ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
มูลนิธิโลกสีเขียว : ภาพ

สำรวจ ไลเคน ตรวจสุขภาพเมืองกับนักสืบรุ่นจิ๋วเยาวชนกลุ่มนักสืบสายลม มูลนิธิโลกสีเขียวกำลังตามหา “ไลเคน” สิ่งมีชีวิตกึ่งรากึ่งสาหร่าย เพื่อใช้บ่งชี้คุณภาพอากาศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้คนที่มาออกกำลังกายพักผ่อนในสวนลุมพินีใจกลางกรุง คงแปลกใจไม่น้อยเมื่อได้เห็นเด็ก ๆ รวมกลุ่มกันใช้แว่นขยายส่องหาบางอย่างบนเปลือกไม้อย่างตั้งอกตั้งใจ ในมือของ “นักสืบ” รุ่นเยาว์แต่ละคนพกคู่มือสำรวจเล่มเล็กไม่ห่างตัว

เด็ก ๆ เหล่านี้มาจากโรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ รวมตัวกันในชื่อ “นักสืบสายลม” โดยการดำเนินงานของโครงการนักสืบสายลม มูลนิธิโลกสีเขียว กระจายกันสำรวจพื้นที่ ๑๒ จุดทั่วสวนลุมพินี ด้วยอุปกรณ์ง่าย ๆ อย่างแว่นขยาย สายวัด สมุดบันทึก บวกกับประสาทสัมผัสที่ตื่นตัว ความช่างสังเกตสังกา และที่ขาดไม่ได้คือสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วชื่อว่า “ไลเคน” เพียงเท่านี้ไม่ว่าใครก็สามารถสำรวจคุณภาพอากาศได้ด้วยตนเอง

ที่ผ่านมาการตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยหน่วยงานราชการมักพึ่งพาอุปกรณ์สนนราคา แพง เพื่อให้ได้ค่าที่เที่ยงแท้-แม่นยำ ทั้งที่มีเครื่องมืออื่นอีกมากที่จะสามารถ “อ่าน” คุณภาพอากาศได้ไม่ยาก ต้นทุนต่ำ ที่สำคัญมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์รองรับ ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งจัดกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาภายใต้กิจกรรมนักสืบสิ่งแวดล้อมมากว่า ๑๕ ปี เล่าว่า “จากประสบการณ์เราพบว่า ‘ตัวบ่งชี้’ ที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ง่ายและนำไปสู่การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม คือตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ เช่นการใช้ตัวอ่อนแมลงน้ำบ่งชี้คุณภาพน้ำ ใช้ความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์บ่งชี้สภาพชายหาด การตอบโจทย์เรื่องคุณภาพอากาศ เราจึงเลือกใช้ ‘ไลเคน’ ”

“ไลเคน” (Lichen) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เกาะอยู่ตามผิวหน้าของสิ่งต่าง ๆ ทั้งวัสดุธรรมชาติอย่างเปลือกไม้ ใบไม้ หิน แมลง หรือวัสดุสังเคราะห์อย่างแผ่นป้ายโลหะ ผนังคอนกรีต “ไลเคนเกิดจากการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยของสิ่งมีชีวิต ๒ ชนิด คือรา (fungi) กับสาหร่าย (algae) โดยราถักทอเส้นใยห่อหุ้มเซลล์สาหร่ายไว้ไม่ให้แห้งหรือเป็นอันตรายจากสภาวะ แวดล้อม ส่วนสาหร่ายใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและน้ำในการสังเคราะห์แสง สร้างสารอินทรีย์ที่เป็นอาหารแล้วแบ่งปันให้รา เหมือนเป็นการจ่ายค่าเช่าบ้านตอบแทน” ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้สนใจศึกษาเรื่องไลเคนมานานกว่า ๑๕ ปีให้ข้อมูล

