วรุณพร พูพงษ์ : รายงานและถ่ายภาพ

เขื่อนไซยะบุรี ความต้องการของใคร?แก่งหินขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ
เป็นแหล่งหากินของชาวบ้าน และเป็นเขื่อนที่ธรรมชาติสร้างขึ้น

การล่องเรือสำรวจแม่น้ำโขงในประเทศลาวจากเมืองหลวงพระบางถึงจังหวัดไซยะบุรี พบว่ามหานทีสายนี้ยังคงรุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติเปรียบเสมือนเส้นเลือด ใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิต ทั้งเป็นแหล่งหลอมรวมวัฒนธรรมของคนลุ่มน้ำโขงอย่างไม่สามารถแยกออกจากกัน ได้  แต่หากการสร้างเขื่อนเสร็จสิ้นแม้เพียง ๑ แห่ง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแม่น้ำโขงและวิถีของทุกชีวิตที่พึ่งพิงลำน้ำสายนี้

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่าโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างจะมีขึ้น ๑๒ แห่ง เริ่มต้นจากเขื่อนปากแบงตั้งอยู่ในประเทศลาวทางตอนล่างของจังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โดยบริษัทของจีน  ถัดลงมาคือเขื่อนหลวงพระบางโดยบริษัทปิโตรเวียดนาม  จากนั้นคือเขื่อนไซยะบุรีซึ่งบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย ได้ทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมส่งถึงรัฐบาลลาวเป็นที่เรียบร้อย แล้ว  ส่วนเขื่อนปากลายและเขื่อนสานะคามในเขตลาวกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโดย บริษัทของจีน  ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่ประเทศไทยในเขตจังหวัดเลยซึ่งก็เป็นจุดที่จะมี การสร้างเขื่อนปากชมและเขื่อนบ้านกุ่มที่อำเภอโขงเจียม อุบลราชธานี ก่อนจะไหลเข้าสู่ลาวอีกครั้งโดยจะมีการสร้างเขื่อนอีก ๓ แห่ง คือ เขื่อนลาดเสือ ดอนสะฮอง และท่าโก  ส่วนอีก ๒ แห่งจะสร้างบริเวณที่ไหลผ่านประเทศกัมพูชา คือเขื่อนสตึงเตรงและเขื่อนซำบอ  หากเขื่อนทั้ง ๑๒ แห่งเกิดขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงราว ๒ ล้านคน รวมถึงระบบนิเวศและพันธุ์ปลาต่างๆ

zyyaburi02
อาชีพหลักของชาวบ้านลุ่มน้ำโขงคือการทำประมง

zyyaburi03
แหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของชาวบ้านโดยเครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก กำลังการผลิตขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง

เขื่อนไซยะบุรีเป็น ๑ ใน ๑๒ โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)ประเทศไทย  ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการล่าสุดเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจด้านราคาไฟฟ้า (MOU) ระหว่างบริษัท ช.การช่าง กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยมี พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงานของไทย และ สมสวาด เลงสวัด รองนายกรัฐมนตรีลาว เป็นประธานในพิธี โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า ๒.๑๕๙ บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงตลอดระยะเวลาสัมปทาน

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ๑,๑๒๐ เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในปี ๒๕๖๓ โดยมีสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนซึ่งอยู่ในแขวงไซยะบุรีสู่ชายแดนไทยที่จังหวัดเลย เป็นระยะทาง ๒๒๐ กิโลเมตร โดย ช.การช่างระบุว่าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนระดมทุนและเตรียมการ  คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี ๒๕๕๕ ใช้เวลาก่อสร้าง ๘ ปี

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าการลงนามรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวเท่ากับว่าไทยสนับสนุนให้มีการสร้าง เขื่อนในแม่น้ำโขง ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านริมน้ำโขงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการก่อสร้าง เขื่อนในแม่น้ำโขงในประเทศจีน โดยเฉพาะระบบนิเวศและระดับน้ำที่ผันผวนทำให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้งผิด ธรรมชาติ  ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดคือการปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา ซึ่งพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง ๑,๓๐๐ ชนิดส่วนใหญ่เป็นปลาอพยพที่จะว่ายขึ้นมาวางไข่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง

“ก่อนลงนามตัดสินใจสร้างเขื่อนไซยะบุรีหรือเขื่อนใดๆ ในแม่น้ำโขง ควรมีการศึกษาข้อมูลที่รอบด้านและชัดเจน โดยเฉพาะผลกระทบต่อชุมชนริมน้ำ ๖๐ ล้านคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ๔ ประเทศ ควรมีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านและเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมอย่างแท้ จริง” สมเกียรติกล่าว

