โดย เฟื่องฟู จิรัฐิติวณิชย์
ผลงานเขียนจากนักเขียนค่ายสารคดี SCG ครั้งที่ 8

kradijean02

ภาพจากบทความของคุณ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (บล็อก)

กะดีจีน หรือกุฎีจีนความสงสัยของการเรียกชื่อชุมชนแห่งนี้เป็นสิ่งแรกของการเริ่มต้นทำความรู้จักกับชุมชนหลากวัฒนธรรม หลายเรื่องราว แห่งนี้ เป็นความสงสัยที่ว่าจะอ่านแบบแรก หรืออ่านแบบหลังถึงจะถูกต้อง เรื่องราวความเป็นมาก่อนที่ชื่อนี้จะถูกใช้เป็นชื่อเรียกให้กับชุมชนอันมั่งคั่งด้วยเรื่องราวถูกถ่ายทอดออกมาจากผู้รู้ ผู้หลัก ผู้ใหญ่ และผู้อาศัยในชุมชนอย่างล้นทะลัก จากลิ้นสู่ลิ้น จากปากต่อปาก จากหนึ่งเป็นสอง จากหนึ่งเรื่องเล่ากลายเป็นร้อยเรื่องราว ให้คนอื่นได้รู้จักชุมชนแห่งนี้

ขณะที่หูสองข้างได้รับรู้เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนจากพี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ น้าๆ และอาๆ ทั้งหลายสายตาตี่ๆได้ขับเคลื่อนผ่านเลนส์แว่นไปสะดุดกับกลุ่มคนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือหลังวัดกัลยาฯ กลุ่มคนผู้มีคันเบ็ดประหนึ่งอวัยวะที่สามสิบสาม ต่างกำลังเฝ้ามองอวัยวะของตนทำหน้าที่ของมันได้ตามที่ใจของพวกเขาต้องการ กลุ่มคนเหล่านี้เราเรียกเขาว่า นักตกปลา

ละแวกท่าเรือหลังวัดกัลยาณมิตร พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ต่างเรียงรายด้วยกลุ่มคนหลากวัย ผู้ซึ่งกำลังจดจ้องที่อุปกรณ์คู่ใจของตนอย่างใจเย็น รอคอยสัญญาณอันมีค่าของการรอคอย รอคอยให้ปลามาติดเบ็ดของตน

ด้วยความสงสัยที่ก่อตัวขึ้นในจิตใจ สองเท้าจึงรีบก้าวเข้าไปหาเรื่องพวกเขา แต่การหาเรื่องครั้งนี้ไม่ได้ใช้อาวุธ หรือพละกำลังอะไรทั้งสิ้น ยกเว้นก็แต่เพียงคำถามภาษาไทยที่คอยหาเรื่องพวกเขา!

น้องอามีนและน้องหมัน วัย 14 ปี เป็นสองคนแรกที่ยินยอมบอกเล่าความชอบของพวกเขาให้ได้ฟัง ทั้งสองคนเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดประยูร ซึ่งเป็นโรงเรียนในย่านกะดีจีนแห่งนี้ ทั้งสองคนพึ่งเริ่มตกปลาได้ไม่นานนัก ถ้านับเป็นจำนวนได้ก็ราว 3 ครั้ง ทั้งสองคนกล่าวถึงเหตุผลที่เริ่มตกปลาว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างความท้าทาย และความสนุกให้กับพวกเขา ปลาที่ตกได้ส่วนใหญ่มักเป็นปลาสวาย เวลาตกได้ทุกครั้งก็จะเอากลับไปกินเป็นอาหาร ทั้งสองคนตอบคำถามพลางเล่น Blackberry รอเวลาปลากินเบ็ดอย่างเพลินใจ

ณ ม้านั่งตรงศาลาด้านหน้าทางเข้าโบสถ์ซานตาครูส มีชายผิวคล้ำกำลังนั่งสูดลมหายใจ พร้อมผึ่งผิวกับแสงอาทิตย์ พี่โอม วัย 30 ปี อาศัยแถบโพธิ์สามต้น เล่าว่าเขาชอบมาตกปลาแถวชุมชนกะดีจีนแห่งนี้เนื่องจากมีปลาชุกชุมที่สุด สำหรับเขานอกจากการตกปลาจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้วสิ่งที่เขาประทับใจไม่แพ้กันก็คือการได้ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้สูดกลิ่นแสงแดด และไอน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เช่นเดียวกับคนอื่นๆเมื่อตกปลาได้ พี่โอมก็จะเอาไปทำอาหารแต่ถ้าหากตกได้ตัวเล็กๆก็จะปล่อยไป เมื่อถามถึงความสุขของการตกปลา พี่เขาก็ตอบไว้ว่าช่วงเวลาแห่งการรอคอยให้ปลามาติดเบ็ดเป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุขมาก แม้สุดท้ายปลาจะติดเบ็ดหรือไม่ก็ตาม เขาก็ยังมีความสุขที่ได้นั่งรอ นั่งคอย นั่งสัมผัสกับไอร้อนและอากาศอันร่มรื่นที่คอยเข้ามาทักทายพี่เขา ตรงบริเวณศาลาริมน้ำอยู่เสมอๆ

