วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ

สัมภาษณ์ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)การเมืองไทยกับการเติบโตของเคเบิลทีวีและนิวมีเดีย

ครั้งหนึ่ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยให้สัมภาษณ์ สารคดี ว่า เรามีพระเจ้าองค์ใหม่ที่ต้องเข้าเฝ้ากันทุกวัน วันละหลายเวลา คือโทรทัศน์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการรับรู้ข่าวสารข้อมูล ทั้งเป็นความบันเทิงราคาถูกอีกต่างหาก

ประชากรประมาณ ๑๖ ล้านครัวเรือนในประเทศไทย เกือบทุกครัวเรือนต่างมีโทรทัศน์เป็นพระเจ้ากันมานานหลายสิบปี และไม่เคยเสื่อมความนิยมมาตลอด ขณะที่สถานการณ์สื่ออื่นๆ อาทิ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ตกอยู่ในห้วงยามอาทิตย์อัสดง ความนิยมลดลงไปเรื่อยๆ โดยมีอินเทอร์เน็ตและสื่อใหม่ๆ เติบโตขึ้นมาแย่งพื้นที่

ทุกวันนี้เราสามารถเลือกรับชมโทรทัศน์ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

๑. เสาอากาศทีวีทั่วไป หรือที่นิยมเรียกว่า เสาก้างปลา เสาประเภทนี้มีอายุการใช้งานเฉลี่ย ๕-๗ ปี รับชมรายการจากฟรีทีวีได้เพียง ๖ ช่อง เคยมีผู้ชมสูงสุดถึง ๑๕ ล้านครัวเรือนหรือเกือบทั่วประเทศ แต่ความนิยมค่อยๆ ลดลง คาดว่าในปีหน้าจะเหลือผู้ชมรายการผ่านระบบนี้เพียง ๙ ล้านครัวเรือน

๒. จานดาวเทียม C-Band (จานโปร่งขนาด ๖ ฟุตขึ้นไป) ได้รับความนิยมมากในช่วงปี ๒๕๓๕-๒๕๔๕ มีผู้ชมประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน เนื่องจากในขณะนั้นรายการฟรีทีวี (๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑, ไอทีวี) ในบางพื้นที่รับสัญญาณได้ไม่ชัด และสามารถรับชมรายการจากต่างประเทศได้ด้วย ปัจจุบันคาดว่ามีผู้ชมจริงประมาณไม่เกิน ๘ แสนครัวเรือน อันเนื่องมาจากมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง และระบบการรับสัญญาณทีวีระบบอื่นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

๓. จานดาวเทียม KU-Band (จานทึบขนาด ๖๐ ซม.) รู้จักกันในชื่อ จานเหลือง จานน้ำเงิน นับเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะมาแทนที่จาน C-Band และเสาอากาศ เพราะติดตั้งง่าย ราคาถูก และสามารถรับชมช่องรายการได้มากกว่าฟรีทีวีปรกติ แต่มีข้อเสียคือหากฟ้าปิดหรือฝนตกมักจะมีปัญหาในการรับชมรายการ คาดว่าอีก ๓ ปีจำนวนยอดการติดตั้งน่าจะสูงถึง ๒ ล้านครัวเรือน

๔. จานแบบ truevisions ผู้ให้บริการโทรทัศน์บอกรับเป็นสมาชิกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ให้บริการทั้งระบบจานดาวเทียมและเคเบิล ส่วนใหญ่เป็นช่องรายการลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ไม่มีโฆษณา ทำให้มีการเก็บค่าบริการรายเดือนในอัตราสูงเกือบพันบาท ปัจจุบันคาดว่ามีสมาชิกประมาณ ๑.๒ ล้านครัวเรือน

๕. ระบบเคเบิลทีวีไทย ระบบการให้บริการสัญญาณโทรทัศน์ทางสายเคเบิล ช่องทางนี้ผู้บริโภคได้รับชมช่องรายการมากที่สุดและเป็นระบบที่ผู้บริโภคเสียค่าใช้จ่ายน้อย เพียงจ่ายค่าสมาชิกเดือนละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษาใดๆ เพราะผู้ให้บริการเป็นผู้รับภาระเองทั้งหมด ปัจจุบันเคเบิลทีวีไทยมีสมาชิกรวมประมาณ ๒.๕ ล้านครัวเรือน ประมาณการว่าภายใน ๑๐ ปีจะมีสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑๒ ล้านครัวเรือน

จะสังเกตได้ว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ช่องทางการดูโทรทัศน์ในบ้านเราเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมรับชมช่องฟรีทีวีเป็นหลัก เริ่มเปลี่ยนมารับชมผ่านเคเบิลทีวีและรับสัญญาณจากจานดาวเทียม โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ให้การยอมรับเคเบิลทีวีท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและสมัครเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีมากขึ้น

ที่น่าสนใจคือ เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในรอบ ๔-๕ ปีที่ผ่านมา

ทุกวันนี้โลกแห่งการสื่อสารมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อมานาน ได้แสดงทัศนะของเขากับ สารคดี ว่าโลกของนิวมีเดียและช่องทางการสื่อสารในอนาคตกำลังจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางใด

adisak02


ช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องของสื่อ ในฐานะที่คุณอยู่ในวงการสื่อมานานมีข้อสังเกตอะไรบ้าง

ผมว่าช่วงหลังประมาณสัก ๕ ปีวงการสื่อทั่วโลกเปลี่ยนเยอะ เพราะอินเทอร์เน็ตมีการเปลี่ยนแปลงมาก เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น ทุกคนก็เข้ามาเล่นกันหมด ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างในอเมริกาทุกคนจะไปซื้อขายหุ้นพวกบริษัทด้านอินเทอร์เน็ตหรือไอทีที่มีการปั่นราคาสูงมากในตลาดแนสแด็ก (NASDAQ) สุดท้ายแนสแด็กกลายเป็นฟองสบู่แตกเมื่อ ๕ ปีก่อน ทุกคนที่เล่นหุ้นในตลาดพวกนี้เจ๊งกันหมด วงการไอทีก็เกิดการปั่นป่วนขึ้นอีกครั้ง และอีกประการหนึ่ง เทคโนโลยีทำให้มีการแข่งขันกันสูงมาก คิดดูสิว่าย้อนกลับไป ๑๐ ปีที่แล้วคุณลองนึกถึงอินเทอร์เน็ตสมัยโน้น จะพบว่าเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงดังๆ หายไปหลายเว็บ มันไปเร็วมาก ไปเพราะฟองสบู่แตก และโดยพื้นฐานของตัวเว็บมันไม่มีเนื้อหาจริงจัง อีกทั้งเทคโนโลยีก็เปลี่ยนไป มีเว็บ ๑.๐, ๒.๐, ๓.๐ แต่ที่ยังเหลืออยู่คือพวกเว็บหนังสือพิมพ์ คือเว็บมี ๒ สาย เว็บพวกที่ทำ content กับเว็บพวกที่ไม่ทำ content พวกเขียนโปรแกรมอย่างเดียว สมัยก่อนใครจะไปคิดว่าจะมีคนมาแทน Yahoo ที่ครองหน้าจอคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ได้ Google มาไม่นานก็ไล่กินหมด ตอนนี้ใครจะไปเชื่อว่า Facebook จะมากินกูเกิลหมดเลยภายในเวลาไม่ถึง ๒ ปี

คุณกำลังบอกว่าเว็บที่มีเนื้อหาจะอยู่รอดได้ต่อไป
ถูกต้องครับ มีเว็บหนังสือพิมพ์ที่อยู่ได้ทั้งที่ขาดทุนเพราะโฆษณายังไม่เข้าเป้า แต่มีเนื้อหา มีคนเข้าไปใช้บริการอยู่เรื่อยๆ ถือว่ายังมีอนาคต ส่วนเว็บที่ไม่ได้ทำเนื้อหาเองก็อยู่ไม่ได้ พอเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ความเร็วเพิ่มขึ้น ง่ายต่อการส่งข้อมูล จึงเป็นยุคของพวก user-generated content คือคนใช้เน็ตช่วยกันสร้างเนื้อหาเอง อาทิวิกิพีเดีย เมื่อคนเข้าถึงเทคโนโลยีง่ายต่อการส่งข้อมูลเข้าไป ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนหมด แล้วมันก็เชื่อมโยงไปสู่เทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ ดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ มันก็เชื่อมโยงกันหมด

เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วอินเทอร์เน็ตฟุบไปพักหนึ่ง แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้อินเทอร์เน็ตกลับมาใหม่
เรื่องเทคโนโลยีด้วย เรื่องความเร็วของอินเทอร์เน็ตมันเพิ่มขึ้น ยุคนี้มันคือ wireless ความเร็วทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในการเสพสื่อเปลี่ยนไปมาก ตัวเลขของคนใช้อินเทอร์เน็ตบ้านเราจริงๆ อาจจะไม่ถึง ๑๖ ล้านคน สัดส่วนก็ไม่เหมือนกัน ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคอีสาน ภาคเหนือ ฯลฯ ต่างกันมาก ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตบ้านเรานั้นสัญญาณไปทางสายโทรศัพท์พื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ แล้วหน่วยงานที่ทำพวกโทรศัพท์พื้นฐานอย่าง TOT, TT&T ก็ไม่ขยาย ไม่เพิ่มสายโทรศัพท์พื้นฐานกันแล้ว ฉะนั้นอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตในภาคอีสานต่ำกว่า ๑๐ % แต่ในกรุงเทพฯ สูงมาก ซึ่งสัดส่วนนี้มันกำลังเปลี่ยนแล้ว และเดิมคนเข้าใจว่าวัยรุ่นใช้อินเทอร์เน็ตกันเยอะ ซึ่งมันก็จริงเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ในช่วงอายุพอๆ กันหมด อันนี้เป็นตัวเลขที่บริษัทโฆษณาสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา

ถ้าหากว่าอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนเป็นความเร็วสูงทั้งประเทศ มันจะพลิกโฉมการรับรู้ข่าวสารอีกขั้นหนึ่งเพราะทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาบริษัท TT&T ที่ได้สัมปทานทำโทรศัพท์พื้นฐาน ๑ ล้านเลขหมายในต่างจังหวัด ทุกวันนี้ตัวเลขก็ยังอยู่เท่าเดิม ตอนนี้บ้านเรามีโทรศัพท์มือถือมากกว่าโทรทัศน์ ทุกบ้านมีโทรทัศน์อย่างน้อยหลังละเครื่อง โทรศัพท์ก็มีทุกบ้าน บางบ้านมีกัน ๒-๓ เครื่อง นั่นแสดงว่าการเข้าถึงโทรศัพท์นั้นเกือบ ๑๐๐ % ยิ่งในชนบทยิ่งใช้โทรศัพท์มือถือกันมากเพราะว่าสายไม่ถึงและโทรศัพท์ราคาถูกที่สุด กลายเป็นว่าโทรศัพท์มือถือระบบ prepaid กินสัดส่วนไปถึง ๘๐ % ของการใช้โทรศัพท์บ้านเราซึ่งมหาศาลมาก

เรื่องระบบ 3G ที่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น การใช้โทรศัพท์ 3G แบบคุยกันไม่มีความหมาย แต่ถ้าเป็น 3G นั่นหมายความว่าความเร็วของการใช้อินเทอร์เน็ตมันจะเท่าเทียม ช่องว่างระหว่างดิจิทัลลดลง ทุกวันนี้ช่องว่างระหว่างดิจิทัลของเมืองกับชนบทมันห่างกันมาก คือการเข้าถึง content ที่เป็นดิจิทัลมันต่างกันมาก ในชนบทมีคอมพิวเตอร์แค่ ๘ % ในกรุงเทพฯ มีเกือบ ๕๐ %

ถ้าหากระบบ 3G ที่ทำให้ความเร็วในการสื่อสารเพิ่มขึ้นเป็นจริงขึ้นมา มันมีนัยว่าอะไร
ทุกวันนี้ความเร็วของอินเทอร์เน็ตในบ้านเรามันไม่เท่ากัน อินเทอร์เน็ตในมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศเป็น hi-speed หมด ต่างจังหวัดก็เป็น hi-speed แต่พอออกมานอกมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดก็ใช้ไม่ได้ ในต่างจังหวัดจุดที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีอยู่แค่ในมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนประจำจังหวัด ออกมาข้างนอกก็ใช้ไม่ได้ แต่ในกรุงเทพฯ ใช้ได้หมด นี่คือช่องว่างซึ่งแตกต่างกันมาก ถ้าเทียบกับเกาหลีใต้ ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้หมด ความเร็วอินเทอร์เน็ตของเขาถูกมาก รัฐบาลลงทุนเดินสายโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานทั่วประเทศ เกาหลีใต้ไม่ได้ใช้ wireless แต่เป็นทางสาย ซึ่งดีที่สุดอยู่แล้ว บ้านเราให้เอกชนลงทุนทางด้าน wireless อย่างเดียว ทางสายก็ไม่ได้พัฒนาต่อ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัดถึงมีปัญหา

ผมเห็นไอเดียหนึ่งสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ (จุลานนท์) มีการพูดถึงการรวมโครงข่ายทั่วประเทศ มีอยู่ ๕ หน่วยงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหรือทีโอที และการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือแคท ถ้าสามารถรวมโครงข่ายได้หมด การใช้อินเทอร์เน็ตบ้านเราจะเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

การรวมโครงข่ายหมายความว่าอย่างไร
อย่าง กฟผ. มีเสาไฟฟ้าแรงสูงทั่วประเทศ ถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าพอที่จะเอาสายไฟฟ้ามาใช้ส่งอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ซึ่งในออสเตรเลียก็เริ่มทำแล้ว หากทั้ง ๕ หน่วยงานร่วมมือกัน เราจะสามารถส่งอินเทอร์เน็ตได้ทั้งประเทศ คือ กฟผ. เดินสายไฟฟ้าทั่วประเทศ พอเข้ามาในระดับจังหวัดส่งไปตามบ้านคนก็อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในเมืองหลวงก็เป็นความรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง เป็นการช่วยเสริมกับสายโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์ฯ ส่วนสายนอกประเทศก็เป็นหน้าที่ของการสื่อสารฯ สร้างเป็น network ทั้งภายในและนอกประเทศ และถ้าทั้งประเทศสามารถขยายเป็น 3G ได้ ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารได้เท่ากันไม่ว่าคุณจะใช้โทรศัพท์มีสายหรือโทรศัพท์มือถือ ถึงตอนนั้นเมื่อคนได้ข่าวสารเท่ากัน โลกมันจะเปลี่ยน

adisak03


ทุกวันนี้ความเร็วแค่ 2G ยังไม่พอหรือครับ
ความเร็วยังไม่พอ คือความเร็วของ 3G มันเพิ่มจาก 2G ตั้ง ๑๐-๒๐ เท่า เหมือนโทรทัศน์แอนาล็อกกับดิจิทัล ถ้าคนได้ดูดิจิทัลแล้วจะไม่กลับไปดูแอนาล็อกเพราะมันดูไม่ได้ หรือพอได้ดู HD แล้วก็กลับมาดูดิจิทัลไม่ได้ เช่นกันเมื่อคนใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้วจะให้กลับไปใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วอืดเป็นเต่าก็คงไม่ได้ แล้วยิ่ง 4G มีความเร็วเพิ่มอีกเป็นร้อยเท่า มันเป็นเรื่องของความเร็วเท่านั้นเอง ทุกวันนี้อย่าง AIS ทำได้แค่ 2.5 G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบครึ่งๆ มันก็ยังไม่เสถียร แต่ถ้าเป็น 3G มันเสถียรกว่ามาก ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้โทรศัพท์สามารถรองรับแทบทั้งนั้น ยิ่งถ้าเป็นพวก smart phone อย่าง BB หรือ iPhone ยิ่งสะดวกในการดึงข้อมูล มั่นใจเลยว่าเปลี่ยนหมดเพราะเชื่อมโยงกันหมด อย่างน้อยๆ content ก็ไปหมด อย่างค่ายเนชั่นเราทำหน้าที่สร้าง content ขึ้นมา และไปออกตามช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม เคเบิล มือถือ