การเอื้อประโยชน์กันระหว่างรากับสาหร่ายทำให้ไลเคนขึ้นกระจายไปทั่วโลก ไลเคนสามารถทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ “โหด ๆ” ได้ดีกว่าต้นไม้ต้นหญ้าเสียอีก เราจึงพบไลเคนได้ทั่วไป ตั้งแต่โขดหินริมน้ำไปจนถึงภูเขาหิมะ จากแนวเส้นศูนย์สูตรถึงขั้วโลก จากป่าดิบชื้นถึงทะเลทราย นักชีววิทยาประมาณการว่ามีไลเคนถึง ๓ หมื่นชนิดทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทนทานต่อมลภาวะของไลเคนแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันไป บางชนิดทนทานได้ดีแม้อยู่ในเขตเมืองหรืออุตสาหกรรม
บางชนิดทนทานต่ำ พบได้เฉพาะตามชนบทหรือภูเขา นักสิ่งแวดล้อมจึงเกิดไอเดียนำการปรากฏตัวของไลเคนมาเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพอากาศ

การใช้ไลเคนบ่งชี้คุณภาพอากาศอาจเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ในต่างประเทศมีผู้สนใจมานานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ยกตัวอย่างเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖ มีรายงานว่าไลเคนที่เคยเห็นเป็นสีด่างดวงบนต้นไม้อันตรธานไปจากสวนในลักเซ มเบิร์กใกล้กรุงปารีส เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ งานวิจัยในยุโรปหลายชิ้นยังระบุว่าความหลากหลายในการกระจายตัวของไลเคนแปร ผกผันกับจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ

liken02liken03

liken04

นักชีววิทยาสำรวจพบไลเคนในเขตกรุงเทพฯ ประมาณ ๓๐ ชนิด
ในธรรมชาติไลเคนกลุ่มอากาศดีมีมากชนิดที่สุด แต่หายไปจากแถบนี้นานแล้ว
จากภาพผักกาดหน่อฟองไลเคนกลุ่มอากาศดี(บน),
ริ้วแพร ไลเคนกลุ่มทนทาน(กลาง),
หัตถ์ทศกัณฐ์กุมน้ำแข็ง ไลเคนกลุ่มทนทานสูง(ล่าง)

“หากใครเคยเห็นดวงด่างสีต่าง ๆ บนผนังคอนกรีตหรือเปลือกไม้ มองเผิน ๆ เหมือนกับต้นไม้เป็นกลากเกลื้อน เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ใช้แว่นขยายส่อง เราจะพบโลกมหัศจรรย์ นั่นคือโลกของไลเคน การมีไลเคนขึ้นตามต้นไม้ไม่ได้หมายความว่าต้นไม้นั้นเป็นโรค เพราะไลเคนแค่ขออาศัยอยู่ด้วยเท่านั้น ไม่ทำอันตรายใด ๆ” ดร. สรณรัชฎ์อธิบาย และให้รายละเอียดการสำรวจไลเคนโดยนักสืบสายลมว่า

“หลังจากปูพื้นฐานความรู้จนพร้อมสำหรับการลงพื้นที่สำรวจไลเคนแล้ว นักสืบสายลมจะกระจายกำลังกันออกสำรวจต้นไม้ให้ได้อย่างน้อย ๑๐ ต้นในแต่ละจุด เลือกเอาต้นที่มีขนาดเส้นรอบวง ๕๐ เซนติเมตรขึ้นไป แล้วบันทึกลงในแบบฟอร์มสำรวจว่าพบไลเคนชนิดใดบ้าง

“การสำรวจในกรุงเทพฯ เราแบ่งไลเคนออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ ไลเคนกลุ่มทนทานต่อมลภาวะสูง เช่น ไฝพระอินทร์ สิวหัวช้างจิ๋ว ทศกัณฐ์กุมน้ำแข็ง กลุ่มทนทาน เช่น หลังตุ๊กแก ธิดามะกอกดำ ริ้วแพร และกลุ่มอากาศดี เช่น ผักกาดหน่อแท่ง ผักกาดหน่อฟองเป็นต้น