เขื่อนไซยะบุรีตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงกิโลเมตรที่ ๑,๙๓๑ พื้นที่หัวงานของเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านปากเนียม ผาแดง และแก่งหลวง  จากการสำรวจพบว่าบริเวณที่คาดว่าจะเป็นสันเขื่อนคือบริเวณแก่งหลวง ซึ่งเป็นแก่งหินขนาดใหญ่ วางตัวสลับซับซ้อน มีความยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร  แก่งหลวงเปรียบเสมือนเขื่อนขนาดใหญ่ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น การสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะต้องระเบิดแก่งน้อยใหญ่รวมทั้งแก่งหลวงนี้ด้วย

ผลกระทบต่อธรรมชาติและชาวบ้านตลอดลุ่มน้ำโขงหลังการสร้างเขื่อนไซยะบุรีคือ ด้านเหนือเขื่อนจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำความยาว ๙๐-๙๕ กิโลเมตร น้ำจะท่วมแก่ง ดอน และหาดทราย ซึ่งในฤดูแล้งชาวบ้านจะไม่สามารถปลูกพืชผักได้เลย รวมทั้งทำให้ความเร็วของกระแสน้ำลดลง ส่งผลให้เกิดตะกอนทับถมวังปลาและแก่งต่างๆ ทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถพักพิงและเพาะพันธุ์ในบริเวณดังกล่าวได้

จะเห็นได้ว่าการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นการลงทุนโดยบริษัทของประเทศไทย รับซื้อไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือประชาชนบริเวณลุ่มน้ำโขงทั้งหมด โดยเฉพาะชาวบ้านบริเวณหัวงานเขื่อนที่ต้องอพยพย้ายบ้านเรือนที่อยู่มากว่า ๑๐๐ ปี

อดีตผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดไซยะบุรีที่ได้รับผลกระทบเล่า ว่า เขาได้ข้อมูลจากบริษัทฯ ที่ลงสำรวจพื้นที่ว่าพวกเขาต้องย้ายหมู่บ้านและปลูกกระท่อมอยู่ แต่ชาวบ้านต่างไม่เห็นด้วยและเสนอว่าหากพวกเขาต้องย้ายจริงๆ จะต้องมีการปลูกบ้านและขนย้ายสิ่งของให้ด้วยเพราะบ้านเรือนของชาวบ้านต่าง สร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรง อยู่มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  ท้ายที่สุดคำตอบที่ชาวบ้านได้รับคือจะได้บ้านและที่ทำกินใหม่แต่ยังไม่ระบุ พื้นที่ที่แน่นอน

อาชีพของชาวบ้านโดยส่วนใหญ่คือการหาปลา ปลูกไม้สัก และร่อนทองคำ  หากมีการสร้างเขื่อนชาวบ้านส่วนใหญ่จะกลายเป็นคนงานรับจ้าง ในเรื่องของการหาปลาก็จะมีกำหนดช่วงเวลาและบริเวณที่จับปลาได้ ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน  สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไป ทันทีที่การสร้างเขื่อนเริ่มต้นขึ้น

หมู่บ้านปากเฮา เมืองท่าเรือ จังหวัดไซยะบุรี เป็นอีกแห่งที่พึ่งพาตนเองโดยใช้น้ำจากแม่น้ำโขงผลิตไฟฟ้าใช้เองมากว่า ๑๐ ปี โดยใช้เครื่องปั่นไฟที่ประดิษฐ์ขึ้นเองอย่างง่ายๆ  กำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งหากสร้างเขื่อนสำเร็จปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะไม่คงที่อันจะส่งผลกระทบต่อ การผลิตไฟฟ้าของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านกลับมีความหวังเมื่อทราบข่าวการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเพื่อผลิต ไฟฟ้า โดยที่ไม่รู้เลยว่าเขื่อนดังกล่าวผลิตไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย

หากการสร้างเขื่อนสำเร็จแม้เพียง ๑ แห่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างไม่อาจเรียกคืนได้ ทั้งต่อวิถีชีวิต วิถีชุมชนคนลุ่มน้ำโขง รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง หาญณรงค์ เยาวเลิศ อนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า พื้นที่ตลอดลุ่มน้ำโขงมีทั้งเกาะแก่งและชุมชนที่อาศัยอยู่เกือบตลอดแนว มีพื้นที่ทำกินที่จำกัด การสร้างเขื่อนใดเขื่อนหนึ่งในแม่น้ำโขงย่อมกระทบต่อชุมชนอย่างแน่นอน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของการเดินเรือทั้งการสัญจรและการประมง  ส่วนผลกระทบต่อประชาชนริมแม่น้ำโขงในประเทศไทยนั้นได้รับผลกระทบทางตรงอย่าง แน่นอน เพราะกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางเนื่องจากมีการปิด-เปิดประตูน้ำที่ไม่เป็นไปตาม ธรรมชาติ

“หากมีการสร้างเขื่อนครบทั้ง ๑๒ แห่ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่แต่ละแห่งจะสามารถตกลงกันได้เรื่องการปล่อยน้ำ ดังนั้นไม่สมควรมีการสังฆกรรมกันทำลายแม่น้ำโขงอีก” หาญณรงค์กล่าว

ขอขอบคุณ : โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต, สายการบินลาว