ทำไมค่ายเนชั่นถึงสนใจเรื่องเคเบิลทีวี
ส่วนหนึ่งเพราะเป็นภาคบังคับ คือเราไม่มีพื้นที่ในฟรีทีวีมากพอ ใครก็รู้ว่าเวลาในฟรีทีวีมันไม่ง่าย และก็มีความเสี่ยงสูงมาก ฟรีทีวีบ้านเรามีอยู่ ๖ ช่อง ทีวีไทยก็แค่รับจ้างผลิต ช่อง ๑๑ ก็มั่วๆ ไป ช่อง ๓ ทำเองเป็นส่วนใหญ่ คือมีบริษัทลูกผลิตรายการ ไม่ค่อยให้คนนอกทำ ช่อง ๕ ให้เช่าเวลาอย่างเดียว เปลี่ยน ผอ. ใหม่ก็รื้อผังนับหนึ่งใหม่ไม่มีโอกาสเข้าไป ช่อง ๗ ไม่เคยเปลี่ยนผังมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ไม่เคยมีผู้ผลิตรายใหม่เข้าไปที่ช่อง ๗ ส่วนช่อง ๙ ก็แล้วแต่สถานการณ์ เนชั่นเองเราเคยมีประสบการณ์การบริหารข่าวของไอทีวี เราเห็นว่าจากเดิมคนไม่เชื่อว่าข่าวมันขายได้ คนเชื่อแต่ว่าละครขายได้ แต่เนชั่นเราเชื่อเรื่องข่าวและมีพล็อตที่สนุกกว่าละครหลายเรื่อง แล้วพล็อตเปลี่ยนตลอด ต่างกับละครที่พล็อตเดิมแล้วเอามาสร้างใหม่ เราอยู่กับไอทีวีแล้วเราก็ถูกเตะออกมาจากไอทีวี เราก็มาทำ Nation Channel ระหว่างที่อยู่ไอทีวีเราก็รู้ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เดินต่อไม่ได้ เกิดความขัดแย้งเราก็ออกมา แต่สิ่งที่เราทำในไอทีวีอย่างน้อยที่สุดก็สร้างกลุ่มคนที่ดูข่าว เสพข่าว ซึ่งในต่างประเทศเป็นเรื่องปรกติ สถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่ในต่างประเทศจะถือว่าข่าวเป็นหน้าตาของสถานีด้วยซ้ำ Nation Channel ก็มาแพร่ภาพทาง UBC ช่อง ๘ ทำอยู่ ๓ ปีหมดสัญญา เขาไม่ให้เราทำต่อ ทั้งที่ช่วงที่เราทำเรตติ้งของช่องอยู่ท็อปไฟว์ตลอด แล้วช่วงไหนมีสถานการณ์ร้อนๆ มันก็ขึ้นไปอันดับ ๑ ซึ่ง Nation Channel ก็เหมือนกับช่อง CNN ในอเมริกา พอมีสงครามเรตติ้งขึ้นทันที ชนะช่อง FOX แต่ช่วงเหตุการณ์ปรกติ CNN แพ้ช่อง FOX

พอช่วงปี ๒๕๔๖ เมืองไทยเริ่มให้ความสนใจเคเบิลทีวีกันมากขึ้น Nation Channel ก็อาจจะเป็นช่องแรกๆ เราก็เอาเนื้อหาหรือ content ที่เราสร้างมาทำรายการทีวี คือเนชั่นเชื่อใน content นำ เราไม่ได้เชื่อในการตลาดนำ เราจะทำ content นำไปก่อนแล้วการตลาดค่อยตาม ยิ่งมีช่องทางกระจายได้มากขึ้น และค่าส่งต่างๆ ถูกลง ราคาค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมถูกลง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขึ้น ก็ทำให้ content ของเรากระจายตัวมาก พฤติกรรมคนก็เปลี่ยน

ทำไมช่วงหลังเคเบิลทีวีถึงได้รับความนิยมมากในต่างจังหวัด
เพราะช่องมันมีมากขึ้น ผู้ผลิต content ก็มากขึ้น ที่ผ่านมาคนที่ทำ content ไม่มีช่องทางออกในฟรีทีวี บอกได้เลยว่าฟรีทีวีไม่ใช่ทางออกของพวกผลิตรายการอิสระ จึงมาออกทางช่องเคเบิลทีวี และในต่างจังหวัดการเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีถือเป็นความบันเทิงราคาถูก คุณจ่ายค่าบริการเดือนละ ๓๐๐ บาท ดูได้ ๖๐-๘๐ ช่อง อย่างใน ๓ จังหวัดภาคใต้เคเบิลทีวีขายดีมาก เพราะคนอยู่บ้านจะออกไปข้างนอกก็อันตราย และดูได้หมดไม่เหมือนกับยูบีซีที่ต้องเสียตังค์ อีกเมื่อเพิ่มจุดชมภายในบ้าน แต่เคเบิลคุณจะดูกี่จุดกี่ช่องในบ้านคุณก็ดูไปไม่ต้องเสียตังค์เพิ่ม มีช่องให้เลือกมากมาย มีทั้งช่องการ์ตูนซึ่งเป็นช่องที่ได้รับความนิยมในเคเบิลเพราะว่า content การ์ตูนสำหรับเด็กๆ ไม่มีในฟรีทีวีบ้านเราเลยนอกจากวันเสาร์-อาทิตย์ ช่อง ๙ สมัยก่อนตอนเช้าๆ ยังมีเจ้าขุนทองเดี๋ยวนี้เด็กไม่มีอะไรจะดูก็เลยมาดูช่องเคเบิลยิ่งต่างจังหวัดไม่สามารถสมัครยูบีซีหรือ truevisions ได้หรอกเพราะราคาแพงมาก ในต่างจังหวัดทรูวิชั่นส์คงมีไม่ถึง ๑๐ % ของสมาชิกทั้งหมด พอเคเบิลมีช่องพวกนี้มันสนองความต้องการ เหมือนห้างสรรพสินค้าถ้าห้างมีของน้อยคุณจะเข้าไหมถ้าของมีเยอะคนก็เข้าเยอะ มันเป็นกลไก

เคเบิลทีวีกับจานดาวเทียมแตกต่างกันยังไง
คนในวงการเคเบิลทีวีจะแบ่งเป็น ๓ พวก พวกแรกเป็นคนสร้าง network ตั้งเป็นบริษัทเคเบิลทีวี หาสมาชิก เก็บค่าสมาชิก เขาบริการลูกค้าโดยสร้าง network ลากสายไปที่บ้าน และอาจจะผลิตข่าวเองบ้างเป็นช่องท้องถิ่น ข่าวบริการชุมชน ตอนนี้มีทุกจังหวัด พวกที่ ๒ คือพวกขายจานดาวเทียมอย่างเดียว ไม่ได้ผลิต content พวกที่ ๓ คือพวกทำ content เป็น content provider อย่าง Nation Channel, ASTV สร้างเสร็จแล้วก็ขายให้ทางบริษัทเคเบิลทีวี บางเจ้าก็ให้ฟรี บางเจ้าก็ขายรายการขายข่าวให้เคเบิล อย่างชลบุรีมีบริษัทเคเบิลทีวีร่วม ๒๐ บริษัท ตอนนี้แข่งขันกันจนถึงจุดที่รายใหญ่กินรายเล็กหมด แต่ก่อนจังหวัดหนึ่งจะมีหลายราย อย่างโคราชเมื่อก่อนมี ๔-๕ ราย เดี๋ยวนี้เหลือรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดถึง ๘๐ % นอกนั้นเป็นรายเล็กมาก

