วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

shortdoc03บางฉากในสารคดี เรื่อง เงา : อดีตจากป่า, คนแปลกหน้าที่ขุนยวม

แม้เทศกาลหนังสั้นครั้งที่ ๑๔ จบลงไปแล้วร่วม ๓ เดือน แต่บรรดาหนังสั้นจำนวนมากในเทศกาลครั้งนี้ยังคงติดอยู่ในความทรงจำ  ในฉบับที่แล้ว คุณไกรวุฒิ จุลพงศธร เพื่อนร่วมคอลัมน์ของผม เขียนถึงหนังสั้นในสายรัตน์ เปสตันยี ไปแล้ว ฉบับนี้ผมขอสานต่ออีกสักเล็กน้อยด้วยการพูดถึงบรรดาหนังจากสายดุ๊กซึ่งเป็น สายประกวดสำหรับหนังสารคดีสั้นบ้าง

อันที่จริงแล้วมีสารคดีสั้นจำนวนมากที่น่าสนใจทั้งที่เข้ารอบและไม่เข้ารอบ ในบรรดาสารคดีเหล่านี้ผมขออนุญาตเลือกหยิบเอาหนัง ๓ เรื่องที่แม้ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน (ประเด็นของทั้งสามอยู่กันคนละโลกก็ว่าได้) แต่กลับมีจุดร่วมที่น่าสนใจยิ่ง นั่นคือการใช้สารคดีเป็นเครื่องมือบันทึกความทรงจำชายขอบซึ่งท้ายที่สุดอาจ จะถูกคัดทิ้ง  ความทรงจำที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญเหล่านี้กลับบรรจุประเด็นย้อนแย้งความทรง จำหลักที่ทุกคนมีร่วมกันในนามประวัติศาสตร์อย่างน่าสนใจยิ่ง

เริ่มจาก เงา : อดีตจากป่า, คนแปลกหน้าที่ขุนยวม (ศุภร ชูทรงเดช/นุชจรี ใจเก่ง/ศิริลักษณ์ กัณฑ์ศรี) เรื่องเล่าของทหารญี่ปุ่นสมัยปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของอำเภอขุนยวม  ทหารญี่ปุ่นซึ่งซมซานหนีข้ามมาจากพม่า มาตั้งค่ายอยู่ในลานวัด และเริ่มผูกสัมพันธ์กับชาวบ้านทีละน้อย  จากความน่าสะพรึงของทหารต่างชาติที่โหดเหี้ยมถูกถอดรูปออกจนเหลือแต่มนุษย์ พลัดถิ่นพูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้ กับชาวพื้นเมืองจิตใจอารี และช่วงเวลาสงบงดงามที่พวกเขาอยู่ร่วมกันราวกับไม่เคยมีสงครามมาก่อน  เรื่องทั้งหมดเล่าผ่านปากของบรรดาพ่อเฒ่าแม่แก่ ทั้งคนไทย คนม้ง คนเมือง คนไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในอาณาบริเวณหมู่บ้านนั้น  ความทรงจำที่แต่ละคนมีต่อเหล่าทหารญี่ปุ่นซึ่งไม่ใช่ยักษ์ใช่มารแต่เป็น มนุษย์เหมือน ๆ กัน ความทรงจำที่ถูกคัดทิ้งออกจากหน้าประวัติศาสตร์ ความทรงจำที่อาจจะตายไปพร้อมกับบรรดาพ่อเฒ่าแม่เฒ่าเหล่านั้น ความทรงจำที่เหลือเพียงเพลงไม่รู้ความหมายที่นายทหารเคยสอนแม่เฒ่าร้องเล่น และยังคงกระจ่างชัดอยู่ในความทรงจำ

แม้ตัวสารคดีเองอาจจะเป็นเพียงสารคดีบอกเล่าตรงไปตรงมา ตัดสลับระหว่างบทสัมภาษณ์ชาวบ้านจำนวนมากเข้ากับฟุตเทจหนังข่าวเก่า ๆ กับภาพของพื้นที่ในปัจจุบันขณะ ตามแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในสารคดีที่สร้างฉายทางโทรทัศน์ (และคุณภาพของตัวสารคดีก็สามารถออกฉายทางโทรทัศน์ได้อย่างไม่น้อยหน้าใครเลย ทีเดียว)  แต่การที่ตัวสารคดีเล่นกับประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่เล็กจ้อย และกดประวัติศาสตร์ให้เป็นเพียงส่วนประกอบในความทรงจำที่คนในหมู่บ้านมีต่อ ทหารญี่ปุ่น ทำให้สารคดีเรื่องนี้ไปไกลกว่าการเป็นสารคดีทึ่มทื่อที่มุ่งเล่าเรื่องอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่เพียงถ่ายเดียว

