วันชัย ตัน ภาพประกอบ : “นายดอกมา”

everestsarakadee

ภายในปีนี้ เราอาจจะได้เห็นคนไทยพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ

จะพิชิตสำเร็จในระดับใดคงต้องติดตามกันต่อไป

ยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นความใฝ่ฝันสุดยอดของผู้คนที่รักการผจญภัย

ต้องยอมรับว่าบนโลกสีฟ้าใบนี้ เรามีคนรวยผู้รักการผจญภัยเพิ่มขึ้นมาก ประเภทเล่นสกีในตอนเช้า ไปปีนเขาในตอนสาย พอบ่ายก็ไปโดดร่ม ตกเย็นอาจจะขับรถแข่งฟอร์มูลาวัน แล้วว่ายน้ำกับฉลามในวันรุ่งขึ้น

คนเหล่านี้มักมองไปที่ยอดเขาเอเวอเรสต์ว่าเป็นสุดยอดในชีวิตที่ต้องพิชิตให้ได้

แต่คนที่อยากพิชิตยอดเขาแห่งนี้ กระเป๋าต้องตุงด้วย

คนจนหรือคนเกือบรวยหมดสิทธิ์ครับ

เพราะนอกจากจะมีเวลาหนีงานมาเตรียมพร้อมร่างกายล่วงหน้าหลายเดือนแล้ว งบประมาณในการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์นั้นอยู่ที่ราวๆ คนละ ๑ ล้านกว่าบาท

“มีเงินเพียง ๔ หมื่นดอลลาร์สหรัฐ คุณก็สามารถทำฝันให้เป็นจริงได้” รัสเซลล์ ไบรซ์ ไกด์ผิวขาวชาวนิวซีแลนด์ ผู้มีประสบการณ์ในการปีนเขาหิมาลัยมายาวนานบอกกับนักข่าว

อันที่จริงค่าใช้จ่ายในการปีนเขาแห่งนี้มีหลายราคา ตั้งแต่ราคาถูกสุด ๑ หมื่นดอลลาร์ แต่เสี่ยงตายมากที่สุด เพราะไม่ค่อยมีเครื่องมือในการปีนเขาและช่วยชีวิตมากนัก ไปจนถึงระดับราคา ๗ หมื่นดอลลาร์ หรือ ๒ ล้านบาท มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน

ยอดเขาเอเวอเรสต์ถูกพิชิตครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๕๓ โดยเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี ชาวอังกฤษ และ เทนซิง นอร์เกย์ ชาวเชอร์ปา อันที่จริงชาวเชอร์ปาอ้างว่าที่ผ่านมาบรรพบุรุษของเขาก็เคยเดินทางมาเยือนยอดเขาแห่งนี้อย่างเงียบๆ ด้วยความเคารพบูชาหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่เป็นข่าวเพราะพวกเขาเป็นเพียงคนพื้นเมือง ไม่ใช่คนผิวขาว

จนถึงปัจจุบันยอดเขาแห่งนี้มีนักปีนเขารุ่นหลังขึ้นไปไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ครั้ง และสถิติยังเพิ่มขึ้นทุกปี คาดว่าปีนี้น่าจะมีไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ คน

เทศกาลปีนเขาเอเวอเรสต์เริ่มในฤดูใบไม้ผลิของทุกปี บางวันถึงกับเกิดสภาพการจราจรติดขัด เพราะมีคนรอเข้าคิวตรงทางขึ้นยอดเขาแคบๆ

แต่จำนวนผู้อยากปีนเขาและพิชิตได้สำเร็จก็ไม่แน่นอนในแต่ละปี

“ไม่ใช่แค่คุณมีร่างกายแข็งแรงอย่างเดียว แต่คุณต้องรู้ถึงขีดจำกัดความสามารถของคุณเองว่าคุณจะไปได้ไกลหรือสูงถึงระดับใด ไม่อย่างนั้นความตายก็รอคุณอยู่ข้างบนโน้น” ไบรซ์ ไกด์นักปีนเขาวัย ๕๕ บอกกับนักข่าว

ปีนี้มีนักปีนเขาเสียชีวิตไปทั้งหมด ๗ ราย และปีก่อนมีคนตาย ๑๑ ราย ที่ผ่านมาลูกค้าของไบรซ์สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ถึง ๕๓ คน

