ศรัณย์ ทองปาน : รายงาน
สกล เกษมพันธุ์ : ภาพ

“ผมยอมเป็นคนโง่ได้ แต่จะไม่ยอมเป็นคนเลวในชั่วชีวิต” คำสัญญาของ สรรพสิริ วิรยศิริ

คุณสรรพสิริให้สัมภาษณ์กับ สารคดี เรื่องเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

สรรพสิริ วิรยศิริ เคยให้คำจำกัดความตัวเองไว้ว่าเป็น “คนข่าวคนหนึ่ง-ก็แค่นั้น” แต่อันที่จริงแล้ว ยังอาจนับให้เขาเป็น “คนข่าวคนที่หนึ่ง” หรือเป็น “คนแรก” ของอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างในวงการสื่อเมืองไทยได้อีกด้วย

คุณสรรพสิริเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓ เป็นบุตรพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เสง วิรยศิริ) ขุนนางคนสำคัญยุครัชกาลที่ ๕ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญเช่นราชปลัดทูลฉลอง (เทียบเท่าปลัดกระทรวง) กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งยังเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗  ชีวิตการเป็น “คนข่าว” ของคุณสรรพสิริเริ่มต้นเมื่อปี ๒๔๘๔ ตั้งแต่อายุ ๒๐ ระหว่างยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ไพโรจน์ ชัยนาม ซึ่งเป็นทั้งผู้บรรยายวิชากฎหมายของ ม.ธ.ก. และเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมโฆษณาการ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์) มีดำริให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในกรม โดยคัดเลือกนักศึกษาที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีไปช่วยงาน  คุณสรรพสิริจึงหันหลังให้ห้องเรียนเข้ารับราชการเป็น “พนักงานรับฟังข่าววิทยุต่างประเทศ” มีหน้าที่ถอดข้อความจากวิทยุโทรเลขและวิทยุคลื่นสั้นของสำนักข่าว
ต่างประเทศทุกแหล่ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒

เขาก้าวหน้าในราชการของกรมประชาสัมพันธ์เรื่อยมาจนได้เป็นหัวหน้าแผนกสื่อข่าว และเป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  ตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ คุณสรรพสิริเป็นผู้ริเริ่มการรายงานข่าวประกอบเสียงด้วยเครื่องบันทึกเสียงชนิดเส้นลวดแม่เหล็ก อันเป็นวิวัฒนาการขั้นต้นของเทปแม่เหล็กอย่างที่เคยเห็นกันในเทปคาสเซ็ตต์

หลังจากนั้นในปี ๒๔๙๔ เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประกาศภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุ “เสียงอเมริกา” (VOA-Voice of America) ที่นครนิวยอร์ก พร้อมกับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ไปดูงานและศึกษาด้านโทรทัศน์

sapasiri02

ซ้าย : คุณสรรพสิริขณะเป็นผู้ประกาศข่าวคนแรก ถ่ายจากจอโทรทัศน์ในวันเปิดไทยทีวีช่อง ๔ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๘
ขวา : ในหน้าที่หัวหน้าฝ่ายช่างภาพและแสง ไทยทีวีช่อง ๔ (ภาพ : ประวัติศาสตร์ อสมท ๕๙ ปีสื่อไทย ๒๔๙๕-๒๕๕๔)

ประสบการณ์ ๒ ปีครึ่งในสหรัฐฯ ทำให้เมื่อกลับมาคุณสรรพสิริได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ (ยุคแรก ๆ ยังเรียกว่า “วิทยุโทรภาพ”) แห่งแรกของประเทศไทย ในนาม ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม ของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด และได้รับการวางตัวไว้ว่าจะปรากฏหน้าตาบนจอโทรทัศน์เป็น “ผู้ประกาศข่าวคนแรก” ของไทยในวันเปิดส่งโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๘  ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าจะเริ่มออกอากาศวันแรก เขายังคว้ากล้องถ่ายภาพยนตร์คู่มือนั่งรถตามรถดับเพลิงไปทำข่าวไฟไหม้ที่นนทบุรีกลับมาออกอากาศเป็นข่าวด่วน และกลายเป็น “ช่างภาพข่าว” คนแรกของวงการโทรทัศน์เมืองไทยไปด้วย

