สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

อำนาจ รัตนมณี (หนุ่ม หนังสือเดินทาง) เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง

สัมภาษณ์มิตรรักสารคดี – อำนาจ รัตนมณี (หนุ่ม หนังสือเดินทาง) เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง

“ตอนผมเรียนมัธยมปลาย ที่ห้องสมุดโรงเรียนจะมี อนุสาร อ.ส.ท. วางใกล้กับนิตยสาร สารคดี  ตามประสาเด็กใต้ที่เห็นทะเลทุกวันก็อยากเห็นดอยเห็นหมอก ก็จะชอบเปิดดูรูปใน อ.ส.ท. เสร็จแล้วก็เปิด สารคดี เพราะมีรูปแปลกๆ ให้ดูเหมือนกัน รู้จัก สารคดี ก็วันนั้นเอง ความรู้สึกที่มีต่อ สารคดี ตอนนั้นแม้มีอารมณ์ของธรรมชาติอยู่เยอะ แต่ก็รู้สึกได้ว่าไปไกลกว่าเรื่องเที่ยว เห็นครั้งแรกก่อให้เกิดอารมณ์ของการค้นหาและการผจญภัยอย่างบอกไม่ถูก อย่างเรื่องนกเงือกแห่งเทือกเขาบูโด นิตยสารเล่มอื่นอาจบอกแค่ว่าที่นี่มีนกเงือกให้เห็น แต่ สารคดี มีรูปอาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ กับทีมงานที่ทำวิจัยนกเงือกอยู่ในป่าเพื่อศึกษาว่านกเงือกอยู่อย่างไร  เหมือน สารคดี เอาความลับและเบื้องหลังใหม่ๆ มาเปิดเผยให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ  การให้คนอ่านเห็นสิ่งที่ปรกติมองไม่เห็นหรือไม่มีโอกาสเห็น ทำให้ สารคดี ต่างจากนิตยสารเล่มอื่น  มันยกเราไปอีกระดับ จนรู้สึกว่าหากสนใจเรื่องอะไรอยู่แล้วบังเอิญ สารคดี ทำเรื่องนั้นพอดีก็ซื้อไปเถอะไม่ผิดหวัง เล่มที่สนใจก็มีอยู่หลายเล่ม เช่น นักรบชายขอบ อาจารย์ป๋วย สืบ นาคะเสถียร ข้าวไทย  ทั้งหมดไปตามซื้อย้อนหลังจากร้านหนังสือมือสองแถวจตุจักร  เล่มสืบเขาขายแพงทีเดียว

การที่ สารคดี อยู่มานาน ๒๕ ปีเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในขณะเดียวกัน  จุดแข็งคือเมื่อเทียบกับนิตยสารเกิดใหม่ สารคดี ไม่ต้องลำบากในการหาพื้นที่ให้ตัวเองแล้ว  ๒๕ ปีที่อยู่มาถือได้ว่า สารคดี มีบุคลิกชัดเจน นึกถึง สารคดีก็นึกออกว่าคืออะไร  แต่ขณะเดียวกันจุดแข็งก็เริ่มกลายเป็นจุดอ่อนเมื่อสภาพสังคมไทยตอนนี้มีสื่อหลากหลายรูปแบบ ตลาดหนังสือเปลี่ยนไป มีนิตยสารใหม่เกิดขึ้นมาก โฆษณามีผลต่อเนื้อหาและรายได้ของนิตยสาร ซึ่งยากต่อการดำรงอยู่ของนิตยสารทุกเล่ม  เมื่อเป็นเช่นนี้แม้ยืนมาได้ ๒๕ ปี แต่ในบางมิติ สารคดี ก็อาจต้องปรับปรุง อะไรที่เคยใช้ได้ผลเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้อาจใช้ไม่ได้แล้ว

ที่ผ่านมาปก สารคดี คล้ายๆ จะมีแบบเดียวมานาน คือถ้าเรื่องสัตว์ต้องประมาณนี้ เรื่องบุคคลสำคัญต้องแบบนั้น  ไม่ใช่ไม่ดี แต่มันคล้ายกันจนเหมือน สารคดี เป็นคนที่หัวเราะไม่ค่อยเป็น  สารคดี ต้องกล้าปรับรูปแบบให้แปลกหูแปลกตาบ้าง ลองทำแบบแปลกๆ เป็นธรรมเนียมเป็นเล่มพิเศษปีละเล่มก็ยังดี  ดีไม่ดีอาจกลายเป็นเล่มที่คนตามสะสม  หน้าปกไม่จำเป็นต้องเป็นภาพถ่ายเสมอ อาจใช้กราฟิกผสมบ้างก็ได้ถ้ามันดูแปลกใหม่และสื่อความหมายได้เหมือนกัน  มีนิตยสารวัยรุ่นเล่มหนึ่งทำเรื่องคานธี เล่มนั้นผมซื้อเก็บทั้งที่ไม่ใช่
แฟนคลับเขา ซื้อเพราะปกสวย ซื้อทั้งที่รู้ว่าถ้า สารคดี ทำในแง่เนื้อหานั้นย่อมทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว

สำหรับคุณภาพเนื้อหา ผมไม่คิดว่าต้องปรับให้เบาลง เพราะจุดแข็งของ สารคดี คือเนื้อหา ที่รู้สึกชัดรวมทั้งเก็บความจากหลายคนในร้านหนังสือ คือความตื่นเต้นกับสกู๊ปหลักดูจะน้อยลง  เมื่อคนอ่านโตขึ้น ความสนใจคงเปลี่ยน  สมมุติว่าคนคนหนึ่งเริ่มอ่าน สารคดี ฉบับแรกตอนอายุ ๒๕ ตอนนี้เขาก็อายุ ๕๐ แล้ว  ช่วงหนึ่งอาจตื่นเต้นกับบัวผุด กระซู่ แต่วันนี้อาจไม่ใช่  แถมเมื่ออ่านมานานยังเริ่มเดาทางได้  ที่ผ่านมารู้สึกได้ว่า สารคดี พยายามเปิดประเด็นใหม่ๆ ที่ไกลออกไปจากป่าเขา เพียงแต่ภาพการเป็นนิตยสารเพื่อสิ่งแวดล้อมยังคงชัดเจนมาก  ยิ่งมีนิตยสารใหม่ๆ มาแชร์กลุ่มคนอ่าน ก็จำเป็นต้องคิดมากขึ้นว่าทำอย่างไรจะรักษาคนอ่านกลุ่มเดิมไว้ได้ ขณะเดียวกันจะสร้างคนอ่านกลุ่มใหม่มาแทนกลุ่มคนอ่านสูงวัยที่นับวันจะน้อยลงได้อย่างไร”