ดังนั้น แทนที่จะมุ่งตามหาที่มาที่ไปของบรรดาทหารญี่ปุ่นในเมืองไทย หนังกลับพุ่งเป้าไปที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ ที่ข้ามพ้นพรมแดนทางกายภาพหรือภาษา หรือแม้แต่สงคราม (ซึ่งแน่นอนนั่นคือสิ่งที่ประวัติศาสตร์จะไม่เสียเวลามาจดจำ)  อันที่จริงหนังปูไว้ตั้งแต่ฉากต้น ๆ เริ่มจากการสำรวจชีวิตชาวบ้านในขุนยวมที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งกะเหรี่ยง ไทใหญ่ หรือม้ง ก่อนที่จะพาเราเข้าสู่เรื่องของทหารญี่ปุ่น การกลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านกลางหุบเขา  ประวัติศาสตร์ส่วนท้องถิ่นเหล่านี้บ่อยครั้งไม่ถูกจดจำไว้ เป็นเพียงตำนานเล่าต่อกันผ่านปากของชาวบ้าน แต่ในที่สุดหนังก็แสดงภาพขยายว่ามันกำลังจะถูกนำมา“ขาย” ด้วยคนรุ่นต่อ ๆ มาที่พยายามจะเปลี่ยนขุนยวมให้เป็นเมืองจำลองของทหารญี่ปุ่นไปเสียฉิบ  ความขัดแย้งที่ผุดโผล่ขึ้นมาในตอนท้ายเรื่องจึงสะท้อนภาพการรับรู้ประวัติ ศาสตร์อันบิดเบือนไปได้อย่างทั้งน่าขันและน่าเศร้า  มันสะท้อนภาพเศร้าเกี่ยวกับว่า สำหรับประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลแล้วนอกจากจะไม่ถูกจดจำมันยังถูกบิดเบือนให้ กลายเป็นอื่น กลายเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวของคนจากที่อื่น ไม่มีใครจดจำหญิงชาวบ้านที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่กินกับทหารญี่ปุ่นแล้วถูกริบ คืนสามีไปสังเวยการแพ้สงคราม หรือไม่มีใครจดจำเพลงที่ทหารญี่ปุ่นเคยสอนหญิงชาวบ้านร้องเล่นกันในคืนเดือน หงาย เพลงที่เธอก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร แต่ยังคงร้องเล่นได้และคงตายไปพร้อมกัน  ไม่มีที่ทางสำหรับประวัติศาสตร์ของคนเล็กคนน้อยเหล่านี้แต่อย่างใด

shortdoc01
บางฉากในสารคดี เรื่อง สมหวัง ๒๕๕๓

ไม่ต่างกันกับความทรงจำที่ผู้กำกับมีต่อโรงหนัง “มงคลรามา” โรงหนังชั้นสองที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นทีมงานมาถ่ายหนังสั้นเรื่อง สมหวัง ๒๕๕๒ ในปีต่อมา เขากลับไปที่นั่นและพบว่าโรงหนังกำลังจะถูกรื้อทิ้ง เขาจึงแบกเอาความทรงจำจาก สมหวัง ๒๕๕๒ ไปสวมทับลงบนโรงหนังเก่าที่กำลังถูกรื้อทำลายและทำมันออกมาเป็น สมหวัง ๒๕๕๓ (นรชาย กัจฉปานนท์)

ตัวหนังดั้งเดิมนั้นเล่าเรื่องของเด็กหนุ่มมาตามหาพ่อในโรงหนังชั้นสอง สถานที่สุดท้ายที่มีคนบอกว่าได้พบกับ “สมหวัง” พ่อของเขา  เด็กหนุ่มเตร่ไปตามซอกหลืบต่าง ๆ ของโรงหนัง พูดคุยกับคนฉายหนัง คนขายตั๋ว คนทำความสะอาด ไปจนถึงสาวประเภทสองที่คอยหาเศษหาเลยหนุ่ม ๆ ในโรง โดยหนังวนเวียนอยู่แต่เพียงในตัวโรงหนังชั้นสอง  หลักฐานเดียวที่เด็กหนุ่มมีก็เพียงรูปเก่าเก็บของพ่อ ซึ่งก็พานมาหายไปเสียเฉย ๆ  สุดท้ายมันจึงเป็นเพียงการตามหาที่ไม่มีวันค้นพบ และมีสัญญาณเศร้า ๆ ว่าอาจจะไม่ได้พบอีกแล้วตลอดกาล