แต่แล้วในเดือนธันวาคม ๒๕๐๐ คุณสรรพสิริก็ถูกปลดแบบ “ฟ้าผ่า” จากไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม ที่เขาร่วมสร้างมากับมือ โดยไม่ให้เหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น  เขาตัดสินใจลาออกจากราชการ และด้วยบำเหน็จไม่กี่พันบาทที่ได้รับมา ก็ไปซื้อกล้องถ่ายหนังมารับจ้างทำหนังโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นคนแรกในเมืองไทย โดยตั้ง “สำนักงานโฆษณาสรรพสิริ”  คนรุ่นเก่าย่อมจดจำภาพยนตร์การ์ตูนโฆษณายาหม่องชุด “หนูหล่อ พ่อเขาพาไปดูหมี” หรือการ์ตูนโฆษณาแป้งน้ำชุด “กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี” ได้ดี

ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ เขาก็ได้รับงานของยูซิส (USIS-United States Information  Service) หน่วยงานสำคัญของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น ให้เดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์ข่าวเกี่ยวกับการสู้รบปราบปราม “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” (ผกค.) ทั่วประเทศไทย รวมทั้งยังได้เดินทางไปทำข่าวการรบและภารกิจของทหารไทยในสงครามเวียดนาม  สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเดินทางเข้าไปทำข่าวหลายครั้งหลายหนนั้น เจ้าตัวเล่าว่า “ทำให้เกิดทักษะช่วยตัวเองให้รอดตายได้ในการทำข่าว”

จนกระทั่งปี ๒๕๑๘ ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ ที่ห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ จึงมีการทาบทามคุณสรรพสิริให้กลับไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๙ (สถานีไทยทีวีช่อง ๔ เดิม) และวิทยุกระจายเสียง ททท. อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากสถานะผู้บริหารสถานีแล้ว ด้วยวิสัยของนักข่าว บ่อยครั้งที่คุณสรรพสิริยังออกถ่ายทำข่าวเองด้วย วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ สัญชาตญาณนักข่าวบอกเขาว่ามีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากล  เขาจึงตัดสินใจนำทีมข่าวช่อง ๙ ลงพื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวงตั้งแต่เช้า อาจด้วยลางสังหรณ์ว่านี่อาจเป็นภาพยนตร์ข่าวชิ้นสุดท้ายในชีวิตช่างภาพข่าวคนแรกของเมืองไทย  เมื่อกลับถึงสถานีเขาลงมือล้างฟิล์ม ตัดต่อ และบรรยายออกอากาศสดด้วยตัวเอง โดยตัดภาพความรุนแรงต่าง ๆ ที่ดูน่าสยดสยอง เช่น การแขวนคอศพหรือการลากศพไปเผาด้วยยางรถยนต์ออกไป เหลือเพียงภาพการยิงปืน ทหารวิ่ง คนที่มาชุมนุมรอบ ๆ ธรรมศาสตร์ และคำบรรยายว่าเกิดความไม่เข้าใจกันขึ้นในประเทศ

ในวัย ๗๖ ปี คุณสรรพสิริเคยให้สัมภาษณ์กับ สารคดี เกี่ยวกับข่าวเหตุการณ์วันนั้นว่า

“การรายงานข่าวของผมต้องการเปิดเผยให้ประชาชนรู้เท่าที่จะรู้ได้ เป็นสิทธิของประชาชน คนที่อยู่ในแผ่นดินไทยทุกคนมีสิทธิในการรู้เห็นเท่ากัน”

แต่เพียงเท่านั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เขาถูกพิจารณาว่าเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ดังที่เขาเล่าว่า “พอเหตุการณ์ทุเลา ผมก็นั่งกินเหล้ากับทีมงาน แล้วก็บอกว่าพวกเราเตรียมใจ รู้ตัวดี…” ตอนเย็นวันเดียวกันนั้น มีโทรศัพท์มาถึงเขาว่าให้ช่อง ๙ เตรียมออกอากาศ “ข่าวสำคัญ” คือประกาศยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ตกค่ำก็มีคำสั่งของคณะปฏิรูปฯ ปลดนายสรรพสิริ วิรยศิริ ออกจากทุกตำแหน่งในสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ และวิทยุ ททท. นอกจากนั้นยังรวมไปถึงลูกน้องของเขาอีกสี่คนก็พลอยถูกไล่ออกพร้อมกันด้วย

