หนังสือเรื่อง รหัสลับดาวินชี พลอยทำให้สนใจแม่โมนาลิซาอีกครั้ง อยากรู้ว่าเธอเป็นใคร

(ภารณ / กรุงเทพฯ)

ใครเป็นเจ้าของภาพวาดโมนาลิซา(Monalisa) ?

ประวัติความเป็นมาของภาพวาดที่มีชื่อเสียงที่สุดภาพหนึ่งในโลก ชวนให้หลงใหลพอ ๆ กับรอยยิ้มอันลึกลับของนางแบบในภาพ ศิลปิน นักประดิษฐ์ และต้นแบบของคนที่เรียกได้ว่าเป็น “เรอเนซองซ์แมน” เลโอนาร์โด ดา วินชิ (ค.ศ. ๑๔๕๒-๑๕๑๙) เริ่มวาดภาพเหมือนของโมนาลิซา (Mona Lisa) ภรรยาของขุนนางในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อปี ค.ศ. ๑๕๐๓ และวาดเสร็จในราวปี ค.ศ. ๑๕๐๗ ภาพวาดนี้เดิมเป็นงานว่าจ้างให้ทำ แต่ ดา วินชิ กลับไม่ได้ขายภาพนี้ให้แก่ผู้จ้าง (เป็นไปได้ว่าเพราะเขายังวาดไม่เสร็จ) เขากลับเก็บรูปนี้ไว้แล้วนำติดตัวไปด้วยเมื่อเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศส ณ ราชสำนักของพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ ๑ เมื่อราวปี ค.ศ. ๑๕๑๖ ในที่สุดกษัตริย์ฝรั่งเศสได้ซื้อรูป โมนาลิซา จาก ดา วินชิ

ภาพวาดนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชันงานศิลปะของราชวงศ์ฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายศตวรรษ ภาพวาด โมนาลิซา ประดับอยู่ตามพระราชวังต่าง ๆ ทั่วประเทศฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังออมบัวส์ (Amboise) ฟองแตงโบล (Fontainbleau) แวร์ซายส์ (Versailles) และพระราชวังตุยรีส์ (Tuileries) เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๘ กษัตริย์ถูกตัดพระเศียร พระราชวังและทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ของพระองค์ถูกยึดเป็นสมบัติของรัฐที่ก่อรูปขึ้นใหม่ ในปี ค.ศ. ๑๗๙๓ รัฐบาลฝรั่งเศสเห็นสมควรให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อสาธารณชนขึ้น จึงใช้พระราชวังลูฟร์เป็นบ้านของพิพิธภัณฑ์ใหม่นี้ และภาพวาด โมนาลิซา ก็ได้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และถือเป็นสมบัติของรัฐบาลฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.๑๙๑๑ ภาพวาด โมนาลิซา ได้ถูกขโมยไปจากผนังที่ภาพแขวนอยู่ โดยชาวอิตาเลียนซึ่งต้องการนำภาพกลับคืนสู่ประเทศอิตาลีซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของภาพ ๒ ปีต่อมาภาพวาด โมนาลิซา ถูกค้นพบและนำกลับคืนมายังพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ จากนั้นมา “โมนาลิซา” ก็เดินทางท่องเที่ยวอีกเพียง ๒ ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกไปสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. ๑๙๖๓ และครั้งที่ ๒ ไปญี่ปุ่นในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ เพื่อเปิดแสดงให้แก่ผู้เข้าชมจำนวนมหาศาลในประเทศทั้งสอง

monalisa