สมหวัง ๒๕๕๓ ก็เป็นการตามหาที่ไม่อาจค้นพบเช่นกัน  ตัวสารคดีคือการพาเด็กหนุ่มที่เคยรับบทใน สมหวัง ๒๕๕๒ กลับมาที่โรงหนังเดิมอีกครั้ง เพียงแต่ว่าในคราวนี้เขาไม่ได้รับบทเดิมอีกแล้ว เขาเพียงเข้ายืนประจำในตำแหน่งที่เขาเคยยืน ยืนอยู่ต่อหน้าโรงหนังที่กำลังล่มสลาย ต่อหน้ากองปูนซากปรักหักพังของที่ที่เคยเป็นช่องขายตั๋ว ห้องฉาย บันได ห้องน้ำ โดยมีเสียงเบื้องหลังการถ่ายทำ สมหวัง ๒๕๕๒ แทรกเข้ามาเล่าเรื่องแทน  เสียงจากความทรงจำของการถ่ายทำหนังซ้อนเข้ามาในภาพซึ่งเป็นการจำลองซ้ำภาพ จากความทรงจำเดิม ต่อหน้าสถานที่ซึ่งไม่ได้มีอยู่แล้ว  กล่าวอย่างง่าย สมหวัง ๒๕๕๓ จึงเป็นสารคดีที่ละเล่นกับความทรงจำที่ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว และมันยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่อคิดเอาว่าตัวเส้นเรื่องดั้งเดิมก็พูดเรื่อง เดียวกันนี้ เรื่องของการตามหาคนในความทรงจำ ซึ่งไม่มีทางได้ค้นพบ  เด็กหนุ่มใน สมหวัง ๒๕๕๒ ไม่ได้พบพ่อของเขา พ่อที่เขาเองก็จำหน้าไม่ค่อยจะได้แล้วด้วยซ้ำ  มาในคราวนี้ เขาไม่ได้มาตามหาพ่อ แต่ตามหาความทรงจำเกี่ยวกับการทำหนัง ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็หามันไม่พบ ในสถานที่ซึ่งเขาเองก็จำแทบไม่ได้ในกองซากปรักหักพังเหล่านี้

ความทรงจำที่หลุดลอยเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหวนกลับ การตามหา (พ่อ/โรงหนัง) ในทางหนึ่งคือรูปแบบของการพาฝันถึงวันชื่นคืนสุข รสขมปร่าของการพลัดพรากชั่วนิรันดร์นั้นที่แท้เป็นร่องรอยของการเสพติดอดีต แสนหวานซึ่งไม่ได้คงอยู่ชั่วนิรันดร์อีกต่อไป

หากภายใต้เรื่องเชิงปัจเจกนี้ สมหวัง ๒๕๕๓ ยังมีนัยยะซ้อนไปอีกชั้น เพราะนอกจากเสียง “เบื้องหลังการถ่ายทำ” อีกเสียงหนึ่งที่แทรกซ้อนเข้ามาคือเสียงบันทึกจากการชุมนุมของมวลชนคนเสื้อ แดงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งเสียงจากข่าววิทยุและเสียงสดจากท้องถนน  เสียงเหล่านี้ซ้อนทับเข้ากับความทรงจำที่หลุดลอยเกี่ยวกับ “สมหวัง” ได้เป็นอย่างดี เพราะภายใต้โครงสร้างเดียวกันเราก็อาจจะบอกว่าหนังเล่าเรื่องของ “เด็กหนุ่มที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาตามหาพ่อที่เขาไม่มีวันพบ พบเพียงเศษซากสถานที่ที่ผู้คนเคยพบพ่อ”  ยิ่งหนังฉายภาพบรรดาคนงานรื้อโรงหนังสวมเสื้อสีแดง หรือทาบฟิล์มสีแดงเข้ากับตัวเด็กหนุ่ม ก็ยิ่งสะท้อนภาพ “ซากปรักหักพัง กลางความเปลี่ยนแปลง” และ “การหวนอาลัยต่อความทรงจำเก่าที่หลุดลอยไปแล้ว” ได้อย่างน่าทึ่ง