เดินถัดไปไม่นานนัก ก็พบกับชายวัยกลางคน 4 คน กำลังนั่งคุยกระทบขวดเบียร์ พลางเตรียมเบ็ดไว้ล่อปลาตัวต่อไป พี่โต้งอาสาเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวการตกปลาของตนแทนเพื่อนๆ เขากล่าวว่าที่ท่าแถบกุฎีจีนแห่งนี้อุดมไปด้วยสัตว์น้ำจืดนานาชนิดทั้งปลาสวาย ปลาดุก ปลาเทโพ ปลาช่อน ปลาหางแดง รวมไปถึงกุ้งแม่น้ำด้วย ส่วนมากเขาและเพื่อนๆจะมาตกทุกวันหลังเลิกงาน แต่หากเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ก็จะมาตั้งแต่สิบโมงยันสองทุ่ม หากความเมื่อยล้าไม่ชักชวนให้เขากลับบ้านไปเสียก่อน แต่เท่าที่สังเกตดูแล้วเหตุการณ์นี้คงไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก พี่โต้งเปรียบการตกปลาของเขาคล้ายการทดลองสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา เหยื่อชนิดต่างๆทั้งไส้เดือน ขนมปัง และกล้วยถูกลองกับปลาแต่ละชนิดว่าเหยื่อชนิดไหนเหมาะกับปลาแบบไหน

เมื่อผิดก็ลองใหม่

เมื่อล้มเหลว การเริ่มใหม่ก็ไม่ใช่ปัญหา

เพื่อนของพี่โต้งกล่าวเสริมว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการฝึกความอดทน พร้อมให้ความรู้เพิ่มว่าขนมปังมักจะใช้ได้ดีกับปลาสวาย และปลาเทโพ หากเป็นไส้เดือนจะได้ใช้ได้ดีกับปลาช่อน และปลาดุก

เมื่อถามถึงเหตุผลของการตกปลาพี่โต้งก็บอกว่านอกจากการตกปลาจะได้ปลาแล้วยังได้กุ้งอีกด้วย! แต่นั่นยังไม่ใช่ประเด็นนัก….

พี่โต้งบอกว่าการตกปลาสำหรับเขาแล้วก็คล้ายกับการสังสรรค์กับเพื่อน หากพวกเราคุ้นชินกับการนัดเพื่อนกินข้าว พี่โต้งคงคุ้นเคยกับการนัดเพื่อนตกปลา เขากล่าวว่าหลังเลิกงานเพียงแค่ได้เจอเพื่อน ได้นั่งตกปลาด้วยกัน ระบายความอึดอัดและความเครียดจากการงาน พวกเขาก็มีความสุขแล้ว หรือบางครั้งพวกเขาก็ตั้งวงเหล้าพร้อมตกปลาไปด้วยเลย หากอยากเพิ่มอัตราความสนุกก็จะมีการเดิมพันกันนิดหน่อยด้วยการแข่งกันตกและวัดผลตามกิโลที่ตกได้ ใครชนะก็ได้ปลาไป แต่ดูเหมือนจำนวนปลาไม่ได้สำคัญเท่าจำนวนความสุขในความสัมพันธ์ของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย…

ลุงสมาน เป็นคนสุดท้ายที่เรามีโอกาสได้ไปหาเรื่องพี่เขา ช่างซ่อมเครื่องเรือหางยาววัย 44 ปีผู้นี้ กล่าวว่าการตกปลาทำให้พี่เขาได้รู้จักกับคนในชุมชนนี้มากขึ้น ทุกคนที่ตกปลาบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่อาศัยในละแวกนี้ เมื่อออกมาตกปลา ความสัมพันธ์ก็ติดเบ็ดกลับไปด้วยเช่นกัน

ปลาที่พี่สมานตกนั้นคือปลาดุกเพียงชนิดเดียวเท่านั้น หากตกได้ปลาตัวอื่นเขาก็จะแบ่งให้เพื่อนไป

พี่สมานได้ให้เหตุผลของการที่เลือกการตกปลาเป็นกีฬาโปรดมาถึง 6 ปีว่ากีฬาชนิดนี้เป็นกิจกรรมที่มอบความเพลิดเพลิน เปิดหูเปิดตาให้กับพี่เขาได้อย่างมาก เพียงแค่ได้เปิดประตูและเดินออกมาจากห้องพักก็มีความสุขแล้ว

ถึงแม้ว่าอากาศร้อนจะเป็นอุปสรรคแต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับพี่เขาเลยแม้แต่น้อย การเดินในห้างสรรพสินค้าอากาศเย็นไม่อาจสร้างความสุขเท่าการตกปลาริมแม่น้ำให้กับพี่เขาได้เลย

“มันไม่ใช่ที่สำหรับเราเลย ขอมารับลมร้อนๆ ตกปลานี่แหละดีที่สุดแล้ว” พี่สมานกล่าวถึงความรู้สึกของตนเองต่อห้างสรรพสินค้า และสิ่งที่ตนรัก

เมื่อถามต่อว่าการตกปลาได้ให้อะไรกับพี่เขา พี่สมานตอบไว้อย่างน่าคิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเขาไม่ได้คาดหวังอะไรเลย ตกได้มาก ตกได้น้อย ไม่ใช่ปัญหา การแข่งขันก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่สิ่งที่พี่สมานชอบคือความสุขของการได้ก้าวขาออกจากห้องพักพร้อมคันเบ็ด มาสูดบรรยากาศให้ทิวทัศน์ปะทะลูกตา เท่านี้ก็เป็นการคลายความหงุดหงิด และเพิ่มความสุขและความสนุกในชีวิตวันหนึ่งๆได้เป็นอย่างดีแล้ว…

เมื่อจบการสนทนา เหมือนผมได้รู้จักกับชุมชนนี้ขึ้นมาอีกนิดนึง คล้ายๆว่ามันติดคันเบ็ดของผมขึ้นมา คล้ายว่ามันเป็นองค์ประกอบของชุมชนแห่งนี้ คล้ายว่ามันเป็นเรื่องราวตามซอกหลืบของชุมชนแห่งนี้

คล้ายว่ามันคือความสุขของชุมชนแห่งนี้

เป็นความสุขในการรอคอย