ไกรฤกษ์ นานา
นักวิชาการทางประวัติศาสตร์

วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ใครผิด ใครถูก ในทัศนะของผู้รู้เห็นเหตุการณ์

ทหารฝรั่งเศสในสภาพพร้อมรบ ผ่านหน้าพระเจดีย์กลางน้ำ ขณะนำเรือรบฝ่าเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา
ก่อนเปิดฉากปะทะกันอย่างดุเดือด ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ หรือที่รู้จักกันว่า “วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒”
(ภาพจาก Le Pellerin สิงหาคม ค.ศ.๑๘๙๓ ไกรฤกษ์ นานา ได้ซื้อภาพนี้มาจากหลานของเมอซิเออร์ปาวี
อดีตเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ สมัย ร.ศ.๑๑๒)

หมายเหตุ : ภาพเก่าจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสและอังกฤษที่นำมาตีพิมพ์นี้ ถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยโดย ไกรฤกษ์ นานา ในช่วงระยะเวลา ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา
 

วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ (ค.ศ.๑๘๙๓) ซึ่งมีความซับซ้อนและมองได้หลายแง่มุม การรื้อฟื้นเรื่องนี้มาวิเคราะห์เป็นครั้งคราวคือการเรียนรู้วิธีหนึ่ง ในหลายปีที่ผ่านมา ภายหลังการค้นพบเอกสารหลายชิ้นจากต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนยังพบว่านอกจากการปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเพื่อตัดสินข้อพิพาทที่การเจรจาโดยสันติวิธีไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้แล้ว การประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการต่างๆ ยังถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงความชอบธรรมต่อเหตุการณ์และความเชื่อถือของสังคม ข้อมูลหลายกระแสที่สื่อสารออกไปทั่วโลกในเวลานั้นเป็นการทำสงครามแย่งชิงพื้นที่ข่าวที่น่าศึกษายิ่ง สุดท้ายแล้วการใช้วิจารณญาณในการพิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารด้วยใจที่เป็นธรรมอาจเป็นหนทางหนึ่งที่อธิบายความจริงได้ ในบทความนี้ผู้อ่านจะพบว่าสื่อมวลชนมีบทบาทและอิทธิพลอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะนำเสนอเรื่องราวอันเป็นจุดเปลี่ยนของสยามในยุคสมัยของพระองค์ ว่าเหตุใดการดำเนินพระบรมราชวิเทโศบายของพระองค์ท่านจึงได้รับการเทิดพระเกียรติในคนรุ่นต่อๆ มาว่าทำให้ “ไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตก” มาจนทุกวันนี้

ปฐมเหตุของวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เกิดขึ้นในราวกลางยุคจักรวรรดินิยมของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อประเทศมหาอำนาจจากยุโรปแข่งขันกันแย่งชิงดินแดนที่อ่อนแอกว่าตามส่วนต่างๆ ของโลกมาเป็นของตน เพื่อตักตวงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนขยายอิทธิพลและความเป็นต่อทางการเมืองในหมู่คู่แข่งของตน บทสรุปในตอนท้ายเรื่องยังพิสูจน์ให้เห็นว่าชาวสยามมีความชอบธรรมที่จะปกป้องประเทศชาติจากการคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยม

rs112 02
เรือ ฌองบัปติสต์เซย์ ซึ่งเป็นเรือนำร่อง พาเรือรบฝรั่งเศสผ่านสันดอนเข้ามา ถูกฝ่ายไทยยิงเสียหาย
แล้วแล่นไปเกยตื้นอย่างหมดท่าที่บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา
(ภาพจาก Le Journal Illustree ๓๐ สิงหาคม ค.ศ.๑๘๙๓)

rs112 03

ปืนใหญ่ป้อมผีเสื้อสมุทร ๑ ใน ๓ กระบอกที่เคยยิงต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศส เป็นปืนรุ่นเดียวกับปืนใหญ่ในป้อมพระจุลจอมเกล้า
ปืนใหญ่นี้สั่งทำจากประเทศอังกฤษ เรียกว่า ปืนเสือหมอบ เนื่องจากเมื่อกระทำการยิงต้องใช้แรงน้ำดันยกปืนใหญ่ให้พ้นจากปากหลุม
และเมื่อยิงออกไปแล้วปืนจะลดระดับลงมาอยู่ในหลุมตามเดิม (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

ภูมิหลังอาณานิคม และการมองโลกของชาวยุโรป

แนวความคิดของชาวยุโรปนั้น หากจะครองโลกก็ต้องครองเอเชียให้ได้เสียก่อน เพราะเอเชียมีทรัพยากรอันมหาศาล และมีความอุดมสมบูรณ์ชั่วนาตาปี ขั้นตอนของการครองเอเชียก็คือ ขั้นแรกต้องยึดครองทวีปมืดในแอฟริกาเสียก่อน ซึ่งก็ทำได้โดยง่ายดาย จากนั้นก็เขยิบเข้ามาในเอเชียไมเนอร์ที่อุดมไปด้วยน้ำมันดิบมีเชื้อเพลิงให้เผาผลาญได้ไม่หมดสิ้น ขั้นต่อมาก็ขยับมาอินเดียอันมั่งคั่งร่ำรวย แล้วจึงข้ามไปมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อครอบครองดินแดนอื่นสุดขอบฟ้า จุดกึ่งกลางที่ขวางกั้นก็คือคาบสมุทรอินโดจีน เมื่อบรรลุถึงขั้นนั้นก็เรียกว่าครองโลกได้แล้ว เพราะมีอิทธิพลเหนือคนมากกว่าพันล้าน อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นสองมหาอำนาจผู้ต้องการจะพิชิตเมืองจีนให้ได้ก่อนกัน

ชาวยุโรปทั้งหลายพากันแล่นเรือผ่านเมืองไทยไปเมืองจีนตลอดสมัยอยุธยาตอนปลาย แม้ในสมัยกรุงธนบุรีกู้เอกราชได้แล้วแต่ก็ยังต้องทำศึกสงครามตลอดรัชกาล ฝรั่งจึงไม่มาข้องแวะเป็นทางการ เว้นแต่พ่อค้าเอกชนผ่านเข้ามาหาลำไพ่เล็กๆ น้อยๆ เป็นเชิงสำรวจดูลาดเลาเรื่อยมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๓ ฝรั่งหลายชาติก็ได้พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับไทย แต่ระยะนั้นนโยบายของไทยไม่เปิดกว้างรับฝรั่ง เพราะได้ทราบความเกะกะของฝรั่งมาโดยตลอดสิ้นรัชกาลที่ ๓

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์ นโยบายของไทยจึงเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ โดยเมื่อทรงพิจารณาสถานการณ์ของโลกโดยถี่ถ้วนแล้ว จึงทรง “เปิดประตูเมือง” รับอารยธรรมและติดต่อกับฝรั่งผิวขาวทุกชาติ ทั้งที่ไม่สะดวกในเรื่องยานพาหนะในการเดินทาง แต่ก็ทรงพระปรีชาสามารถส่งทูตถึง ๒ คณะไปอังกฤษและฝรั่งเศสโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพียงมีพระราชปรารภออกพระโอษฐ์ขอให้ฝรั่งช่วยส่งเรือมารับจากยุโรปอย่างประเทศที่มีไมตรีกัน อังกฤษและฝรั่งเศสก็กุลีกุจอส่งเรือมาอย่างทันใจ จึงนับเป็นพระราชกุศโลบายอันแยบยลทางการต่างประเทศครั้งแรกและครั้งสำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานครจึงเป็นที่กล่าวขวัญนับแต่นั้นมา

ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่เริ่มมีบทบาทในอินโดจีน โดยที่เห็นว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำมีทำเลเหมาะที่จะสร้างฐานทัพเรือไว้เป็นฐานกำลังเพื่อหาหนทางเข้าสู่จีนทางภาคใต้ ในเวลาไม่นานจึงนำกองทัพเข้าตีจนเวียดนามหรือญวน (อันนัม) แตก และได้ตั้งอาณานิคมใหม่ล่าสุดในเวียดนามตอนใต้โดยให้ชื่อว่า “โคชินจีน” จากโคชินจีนฝรั่งเศสก็ทอดสายตาไปยังเขมรที่มีดินแดนติดต่อกัน

ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขมรเป็นเมืองขึ้นของไทยมานับร้อยปี ฝรั่งเศสก็มิได้ลดราวาศอกกับการรุกรานอย่างต่อเนื่อง โดยที่เห็นว่าเขมรมีท่าเรือชายทะเลดีกว่าไซ่ง่อน (โคชินจีน)เสียอีก คือใช้เป็นฐานปฏิบัติการในอ่าวไทย และสามารถคุมทะเลจีนใต้ได้ถึงน่านน้ำมลายูและชวา ทั้งยังสามารถใช้แม่น้ำโขงขึ้นไปถึงเมืองลาวเมืองจีนได้ จึงใช้เล่ห์กระเท่ห์เข้าครอบครองเขมรด้วยการทำสัญญาลับกับกษัตริย์เขมรให้ตีตัวออกห่างไทย โดยฝรั่งเศสสัญญาจะให้เขมรเป็นเอกราชจากการเป็นเมืองขึ้นของกรุงเทพฯ

เมื่อเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น กรุงสยามได้รวมเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพฯ ขึ้นเป็นราชธานี โดยทรงถอดแบบ “เมืองสวรรค์” ของพระมหาปราสาทราชมณเฑียรอันวิจิตรอลังการที่เคยมีอยู่ครั้งกรุงศรีอยุธยามาสร้างใหม่ไว้ที่นี่อย่างงดงามที่สุด ทรงกำราบข้าศึกศัตรูทุกหัวระแหงจนสำเร็จราบคาบ กรุงสยามเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้นมีพระราชอาณาเขตแผ่ไพศาลทั่วทุกสารทิศในแหลมทองนี้ มีประเทศราชมากมายที่หันเข้าสวามิภักดิ์ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วยความยินดี กรุงเทพฯ จึงร่ำรวยเป็นอย่างมากจากการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศในเวลานั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชกาลที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ “นักธุรกิจ” ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยอดยิ่ง ทรงติดต่อค้าขายข้าว ไม้สัก น้ำตาล และเพชรนิลจินดากับเมืองจีนอย่างกว้างขวางเป็นระยะเวลาร่วม ๒๐ ปี ตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นที่วางพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมราชชนกเป็นอันมากขนาดเคยตรัสล้อเลียนพระโอรสเสมอว่า “เจ้าสัว” เงินเก็บสะสมเข้าแผ่นดินในรัชกาลนี้จึงมีมหาศาลนับแสนชั่ง เทียบคร่าวๆ กับเงินในปัจจุบันก็นับร้อยล้านบาท เงินในพระคลังจำนวนนี้ได้ถูกเก็บรักษามาตลอดรัชกาลที่ ๔ และเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่เงินนั้นถูกเก็บลืมไว้ใน “ถุงแดง” ใต้พระที่นั่งจักรีฯ จนถึง ร.ศ.๑๑๒ จึงได้ถูกนำมา “กู้ชาติ” เป็นค่าปรับให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับอิสรภาพของประเทศ

ในระหว่างที่ชาวยุโรปล่าอาณานิคมในเอเชียนั้น กรุงสยามเป็นราชอาณาจักรใหญ่ที่ถูกกล่าวขวัญไม่แพ้เมืองจีนและอินเดียว่าเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีพืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ตลอดปี ทรัพย์ในดินที่มีล้นเหลือนั้นรอเพียงการขุดนำออกมาใช้ มีแร่ธาตุธรรมชาติหลายอย่างที่ยุโรปต้องการคือดีบุกและถ่านหิน นอกจากนั้นยังมีเพชรพลอยอันหาค่ามิได้ที่ขุดหาได้ไม่มีวันหมด และป่าไม้สักอันกว้างใหญ่ไพศาล ไม้สักมีคุณค่าเช่นเดียวกับไม้โอ๊กในยุโรป มีกาแฟ น้ำตาล มีฝ้าย ส้มสูกลูกไม้นับร้อยพันชนิดที่ออกดอกผลตลอดปี มีข้าวสารพัดชนิดที่จะทำให้คนไม่อดตาย มีแหล่งน้ำอยู่ทั่วทุกหัวระแหง กรุงเทพมหานครมีชัยภูมิเหมาะแก่การติดต่อกับโลกภายนอก มีแม่น้ำไหลผ่านและอยู่ใกล้ทะเล ประชาชนมีความสงบเสงี่ยมเจียมตัวไม่ดุร้ายป่าเถื่อน มีอารยธรรมเก่าแก่ และมีศิลปวัตถุล้ำค่าเป็นมรดกตกทอดอยู่ในทุกหัวเมือง จึงเหมาะที่สุดที่จะต้องเอาไว้เป็นเมืองขึ้น

จากคำบอกเล่าของพวกพ่อค้าฝรั่งและบาทหลวงสอนศาสนาที่ผ่านเข้ามายังกรุงเทพมหานครนั้น ชาวตะวันตกล่วงรู้ว่าชาวสยามเป็นศิลปินโดยกำเนิด คนส่วนมากมีทักษะด้านศิลปะและงานฝีมือ วัดวาอารามและปราสาทราชวังก็ถูกสรรค์สร้างขึ้นมาอย่างโอฬารเสมือนหนึ่งปราสาทในเทพนิยาย ทั้งๆ ที่ชาวสยามไม่นิยมเดินทางไปไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน แต่คนที่นี่กลับมีวิสัยทัศน์ที่หลักแหลม มีแนวคิดในการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นโดยมิต้องอาศัยชาวตะวันตกผู้มีหูตากว้างไกลกว่า มีพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงอานุภาพกฤษฎาภินิหาร เปรียบประดุจสมมุติเทวราชอุบัติ ทรงไว้ซึ่งอำนาจเหนือทุกชีวิต และทรงมีทรัพย์สมบัติเหลือคณานับที่ประชาชนนำมาทูลเกล้าฯ ถวายโดยมิได้บังคับขู่เข็ญ สิ่งเหล่านี้คือกิตติศัพท์ของสยามซึ่งฝรั่งจากอีกซีกโลกหนึ่งหมายปอง หากครอบครองได้แล้วจะช่วยเพิ่มแสนยานุภาพของตนในเอเชียให้ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามขึ้นไปอีก

สิ่งแรกที่ควรรู้ในเบื้องต้นคือ หัวเมืองบนฝั่งประเทศลาวสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกล้านช้าง ในเวลานั้นไม่มีการแบ่งเป็นฝั่งซ้ายฝั่งขวา แต่เป็นแผ่นดินเดียวกัน ล้านช้างกับภาคอีสานในสมัยนั้นเดิมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม หัวเมืองทั้งหมดต่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลเดียวกัน คือรัฐบาลที่กรุงเทพฯ สยามปกครองลาวแบบประเทศราช คือกิจการภายในรัฐบาลสยามไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การตั้งข้าราชการ การศาล และภาษีอากร หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายจึงดูแลปกครองกันเอง และนี่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย แต่การแบ่งเป็นลาวฝั่งซ้าย (ล้านช้าง) และฝั่งขวา (ภาคอีสาน) ก็ยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งถึง ร.ศ.๑๑๒ และตัวการที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกก็คือฝรั่งเศส

อาณาจักรล้านช้างปฐมเหตุของวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒

อาณาจักรล้านช้างนี้ ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ดึงดูดความสนใจของบรรดานักสำรวจและพ่อค้าชาวฝรั่งเศส จะด้วยความคิดริเริ่มของคนเหล่านั้นเอง หรือภายใต้ความอุปถัมภ์ของบรรดาสมาคมภูมิศาสตร์ หรือมิฉะนั้นก็รัฐบาลฝรั่งเศสส่งคนเข้ามาดูลาดเลา นักสำรวจฝรั่งเศสบันทึกว่าลาวเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่และมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ฝรั่งเศสเล็งเห็นนับตั้งแต่ได้เหยียบย่างลงบนดินแดนเขมรแล้ว ลาวยังน่าสนใจทางด้านยุทธศาสตร์อันดับหนึ่งอีกด้วย โดยมีแม่น้ำโขงอันเป็นช่องทางนำไปสู่แคว้นยูนนาน ทั้งแควลำน้ำโขงตอนบนยังไปบรรจบกับแควแม่น้ำดำซึ่งเป็นหนทางไปสู่ตังเกี๋ยได้

กงสุลฝรั่งเศสทุกคนต่างก็ชี้ให้กระทรวงเจ้าสังกัดเห็นถึงประโยชน์อันน่าสนใจของลาว ซึ่งยังเป็นที่ลึกลับและยังไม่ทันได้มีการกำหนดเขตแดนระหว่างสยามกับญวน แต่ละฝ่ายต่างก็เรียกร้องสิทธิของตน หลายท้องที่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมักจะมี ๒ ชื่อ คือชื่อไทยและชื่อญวน ก่อให้เกิดความยุ่งยากสับสนเรื่อยมา

ก่อนวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ สยามต้องยอมจำนนต่อความจริงที่ว่า หัวเมืองตามชายแดนสยาม-ญวนนั้นไม่มีการปักหลักเขตแดนที่แน่นอน ไม่มีการทำแผนที่ว่าตรงไหนเป็นสยาม ตรงไหนเป็นญวน แล้วจะมีหลักเกณฑ์อะไรกำหนดว่าเมืองเมืองใดขึ้นกับใคร ? คำตอบก็คือขึ้นอยู่ที่อำนาจการแต่งตั้งเจ้าเมืองและการส่งส่วยหรือบรรณาการเป็นเกณฑ์ ถ้าเมืองใดสยามตั้งเจ้าเมือง เมืองใดส่งบรรณาการให้สยาม เมืองนั้นก็ขึ้นอยู่กับสยาม แต่คำตอบนี้ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาเขตแดนหมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะเจ้าเมืองตามชายแดนหลายคนเคยส่งบรรณาการให้สยามแล้วยังส่งให้ญวนด้วย บางคนส่งให้ทั้งสยาม ญวน และจีน ก็เพื่อประกันความปลอดภัยของตัวเอง จะได้ไม่ถูกฝ่ายใดรบกวนโจมตีเอาไปรวมเป็นเมืองขึ้นของตน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับสยามมาก่อน จนเมื่อฝรั่งเศสขยายอิทธิพลเข้ามาจึงกลายเป็นปัญหาอย่างแท้จริง

เมื่อฝรั่งเศสยึดครองญวน (อันนัม) ได้ในปี พ.ศ.๒๔๒๗ (ค.ศ.๑๘๘๔) ฝรั่งเศสก็เข้าแทนที่ประเทศนี้ เรียกร้องสิทธิซึ่งสันนิษฐานเอาว่าเป็นของญวนมาก่อน สยามจึงลุกขึ้นต่อต้านการแทรกแซงของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสต้องการผลประโยชน์ทางการเงิน ดินแดน และการปกครอง ฝ่ายสยามก็มีเรื่องของศักดิ์ศรีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะในความรู้สึกของตนนั้นพระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นผู้ทำพิธีสวมมงกุฎให้เจ้าผู้ครองหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ทั้งเจ้าลาวก็เข้ามาดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทุกปี ย่อมเป็นสัญญาณแห่งความสวามิภักดิ์อยู่ในตัว ในทางกลับกันฝรั่งเศสปรารถนาให้ดินแดนต่างๆ ในอินโดจีนรวมเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน เขมรและลาวก็จะช่วยให้มีความครบถ้วนบริบูรณ์ แต่การจะทำอะไรกับสยามนั้นก็ต้องหาข้ออ้าง

และด้วยเหตุผลง่ายๆ จากการที่สยามเองก็ไม่สามารถนำหลักฐานแผนที่มาชี้แจงได้เช่นกัน ทำให้ข้อพิพาทเรื่องดินแดนลาวของสยามกับลาวของญวนเป็นประเด็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน อย่างไรก็ดี เมื่อฝรั่งเศสรู้ตัวว่าการที่มีชาวสยามเป็นคนในพื้นที่ ฝรั่งเศสจึงตกอยู่ในสถานะที่เป็นรอง การสรรหาบุคลากรเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้ฝรั่งเศสจึงเกิดขึ้นทันที ในที่สุดก็พบชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่สามารถรับภารกิจนี้ได้เป็นอย่างดี เขาชื่อเมอซิเออร์ปาวี (M.Auguste Pavie)

อดีตเสมียนไปรษณีย์ฝรั่งเศสประจำไซ่ง่อนผู้นี้ต่อมาเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานสำรวจแผนที่ คุณสมบัติพิเศษของปาวีคือนักประวัติศาสตร์ผู้รอบรู้พงศาวดารท้องถิ่น มีความถนัดถึงขั้นแต่งหนังสือขนาดใหญ่เป็นทำนองเกร็ดพงศาวดารไทย ลาว เขมรได้หลายเล่ม รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งรู้ว่าเขาคุ้นเคยภูมิประเทศแถบนี้อยู่มาก จึงแต่งตั้งให้เป็นรองกงสุลเมืองหลวงพระบาง และเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะสำรวจดินแดนฝ่ายฝรั่งเศส ปาวีจึงเป็นกำลังสำคัญทำให้นโยบายขยายอาณานิคมของฝรั่งเศสก้าวหน้ายิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและสัมฤทธิผล

rs112 04
ภาพพระสมุทรเจดีย์ในหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส (ภาพจาก L’Illustration กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓)

rs112 05
พระสมุทรเจดีย์ในปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ผู้คนทั่วไปเรียกว่า พระเจดีย์กลางน้ำ
เนื่องจากเดิมบริเวณที่ก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์เป็นเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ ต่อมาชายตลิ่งฝั่งขวาของแม่น้ำตื้นเขิน
งอกออกมาเชื่อมติดกับเกาะอันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ บริเวณใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของป้อมผีเสื้อสมุทร
(ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

แผนยึดครองอินโดจีนนำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒

หลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างย่อยยับต่อเยอรมนีในสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ.๑๘๗๐-๑๘๗๑) ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เป็นองค์ประมุขต้องล่มสลายลง ภายในฝรั่งเศสเอง รัฐบาลสาธารณรัฐที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นใหม่จำเป็นต้องฟื้นฟูประเทศและกอบกู้เสถียรภาพให้กลับมามั่นคงดังเช่นที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน เยอรมนีซึ่งกลายเป็นประเทศมหาอำนาจแทนที่ฝรั่งเศสได้กลายเป็นศูนย์กลางของระบอบการเมืองการปกครองในยุโรป ในขณะที่ฝรั่งเศสตกต่ำอย่างหนัก

