เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

อาจารย์หมอพอเพียง ศ.นพ.ธีระ ทองสง ผู้ปรารถนาชีวิตที่มีค่า มากกว่าชีวิตที่มั่งคั่งนอกจากในหมู่ลูกศิษย์นักศึกษาแพทย์ หมอ พยาบาล  คงมีน้อยคนจะคุ้นชื่อนายแพทย์ธีระ ทองสง  ทั้งที่เขาถือเป็นคนสำคัญในการศึกษาวิจัยเพื่อควบคุมโรคร้ายแรงประจำภูมิภาคอย่างธาลัสซีเมียจนลดลงไปมากในภาคเหนือ และกลายเป็นองค์ความรู้ให้แก่วงการแพทย์ทั่วไป  แต่หมอสูติฯ แห่งโรงพยาบาลสวนดอก เชียงใหม่ คนนี้ก็พอใจที่จะทำหน้าที่อย่างผู้ปิดทองหลังพระ

ในบรรดาบุคลากรแพทย์เมืองไทยรู้จักชื่อเขาดี เพราะอาจารย์หมอผู้นี้มักได้รับเชิญไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสูตินรีเวชตามมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลอยู่เสมอ รวมทั้งในต่างประเทศด้วยก็นับเป็นร้อย ๆ ครั้ง  ในรูปแบบวิธีการบรรยายที่สนุก เร้าใจ ไม่น่าเบื่อ เป็นที่ติดอกติดใจของคนฟัง  ด้วยลีลาอารมณ์ของผู้มีวาทศิลป์ ลูกเล่น มุกตลก และสาระครบเครื่อง ราวนายหนังตะลุง-ผู้มีสื่อมัลติมีเดียอันทันยุคสมัยและแน่นหนาด้วยข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ ที่เขาลงมือค้นคว้าและผลิตด้วยตัวเองเป็นเครื่องมือ

เขายังเขียนตำราวิชาการไว้นับ ๑๐ เล่มซึ่งตีพิมพ์แพร่หลายเป็นที่ยอมรับ เป็นตำรามาตรฐานใช้ประกอบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในประเทศและนานาชาติเกือบ ๒๐๐ เรื่อง ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕  และเป็นศาสตราจารย์ระดับ ๑๑ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘  ได้รับยกย่องเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี ๒๕๕๐ และปี ๒๕๕๓  เข้ารับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

แต่เขาใช้ชีวิตอย่างธรรมดาและเรียบง่าย ขับจักรยานยนต์มาทำงาน และไม่ได้ซื้อโทรศัพท์มือถือไว้พกติดตัว

เขาว่าเขาเลือกที่จะพอ แม้โดยอาชีพจะมีโอกาสสร้างความร่ำรวยได้

โดยเฉพาะผู้มีบทบาทเป็น “ครู” เช่นเขาด้วยแล้ว ต้องเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์โดยวิถีชีวิต ยิ่งกว่าคำพูด

กระทั่งเมื่อปี ๒๕๔๖ เขาได้รับการยกย่องเป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติจากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย  ปี ๒๕๔๗ รับโล่เกียรติคุณอาจารย์แพทย์ดีเด่นที่เป็นแบบอย่างในเชิงจริยธรรมคุณธรรมจากแพทยสภา  และอีกหลายรางวัล อาทิ นักศึกษาเก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สาขาวิชาการ) รางวัลช้างทองคำ (นักวิจัยดีเด่น) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ หลังทำหน้าที่อาจารย์แพทย์มาเกือบ ๓ ทศวรรษ