ชีวิตของคุณสรรพสิริจึงไม่เหมือนเดิมอีกตลอดไป หลังจากการถูก “ป้ายสีจนแดงเถือก” เขาต้องไปหลบซ่อนตัวอยู่แถบอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ทำไร่อยู่อีกหลายปี ตัดอ้อยจนถูกใบอ้อยบาดหูเป็นแผลซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะความที่ไม่ชำนาญทำให้อ้อยที่ตัดแล้วล้มลงมาใส่ตัวใส่หัวตลอดเวลา หรือไปหักข้าวโพดในไร่แล้วถูกมดคันไฟรุมกัดจนแขนสองข้างบวมแทบเน่า ต้องนอนจับไข้ซมอยู่คนเดียวในไร่ชายป่าก็เคย

ยิ่งกว่านั้น เขายังถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ถูกคณะปฏิรูปฯ สั่งอายัดทรัพย์สินทั้งครอบครัว ต้องนำทรัพย์สินทุกอย่างที่มีออกขายเพื่อประทังชีวิต

ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ “สรรพสิริ วิรยศิริ” จะกลับมามี “ที่ยืน” อยู่ในสังคม  ส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาตอบรับคำเชิญให้ไปสอนวิชาโทรทัศน์ในสาขานิเทศศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง กระทั่งได้รับพระราชทานปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๓๓ อันเป็นรางวัลชีวิตที่ทำให้เขารู้สึกว่า “มีโอกาสได้เกิดเป็นคนไทยคนหนึ่งใหม่”

การได้กลับมาเกิดใหม่ มีตัวตนอีกครั้งหนึ่งยังกระตุ้นให้เขาทำ “สิ่งที่ผมอยากให้คนอื่นทำกับผม” โดย “การที่ผมทำเช่นเดียวกันให้กับคนอื่นและสิ่งอื่น” คุณสรรพสิริจึงหันไปมีบทบาทใหม่ในฐานะ “นักศึกษาอดีต” ที่มีภารกิจกอบกู้เกียรติภูมิให้แก่ “คนดีที่ไทยลืม” ด้วยโครงการ “คนไทยนี้เก่ง”

sapasiri03

หอเกียรติภูมิรถไฟในสวนจตุจักร (ภาพ : สารคดี พ.ศ.๒๕๔๒)

sapasiri04

คุณสรรพสิริ ถ่ายที่ด้านข้างหอเกียรติภูมิรถไฟ (ภาพ : ชมรมเรารักรถไฟ)

ต้องยอมรับว่าเขามีส่วนสำคัญยิ่งในการกระตุ้นสังคมไทยให้หันมาสนใจและให้ความสำคัญแก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ “พระองค์พีระ” (พ.ศ. ๒๔๕๗-๒๕๒๘) อดีตนักแข่งรถ “เจ้าดาราทอง” ผู้มีชื่อเสียงในยุโรปยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนมีผลสืบเนื่องให้สนามแข่งรถแห่งแรกของประเทศที่พัทยาได้รับการขนานนามเป็นการเทิดพระเกียรติว่า “พีระเซอร์กิต”

หรือแม้แต่สิ่งของที่คุณสรรพสิริเห็นว่าเป็นความภาคภูมิใจของบ้านเมือง เขาก็ยังค้นคว้าขีดเขียนเผยแพร่มาเล่าสู่กันฟัง และด้วยฐานะประธานชมรมเรารักรถไฟ และชมรมพีระ-เจ้าดาราทอง เขาขอใช้อาคารร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลางสวนจตุจักร ก่อตั้ง “หอเกียรติภูมิรถไฟ” ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เพื่อเป็นสถานที่ “ให้และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญา” เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ผู้พระราชทานกำเนิดรถไฟไทย และพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชที่ทรงสร้างเกียรติภูมิในด้านยานยนต์แก่ชาติ

