเหนือกว่าอีกฝ่าย