สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.fringer.org

คน (ไม่) สำคัญ -  คาร์ล มาร์กซ์ - นักคิดผู้รณรงค์ “ศีลธรรมสากล” โดยไม่ตั้งใจ

ชื่อของคน (ไม่) สำคัญประจำเดือนนี้อาจทำให้หลายท่านเลิกคิ้วด้วยความฉงน นักคิดชื่อกระฉ่อนอย่าง คาร์ล มาร์กซ์ น่ะหรือ คน (ไม่) สำคัญ? นักคิดที่ทรงอิทธิพลขนาดมาร์กซ์มีอะไรที่ยัง (ไม่) สำคัญอีกหรือ?

ไม่ว่าคุณจะเป็นคอการเมืองหรือคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เสียเวลาทำมาหากิน คุณก็คงเคยได้ยินชื่อ คาร์ล มาร์กซ์(Karl Marx  ค.ศ. ๑๘๑๘-๑๘๘๓) มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะในภาวะความขัดแย้งทางการเมืองร้อนแรงแบ่งขั้ว ที่ทั้งสองขั้วต่างป้ายสีอีกขั้วหนึ่งว่า “เลว” และพยายามชักจูงให้คนเชื่อว่าทุกคนต้องเลือกอยู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง เพราะ “พื้นที่ตรงกลาง” ที่มีเหตุผลและคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะนั้นไม่มีอยู่จริง

ในประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่ระบอบทุนนิยมถือกำเนิดไม่ถึง ๔๐๐ ปีก่อน ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ที่แหลมคมและส่งผลกว้างไกลที่สุดหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่าง “ทุนนิยม” กับ “สังคมนิยม” ซึ่งฝ่ายหลังมีมาร์กซ์กับสหายของเขาคือ ฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels  ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๙๕) เป็นหัวหอกสำคัญ  อุดมการณ์ทั้งสองขั้วต่างประสบชะตากรรมไม่ต่างกับอุดมการณ์อื่นๆ ในอดีตที่ตกเป็นเครื่องมือหรือเป้าหมายในการเคลื่อนไหวทางการเมือง นั่นคือ ต่างฝ่ายต่างถูกป้ายสีและบิดเบือนโดยคนที่อยู่ขั้วตรงข้าม ให้คนเชื่อว่าอีกฝ่ายนั้น “เลวบริสุทธิ์” หรือไม่ก็ “เปล่าประโยชน์” โดยสิ้นเชิง เพื่อโน้มน้าวให้คนเลือกขั้วของตน ซึ่งแน่นอนว่าถูกประโคมว่า “ประเสริฐ” และ “ดีที่สุดแล้ว” เท่าที่มนุษย์จะมีปัญญาคิด

แนวคิดของมาร์กซ์ถูกป้ายสีทำนองนี้โดยนักคิดขั้วทุนนิยมตลอดมา โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น ทำให้ความคิดบางส่วนของมาร์กซ์ที่ยังน่าคิด ช่วยคนได้ และใช้การได้ดีในยุคโลกาภิวัตน์ต้องถูกละเลยตลอดมาอย่างน่าเสียดาย

ผู้เขียนมิบังอาจอวดอ้างว่ารู้เรื่องมาร์กซ์ดีพอที่จะเขียนเรื่องมาร์กซ์อย่างเป็นระบบ แต่วันนี้อยากเสนอความคิดสำคัญของมาร์กซ์ที่คนจำนวนมากมองว่าไม่สำคัญ รวมทั้งมาร์กซิสต์หลายคนด้วย

แนวคิดที่ว่านั้นคือ “ศีลธรรมสากล” ในมุมมองของมาร์กซ์ ซึ่งงอกออกมาจากภาพ “สังคมในอุดมคติ” ของเขา อันเป็นภาพที่ยังคงสร้างแรงบันดาลใจไม่เสื่อมคลาย และทำให้ความคิดของมาร์กซ์ไม่มีวันตายตราบใดที่ยังมีความอยุติธรรมในสังคม

เมื่อเอ่ยคำว่า “ศีลธรรม” ผู้นิยมมาร์กซ์คงประท้วงว่าผู้เขียนเอาอะไรมาพูด เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ามาร์กซ์ปฏิเสธ
ศีลธรรมจริยธรรมทุกชนิดมิใช่หรือ ?