บนเอเวอเรสต์ระดับความสูงเกิน ๘,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล เรียกว่าเป็น “พื้นที่สังหาร” เพราะมีปริมาณออกซิเจนเพียง ๑ ใน ๓ ของปริมาณออกซิเจนที่ระดับน้ำทะเล บริเวณนั้นจะมีคนตายมากเป็นพิเศษ เพราะคนเหล่านั้นไม่รู้ข้อจำกัดของตัวเอง และที่สำคัญคือเป็นระดับความสูงที่อากาศแปรปรวนมากเป็นพิเศษ หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง อาทิหิมะถล่มได้

หน้าที่ประการหนึ่งของไบรซ์คือการดูแลลูกทีมของเขาว่าบนระดับความสูงตรงนั้น ลูกทีมจะไม่มีอาการขาดออกซิเจน โดยเขาต้องตรวจสอบประวัติการปีนเขาของลูกทีมและให้เซ็นหนังสือสัญญาว่าจะทำตามคำแนะนำของหัวหน้าทีมอย่างเคร่งครัด อาจจะต้องถอยกลับแม้ว่าจะเหลืออีกเพียง ๑ เมตรจะถึงยอดเขาก็ตาม เพื่อรักษาชีวิต

“จากประสบการณ์ของผม คนที่พิชิตยอดเขาได้ส่วนใหญ่เตรียมร่างกายมาดีจริงๆ บางคนโกหกว่าเคยทดลองปีนเขามาหลายครั้ง แต่เอาเข้าจริงไม่เคยเลย และไม่ใช่แค่ฝึกครั้งเดียว คุณต้องฝึกปีนเขาบ่อยมากในหลายประเทศ ก่อนจะมาปีนเขาที่โหดที่สุดแห่งนี้ได้”

แม้ว่าจะเคยปีนเขาที่อื่นมาแล้วเป็นอย่างดี แต่คนเหล่านั้นต้องมาเตรียมตัวฝึกร่างกายอยู่ที่ตีนเขาเอเวอเรสต์ประมาณ ๒ เดือน เพื่อปรับร่างกายให้เข้ากับสภาพอากาศอันเบาบางและรับการฝึกฝนในการปีนเขา ขณะที่การไต่ขึ้นสู่ยอดเขาใช้เวลาเพียง ๕ วัน

เมื่อลูกทีมของไบรซ์มาถึงทิเบต เขาจะนำคนเหล่านั้นมาที่เบสแคมป์เพื่อฝึกฝนร่างกายอย่างเข้มงวด

“แต่ละปีมีคนมาฝึกฝนที่เบสแคมป์หลายร้อยคน มันเป็นงานที่ใหญ่มาก ที่นี่เรามีรถบรรทุกไม่ต่ำกว่า ๑๐ คัน มีทุกอย่างพร้อม อาทิ เต็นท์ผลิตกระแสไฟฟ้า เต็นท์ห้องครัว ห้องพยาบาล เต็นท์สื่อสารและบาร์”

ระยะจากเบสแคมป์ไปจนถึงยอดเขาเอเวอเรสต์จะมีแคมป์ระหว่างทาง ๕ แห่ง มีลูกหาบชาวเชอร์ปาคอยดูแล นำทาง ช่วยเหลือนักปีนเขาอย่างใกล้ชิด

“ลูกหาบเหล่านี้มีความสำคัญมาก พวกเขาตัวเล็กแต่แข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขาถ่อมตนและมีความสามารถในการปีนเขามากๆ” ไบรซ์พูดถึงบรรดาลูกหาบ ๗๐ กว่าคนที่ทำงานให้เขา

“นักปีนเขาหลายคนไม่มีทางไปถึงยอด หากไม่มีลูกหาบเชอร์ปาเหล่านี้” ไบรซ์ยืนยัน

ทุกวันนี้ธุรกิจปีนยอดเขาเอเวอเรสต์มีลูกค้าเสี่ยงตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่กลับเป็นฝรั่งผิวขาวจากทั่วโลก มิใช่คนพื้นเมืองแต่อย่างใด ไม่ต่างจากธุรกิจดำน้ำดูปะการังในจังหวัดภูเก็ตที่ล้วนตกเป็นของฝรั่งเกือบหมด