ในทศวรรษแรกของหอเกียรติภูมิรถไฟ คุณสรรพสิริยังมีกำลังแข็งแรงพอที่จะออกความคิด นำชม และบริหารดูแลด้วยตัวเอง ถึงขนาดที่ว่าในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันทำการก็จะมาเปิดอาคารตั้งแต่ก่อนตีห้า เพื่อให้คนที่มาวิ่งมาออกกำลังกายในสวนจตุจักรสามารถเข้าชม ร่วมเรียนรู้ได้  แต่ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ สุขภาพก็ไม่เอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้นอีกต่อไป  หน้าที่ในการดูแลจึงเหมือนตกทอดเป็นมรดกในสกุล มาสู่คุณจุลศิริ วิรยศิริ บุตรชาย แต่พร้อมกันนั้นปัญหาด้านเงินทุนและความขัดแย้งกับ รฟท. ก็ทับถมทวีขึ้นตลอดเวลา ล่าสุดเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ทาง รฟท. ยอมรับข้อเสนอของชมรมเรารักรถไฟในอันที่จะรับมอบพื้นที่คืน และเข้ามาปรับปรุงอาคารให้เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยต่อไป  ทั้งนี้คุณจุลศิริได้จัดกิจกรรมปิดตัวหอเกียรติภูมิรถไฟไปเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถขนย้ายทรัพย์สินส่วนที่เป็นของชมรมออกได้ทั้งหมดภายในต้นปี ๒๕๕๖ โดยชมรมเรารักรถไฟก็จะยังดำเนินงานของตนต่อไปในที่ดินและอาคารที่ได้รับบริจาคจากบริษัททองสมบูรณ์คลับ จำกัด อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

กล่าวเฉพาะกับทางนิตยสาร สารคดี คุณสรรพสิริเป็นคอลัมนิสต์ของเรามาตั้งแต่ปีที่ ๑ ยุคของบรรณาธิการ สุชาดา จักร-พิสุทธิ์ เคยมีคอลัมน์ประจำ “ถามเอง-ตอบเอง” เป็นการเขียนเล่าเรื่องเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ จากประสบการณ์ชีวิตของท่าน  หลังจากนั้นบางช่วงก็มีคอลัมน์ “สาระครอบครัว” ว่าด้วยทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในเมืองหลวง และในช่วงปีที่ ๑๔-๑๕ (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๑) สารคดี ได้มีโอกาสตีพิมพ์บทความชุด “จากความทรงจำ” อันว่าด้วยประวัติชีวิตการทำงานในวงการสื่อของคุณสรรพสิริต่อเนื่องกันมาอีกเกือบ ๑๐ เรื่อง ปิดท้ายด้วยบทความเฉลิมพระเกียรติ “ในหลวงกับกล้องที่คล้องพระศอ” ใน สารคดี ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เนื่องในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ คุณสรรพสิริ วิรยศิริ ถึงแก่กรรมด้วยวัย ๙๒ ปี  เขาเคยพูดและเขียนย้ำหลายครั้งถึงเรื่องเล่าในครอบครัว ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๕ เคยมีพระราชดำรัสกับบิดา คือพระยามหา-อำมาตยาธิบดี ว่า “คนเราเกิดเมื่อไหร่ ตายเมื่อไหร่ ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าระหว่างเกิดกับตาย ได้ทำอะไรบ้าง” คุณสรรพสิริอาจถือว่าตัวเอง “เป็นคนข่าวคนหนึ่ง-ก็แค่นั้น” แต่สำหรับวงการโทรทัศน์และวงการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย  ช่วงชีวิตของ “คนข่าวคนที่หนึ่ง” คนนี้ย่อมเป็นเสมือนต้นแบบที่ควรแก่การคารวะ ดังที่เขาเคยสรุปบทเรียนชีวิตไว้ในหนังสือ ผมเป็นคนข่าวคนหนึ่ง ก็แค่นั้น ว่า “บางเรื่องบางกรณี ผมอาจจะเป็นคนพลาด แต่มิได้เป็นคนผิด…ผมยอมเป็นคนโง่ได้ แต่จะไม่ยอมเป็นคนเลวในชั่วชีวิต”

ขอขอบคุณ
คุณจุลศิริ วิรยศิริ

อ้างอิง
–  วันดี สันติวุฒิเมธี (สัมภาษณ์), “สรรพสิริ วิรยศิริ”ใน “คำให้การของคนรุ่น ๖ ตุลา ๑๙” สารคดี ฉบับที่ ๑๔๐ (ตุลาคม ๒๕๓๙) :๑๕๑-๑๕๒.
–  สรรพสิริ วิรยศิริ. ผมเป็นคนข่าวคนหนึ่ง ก็แค่นั้น.กรุงเทพฯ: ภัคธรรศ, ๒๕๔๔.