การเติบโตของเคเบิลทีวีเริ่มมากี่ปีแล้ว
ผมว่าช่วง ๕ ปีนี้โตมาก จริงๆ แล้วไปคู่กันหมดทั้งกระแสเรื่องการเมืองด้วย ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ สมัยมีการประท้วงในยุคปลายคุณทักษิณ คือเรื่องการเมืองมีส่วนสำคัญมากๆ ที่ทำให้จานดาวเทียมขยายตัว เคเบิลขยายตัว เหมือนกับพอมีถนนแล้วรถอะไรจะวิ่งก็ได้ content ประเภทช่องบันเทิงอย่าง Grammy ฯลฯ ก็ไปหมดในเคเบิลทีวีต่างจังหวัด ต้องยอมรับว่าการเมืองมีส่วนมากที่ทำให้เคเบิลทีวีเติบโต ขณะเดียวกันฟรีทีวีไม่สามารถสนองความต้องการได้ และผมคิดว่าเป็นการถูกบังคับให้ดูมาก อีกอย่างสังคมก็มีการแบ่งกลุ่มกันมากขึ้น ขณะที่ฟรีทีวีก็มีหลากหลายทุกกลุ่มอายุ ทั้งผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย คนจน คนรวย แต่เคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมมีลักษณะเป็น segment หรือการแบ่งกลุ่มคนดูเฉพาะกลุ่มขึ้น สมมุติเป็นช่องข่าวก็มีข่าวอย่างเดียวแฟนใครแฟนมัน อย่างของแกรมมี่เขามีช่องลูกทุ่งก็มีลูกทุ่งอย่างเดียวและเปิดเฉพาะเพลงของค่ายตัวเอง หรือช่อง ๗ ก็มีช่อง Media Channel เป็นช่องละครอย่างเดียว เอาละครมาวนออกอากาศหลายรอบ ก็ถูกใจคนดูเพราะมีละครเก่าๆ ฉายทุกวัน วันหนึ่งไม่รู้กี่รอบ คนก็ติด เพราะฉะนั้นผมคิดว่าพอสังคมขยายตัวจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ เป็น segment มีความต้องการเฉพาะ เคเบิลทีวีก็เข้าไปทางนี้ ซึ่งฟรีทีวีตอบสนองไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเปรียบเทียบหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ กับหนังสือคอมพิวเตอร์ ไทยรัฐ ก็ไม่ได้สนองความต้องการเรื่องคอมพิวเตอร์เลย ขณะที่เคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียม ก็เปรียบได้กับนิตยสารเฉพาะกลุ่มที่สนใจคอมพิวเตอร์

ทุกวันนี้เคเบิลทีวีรับสัญญาณผ่านดาวเทียม ขณะที่ฟรีทีวียังต้องมีสถานีถ่ายทอดตามต่างจังหวัดคอยรับสัญญาณจากสถานีในกรุงเทพฯ
เพราะว่าพอส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียมมันก็รับได้หมดทั่วประเทศ ทีวีระบบเดิมมันใช้ไม่ได้แล้ว ผมเคยโต้แย้ง ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรณีที่ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ผ่านวุฒิสภาแล้ว และจะมีการประมูลโทรทัศน์ใหม่ ผมบอกเป็นไปไม่ได้ เพราะจะไม่มีใครประมูลทีวีเหมือนตอนประมูลไอทีวี เหตุผลของผมคือการประมูลโทรทัศน์แบบนั้นต้องใช้เงินลงทุน ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ล้านบาท อย่างไอทีวีเขาตั้งสถานีรับสัญญาณอีก ๕๐ แห่ง เพราะเขาเป็นสัญญาณภาคพื้นดิน (ระบบ UHF) ส่งในระยะทาง ๒๐-๓๐ กิโลเมตร และต้องไปตั้งสถานีเพื่อขยายสัญญาณต่อ แต่ถ้าเป็นระบบดาวเทียม พอส่งสัญญาณยิงผ่านดาวเทียมทุกที่สามารถรับได้เท่ากันหมด การทำช่องดาวเทียม ๑ ช่องสามารถทำได้ภายใน ๒-๓ เดือนขึ้นอยู่กับคุณภาพเท่านั้นเอง คือไทยคมหรือดาวเทียมอื่นๆ ถ้าขอเช่าเขาก็ให้เช่าแล้วอาจจะเรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้า ๒-๓ เดือน พอเดือนที่ ๓ คุณไม่มีเงินจ่ายเขาก็สอยลง

แสดงว่าโทรทัศน์ดาวเทียมไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ
ปัจจุบัน Nation Channel ออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคม ไม่ใช่คลื่นสาธารณะ ไม่ต้องไปขออนุญาตใคร เราก็เช่าช่องสัญญาณของไทยคมเป็นธุรกิจธรรมดา แต่อย่างไอทีวีมันเป็นคลื่นสาธารณะ หมายความว่าคลื่นจำพวกนั้นสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้ คือคิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สมมุติว่าแทนที่จะทำโทรทัศน์แต่ไปใช้กับระบบโทรคมนาคมอาจจะคุ้มค่ากว่า เรียกง่ายๆ ว่าเป็นแผนความถี่ที่แต่ละช่วงความถี่สามารถใช้งานได้หลายอย่าง ซึ่งต้องจัดสรร ต้องให้สัมปทาน แต่โทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิลไม่ต้องได้รับการจัดสรรเพราะไม่ใช่คลื่นสาธารณะ

อนาคตของฟรีทีวีจะเป็นอย่างไร
ฟรีทีวีมันก็จะไม่เติบโตไปกว่านี้ ยกตัวอย่างในไต้หวัน ฟรีทีวีเป็นส่วนหนึ่งของเคเบิลทีวี คนที่สมัครเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีก็ดูได้หมด และถ้าพูดถึงการแข่งขันฟรีทีวีลงทุนเยอะกว่า คุณก็ต้องบำรุงรักษาสถานีย่อยรับสัญญาณ แต่ทีวีดาวเทียม ถ้าดาวเทียมดวงนี้มีปัญหาเราก็ย้ายไปเช่าดาวเทียมดวงอื่น อนาคตของฟรีทีวีคงไม่โตไปกว่านี้ และอัตราค่าโฆษณาก็จะถูกลงเรื่อยๆ แล้วสินค้าบางอย่างที่ไม่สามารถโฆษณาในฟรีทีวีได้ สมมุติบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องโฆษณาในฟรีทีวี เพราะคนที่ดูทีวีในอีสานคงไม่มาซื้อบ้านที่กรุงเทพฯ แต่ถ้าเขาโฆษณาขายบ้านผ่านเคเบิลทีวีที่อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างเดียวก็อาจจะตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า และโฆษณาในทีวีดาวเทียมก็ไม่แพงสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ อย่าง Nation Channel คนดูเป็นชนชั้นกลางที่สามารถซื้อบ้านจัดสรรได้ เขาโฆษณาก็คุ้มกว่าไปซื้อนาทีในฟรีทีวีเพราะกลุ่มเป้าหมายไม่ตรง ผมว่าโลกอนาคตมันเป็นเรื่องของการแบ่งกลุ่มเป้าหมาย คือจะอยู่เป็นชุมชนทั้งในแง่พื้นที่และความชอบ แล้วเชื่อมโยงด้วย social network

สถานการณ์ของเคเบิลทีวีในบ้านเรากับเมืองนอกห่างไกลกันมากไหม
ในเมืองนอกไปเร็วมากแล้ว ในอเมริกาเคเบิลทีวีที่เป็นทั้งดาวเทียมและทางสาย ในแง่ของโฆษณามีส่วนแบ่งการตลาด ๓๐ % ฟรีทีวีแค่ประมาณ ๑๐ % เพราะฟรีทีวีในอเมริกาเป็นทีวีชุมชน ทีวีของรัฐ ส่วนทีวีบ้านเราอย่างช่อง ๑๑ ถ้าแปลงเป็นทีวีชุมชนไม่ต้องคิดว่าต้องส่งสัญญาณไปทั่วประเทศ คือตอนนี้ช่อง ๑๑ มีสถานีย่อย ๘ แห่งทั่วประเทศ อาทิที่ลำปางออกอากาศแค่ลำปางในรัศมี ๓๐ กิโลเมตร ก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพราะฉะนั้นในอเมริกาเคเบิลมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด รองลงมาก็เป็นพวกอินเทอร์เน็ต อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เขาไปก่อนเราเยอะแล้ว ยิ่งในอินเดียมีแต่ทีวีดาวเทียมเพราะอินเดียใหญ่มาก ข้อดีของทีวีดาวเทียมคือเท่ากันหมด แต้มต่อไม่มีจานไหนก็รับได้ แต่ทีวีภาคพื้นดินมันไม่ใช่ ถ้าไม่สร้างสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินตามต่างจังหวัดก็รับสัญญาณไม่ได้

แสดงว่าในอนาคตฟรีทีวีอาจจะใช้ดาวเทียมมาแทนสถานีภาคพื้นดิน
ทุกวันนี้ก็ใช้อยู่แล้ว เขาไม่ขยายสถานีภาคพื้นดิน ใช้ดาวเทียมดีกว่า คุ้มกว่า และผมคิดว่าเรื่องของสัมปทานช่อง ๓ อีก ๑๐ ปีหมดสัญญา รัฐบาลควรจะคิดเรื่องของทีวีดิจิทัลเพื่อเอาคลื่นมาแตกออกให้เป็นทีวีเฉพาะกลุ่มเฉพาะพื้นที่ นักวิชาการบางคนคิดถึงดิจิทัลทั่วประเทศ ซึ่งต้องลงทุนมหาศาล แต่ถ้าเอาคลื่นความถี่ของทีวีช่อง ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑ มาทำทีวีดิจิทัลแล้วกำหนดพื้นที่ ก็ลงทุนไม่สูง สมมุติช่อง ๓ สัมปทานหมดแล้วต้องคืนให้ช่อง ๙ ช่อง ๙ จะบริหารงานแบบเดิมหรือ อีก ๑๐ ปีมันเปลี่ยนไปมหาศาล ช่อง ๙ ก็ต้องคิดว่าจะเอาคลื่นความถี่นี้ไปใช้อะไร อาจจะใช้เรื่องโทรคมนาคม เรื่องอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งมูลค่าจะสูงกว่า มัน interactive ได้ หรือดิจิทัลก็ interactive ได้ เมื่อเป็นดิจิทัล การรับสัญญาณนอกจากรับทางบ้านได้ปรกติ ก็รับผ่าน network มือถือง่ายขึ้นด้วย ช่องก็มากขึ้น ที่อื่นเปลี่ยนเป็นดิจิทัลหมดแล้ว แต่บ้านเราไม่เปลี่ยน ยังเป็นแอนาล็อกกันอยู่ คือทีวีดิจิทัลเรื่องความคมชัดจะสูงกว่าเยอะ ขณะที่แอนาล็อกภาพยังมัวๆ ถ้าเป็นดิจิทัล มีแค่รับได้กับรับไม่ได้ มีแต่ชัดกับไม่ชัด

สัดส่วนของคนดูฟรีทีวีกับเคเบิลเป็นอย่างไร ที่บอกว่าเติบโตเร็วมากขนาดไหน
(ให้ดูตัวเลข) นี้เป็นตัวเลขที่สำรวจจาก AGB Nielsen ล่าสุดเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ จำนวนครัวเรือนไทยที่มีเคเบิล ดาวเทียม ทุกยี่ห้อรวมกันประมาณ ๖ ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน ๓๘ % ของครัวเรือนทั้งประเทศที่มีประมาณ ๑๖ ล้านครัวเรือน แยกเป็น truevisions, จานดาวเทียมแบบ C-Band, KU-Band จาน C-Band เป็นจานใหญ่ๆ โปร่งๆ ข้อดีคือฝนตกก็ไม่เป็นอะไร รับได้มากกว่า ๑๐๐ ช่อง ส่วน KU-Band เป็นจานเล็กแบบทรู ซึ่งตามบ้านเล็กๆ สามารถติดได้ ข้อเสียคือรับสัญญาณไม่ได้เมื่อฝนตกเพราะคลื่นแคบ แต่ก็มีการขยายตัวพอๆ กัน KU-Band อาจจะยังต่ำกว่าเนื่องจาก C-Band มีมานานแล้ว รวมแล้วทั้งหมด ๓๘ % แยกเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ๓๙ % เขตเทศบาลสูงสุดมี ๕๑ % ในชนบท ๓๓ % เฉพาะ C-Band แต่ละปีเติบโตปีละล้านจาน ในชนบท C-Band ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นล้านกว่าจาน ซึ่งต้องยอมรับว่ามีผลมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แล้วก็ชี้ให้เห็นว่าประชากรที่ติดดาวเทียมเป็นพวกเสื้อแดงมากกว่า เพราะทีวีของพวกเสื้อเหลืองไม่ได้ออก C-Band ส่วนเสื้อแดงออกทั้ง C-Band และ KU-Band

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเคเบิลทีวีในประเทศมาจากเรื่องการเมืองเป็นหลักเลยหรือ
ใช่ ถือว่าก้าวกระโดด สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ทำตารางอธิบายไว้ว่าในปี ๒๕๕๖ เสาอากาศแบบก้างปลา/เสากระโดงจะหมดไปจากครัวเรือนไทย จานดาวเทียมกับเคเบิลจะเข้าไปแทนหมด ปี ๒๕๕๒ จานดาวเทียมอยู่ที่ ๖ ล้านครัวเรือน ปี ๒๕๕๓ กระโดดไปที่ ๙ ล้านครัวเรือน แสดงให้เห็นว่าภายในปี ๒๕๕๖ ทุกครัวเรือนไทยจะมีแต่จานดาวเทียมหรือเคเบิล แล้วสามารถดูโทรทัศน์ได้ ๕๐ ช่องเป็นอย่างน้อย จากเดิมดูได้แค่ ๖ ช่อง ซึ่งต่างจังหวัดถือเป็นแฟชั่น มีทั้งช่องละคร ช่องเพลงลูกทุ่งเขาเปิดโทรทัศน์ดาวเทียมเหมือนเปิดวิทยุทิ้งไว้ตามร้านกาแฟ ลงทุนเพียงครั้งเดียว เป็นความบันเทิงราคาถูกของคนต่างจังหวัด เดี๋ยวนี้ค่าติดตั้งถูกมากเหลือประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าบาท C-Band ประมาณ ๓,๙๐๐ บาท บริษัท PSI ซึ่งเป็นผู้ผลิตจานรายใหญ่ที่สุดก็ฝึกช่างทั่วประเทศ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ คน ติดตั้งภายใน ๑ ชั่วโมงก็เสร็จ เสาอากาศสมัยก่อนติดตั้งทั้งวันยังรับสัญญาณไม่ได้เลย

แนวโน้มของคนในต่างจังหวัดก็ติดตั้งจานดาวเทียมมากกว่า
ในต่างจังหวัดมีช่องที่ดูได้มากกว่าในกรุงเทพฯ และเป็นการรับรู้ข่าวสารทางการเมืองด้วย ตอนคนเสื้อแดงมาชุมนุมใหญ่ที่ราชประสงค์ คนกรุงเทพฯ ก็งงๆ ว่าพวกเขามาทำไม แต่เสื้อแดงเขาเสพช่อง People Channel มาเป็นปี ซึ่งก็ไม่ต่างจากเสื้อเหลืองที่ดู ASTV แล้วคลั่งไคล้ คนเสื้อแดงดูมากกว่าหลายเท่าด้วยซ้ำ เราวัดจากจานก็รู้ สำรวจดูจาน ASTV สีเทาไม่ขยายตัวเลยในช่วง ๑-๒ ปี แต่จาน C-Band ที่รับ People Channel ขยายตัวมาก ส.ส. ก็เอาไปขายราคาถูกเพื่อไม่ให้ถูก กกต. เล่นงาน เราถึงไม่แปลกใจเลยกับเรื่องเสื้อแดงมาชุมนุม พอรัฐบาลตัดสัญญาณสำเร็จการรวมตัวมันจะช้า ถ้ารัฐบาลตัดสัญญาณไม่สำเร็จ ผมคิดว่า ๑๙ พฤษภา ๒๕๕๓ คนเสื้อแดงจะลุกฮือทั้งประเทศ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ เพราะมีการสื่อสารถึงกันหมด แต่ครั้งนี้ตัดสัญญาณสำเร็จซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญเพราะมีจังหวัดที่เกิดเรื่องอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ถึง ๑๐ จังหวัด ถ้าไม่สามารถตัดสัญญาณได้ผมนึกไม่ออกเลยแม้กระทั่งภาคใต้ ซึ่งเขาก็อาจจะรับทางอินเทอร์เน็ตได้แต่มันไม่เสถียร วิทยุชุมชนพลังก็ไม่มากเท่ากับดาวเทียม เพราะดาวเทียมกระจายทีเดียวทั้งประเทศ แต่วิทยุชุมชนมันเป็นหย่อมๆ ไม่สามารถสื่อสารได้ครั้งเดียวพร้อมกัน

พลังของดาวเทียมล้มรัฐบาลได
ได้ แล้วผมก็คิดว่าจะไปซื้อไทยคมทำไม แต่ในทางการเมืองถ้ายึดไทยคมได้ก็คุมได้ทุกอย่าง เดี๋ยวนี้ถ้าจะปฏิวัติก็ไม่ต้องไปยึดสถานีโทรทัศน์แล้ว เปลี่ยนมายึดไทยคมแทน ได้ทุกช่องรวมทั้งทีวีดาวเทียมด้วย เพราะว่าพวกฟรีทีวีถึงตั้งสถานีย่อยรับสัญญาณ เขาก็รับจากดาวเทียมแล้วถึงเอาไปส่งต่อ ถ้าตัดสัญญาณดาวเทียม ภาคพื้นดินก็ไม่มีออก แล้วไทยคมจะเอาคืนมาทำไม เพราะเมื่อหมดสัญญาก็ต้องคืนเหมือนช่อง ๓ ที่พอหมดสัญญา อุปกรณ์ทุกอย่างก็ต้องคืนให้ช่อง ๙ แต่ช่อง ๓ ก็ฉลาดโดยไปตั้งบริษัทลูก หรือไปเช่า ลงทุนจริงๆ นิดเดียว ไทยคมก็เหมือนกัน ก็ต้องคืนให้การสื่อสารฯ ไทยคมถึงมีปัญหาเรื่องที่ต้องลงทุนสร้างดาวเทียมใหม่แทนดาวเทียมไทยคม ๕ แต่ก็ไม่ลงทุนเพราะลงทุนไปก็ต้องคืน ก็เลยจะเช่า

พอมีช่องเยอะก็มีประเด็นที่ว่าคนทำข่าวทุกวันนี้ไม่ได้ทำข่าวแล้ว แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ อย่างเช่นกรณีของ ASTV กับ PTV ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช่สื่อแต่เป็นช่องโฆษณาชวนเชื่อ
ในฐานะของคนทำสื่อคิดว่าการมีช่องทางเยอะเป็นเรื่องดี อำนาจต่อรองของคนทำ content จะสูง มีช่องทางเยอะและขยายตัวเร็ว ผมไม่ได้ติดใจอะไรเรื่องใครจะอยู่สีอะไร ยกตัวอย่าง RS กับ Grammy แกรมมี่มีช่องของตัวเอง เปิดแต่เพลงของแกรมมี่ ไม่เปิดเพลงค่ายอื่น เหมือนกันกับ ASTV หรือ PTV ที่จะเอาคนที่คิดแบบเดียวกับเขาออกอากาศ คิดไม่เหมือนเขาก็ไม่ให้ออก ฉะนั้นคนดูที่ชอบแบบนั้นก็ดูไป เพียงแต่ว่าประเด็นของผมคืออย่าปลุกปั่น ใช้ความรุนแรง หรือหมิ่นคนอื่น สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องความรุนแรงมากกว่า เขาจะออกทีวีโฆษณาชวนเชื่อก็ทำไป มันก็เหมือนช่วงเลือกตั้ง สมัยก่อนพอเลือกตั้งพวกนายทุนของพรรคการเมืองจะออกหนังสือพิมพ์ แต่สมัยนี้จะออกโทรทัศน์ดาวเทียมช่วงใกล้ๆ เลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่ต่างกัน ต้นทุนต่ำกว่าด้วย ไปไกลได้มากกว่าด้วย ถามว่าโฆษณาชวนเชื่อไหม ก็ใช่

adisak04


แสดงว่าคุณไม่เห็นด้วยที่ปิด PTV
เห็นด้วยในกรณีที่มีการปลุกปั่น ปลุกระดม สร้างความเกลียดชัง แต่กระบวนการปิดผมคิดว่าต้องมีขั้นตอนมากกว่านี้ ซึ่งควรผ่านกระบวนการในชั้นศาล แต่รัฐธรรมนูญไทยก็ไม่ได้ให้อำนาจตรงนี้ เดิมตอนร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ มีวรรคหนึ่งที่กล่าวถึงการปิดโรงพิมพ์หรือปิดสื่อต้องผ่านศาลแต่เขาตัดออก มันก็กลายเป็นปิดไม่ได้ รัฐบาลก็ออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ก็ถือว่ามีอำนาจทำได้ ผมเห็นด้วยในกรณีที่ว่าถ้าสื่อนั้นสร้างความเกลียดชัง สร้างความรุนแรง แต่ในหลักการควรมีคนตัดสิน ไม่ใช่ให้รัฐบาลตัดสิน ยกตัวอย่างเรื่องหนังโป๊ จะเอามาฉายก็ได้ถ้ามีหลักเกณฑ์ชัด ผมคิดว่าก็ไม่เป็นไร เหมือนไต้หวันมีช่องผู้ใหญ่ที่ต้องเข้ารหัส เสียตังค์ด้วย ผมว่าในที่สุดก็ต้องเป็นอย่างนั้นเพราะห้ามไม่ได้ ก็เหมือนปัจจุบันที่หนังไทยหรือรายการทีวีมีการจัดเรตติ้ง ซึ่งแนวโน้มก็ดี แต่เรื่องการพิจารณาอาจจะยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร สุดท้ายช่องดาวเทียมก็ต้องมีการจัดเรตติ้ง มีบางประเภทที่ต้องเข้ารหัสดูได้เฉพาะคนที่ลงทะเบียนและต้องเสียค่าสมาชิก แต่ถ้าเป็น content ทั่วไปอย่างข่าวสาร บันเทิง ก็ไม่ต้องไปกำหนดอะไร แล้วก็ตีตราให้ชัดว่าช่องนี้ของพรรคนี้ ช่องนี้ของพวกนี้ ปัจจุบันช่องศาสนาใช้โทรทัศน์ดาวเทียมมากที่สุด ตอนนี้ทั้งธรรมกาย สันติอโศก หลวงตามหาบัว วัดพระราม ๙ วัดยานนาวา ฯลฯ ช่องของอิสลามก็มี ถ้าวัดกันว่าช่องทีวีดาวเทียมบ้านเราช่องไหนที่มีคนดูมากที่สุด ช่องของธรรมกายมีคนดูมากที่สุด เราพูดถึงคนดูทั้งโลก เพราะช่องของธรรมกายใช้ดาวเทียมหลายดวง เหมือน Thai TV Global Network ของช่อง ๕ เพราะฉะนั้นใน segment ของศาสนิกชนก็จะแยกย่อยไปอีกตามความเชื่อ ใครศรัทธาอะไรก็ซื้อจานไปดู