“เกณฑ์การประเมิน หากอากาศแย่มากจะพบเฉพาะไลเคนกลุ่มทนทานสูง อากาศแย่พบไลเคนกลุ่มทนทานสูงมากกว่ากลุ่มอื่น อากาศพอใช้พบไลเคนกลุ่มทนทานมากกว่ากลุ่มทนทานสูง อากาศดีพบไลเคนกลุ่มอากาศดีได้ทั่วไป หากไม่พบไลเคนเลยอาจแสดงถึงปัญหามลภาวะอย่างรุนแรง แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ควรสืบค้นเพิ่มเติม”

หลังจากก้ม ๆ เงย ๆ อยู่ตามต้นไม้จนเก็บข้อมูลได้ครบ นักสืบสายลมก็มารวมตัวกันเพื่อร่วมประเมินคุณภาพอากาศ และหลังจากนำข้อมูลมารวมกับการสำรวจไลเคนในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง ในช่วงเดือนกันยายน ๒๕๕๒ ถึงพฤษภาคม ๒๕๕๓ จึงได้ผลการสำรวจเป็น “แผนที่ไลเคน”

ดร. สรณรัชฎ์กล่าวว่า “เราไม่พบไลเคนในกลุ่มอากาศดีเลย พบเพียงกลุ่มทนทานและทนทานสูง นั่นคือพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มีคุณภาพอากาศระดับ ‘แย่’ ถึง ‘แย่มาก’ มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน บริเวณใจกลางเมือง ใกล้กับถนนใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่ง รวมทั้งแถบชานเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรม จะพบไลเคนกลุ่มทนทานสูงมากเป็นพิเศษ

liken05

liken06

แผนที่ “มองคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ ผ่านไลเคน ๒๐๑๐”
แผนที่ประเมินคุณภาพอากาศจากการลงพื้นที่สำรวจ
การปรากฎตัวของไลเคนชนิดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ
ตั้งแต่กันยายน ๒๕๕๒ ถึงพฤษภาคม ๒๕๕๓
การสำรวจไลเคนเป็นการตรวจสอบคุณภาพอากาศด้วยวิธีการทางชีวภาพ
ใช้เสริมเครื่องดักจับอากาศ เพื่อวิเคราะห์ทางเคมีได้เป็นอย่างดี

“เราพบพื้นที่คุณภาพอากาศแย่กระจายตัวเป็นหย่อมตามลักษณะกิจกรรมในท้องที่ อาทิ บริเวณที่มีการเผาขยะ สนามบิน พื้นที่ติดคลองน้ำเสียซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่ เน่า

“อย่างไรก็ตาม ยังพบพื้นที่คุณภาพอากาศพอใช้จนถึงดีพอใช้ไม่น้อย ในพื้นที่เกษตรกรรมและสวนผลไม้ ชุมชนริมคลองที่รถยนต์เข้าไม่ถึงหรือมีการจราจรไม่หนาแน่น ส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ เช่น เขตคลองสามวา หนองจอก ลาดกระบัง ที่โดดเด่นอีกแห่งได้แก่ด้านตะวันตก เช่น เขตตลิ่งชัน ทวีวัฒนา เรื่อยมาถึงพุทธมณฑล ขณะที่สวนลุมพินี สวนสัตว์ดุสิต และสวนหลวง ร.๙ เป็นพื้นที่คุณภาพอากาศระดับ ‘พอใช้’ ทั้งที่อยู่บริเวณกลางกรุง”

การปรากฏตัวของไลเคน สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ นี้แสดงให้เห็นความความหลากหลายทางชีวภาพบนโลก ทั้งยังเป็นเครื่องเตือนสติว่ามนุษย์เราจะสามารถอยู่ร่วมกับชีวิตอื่น ๆ ได้หรือไม่ เพราะโดยทั่วไปสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษมักเปิดโอกาสให้สิ่งมีชีวิตเพียงไม่กี่ ชนิดดำรงอยู่ได้เท่านั้น