ในระหว่างนี้รัฐบาลฝรั่งเศสเล็งเห็นว่าการที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาในหมู่ชาวฝรั่งเศสและประชาคมยุโรป คือความจำเป็นในการแผ่อำนาจและอิทธิพลออกไปนอกทวีปยุโรป และวิธีการที่ต้องนำมาใช้คือ “นโยบายจักรวรรดินิยม” ดังเช่นมหาอำนาจอย่างอังกฤษใช้ได้ผลอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ฝรั่งเศสตระหนักว่าการมีเมืองขึ้นมากๆ และแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ จะช่วยให้เงินทองไหลเข้ามาและทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างฐานอำนาจเหนือดินแดนใหม่ที่ปราศจากคู่ต่อสู้เช่นเยอรมนี จึงมุ่งหน้ามายังเอเชียที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนอันมั่งคั่งร่ำรวยและยังอ่อนแอเกินกว่าที่จะปกป้องตนเองได้

ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสยึดครองญวนได้ จึงมองไปข้างหน้าว่าถ้าหากครอบครองอินโดจีนได้ทั้งหมดก็จะทำให้จักรวรรดินิยมใหม่ของฝรั่งเศสครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น เหตุการณ์สำคัญที่ดึงฝรั่งเศสเข้ามาสู่ปัญหาเรื่องดินแดนภายในอินโดจีนคือชนวนเรื่อง “ฮ่อ”

ฮ่อคือชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งตัวเป็นกบฏต่อต้านราชวงศ์แมนจูในประเทศจีน ฮ่อในปัญหาข้อพิพาทสยาม-ฝรั่งเศสกลายพันธุ์มาจากกบฏไต้ผิง (ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๘๖๔) ที่ทางการจีนต้องการปราบปราม ทำให้พวกกบฏแตกกระจัดกระจายไปในทิศต่างๆ กลุ่มใหญ่แตกเข้ามาในแถบสิบสองปันนาและสิบสองจุไท ร้อนถึงรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จำต้องส่งกองทัพออกไปปราบปราม แม่ทัพที่มีชื่อเสียงที่สุดในระยะนี้คือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) แต่ก็ไม่สามารถปราบโจรฮ่อให้สิ้นซากลงได้ ทั้งนี้ก็เพราะเวลาสยามปราบแล้วพวกฮ่อสู้ไม่ได้ก็หนีเข้าไปในดินแดนญวน เวลาญวนปราบฮ่อสู้ไม่ได้ก็จะหนีเข้ามาในเขตสยาม เป็นมาอย่างนี้ ๑๐ กว่าปีโดยที่รัฐบาลสยามกับญวนไม่เคยจะร่วมมือกันปราบฮ่อจนญวนตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีประสบการณ์ในการปราบกบฏในอาณานิคมมามาก จึงเสนอต่อรัฐบาลสยามให้ส่งกองทัพไปปราบฮ่อพร้อมๆ กับกองทัพฝรั่งเศส ฝ่ายสยามตกลงตามที่ฝรั่งเศสเสนอ ผลการปราบฮ่อเป็นที่พอใจของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายเพราะปราบได้เด็ดขาด แต่สิ่งที่ตามมาคือฝรั่งเศสไม่ยอมถอนทหารออกจากสิบสองจุไท โดยอ้างว่าเคยเป็นดินแดนของญวนมาก่อน แม่ทัพสยามเข้าตาจนด้วยหลักฐานด้านแผนที่หรือหลักเขตของสยามก็ไม่มี จึงยอมประนีประนอมกับฝรั่งเศส โดยตกลงกันในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๑ (ค.ศ.๑๘๘๘) ให้ฝรั่งเศสยึดสิบสองจุไทไว้ชั่วคราวจนกว่าจะเจรจาตกลงกันใหม่ แต่ฝรั่งเศสกลับยึดครองไว้เป็นการถาวร ดินแดนส่วนนี้นับเป็นส่วนแรกที่หลุดลอยไปจากแผ่นดินสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีเนื้อที่ถึง ๘๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร

ปฏิบัติการของฝรั่งเศสจากศึกฮ่อเป็นผลลัพธ์จากสถานการณ์พาไป และเป็นขั้นแรกที่นำไปสู่การผนวกลาวทั้งประเทศ นับจากนี้เราจะได้เห็นการสร้างสถานการณ์ของฝรั่งเศสเป็นแรงผลักดันขนานใหญ่ให้เกิดการปกป้องสิทธิความเป็นเจ้าอธิราชเหนือล้านช้าง และเป็นชนวนให้เกิดการรุกล้ำดินแดนไปทั่วภูมิภาค จนถึงล่วงล้ำอธิปไตยที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือกรณี ร.ศ.๑๑๒

มาตรการจรยุทธ์ที่ลวงสยามเข้าสู่สงครามที่มิใช่สงคราม

ความนัยจากเอกสารส่วนใหญ่ที่พบในต่างประเทศ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงความสำเร็จของฝรั่งเศสในการปะทะที่สูญเสียน้อยที่สุด แต่กลับได้ผลตอบแทนอันคุ้มค่าจากค่าปฏิกรรมสงครามและดินแดนที่งอกเงยขึ้นมาภายหลัง ความภูมิใจของฝรั่งเศสคือการที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลวงสยามประเทศเข้าสู่สงครามที่ไม่มีตัวตน

ในบริบทของคำว่าสงครามที่ฝรั่งเศสใช้เรียกนั้น ที่จริงแทบจะมิได้เป็นสงครามอย่างที่มหาบุรุษของฝรั่งเศสเช่น นโปเลียนเคยกระทำเลย แต่น่าจะเป็นการรบย่อยๆ ที่เกิดจากข้อพิพาทมากกว่า ข้อพิพาทเหล่านี้เกิดจากกระบวนการปลุกปั่นให้เกิดความระหองระแหงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งการกลั่นแกล้ง ยั่วยุ และใส่ไคล้ให้ทางรัฐบาลสยามจนมุมต่อหลักฐานที่หาข้อพิสูจน์ไม่ได้ การกระทำดังกล่าวบีบคั้นให้สยามลุกขึ้นปกป้องตนเองด้วยความเหลืออด มากกว่าการที่ฝรั่งเศสต้องการให้สยามเปิดศึกขนานใหญ่เพื่อตัดสินข้อพิพาทแบบวัดกันด้วยกำลัง

นักสังเกตการณ์อธิบายว่า “การยุทธ์” นั้นหมายถึงการรบใหญ่ ทั้งสองฝ่ายใช้กำลังอย่างเต็มขนาดเพื่อเผด็จศึกในสงครามนั้นๆ แต่การรบทางเรือที่ปากน้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้ในทางการทหารอนุโลมเป็นเพียง “การรบย่อย” ที่ไม่ใช่ “การรบใหญ่” จะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Naval Action at Paknam” และมิใช่ “Real War” ดังนั้น วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ จึงมิใช่การรบใหญ่ในบริบทของสงครามระหว่างประเทศ

ผู้สันทัดกรณีแก้ข้อกล่าวหาของฝรั่งเศสว่า ในเรื่องที่ฝรั่งเศสอ้างว่าสยามดูหมิ่นและข่มเหงชาวฝรั่งเศส เช่น การจับตัวบางเบียน การขับไล่พวกพ่อค้าฝรั่งเศส การจับตัวร้อยเอกโทเรอ ตลอดจนการฆ่า ม.โกรกูแรง ต่างๆ เหล่านี้เป็นการกล่าวเพื่อหาเรื่อง และเพื่อการโฆษณาปลุกปั่นให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสตลอดจนรัฐสภาฝรั่งเศสเห็นใจ จะได้สนับสนุนการดำเนินการครั้งนี้ สยามเป็นประเทศเล็กย่อมเจียมตัว จะไปโอหังข่มเหงฝรั่งเศสซึ่งเป็นมหาอำนาจได้อย่างไร นอกจากจะกระทำไปเพื่อป้องกันตัว พฤติการณ์เหล่านี้ฝรั่งเศสหาว่าสยามระรานก่อน จึงบีบคั้นให้สยามต้องรับผิดชอบในเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่คือฝรั่งเศสเรียกร้องโดยมุ่งจะเอาดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงหาเหตุหยิบยกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาเป็นข้ออ้างบังหน้าเพื่อรุกรานสยาม