ถ้าท่านมีคำถามทำนองนี้ ก็ขอให้ท่านเก็บคำถามไว้ในใจ ลบภาพของมาร์กซ์ที่เคยรับรู้ออกไปก่อน

มุมมองที่ว่ามาร์กซ์ปฏิเสธวาทกรรมทางศีลธรรมทุกชนิด และแม้กระทั่งอุดมคติที่หลายคนบอกว่าเป็น “สากล” อาทิ “เทพีแห่งความยุติธรรม เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ” ในคำพูดของเขานั้น เป็นตำนานที่มีหลักฐานยืนยันมากมายในข้อเขียนของมาร์กซ์เอง เช่นเขายืนกรานว่าคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงนั้น “จะไม่เทศนาเรื่องศีลธรรมเลย” และบอกว่าวาทกรรมทางศีลธรรมล้วนเป็น “ขยะเชิงอุดมการณ์” (ideological rubbish) ทั้งสิ้น  มาร์กซ์มองว่ากฎหมาย ศีลธรรม และศาสนานั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าอคติของชนชั้นกระฎุมพี เป็นอุดมการณ์ทางสังคมชนิดหนึ่งที่แยกออกจากบริบททางสังคมไม่ได้ ไม่มีเนื้อหาสาระอะไรจริงๆ และตอบสนองประโยชน์ทางชนชั้นของกระฎุมพีเท่านั้นเอง  ในระดับที่กว้างที่สุด มาร์กซ์มองว่าศีลธรรมใดๆ ก็ตามไม่มีทางเป็นภววิสัยหรือสากลได้ เพราะมันย่อมเป็น “ผลผลิต” ของยุคใดยุคหนึ่งและชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเสมอ ซึ่งในสมัยของมาร์กซ์หมายถึงยุคทุนนิยมและชนชั้นกระฎุมพี  ดังนั้นมาร์กซ์จึงบอกว่าเราไม่ควรไว้ใจหรือทำตามชุดศีลธรรมใดๆ  และชนชั้นกรรมาชีพผู้เป็นคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงจะไม่เคลื่อนไหวเพื่อบรรลุซึ่งอุดมคติหรือหลักการอะไรบางอย่าง (เช่น “นำความยุติธรรมมาสู่สังคม”) แต่จะเคลื่อนไหวในฐานะที่เป็น “ธรรมชาติ” ของผู้ถูกกดขี่ที่ย่อมต้องการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองมาจากผู้กดขี่

แต่ในขณะเดียวกัน งานของมาร์กซ์ก็เป็นมากกว่าชุดคำอธิบายวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ซึ่งมาร์กซ์อธิบายแบบวิทยาศาสตร์ และเป็นมากกว่าคำพยากรณ์ว่าระบอบคอมมิวนิสต์จะเกิดขึ้นในที่สุดโดยไม่ต้องยึดอุดมการณ์ทางศีลธรรมใดๆ  เพราะถึงที่สุดแล้ว ความคิดของมาร์กซ์เป็นเสียงประท้วงต่อต้านระบบที่เขามองว่าป่าเถื่อนและโหดร้าย เป็นเสียงเรียกร้องโลกที่มีมนุษยธรรมและเป็นธรรมกว่าในอดีต และดังนั้นจึงเต็มไปด้วยมิติทางศีลธรรม เช่น สมมุติฐานเกี่ยวกับ “ชีวิตที่ดี” ของมนุษย์ ถึงแม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ยอมรับว่าความคิดของเขามีแง่มุมทางศีลธรรมใดๆ

อนุสาวรีย์ คาร์ล มาร์กซ์ และฟรีดริช เองเกลส์ ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

Das Kapital หรือ Capital ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี ๑๘๖๗

ถ้าเราตั้งคำถามว่า สาเหตุที่มาร์กซ์ประณามระบอบทุนนิยมและเชิดชูระบอบคอมมิวนิสต์คืออะไร  ก็มี ๒ คำตอบที่เป็นไปได้ถ้าดูจากข้อเขียนของเขา คือ หนึ่ง มาร์กซ์ประณามระบอบทุนนิยมเพราะมันกีดขวางการบรรลุศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ (self-actualization) ขณะที่ระบอบคอมมิวนิสต์จะทำให้เราบรรลุได้  หรือสอง มาร์กซ์ประณามระบอบทุนนิยมและเชิดชูระบอบคอมมิวนิสต์ด้วยการใช้มาตรฐานเกี่ยวกับ “ความยุติธรรม” อะไรบางอย่างเป็นไม้บรรทัดวัด