โทรทัศน์ดาวเทียมลงทุนประมาณเท่าไรครับ
มันขึ้นอยู่กับคุณภาพ เอาแบบหิ้วกระเป๋าไปทำล้านสองล้านก็ทำได้ แค่คุณมีเงินจ่ายค่าเช่าสตูดิโอ จ่ายค่าพิธีกร เดือนหนึ่งอาจจะไม่กี่ตังค์ ค่าเช่าดาวเทียมอาจจะ ๕ แสนบาทต่อเดือน ค่าจ้างคนแล้วก็ค่าอื่นๆ อีกประมาณล้านบาทประเภทนี้ก็จะได้คุณภาพต่ำ เรียกว่า “ทีวีห้องแถว” พวกขายตรงเยอะมาก ขายกันทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าทำให้มีคุณภาพมากขึ้นก็อาจจะแพงขึ้นไปอีก ผมว่าถ้าทำให้ได้มาตรฐานแบบในฟรีทีวี ต้องลงทุนประมาณ ๕๐ ล้านต่อ ๑ ช่อง ทำแบบมีสตูดิโอ มีทีมผลิต มีห้องตัดต่อ รายเดือนก็มีแค่ค่าดาวเทียม แล้วแต่ว่าจ้างคนมากหรือน้อย ถ้าเป็นรายการขายของคุณก็ไม่ต้องจ้างคนเยอะ แต่อย่างเราทำข่าวเราต้องออกข้างนอก เราต้องมีรถข่าว มีกล้องหลายตัว คือทำทีวีดาวเทียมทั้งแบบทีวีห้องแถว หรือมีโปรดักชันอย่างเนชั่น แกรมมี่ อาร์เอส กันตนา ฯลฯ มาตรฐานก็ต้องเท่ากับฟรีทีวี

แล้วรายได้มาจากไหน
ส่วนใหญ่ผู้ผลิตรายการหรือสร้าง content จะให้เคเบิลทีวีไปออกอากาศฟรี เพื่อจะได้คนดูมากขึ้น คือเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน พวกทำเคเบิลก็ได้รายการไปฟรี แต่ลงทุนเดินสายไปตามบ้านและได้รายได้จากการเก็บค่าสมาชิก ส่วนเราก็มีรายได้จากการขายโฆษณา ยิ่งมีคนดูมากก็ขายโฆษณาได้มากขึ้น อย่าง Nation Channel มีคนดู ๕ ล้านครัวเรือน ในครัวเรือนหนึ่งมีคนดูเรา ๑-๒ คน นั่นคือพ่อและแม่เท่านั้นเอง เราทำรายการโทรทัศน์ให้ผู้ใหญ่ดูอย่างเดียว ซึ่งถ้าเทียบกับหนังสือพิมพ์ก็ถือว่าดีกว่าเยอะ

โดยสรุปแล้วการเมืองมีส่วนสำคัญทำให้เกิดการขยายตัวของเคเบิลทีวีในเมืองไทย
ใช่ครับ และถ้าลองสังเกตดูตอนเลือกตั้งปี ๒๕๕๑ จะเห็นว่าจังหวัดที่มีเคเบิลเยอะ ส.ส. จะเป็นไปตามกระแส อย่างการเลือกตั้งในชลบุรี คนที่ได้เป็น ส.ส. ส่วนใหญ่เป็นคนหน้าใหม่ โนเนมยกทีมเลย และเคเบิลในชลบุรีมีเยอะมาก ๕๑ % ของครัวเรือนในชลบุรีมีเคเบิล ซึ่งเยอะที่สุดในประเทศ ส่วนจังหวัดในภาคอีสานสัดส่วนจะต่ำ เป็นสิ่งสะท้อนการเมืองในปีนั้นมาก แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว เพราะตอนนี้เคเบิลขยายตัวมากในอีสานแล้วทุกพรรคก็มีช่องเป็นของตัวเอง พรรคประชาธิปัตย์ก็มีช่องการศึกษา พรรคภูมิใจไทยก็มีช่องมหาดไทย แต่ละพรรคมีแฟนคลับของตัวเอง ผมคิดว่าพอเลือกตั้งใหม่โทรทัศน์ดาวเทียมจะมีอิทธิพลมหาศาล

ต่อไปทุกคนก็จะเลือกเสพแต่สิ่งที่ตัวเองเชื่อ
ใช่ เพราะเขาก็ไม่อยากฟังสิ่งที่เขาไม่เชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ถ้ามีกลไกในการควบคุมก็ไม่เป็นไร เพราะดาวเทียมควบคุมไม่ยาก คุมที่หัวก็จบแล้วเพราะมันส่งออกที่เดียวแล้วไปหมด ที่น่าห่วงคือวิทยุชุมชน เพราะมันกระจายเยอะมาก วิทยุชุมชนมีประมาณ ๗,๐๐๐ สถานี ที่คุณภาพแย่มีประมาณ ๑๐ % หรือ ๗๐๐ สถานี แต่กระจายอยู่ทุกอำเภอ แล้วจะคุมยังไง ผมเห็นด้วยที่วิทยุชุมชนต้องอนุญาตให้มี มันเป็นตัวที่ทำให้การสื่อสารในชุมชนเดินต่อไปได้ เพียงแต่ว่ากลไกอะไรที่จะไปกำกับในเรื่องของเนื้อหา ซึ่งก็ได้มีการคุยในกันหมู่นักวิชาการว่าถ้าสร้างกลไกเป็น กทช. จังหวัด ตรวจสอบดูเนื้อหาอย่างเดียว โดยกรรมการชุดนี้อาจจะมาจาก ผอ. โรงเรียน พระ ฯลฯ เพื่อให้เป็นจุดร้องเรียนของชาวบ้านเมื่อพบว่าเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งทุกวันนี้เขาก็ไม่รู้จะไปร้องที่ไหนกัน

ปรากฏการณ์ Facebook กับ Twitter ในแง่ของสื่อบอกอะไรกับเรา
ผมว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย อย่างในเมืองไทย hi5 มาและหายไปโดยเร็ว วัยรุ่นต่างจังหวัดยังคงเป็น hi5 แต่เฟซบุ๊กเป็นของชนชั้นกลางในเมือง ผมคิดว่าคนก็โหยหาการสร้างกลุ่มของตัวเอง ส่วน Twitter ก็เป็นกระแส จริงๆ มีหลักแสนเอง แต่เฟซบุ๊กมี ๔.๒ ล้านคน อยู่อันดับที่ ๒๑ ของโลก ในไทยมีอัตราการเติบโตสูงสุดของโลก สาเหตุมาจากการเมือง ๑๐๐ % ขณะที่ทวิตเตอร์นั้นทาง Tarad.com เก็บสถิติทวิตเตอร์ที่เป็นภาษาไทย พบว่ามีคนเล่นแค่ ๑๕๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้คนที่เล่นและมีอิทธิพลจริงๆ ไม่เกินหมื่น และในจำนวนนั้นเป็นนักข่าวเยอะ เป็นพวกที่มี content อยากเผยแพร่เป็นหลัก

อย่างเนชั่นเรากำหนดเป็นนโยบายให้นักข่าวใช้ทวิตเตอร์ส่งข่าวรับข่าว มีแนวทางเพื่อเป็น personal brand ที่ผ่านมาเรามีคนที่อยู่ตามหน้าจอ Nation Channel อยู่ฟรีทีวี ผู้ประกาศทั่วไปมีความง่ายในการโปรโมตตัวเอง แต่นักข่าวภาคสนามไม่มีใครรู้จัก เราก็ใช้ทวิตเตอร์สร้างนักข่าวภาคสนามให้คนรู้จัก เป็นนักข่าวรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้เครื่องมือพวกนี้ เป็นการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์สำหรับนักข่าวภาคสนาม ซึ่งมันอาจจะเป็นความเชื่อของเนชั่นส่วนหนึ่งด้วย คือบางคนบอกว่าโลกออนไลน์เป็นโลกเสมือน ไม่มีตัวตน เชื่อถือไม่ได้ แต่เรากลับคิดตรงข้าม เราคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้โลกออนไลน์มีตัวตนและเชื่อถือได้ โดยที่เราเอาแบรนด์ของเนชั่นเข้าไปการันตีความน่าเชื่อถือของตัวบุคคล เหตุผลที่เราทำแบบนี้เพราะเราคิดว่าคนของเราที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์มันไม่พอ ในโลกอนาคตเป็นเรื่องของ social media เราต้องสร้างคนของเราให้เป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์ ซึ่งมันจะต่างจากบนจอทีวี เนชั่นกระโจนเข้าไปใน social media อยู่แล้ว แต่จะเป็นยังไงเราไม่รู้ ยกตัวอย่างทวิตเตอร์ เขาก็ไม่รู้ว่าในทางธุรกิจเขาจะทำยังไงต่อไป เพราะเฟซบุ๊กมีโฆษณาแต่ทวิตเตอร์ไม่รู้เลย เพราะอินเทอร์เน็ตมันเปลี่ยนเร็ว ทำไมกูเกิลเอาชนะ Yahoo ได้อย่างเด็ดขาด ในเมืองไทย ๙๙ % ใช้ search engine ของกูเกิล แล้วเว็บของคนไทยตายหมด สมัยก่อนยังมี Sanook คือไม่มีใครที่จะยืนอยู่ได้ตลอดกาล ปีที่แล้วเฟซบุ๊กก็มีคนเข้ามากกว่ากูเกิลแล้ว แต่หลังจากเฟซบุ๊กเราก็ไม่รู้