ผู้สันทัดกรณียังชี้แจงต่อไปในหัวข้อ “สัมพันธไมตรีไม่ขาดจริง” ว่า เมื่อฝรั่งเศสประกาศปิดอ่าวไทยภายหลังการปะทะกันแล้ว ฝ่ายสยามก็ได้ส่งพระยาพิพัฒน์โกษาไปดูลาดเลาว่าฝรั่งเศสคิดดำเนินการอย่างไรต่อไป และเพื่อแสดงท่าทีให้ฝรั่งเศสเห็นว่าสยามก็ไม่อยากจะเป็นปรปักษ์กับฝรั่งเศส แต่เป็นเพราะฝรั่งเศสข่มขู่เรามากเกินไป ที่สุดแล้วฝรั่งเศสก็มิได้แสดงออกว่าต้องการจะให้สัมพันธไมตรีแตกหักโดยสิ้นเชิง เห็นได้จากการที่แม่ทัพเรือฝรั่งเศสจัดเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาพิพัฒน์โกษาบนเรือรบฝรั่งเศสเป็นการเอิกเกริก แถมยังได้ดื่มถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย ย่อมแสดงว่าฝรั่งเศสก็ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องหักหาญน้ำใจชาวสยาม แต่โดยส่วนตัวแล้วฝรั่งเศสไม่ต้องการตัดสัมพันธไมตรีกับสยามเลย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุผลทางการเมืองทั้งสิ้น

ท้ายที่สุดการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ก็เพื่อสยบข่าวลือของการรบครั้งนี้ว่าเป็นความเข้าใจผิดกัน และทุกฝ่ายน่าจะหาข้อยุติโดยสันติวิธีด้วยการเจรจา

“ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงรบพุ่งกันที่ปากน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ เดือนนี้ ก็เป็นการที่คอเวอนเมนต์ (รัฐบาล) ของเราได้ปรึกษาหารือกันกับคอเวอนเมนต์ฝรั่งเศส เพื่อจะให้เป็นที่เข้าใจกันเรียบร้อย และเพื่อที่จะไม่ให้มีเหตุเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก แต่มีเสียงคนที่ไม่พอใจในการทั้งปวง มักพูดต่างๆ นานา ตามภาษาที่ไม่รู้จักการ ไม่เป็นชอบใจของเรา”

ประเด็นของข่าวลือและการสร้างสถานการณ์ ซึ่งก็คือวงจรของยุทธศาสตร์มวลชน ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นระยะๆ ล้วนเป็นอุบายทางการเมืองของฝรั่งเศส ในหัวข้อต่อไปนี้จะพบว่านี่คือมาตรการหนึ่งของสงครามจิตวิทยาที่ถูกนำมาใช้แทนสงครามทางกายภาพ แต่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่ากันเลย

rs112 06
เรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำที่ฝ่าแนวป้องกันเข้ามาจอดทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสใกล้กับศุลกสถาน ณ ซอยโรงภาษี เขตบางรัก
ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง เพื่อกดดันเรียกร้องค่าปรับในความเสียหายจากการปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยา
สังเกตเห็นตึกซ้ายมือในภาพคืออาคารศุลกสถาน (ภาพจาก L’Illustration ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓)

rs112 07
ภาพบริเวณเรือรบฝรั่งเศสเคยจอดทอดสมอ ในปัจจุบันสังเกตเห็นอาคารศุลกสถาน(ตรงกลางภาพ)
เป็นสิ่งก่อสร้างเดียวที่ยังเหลืออยู่
รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศุลกสถาน
เพื่อเก็บภาษีเรือจากต่างประเทศที่เข้ามาค้าขายในสยามประเทศ
(ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

สงครามช่วงชิงพื้นที่ข่าวและแย่งชิงประชาชน

รายละเอียดของกรณี ร.ศ. ๑๑๒ จากเอกสารทั้งในและต่างประเทศ บันทึกไว้ด้วยเหตุและผลของคู่กรณีเป็นหลัก ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ยกมาหักล้างกันด้วยชั้นเชิงและไหวพริบเพื่อลบล้างความบกพร่องของหลักฐานที่ตนมีอยู่ รัฐบาลฝรั่งเศสตระหนักว่าหลักฐานของตนในการอ้างสิทธิครอบครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนั้นอ่อนด้วยเหตุผล จึงหันมาทำงานด้านมวลชนมากขึ้น โดยใช้การประชาสัมพันธ์เชิงรุกเป็นสื่อในการดำเนินงาน การปรับกลยุทธ์ใหม่นี้เปรียบเสมือนการเติมเชื้อเพลิงให้ไฟสงครามลุกลามไปอย่างรวดเร็ว แม้รัฐบาลฝรั่งเศสเองจะเป็นต้นตอของการปล่อยข่าว แต่ก็มิได้ควบคุมแหล่งข่าวของตนมิให้รั่วไหลออกไปอันเป็นการเปิดโปงแผนสกปรกทางอ้อม การช่วงชิงพื้นที่ข่าวในระยะนี้ปลุกกระแสสังคมภายนอกให้ตื่นตัวกับความเป็นไปอย่างเปิดเผย ทั้งยังทำให้เกิดการสูญเสียมวลชนอย่างรวดเร็วจากทางฝ่ายผู้ที่เคยเห็นอกเห็นใจรัฐบาลสยาม อันเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการแย่งชิงประชาชน

สื่อมวลชนได้กลายเป็นกลไกในการกระจายข่าวความคืบหน้ากรณี ร.ศ.๑๑๒ สื่อต่างประเทศได้ใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการประโคมข่าว การประเมินสถานการณ์ และบางทีก็สรุปเหตุการณ์เอาดื้อๆ สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นของเอกชนที่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา แต่มีหลายฉบับที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลฝรั่งเศสก็เสนอข่าวด้วยความลำเอียง อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนมีบทบาทอย่างมากในการกระพือข่าวทำให้เกิดการปลุกระดมมวลชนขึ้น ลองพิจารณาคำโฆษณาชวนเชื่อในหนังสือพิมพ์ ๒-๓ ฉบับต่อไปนี้

หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสชื่อ Revue Française ฉบับวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ เขียนว่า “ไม่จำเป็นต้องเข้าโจมตีหรือใช้กำลังแต่อย่างใดเลย เพียงแต่ส่งกำลังไปปรากฏตัวเท่านั้น การเล่นหลอกหลอนก็จะหมดสิ้นไปเอง วิธีการดำเนินการคือให้ทำเป็นทีว่าจะทำการรบจริง แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวุ่นวายขึ้น ในเขตแดนลาวนั้นเป็นการง่ายกว่าที่อื่นใดและเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องใช้กำลังทหาร เพียงแต่จัดตำรวจสัก ๔๐๐ คน ในบังคับบัญชาของชาวยุโรปที่เข้มแข็ง ภายใต้ความอำนวยการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายการเมือง เท่านี้ก็เชื่อว่าจะสามารถยึดตำบลสำคัญๆ ทางฝั่งแม่น้ำโขงได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องยิงปืนเลยสักนัดเดียว”

หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสฉบับอื่นๆ ก็ลงความเห็นทำนองเดียวกัน และได้ส่งเสริมรัฐบาลยิ่งขึ้นว่า “ควรให้แม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม ดินแดนลาวที่อยู่ทางฝั่งซ้ายเคยเป็นของญวนและเขมร เพิ่งตกมาเป็นของสยามเป็นเวลาไม่นานนัก ควรแล้วที่จะให้ตกอยู่กับญวนและเขมรผู้เป็นเจ้าของเดิมอีก”