ประเด็นก็คือเราต้องประสานคำตอบที่เป็นไปได้ทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน ถึงจะได้คำตอบที่สมบูรณ์และไม่ขัดแย้งกัน (การที่ข้อเขียนของมาร์กซ์จำนวนไม่น้อยขัดแย้งกันเอง ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจมาร์กซ์จากการอ่านข้อเขียนของเขาแบบตรงตัวอักษรโดยไม่ตีความและไม่ใช้ตรรกะเรียบเรียง)  กล่าวคือ มาร์กซ์ประณามทุนนิยมเพราะมันเป็นระบบที่จัดสรรทรัพยากร (ประเด็นเรื่องความยุติธรรม) ที่จำเป็นต่อการบรรลุศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ (ประเด็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์) ในทางที่ไม่เท่าเทียมอย่างร้ายกาจ  เขาชื่นชอบระบอบคอมมิวนิสต์เพราะระบอบนี้ต้องการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต่อการบรรลุศักยภาพของมนุษย์ในทางที่เท่าเทียมกัน มาร์กซ์อยากให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการบรรลุศักยภาพของตัวเอง เพื่อจะได้ใช้ชีวิตที่คุ้มค่าและมีความหมายทัดเทียมกัน

ข้อเขียนของมาร์กซ์เต็มไปด้วยความรู้สึกโกรธต่อระบบที่เขามองว่าลดทอนคุณค่าของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นใน
Economic and Philosophical Manuscripts (๑๘๔๔)  เขาต่อต้าน “ต้นทุนมนุษย์” ของการผลิตแบบทุนนิยมด้วยการกล่าวว่า

“จริงอยู่ที่การใช้แรงงานผลิตของดีๆ ให้คนรวย แต่สำหรับคนงาน มันมอบแต่ความขาดแคลนแร้นแค้น  แรงงานผลิตวังให้คนรวย แต่ผลิตกระต๊อบให้คนงาน  ผลิตสิ่งสวยงามให้คนรวย แต่ผลิตสิ่งพิกลพิการให้คนงาน  มันใช้เครื่องจักรมาแทนที่คนงาน แต่โยนคนงานกลุ่มหนึ่งกลับไปใช้แรงงานอย่างป่าเถื่อน และทำให้คนงานอีกกลุ่มหนึ่งกลายเป็นเครื่องจักร  มันผลิตความปราดเปรื่องให้คนรวย แต่ผลิตความโง่เขลาเบาปัญญาให้คนงาน”

ในหนังสือของเขาที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Capital (๑๘๖๗)  มาร์กซ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลดคุณค่าของชนชั้นกรรมาชีพเป็นสาเหตุหลักที่เขาประณามระบอบทุนนิยม ดังในประโยค

“การสะสมความมั่งคั่งในขั้วหนึ่ง…ในขณะเดียวกันเป็นการสะสมความทุกข์ยากแร้นแค้น ภาวะทาส ความโง่เขลา ความโหดร้ายทารุณ และการบั่นทอนสุขภาพจิตในขั้วตรงข้าม…”

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่ามาร์กซ์เองจะไม่เห็นด้วย เราสามารถสาวความคิดของเขาทั้งหมดกลับไปถึงคำถามเก่าแก่ทางศีลธรรมข้อหนึ่ง นั่นคือ “ชีวิตที่ดี” ประกอบด้วยอะไรบ้าง?  มนุษย์ควรใช้ชีวิตอย่างไร?  เงื่อนไขอะไรบ้างที่เอื้ออำนวยให้มนุษย์อยู่ดีมีสุข?