ในฐานะที่คุณทำหนังสือพิมพ์ด้วย อยากให้พูดถึงอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์
น่าเหนื่อยแทน เพราะหนังสือพิมพ์ต้นทุนสูง มีทั้งค่าขนส่ง ค่ากระดาษ และอิงกับยอดพิมพ์ ยอดคนอ่าน แต่ถ้าคุณจะเพิ่มยอดคนอ่าน คุณก็พิมพ์เพิ่ม จ่ายเพิ่ม นั่นหมายความว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่ new media คนเพิ่มแต่ต้นทุนไม่เพิ่ม เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์ก็ทำได้แค่ประคองและใช้จุดแข็งคือกองบรรณาธิการในการผลิต content ที่จะเปลี่ยนให้คนของ old media มาทำของนิวมีเดีย ข้อดีคือเขามีพื้นฐานในการทำ content ที่แข็ง เพราะ content ต้องมาจากคนทำ แม้กระทั่งการทำการ์ตูนก็ต้องใช้คน ซึ่งผมคิดว่ารูปแบบธุรกิจของหนังสือพิมพ์ก็จะต้องเปลี่ยนไป อย่างในอเมริกาเริ่มเปลี่ยนแล้ว จากเดิม free content ก็ต้องเปลี่ยนมาเสียตังค์ พวกเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ก็เริ่มเสียตังค์ ลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณาให้น้อยลง ให้มีสัดส่วนทั้งขายหนังสือ ขาย content บนเว็บ และขายโฆษณา เพียงแต่ว่าสัดส่วนจะเป็นยังไงยังไม่มีใครรู้ แต่ผมเชื่อว่าสัดส่วนของคนที่ขาย content บนเว็บจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ขายเป็นหนังสือและขายโฆษณาคงไม่เพิ่ม มันก็จะกระจายตัวไปทำสื่อใหม่ๆ แต่คนทำ content คุณสร้างมูลค่าของตัวคุณ ของแบรนด์คุณยังไง ซึ่งเราก็มองในมุมมองของเรา คือเราต้องสร้างคนของเราให้มีมูลค่า ให้มากขึ้นกว่าคนที่อยู่บนหน้าจอปรกติของเรา ให้เขามีจุดเด่นของแต่ละคน ยกตัวอย่างเราก็กำหนดเลยว่านักข่าวคนนี้ไปอยู่ทำเนียบรัฐบาล ให้ตามนายกฯ อภิสิทธิ์อย่างเดียว มันก็ทำให้เกิดการแยกย่อยลงไปมาก ส่วนคุณจะมีผู้ติดตามกี่คนก็แล้วแต่คนสนใจ ซึ่งเราก็พอจะประเมินออกว่าคนนี้คนสนใจหรือไม่สนใจ

สื่อใหญ่ ๆ ในเมืองไทยก็เริ่มปรับตัวกันมากแล้ว
หนังสือพิมพ์ทุกฉบับมีครบหมด ทั้ง SMS เว็บไซต์ ยกเว้นทีวี คือสื่อหนังสือพิมพ์บ้านเราก็มีการปรับตัวเข้ามาด้านนิวมีเดียอยู่แล้ว อยู่ที่นโยบายของแต่ละที่เอาจริงเอาจังแค่ไหน ตอนนี้ผมคิดว่า ไทยรัฐ เอาจริง เพราะเขาคิดว่าอนาคตของสิ่งพิมพ์มันไม่โต เพียงแต่ว่าจะลงช้าลงเร็ว และจะเปลี่ยนจุดนี้มาเป็นนิวมีเดียได้อย่างไร ซึ่งเราก็เห็นพัฒนาการของ ไทยรัฐ ที่ลงทุนด้านนี้มาประมาณ ๒-๓ ปีอย่าง บางกอกโพสต์ ทำทุกอย่างแบบเนชั่น คือมีวิทยุ มีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ไทยก็ต้องปรับตัวหมด บางฉบับก็ไม่ได้ทำธุรกิจหนังสือพิมพ์อย่าง บ้านเมือง หรือ แนวหน้า เขามีธุรกิจอื่นหล่อเลี้ยงอยู่ แต่พวกที่ทำธุรกิจจริงๆ จะอยู่แต่สิ่งพิมพ์อย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้

พอจะสรุปได้ว่าสื่อยุคใหม่ก็จะเป็นทางด้านเคเบิลทีวีและดาวเทียม
คือฟรีทีวีก็จะเปลี่ยนจากทีวีทั่วไปเป็นดาวเทียม เป็นเคเบิล หรือทีวีบนอินเทอร์เน็ต อย่างไรผมก็คิดว่าภาพเคลื่อนไหวยังไงก็ชนะอยู่แล้ว มันต้องมาทางนี้ ดูแล้วมันไม่มีทางเลือก อย่างเครื่องอ่านหนังสือพกพาแบบเป็นตัวหนังสืออย่างเดียวสักพักก็จะล้าสมัย แต่ iPad ออกมา นอกจากอ่านได้แล้วยังมีรูปเคลื่อนไหว คนก็ต้องมาเสพตรงนี้ และเสพง่ายกว่าการอ่านตัวหนังสืออย่างเดียว หนังสือก็อาจจะไปอยู่บนเครื่องอ่าน ปีที่แล้วเครื่องอ่านของ amazon ก็ขายได้มากกว่าหนังสือ แต่ในเมืองไทยยังมานิดหน่อย ผมคิดว่าถ้ามันมาก็คงจะเร็ว ถ้าเมืองไทยมีอัตราความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เสมอภาคกันทั้งประเทศ ผมว่ามันเปลี่ยนนะ อย่างเฟซบุ๊กเป็น social media ที่มีผลพอสมควร เพราะผมคิดว่าบ้านเราก็ใช้ social media ในทางการเมืองเยอะ ต่างประเทศผมยังไม่ค่อยเห็นเท่าไร มันเป็นยุคเลย อย่างพฤษภา ๒๕๓๕ ก็เป็นม็อบมือถือ แล้วก็มาตอนปี ๒๕๔๙ เป็นดาวเทียม มาปีนี้ ๒๕๕๓ เป็นเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์

เชิงอรรถ
๑.แนสแด็ก (NASDAQ: National Association of Securities Dealers Automated Quotations) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ ๒ ของสหรัฐอเมริกา บริษัทที่จดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทด้านไอที อาทิ Yahoo, Microsoft, Google ฯลฯ
๒.คำว่า เว็บ ๑.๐, ๒.๐, ๓.๐ เป็นการแบ่งยุคของเว็บไซต์ ข้อแตกต่างอย่างสำคัญคือ เว็บ ๑.๐ เป็นยุคที่เว็บไซต์ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้อ่านอย่างเดียวและเป็น HTML อย่าง Hotmail, Geocities จนเข้าสู่ยุคที่ ๒ ของการพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถมีบทบาทผลักดัน เขียนหรือสร้างเนื้อหา โต้ตอบหรือแสดงความเห็นได้ เรียกว่า เว็บ ๒.๐ ตัวอย่างเว็บกลุ่มนี้ได้แก่ Wikipedia, YouTube ตลอดจนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง hi 5 หรือบล็อก ฯลฯ ส่วนเว็บ ๓.๐ เป็นยุคที่เว็บไซต์ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูล และมีลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น iGoogle (ที่มา : http://www.labnol.org/internet/web-3-concepts-explained/8908/)