หนังสือพิมพ์ The World ของสหรัฐฯ ฉบับวันที่ ๒๙ มิถุนายน ค.ศ.๑๘๙๓ พาดหัวข่าวอย่างน่าตกใจว่า “เรือรบของฝรั่งเศสระดมพลกันอยู่ที่ปากน้ำ เตรียมเข้าถล่มกรุงเทพฯ !” นอกจากนี้ “ใบปลิว” โฆษณาชวนเชื่อของวารสาร Le Pellerin ยังรายงานข่าวที่บิดเบือนพร้อมลงรูปประกอบงดงามเพื่อปลุกเร้าความสนใจของชาวปารีสให้เห็นดีเห็นงามกับปฏิบัติการทางทหารกับสยาม

คำโฆษณาเกินจริง และการสร้างข่าวลือในระยะนี้เห็นได้ชัดว่าทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อคนทั่วไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ และเป็นที่เชื่อได้ว่าได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวสยามจนขวัญหนีดีฝ่อ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือสื่อมวลชนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกรองสถานการณ์ สภาวะที่สังคมถูกกระแสข่าวครอบงำมิได้ตกอยู่กับหมู่ชนที่ต้องพึ่งข่าวสารเป็นตัวชี้นำเท่านั้น แต่สังคมโดยรวมก็ยังเชื่อถือข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์มากกว่าช่องทางอื่น แม้ข่าวที่ลงนั้นจะเป็นการปล่อยข่าวก็ตาม ถึงขนาดที่นายเดอแวล (M. Develle) รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสแสดงความวิตกกังวลต่อแหล่งข่าวเหล่านั้นว่า

“ครั้นมาภายหลัง บรรดาหนังสือพิมพ์ทั้งปวงพากันลงข่าวอันน่าตกใจ จนเป็นเหตุให้มหาชนทั้งหลายในยุโรปพากันแตกตื่นมากมาย มีคนทั้งหลายในประเทศอังกฤษและฮอลแลนด์ เป็นต้น หนังสือพิมพ์เหล่านี้ถึงกับลงข่าวว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสได้ยกไปยังกรุงเทพฯ แล้ว และจะเข้ามายิงกรุงเทพฯ เมื่อเป็นดังนี้ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า เราควรจะต้องบอกให้รัฐบาลอังกฤษและฮอลแลนด์ทราบว่า เรามิได้มีความประสงค์จะมีคำสั่งให้ลงมือทำการเช่นนั้นเลย และถ้าหากเราจำจะต้องทำดังนั้นแล้ว ก็จะต้องบอกให้รัฐบาลทั้งสองทราบล่วงหน้าเสียก่อน”

การสร้างสถานการณ์ก็เป็นอุทาหรณ์อีกอย่างหนึ่งที่สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับเหตุการณ์นี้ ดังมีหลักฐานว่ารัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศให้คนของตนทำสงครามแย่งชิงประชนชนอย่างกว้างขวาง ดังคำสั่งของผู้สำเร็จราชการอินโดจีนตอนหนึ่งว่า

“ต้องระวังอย่าให้ทหารสยามรวมกำลังกันได้ หรือส่งข่าวขอกำลังหนุนมาก่อนฝ่ายเรา เพื่อความมั่นคงและมีอิทธิพลในบริเวณนี้ และให้รีบจัดการพิจารณาในเรื่องเส้นทางที่จะสร้างถนนระหว่างดินแดนญวนกับฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นประการสำคัญยิ่งที่ท่านจะต้องทำให้ราษฎรในท้องถิ่นมีความพอใจที่เราได้เข้ามาปกครองแทนสยาม จะต้องปฏิบัติต่อเขาด้วยความดูแลเอาใจใส่ เคารพต่อขนบธรรมเนียมของเขา หลีกเลี่ยงต่อการที่จะให้เขามีความเดือดร้อนใจและพ้นจากการปล้นสะดม นอกจากนั้นจะต้องแสดงให้ชัดออกไปว่าเราไม่ยอมเจรจากับบุคคลอื่นๆ นอกเหนือไปจากพระเจ้าแผ่นดินและคณะเสนาบดี และให้พยายามเสือกไสไล่พวกที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ อย่าให้มาเกี่ยวข้องในการเจรจาด้วย ”

ปัจจัยภายนอกที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นอีก คือข่าวลือเรื่องพ่อค้าชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ ขอร้องรัฐบาลของตนให้ส่งเรือรบเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของคนอังกฤษหากเกิดความวุ่นวายขึ้น เรือรบอังกฤษกลายเป็นข้ออ้างที่ฝรั่งเศสจำเป็นต้องส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้น้อยหน้า ทว่าการที่ฝรั่งเศสขอให้เรือรบใหม่เข้ามาสมทบกับเรือ ลูแตง (Le Lutin) ซึ่งจอดทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสนานแล้ว ก็เท่ากับข่มขู่ชาวสยามโดยตรง เป็นการส่งเสริมข่าวลือว่าเรือรบฝรั่งเศสจะเข้สมาระดมยิงกรุงเทพฯ อย่างไม่ต้องสงสัย ข่าวลือนี้ชัดเจนขึ้นเมื่อเรือรบ ๒ ลำ ชื่อเรือ แองกองสตอง(Inconstant) และเรือ โกแมต (Comète) ปรากฏตัวขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

ส่วนปัจจัยภายในที่ผลักดันให้เรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำนี้ฝ่าเข้ามาก็คือ หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีฉบับเก่าที่ทำกันไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖) สัญญาฉบับนี้ได้กลายเป็นประเด็นใหม่ของการสร้างสถานการณ์ทันที อันเปรียบได้กับยาขมที่สยามกลืนไม่เข้าคายไม่ออก สัญญาอันกำกวมฉบับนั้นมีคู่กัน ๒ ฉบับ ฉบับภาษาไทยระบุว่า ถ้าฝรั่งเศสจะนำเรือรบเข้ามากรุงเทพฯ ต้องให้ฝ่ายสยามอนุญาตเสียก่อน แต่ฉบับภาษาฝรั่งเศสเขียนว่า ถ้าฝรั่งเศสจะนำเรือรบเข้ามา ต้องแจ้งให้ฝ่ายสยามทราบจึงจะเข้ามาได้ ดังนั้นตามฉบับภาษาฝรั่งเศสแล้ว กัปตันเรือฝรั่งเศสไม่ต้องรอให้ไทยอนุญาตก็เข้ามาได้เลย เพียงแต่แจ้งให้ทราบก่อนเป็นพอ ตรงนี้นับเป็นจุดอ่อนของข้อผูกมัดที่ทำให้สยามเสียเปรียบและแก้ตัวไม่ขึ้น

กลยุทธ์ศึกที่ปากน้ำเจ้าพระยา

สถานการณ์ต่างๆ ที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นก่อนผลักดันให้เกิดการล่วงล้ำอธิปไตยที่ปากน้ำ ย่อมแสดงว่าฝรั่งเศสได้ทดลองหยั่งท่าทีของรัฐบาลสยาม และปฏิกิริยาโต้ตอบจากต่างประเทศมาก่อนล่วงหน้าเป็นอย่างดี ขั้นตอนของแผนการนี้เห็นได้ว่ามิใช่ความต้องการอย่างหุนหันของฝรั่งเศสที่จะหักด้ามพร้าด้วยเข่า แต่ต้องการใช้เหตุผลเพื่อแสดงความชอบธรรมก่อนดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับสยาม โดย

(๑) ให้ต่างประเทศเห็นและคล้อยตามว่าฝรั่งเศสพยายามพูดด้วยดีแล้วไม่สำเร็จ ฝ่ายสยามต่างหากที่ทำให้การเจรจาไม่สำเร็จ

(๒) ถ่วงเวลาให้กองทัพฝรั่งเศสพร้อมที่จะส่งเรือรบเข้ามาเพื่อให้ติดกับดักของสยามโดยมิได้ตั้งใจ โดยที่ฝ่ายสยามเป็นผู้เริ่มโจมตีก่อนและด้วยเจตนาประสงค์ร้าย