“สังคมคอมมิวนิสต์” ในความคิดของมาร์กซ์ เกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับภาพ “ชีวิตที่ดี” ในความคิดของเขา  มาร์กซ์ฉายภาพว่า “ในสังคมคอมมิวนิสต์ สมาชิกแต่ละคนไม่มีใครทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เขาจะทำทุกอย่างที่เขาอยากทำได้ดี  สังคมควบคุมการผลิตโดยรวม ทำให้ผมสามารถทำอย่างหนึ่งวันแรกและอีกวันหนึ่งก็ทำอีกอย่าง  ล่าสัตว์ตอนเช้า ตกปลาตอนกลางวัน เลี้ยงวัวตอนเย็น โดยไม่ต้องเป็นนักล่าสัตว์ ชาวประมง หรือนักทำปศุสัตว์โดยอาชีพ”

สตีเวน ลุกส์ (Steven Lukes) นักปรัชญาและนักสังคมศาสตร์ รวบรวมข้อเขียนของมาร์กซ์ที่ประณามทุนนิยมด้วยเหตุผลว่ามัน “ไร้มนุษยธรรม” ไว้อย่างดีเยี่ยมในหนังสือเรื่อง Marxism and Morality (๑๙๘๕) โดยลุกส์ชี้ให้เห็นว่า ความคิดของมาร์กซ์และข้อเสนอต่างๆ ของเขาเป็นเหตุเป็นผลก็ต่อเมื่อเรามองมันในกรอบอุดมคติของมาร์กซ์เองว่า “ชีวิตที่ดี” นั้นควรเป็นเช่นใด  ลุกส์บอกว่า

“[เราต้องมองเห็นอุดมคติของมาร์กซ์เกี่ยวกับ ‘ชีวิตที่ดี’ จึงจะเข้าใจ] ข้อความใน Capital เกี่ยวกับ ‘ประโยชน์ส่วนตนโจ๋งครึ่มและการจ่ายเงินสดอย่างใจดำ’ ‘การกดขี่’ ‘การลดศักดิ์ศรีส่วนตัว’ ‘การสะสมความลำเค็ญ’ ‘การบั่นทอนทั้งกายและใจ’ ‘การเอาเปรียบตรงๆ ที่โหดร้ายและไร้ยางอาย’ ‘การที่ทุนทำให้คนเป็นทาส’ ‘การกดขี่’ …‘การทรมาน’ และ ‘ความโหดร้าย’ ของการทำงานหนักเกินควร  การที่ทุนใช้แรงงานอย่าง ‘สิ้นเปลืองและฟุ่มเฟือย’ และ ‘ใช้ทุนมนุษย์อย่างมือเติบ’ และบังคับ ‘การเสียสละของมนุษย์อย่างไม่หยุดหย่อน’ (Marxism and Morality, หน้า ๑๑)

มาร์กซ์ประณามทุนนิยมเพราะเขามองว่ามันกีดกันคนงานไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่หลากหลายและบรรลุศักยภาพ นั่นคือ ความเป็นอิสระ ความเป็นชุมชน เวลา และความมั่นคงในทรัพย์สิน  ด้วยเหตุนั้น มาร์กซ์จึงมีจุดยืนทางศีลธรรมเช่นเดียวกับชนชั้นกระฎุมพีในระบอบทุนนิยมที่เขาเกลียดชัง แต่เป็นจุดยืนทางศีลธรรมที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “สากล” และ “เป็นกลาง” กว่า ไม่ยึดโยงกับอุดมการณ์หรือความเชื่อทางชนชั้นใดๆ ซึ่งก็เป็นจุดยืนที่มาร์กซ์เองมองว่าเป็นไปไม่ได้

ลุกส์อธิบายอย่างชัดเจนใน Marxism and Morality ว่า คำกล่าวอ้างของมาร์กซ์ที่ว่าสังคมคอมมิวนิสต์คือสังคมที่ “ข้ามพ้น” (transcend) ศีลธรรมทุกประเภทไปแล้วนั้น เป็นคำกล่าวที่ขัดแย้งในตัวเองและไม่มีวันเป็นจริง เนื่องจากไม่มีสังคมไหนในโลกสามารถหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ซึ่งจำเป็นต่อการจัดการกับความขัดแย้งทางสังคมและจริยธรรม ไม่ว่าสมาชิกในสังคมนั้นๆ จะ “บรรลุ” ไปแล้วมากเพียงใด  ดังนั้นลุกส์บอกว่าสังคมที่ “สูงส่งกว่า” ในความคิดของมาร์กซ์นั้นไม่มีวันเป็นจริงได้ จนกว่ามาร์กซิสต์จะยอมรับว่าพวกเขามีจุดยืนและเป้าหมายทางศีลธรรม