shortdoc02บางฉากในสารคดี เรื่อง กาลานุสติ

หากความทรงจำใหม่กลับตราประทับลงในชีวิตของพระป่าใน กาลานุสติ (สิทธิพร ราชา) สารคดีซึ่งเริ่มต้นด้วยการเป็นสารคดีติดตามชีวิตประจำวันของพระรูปหนึ่งที่ จำพรรษาในวัดป่าทางเหนือ  หลวงพี่สนทนาสนิทชิดเชื้อกับสีกาผู้เป็นกะเทยแปลงเพศ  หลวงพี่นั่งรถกระบะไปเที่ยวป่า เอ่ยปากอยากได้ต้นไม้ไปปลูกที่วัด  หลวงพี่นั่งคุยกับพระรูปอื่น ๆ  หลวงพี่เรียกเด็กวัดมาอ่าน มติชนสุดสัปดาห์ ให้ฟัง ตอนนี้เองที่เรื่องราวเริ่มพลิกผันเมื่อหลวงพี่ได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวการ ตายของพี่ชายที่ไปร่วมชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง

เมื่อเทียบกับ ๒ เรื่องก่อนหน้า กาลานุสติ อาจมีรูปแบบที่คลุมเครือที่สุด  หนังอาจดูคล้ายสารคดี แต่ค่อย ๆ คลี่คลายจนเราไม่อาจแน่ใจว่านี่คือสารคดีหรือเรื่องแต่ง  ภาพความสงบของดินแดนห่างไกลที่ไม่น่าจะถูกคุกคามด้วยความขัดแย้งใด ๆ ในตอนแรก ถูกเสียดแทงในช่วงท้ายอย่างรุนแรงและเจ็บปวด  ตัวละครหลักของหนังอาจอยู่ในสมณเพศ (แถมยังเป็นพระที่จำพรรษาอยู่ห่างไกลในแดนกันดารเสียอีก) แต่ไม่ได้หมายความว่าสมณะจะละความรู้สึกแบบปุถุชนออกไปได้  หนังฉายภาพหลวงพี่ทรุดนั่งเงียบเชียบในความมืดนิ่งนาน ทุรนในยามดึกอันโหดร้ายจนต้องวิ่งเตลิดเข้าไปในป่ายามวิกาล

ความทรงจำของหลวงพี่ ของเด็กหนุ่มนักแสดง (หรือของผู้กำกับ) และของชาวบ้านที่ขุนยวม อาจเป็นความทรงจำที่แตกต่างต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดนี้กลับมีจุดร่วมในฐานะความทรงจำจากคนชายขอบ ความเจ็บปวดของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุชุมนุม หรือการดับสูญของโรงหนังชั้นสอง (ซึ่งนัยหนึ่งสะท้อนภาพแทนความฝันเก่า ๆ ของประเทศที่ก่อนหน้านี้ก็เคยทำให้ “สมหวัง” สาบสูญไปแล้ว) และประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลของคนขุนยวม คือสิ่งที่ในที่สุดจะถูกประวัติศาสตร์กวาดลบออกไปจากหน้ากระดาษ เป็นส่วนขยายที่ถูกคัดทิ้ง แต่การบันทึกไว้ของสารคดีทั้ง ๓ เรื่องกลับพาผู้ชมย้อนไปตั้งคำถามสำคัญว่า แล้วประวัติศาสตร์เลือกจดจำอะไร อะไรที่ถูกเก็บรักษาไว้ และอะไรที่ถูกคัดทิ้ง  การคัดสิ่งต่าง ๆ ออกที่แท้แล้วมันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือมันมีการเมืองของการคัดสรรอยู่กันแน่  ที่แท้แล้วภาพเล็ก ๆ เหล่านี้ยืนยันการมีอยู่ของประวัติศาสตร์แบบอื่นใช่หรือไม่ ประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นจากความทรงจำของปัจเจกบุคคลซึ่งมิได้เห็น ด้วย/เห็นตรงกันกับรัฐไปเสียทั้งหมด  หากหนังทั้ง ๓ เรื่องก็ให้ภาพร่วมอีกประการหนึ่งคล้ายคลึงกัน นั่นคือ หากเหล่าคนเล็กคนน้อยจะลงมือเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้ด้วยตนเองละก็ มันคงมีชื่อเรียกรวม ๆ เพียงชื่อเดียวว่า “ประวัติศาสตร์แห่งความพลัดพราก”