(๓) เพื่อยั่วยุให้ทางสื่อมวลชนฝรั่งเศสโกรธฝ่ายสยามที่ชักช้าถ่วงเวลา แล้วสื่อมวลชนฝรั่งเศสจะช่วยกระพือข่าวเป็นแรงผลักดันคณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสและรัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบที่จะใช้กำลังจัดการเพราะการเจรจาไม่เป็นผล ปฏิบัติการครั้งนี้จึงสาสมและได้รับความเห็นใจจากประชาคมโลก

เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ของเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) เรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำ นำโดยเรือนำร่องชื่อ ฌองบัปติสต์เซย์ (J.B. Sayre) แล่นฝ่าแนวป้องกันที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่อย่างหนักจากป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ผลจากการยิงทำให้เรือนำร่องของฝรั่งเศสอับปางและไปเกยตื้นที่สันดอนกลางแม่น้ำ ในการปะทะกันครั้งนั้น ทหารไทยเสียชีวิต ๘ นาย บาดเจ็บ ๔๑ นาย สูญหาย ๑ นาย ส่วนทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต ๓ นาย บาดเจ็บ ๓ นาย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบรายละเอียดภายหลังการปะทะกัน พบว่ามีการสร้างสถานการณ์เกิดขึ้นกับทางฝ่ายฝรั่งเศส กล่าวคือ

๑. แผนสันติภาพมาไม่ถึงสนามรบ ก่อนการปะทะกัน ๑ วัน โดยเช้าวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ภายหลังที่พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ เอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส สามารถเจรจาให้นายเดอแวล รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ถอนคำสั่งเดิมที่จะให้เรือรบ ๒ ลำแล่นเข้ากรุงเทพฯ จึงได้ส่งโทรเลขด่วนถึงกองเรือรบฝรั่งเศสที่ชุมนุมกันอยู่ให้ระงับการเดินทางผ่านสันดอนเข้ามา ทว่าโทรเลขฉบับนี้มาไม่ถึงกัปตันเรือรบทั้ง ๒ ลำ ทำให้ดูคล้ายมีเงื่อนงำ

๒. ประสิทธิภาพลวงของเรือรบ เรือรบที่ฝรั่งเศสส่งเข้ามาประจัญบานกับราชนาวีสยามเป็นเรือตรวจชายฝั่งขนาดกลาง ๒ ลำ และมิใช่เรือรบขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับศึกสงครามโดยเฉพาะ จึงมิใช่เรือรบเพื่อการทำลายล้างอย่างแท้จริง ในขณะที่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ฝรั่งเศสตัดสินใจส่งกองเรือขนาดใหญ่ที่ทรงอานุภาพมากกว่านับ ๑๐ ลำ หรือทั้งหมดจากฐานทัพในอินโดจีนเข้ามาเพียงเพื่อใช้ปิดอ่าวและคุมเชิง แต่ทำไมในปฏิบัติการจริงกลับไม่ถูกนำมาใช้

๓. คำสั่งและการเปลี่ยนคำสั่ง ไม่มีเหตุผลเพียงพอสำหรับ ม.ปาวี เมื่อได้รับโทรเลขด่วนจากปารีสให้ระงับคำสั่งเดิมที่จะปล่อยเรือรบเข้ามาแล้วไม่เห็นด้วย การขัดขืนคำสั่งใหม่เป็นความผิดใหญ่หลวงทั้งทางวินัยและจรรยาบรรณของทูตผู้มีอำนาจเต็ม นอกจากจะได้รับความเห็นชอบจากเบื้องสูงโดยตรง

๔. การฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา การที่นาวาโทโบรีฝืนคำสั่งใหม่มิให้นำเรือรบเข้ามาย่อมถือเป็นความผิดทางวินัยร้ายแรงเช่นกัน แต่ไฉนกลับได้ความดีความชอบเลื่อนยศจากนาวาโทเป็นนาวาเอก พร้อมติดเหรียญกล้าหาญในภายหลัง

๕. เจตนาให้ติดกับดัก แผนการของฝรั่งเศสดำเนินไปด้วยดีจนผิดสังเกต กล่าวคือเมื่อเรือรบฝ่าเข้ามานั้นเป็นเวลาพลบค่ำ ถ้าจะสู้รบกันก็คงกินเวลาไม่นานเท่าใดเพราะมืดเสียก่อน ทั้งยังรู้ว่าเวลานั้นกระแสน้ำไหลเร็วช่วยให้เรือแล่นตามน้ำอย่างว่องไว และทั้งที่รู้ว่าฝ่ายสยามตั้งรับอยู่ในสภาพที่พร้อมกว่า ก็ยังฝืนเข้ามาในวงล้อมข้าศึกเพื่อรับโทษทัณฑ์โดยดุษณี

๖. ภาพลวงของสมรรถนะในการรบ ลักษณะที่เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามาเป็นท่วงทีว่าเข้ามาแบบปรกติ เห็นได้จากการที่มิได้เปิดฉากยิงก่อน แม้ฝ่ายสยามจะเริ่มทำการยิงเตือนแล้วก็ตาม ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยังสงบนิ่งอยู่ด้วยความอดทน เพราะถ้ายิงโต้ตอบโดยทันทีก็เท่ากับจะทำให้ปืนจากป้อมเร่งระดมยิงหนักขึ้นไปอีก จนเมื่อเรือนำร่องชื่อเรือฌองบัปติสต์เซย์ และเรือ แองกองสตอง ถูกยิงแล้ว ฝ่ายฝรั่งเศสจึงตัดสินใจทำการยิงโต้ตอบ แต่ก็ยิงแบบขอไปทีจนดูด้อยเกินสมรรถนะที่แท้จริงของเรือรบจากชาติมหาอำนาจดังที่ควรจะเป็นในภาวะสงคราม

๗. หลักฐานที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์
การยิงสู้กันที่ปากน้ำ สันนิษฐานว่าฝรั่งเศสมิได้จงใจทำลายฝ่ายสยามอย่างจริงจัง เพราะสถานการณ์ในเวลานั้นยังมิได้ประกาศสงครามต่อกัน การสู้รบกันเป็นเพียงฝ่ายฝรั่งเศสจะนำเรือเข้าไปในกรุงเทพฯ ให้ได้ เมื่อได้ยิงสู้กันอย่างอุตลุดที่บริเวณแนวป้องกันของสยามแล้ว เรือรบฝรั่งเศสก็มิได้แล่นยิงหมายจะทำลายเรือฝ่ายสยามให้ย่อยยับ แต่กลับแล่นเลยเข้าไปยังสถานทูตของตน จึงน่าสงสัยว่าฝรั่งเศสมิได้มีเจตนาที่จะรบพุ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ต้องการเก็บหลักฐานไว้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนว่ามิได้เป็นฝ่ายเริ่มต้น แต่ถูกกลุ้มรุมทำร้ายจนต้องป้องกันตนเอง

ยุทธนาวีที่ปากน้ำเป็นมหากาพย์ตบตาคนทั้งโลกที่ฝรั่งเศสวางแผนมาเป็นอย่างดี การสร้างสถานการณ์ทั้งหมดที่แท้เป็นกลลวงเพื่อหวังผลทางการเมืองเต็มรูปแบบ