ด้วยเหตุนี้ ศีลธรรม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นภาพลวงตาและอคติของชนชั้นในบางยุคสมัยจริงๆ จึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ดังที่มาร์กซ์เองแสดงให้เห็นแต่ปฏิเสธที่จะยอมรับ

ถ้ามาร์กซ์ยอมรับว่าภาพของสังคมคอมมิวนิสต์ในอุดมคติของเขามีมิติทางศีลธรรม เขาก็อาจจะเห็นชุด “ศีลธรรมสากล” ที่สร้างฐานอันแข็งแกร่งให้แก่สังคมนี้  และถ้ามาร์กซ์ทำอย่างนั้น เขาก็อาจพัฒนาความคิดมาเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สังคมในอุดมคติของเขาไม่แตกต่างมากนักจากสังคม “ธัมมิกสังคมนิยม” ในมโนทัศน์ของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งท่านอธิบายในหนังสือชื่อเดียวกันไว้ว่า

“…โลกจะต้องมีระบบการปกครองที่ไม่เห็นแก่ตัวคน และให้ประกอบไปด้วยธรรมะ…ไม่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ก็เรียกไว้ทีก่อนว่า ระบบธัมมิกสังคมนิยม.  สังคมนิยม ก็แปลว่า เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ ไม่เห็นแก่ตัวเอง …แล้วการเห็นแก่สังคมนั้นต้องถูกต้องด้วย ; เพราะว่าผิดก็ได้เหมือนกัน. การเห็นแก่สังคมผิดๆ ก็คุมพวกไปปล้นคนอื่น หาประโยชน์มาให้แก่พวกตัวนี้ มันก็ผิด ก็เลยต้องใช้คำว่า ‘ธัมมิก’ ประกอบอยู่ด้วยธรรมนี้เข้ามานำหน้าไว้ว่า ธัมมิกสังคมนิยม-ระบอบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก และประกอบไปด้วยธรรมะ.”

ในหนังสือเล่มเดียวกัน ท่านพุทธทาสภิกขุยังเขียนอธิบายว่า ความเลวร้ายของสังคมสมัยมาร์กซ์ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเหตุใดเขาถึงปฏิเสธศาสนาและศีลธรรม

“…ชนชั้นปกครองในขณะนั้น ก็ไม่ประกอบไปด้วยธรรม, …แม้แต่ศาสนาก็ไม่เป็นที่พึ่ง เพราะว่าละทิ้งคุณค่าอันแท้จริงของศาสนาเสียหมดแล้ว ; ฉะนั้น เราจึงยอมรับว่า มันก็จำเป็นที่จะต้องเป็นอย่างนั้น มันทำได้ดีเพียงเท่านั้น ที่มนุษย์ในโลกนี้ จะมีระบบสังคมนิยมขึ้นมาแก้ปัญหาชนิดรุนแรงด้านเดียว. มันไม่ใช่ระบบสังคมนิยมของพระเจ้า ; แต่เป็นระบบสังคมนิยม ตามความนึกคิดของคนบางคน ในลักษณะที่เป็นสัจจา-ภินิเวส ไม่สูงสุดถึงธรรมสัจจะของธรรมชาติเลย.”

ในภาวะที่คนส่วนใหญ่ยังละเลยหรือละทิ้งศาสนาและศีลธรรม คงไม่น่าแปลกใจที่ความ (ไม่) สำคัญของ คาร์ล มาร์กซ์ จะเป็นเรื่องเดียวกันกับความ (ไม่) สำคัญของ อดัม สมิท (Adam Smith) บิดาแห่งทุนนิยมซึ่งอยู่คนละขั้วกับเขา นั่นคือ มิติทางศีลธรรมซึ่งจำเป็นต่อการเอื้ออำนวยให้เกิดสังคมที่ดีไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบใด และเป็นมิติที่ทำให้ “ทุนนิยม” ในแนวคิดของสมิท กับ “สังคมนิยม” ในแนวคิดของมาร์กซ์ อาจไม่ต่างกันเท่ากับที่คนสองขั้วนี้พยายามโน้มน้าวให้เราเชื่อตลอดศตวรรษที่ผ่านมา