ฝรั่งเศสถูกประณามโดยประเทศต่างๆ

ในขณะที่วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ดำเนินอยู่นั้น หนังสือพิมพ์ไทยและเทศทำหน้าที่เป็นสื่อกลางรายงานความคืบหน้าต่างๆ ของการปะทะกันให้ประชาชนได้ทราบ แท้จริงแล้วบทบาทของหนังสือพิมพ์มีมากกว่านั้น เพราะคนภายนอกยังได้รับรู้ความเป็นไปต่างๆ ทั้งทางลับและที่เปิดเผย ได้อ่านบทวิเคราะห์ของนักวิจารณ์การเมืองและล่วงรู้ความตื้นลึกหนาบางของเหตุการณ์ ฉะนั้นในภาพรวมแล้วหนังสือพิมพ์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ฝรั่งเศสซึ่งเป็นชาติใหญ่มีอำนาจมากได้กระทำการลุแก่อำนาจจนเกินขอบเขต เป็นการรังแกประเทศเล็กที่อ่อนแอและไม่มีทางสู้ การคุกคามแบบขาดมนุษยธรรมทำให้ฝรั่งเศสถูกประณามว่าเป็นคนผิดตั้งแต่แรกเริ่ม และเป็นฝ่ายก่อเรื่องขึ้นก่อน

คำชี้แจงของหนังสือพิมพ์อเมริกัน เบลเยียม และรัสเซียเกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกนำมาประจานอีกต่อหนึ่งโดยหนังสือพิมพ์ ธรรมศาสตร์วินิจฉัย ของไทยในสมัยนั้น ผู้เขียนขอนำบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒ ภายหลังการบุกรุกเข้ามาของเรือรบฝรั่งเศส โดยขออนุรักษ์อักขระและสำนวนเก่าในการเขียนตามต้นฉบับเดิมไว้เพื่อรักษาใจความสำคัญ (ดู “ความเห็นของชาวอเมริกันเบลเยียม รัสเซีย ในเรื่องไทยกับฝรั่งเศส” ด้านล่าง)

สรุป

วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ มิได้เกิดขึ้นและจบลงที่การปะทะกันด้วยกำลังทหารที่ปากน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่เนื่องจากโครงสร้างของปัญหากินระยะเวลานานหลายปี เป้าหมายของฝรั่งเศสคือการปรับมาตรการต่างๆ ขึ้นเป็นนโยบายเพื่อบรรลุจุดประสงค์ให้มากที่สุด มาตรการอันรอบคอบเหล่านี้ รวมถึงทฤษฎีมากมายที่จะสามารถทำให้เกิดความชอบธรรมในการอ้างสิทธิครอบครองดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำให้อาณาจักรอินโดจีนของฝรั่งเศสครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้นตามนโยบายหลัก

ปฏิบัติการในครั้งนี้จึงเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุมและเป็นขั้นตอน เริ่มจากการอภิปรายขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ การตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจและส่งผู้เชี่ยวชาญมาค้นคว้าหาข้อมูลล่วงหน้า การดำเนินการทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากประชาคมโลกและประชาชนของตน ตลอดจนการดำเนินงานทางการทูตในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลอย่างกว้างขวาง และเมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพจึงได้เริ่มใช้มาตรการทางทหาร ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างฐานอำนาจในพื้นที่ และกำหนดเขตอิทธิพลเพื่อแข่งขันกับมหาอำนาจคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งก็คืออังกฤษ

สำหรับมาตรการทางทหารนั้น ฝรั่งเศสนำทฤษฎีจรยุทธ์ทุกรูปแบบมาใช้ เช่น การทำสงครามจิตวิทยา การแย่งชิงมวลชนและการช่วงชิงพื้นที่ข่าวเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเพื่อประกันความสำเร็จ นโยบายเรือปืน (Gun Boat Policy) ซึ่งเคยใช้ได้ผลมาแล้วในอดีตถูกนำกลับมาใช้อีก แต่ในครั้งนี้เนื่องจากความกดดันมีสูง ประจวบกับสถานการณ์ที่สุกงอม กองทัพสยามซึ่งพัฒนาไปมากกว่าเดิมจึงตอบโต้การกระทำของฝรั่งเศสอย่างไม่กลัวเกรง แต่เหตุการณ์ก็มิได้ยุติเพียงเท่านั้น

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ม.ปาวี ตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลสยามจำนวน ๖ ข้อ ในจำนวนนี้มีอยู่ ๓ ข้อที่อาการหนักที่สุด คือข้อแรกที่เรียกร้องให้สยามยอมรับว่าดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศส ข้อที่ ๕ และ ๖ สยามต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๒ ล้านฟรังก์ โดยต้องจ่ายเงินรวม ๓ ล้านฟรังก์เป็นมัดจำเพื่อชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ ในระหว่างนี้ ฝรั่งเศสขอยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันจนกว่าสยามจะปฏิบัติตามข้อสัญญาต่างๆ

ต่อมาสยามกับฝรั่งเศสก็เริ่มทำสัญญาสันติภาพต่อกัน โดยตกลงขั้นสุดท้ายพร้อมลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ผลของสัญญาก็เป็นไปตามความต้องการของฝรั่งเศสทุกประการ อย่างไรก็ตาม การทำสนธิสัญญาและอนุสัญญาครั้งนี้ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น มิใช่จะสามารถขจัดความยุ่งยากทั้งสิ้นให้หมดไป จะเห็นได้ว่าหลังจากนี้สยามก็ต้องประสบปัญหาเรื่องแยกแยะคนในอาณัติของตนเองต่อไป ข้อโต้แย้งมากต่อมากที่เกิดเพราะสัญญา ร.ศ.๑๑๒ เช่น ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ปัญหาเมืองหลวงพระบางและเมืองจำปาศักดิ์ส่วนที่อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และปัญหาฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันจนกว่าสยามจะปฏิบัติตามสัญญาทุกข้อ ล้วนเป็นข้อผูกมัดให้สยามต้องหาทางแก้ไขต่อไป

วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ มิได้จบลงอย่างถาวรเพราะสัญญาสงบศึก แต่ผลจากการยุทธ์ได้แปรเปลี่ยนเป็นปัญหาทางการเมืองต่อไปอีกนาน ๑๔ ปี และโยงไปถึงสาเหตุของการเสด็จประพาสยุโรปในรัชกาลที่ ๕ อีกด้วย

เอกสารประกอบการค้นคว้า
ไกรฤกษ์ นานา. สยามกู้อิสรภาพตนเอง. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐.
แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี และ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี. กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ.๑๑๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๑๙.
เพ็ญศรี ดุ๊ก. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย (สยาม) กับฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙.
หนังสือพิมพ์ ธรรมศาสตร์วินิจฉัย ฉบับวันที่ ๘ สิงหาคม ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖).

เชิงอรรถ
๑.พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี, กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ.๑๑๒, ๒๕๑๙.
๒.เพ็ญศรี ดุ๊ก, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย (สยาม) กับประเทศฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙, ๒๕๓๙.
๓.ดูใน ไกรฤกษ์ นานา, สยามกู้อิสรภาพตนเอง, ๒๕๕๐. และเพ็ญศรี ดุ๊ก, เพิ่งอ้าง.
๔.พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ก็คือพลเรือโท กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชหัตถเลขาฉบับนี้เพื่อขอบพระทัยในความกล้าหาญของทหารทุกนายในกองทัพ
๕.ไกรฤกษ์ นานา, อ้างแล้ว. และ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์, อ้างแล้ว.
๖.ใบปลิวนี้ผู้เขียนซื้อต่อมาจากนาย Hubert Pavie หลานชายของเมอซิเออร์ปาวี อดีตเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ สมัย ร.ศ.๑๑๒ ซื้อไว้เมื่อเมษายน ๒๕๕๐ สันนิษฐานว่ามีอยู่เพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย
๗.ไกรฤกษ์ นานา, อ้างแล้ว.
๘.ไกรฤกษ์ นานา, อ้างแล้ว.
๙.หนังสือพิมพ์ ธรรมศาสตร์วินิจฉัย ฉบับวันที่ ๘ สิงหาคม ร.ศ.๑๑๒ ด้วยความเอื้อเฟื้อจากพลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี